(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา
อารัมภบทa
1 1ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพยิ่ง คนจำนวนมากbได้เรียบเรียงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเรา 2ผู้ที่เป็นพยานรู้เห็นและประกาศพระวาจามาตั้งแต่แรกได้ถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้ให้เรารู้แล้ว 3ข้าพเจ้าจึงตกลงใจค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด แล้วเรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งสำหรับท่านด้วย ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพ 4เพื่อท่านจะได้รู้ว่าคำสอนที่ท่านรับมานั้นcเป็นความจริง
l ปฐมวัยของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง และของพระเยซูเจ้าd
ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการเกิดของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง
5ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรดผู้ปกครองแคว้นยูเดีย สมณะผู้หนึ่งชื่อเศคาริยาห์ ประจำเวรในหมวดของอาบียาห์ มีภรรยาชื่อเอลีซาเบธ จากตระกูลสมณะอาโรน 6ทั้งสองคนเป็นผู้ชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ปฏิบัติตามบทบัญญัติและข้อกำหนดทุกข้อของพระเจ้าโดยไม่มีข้อตำหนิ 7แต่สามีภรรยาคู่นี้ไม่มีบุตร เพราะนางเอลีซาเบธเป็นหมัน และทั้งสองคนชรามากแล้ว
8วันหนึ่ง เศคาริยาห์กำลังปฏิบัติหน้าที่สมณะเฉพาะพระพักตร์ตามเวรในหมวดของตนe 9ตามธรรมเนียมของสมณะ เขาจับฉลากได้หน้าที่เข้าไปในพระวิหารของพระเจ้าเพื่อถวายกำยานf 10ขณะที่มีการถวายกำยาน ประชาชนที่มาชุมนุมกันต่างอธิษฐานภาวนาอยู่ภายนอก
11ทันใดนั้น ทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้าปรากฏองค์ยืนอยู่เบื้องขวาของพระแท่นถวายกำยาน 12เมื่อเศคาริยาห์เห็นก็รู้สึกวุ่นวายใจและมีความกลัวอย่างมากg
13แต่ทูตสวรรค์กล่าวแก่เขาว่า “เศคาริยาห์ อย่ากลัวเลย พระเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานของท่านแล้ว เอลีซาเบธภรรยาของท่านจะให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ท่านจะตั้งชื่อเขาว่ายอห์นh 14ท่านจะมีความชื่นชมยินดีและคนจำนวนมากจะยินดีiที่เขาเกิดมา
15เพราะว่าเขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า เขาจะไม่ดื่มเหล้าองุ่นหรือสุราเมรัยเลยj เขาจะรับพระจิตเจ้าkเต็มเปี่ยมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา 16เขาจะนำบุตรหลานของอิสราเอลจำนวนมากกลับมายังองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเรา
17เขาจะมีจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์lมาเตรียมรับการเสด็จมาของพระองค์ เพื่อทำให้บิดาคืนดีกับบุตรและทำให้ผู้ไม่เชื่อฟังกลับมีจิตสำนึกของผู้ชอบธรรม เป็นการเตรียมประชากรให้พร้อมที่จะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า” 18เศคาริยาห์จึงถามทูตสวรรค์ว่า “ข้าพเจ้าจะแน่ใจเรื่องนี้ได้อย่างไรm ข้าพเจ้าชราแล้ว และภรรยาของข้าพเจ้าก็อายุมากแล้วด้วย” 19ทูตสวรรค์จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าคือกาเบรียล ซึ่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านและนำข่าวดีนี้มาแจ้งให้ท่านทราบn 20แต่ท่านไม่เชื่อคำของข้าพเจ้า ซึ่งจะเป็นจริงเมื่อถึงเวลากำหนด
ดังนั้น ท่านจะเป็นใบ้จนถึงวันที่เหตุการณ์นี้จะเป็นจริง” 21ขณะนั้น ประชาชนกำลังคอยเศคาริยาห์อยู่ รู้สึกประหลาดใจที่เขาอยู่ในพระวิหารนาน 22เมื่อเขาออกมาและพูดไม่ได้ ประชาชนจึงเข้าใจว่าเขาเห็นนิมิตในพระวิหาร เขาทำได้เพียงแสดงท่าทางoแต่พูดไม่ได้
23เมื่อหมดวาระทำหน้าที่ในพระวิหารแล้ว เศคาริยาห์ก็กลับไปบ้าน 24ต่อมาไม่นานนางเอลีซาเบธภรรยาของเขาก็ตั้งครรภ์ นางเก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลาห้าเดือน 25นางกล่าวว่า “พระเจ้าทรงทำเช่นนี้เพื่อข้าพเจ้า บัดนี้พระองค์พอพระทัยช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความอับอายที่ข้าพเจ้ามีpต่อหน้าคนทั้งหลายแล้ว”
ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้าq
26เมื่อนางเอลีซาเบธตั้งครรภ์ได้หกเดือนแล้วrพระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์
กาเบรียลมายังเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลีชื่อเมืองนาซาเร็ธ 27มาพบหญิงพรหมจารีคนหนึ่งซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟ ในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อมารีย์ 28ทูตสวรรค์เข้าในบ้านกล่าวกับพระนางว่า “จงยินดีเถิดs ท่านผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน พระเจ้าสถิตอยู่กับท่าน” 29เมื่อทรงได้ยินถ้อยคำนี้ พระนางมารีย์ทรงวุ่นวายพระทัยมากทรงถามพระองค์เองว่า คำทักทายนี้หมายความว่ากระไร 30
แต่ทูตสวรรค์กล่าวแก่พระนางว่า “มารีย์ อย่ากลัวเลย ท่านเป็นผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน
31ท่านจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ท่านจะตั้งชื่อเขาว่าเยซู 32เขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่และพระเจ้าผู้สูงสุดจะทรงเรียกเขาเป็นบุตรของพระองค์ พระเจ้าจะประทานพระที่นั่งของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษให้แก่เขา 33เขาจะปกครองวงศ์ตระกูลของ
ยาโคบตลอดไปและพระอาณาจักรของเขาจะไม่สิ้นสุดเลย”t 34พระนางมารีย์จึงทรงถามทูตสวรรค์ว่า “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไรเพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นพรหมจารี”u 35ทูตสวรรค์ตอบว่า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่านและพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่านvเพราะฉะนั้น บุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และจะรับนามว่าบุตรของพระเจ้า 36ดูซิ เอลีซาเบธ ญาติของท่าน ทั้ง ๆ ที่ชราแล้ว ก็ยังตั้งครรภ์บุตรชาย ใคร ๆ คิดว่านางเป็นหมัน แต่นางก็ตั้งครรภ์ได้หกเดือนแล้ว 37เพราะไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” 38พระนางมารีย์จึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” แล้วทูตสวรรค์ก็จากพระนางไป
พระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ
39หลังจากนั้นไม่นาน พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดียw 40พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์และทรงทักทายนางเอลีซาเบธ 41เมื่อนางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์ก็ดิ้น นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม 42ร้องเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย 43ทำไมหนอพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า xจึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า 44เมื่อฉันได้ยินคำทักทายของเธอ ลูกในครรภ์ของฉันก็ดิ้นด้วยความยินดี 45เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาที่พระเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง”y
บทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์
46พระนางมารีย์z ตรัสว่า
วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า
47จิตใจของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้กอบกู้ข้าพเจ้า
48เพราะพระองค์ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์
ตั้งแต่นี้ไป ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข
49พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า
พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์
50พระกรุณาต่อผู้ยำเกรงพระองค์แผ่ไปตลอดทุกยุคทุกสมัย
51พระองค์ทรงยกพระกรแสดงพระอานุภาพ
ทรงขับไล่ผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงให้กระจัดกระจายไป
52ทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์ และทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น
53พระองค์ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก ทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า
54พระองค์ทรงช่วยเหลืออิสราเอล ผู้รับใช้พระองค์
โดยทรงระลึกถึงพระกรุณา
55ดังที่ทรงสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษของเรา
แก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป
56พระนางมารีย์ประทับอยู่กับนางเอลีซาเบธประมาณสามเดือนจึงเสด็จกลับaa
การเกิดของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง
57เมื่อครบกำหนดคลอด นางเอลีซาเบธให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง 58เพื่อนบ้านและบรรดาญาติรู้ว่าพระเจ้าทรงแสดงพระกรุณายิ่งใหญ่ต่อนาง จึงมาร่วมยินดีกับนาง
ยอห์นผู้ทำพิธีล้างเข้าสุหนัต
59เมื่อเด็กเกิดได้แปดวัน เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องมาทำพิธีสุหนัตให้ เขาต้องการเรียกbbเด็กว่าเศคาริยาห์ตามชื่อบิดา 60แต่มารดาของเด็กค้านว่า “ไม่ได้ เขาจะต้องชื่อยอห์น” 61คนเหล่านั้นจึงพูดกับนางว่า “ท่านไม่มีญาติคนใดมีชื่อนี้” 62เขาเหล่านั้นจึงส่งสัญญาณccถามบิดาของเด็กว่าต้องการให้บุตรชื่ออะไร 63เศคาริยาห์ขอกระดานแผ่นหนึ่งแล้วเขียนว่า “เขาชื่อยอห์น” ทุกคนต่างประหลาดใจ 64ทันใดนั้น เศคาริยาห์ก็กลับพูดได้อีก เขาจึงกล่าวถวายพระพรพระเจ้า 65เพื่อนบ้านทุกคนต่างรู้สึกกลัว และเรื่องทั้งหมดนี้ได้เล่าลือกันไปทั่วแถบภูเขาของแคว้นยูเดีย 66ทุกคนที่ได้ยินเรื่องนี้ต่างก็แปลกใจและถามกันว่า “แล้วเด็กคนนี้จะเป็นอะไร” เพราะพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่กับเขาdd
บทถวายพระพรของเศคาริยาห์ee
67เศคาริยาห์ ผู้เป็นบิดาได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม จึงกล่าวพยากรณ์ดังนี้ff
68ขอถวายพระพรแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าแห่งอิสราเอล
เพราะพระองค์เสด็จเยี่ยมggและทรงกอบกู้ประชากรของพระองค์
69พระองค์ทรงปลุกพระผู้กอบกู้ผู้ทรงอำนาจhhขึ้นมา
จากราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด ผู้รับใช้พระองค์
70ตามที่ทรงสัญญาไว้
โดยปากของบรรดาประกาศกผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ตั้งแต่โบราณกาล
71ว่าจะให้เรารอดพ้นจากศัตรู
จากเงื้อมมือของผู้ที่เกลียดชังเรา
72ทรงสัญญาว่าจะทรงแสดงพระกรุณาแก่บรรพบุรุษของเรา
ทรงระลึกถึงพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
73และคำปฏิญาณที่ทรงให้ไว้แก่อับราฮัม บรรพบุรุษของเรา
74ว่าจะทรงช่วยเราให้พ้นจากเงื้อมมือของศัตรู
เพื่อรับใช้พระองค์โดยปราศจากความหวาดกลัวใด ๆ
75ให้เราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรม
เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ตลอดชีวิตของเรา
76ส่วนเจ้า ทารกเอ๋ย
เจ้าจะได้ชื่อว่าเป็นประกาศกของพระผู้สูงสุด
เจ้าจะนำหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าii
เพื่อเตรียมทางสำหรับพระองค์
77เพื่อให้ประชากรของพระองค์รู้ว่า
เขาจะรอดพ้น เพราะบาปของเขาได้รับการอภัยjj
78เดชะพระเมตตากรุณาkkของพระเจ้าของเรา
พระองค์จะเสด็จมาเยี่ยมเราจากเบื้องบน
ดังแสงอรุโณทัยll
79ส่องแสงสว่างให้ทุกคนที่อยู่ในความมืดและในเงาแห่งความตาย
เพื่อจะนำเท้าของเราให้ดำเนิน
ไปตามทางแห่งสันติสุข
ชีวิตซ่อนเร้นของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง
80เด็กนั้นเจริญเติบโตขึ้น จิตใจของเขาเข้มแข็งขึ้นด้วยmm เขาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารจนถึงวันที่เขาแสดงตนแก่ประชากรอิสราเอล
1 a อารัมภบทนี้ใช้คำศัพท์และโครงสร้างตามแบบวรรณกรรมกรีก โรมัน ซึ่งมักเขียนบทนำเพื่อให้ผู้อ่านทราบเจตนาของผู้เขียน
b “คนจำนวนมาก” เป็นการพูดเกินความจริงโดยเจตนา อันที่จริงมีเพียง “บางคน” ได้เขียนเรื่องราวเหล่านี้
c “ได้รับมา” ยังแปลได้อีกว่า “ท่านได้รู้” ในกรณีหลังนี้หมายความว่าเธโอฟีลัสยังไม่ใช่คริสตชนที่จำเป็นต้องเสริมความเชื่อให้มั่นคง แต่เป็นข้าราชการชั้นสูงซึ่งต้องการรู้ข้อมูลเท่านั้น แต่การอธิบายเช่นนี้น่าจะไม่ถูกต้อง
d ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงจบบทที่ 2 ลูกาใช้ภาษากรีกปนสำนวนฮีบรูคล้ายกับคำแปลพันธสัญญาเดิมฉบับ LXX มีการท้าวความและกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในพันธสัญญาเดิมบ่อย ๆ ทำให้เรื่องราวมีลักษณะโบราณ ลก บรรยายถึงบุคคลต่าง ๆ ในบรรยากาศของ “คนยากจน” (ของพระยาห์เวห์) ตามที่ประกาศกเศฟันยาห์กล่าวถึง (ดู ศฟย 2:3 เชิงอรรถ d) ลก เล่าเรื่องต่าง ๆ เป็นสองชุดโดยมีรายละเอียดและโครงสร้างคล้ายคลึงกันเหมือนบทละครที่มีตัวละครเข้าและออกในแต่ละฉาก เรื่องราวของยอห์นผู้ทำพิธีล้างและของพระเยซูเจ้ามีรายละเอียดและโครงสร้างเกือบเหมือนกัน เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของบุคคลทั้งสอง รวมทั้งภารกิจและความสำคัญของบุคคลทั้งสองด้วย
e บรรดาสมณะแบ่งเป็น 24 หมวด มีเวรต้องรับผิดชอบหน้าที่ในพระวิหารเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ (ดู 1 พศด 24:19; 2 พศด 23:8) มีการจับสลากด้วยว่าใครต้องทำหน้าที่ใด (ดูข้อ 9)
f สมณะที่จับสลากให้เข้าในพระวิหารเพื่อถวายกำยานมีหน้าที่ดูแลไฟบนพระแท่นถวายกำยานที่ตั้งอยู่หน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดให้ลุกอยู่เสมอ และคอยใส่กำยานใหม่ลงไปวันละสองครั้ง ครั้งแรกก่อนถวายเครื่องบูชาตอนเช้า และอีกครั้งหนึ่ง หลังจากถวายเครื่องบูชาตอนเย็น (ดู อพย 30:6-8)
g ลก มักจะกล่าวถึงความกลัวและความยำเกรงต่อพระเจ้าบ่อย ๆ 1:29-30,65; 2:9-10; 4:36; 5:8-10,26; 7:16; 8:25,33-37,56; 9:34,43; กจ 2:43; 3:10; 5:5,11; 10:4; 19:17
h ชื่อ “ยอห์น” มีความหมายว่า “พระยาห์เวห์ทรงโปรดปราน”
i ความยินดีเป็นแนวคิดหลักของบทที่ 1-2; 1:28,46,58; 2:10; เทียบ 10:17,20ฯ; 13:17; 15:7,32; 19:6,37; 24:41,52; กจ 2:46 เชิงอรรถ jj
j พันธสัญญาเดิมหลายตอนกล่าวถึงการไม่ดื่มสุราเมรัย โดยเฉพาะกฎระเบียบสำหรับพวกนาศีร์ (ดู กดว 6:1 เชิงอรรถ a)
k “รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” ในที่นี้และที่อื่นใน ลก มิได้หมายถึงการได้รับพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรอย่างบริบูรณ์ แต่หมายถึงการรับการดลใจของพระจิตเจ้าให้เป็นประกาศก (เทียบ 1:41,67; กจ 2:4; 4:8,31; 7:55; 9:17; 13:9)
l มลค 3:23 ทำให้ชาวยิวคิดว่าประกาศกเอลียาห์จะกลับมาก่อนยุคพระเมสสิยาห์เพื่อเตรียมทางสำหรับพระองค์ ยอห์นผู้ทำพิธีล้างจะเป็นประกาศก “เอลียาห์ ที่จะต้องมา” นี้ ดู 9:30; มธ 17:10-13
m เศคาริยาห์ได้ขอ “เครื่องหมาย” (เทียบ ปฐก 15:8; วนฉ 6:17; อสย 7:11; 38:7) แต่เขาไม่เชื่อ
n “แจ้งข่าวดี” ภาษากรีกว่า “euangelisasthai” เป็นกริยาที่ ลก ใช้บ่อยมาก สิบครั้งในพระวรสาร และสิบห้าครั้งในหนังสือกิจการอัครสาวก ดู กท 1:6 เชิงอรรถ d; มก 1:1 เชิงอรรถ a; กจ 5:42 เชิงอรรถ q
o คือทำท่าทางอวยพรประชาชน แต่กล่าวการอวยพรไม่ได้
p ชาวยิวคิดว่าการไม่มีบุตรเป็นเรื่องน่าอาย (ปฐก 30:23; 1 ซมอ 1:5-8) บางครั้งถึงกับคิดว่าเป็นการลงโทษจากพระเจ้าด้วย (2 ซมอ 6:23; ฮชย 9:11)
q ลก เล่าถึงเหตุการณ์นี้ได้แรงบันดาลใจจากข้อความหลายตอนในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะเรื่องที่ทูตสวรรค์สัญญาแก่มารดาของแซมสันว่านางจะมีบุตร (วนฉ 13:2-7) ลก บรรยายความยิ่งใหญ่ของพระกุมารโดยกล่าวพาดพิงถึงพระสัญญาในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะพระสัญญาที่ประทานให้แก่ราชวงศ์ของกษัตริย์
ดาวิด (2 ซมอ 7:1ฯ)
r แปลตามตัวอักษร “ในเดือนที่หก”
s ‘จงยินดีเถิด’ คำของทูตสวรรค์เป็นการเชิญชวนให้เราชื่นชมยินดีในการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนของคำเชิญชวนธิดาแห่งศิโยนให้ชื่นชมยินดีจากการที่พระเจ้าเสด็จมาเยี่ยมเยียนประชากรของพระองค์ (เทียบ อสย 12:6; ยอล 2:21-27; ศฟย 3:14-15; ศคย 2:14; 9:9) คำของทูตสวรรค์จึงไม่ใช่เพียงคำทักทายตามสูตร (“วันทา” หรือ “สวัสดี”). ‘ท่านผู้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า’ คำกริยากรีกมีความหมายว่า ‘พระนางได้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า’ ในอดีตและยังคงเป็นที่โปรดปรานในปัจจุบันนี้ด้วย สำเนาโบราณบางฉบับเพิ่ม ‘ท่านผู้มีบุญยิ่งกว่าหญิงใด ๆ’ โดยคัดมาจาก 1:42
t ถ้อยคำของทูตสวรรค์ท้าวความถึงข้อความหลายตอนจากพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์
u แปลตามตัวอักษร “เพราะข้าพเจ้าไม่รู้จักชาย” หมายความว่ายังไม่มีเพศสัมพันธ์กับคู่หมั้น เหตุผลที่พระนางมารีย์กล่าวกับทูตสวรรค์น่าจะแสดงความตั้งใจที่จะไม่มีเพศสัมพันธ์กับชายใด จึงถามทูตสวรรค์ว่าการเป็นมารดาตามที่ทูตสวรรค์แจ้งให้ทราบนี้จะเรียกร้องให้เปลี่ยนความตั้งใจเช่นนี้หรือไม่ ทูตสวรรค์จึงต้องอธิบายวิธีการที่พระนางจะทรงครรภ์เดชะพระจิตเจ้า ไม่ใช่โดยการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ บางคนแปลข้อความนี้เพียงว่า “เพราะข้าพเจ้ายังเป็นพรหมจารีอยู่” ซึ่งแสดงสภาพปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีเจตนาอะไรพิเศษ คำแปลเช่นนี้จึงสื่อความหมายไม่สมบูรณ์
v “แผ่เงาปกคลุม” ชวนให้คิดถึงภาพของเมฆสุกใสปกคลุม ซึ่งพระคัมภีร์ใช้เป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระเจ้าประทับอยู่ (ดู อพย 13:22 เชิงอรรถ h; 19:16 เชิงอรรถ g; 24:16 เชิงอรรถ f) หรือเป็นภาพของการกางปีกปกคลุม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระเจ้าทรงปกป้องประชากร (สดด 17:8; 57:1; 140:7) หรือทรงเนรมิตสร้าง (ปฐก 1:2; เทียบ ลก 9:34ฯ) พระอานุภาพของพระจิตเจ้าเท่านั้นเป็นสาเหตุของการปฏิสนธิ์ของพระเยซูเจ้า
w เมืองในแถบภูเขาแคว้นยูเดียนี้เชื่อกันว่าคือหมู่บ้านอายน์คาริม ประมาณ 6.5 กม. ทางทิศตะวันตกของกรุงเยรูซาเล็ม
x “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (Kyrios) เป็นพระนามแสดงสภาพพระเจ้าซึ่งคริสตชนใช้เรียกพระเยซูเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ (กจ 2:36 เชิงอรรถ w; ฟป 2:11 เชิงอรรถ p) ลูกาใช้พระนามนี้กับพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระชนมชีพในโลกนี้บ่อยกว่าที่ มธ และ มก ใช้ (ลก 7:13; 10:1,39,41; 11:39)
y ประโยคนี้ยังแปลได้อีกว่า “เธอเป็นสุขที่เชื่อ เพราะว่าพระวาจาที่พระเจ้าได้ตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง”
z สำเนาโบราณไม่กี่ฉบับเขียนว่า ‘นางเอลีซาเบธ’* บทเพลงของพระนางมารีย์ทำให้เราคิดถึงบทเพลงของนางฮันนาห์ (1 ซมอ 2:1-10) และข้อความอื่น ๆ หลายตอนจากพันธสัญญาเดิม (เช่น สดด 113:7-9) นอกจากใช้คำเหมือนกันแล้ว บทเพลงนี้ยังมีความคิดซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพันธสัญญาเดิมสองประการ คือ 1) พระเจ้าเสด็จมาช่วยเหลือคนยากจนและคนต่ำต้อย ไม่ใช่คนมั่งมีและผู้มีอำนาจ (ศฟย 2:3 เชิงอรรถ d เทียบ มธ 5:3 เชิงอรรถ c) 2) เมื่ออับราฮัมได้รับพระสัญญาแล้ว (ปฐก 15:1 เชิงอรรถ a; 17:1 เชิงอรรถ a) ประชากร
อิสราเอลได้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า (ดู ฉธบ 7:6 เชิงอรรถ b) ลูกาคงจะได้พบเพลงบทนี้ในแวดวงของ “ผู้ยากจนของพระเจ้า” และเห็นว่าน่าจะนำมาแทรกไว้ที่นี่ให้เป็นคำพูดของพระนางมารีย์
aa เป็นไปได้ที่พระนางมารีย์ได้พักอยู่กับนางเอลีซาเบธจนกระทั่งยอห์นเกิดและเข้าสุหนัต แต่ ลก มักจะรีบเล่าเรื่องหนึ่งให้จบ เพื่อเล่าเรื่องอื่นต่อไป (เทียบ 1:64 และ 67; 3:19-20; 8:37-38)
bb ชาวยิวมีธรรมเนียมตั้งชื่อเด็กที่เกิดมาเมื่อเข้าสุหนัต (ดู 2:21)
cc เศคาริยาห์อาจเป็นทั้งใบ้และหูหนวก คำภาษากรีกหมายถึงทั้งสองอย่าง
dd สำนวนนี้ใช้บ่อยในพระคัมภีร์ (ยรม 26:24; กจ 11:21) มีความหมายว่า “พระเจ้าทรงป้องกันเขา”
ee เช่นเดียวกับบทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์ เพลงบทนี้เป็นบทประพันธ์ซึ่งลูกาคงยืมจากที่อื่นมาให้
เศคาริยาห์กล่าว และเพิ่มข้อ 76-77 เพื่อให้เข้ากับบริบท ลก ได้เพิ่มบทประพันธ์บทนี้หลังจากที่ได้เล่าเรื่องเป็นร้อยแก้วให้จบก่อน แทนที่จะเป็นถ้อยคำของเศคาริยาห์ต่อจากข้อ 64
ff “กล่าวคำพยากรณ์” เศคาริยาห์ไม่เพียงแต่กล่าวถวายพระพรพระเจ้าเท่านั้น (ข้อ 68-75) แต่ยังได้กล่าวทำนายถึงอนาคตอีกด้วย (ข้อ 76-79)
gg “เสด็จเยี่ยม” เป็นสำนวนในพันธสัญญาเดิม หมายถึงการเสด็จมาช่วยเหลือ (อพย 3:16 เชิงอรรถ h) แต่บางครั้งยังหมายถึงการเสด็จมาลงโทษด้วย แต่ในพันธสัญญาใหม่ การเยี่ยมของพระเจ้าหมายถึงความช่วยเหลือเท่านั้น (1:78; 7:16; 19:44; 1 ปต 2:12)
hh แปลตามตัวอักษรได้ว่า ‘เขาแห่งความรอดพ้น’ (ดู สดด 75:4 เชิงอรรถ c)
ii “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ในที่นี้ เช่นเดียวกับใน 1:16-17; หมายถึงพระยาห์เวห์ มิใช่พระเมสสิยาห์
jj ลก ใช้ข้อความที่คริสตชนนิยมใช้มาบรรยายบทบาทของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง (ดู 3:4ฯ; 7:27ฯ) ลก ทำให้คำเทศน์สอนของยอห์นสอดคล้องกับคำสอนของบรรดาอัครสาวกใน กจ (ดู กจ 2:38ฯ; 5:31; 10:43; 13:38; 26:18)
kk ”พระเมตตากรุณา” แปลตามตัวอักษรได้ว่า ‘ไส้พุงแห่งความกรุณา’ * (ชาวยิวคิดว่าไส้พุงเป็นที่ตั้งของอารมณ์)
ll “แสงอรุโณทัย” (เทียบ กดว 24:17; อสย 60:1; มลค 3:20; คำนี้ยังอาจเข้าใจได้อีกว่า ‘หน่อของพระผู้สูงสุด’ หมายถึงพระเมสสิยาห์ซึ่งเป็น “หน่อจากตระกูลของกษัตริย์ดาวิด” เทียบ ยรม 23:5; 33:15; ศคย 3:8; 6:12)
mm ข้อความนี้มีลักษณะคล้าย ๆ กับเป็นสูตรที่ใช้สรุป (2:40,52; เทียบ 1:66)