“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

หนังสือมัคคาบี ฉบับที่หนึ่ง


  1. บทที่ 1
  2. บทที่ 2
  3. บทที่ 3
  4. บทที่ 4
  5. บทที่ 5
  6. บทที่ 6
  7. บทที่ 7
  8. บทที่ 8
  9. บทที่ 9
  10. บทที่ 10
  11. บทที่ 11
  12. บทที่ 12
  13. บทที่ 13
  14. บทที่ 14
  15. บทที่ 15
  16. บทที่ 16

I. คำนำ

 

ผู้สืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช

1 1หลังจากที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชชาวมาซิโดเนีย พระโอรสของกษัตริย์ฟีลิปเสด็จจากแผ่นดินคิททิม[1] ทรงปราบกษัตริย์ดาริอัสแห่งเปอร์เซียและมีเดีย และทรงขึ้นเป็นกษัตริย์แทนกษัตริย์ดาริอัส ก่อนหน้านั้นทรงปกครองเพียงชาวกรีก[2] 2พระองค์ทรงทำสงครามหลายครั้ง ทรงยึดป้อมปราการต่างๆ และทรงประหารชีวิตกษัตริย์หลายพระองค์ 3ทรงยกทัพไปจนถึงสุดปลายแผ่นดิน ทรงปล้นทรัพย์สมบัติของนานาชาติ แผ่นดินต้องสยบอยู่เฉพาะพระพักตร์ พระทัยทะเยอทะยานทำให้พระองค์ทรงหยิ่งผยองอย่างยิ่ง 4ทรงระดมพลที่เข้มแข็ง ทรงพิชิตเขตแดนและชนชาติต่างๆ ผู้ครองนครทั้งหลายต้องถวายบรรณาการแด่พระองค์ 5ต่อมา พระองค์ก็ประชวร ทรงรู้ดีว่ากำลังจะสิ้นพระชนม์ 6จึงทรงเรียกบรรดานายทหาร[3]ผู้มีสกุลที่เติบโตพร้อมกับพระองค์ตั้งแต่เยาว์วัย ทรงแบ่งพระอาณาจักรให้เขาขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่ 7กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงครองราชย์อยู่สิบสองปี ก็สิ้นพระชนม์

8นายทหารเหล่านั้นต่างปกครองเขตแดนของตน 9เมื่อกษัตริย์อเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์แล้ว ทุกคนสวมมงกุฎขึ้นเป็นกษัตริย์ พระโอรสของกษัตริย์เหล่านี้เป็นกษัตริย์สืบต่อมาอีกหลายปี ทำให้แผ่นดินต้องประสบความทุกข์ยากอย่างมาก

 

กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส[4]ทรงสนับสนุนอารยธรรมกรีกในอิสราเอล

          10ผู้สืบสกุลเลวร้ายที่สุดของกษัตริย์เหล่านี้ คือ อันทิโอคัสเอปีฟาเนสพระโอรสของกษัตริย์อันทิโอคัส พระองค์ทรงเคยเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงโรม[5] ทรงขึ้นครองราชย์ในปีที่ 137 แห่งศักราชกรีก[6]

          11เวลานั้น ชาวอิสราเอลผู้ทรยศ[7]บางคนพยายามชักชวนผู้คนจำนวนมากว่า “มาเถิด เราจงเป็นพันธมิตรกับชนชาติต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ ตั้งแต่เวลาที่เราแยกตัวจากเขา เราก็ประสบแต่ความชั่วร้ายมากมาย” 12หลายคนเห็นพ้องกับข้อเสนอนี้ 13ประชาชนบางคนยินดีไปเฝ้ากษัตริย์ พระองค์ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของชนต่างชาติ[8] 14คนเหล่านี้จึงสร้างสถานฝึกกีฬาขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม การสร้างสถานฝึกกีฬานี้เป็นขนบธรรมเนียมของชนต่างชาติ 15คนเหล่านี้ตบแต่งลบรอยการเข้าสุหนัต ละทิ้งพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ ผูกมิตรกับชนต่างชาติ ยอมเป็นทาสของความชั่วร้ายต่างๆ[9]

กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสทรงทำสงครามครั้งแรกกับอียิปต์[10]

            16เมื่อกษัตริย์อันทิโอคัสทรงมีอำนาจปกครองอาณาจักรอย่างมั่นคงแล้ว พระองค์ตั้งพระทัยจะเป็นกษัตริย์แห่งอียิปต์ เพื่อปกครองทั้งสองอาณาจักร 17พระองค์ทรงยกทัพใหญ่เข้าอียิปต์ มีทั้งรถศึก กองทัพช้าง[11] กองทัพม้าและกองทัพเรือจำนวนมาก 18เสด็จไปทำสงครามกับกษัตริย์โทเลมีแห่งอียิปต์ เมื่อเผชิญหน้ากัน กษัตริย์โทเลมีทรงถอยทัพหนีไป ทหารจำนวนมากบาดเจ็บและเสียชีวิต 19กษัตริย์อันทิโอคัสทรงยึดเมืองป้อมต่างๆ ของอียิปต์ และปล้นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน

          20หลังจากที่กษัตริย์อันทิโอคัสทรงพิชิตอียิปต์ในปีหนึ่งร้อยสี่สิบสามแล้ว พระองค์เสด็จกลับ ทรงยกทัพใหญ่มาสู้รบกับอิสราเอล ทรงขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม 21เสด็จเข้าไปในพระวิหารอย่างโอหัง ทรงขนพระแท่นทองคำ เชิงประทีป กับเครื่องใช้ทุกอย่าง 22คือโต๊ะสำหรับตั้งขนมปังถวาย ชามสำหรับประพรม ถ้วย กระถางทองคำเผาเครื่องหอม ผ้าม่าน มงกุฎ และเครื่องประดับทองคำที่อยู่ด้านหน้าพระวิหาร พระองค์ทรงยึดไปทั้งหมด 23ทรงยึดเครื่องเงิน ทองคำ และภาชนะมีค่า ทรงพบทรัพย์สมบัติใดที่ซ่อนไว้ ก็ทรงขนไปทั้งหมด 24ทรงรวบรวมทุกอย่างแล้วเสด็จกลับไปยังแผ่นดินของพระองค์ ตรัสพระวาจาโอหัง[12] และทรงฆ่าผู้คนจำนวนมาก

          25ทั่วทั้งแผ่นดินของชาวอิสราเอลมีความทุกข์ใหญ่หลวง

          26บรรดาหัวหน้าและผู้อาวุโสร้องไห้คร่ำครวญ

                    หญิงสาวชายหนุ่มหมดกำลัง

          ความงามของผู้หญิงสูญสิ้นไป

          27เจ้าบ่าวทุกคนร้องคร่ำครวญ

                   เจ้าสาวร่ำไห้ในห้องวิวาห์

          28แผ่นดินสั่นสะเทือนเพราะบรรดาผู้อาศัย

                   ทุกคนในตระกูลยาโคบต้องอับอายขายหน้า[13]

ชาวกรีกยึดครองกรุงเยรูซาเล็ม

            29สองปีต่อมา กษัตริย์อันทิโอคัสทรงส่งผู้บัญชาการชาวมีเซีย[14]ไปยังเมืองต่างๆ ในแคว้นยูดาห์ เขานำกองทัพใหญ่มาที่กรุงเยรูซาเล็ม 30พูดเสนอสันติภาพหลอกลวงจนชาวเยรูซาเล็มตายใจ แล้วเข้าโจมตีเมืองทันที ฆ่าฟันชาวอิสราเอลตายเป็นจำนวนมาก 31ปล้นเมือง จุดไฟเผา ทำลายบ้านเรือนและกำแพงรอบเมือง 32พวกทหารจับผู้หญิงกับเด็กเป็นเชลย ยึดเอาฝูงสัตว์ไปด้วย 33แล้วสร้างกำแพงสูงที่แน่นหนา และป้อมปราการแข็งแรงรอบนครของกษัตริย์ดาวิด[15] และเรียกชื่อว่า “ป้อมอาครา” เมืองนี้จึงเป็นที่มั่นของทหารต่างชาติ 34เขาให้คนบาปต่างชาติและชาวยิวทรยศตั้งมั่นอยู่ในป้อม

35ทั้งยังสะสมอาวุธ เสบียงอาหาร และนำสิ่งที่ปล้นได้จากกรุงเยรูซาเล็มมาไว้ที่นั่น ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนกับดักที่น่ากลัวสำหรับชาวกรุงเยรูซาเล็ม

          36ที่มั่นนี้เป็นที่ซุ่มโจมตีพระวิหาร

                   เป็นศัตรูร้ายกาจสำหรับชาวอิสราเอลอยู่ตลอดเวลา

          37เขาหลั่งเลือดของผู้บริสุทธิ์รอบพระวิหาร

                   ทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นมลทิน

          38ชาวเยรูซาเล็มต้องหนีไปเพราะคนพวกนี้

                   กรุงเยรูซาเล็มกลายเป็นที่อาศัยของชนต่างชาติ

          ชาวเยรูซาเล็มรู้สึกว่าตนเป็นคนต่างถิ่น

                   ชาวเมืองต้องละทิ้งเมืองของตน

          39พระวิหารต้องร้างไปเหมือนถิ่นทุรกันดาร

                   วันฉลองกลายเป็นวันไว้ทุกข์

          การถือวันสับบาโตกลับเป็นที่น่าอับอาย

                   สิ่งที่เคยเป็นเกียรติกลับเป็นความอัปยศอดสู

          40กรุงเยรูซาเล็มเคยรุ่งเรืองเพียงใด ก็เสียเกียรติเพียงนั้น

                   ความเจริญรุ่งเรืองกลายเป็นการไว้ทุกข์

การห้ามชาวยิวปฏิบัติศาสนกิจ

            41กษัตริย์ทรงออกพระราชกฤษฎีกาทั่วพระราชอาณาจักรให้ทุกคนรวมเป็นประชากรเดียวกัน ละทิ้งขนบธรรมเนียมของตน 42ชนชาติทั้งหลายยอมปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกา 43ชาวอิสราเอลจำนวนมากยอมรับการปฏิบัติศาสนกิจตามพระบัญชา ถวายบูชาแด่รูปเคารพและละเมิดวันสับบาโต

          44กษัตริย์ทรงส่งทูตถือสารpไปกรุงเยรูซาเล็มและเมืองต่างๆ ในแคว้นยูดาห์ ทรงบัญชาให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ชาวยิวไม่เคยปฏิบัติ 45ทรงบัญชาให้เลิกถวายเครื่องเผาบูชา เครื่องบูชาอื่นๆ และเลิกหลั่งน้ำถวายในพระวิหาร ทรงบัญชาให้ละเมิดวันสับบาโตและวันฉลองอื่นๆ 46พระองค์ทรงทำให้พระวิหารและผู้ร่วมพิธีเป็นมลทิน 47ทรงบัญชาให้สร้างแท่นบูชา สักการสถาน และศาลาสำหรับรูปเคารพ ถวายสุกรและสัตว์มีมลทินเป็นเครื่องบูชา 48บรรดาบุตรชายต้องไม่เข้าสุหนัต ทำให้ตนเป็นมลทินด้วยสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์และน่ารังเกียจ 49เพื่อให้ลืมธรรมบัญญัติและเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีทั้งปวง 50ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์จะต้องถูกประหารชีวิต

          51กษัตริย์ทรงออกพระราชกฤษฎีกาทั่วพระราชอาณาจักร ทรงแต่งตั้งผู้ตรวจราชการคอยดูแลประชากร ทรงบัญชาให้เมืองต่างๆ ในแคว้นยูดาห์ทุกเมืองถวายบูชา 52ประชาชนจำนวนมากที่ละทิ้งธรรมบัญญัติมาร่วมมือกับผู้ตรวจราชการเหล่านี้ ทำความชั่วในแผ่นดิน 53ทำให้ชาวอิสราเอลต้องไปหาที่หลบภัยตามที่ต่างๆ

          54วันที่สิบห้าเดือนคิสเลฟ ปีหนึ่งร้อยสี่สิบห้าq กษัตริย์อันทิโอคัสทรงสร้างรูปผู้ทำลายที่น่ารังเกียจrไว้บนพระแท่นเผาเครื่องบูชา ผู้ตรวจราชการสร้างแท่นบูชาไว้ในเมืองต่างๆ ทุกเมืองของแคว้นยูดาห์ 55เผากำยานที่ประตูบ้านและตามลานสาธารณะ 56เมื่อพบม้วนหนังสือธรรมบัญญัติs ก็ฉีกทิ้งเผาไฟ 57ถ้าพบผู้ใดมีม้วนหนังสือพันธสัญญาหรือปฏิบัติตามธรรมบัญญัติก็ประหารชีวิตตามพระราชกฤษฎีกา 58ผู้ตรวจราชการใช้ความรุนแรงกับชาวอิสราเอลทุกเดือน เมื่อเขาตรวจพบว่าละเมิดพระบัญชาตามเมืองต่างๆ 59วันที่ยี่สิบห้าของทุกเดือนt เขาถวายเครื่องบูชาบนแท่นที่ตั้งอยู่เหนือพระแท่นเผาเครื่องบูชา 60หญิงที่ให้บุตรชายของตนเข้าสุหนัตก็ถูกประหารชีวิตตามพระบัญชา 61ขณะที่อุ้มทารกอยู่แนบอกของตน ครอบครัวของนางและผู้ประกอบพิธีสุหนัตก็ถูกประหารชีวิตด้วย 62แต่ชาวอิสราเอลหลายคนมีความเข้มแข็งและตั้งใจแน่วแน่จะไม่กินอาหารที่เป็นมลทิน 63ยอมตาย ไม่ทำตนเป็นมลทินด้วยการกินอาหารต้องห้าม ดีกว่าจะละเมิดพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ เขาจึงถูกประหารชีวิต 64ชาวอิสราเอลต้องถูกเบียดเบียนอย่างหนัก

 

1 [1] “คิททิม” หมายถึงชาวเมืองคิทิออนในเกาะไซปรัส และยังหมายถึงชาวเกาะไซปรัสทั่วไปด้วย (ปฐก 10:4; 1 พศด 1:7; อสย 23:11) ต่อมาคำนี้ยังหมายถึงชาวเกาะต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ยรม 2:10; อสค 27:6) และแคว้นทางตะวันตก เช่น แคว้นมาซิโดเนีย (1 มคบ 8:5) และในที่สุดหมายถึงจักรวรรดิโรมันทั้งหมด

[2] “ชาวกรีก” ตามตัวอักษรว่า “Hellas” ซึ่งไม่จำกัดเพียงประเทศกรีซเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอาณานิคมของชาวกรีก โดยเฉพาะในอาเซียน้อยด้วย * คำภาษาฮีบรูว่า “yawan” (อสย 66:19; อสค 27:13) หมายถึงชาวไอโอเนีย ซึ่งมีความหมายเดียวกัน

[3] การที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชทรงเรียกบรรดานายทหารมาเฝ้าก่อนจะสิ้นพระชนม์ในเดือนมิถุนายน ปี 323 ก่อน ค.ศ. ทำให้เกิดตำนานในภายหลังว่า พระองค์ทรงแบ่งอาณาจักรให้แก่บรรดานายทหารก่อนจะสิ้นพระชนม์ โดยแท้จริง หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์แล้ว บรรดานายทหารเหล่านี้จะสู้รบกันเพื่อแบ่งดินแดนปกครอง และตกลงกันได้เพียงหลังการรบที่เมือง Issos ในปี 301 ก่อน ค.ศ. ดนล 8:8, 22 เท้าความถึงการแบ่งอาณาจักรครั้งนี้ด้วย

[4] กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสทรงครองราชย์ในปี 175-164 ก่อน ค.ศ. เป็นพระโอรสของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 3 และพระอนุชาของกษัตริย์เซเลวคัสที่ 4 พระนาม “เอปีฟาเนส” หมายถึง “ผู้แสดงองค์ในความรุ่งเรือง” เพราะทรงคิดว่าพระองค์เป็นเทพเจ้าซุสที่เสด็จมาประทับอยู่ในโลกนี้

[5] กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 ทรงเป็นตัวประกันคนหนึ่งที่พระบิดาทรงมอบให้แก่ชาวโรมันในปี 189 ก่อน ค.ศ. เมื่อทรงปราชัยในการรบที่เมือง Magnetia ใกล้ภูเขา Sipylus

[6] “ศักราชกรีก” แปลตามตัวอักษรว่า “อาณาจักรของชาวกรีก” ชาวกรีกในแคว้นซีเรียนับศักราชตั้งแต่ราชวงศ์เซเลวซิดขึ้นครองอำนาจในเดือนตุลาคม ปี 312 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่สร้างเมืองอันทิโอกด้วย แต่ถ้านับตามปฏิทินของชาวยิวและชาวบาบิโลน ซึ่งเริ่มปีในฤดูใบไม้ผลิ ปีที่ 1 ของราชวงศ์เซเลวซิดจึงเริ่ม 6 เดือนหลังจากนั้น คือ เดือนมีนาคม-เมษายน ปี 311 ก่อน ค.ศ. “ปีที่ 137 ของศักราชกรีก” จึงตรงกับปี 175 ก่อน ค.ศ.

[7] “ผู้ทรยศ” แปลตามตัวอักษรว่า “ผู้ละเมิดธรรมบัญญัติ” เป็นสำนวนที่พระคัมภีร์ภาษากรีก (LXX) แปลสำนวนภาษาฮีบรูว่า “บุตรแห่งเบลีอัล” (ดู ฉธบ 13:14 เชิงอรรถ b)

[8] “ชนต่างชาติ” ภาษาฮีบรูว่า “goyim” ภาษากรีกว่า “ethnos” หมายถึงคนที่ไม่ใช่ “ประชากรอิสราเอล” (ภาษาฮีบรูว่า ‘am ภาษากรีกว่า “laos”) แต่บางครั้งคำ “ethnos” อาจหมายถึง “ชนชาติอิสราเอล” ด้วย (3:59; 8:23ฯ; 9:29 ดู ปฐก 12:2; อพย 32:10)

[9] “ความชั่วร้ายต่างๆ” ศาสนา ธรรมบัญญัติ และธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษทำให้ชาวยิวเป็นชนชาติปิดที่แยกตัวจากชนชาติอื่นๆ แต่เมื่อกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชทรงพิชิตดินแดนตะวันออกกลางทั้งหมดได้ ทำให้ค่านิยมอารยธรรมกรีกแทรกซึมเข้าไปถึงชนทุกชาติ ชาวยิวบางคนสนับสนุนอารยธรรมนี้ ซึ่งขัดกับความเชื่อและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวยิว แม้ว่าในตอนแรกการรับวัฒนธรรมกรีกยังไม่ใช่การกราบไหว้รูปเคารพ แต่กระแสวัฒนธรรมนี้มีแนวโน้มชวนให้ชาวยิวละทิ้งความเชื่อของตน ซึ่งจะเกิดขึ้น 7 ปีต่อมา เมื่อกษัตริย์อันทิโอคัสจะทรงบังคับให้ชาวยิวละทิ้งความเชื่อและการปฏิบัติศาสนามากราบไหว้รูปเคารพ หนังสือมัคคาบีทั้งสองฉบับจะกล่าวถึงการขับเคี่ยวระหว่างขบวนการของผู้นิยมกรีก และชาวยิวที่ต้องการรักษาศาสนาและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของตน

[10] เป็นการทำสงครามครั้งแรกกับกษัตริย์โทเลมี ฟีโลเมตอร์ ในปี 169 ก่อน ค.ศ. หนังสือ 2 มคบ จะไม่กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ แต่จะเล่าถึงสงครามครั้งที่สองใน 2 มคบ 5:1 ซึ่งไม่มีกล่าวใน 1 มคบ * หนังสือ ดนล เล่าเหตุการณ์ตามลำดับชัดเจนกว่า คือ การสงครามครั้งแรก (ดนล 11:25-27) การปล้นพระวิหาร (ข้อ 28) สงครามกับอียิปต์ครั้งที่สอง ชาวโรมันมาไกล่เกลี่ย (ข้อ 29) การข่มเหงชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็ม (ข้อ 30) การห้ามนมัสการพระยาห์เวห์ในพระวิหาร (ข้อ 31-39)

[11] “กองทัพช้าง” กษัตริย์เซเลวคัสที่ 1 ทรงนำช้าง 500 เชือกจากอินเดียมาฝึกทำการสงครามที่เมืองอาปาเมอาในซีเรีย (ดู 6:34-37)

[12] “วาจาโอหัง” ความหยิ่งผยองของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสเป็นที่เลื่องลือในหมู่คนร่วมสมัย พระองค์ทรงคิดว่าตนเป็นเทพเจ้าซุส คนร่วมสมัยจึงเล่นคำล้อเลียน เรียกพระนาม “เอปีฟาเนส” เปลี่ยนเป็น “เอปีมาเนส” ซึ่งแปลว่า “บ้าสุดๆ” (ดู 2 มคบ 5:17, 21; 9:4-11; ดนล 7:8, 25; 11:36)

[13] เป็นบทประพันธ์บทแรกที่พบใน 1 มคบ เราจะพบบทประพันธ์อื่นๆ อีกใน 1:36-42; 2:8-13, 51-64; 3:3-9, 45; 13:4-15

[14] “ผู้บัญชาการชาวมีเซีย” แปลโดยคาดคะเนจากต้นฉบับภาษาฮีบรู และตาม 2 มคบ 5:24 ต้นฉบับภาษากรีกว่า “หัวหน้าผู้ดูแลภาษีอากร” เรายังรู้ชื่อของเขาใน 3:10 คือ อปอลโลเนียส เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 197 ก่อน ค.ศ.

[15] “นครของกษัตริย์ดาวิด” ไม่ใช่เมืองโบราณบนเนินเขาศิโยนที่กษัตริย์ดาวิดทรงยึดมาจากชาวเยบุส (เทียบ 2 ซมอ 5:9 เชิงอรรถ f) แต่เป็นเนินด้านตะวันตกของพระวิหาร ซึ่งทหารกรีกและซีเรียสร้างเป็นป้อมปราการเพื่อป้องกันตนเองและชาวยิวที่นิยมอารยธรรมกรีก ป้อมนี้จึงเป็นการคุกคามสำหรับพระวิหารและชาวยิวที่ยังซื่อสัตย์ต่อศาสนาของตน

p กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสทรงพยายามรวบรวมชนชาติต่างๆ ในพระอาณาจักรให้มีเอกภาพ จึงทรงบังคับให้ชาวยิวปฏิบัติตามธรรมเนียมของชนต่างชาติ ทรงประกาศยกเลิกพระราชกฤษฎีกาของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 3 ในปี 198 ก่อน ค.ศ. ที่อนุญาตให้ธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นกฎหมายบ้านเมืองสำหรับชาวอิสราเอล เช่นเดียวกับที่กษัตริย์เปอร์เซียเคยทรงอนุญาตหลังจากที่ชาวยิว
กลับจากเนรเทศ การปฏิบัติตามธรรมบัญญัติจึงถูกถือว่าเป็นการกบฏต่อบ้านเมืองด้วย เพราะไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ชาวยิวจึงถูกเบียดเบียน ชาวยิวจะได้รับอิสรภาพในการปฏิบัติศาสนาของตนคืนมาอีกในรัชสมัยของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 (ดู 6:57-61; 2 มคบ 11:22-26)

q “ปีหนึ่งร้อยสี่สิบห้า” ของศักราชราชวงศ์เซเลวซิด ตรงกับเดือนธันวาคม 167 ก่อน ค.ศ.

r “ผู้ทำลายที่น่ารังเกียจ” (ดู ดนล 9:27; 11:31) คือแท่นบูชาพระบาอัลชาแมม หรือ เทพซุสแห่งภูเขาโอลิมปัส ที่กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสทรงสร้างไว้บนพระแท่นเผาเครื่องบูชาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม

s “หนังสือธรรมบัญญัติ” หรือ “หนังสือพันธสัญญา” (ข้อ 57) มีความหมายเดียวกัน หมายถึงหนังสือปัญจบรรพ หรือ Torah

t “วันที่ยี่สิบห้าของทุกเดือน” เป็นวันระลึกถึงวันพระราชสมภพของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส (2 มคบ 6:7) ตรงกับวันถวายแท่นบูชาแด่เทพซุสด้วย สามปีต่อมาในวันเดียวกัน ยูดาสมัคคาบีจะถวายพระแท่นบูชาใหม่ หลังจากได้รื้อแท่นบูชาที่เป็นมลทินนี้แล้ว (4:52ฯ)

II. มัทธาธีอัสเริ่มต้นสงครามศักดิ์สิทธิ์a

 

มัทธาธีอัสกับบุตรชาย

2 1ในสมัยนั้น มัทธาธีอัสบุตรของยอห์น บุตรของสิเมโอน สมณะในตระกูลโยอาริบb ออกจากกรุงเยรูซาเล็มไปตั้งหลักฐานอยู่ที่เมืองโมดีน 2เขามีบุตรชายห้าคน คือ ยอห์นที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “กัดดี” 3สิเมโอนที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ธัสสี” 4ยูดาสที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “มัคคาบี” 5เอเลอาซาร์ที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “อวาราน” และโยนาธานที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “อัฟฟุส”c 6เมื่อมัทธาธีอัสเห็นการดูหมิ่นพระเจ้าเกิดขึ้นในแคว้นยูดาห์และที่กรุงเยรูซาเล็ม 7เขาก็พูดว่า “อนิจจาเอ๋ย ทำไมนะ ฉันจึงต้องเกิดมาเห็นความย่อยยับของประชากรของฉัน และเห็นนครศักดิ์สิทธิ์ถูกทำลาย ฉันจะนั่งงอมืองอเท้าได้อย่างไรขณะที่เมืองตกอยู่ในมือของศัตรู และพระวิหารอยู่ในมือของคนต่างด้าว

          8“พระวิหารกลายเป็นเหมือนคนที่ไร้เกียรติd

          9เครื่องประดับงดงามถูกปล้นไป

                    ทารกถูกฆ่าในลานสาธารณะ

          บรรดาชายหนุ่มถูกดาบข้าศึกฟาดฟัน

          10ชนชาติใดบ้างที่ไม่ได้เข้าครอบครองอาณาจักร

                    และยึดทรัพย์สมบัติไปจากเมืองนี้

          11กรุงเยรูซาเล็มที่เคยเป็นอิสระกลับเป็นทาส

          12พระวิหารที่งดงามและที่เราภูมิใจถูกทิ้งร้าง

                    ชนต่างชาติทำให้เป็นมลทิน

          13ทำไมหนอเราจึงยังมีชีวิตอยู่อีก”

          14แล้วมัทธาธีอัสกับบรรดาบุตรก็ฉีกเสื้อผ้าของตนด้วยความโศกเศร้า สวมเสื้อผ้ากระสอบ ร่ำไห้ไว้ทุกข์

มัทธาธีอัสไม่ยอมปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์

          15เจ้าหน้าที่ที่กษัตริย์ทรงส่งมาบังคับประชาชนให้ละทิ้งศาสนาและถวายบูชาแด่รูปเคารพมาถึงเมืองโมดีน 16ชาวอิสราเอลจำนวนมากเข้าร่วมด้วย แต่มัทธาธีอัสกับบรรดาบุตรอยู่รวมกันอีกกลุ่มหนึ่ง 17เจ้าหน้าที่ที่กษัตริย์ทรงส่งมาจึงกล่าวแก่มัทธาธีอัสว่า “ท่านเป็นคนสำคัญ มีเกียรติ และยิ่งใหญ่ในเมืองนี้ ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาบุตรและญาติพี่น้อง 18ท่านจงออกมาเป็นคนแรก ปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์เถิด ดังที่ชนชาติต่างๆ ชาวยูดาห์และผู้คนที่เหลืออยู่ในกรุงเยรูซาเล็มทำกัน แล้วท่านกับบรรดาบุตรจะได้ชื่อว่าเป็นพระสหายของกษัตริย์e ท่านกับบรรดาบุตรจะมีเกียรติ ได้รับเงินทองและของประทานมากมาย”

          19แต่มัทธาธีอัสร้องตอบเสียงดังว่า “แม้ชนชาติทั้งหมดในราชอาณาจักรของกษัตริย์จะปฏิบัติตามพระบัญชา ละทิ้งศาสนาของบรรพบุรุษ ยอมปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์ 20ข้าพเจ้ากับบรรดาบุตรและญาติพี่น้องจะดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาของบรรพบุรุษ 21ขอพระเจ้าfทรงพระกรุณา อย่าให้เราละทิ้งธรรมบัญญัติและขนบประเพณีเลย 22เราจะไม่เชื่อฟังพระบัญชาของกษัตริย์ จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากศาสนาของเราแต่ประการใด”

          23เมื่อเขาพูดจบ ชาวยิวคนหนึ่งออกมาต่อหน้าคนทั้งหลาย เพื่อถวายเครื่องบูชาบนแท่นที่เมืองโมดีนตามพระบัญชาของกษัตริย์ 24มัทธาธีอัสเห็นเข้าก็โกรธ โทสะพลุ่งขึ้นเพราะความรักต่อธรรมบัญญัติg วิ่งไปฆ่าชายคนนั้นคาแท่นบูชา 25เขาฆ่าเจ้าหน้าที่ที่กษัตริย์ทรงส่งมาบังคับให้ถวายเครื่องบูชา และเขายังทำลายแท่นบูชาด้วย 26เขาทำเช่นนี้เพราะความรักต่อธรรมบัญญัติ ดังที่ฟีเนหัสเคยทำกับศิมรีบุตรของสาลู

          27มัทธาธีอัสไปประกาศเสียงดังทั่วเมืองว่า “ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาต่อธรรมบัญญัติ และยึดมั่นในพันธสัญญา จงตามข้าพเจ้ามาเถิด”

          28เขากับบรรดาบุตรหนีไปยังเขตภูเขา ละทิ้งข้าวของทั้งหมดไว้ในเมือง

ผู้ติดตามมัทธาธีอัสไม่ยอมละเมิดวันสับบาโต

            29ชาวยิวจำนวนมากที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม และปฏิบัติตามขนบประเพณีทางศาสนา ไปตั้งหลักฐานในถิ่นทุรกันดาร 30พร้อมกับบรรดาบุตร ภรรยา และฝูงสัตว์ เพราะทนสภาพการณ์ชั่วร้ายไม่ได้

          31ข้าราชการของกษัตริย์และบรรดาทหารที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มนครแห่งกษัตริย์ดาวิด รู้ว่าบางคนที่ดูหมิ่นพระบัญชาได้ออกไปหลบซ่อนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร 32ทหารจำนวนมากจึงไล่ตามไปจนทัน แล้วตั้งค่ายอยู่ตรงกันข้าม เตรียมจะเข้าโจมตีในวันสับบาโต

          33ทหารที่ไล่ตามไปตะโกนบอกว่า “พอกันที จงออกมาปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์เถิด แล้วท่านจะมีชีวิตรอด”

          34แต่คนเหล่านั้นร้องตอบว่า “เราจะไม่ออกไป เราจะไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์ จะได้ไม่ละเมิดวันสับบาโต”h

          35พวกทหารจึงเข้าโจมตีทันที 36แต่ชาวยิวไม่ตอบโต้ ไม่ขว้างก้อนหิน และไม่ปิดกั้นที่ซ่อนของตน 37เขาเพียงแต่พูดว่า “พวกเรายอมตายอย่างผู้บริสุทธิ์ สวรรค์และแผ่นดินเป็นพยานว่าท่านทั้งหลายทำลายพวกเราอย่างไม่ยุติธรรมเลย”

          38ทหารเหล่านั้นเข้าโจมตีชาวยิวในวันสับบาโต เขายอมตายพร้อมทั้งบุตรภรรยานับพันคนและฝูงสัตว์

การต่อสู้ของมัทธาธีอัสพร้อมกับผู้ร่วมอุดมการณ์

            39เมื่อมัทธาธีอัสกับพวกรู้ข่าวนี้ ก็ร่ำไห้ไว้ทุกข์อย่างมาก 40พูดกันว่า “ถ้าเราทุกคนทำเหมือนพี่น้องของเรา ไม่ต่อสู้กับชนต่างชาติเพื่อรักษาชีวิตและขนบธรรมเนียมของเรา เขาคงจะทำลายพวกเราให้สูญไปจากแผ่นดินนี้โดยเร็ว

          41วันนั้น เขาก็ตกลงกันว่า “ถ้าผู้ใดมาทำสงครามกับเราในวันสับบาโต เราจะต่อสู้ เพื่อเราทุกคนจะไม่ต้องตายดังที่พี่น้องของเราได้ตายในที่ซ่อน”

          42หลังจากนั้น กลุ่มฮาสิดิมiซึ่งเป็นนักรบชาวอิสราเอลที่กล้าหาญและเลื่อมใสธรรมบัญญัติ ก็เข้ามาร่วมเป็นพวกเดียวกับมัทธาธีอัส 43ทุกคนที่หนีสถานการณ์เลวร้ายก็เข้ามาร่วมเป็นกำลังพลเสริมด้วย 44คนเหล่านี้รวบรวมกำลังพลเข้าโจมตีพวกคนบาปด้วยความโกรธแค้นและฆ่าฟันคนอธรรมอย่างเกรี้ยวกราด คนที่รอดตายหนีไปอยู่กับชนต่างชาติเพื่อรักษาชีวิต 45มัทธาธีอัสกับพวกไปตามที่ต่างๆ ทำลายแท่นบูชา 46บังคับให้เด็กชายทุกคนในแผ่นดินอิสราเอลที่ยังไม่เข้าสุหนัตได้เข้าสุหนัต 47เขาตามล่าผู้ทะนงตน และงานที่เขาทำก็ประสบความสำเร็จ 48เขาปกป้องธรรมบัญญัติจากอำนาจของชนต่างชาติและบรรดากษัตริย์ และไม่ปล่อยให้คนบาปมีชัยชนะj

มัทธาธีอัสถึงแก่กรรม k

            49เมื่อมัทธาธีอัสจวนจะสิ้นใจ เขาบอกบรรดาบุตรว่า “ขณะนี้ผู้ทะนงตนและคนอธรรมกำลังได้เปรียบ เป็นเวลาหายนะและความโกรธแค้นเดือดดาล 50บัดนี้ ลูกเอ๋ย จงมีความเลื่อมใสธรรมบัญญัติ จงพลีชีพเพื่อพันธสัญญาของบรรพบุรุษ

          51จงระลึกถึงกิจการที่บรรพบุรุษได้ทำในสมัยของเขาเถิด แล้วเจ้าทั้งหลายจะได้รับเกียรติยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงดำรงอยู่ตลอดกาล

          52พระเจ้ามิได้ทรงทดลองอับราฮัมและทรงพบว่าเขาซื่อสัตย์ดอกหรือ เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ชอบธรรม

          53เมื่อโยเซฟถูกข่มเหง เขาก็ยังปฏิบัติตามบทบัญญัติ เขาจึงได้เป็นเจ้านายของอียิปต์

          54ฟีเนหัสบรรพบุรุษของเราlได้รับพันธสัญญาเป็นสมณะตลอดไป เพราะความเลื่อมใสของตน

          55โยชูวาเชื่อฟังพระวาจา จึงได้เป็นผู้วินิจฉัยในหมู่ชาวอิสราเอล

          56คาเลบเป็นพยานต่อหน้าชุมชนอิสราเอล จึงได้รับแผ่นดินส่วนหนึ่งเป็นมรดก

          57ดาวิดได้รับบัลลังก์ปกครองอาณาจักรตลอดไป เพราะความจงรักภักดีต่อพระเจ้า

          58เอลียาห์มีความกระตือรือร้นเลื่อมใสธรรมบัญญัติ พระเจ้าจึงทรงรับเขาสู่สวรรค์

          59ฮานันยาห์ อาซาริยาห์และมิชาเอลรอดพ้นจากกองไฟ เพราะมีความเชื่อ

          60ดาเนียลรอดพ้นปากสิงโตเพราะไม่มีความผิด

          61จงพิจารณาต่อไปเถิดว่า ทุกยุคทุกสมัย ผู้ที่มีความหวังในพระเจ้าจะไม่อ่อนกำลัง

          62อย่ากลัวถ้อยคำของคนบาปm เพราะความรุ่งโรจน์ของเขาจะเป็นสิ่งปฏิกูล ถูกหนอนกิน

          63วันนี้เขาได้รับการยกย่อง พรุ่งนี้กลับหาเขาไม่พบ

          เพราะเขากลายเป็นฝุ่นดิน และแผนการของเขาก็ล้มเหลว

          64ลูกเอ๋ย จงเข้มแข็งและกล้าหาญเพื่อธรรมบัญญัติเถิด เจ้าทุกคนจะได้รับเกียรติเพราะธรรมบัญญัตินี้

          65สิเมโอนnพี่ชายของเจ้าเป็นคนฉลาด จงเชื่อฟังเขาเสมอเถิด เขาจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้า 66ยูดาสมัคคาบีเป็นนักรบเข้มแข็งตั้งแต่วัยหนุ่ม เขาจะเป็นผู้นำกองทัพของเจ้า ทำสงครามกับชนต่างชาติ 67เจ้าทั้งหลายจงรวบรวมทุกคนที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติมาอยู่กับเจ้า จงแก้แค้นผู้ที่ทำร้ายประชากรของเจ้า 68จงทำกับชนต่างชาติอย่างสาสม และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติทุกข้อเถิด”

          69แล้วมัทธาธีอัสอวยพรเขาและสิ้นใจ 70เขาถึงแก่กรรมปีหนึ่งร้อยสี่สิบหก และฝังไว้ในที่ฝังศพของบรรพบุรุษที่เมืองโมดีน ชาวอิสราเอลทั้งปวงร่ำไห้ไว้ทุกข์ให้เขาอย่างมาก

2 a การเบียดเบียนทำให้ชาวยิวตื่นตัวปฏิบัติศาสนาอย่างเคร่งครัด ชาวยิวต่อต้านอารยธรรมกรีกด้วยหลายวิธีต่างกัน เช่น ใช้ความรุนแรง (2:15-28) ต่อต้านโดยดุษฎี (2:29-38) และในที่สุด ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์โดยมีมัทธาธีอัสเป็นผู้นำ (2:39-48) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยมียูดาสมัคคาบีเป็นผู้นำ * บทที่ 3-5 ยูดาสตระหนักดีว่าอิสรภาพทางศาสนาและอิสรภาพทางการเมืองมีความสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น เขาจึงต่อสู้ต่อไปหลังจากได้รับอิสรภาพทางศาสนาแล้ว (6:57-62) * แต่การเปลี่ยนจุดประสงค์ของการต่อสู้กับชาวกรีกจากเรื่องศาสนามาเป็นเรื่องการเมือง ทำให้พวกมัคคาบีต้องประนีประนอมในด้านศาสนา และชาวยิวต้องแบ่งเป็นกลุ่ม ทะเลาะกันเอง ดังที่มีเล่าอยู่ในตอนสุดท้ายของหนังสือ มคบ การช่วงชิงอำนาจกันนี้ทำให้ความกระตือรือร้นด้านศาสนาลดลง และประชาชนจะเสื่อมศรัทธาต่อผู้สืบตำแหน่งของพวกมัคคาบี คือตระกูลฮัสโมเนียนในที่สุด

b “โยอาริบ” เป็นหัวหน้าสมณะกลุ่มแรกในจำนวน 24 กลุ่ม คือกลุ่มของเยไดยาห์ ซึ่งโยเซฟุสบันทึกว่าเป็นบรรพบุรุษของตระกูลสมณะโอนีอัส ซึ่งดำรงตำแหน่งอาวุโสเป็นลำดับที่สองเท่านั้น (ดู 1 พศด 24:7) บางคนคิดว่าการยกย่องให้มีตำแหน่งสูงเช่นนี้เป็นเพราะผู้เขียนต้องการยกย่องตระกูลมัคคาบี เมื่อเขายึดตำแหน่งมหาสมณะมาแล้ว (ดู 10:20)

c สมญา “กัดดี” อาจแปลได้ว่า “โชคดี” สมญา “อวาราน” อาจหมายถึง “ตื่นตัว” สมญา “อัฟฟุส” อาจหมายถึง “คนโปรด” สมญา “มัคคาบี” อาจหมายถึง “หัวแข็งเหมือนค้อน” หรืออาจเป็นคำย่อมาจากภาษาฮีบรูว่า “มัคคาบียาฮู” ซึ่งแปลว่า “ผู้ที่พระยาห์เวห์ทรงแต่งตั้ง” (ดู อสย 62:2) แต่เราไม่รู้ความหมายของสมญา “ธัสสี”

d “ไร้เกียรติ” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “มีเกียรติ”

e “พระสหายของกษัตริย์” เป็นตำแหน่งมีเกียรติที่กษัตริย์ประทานให้แก่ข้าราชการบางคนที่มีความชอบ ตั้งแต่สมัยเปอร์เซีย ตำแหน่งนี้มีหลายระดับ มีอภิสิทธิ์และหน้าที่ต่างกัน (ดู 3:38; 7:8; 10:16, 20, 60, 65; 11:27, 57; 14:39; 15:28; 2 มคบ 8:9)

f “พระเจ้า” ต้นฉบับภาษากรีกละประธานของกริยา แต่กริยา “ทรงพระกรุณา” มักจะใช้กับพระเจ้า

g “...เพราะความรักต่อธรรมบัญญัติ” (ดู ฉธบ 13:7-12) ความกระตือรือร้นต่อธรรมบัญญัติเป็นคุณลักษณะของการปฏิบัติศาสนาในสมัยนั้น ในศตวรรษต่อมา การปฏิบัติศาสนาจะเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น เพราะกลุ่ม “ชาตินิยม”

h อพย 16:29 ห้ามออกจากบ้านในวันสับบาโต (เทียบ อพย 20:8 เชิงอรรถ f) * เอกสาร Damascus Document ซึ่งพบที่กุมรานอธิบาย กดว 35:4ฯ ว่าอนุญาตให้เดินทางในวันสับบาโตได้เป็นระยะทาง 1,000 ศอก (533 เมตร) นอกเมือง ส่วนในเมืองเดินทางได้เป็นระยะทาง 2,000 ศอก (1,066 เมตร) สำหรับผู้เฝ้าฝูงแพะแกะ เท่ากับว่าห้ามทำงานทุกชนิด (ดู นหม 13:15ฯ) แต่ชาวยิวที่เป็นกบฏต่อกษัตริย์ซีเรียจะต้องเรียนรู้ว่าจำเป็นต้องป้องกันตนเองด้วยแม้ในวันสับบาโต (ดู ข้อ 40ฯ)

i “ฮาสิดิม” เป็นคำภาษาฮีบรู แปลว่า “ผู้เลื่อมใส” หมายถึงกลุ่มชาวยิวที่เลื่อมใสศรัทธาต่อธรรมบัญญัติ ต่อต้านอิทธิพลของชนต่างชาติ แม้ก่อนสมัยพวกมัคคาบี กลุ่มฮาสิดิมนี้มาเป็นกำลังแนวหน้าของยูดาสมัคคาบี (ดู 2 มคบ 14:6) แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของตระกูลฮัสโมเนียนทุกประการ (ดู 1 มคบ 7:13) โยเซฟุสเขียนว่า (ดู Ant.XIII, 17ฯ) กลุ่มฮาสิดิมในสมัยต่อมา เมื่อโยนาธานเป็นผู้ปกครองชาวยิวราวปี 150 ก่อน ค.ศ. ได้แยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ ชาวฟาริสี (มธ 3:7 เชิงอรรถ f; กจ 4:1 เชิงอรรถ a) และชาวเอสเสน ซึ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังจากมีการค้นพบเอกสารที่ถ้ำกุมราน ริมทะเลตายในปี 1947

j “ปล่อยให้คนบาปมีชัยชนะ” แปลตามตัวอักษรว่า “ให้เขาสัตว์แก่คนบาป” ในพระคัมภีร์ เขาสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของกำลังในการต่อสู้ (ดู สดด 18:2 เชิงอรรถ d; ดนล 7-8)

k คำอวยพรบุตรก่อนตายของมัทธาธีอัสชวนให้คิดถึงคำยกย่องบรรพบุรุษที่พบใน บสร 44-50

l “บรรพบุรุษของเรา” ผู้เขียนทำให้ซีโมนที่ 2 มหาสมณะร่วมสมัย เป็นผู้สืบตระกูลมาจากเอเลอาซาร์บุตรของอาโรนและบิดาของฟีเนหัส ซึ่งเป็น บรรพบุรุษของศาโดกและตระกูลของสมณะโอนีอัส จึงต้องการแสดงว่าตระกูลฮัสโมเนียนเป็นสมณะที่สืบตระกูลมาอย่างถูกต้อง

m “คนบาป” ในที่นี้คงหมายถึงกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส (ดู 1:10; 2 มคบ 9:9)

n “สิเมโอน” เป็นชื่อภาษาฮีบรูของ “ซีโมน” (ชื่อภาษากรีก) ของบุตรคนที่สองของมัทธาธีอัส (ดู 2:3) แม้ว่าเขามีอายุและคุณสมบัติมากกว่าผู้อื่น เขาจะเป็นคนที่สามในตระกูลที่ขึ้นมาเป็นผู้นำชาวยิว (ดู บทที่ 13)

III. ยูดาสมัคคาบีเป็นผู้นำ (166-160 ก่อน ค.ศ.)

 

บทประพันธ์ชมเชยยูดาสมัคคาบี

            3 1ยูดาสบุตรของมัทธาธีอัส เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “มัคคาบี” ขึ้นเป็นผู้นำชาวยิวแทนบิดา 2พี่น้องทุกคน รวมทั้งผู้ที่เคยร่วมมือกับบิดา สนับสนุนช่วยเหลือเขาและเต็มใจทำสงครามกับศัตรูเพื่ออิสราเอล

 

            3เขาทำให้ประชากรมีเกียรติยิ่งขึ้น

               เขาสวมเสื้อเกราะเหมือนยักษ์

     มีอาวุธพร้อมเพื่อออกศึก

        4เขาองอาจเหมือนราชสีห์ในกิจการที่ทำ

               เหมือนสิงห์หนุ่มคำรามใส่เหยื่อ

          5เขาไล่ล่าคนอธรรมจนพบ

                    เผาผลาญคนที่ทำให้ประชากรปั่นป่วน

          6บรรดาคนอธรรมตกใจกลัวเพราะหวาดเกรงเขา

                    ผู้ทำความชั่วทุกคนต้องสะดุ้งกลัว

          การต่อสู้เพื่ออิสรภาพประสบความสำเร็จเมื่อเขาเป็นผู้นำ

          7เขาทำให้กษัตริย์หลายองค์ต้องขมขื่น

                    การงานของเขานำความยินดีมาให้ยาโคบ

          ทุกคนที่ระลึกถึงเขาจะสรรเสริญเขาตลอดไป

          8เขาผ่านไปตามเมืองต่างๆ ของยูดาห์

                    ขับไล่คนอธรรมออกไปจากที่นั่น

          ทำให้พระพิโรธหันไปจากอิสราเอล

          9เขามีชื่อเสียงโด่งดังไปจนสุดปลายแผ่นดิน

                    เขารวบรวมผู้ที่กระจัดกระจายให้มาอยู่ด้วยกันอีก

ชัยชนะครั้งแรกของยูดาส a

            10อปอลโลเนียสbระดมพลชนต่างชาติและกำลังพลยิ่งใหญ่จากแคว้นสะมาเรียมาสู้รบกับอิสราเอล 11เมื่อยูดาสรู้ข่าวนี้ เขาก็ออกไปต่อสู้ มีชัยชนะ และฆ่าอปอลโลเนียส ทหารจำนวนมากบาดเจ็บและเสียชีวิต ผู้รอดตายก็หลบหนีไป 12ชาวอิสราเอลยึดข้าวของทั้งหมด ส่วนยูดาสเก็บดาบของอปอลโลเนียสไว้ และนำมาใช้ในการรบทุกครั้งตลอดชีวิต

          13เมื่อเสรอนผู้บัญชาการกองทัพซีเรียรู้ว่ายูดาสรวบรวมกองทัพ ที่ประกอบด้วยผู้มีความเชื่อต่อพระเจ้าและนักรบชำนาญศึก 14เขาคิดว่า “ฉันจะหาชื่อเสียงใส่ตนและจะได้รับเกียรติไปทั่วอาณาจักร ฉันจะต่อสู้กับยูดาสและพวกที่ลบหลู่พระบัญชาของกษัตริย์”

          15คนอธรรมกลุ่มใหญ่มารวมกับเขา ออกเดินทางเพื่อช่วยเขาแก้แค้นชาวอิสราเอล 16เขาไปถึงทางขึ้นไปสู่เมืองเบธโฮโรน ยูดาสก็ยกกำลังพลจำนวนน้อยออกมาเผชิญหน้ากับเขา 17เมื่อทหารอิสราเอลเห็นกองทัพใหญ่มุ่งหน้ามารบกับตน ก็พูดกับยูดาสว่า “พวกเรามีไม่กี่คน จะไปรบกับกองทัพใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น วันนี้พวกเราก็เหนื่อยและยังไม่ได้กินอาหารเลย”

          18ยูดาสแย้งว่า “เป็นการง่ายที่คนจำนวนน้อยจะชนะคนจำนวนมาก เพราะสำหรับสวรรค์c การจะช่วยให้รอดพ้นด้วยคนจำนวนมากหรือคนจำนวนน้อยย่อมไม่แตกต่างกัน 19ชัยชนะในการทำสงครามไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของกองทัพ แต่พลังมาจากสวรรค์ 20คนเหล่านี้มาสู้กับเราด้วยความเย่อหยิ่งและความชั่วร้ายอย่างมาก เพื่อจะทำลายพวกเราพร้อมกับบุตรภรรยา และเพื่อปล้นพวกเรา 21แต่เราต่อสู้เพื่อชีวิตและขนบธรรมเนียมของเรา 22พระเจ้าจะทรงบดขยี้เขาให้ยับเยินต่อหน้าเรา ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเขาเลย”d

          23เมื่อยูดาสพูดจบ เขาก็วิ่งเข้าไปโจมตีทันที เสรอนกับกองทัพแตกกระจายไปต่อหน้า 24ยูดาสกับทหารไล่เสรอนตามทางลงจากเมืองเบธโฮโรนไปสู่ที่ราบ ทหารของเสรอนเสียชีวิตในครั้งนั้นประมาณแปดร้อยคน ส่วนผู้ที่รอดตายหนีไปในแผ่นดินของชาวฟีลิสเตียe 25ยูดาสและญาติพี่น้องเริ่มเป็นที่เกรงขาม ชนชาติต่างๆ ที่อยู่โดยรอบต่างหวาดกลัว 26ชื่อเสียงของยูดาสเลื่องลือไปจนถึงกษัตริย์อันทิโอคัส และชนชาติต่างๆ ล้วนพูดถึงการต่อสู้ของยูดาส

กษัตริย์อันทิโอคัสทรงทำสงครามกับเปอร์เซียf ทรงแต่งตั้งลีเซียสเป็นผู้สำเร็จราชการ

            27เมื่อกษัตริย์อันทิโอคัสทรงทราบเหตุการณ์นี้ ก็กริ้วอย่างยิ่ง รับสั่งให้ระดมกำลังพลทั้งหมดในราชอาณาจักรเป็นกองทัพที่เข้มแข็งมาก 28ทรงเบิกเงินในท้องพระคลังจ่ายค่าจ้างให้ทหารหนึ่งปี ทรงสั่งให้เตรียมพร้อม 29พระองค์ทรงเห็นว่าเงินในท้องพระคลังเหลือน้อยมาก และภาษีอากรจากแคว้นต่างๆ ก็น้อยลง เนื่องจากความแตกแยกและความเสียหายที่ทรงก่อให้เกิดในแผ่นดิน เพราะทรงลบล้างขนบธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาแต่ดั้งเดิม 30ดังที่เคยเกิดขึ้นมามากกว่าหนึ่งครั้งแล้ว พระองค์ทรงเกรงว่าจะไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่าย และไม่มีเงินให้เป็นบำเหน็จอย่างไม่จำกัดดังที่ทรงเคยกระทำมามากกว่ากษัตริย์องค์ก่อนๆ 31พระองค์ทรงกังวลจนต้องตัดสินพระทัยเสด็จไปเปอร์เซียเพื่อรับบรรณาการจากแคว้นเหล่านั้นให้ได้เงินจำนวนมาก 32ทรงมอบหมายให้ลีเซียสเชื้อพระวงศ์ผู้มีเกียรติดูแลราชการตั้งแต่แม่น้ำยูเฟรติสไปจนถึงชายแดนอียิปต์g 33ทรงมอบภารกิจให้อบรมดูแลอันทิโอคัสhพระโอรส จนกว่าจะเสด็จกลับมา 34พระองค์ทรงมอบกองทัพครึ่งหนึ่งและช้างไว้ให้ลีเซียส ทั้งรับสั่งถึงสิ่งต่างๆ ที่ทรงปรารถนาให้เขาทำ ส่วนชาวเมืองยูเดียและกรุงเยรูซาเล็มนั้น 35ทรงรับสั่งให้ลีเซียสยกทัพไปทำลายล้างกำลังพลของอิสราเอล และกลุ่มชนที่เหลือในกรุงเยรูซาเล็มให้สูญไปจากความทรงจำของทุกคนในแผ่นดิน 36ทรงสั่งให้นำชนต่างชาติมาอาศัยอยู่ในเขตแดนของอิสราเอล และจัดแบ่งดินแดนiของเขาด้วย

          37ปีหนึ่งร้อยสี่สิบเจ็ด กษัตริย์ทรงยกกองทัพอีกครึ่งหนึ่งออกจากเมืองอันทิโอก ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักร ทรงข้ามแม่น้ำยูเฟรติส เดินทางมุ่งไปสู่แคว้นทางเหนือj

กอร์เกียสและนิคาโนร์นำกองทัพซีเรียเข้าโจมตีแคว้นยูเดีย

          38ลีเซียสเลือกโทเลมีบุตรของโดริเมเนส นิคาโนร์กับกอร์เกียส ทั้งสามคนนี้เป็นผู้มีอำนาจในหมู่พระสหายของกษัตริย์k 39และส่งสามคนนี้พร้อมกับทหารสี่หมื่นคน ทหารม้าเจ็ดพันคน เข้าทำลายแคว้นยูเดียตามพระบัญชาของกษัตริย์ 40คนเหล่านี้ออกเดินทางพร้อมกับกำลังพลทั้งหมด มาตั้งค่ายอยู่ในที่ราบใกล้เมืองเอมมาอุส 41กำลังพลของซีเรียmและกำลังพลจากดินแดนชนต่างชาติมาสมทบกับเขาด้วย เมื่อบรรดาพ่อค้าในแคว้นนั้นได้ยินข่าวก็มาที่ค่าย นำเงินทองจำนวนมากพร้อมกับโซ่ตรวนl เพื่อซื้อชาวอิสราเอลไปเป็นทาส

          42ยูดาสกับญาติพี่น้องเห็นว่าสถานการณ์เลวลง มีกองทัพมาตั้งค่ายอยู่ในเขตแดนของตน และรู้ว่ากษัตริย์มีรับสั่งให้ทำลายประชากรของตนทั้งหมด 43จึงปรึกษากันว่า “พวกเราจงช่วยประชากรให้พ้นจากหายนะ จงออกรบเพื่อประชากรของเราและเพื่อพระวิหารเถิด”

          44ทุกคนมาชุมนุมกันเตรียมทำสงคราม และอธิษฐานวอนขอพระเมตตาและพระกรุณา

          45“กรุงเยรูซาเล็มร้างไปเหมือนถิ่นทุรกันดาร

                    ไม่มีชาวเมืองแม้แต่คนเดียวเข้าหรือออกจากเมือง

          พระวิหารถูกเหยียบย่ำ

                    ชนชาติอื่นอยู่ในป้อมอาครา

          ชนต่างชาติพักอาศัยอยู่ที่นั่น

                    ความชื่นชมสูญสิ้นไปจากยาโคบ

          ไม่มีเสียงขลุ่ยและเสียงพิณอีกต่อไป”

ชาวยิวรวมพลที่เมืองมิสปาห์

            46ชาวยิวทุกคนไปรวมกันที่เมืองมิสปาห์nใกล้กรุงเยรูซาเล็ม เพราะตั้งแต่สมัยโบราณเมืองมิสปาห์เป็นที่ที่ชาวอิสราเอลไปอธิษฐานภาวนา 47วันนั้นเขาจำศีลอดอาหารและสวมเสื้อผ้ากระสอบ โปรยขี้เถ้าบนศีรษะและฉีกเสื้อผ้าแสดงความทุกข์ 48เขาคลี่ม้วนธรรมบัญญัติอ่านเพื่อเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เช่นเดียวกับที่ชนต่างชาติแสวงหาคำตอบจากรูปเทพเจ้าของตนo 49ชาวยิวนำอาภรณ์ของสมณะมาพร้อมกับผลิตผลแรก และหนึ่งในสิบของผลิตผลทั้งหมด เขาเรียกพวกนาศีร์ที่ปฏิบัติตามคำปฏิญาณเรียบร้อยแล้วpมาด้วย 50แล้วร้องเสียงดังทูลสวรรค์ว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายจะต้องทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ จะนำคนเหล่านี้ไปที่ไหน 51เพราะพระวิหารของพระองค์ถูกเหยียบย่ำจนมีมลทิน บรรดาสมณะของพระองค์ต่างโศกเศร้าและถูกสบประมาท 52บัดนี้ ชนต่างชาติรวมกำลังกันจะทำลายข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบว่าเขากำลังคิดจะทำร้ายข้าพเจ้าทั้งหลายอย่างไร 53ข้าพเจ้าทั้งหลายจะต้านทานพวกเขาได้อย่างไร ถ้าพระองค์ไม่ทรงช่วยเหลือ” 54แล้วชาวอิสราเอลก็เป่าแตร โห่ร้องเสียงดัง

          55ต่อมา ยูดาสแต่งตั้งหัวหน้าของประชากรให้เป็นผู้บังคับบัญชาคนจำนวนพัน จำนวนร้อย จำนวนห้าสิบ และจำนวนสิบคนq 56เขาบอกคนที่กำลังสร้างบ้าน คนที่เพิ่งแต่งงาน คนที่ปลูกสวนองุ่น และคนที่กลัว ให้กลับไปบ้านตามที่ธรรมบัญญัติอนุญาต 57แล้วจึงยกกองทัพไปตั้งค่ายอยู่ทางใต้ของเมืองเอมมาอุส

          58ยูดาสพูดปลุกใจว่า “ท่านทั้งหลายจงคาดอาวุธและเป็นคนเข้มแข็งเถิด จงเตรียมพร้อมตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อเข้าสู้รบกับชนต่างชาติเหล่านี้ที่รวมกำลังกันมาทำลายพวกเราและพระวิหารของเรา 59ตายในสนามรบดีกว่าเห็นความพินาศของชาติและของพระวิหารของเรา 60พระเจ้าบนสวรรค์ทรงประสงค์สิ่งใด พระองค์ก็จะทรงกระทำสิ่งนั้น”

3 a 2 มคบ ไม่กล่าวถึงการรบสองครั้งแรกนี้

b ตามข้อเขียนของโยเซฟุส อปอลโลเนียสเป็นผู้ว่าราชการปกครองแคว้นสะมาเรีย (ดู 1:29 เชิงอรรถ n)

c “สำหรับสวรรค์” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “สำหรับพระเจ้า” แต่ในต้นฉบับ ผู้เขียนคงหลีกเลี่ยงไม่ออกพระนามว่า “พระเจ้า” เพราะความเคารพ ใช้คำว่า “สวรรค์” แทนตลอดในหนังสือนี้

d “อย่ากลัวเขาเลย” เป็นการเตือนโดยใช้ลีลาการเขียนจาก ฉธบ (ดู ฉธบ 1:29ฯ; 3:18-22; 9:1ฯ) ข้อเขียนของชาวยิวในสมัยมัคคาบีมักจะเขียนตามลีลาการเขียนเรื่องราวของบรรพบุรุษ และการเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอัน ข้อ 21 สรุปเหตุผลที่ทำให้พวกมัคคาบีต่อต้านพระบัญชาของกษัตริย์อันทิโอคัส

e “แผ่นดินของชาวฟีลิสเตีย” เป็นสำนวนโบราณที่ผู้เขียนจงใจใช้ หมายถึงดินแดนชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ดู 15:38)

f ผู้เขียนมีความลำเอียงที่จะทำให้ปัญหากับชาวยิวเป็นปัญหาสำคัญของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส โดยแท้จริงแล้ว การยกทัพเข้าโจมตีเปอร์เซียไม่เพียงแต่เพื่อจะได้ทรัพย์สมบัติเข้าพระคลัง แต่เพื่อยึดดินแดนอาร์เมเนียคืนมา

g “ตั้งแต่...อียิปต์” คือแคว้นตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรติสในสมัยปกครองของเปอร์เซีย ลีเซียส (นักประวัติศาสตร์โปลีเบียส กล่าวถึงลีเซียสผู้นี้ด้วย) น่าจะเป็นแม่ทัพ บังคับบัญชาทหารในแคว้นซีเรียภาคใต้และฟีนีเซีย (ดู 2 มคบ 10:11) รวมทั้งซีเรียภาคเหนือด้วย * ตำแหน่ง “เป็นเชื้อพระวงศ์” มีความหมายเท่ากับเป็น “พระประยูรญาติ” (ดู 2 มคบ 11:1) เป็นตำแหน่งสูงสุดในราชสำนักเซเลวซิด (ดู 1 มคบ 10:89)

h อันทิโอคัสผู้นี้คือผู้ที่จะเป็นกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 ยูปาเตอร์ (6:17) * สองปีต่อมา ผู้รับหน้าที่อบรมดูแลเจ้านายพระองค์นี้คือฟีลิป พระสหายสนิทของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส (6:14; 2 มคบ 9:29)

i กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสทรงต้องการลบล้างชาวยิวที่เป็นกบฏโดยฆ่าหรือจับไปขายเป็นทาส (2 มคบ 8:9-11) และยึดที่ดินของเขามาจัดให้ชนต่างชาติเข้าอาศัย (ดนล 11:39) ดังนี้ แคว้นยูเดียจะเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดให้ประชาชนเข้าอาศัย ค่าเช่าจะเป็นรายได้มากกว่าภาษีที่เคยเก็บได้

j “แคว้นทางเหนือ” เป็นอีกชื่อหนึ่งของที่ราบสูงอิหร่าน (ดู 6:1; 2 มคบ 9:29) * ปี 147 ศักราชกรีก ตรงกับฤดูใบไม้ผลิปี 165 ก่อน ค.ศ.

k โทเลมีเป็นผู้ปกครองแคว้นซีเรียใต้ และแคว้นฟีนีเซีย (2 มคบ8:8) กอร์เกียสเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพโดยตรง ส่วนนิคาโนร์ซึ่งมีตำแหน่งเป็น “พระสหายเอก” มีตำแหน่งสูงกว่ากอร์เกียส แต่บังคับบัญชาทหารใต้อำนาจของกอร์เกียส (2 มคบ 8:9) นิคาโนร์จะเป็นผู้นำกองทัพหลังจากนี้ ใน 7:26

m “ซีเรีย” บางคนแปลโดยคาดคะเนว่า “อีดูเมอา” เป็นความสับสนที่พบบ่อยๆ มักเกิดขึ้นจากการอ่านอักขระภาษาฮีบรูของคำ “อารัม” (= ซีเรีย) กับ “เอโดม” (= อีดูเมอา) ซึ่งคล้ายกันมาก (ดู วนฉ 3:8; 1 พกษ 11:25; 2 พกษ 16:6) * “ดินแดนของชนต่างชาติ” หมายถึงดินแดนของชาวฟีลิสเตีย (ดู 5:68)

l “โซ่ตรวน” แปลโดยคาดคะเนตามสำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียค และโยเซฟุส ต้นฉบับภาษากรีกและละตินว่า “เด็กๆ”

n “เมืองมิสปาห์” เป็นสถานที่ที่ชาวอิสราเอลใช้ระดมพลมาแต่โบราณ (ดู วนฉ 20:1; 1 ซมอ 7:5; 10:17: ยรม 40:6) เมืองนี้อยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มไปทางเหนือราว 13 กิโลเมตร

o 2 มคบ 8:23 ช่วยให้เข้าใจว่าทำไมชาวอิสราเอลต้องเปิดหนังสือธรรมบัญญัติอ่านโดยสุ่ม เพื่อจะรู้พระประสงค์ของพระเจ้าในการออกรบ เพราะในสมัยนั้นไม่มีประกาศกที่จะปรึกษาอีกแล้ว

p เมื่อนาศีร์ปฏิบัติตามคำปฏิญาณครบแล้ว เขาจะต้องถวายเครื่องบูชาที่พระวิหาร (กดว 6:13) แต่ในขณะนั้นพระวิหารแห่งเดียวมีมลทินเสียแล้ว และมีทหารต่างชาติเฝ้าอยู่อีกด้วย ชาวยิวจึงเข้าไปประกอบพิธีในพระวิหารไม่ได้

q การแบ่งคนเป็นกลุ่มเช่นนี้เป็นวิธีแบ่งโบราณของชาวอิสราเอล ทั้งในด้านพลเรือนและการทหาร (ดู อพย 18:21; [เทียบ อพย 18:13 เชิงอรรถ g]; กดว 31:48; ฉธบ 1:15; 2 ซมอ 18:1; 2 พกษ 1:9-14) แต่การแบ่งเช่นนี้ไม่เป็นที่นิยมในกองทัพสมัยเฮลเลนิสต์ ในภายหลังชาวเอสเสนจะใช้ระบบปกครองแบ่งกลุ่มเช่นเดียวกันนี้ด้วย

การรบที่เมืองเอมมาอุส

            4 1กอร์เกียสยกกองทัพทหารราบห้าพันคน ทหารม้าหนึ่งพันคนออกไปจากค่ายในเวลากลางคืน 2เพื่อเข้าจู่โจมค่ายชาวยิวโดยไม่ทันให้รู้ตัว ทหารจากป้อมอาคราเป็นผู้นำทาง 3เมื่อยูดาสรู้ เขากับทหารชำนาญศึกก็ยกกำลังพลออกมาโจมตีกองทัพของกษัตริย์ที่เมืองเอมมาอุส 4ขณะที่กำลังพลเหล่านี้ยังกระจัดกระจายอยู่นอกค่าย 5คืนนั้น กอร์เกียสมาถึงค่ายของยูดาส ไม่พบใครเลย จึงออกไปค้นหาตามภูเขา คิดว่า “ชาวยิวหนีพวกเราไปแล้ว”

          6รุ่งเช้า ยูดาสก็ออกมาในที่ราบกับทหารสามพันคน เขามีเสื้อเกราะและดาบไม่เพียงพอ 7เขาเห็นกองทัพชนต่างชาติเข้มแข็ง มีเสื้อเกราะ ทหารม้าล้อมรอบ ทุกคนล้วนเป็นทหารชำนาญศึก 8ยูดาสปลุกใจทหารaของตนว่า “อย่ากลัวกำลังพลจำนวนมากของเขาเลย อย่ากลัวการโจมตีของเขา 9จงระลึกว่าบรรพบุรุษของเราได้รับความรอดพ้นในทะเลแดงอย่างไรเมื่อกษัตริย์ฟาโรห์ทรงยกทัพไล่ตามไป 10บัดนี้ พวกเราจงร้องขอต่อสวรรค์เถิด ขอให้พระเจ้าโปรดปราน ทรงระลึกถึงพันธสัญญาที่ทรงกระทำกับบรรพบุรุษของเรา และทรงทำลายกองทัพที่อยู่ต่อหน้าเราในวันนี้ 11ชนชาติทั้งหลายจะได้รู้ว่าอิสราเอลมีผู้ทรงกอบกู้และช่วยให้รอดพ้น”

          12เมื่อทหารต่างชาติมองเห็นชาวยิวเข้ามาหาตน 13ก็ออกมาจากค่ายจะเข้าสู้รบ ทหารของยูดาสเป่าแตร 14และเข้าต่อสู้กัน ทหารต่างชาติปราชัยวิ่งหนีไปทางที่ราบ 15ทหารที่หนีไม่ทันถูกฟันด้วยดาบตายสิ้น ชาวยิวไล่ตามทหารต่างชาติไปจนถึงเมืองเกเซอร์b และที่ราบของแคว้นอีดูเมอา เมืองอาโซตัสและเมืองยัมเนีย ฆ่าศัตรูได้ประมาณสามพันคน

          16เมื่อยูดาสกับกองทัพกลับจากการไล่ตามกองทัพชนต่างชาติแล้ว 17เขาบอกทหารว่า “อย่ามัวโลภอยากได้ของเชลย เพราะการสู้รบยังคอยอยู่ข้างหน้าเรา 18กอร์เกียสกับกองทัพยังอยู่บนภูเขาใกล้ๆ จงยืนหยัดต่อต้านศัตรูและเข้าสู้รบกับเขา แล้วจึงไปเก็บของเชลยอย่างปลอดภัย”

          19เมื่อยูดาสพูดจบ ชาวยิวก็เห็นกองทัพของข้าศึกส่วนหนึ่งกำลังมองลงมาจากภูเขา 20ข้าศึกเห็นว่ากองทัพของตนหนีไปและค่ายก็ถูกเผา ควันที่เขาเห็นบอกให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น 21เมื่อเห็นเช่นนี้ เขากลัวมาก และเห็นกองทัพของยูดาสตั้งอยู่ในที่ราบ เตรียมพร้อมจะเข้าโจมตี 22ทุกคนต่างหนีไปสู่แผ่นดินของชาวฟีลิสเตีย 23ยูดาสกลับไปปล้นค่าย รวบรวมเงินทองจำนวนมาก ผ้าสีม่วง สีม่วงแดงc และทรัพย์สินอื่นๆ มากมาย 24ขณะที่กลับไป ชาวยิวทุกคนร้องเพลงถวายพระพรพระเจ้าว่า

          “พระองค์พระทัยดี

                    ความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์”d    

          25วันนั้น ชาวอิสราเอลได้รับการกอบกู้ยิ่งใหญ่ 26ทหารต่างชาติที่หนีไปได้มาพบลีเซียสและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นe 27เมื่อลีเซียสรู้เรื่องก็ตกใจและท้อใจ เพราะเหตุการณ์ในอิสราเอลไม่เป็นไปดังที่เขาต้องการ และไม่เป็นไปตามพระบัญชาของกษัตริย์

ลีเซียสยกทัพมารบกับอิสราเอล

            28ปีต่อมา ลีเซียสระดมกำลังทหารที่คัดเลือกเป็นพิเศษหกหมื่นคน และทหารม้าห้าพันคน เพื่อทำสงครามกับชาวยิว 29เขามาถึงแคว้นอีดูเมอาก็ตั้งค่ายที่เมืองเบธซูร์f ยูดาสยกกำลังพลหนึ่งหมื่นคนออกมาเผชิญหน้า 30เมื่อเห็นว่าข้าศึกมีกำลังพลเข้มแข็ง จึงอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระผู้ช่วยอิสราเอลให้รอดพ้น ขอถวายพระพรแด่พระองค์ พระองค์ทรงทำลายการโจมตีของผู้ทรงอำนาจด้วยมือของดาวิดผู้รับใช้พระองค์ ทรงมอบกองทัพของชาวฟีลิสเตียไว้ในมือของโยนาธานพระโอรสของกษัตริย์ซาอูล และในมือผู้ถืออาวุธของเขา 31โปรดทรงมอบกองทัพนี้ไว้ในมือของอิสราเอลประชากรของพระองค์เช่นเดียวกัน ขอทรงทำให้ศัตรูต้องอับอายเพราะสูญเสียทั้งทหารราบและทหารม้า 32โปรดทรงบันดาลให้เขาหวาดกลัว ให้พลังที่ห้าวหาญของเขาต้องอ่อนแอ ให้เขาต้องสั่นสะเทือนเมื่อปราชัย 33ขอให้เขาล้มลงเพราะคมดาบของผู้ที่รักพระองค์ ทุกคนที่รู้จักพระนามพระองค์จะได้ขับร้องบทเพลงสรรเสริญพระองค์”

          34แล้วทั้งสองฝ่ายก็สู้รบกัน ทหารของลีเซียสล้มตายถึงห้าพันคนในการประจัญบาน 35เมื่อลีเซียสเห็นว่ากำลังพลของตนต้องล่าถอย ส่วนกำลังพลของยูดาสกล้าหาญยิ่งๆ ขึ้น เพราะเขาพร้อมที่จะมีชีวิตหรือไม่ก็ตายอย่างกล้าหาญ ลีเซียสจึงถอยทัพกลับไปเมืองอันทิโอกg รวบรวมทหารรับจ้างจำนวนมากขึ้น เพื่อจะยกทัพมาจู่โจมแคว้นยูเดียอีกครั้งหนึ่ง

ยูดาสชำระและถวายพระวิหาร h

            36ยูดาสกับญาติพี่น้องปรึกษากันว่า “ศัตรูของเราถูกบดขยี้แล้ว เราจงไปชำระพระวิหารให้หมดมลทินเถิด จะได้ถวายแด่พระเจ้าอีก” 37คนทั้งกองทัพมาชุมนุมกัน แล้วขึ้นไปที่เนินเขาศิโยน 38เขาพบพระวิหารถูกทิ้งร้าง พระแท่นบูชาถูกลบหลู่จนเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ บานประตูถูกเผา หญ้าขึ้นรกลานพระวิหาร ราวกับว่าที่นั่นเป็นป่าหรือเป็นภูเขา ห้องสมณะถูกทำลาย 39ทุกคนจึงฉีกเสื้อผ้า ร้องไห้เสียงดัง โปรยขี้เถ้าบนศีรษะด้วยความโศกเศร้า 40ซบหน้าลงกับพื้นดิน เมื่อเสียงแตรสัญญาณดังขึ้น ทุกคนก็ร้องเสียงดังวอนขอพระเจ้า

          41ยูดาสสั่งทหารของตนให้เข้าโจมตีศัตรูที่อยู่ในป้อมอาครา ขณะที่เขากำลังชำระพระวิหารให้หมดมลทิน 42เขาเลือกสมณะที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัดไม่มีที่ติ 43ให้ชำระพระวิหาร และขนก้อนหินที่นำมาใช้สร้างแท่นบูชาเทพเจ้าiไปไว้ ณ สถานที่ที่มีมลทิน 44เขาปรึกษากันว่าควรทำอย่างไรกับพระแท่นถวายเครื่องเผาบูชาที่ถูกลบหลู่จนเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ 45แล้วตกลงกันว่าควรรื้อทิ้งทั้งหมด เพื่อมิให้เป็นที่อับอายสำหรับตน เพราะชนต่างชาติได้ทำให้เป็นมลทิน เขาจึงรื้อพระแท่นบูชา 46ขนก้อนหินไปวางไว้ในที่เหมาะสมบนภูเขาที่ตั้งพระวิหาร จนกว่าประกาศกjจะมาบอกว่าควรทำอย่างไรกับก้อนหินเหล่านั้น 47แล้วเขานำหินที่ยังไม่สกัดตามที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้ มาสร้างพระแท่นบูชาใหม่เหมือนพระแท่นบูชาเดิม 48ทั้งยังบูรณะพระวิหารภายนอกและภายใน และถวายลานพระวิหารแด่พระเจ้า 49เขาทำภาชนะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นใหม่ นำคันประทีป พระแท่นบูชาเผากำยาน และโต๊ะตั้งขนมปังถวายเข้ามาไว้ในพระวิหาร 50แล้วเขาเผากำยานบนพระแท่น จุดตะเกียงบนคันประทีป ทำให้พระวิหารสว่างไสว 51เขานำขนมปังตั้งถวายมาวางไว้บนโต๊ะ และแขวนม่าน งานทั้งหมดที่เขาตั้งใจจะทำก็สำเร็จบริบูรณ์

          52ชาวอิสราเอลลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ยี่สิบห้าเดือนเก้า ซึ่งเป็นเดือนคิสเลฟ ปีหนึ่งร้อยสี่สิบแปดของศักราชกรีกk 53เขาทั้งหลายมาถวายเครื่องบูชาตามธรรมบัญญัติบนพระแท่นเครื่องเผาบูชาที่เพิ่งสร้างใหม่ 54ในวันครบรอบปีที่ชนต่างชาติทำให้พระแท่นเป็นมลทิน เขาถวายพระแท่นบูชาใหม่แด่พระเจ้าด้วยการขับร้อง ดีดพิณ เป่าขลุ่ยและตีฉาบ 55ประชากรทุกคนกราบลงหน้าจรดพื้น นมัสการสรรเสริญพระเจ้าผู้ประทานความสำเร็จ

          56เขาฉลองการถวายพระแท่นบูชาเป็นเวลาแปดวัน ถวายเครื่องเผาบูชาด้วยความชื่นชม ทั้งยังถวายบูชาขอบพระคุณและสรรเสริญ 57เขาตกแต่งด้านหน้าพระวิหารด้วยมงกุฎทองคำและโล่เล็กๆ ซ่อมแซมประตูและห้องสมณะ ติดบานประตูใหม่ 58ประชากรทุกคนมีความยินดียิ่งเพราะความอับอายที่ชนต่างชาตินำมาให้นั้นถูกลบล้างไปแล้ว 59ยูดาสกับญาติพี่น้องและชาวอิสราเอลที่มาชุมนุมกัน กำหนดให้ทุกคนเฉลิมฉลองการถวายพระวิหารด้วยความยินดีตลอดเวลาแปดวันเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่วันที่ยี่สิบห้า เดือนคิสเลฟl

          60ครั้งนั้น เขาสร้างกำแพงสูงและป้อมแข็งแรงล้อมเนินเขาศิโยน เพื่อป้องกันมิให้ชนต่างชาติกลับมาย่ำยีอีก 61ยูดาสยังจัดกองทหารไว้ประจำที่นั่นเพื่อป้องกัน เขาสร้างป้อมปราการไว้ที่เมืองเบธซูร์ด้วย เพื่อประชากรจะได้มีที่ป้องกันการโจมตีจากแคว้นอีดูเมอา

4 a ดู 3:22 เชิงอรรถ d คำปราศรัยปลุกใจทหารก่อนออกรบเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปทั้งในอดีตและปัจจุบัน ฉธบ 20:2 สั่งให้ปฏิบัติเช่นนี้ (ดู 2 มคบ 16-20 ด้วย)

b ยูดาสโจมตีเมืองเกเซอร์ แต่ยึดไม่ได้ (2 มคบ 10:32) ต่อมาซีโมนยึดเมืองนี้ได้และสร้างวังให้โอรส (ยอห์นฮีร์กัน) พำนักอยู่ (1 มคบ 13:43ฯ ; 14:7, 34; 16:1, 21; ดู ยชว 10:33)

c “สีม่วงแดง” แปลตามตัวอักษรว่า “สีม่วงทะเล” เป็นสีม่วงเข้มที่ชาวไทระได้จากหอยทะเลชนิดหนึ่ง (เทียบ อพย 25-29)

d ทหารคงจะร้องเพลงสดุดีบทที่ 118 (ดู 2 พศด 20:21)

e ดู 3:37 และ 2 มคบ 11:21 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต้นปี 164 ก่อน ค.ศ.

f “เบธซูร์” เมืองนี้ตั้งอยู่ชายแดนใต้สุดของแคว้นยูเดีย ห่างจากกรุงเยรูซาเล็ม 29 กิโลเมตร ตามถนนไปเมืองเฮโบรน ลีเซียสยกกองทัพลงมาตามที่ราบชายทะเลจนถึงเขตแดนของแคว้นอีดูเมอา กองทัพซีเรียมีป้อมปราการที่เมืองเบธซูร์นี้ (ดู 6:7)

g ผู้เขียน 1 มคบ ดูเหมือนจะไม่รู้เรื่องการเจรจาสันติภาพระหว่างลีเซียสกับยูดาสหลังการรบครั้งนี้ (ดู 2 มคบ 11:13ฯ)

h จุดประสงค์ของการกบฏต่อกษัตริย์ซีเรียก็คือการยึดพระวิหารคืนมา (ดู 2:7; 3:43; 2 มคบ 13:11) เพราะพระวิหารเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของชาวยิว ถ้าไม่มีพระวิหาร ชาวยิวจะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติโดยสมบูรณ์ไม่ได้ ชนต่างชาติได้ยึดพระวิหารและทำให้เป็นมลทิน (1:21ฯ; 1:54) บัดนี้ เมื่อยูดาสมีชัยชนะเหนือศัตรูแล้ว จึงรีบไปชำระและซ่อมแซมพระวิหาร ยูดาสทำการนี้สำเร็จก็เพราะกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสสิ้นพระชนม์ ผู้เขียน 1 มคบ เล่าเรื่องการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์พระองค์นี้หลังจากยูดาสสู้รบกับชาวอีดูเมอาและชาวอัมโมน (บทที่ 5) ซึ่งผิดกับลำดับเหตุการณ์ที่เป็นจริง ความคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารจะเป็นเรื่องสำคัญใน 2 มคบ (ดู 2 มคบ 3:12; 5:15; 13:11; 15:18; และ 15:37 เชิงอรรถ m)

i “แท่นบูชาเทพเจ้า” แปลตามตัวอักษรว่า “ความน่ารังเกียจ” คำภาษากรีกคำนี้มักใช้แปลคำภาษาฮีบรูที่หมายถึงรูปเคารพของเทพเจ้าที่ชาวยิวรังเกียจ (ดู ฉธบ 29:16; ยรม 1:4; 7:30 ฯลฯ; อสค 5:11; 7:20; 11:18 ฯลฯ) แท่นบูชานี้อาจหมายถึงแท่นบูชาที่กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสทรงสร้างขึ้นในพระวิหาร (ดู 1 มคบ 1:54)

j “ประกาศก” หนังสือมัคคาบีกล่าวหลายครั้งว่าในขณะนั้นไม่มีประกาศก แต่หวังว่าพระเจ้าจะทรงบันดาลให้มีประกาศกอีกในอนาคต (ดู 9:27; 14:40; เทียบ สดด 74:9; 77:9-10; พคค 2:9; อสค 7:26)

k ตรงกับเดือนธันวาคม ปี 164 ก่อน ค.ศ. เป็นเวลาครบ 3 ปีที่กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสทรงถวายบูชาแด่เทพซุสบนพระแท่นบูชาในพระวิหาร (ดู 1:59)

l วันฉลองการถวายพระวิหารที่เรียกว่า “ฮันนุกกาห์” (Hannukkah) ในภาษาฮีบรู เป็นวันฉลองล่าสุดในปฏิทินของชาวยิว (ดู อพย 23:14 เชิงอรรถ d) ในวันนั้นชาวยิวขับร้องเพลงสดุดีชุด “ฮัลเลล” (= สดด 113-118) โบกกิ่งไม้หรือกิ่งปาล์ม เป็นการฉลองคล้ายกับการฉลองเทศกาลอยู่เพิง ดังที่ 2 มคบ 1:9 เชิงอรรถ d; 10:6 กล่าวพาดพิงถึง เพราะเทศกาลอยู่เพิงยังเป็นการฉลองระลึกถึงการถวายพระวิหารที่กษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างขึ้น (1 พกษ 8:2,62-66) การจุดตะเกียงในวันฉลองถวายพระวิหารทำให้ฉลองนี้ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งในภายหลังว่า “ฉลองแสงสว่าง” การจุดตะเกียงเช่นนี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธรรมบัญญัติ ไม่จำกัดอยู่เพียงในพระวิหาร แต่ยังจุดตามบ้านเรือนด้วย ธรรมเนียมนี้ยังคงปฏิบัติอยู่ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าไม่มีพระวิหารอีกแล้วก็ตาม 2 มคบ จะเน้นวันฉลองนี้เป็นพิเศษ (ดู จดหมายนำเรื่องเล่าใน 2 มคบ 10:1-8) ยน 10:22 ยังกล่าวพาดพิงถึงวันฉลองนี้ด้วย

ยูดาสยกทัพโจมตีชาวเอโดมและชาวอัมโมน a

5 1เมื่อชนต่างชาติที่อยู่โดยรอบได้ยินว่าชาวอิสราเอลสร้างพระแท่นบูชาขึ้นใหม่ และบูรณะพระวิหารให้เหมือนเดิม ก็โกรธมาก 2จึงตกลงกันว่าจะทำลายเผ่าพันธุ์ของยาโคบที่อยู่ในหมู่ของเขาให้หมดสิ้น เขาเริ่มฆ่าและกำจัดประชากรอิสราเอล 3ยูดาสจึงยกทัพไปทำสงครามกับเผ่าพันธุ์ของเอซาวในแคว้นอีดูเมอา และในแคว้นอาคราบัทตาb คนเหล่านี้ล้อมชาวอิสราเอลไว้ ยูดาสจึงตอบโต้อย่างหนัก มีชัยชนะและยึดของเชลยจากเขา 4ยูดาสระลึกถึงความชั่วร้ายของเผ่าพันธุ์ของเบอันc ซึ่งเป็นเหมือนกับดักและหินขวางทางให้ชาวอิสราเอลสะดุด คอยดักซุ่มตามถนนอยู่เสมอ 5ยูดาสบีบบังคับคนเหล่านั้นให้ต้องหลบอยู่แต่ในหอคอย ล้อมเขาไว้ สาบานจะทำลายล้างเขา จึงจุดไฟเผาหอคอย คลอกทุกคน ที่อยู่ในนั้น 6แล้วยกทัพข้ามไปโจมตีชาวอัมโมน ได้เห็นว่าชาวอัมโมนมีกองทัพใหญ่โตเข้มแข็ง มีทิโมธีเป็นผู้นำทัพ 7ยูดาสเข้าโจมตีหลายครั้ง จนชาวอัมโมนถูกทำลายล้าง 8ยูดาสยังยึดเมืองยาเซอร์และหมู่บ้านต่างๆโดยรอบด้วย แล้วจึงยกทัพกลับไปยังแคว้นยูเดีย

การเตรียมทัพไปโจมตีแคว้นกาลิลีและแคว้นกีเลอาด

                        9ชนต่างชาติ ที่อยู่ในแคว้นกีเลอาดd รวมกันเข้าโจมตีชาวอิสราเอลที่อยู่ในเขตแดนของตนเพื่อทำลายล้าง ชาวอิสราเอลหลบหนีไปอยู่ในป้อมปราการที่เมืองดาเธมา 10และส่งจดหมายไปถึงยูดาสและญาติพี่น้องมีความว่า “ชนต่างชาติที่อยู่โดยรอบรวมกำลังมาโจมตีเพื่อทำลายล้างพวกเรา 11คนเหล่านี้กำลังเตรียมจะมายึดป้อมปราการที่เราหนีมาหลบอยู่ ทิโมธีเป็นแม่ทัพของเขา 12ขอท่านยกทัพมาช่วยพวกเราให้พ้นจากเงื้อมมือของเขาโดยเร็วเถิด เพราะพวกเราหลายคนตายไปแล้ว 13พี่น้องทั้งหมดของพวกเราที่อยู่ในเขตแดนของโทบีอัสe ก็ถูกฆ่าตาย เขาจับบุตรภรรยาไปเป็นทาส และยึดทรัพย์สินไปด้วย เขาฆ่าคนของพวกเราตายที่นั่นราวหนึ่งพันคน”

          14ขณะที่กำลังอ่านจดหมายนี้อยู่ ทันใดนั้นผู้ถือสารอีกกลุ่มหนึ่งจากแคว้นกาลิลี สวมเสื้อผ้าฉีกขาด ก็เข้ามาแจ้งข่าวคล้ายๆกันว่า 15ชาวเมืองโทเลมีf ไทระ และไซดอน และชนต่างชาติที่อยู่ในแคว้นกาลิลีรวมกำลังกันจะทำลายล้างพวกเรา 16เมื่อยูดาสและประชากรได้ยินเรื่องนี้ ก็เรียกคนทั้งปวงมาประชุมกันเพื่อตัดสินว่าจะช่วยพี่น้องที่กำลังลำบากและถูกชนต่างชาติโจมตีได้อย่างไร

          17ยูดาสบอกสิโมนพี่ชายว่า “จงเลือกทหารบางคน รีบไปช่วยเหลือพี่น้องของพวกเราในแคว้นกาลิลี ส่วนฉันกับโยนาธานน้องชายจะไปยังแคว้นกีเลอาด” 18ยูดาสมอบหมายให้โยเซฟบุตรของเศคารยาห์ และอาซาริยาห์หัวหน้าประชากร พร้อมกับกองทัพที่เหลือให้อยู่เฝ้าแคว้นยูเดียไว้ 19สั่งว่า “จงดูแลประชากรเหล่านี้ไว้ให้ดี อย่าออกไปสู้รบกับชนต่างชาติจนกว่าพวกเราจะกลับมา” 20สิโมนได้รับทหารสามพันคน เพื่อไปทำสงครามที่แคว้นกาลิลี ส่วนยูดาสได้รับทหารแปดพันคนมุ่งไปแคว้นกีเลอาด

          21สิโมนไปที่แคว้นกาลิลี ทำสงครามกับชนต่างชาติหลายครั้ง กองทัพข้าศึกถูกโจมตีแตกยับเยิน 22เขาขับไล่ข้าศึกไปจนถึงประตูเมืองโทเลมี ทหารข้าศึกเสียชีวิตประมาณสามพันคน สิโมนยึดของเชลยของข้าศึก 23และนำชาวยิวที่อยู่ในแคว้นกาลิลีและอาร์บัทตาg พร้อมกับบุตรภรรยาและข้าวของทั้งหมดกลับมายังแคว้นยูเดียด้วยความยินดียิ่ง

          24ส่วนยูดาสมัคคาบี กับโยนาธานน้องชาย ข้ามแม่น้ำจอร์แดน เดินทัพฝ่าถิ่นทุรกันดารไปเป็นเวลาสามวัน 25แล้วพบชาวนาบาเทียh ซึ่งต้อนรับพวกเขาอย่างสันติ ทั้งยังเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชาวยิวในแคว้นกีเลอาดให้ฟังด้วยว่า  26“ชาวยิวจำนวนมากถูกล้อมอยู่ในเมืองโบสราห์i โบสอร์ อาเลมา คัสโฟ มาเก็ด และคาร์นาอิมi เมืองเหล่านี้เป็นเมืองใหญ่มีป้อมปราการแน่นหนา 27ชาวยิวอีกจำนวนหนึ่งถูกล้อมอยู่ในเมืองอื่นๆของแคว้นกีเลอาด พรุ่งนี้เป็นวันที่ข้าศึกวางแผนจะโจมตีป้อมปราการ จะยึดและทำลายผู้คนทั้งหมดนี้ภายในวันเดียว”

          28ทันใดนั้น ยูดาสก็ยกทัพกลับมา ข้ามถิ่นทุรกันดารตรงไปยังเมืองโบสราห์ และยึดเมืองได้ ฆ่าฟันผู้ชายชาวเมืองทั้งหมด ริบข้าวของแล้วจุดไฟเผาเมือง 29คืนนั้น ยูดาสยกทัพจากที่นั่นไปยังป้อมปราการที่เมืองดาเธมาj 30รุ่งเช้า เขาเห็นคนจำนวนมากนับไม่ถ้วน กำลังนำบันไดและอุปกรณ์สงครามเข้ายึดป้อมปราการ และกำลังโจมตีคนในป้อม 31เมื่อยูดาสเห็นว่าการสู้รบเริ่มขึ้นแล้ว เสียงแตรศึกและเสียงโห่ร้องดังก้องไปถึงท้องฟ้า 32จึงบอกทหารในกองทัพว่า “จงสู้รบเพื่อพี่น้องของพวกเราในวันนี้เถิด” 33ยูดาสจัดทหารเป็นสามกลุ่ม เข้าโจมตีศัตรูทางด้านหลัง เป่าแตรและร้องตะโกนวอนขอพระเจ้า   34เมื่อกองทัพของทิโมธีรู้ว่าเป็นมัคคาบี ก็หนีไปต่อหน้าเขา ยูดาสตามโจมตีอย่างหนักหน่วง วันนั้น ข้าศึกเสียชีวิตประมาณแปดพันคน 35แล้วยูดาสก็มุ่งไปโจมตีเมืองอาเลมาk และยึดเมืองได้ เขาฆ่าชายทุกคน ปล้นและเผาเมือง 36จากนั้น เขาเคลื่อนทัพต่อไป ยึดเมืองคัสโฟ มาเก็ด โบสอร์ และเมืองอื่นๆในแคว้นกีเลอาด

          37หลังเหตุการณ์นี้ ทิโมธีระดมกองทัพอีกกองทัพหนึ่ง ตั้งค่ายอยู่อีกฟากหนึ่งของลำธาร ตรงข้ามกับเมืองราโฟน 38ยูดาสส่งคนไปสอดแนมค่าย คนสอดแนมกลับมารายงานว่า “ชนต่างชาติที่อยู่รอบพวกเรามารวมกำลังกับทิโมธีเป็นกองทัพใหญ่มาก 39ทั้งยังจ้างชาวอาหรับเป็นกองหนุน คนเหล่านี้ตั้งค่ายอยู่อีกฟากหนึ่งของลำธาร เตรียมจะเข้าโจมตีท่าน” ยูดาสจึงยกทัพไปสู้รบกับคนเหล่านั้น

          40ขณะที่ยูดาสยกกองทัพไปถึงลำธาร ทิโมธีพูดกับบรรดาผู้บัญชาการกองทัพของตนว่า “ถ้าเขาข้ามมาโจมตีพวกเราก่อน เราจะต้านเขาไม่ได้ เขาจะชนะเราแน่ๆ 41แต่ถ้าเขากลัวพวกเราและตั้งค่ายอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ พวกเราจะข้ามไปเอาชนะเขา”

                42แต่เมื่อยูดาสมาถึงแม่น้ำ เขาจัดให้ผู้บังคับบัญชาlกำลังพลอยู่ริมแม่น้ำ สั่งว่า “อย่าให้ผู้ใดอยู่ในค่าย แต่ทุกคนต้องออกรบ” 43ยูดาสข้ามไปโจมตีศัตรูเป็นคนแรก กำลังพลทั้งหลายตามเขาไป ชนต่างชาติถูกโจมตียับเยิน ต่างทิ้งอาวุธ หนีไปสู่วิหารที่เมืองคาร์นาอิมm 44ชาวยิวยึดเมืองนั้นได้ จุดไฟเผาวิหารกับทุกคนที่อยู่ที่นั่น     เมืองคาร์นาอิมก็พ่ายแพ้ ไม่มีผู้ใดต่อต้านยูดาสได้อีก

          45ยูดาสเรียกชาวอิสราเอลทุกคนที่อยู่ในแคว้นกีเลอาดมาชุมนุมกัน ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยพร้อมกับบุตรภรรยา และเก็บข้าวของ นำเขากลับไปยังแผ่นดินยูดาห์เป็นขบวนใหญ่ 46เขามาถึงเมืองเอโฟรน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีป้อมปราการแข็งแรง ตั้งอยู่บนเส้นทางที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะอ้อมไปทางขวาหรือทางซ้าย เขาจะต้องเดินทัพฝ่ากลางเมือง 47คนในเมืองปิดทางเข้าเมือง นำก้อนหินใหญ่มาขวางกั้นประตูไว้ 48ยูดาสจึงส่งสารไปเจรจาสันติภาพว่า “เราต้องการจะเดินทางผ่านแผ่นดินของท่านกลับไปสู่แผ่นดินของเรา จะไม่มีผู้ใดทำร้ายท่าน เราเพียงเดินทัพผ่านไปเท่านั้น” แต่ชาวเมืองก็ไม่ยอมเปิดประตูให้

          49ยูดาสสั่งให้ประกาศไปทั่วค่ายให้ทุกคนหยุดอยู่ในที่ของตน 50ทหารทุกคนก็หยุดและเข้าโจมตีเมืองตลอดวันตลอดคืน เมืองก็ตกอยู่ในมือของยูดาส 51เขาฆ่าชายทุกคน จุดไฟเผาเมือง ยึดของเชลยและเดินผ่านเมืองข้ามศพไป 52ชาวอิสราเอลเดินข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปสู่ที่ราบกว้างใหญ่หน้าเมืองเบธชาน 53ยูดาสคอยรวบรวมผู้ที่เดินล้าหลัง และให้กำลังใจประชากรไปตลอดทาง จนกระทั่งไปถึงแผ่นดินยูดาห์ 54เขาขึ้นเนินเขาเนินเขาศิโยนด้วยความปีติยินดี และถวายเครื่องเผาบูชาn เพราะเขากลับมาอย่างปลอดภัย ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตเลย

โยเซฟและอาซาริยาห์พ่ายแพ้

            55ขณะที่ยูดาสและโยนาธานอยู่ในแคว้นกีเลอาด และสิโมนพี่ชายอยู่หน้าเมืองโทเลมีในแคว้นกาลิลีนั้น 56โยเซฟบุตรของเศคารยาห์ และอาซาริยาห์ ผู้บังคับบัญชากองทัพ ได้ยินเรื่องความกล้าหาญและการสู้รบของคนเหล่านี้ 57จึงพูดกันว่า “เราจงหาชื่อเสียงใส่ตน ออกไปสู้รบกับชนต่างชาติที่อยู่โดยรอบเถิด” 58เขาจึงสั่งทหารจากกองทัพของตนให้เคลื่อนกำลังไปโจมตีเมืองยัมเนียo    59แต่กอร์เกียสpนำทหารออกจากเมืองมาเผชิญหน้าเพื่อสู้รบด้วย      60โยเซฟและอาซาริยาห์พ่ายแพ้ ถูกไล่ตามไปจนถึงชายแดนของแคว้นยูเดีย ทหารชาวอิสราเอลเสียชีวิตในวันนั้นประมาณสองพันคน 61ประชากรพ่ายแพ้อย่างหนัก เพราะไม่เชื่อฟังยูดาสและญาติพี่น้อง คิดว่าตนจะแสดงความกล้าหาญได้เหมือนกัน 62แต่เขาไม่อยู่ในตระกูลของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้กอบกู้ชาวอิสราเอล

ชัยชนะในแคว้นอีดูเมอาและฟีลิสเตีย

            63ยูดาสผู้กล้าหาญและญาติพี่น้องได้รับเกียรติอย่างสูงในหมู่ประชากรอิสราเอล และชนต่างชาติทั้งมวลที่ได้ยินชื่อเสียงของเขา 64ทุกคนเข้ามาห้อมล้อมและยกย่องสรรเสริญเขา

          65ยูดาสและญาติพี่น้องยกทัพไปโจมตีเผ่าพันธุ์ของเอซาวในดินแดนทางภาคใต้ ยึดเมืองเฮโบรนและหมู่บ้านต่างๆโดยรอบ ทำลายป้อมปราการและเผาหอคอยรอบเมือง 66แล้วออกเดินทางไปยังแผ่นดินของชาวฟีลิสเตีย ผ่านเมืองมาริสาq 67ในวันนั้น สมณะบางคนออกไปสู้รบโดยประมาท เพราะต้องการแสดงความกล้าหาญ จึงถูกฆ่า  68แล้วยูดาสก็เปลี่ยนเส้นทางยกทัพไปเมืองอาโซตัสrในแผ่นดินของชาวฟีลิสเตีย ทำลายแท่นบูชาและเผารูปเคารพของเทพเจ้า ยึดของเชลยจากเมืองต่างๆ แล้วกลับไปแผ่นดินยูดาห์

5 a บทที่ 5 นี้กล่าวถึงการสู้รบกับชนต่างชาติที่อยู่รอบแคว้นยูเดีย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 163 ก.ค.ศ. จนถึงฤดูใบไม้ร่วงของปีนั้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสสิ้นพระชนม์แล้ว  2 มคบ 12:1-9 เล่าถึงการโจมตีเมืองย็อปปา และยัมเนีย ในปีก่อน แต่การรบในขณะนั้นยังไม่เป็นสงครามใหญ่เช่นในปีนี้

b “อีดูเมอา” เป็นชื่อภาษากรีกของ “เอโดม” หมายถึงดินแดนของเผ่าพันธุ์ของเอซาว * “อาคราบัทตา” เป็นเขตแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชเคม ในสมัยนี้เรียกว่า “อาคราบาห์”

c “เบอัน” เป็นเผ่าชาวอาหรับกึ่งเร่ร่อน ที่คอยจับคนเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปเมืองเยริโค เพื่อเรียกค่าไถ่

d “กีเลอาด” แต่เดิมเป็นดินแดนฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนทางใต้ของแม่น้ำยับบอก แต่ในภายหลังรวมเอาดินแดนจากแม่น้ำยับบอกขึ้นไปจนถึงแม่น้ำยาร์มุกด้วย ในสมัยเฮลเลนิสต์ ยังรวมที่ราบสูงทางเหนือแม่น้ำยาร์มุก ซึ่งมีชาวยิวมาตั้งหลักแหล่งอยู่หลายกลุ่มเข้ามาอีก

e “เขตแดนของโทบีอัส” หมายถึงดินแดนระหว่างกรุงอัมมัน (ประเทศจอร์แดนในปัจจุบัน) กับแม่น้ำจอร์แดน ครอบครัวของโทบีอัสปกครองดินแดนนี้ ดู นหม 2:10ฯ; 6:7ฯ; 13:8 ยูดาสจะลงโทษผู้สังหารชาวยิวครั้งนี้ ใน 2 มคบ 12:17ฯ.

f “เมืองโทเลมี” เป็นชื่อที่กษัตริย์ปโทเลมีที่ 2 ประทานแก่เมืองอัคโค (2 ยชว 19:30; วนฉ 1:31) ในปี 261 ก.ค.ศ. ปัจจุบันคือเมือง “อาเคร”

g “แคว้นอาร์บัทตา” คือดินแดนระหว่างแคว้นกาลิลีกับสะมาเรีย อาจเป็นแคว้นเดียวกับที่โยเซฟุสเรียกว่า “นาร์บาเทเน” – ผู้แต่ง 2 มคบ สนใจเพียงวีรกรรมของยูดาส จึงไม่เล่าเรื่องนี้

h “ชาวนาบาเทีย” คือ “ชาวอาหรับ” ใน 2 มคบ 5:8; 12:10 ในเวลาต่อมา โยนาธานจะคืนดีด้วย หลังจากการต่อสู้ที่เล่าไว้ใน 2 มคบ 12:10ฯ ศูนย์กลางของชาวนาบาเทียคือเมืองเปตรา ภายหลังชาวนาบาเทียขยายอาณาเขตขึ้นไปถึงบริเวณที่ราบสูงใกล้เมืองดามัสกัส เนื่องจากชาวนาบาเทียเป็นพ่อค้านำกองคาราวานผ่านเมืองต่างๆในบริเวณนี้ จึงรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในแคว้นกีเลอาดด้วย และแจ้งให้ยูดาส

i “โบสราห์......คาร์นาอิม” เมืองเหล่านี้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันในดินแดนเฮารานและที่ราบสูงโกลัน (ประเทศจอร์แดนและซีเรีย)

j “ดาเธมา” (ดู ข้อ 9) เราไม่รู้ว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน แต่คงต้องอยู่ทางตะวันตกของเมืองโบสราห์ (หรือ เมืองบัสรา ในซีเรียใต้)

k “อาเลมา” ชื่อของเมืองนี้ไม่แน่นอน พบได้ในสำเนาโบราณเพียงฉบับเดียว

l “ผู้บังคับบัญชากำลังพล” แปลตามตัวอักษรว่า “ธรรมาจารย์ของประชากร” เป็นตำแหน่งโบราณของผู้นำในสงครามศักดิ์สิทธิ์ (ดู อพย 5:6; ฉธบ 20:5,8ฯ; ยชว 1:10; 3:2)

m “คาร์นาอิม” แปลว่า “สองเขา(สัตว์)” เป็นการกล่าวพาดพิงถึงลักษณะของเทพีอาชทาโรท ซึ่งมีวิหารอยู่ในเมืองนั้น เรียกว่า “คาร์นีออน” (Karnion) (ดู 2 มคบ 12:26) ราชธานีของกษัตริย์โอกแห่งแคว้นบาชาน (เฮาราน) คือเมืองอัชทาโรท-คาร์นาอิม (ปฐก 14:5; ยชว 9:10) ในปัจจุบันยังมีเนินดินที่ชื่อ “อัชทาราห์”

n “เครื่องเผาบูชา” ในวันฉลอง “สัปดาห์” (กลางเดือนมิถุนายน ปี 163 ก.ค.ศ.) ดู 2 มคบ 12:31

o “ยัมเนีย” เป็นชื่อภาษากรีกของเมือง “ยับเนเอล” หรือ “ยับเนห์” (ยชว 15:11; 2 พศด 26:6) ทางใต้ของเมืองย็อปปา (หรือ ยัฟฟา ในปัจจุบัน) เมืองสำคัญริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ดู 1 มคบ 10:69; 15:38,40)

p “กอร์เกียส” ดู 3:38 เชิงอรรถ k – บัดนี้ กอร์เกียสเป็นแม่ทัพผู้สำเร็จราชการปกครองดินแดนริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และแคว้นอีดูเมอา (ดู 2 มคบ 12:32)

q “มาริสา” ในสมัยโบราณชื่อ “มาเรสา” (ดู ยชว 15:44) เป็นเมืองหลวงของแคว้นอีดูเมอาในสมัยเฮลเลนิสต์ ตั้งอยู่บนเส้นทางจากเมืองเฮโบรน (ระยะทาง 20 กม.)ไปยังดินแดนของชาวฟีลิสเตีย

r “อาโซตัส” คือเมืองอัชโดดของชาวฟีลิสเตีย (ยชว 11:22) มีชื่อเสียงเพราะเป็นที่ตั้งของวิหารของเทพเจ้าดาโกน (1 มคบ 10:83ฯ) แต่ในที่นี้อาจหมายถึงดินแดนของชาวฟีลิสเตียทั้งหมด * เครื่องรางของขลังที่เรียกว่า “เครื่องรางของขลังของเทพเจ้าเมืองยัมเนีย” (2 มคบ 12:40) ที่พบตามศพของทหารที่ตายในสนามรบคือของที่ปล้นได้จากเมืองของชาวฟีลิสเตียในครั้งนี้

วาระสุดท้ายของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส a

6 1ขณะที่กษัตริย์อันทิโอคัสทรงผ่านดินแดนทางเหนือ ทรงทราบว่าในเปอร์เซียมีเมืองชื่อเอลีมาอิสb เป็นเมืองมั่งคั่ง มีเงินทองมาก 2วิหารcในเมืองนั้นก็ร่ำรวยมาก มีหมวกเกราะทองคำ เกราะอก และเครื่องอาวุธที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงทิ้งไว้ กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงเป็นพระโอรสของกษัตริย์ฟีลิปแห่งมาซิโดเนีย ทรงปกครองชาวกรีกเป็นพระองค์แรก 3กษัตริย์อันทิโอคัสจึงเสด็จไปที่นั่นเพื่อยึดและปล้นเมือง แต่ทรงทำไม่สำเร็จ เพราะชาวเมืองรู้แผนการของพระองค์เสียก่อน 4จึงจับอาวุธต่อต้านพระองค์จนต้องทรงหนีและถอยทัพมุ่งกลับไปกรุงบาบิโลนด้วยความเศร้าโศกอย่างยิ่ง

5ขณะที่กษัตริย์อันทิโอคัสยังประทับอยู่ที่เปอร์เซีย มีผู้นำข่าวมาทูลพระองค์ว่ากองทัพที่ทรงส่งไปบุกแคว้นยูดาห์ถูกโจมตียับเยิน 6กองทัพเข้มแข็งที่ลีเซียสยกไปก็ถูกชาวอิสราเอลตีกลับ ชาวอิสราเอลเข้มแข็งมากขึ้นเพราะอาวุธ ผู้คนและข้าวของมากมายที่เป็นของเชลยจากค่ายต่างๆที่ได้ทำลาย 7ชาวอิสราเอลทำลายรูปเคารพน่าสะอิดสะเอียนที่พระองค์ทรงสร้างไว้บนพระแท่นบูชาที่กรุงเยรูซาเล็ม เขายังสร้างกำแพงสูงล้อมพระวิหารไว้ให้เหมือนเดิม และสร้างกำแพงล้อมเมืองเบธซูร์ เมืองหนึ่งของพระองค์ด้วย

8เมื่อกษัตริย์ทรงทราบข่าวนี้ ก็ตกพระทัยกลัวจนพระกายสั่นเทา ทรงล้มลงบนพระที่ และประชวรเพราะความเศร้าโศกที่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามพระประสงค์d 9ทรงมีความทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทรงอยู่ในสภาพเช่นนี้หลายวัน ทรงคิดว่าจะสิ้นพระชนม์ 10จึงทรงเรียกพระสหายทั้งหลายมา ตรัสว่า “เรานอนไม่หลับเลยเพราะจิตใจเป็นกังวลมาก 11เราคิดว่า ในการปกครองเราเคยทำดีและเป็นที่รักของประชาชนอย่างมาก เหตุใดเราจึงต้องรับความทุกข์ยากและวุ่นวายใจเช่นนี้ 12บัดนี้ เราระลึกได้ถึงความชั่วร้ายที่เราได้ทำที่กรุงเยรูซาเล็ม เราขนภาชนะเงินทองทั้งหมดในเมืองนั้น เราส่งคนไปฆ่าชาวยูดาห์อย่างไร้เหตุผล 13เรายอมรับว่าสิ่งร้ายๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแก่เราก็เพราะเหตุนี้ บัดนี้เรากำลังจะตายอยู่ในต่างแดนe เพราะความทุกข์ใจยิ่งใหญ่”

อันทิโอคัสที่ 5 ขึ้นครองราชย์

            14กษัตริย์อันทิโอคัสทรงเรียกฟีลิปfพระสหายคนหนึ่งมา เพื่อทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้ปกครองอาณาจักรทั้งหมดแทนพระองค์ 15ประทานมงกุฎ ฉลองพระองค์ และพระธำมรงค์ตรา รับสั่งให้ดูแลอันทิโอคัสพระโอรส เพื่ออบรมให้เป็นกษัตริย์ 16กษัตริย์อันทิโอคัส (เอปีฟาเนส) สิ้นพระชนม์ที่นั่นในปีหนึ่งร้อยสี่สิบเก้าของศักราชกรีกg

          17เมื่อลีเซียสรู้ว่ากษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว ก็แต่งตั้งอันทิโอคัสพระโอรสที่เขาเลี้ยงดูตั้งแต่ทรงพระเยาว์ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อมา และถวายพระนามว่า “ยูปาตอร์”

ยูดาสมัคคาบีล้อมป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม

            18ผู้คนที่อยู่ในป้อมอาคราคอยขัดขวางชาวอิสราเอลรอบพระวิหาร มิให้ผ่านเข้าไป พยายามทำร้ายเขาอยู่เสมอ แต่สนับสนุนชนต่างชาติ 19ยูดาสคิดจะทำลายคนเหล่านี้ จึงรวบรวมประชากรทั้งหมดมาล้อมคนเหล่านี้ไว้ 20ในปีหนึ่งร้อยห้าสิบศักราชกรีกh ชาวอิสราเอลรวบรวมพลมาล้อมป้อมอาครา ยูดาสสั่งให้สร้างหอเคลื่อนที่และเครื่องยิง 21ผู้ที่ถูกล้อมบางคนหลบหนีไปได้ และร่วมกับชาวอิสราเอลผู้ทรยศบางคน 22ไปเฝ้ากษัตริย์ ทูลว่า “อีกนานเท่าใดพระองค์จึงจะประทานความเป็นธรรมและทรงแก้แค้นแทนญาติพี่น้องของพวกเรา 23พวกเรายินดีรับใช้พระบิดา ปฏิบัติตามพระบัญชาและเชื่อฟังพระราชกฤษฎีกา 24เพราะเหตุนี้ คนร่วมชาติจึงมาล้อมป้อมและiเป็นศัตรูกับพวกเรา เขาฆ่าคนของเราทุกคนที่เขาพบ แล้วปล้นทรัพย์สมบัติของเรา 25เขาไม่เพียงแต่โจมตีพวกเราเท่านั้น แต่ยังรุกรานดินแดนทั้งหมดของพระองค์jด้วย 26บัดนี้ พวกเขาล้อมป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อจะยึดเอาไว้ และยังได้เสริมกำลังป้องกันพระวิหารและเมืองเบธซูร์ด้วย 27ถ้าพระองค์ไม่ทรงรีบเสด็จไปปราบพวกเขา เขาจะทำสิ่งที่ร้ายแรงกว่านี้ จนพระองค์จะทรงยับยั้งเขาไม่ได้”

การรบที่เมืองเบธเศคาริยาห์

            28เมื่อกษัตริย์ทรงได้ยินเช่นนี้ก็กริ้ว ตรัสเรียกkพระสหายทุกคน ผู้บัญชาการกองทัพ และผู้บัญชาการกองทหารม้ามาเฝ้า 29ทหารรับจ้างจากอาณาจักรอื่นๆ และจากเกาะต่างๆ ในทะเลก็มาเสริมกำลังด้วย 30กองทัพของพระองค์มีกำลังพลทหารราบหนึ่งแสนคน ทหารม้าสองหมื่นคน และช้างศึกฝึกไว้อย่างดีสามสิบสองเชือก 31กองทัพเดินทางผ่านแคว้นอีดูเมอาl ไปตั้งค่ายอยู่หน้าเมืองเบธซูร์ เข้าโจมตีชาวอิสราเอลอยู่หลายวัน และสร้างเครื่องยิง แต่ชาวอิสราเอลตีฝ่าออกมาได้ เผาทำลายเครื่องยิงเหล่านี้ และสู้รบอย่างกล้าหาญ

          32แล้วยูดาสก็ยกทัพจากป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็มไปตั้งค่ายอยู่ที่เมืองเบธเศคาริยาห์m หน้าค่ายของกษัตริย์ 33กษัตริย์ทรงตื่นบรรทมตั้งแต่เช้าตรู่ ทรงรีบเคลื่อนกำลังพลตามทางไปยังเมืองเบธเศคาริยาห์ กำลังพลเตรียมพร้อมที่จะรบและเป่าแตร 34เขาให้ช้างดื่มน้ำองุ่นและน้ำต้นหม่อน เพื่อกระตุ้นให้มันต่อสู้ 35แบ่งช้างให้ไปอยู่กับกลุ่มทหารต่างๆ และแต่งตั้งทหารหนึ่งพันคนสวมเสื้อเกราะ สวมหมวกเกราะทองสัมฤทธิ์ เป็นทหารคุ้มกันช้างแต่ละเชือก และยังมีทหารม้าที่คัดเลือกแล้วคอยคุ้มกันช้างแต่ละเชือกอีกห้าร้อยคน 36ทหารม้าเหล่านี้จะอยู่เคียงข้างช้างทุกแห่ง ไม่ว่าช้างจะไปไหน เขาก็จะไปด้วย ไม่ทิ้งช้างเลย 37บนหลังช้างแต่ละเชือกมีหอไม้ปิดแข็งแรงใช้สายรัดผูกติดแน่น มีควาญช้างชาวอินเดียn และทหารสี่คนคอยต่อสู้อยู่บนหอ 38ทหารม้าที่เหลือตั้งอยู่ทั้งสองข้างของกองทัพ คอยก่อกวนศัตรูและปกป้องแนวทหารo 39แสงแดดส่องโล่ทองคำและโล่ทองสัมฤทธิ์p สะท้อนกระทบภูเขาเป็นประกายเหมือนคบเพลิงที่ลุกโพลง 40กองทัพของกษัตริย์ส่วนหนึ่งตั้งแนวรบอยู่บนยอดเขา อีกส่วนหนึ่งอยู่บนที่ราบ เดินหน้าไปอย่างมั่นคงและเป็นระเบียบ 41ทุกคนที่ได้ยินเสียงกำลังพลจำนวนมาก เสียงย่ำเท้าของกองทัพ และเสียงอาวุธกระทบกัน ก็กลัวจนตัวสั่น เพราะกองทัพนั้นยิ่งใหญ่และเข้มแข็งมาก

          42ยูดาสยกทัพเข้าไปใกล้เพื่อสู้รบ ทหารของฝ่ายกษัตริย์เสียชีวิตหกร้อยคน 43เอเลอาซาร์ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อวาราน” เห็นช้างเชือกหนึ่งสูงกว่าช้างเชือกอื่น มีเครื่องประดับของกษัตริย์คลุมอยู่ จึงคิดว่ากษัตริย์คงประทับอยู่บนช้างเชือกนั้น 44เขายอมพลีชีวิตqเพื่อช่วยประชากรให้รอดพ้น และเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตนตลอดไป 45เขาจึงวิ่งอย่างกล้าหาญเข้าไปกลางแนวทหาร ฟันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา จนศัตรูต้องแยกกันเป็นสองฟาก 46แล้วเขาวิ่งไปใต้ท้องช้าง แทงท้องช้าง ช้างก็ทรุดลงบนพื้นดิน ทับเขาตายอยู่ตรงนั้น

          47เมื่อชาวยิวเห็นว่ากองทัพของกษัตริย์มีกำลังมาก และมีความกระตือรือร้นจะสู้รบ ก็ยกทัพถอยกลับไป

กองทัพซีเรียยึดเมืองเบธซูร์และล้อมเนินเขาศิโยน

            48กองทัพส่วนหนึ่งของกษัตริย์ขึ้นไปโจมตีชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็ม กษัตริย์จึงทรงตั้งค่ายเพื่อโจมตีแคว้นยูเดียและเนินเขาศิโยน 49พระองค์ทรงทำสัญญาสงบศึกกับชาวเมืองเบธซูร์ ซึ่งออกมานอกเมืองเพราะไม่มีเสบียงต่อต้านการล้อมของศัตรูอีกต่อไป เพราะปีนั้นเป็นปีสับบาโตr 50กษัตริย์ทรงยึดเมืองเบธซูร์ และทรงตั้งกองทหารไว้เฝ้าเมือง 51พระองค์ทรงล้อมพระวิหารอยู่หลายวัน ทรงตั้งหอเคลื่อนที่และเครื่องยิง ทั้งเครื่องยิงไฟ เครื่องยิงก้อนหิน เครื่องยิงลูกธนูและกระสุนs 52ชาวยิวก็สร้างเครื่องยิงด้วย เพื่อต่อสู้ต้านทานเครื่องยิงของศัตรูได้เป็นเวลานาน 53แต่ชาวยิวไม่มีอาหารในโรงเก็บt เพราะเป็นปีสับบาโต และผู้ลี้ภัยที่มายังแคว้นยูเดียเพื่อหลบหนีชนต่างชาติ กินอาหารที่เหลือจนหมด 54มีคนไม่กี่คนถูกทิ้งไว้ในพระวิหาร คนอื่นๆ ต่างกระจัดกระจายกันกลับไปยังที่อยู่ของตน เพราะขาดแคลนอาหารอย่างมาก

ชาวยิวได้รับอิสรภาพในการนับถือศาสนา

            55ก่อนสิ้นพระชนม์ กษัตริย์อันทิโอคัสทรงแต่งตั้งฟีลิปให้เป็นผู้ฝึกอบรมอันทิโอคัสพระโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์ บัดนี้ลีเซียสรู้ว่าฟีลิป 56กลับมาจากแคว้นเปอร์เซียและแคว้นมีเดียพร้อมกับกองทัพที่ติดตามกษัตริย์ และกำลังหาทางจะยึดอำนาจ 57ลีเซียสจึงตั้งใจถอยทัพกลับโดยเร็ว ทูลกษัตริย์และบอกผู้บังคับบัญชากองทัพและบรรดาทหารว่า “กำลังของฝ่ายเราอ่อนแอลงทุกวัน เสบียงอาหารกำลังขาดแคลน สถานที่ที่พวกเรากำลังล้อมอยู่ก็แข็งแรง เรายังต้องดูแลกิจการของราชอาณาจักรอีกด้วย 58บัดนี้ เราจงเป็นมิตรกับคนเหล่านี้ และทำสัญญาสงบศึกกับเขาและกับชนชาติทั้งหมดของเขาเถิด 59เราจงอนุญาตให้เขาเป็นอิสระ ดำเนินชีวิตตามขนบธรรมเนียมของตนได้ดังแต่ก่อน เป็นเพราะเราห้ามเขาปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของตน เขาจึงโกรธและก่อเรื่องทั้งหมดนี้”u 60ข้อเสนอนี้เป็นที่พอพระทัยกษัตริย์ และพอใจผู้บังคับบัญชาทุกคน พระองค์ทรงส่งคนไปเจรจาสงบศึกกับชาวยิว เขาก็รับ 61กษัตริย์ทรงสาบานจะสงบศึกกับชาวยิวและผู้บังคับบัญชาก็สาบานเช่นเดียวกัน ชาวยิวจึงยอมออกจากป้อม 62แต่เมื่อกษัตริย์เสด็จขึ้นเนินเขาเนินเขาศิโยน ทอดพระเนตรเห็นว่าที่นั่นมีกำแพงป้องกันแน่นหนา พระองค์ก็ทรงละเมิดคำสาบาน รับสั่งให้ทำลายกำแพงที่ล้อมอยู่v 63แล้วรีบเสด็จกลับเมืองอันทิโอก ทรงพบว่าฟีลิปได้ยึดครองเมืองนั้นแล้ว พระองค์ทรงรบกับเขา ทรงใช้กำลังชิงเอาเมืองกลับคืนมาได้

6 a กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสสิ้นพระชนม์ก่อนที่ยูดาสชำระและถวายพระวิหาร (ดู 4:36) รายละเอียดการสิ้นพระชนม์ที่เล่าที่นี่คล้ายกับเรื่องที่โปลีบีอัสนักประวัติศาสตร์เขียนเล่าไว้ สมจริงมากกว่าเรื่องที่เล่าใน 2 มคบ 9

b “เมืองเอลีมาอิส” ในความเป็นจริงไม่มีเมืองที่ชื่อนี้ “เอลีมาอิส” เป็นชื่อภาษากรีกของ “เอลาม” (ปฐก 10:12) ซึ่งหมายถึงดินแดนรอบเมืองสุสา ราชธานีโบราณของอาณาจักรเปอร์เซีย (ดู นหม 1:1) และในความหมายเฉพาะ หมายถึงดินแดนแถบภูเขาทางเหนือของเมืองสุสา

c “วิหาร” คงหมายถึงวิหารถวายแด่เทพี “นาเนอา-อาร์เทมิส” (ดู 2 มคบ 1:13)

d ในความเป็นจริง กษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสสิ้นพระชนม์ก่อนหน้านี้ ผู้เขียน 1 มคบ ปรับลำดับเหตุการณ์ให้เข้ากับแผนที่วางไว้

e “ต่างแดน” โดยแท้จริงแล้ว ในสมัยนั้น เปอร์เซียยังอยู่ในอาณาจักรของราชวงศ์เซเลวซิด ผู้เขียน 1 มคบ คิดว่ากษัตริย์อันทิโอคัสสิ้นพระชนม์เพราะถูกพระเจ้าลงโทษที่ได้ปล้นพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่ผู้เขียน 2 มคบ คิดว่ากษัตริย์สิ้นพระชนม์เพราะทรงปล้นวิหารของเทพีอาร์เทมิส ผู้เขียนทั้งสองคนเล่าว่า ก่อนสิ้นพระชนม์ กษัตริย์ทรงเสียพระทัยที่ทรงกระทำเช่นนั้น

f เราจะพบฟีลิปผู้นี้อีกใน 6:55 และ 2 มคบ 9:29 แต่เป็นคนละคนกับฟีลิปใน 2 มคบ 5:22; 8:8 กษัตริย์อันทิโอคัสทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้สำเร็จราชการและผู้ดูแลยุวกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 เขาจึงได้รับเครื่องราชกกุธภัณฑ์เพื่อรักษาไว้สำหรับกษัตริย์องค์ต่อมา

g ตรงกับเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 164 ก่อน ค.ศ.

h ตรงกับปี 163-162 ก่อน ค.ศ. การล้อมป้อมที่กรุงเยรูซาเล็มเกิดขึ้นหลังจากการยกกำลังพลไปโจมตีแคว้นอีดูเมอา หลังเทศกาลฉลอง “สัปดาห์” ในปี 163 ก่อน ค.ศ. (ดู 2 มคบ 12:31) แต่ 2 มคบ ไม่กล่าวถึงการล้อมป้อมครั้งนี้

i สำเนาโบราณบางฉบับละคำ “ล้อมป้อมและ”

j “ของพระองค์” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาละติน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ของพวกเขา”

k โดยแท้จริงแล้ว กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ลีเซียสจึงเป็นผู้จัดการเรื่องราวทุกอย่างที่กล่าวถึงนี้

l “อีดูเมอา” ที่นี่อาจหมายถึงเพียง “หุบเขากระถินเทศ” (1 ซมอ 17:2) ตามทางไปยังเมืองอดุลลัม (2 มคบ 12:38) การปะทะกันครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมืองโมดีน (2 มคบ 13:14)

m เมืองเบธเศคาริยาห์ตั้งอยู่ราว 8 กิโลเมตร ทางเหนือเมืองเบธซูร์ สมัยนี้ยังมีหมู่บ้านที่มีชื่อนี้อยู่

n “ควาญช้างชาวอินเดีย” แปลตามตัวอักษรว่า “ชาวอินเดีย” หมายความว่าช้างเหล่านี้ถูกนำมาจากประเทศอินเดีย

o “ปกป้องแนวทหาร” บางคนแปลว่า “และบดขยี้ในหุบเขา”

p การบรรยายเช่นนี้ชวนให้คิดถึง 1 พกษ 10:16

q “ยอมพลีชีวิต” แปลตามตัวอักษรว่า “ได้มอบตน” (ดู กท 1:4; 1 ทธ 2:6; ทต 2:14) เรื่องนี้คงเกิดขึ้นใกล้เมืองโมดีน ตาม 2 มคบ 13:14

r “ปีสับบาโต” ตาม ลนต 25:14 ทุกเจ็ดปี ชาวอิสราเอลจะต้องทิ้งที่ดินไว้เปล่าๆ ไม่ทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ปีสับบาโตที่กล่าวถึงนี้เริ่มในฤดูใบไม้ร่วงปี 164 ก่อน ค.ศ. จึงทำให้เกิดกันดารอาหารในฤดูใบไม้ร่วงปีถัดมา คือปี 163 ก่อน ค.ศ.

s ข้อนี้บรรยายถึงอุปกรณ์ในการทำสงครามของสมัยนั้นอย่างละเอียด เครื่องยิงลูกธนูและกระสุนนี้ได้ชื่อว่า “แมงป่อง”

t “โรงเก็บ” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์”

u ชาวซีเรียเปลี่ยนแปลงนโยบายความสัมพันธ์กับชาวยิว หลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส ซึ่งทรงบังคับชาวยิวให้ละทิ้งศาสนามารับขนบธรรมเนียมของชาวกรีก เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ กำลังพลของทั้งสองฝ่ายขาดแคลนอาหาร (ข้อ 57) และฟีลิปพยายามยึดอำนาจปกครอง (ข้อ 56)

v พระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้ชาวยิวใช้พระวิหาร แต่ไม่กำหนดเรื่องกำแพงเมือง (ดู 2 มคบ 11:25) แต่ผู้เขียน 1 มคบ คิดว่าพระวิหารและกำแพงเมืองเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงกล่าวหาว่ากษัตริย์ทรงละเมิดคำสาบาน

เดเมตรีอัสที่หนึ่งทรงขึ้นเป็นกษัตริย์

7 1ปีหนึ่งร้อยห้าสิบเอ็ด ศักราชกรีก เดเมตรีอัสพระโอรสของกษัตริย์เซเลวคัสหลบหนีจากกรุงโรม ลงเรือกับทหารบางคนไปถึงเมืองชายทะเลแห่งหนึ่ง และตั้งตนเป็นกษัตริย์ที่นั่นa 2เมื่อเสด็จเข้าไปในพระราชวังของบรรพบุรุษ ทหารก็จับกษัตริย์อันทิโอคัสและลีเซียสนำมามอบให้ 3เมื่อทรงทราบเรื่องก็ตรัสว่า “ไม่ต้องนำมาให้เราเห็นหน้า” 4พวกทหารจึงฆ่ากษัตริย์อันทิโอคัสและลีเซียส เดเมตรีอัสก็ขึ้นครองราชย์แทน

          5อัลชีมัสซึ่งปรารถนาจะได้ตำแหน่งมหาสมณะ นำชาวอิสราเอลอธรรมทุกคนที่ทรยศต่อพระเจ้าเข้าเฝ้ากษัตริย์ 6คนเหล่านี้กล่าวหาประชากรอิสราเอล ทูลกษัตริย์ว่า “ยูดาสและญาติพี่น้องได้ฆ่าพระสหายทุกคนของพระองค์ และขับไล่พวกเราออกจากแผ่นดินของเรา 7ขอพระองค์ทรงส่งผู้ที่ทรงไว้วางพระทัยให้ไปดูความพินาศทั้งปวงที่ยูดาสทำต่อพวกเรา และต่อเขตแดนของพระองค์ ขอทรงลงโทษคนเหล่านี้และทุกคนที่สนับสนุนเขาเถิด”

บัคคีเดสและอัลชีมัสโจมตีแคว้นยูเดีย

            8กษัตริย์ทรงเลือกบัคคีเดสพระสหายคนหนึ่ง ซึ่งปกครองดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรติสb และเป็นคนสำคัญในราชอาณาจักร ทั้งเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ 9ทรงส่งเขาพร้อมกับอัลชีมัสcผู้ทรยศต่อพระเจ้าที่กษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นมหาสมณะ ทรงสั่งให้ไปแก้แค้นลงโทษชาวอิสราเอล 10ทั้งสองคนยกทัพใหญ่ไปยังแผ่นดินยูดาห์ แล้วส่งทูตไปลวงยูดาสและญาติพี่น้อง ขอเจรจาสันติภาพ 11แต่ยูดาสและญาติพี่น้องไม่ยอมเชื่อข้อเสนอ เพราะเห็นว่าเขามากันเป็นกองทัพใหญ่ 12ธรรมาจารย์dกลุ่มหนึ่งไปหาอัลชีมัสและบัคคีเดสเพื่อตกลงเงื่อนไขอย่างเป็นธรรม 13กลุ่มฮาสิดิมeเป็นชาวอิสราเอลกลุ่มแรกที่ทำสัญญาสันติภาพกับบัคคีเดสและอัลชีมัส 14พูดว่า “สมณะจากตระกูลอาโรนมากับกองทัพด้วย เขาคงจะไม่ทำร้ายพวกเรา”

          15อัลชีมัสพูดจากับคนเหล่านี้อย่างคนรักสันติและสาบานว่า “พวกเราจะไม่ทำร้ายท่านหรือเพื่อนของท่านเลย” 16กลุ่มฮาสิดิมก็เชื่อ แต่อัลชีมัสสั่งให้จับพวกฮาสิดิมหกสิบคนไปฆ่าในวันเดียว สมจริงตามข้อความในพระคัมภีร์fว่า 17“เขาทิ้งร่างของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ เขาทำให้เลือดไหลดังสายน้ำรอบกรุงเยรูซาเล็ม ไม่มีผู้ใดฝังศพ” 18ประชากรทุกคนหวาดกลัวมาก พูดกันว่า “คนเหล่านี้ไร้สัจจะ ไม่มีความยุติธรรม เขาละเมิดข้อตกลงและคำสาบานที่เขาให้ไว้” 19บัคคีเดสถอยทัพจากกรุงเยรูซาเล็มไปตั้งค่ายที่เมืองเบธซาอิธ ส่งทหารไปจับคนหลายคนที่หนีมามอบตัว และประชากรบางคนฆ่าเขาและโยนลงในบ่อใหญ่g 20มอบแคว้นนี้ให้อัลชีมัสปกครอง ทิ้งกองทัพส่วนหนึ่งให้อยู่ช่วยเขา แล้วบัคคีเดสก็กลับไปเฝ้ากษัตริย์

          21อัลชีมัสพยายามให้ประชากรรับว่าตนเป็นมหาสมณะ 22ทุกคนที่ข่มเหงประชากรก็มาเป็นพวกเดียวกับเขา และยึดครองแผ่นดินยูดาห์ ก่อให้เกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงในอิสราเอล 23เมื่อยูดาสเห็นว่าอัลชีมัสกับพวกทำความชั่วร้ายต่อชาวอิสราเอลมากยิ่งกว่าที่ชนต่างชาติทำ 24เขาก็ไปทั่วเขตแดนยูเดีย แก้แค้นลงโทษผู้ทรยศเหล่านี้ และขัดขวางมิให้ออกไปก่อการร้ายตามชนบท

 

นิคาโนร์ยกทัพโจมตีแคว้นยูเดีย

            25เมื่ออัลชีมัสเห็นว่ายูดาสกับพวกมีกำลังมากขึ้น และตนต่อต้านไม่ได้ เขาก็กลับไปเฝ้ากษัตริย์ ทูลใส่ร้ายยูดาส 26กษัตริย์จึงทรงส่งนิคาโนร์ผู้บัญชาการที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของพระองค์ ไปทำลายล้างประชากรอิสราเอล นิคาโนร์ผู้นี้เกลียดชังและเป็นศัตรูกับชาวอิสราเอล 27นิคาโนร์ยกทัพใหญ่มาที่กรุงเยรูซาเล็ม แล้วส่งสารไปหลอกลวงยูดาสและญาติพี่น้องว่าจะทำสัญญาสันติภาพ พูดว่า 28“เราอย่ามารบกันเลย ข้าพเจ้ากับทหารสองสามคนจะมาพบท่านอย่างสันติ” 29เขาก็ไปพบยูดาส ต่างก็ทักทายแสดงความเป็นมิตร แต่นิคาโนร์ได้เตรียมแผนการจะจับตัวยูดาส 30เมื่อยูดาสรู้ว่านิคาโนร์ทำกลลวงมาพบตน ก็ตกใจกลัวและไม่ยอมพบหน้าเขาอีก 31นิคาโนร์เข้าใจว่ายูดาสรู้แผนการของตนจึงยกทัพไปสู้รบกับยูดาสใกล้เมืองคาฟาร์สะลามาh 32ทหารของนิคาโนร์เสียชีวิตประมาณห้าร้อยคน ส่วนคนอื่นหนีไปยังนครของดาวิด

คำขู่จะทำลายพระวิหาร

            33ต่อมา นิคาโนร์ขึ้นไปยังเนินเขาศิโยน สมณะและผู้อาวุโสบางคนของประชากรออกจากพระวิหารมาต้อนรับเขาอย่างเป็นมิตร และชี้ให้เขาดูเครื่องเผาบูชาที่ชาวอิสราเอลถวายพระเจ้าสำหรับกษัตริย์ 34แต่นิคาโนร์กลับเยาะเย้ย พูดจาอย่างยโส และหัวเราะใส่หน้า ทำให้บรรดาสมณะเป็นมลทินi 35นิคาร์โนร์สาบานอย่างโกรธแค้นว่า “ถ้าท่านทั้งหลายไม่ส่งตัวยูดาสและกองทัพของเขามาให้เราทันที เราจะเผาวิหารนี้เมื่อเรามีชัยชนะกลับมา” แล้วเขาก็กลับไปอย่างโกรธแค้น

          36บรรดาสมณะกลับไปยืนอยู่หน้าพระแท่นบูชาของพระวิหาร ร้องไห้ ทูลพระเจ้าว่า 37“พระองค์jทรงเลือกพระวิหารนี้ให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนจะเรียกขานพระนามพระองค์ และเป็นบ้านที่ประชากรของพระองค์จะอธิษฐานภาวนาและวอนขอพระองค์ 38ขอทรงแก้แค้นลงโทษชายผู้นี้และกองทัพของเขา ให้เขาทั้งหลายเสียชีวิตด้วยคมดาบ โปรดทรงระลึกว่าเขาพูดดูหมิ่นพระองค์ อย่าให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปเลย”

วันปราชัยของนิคาโนร์ที่เมืองอาดาสา

39นิคาโนร์ออกจากกรุงเยรูซาเล็ม ไปตั้งค่ายที่เมืองเบธโฮโรน กองทัพซีเรียยกมาสมทบด้วย 40ส่วนยูดาสตั้งค่ายอยู่ที่เมืองอาดาสาkกับทหารสามพันคน ยูดาสอธิษฐานทูลพระเจ้าว่า 41“เมื่อผู้แทนของกษัตริย์lพูดดูหมิ่นพระองค์ ทูตสวรรค์ของพระองค์ลงมาประหารชีวิตเขาจำนวนหนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันคน 42ขอพระองค์ทรงทำลายล้างกองทัพนี้ต่อหน้าข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้เช่นเดียวกัน ทุกคนจะได้รู้ว่านิคาโนร์พูดดูหมิ่นพระวิหารของพระองค์ โปรดทรงตัดสินลงโทษเขาตามความชั่วร้ายของเขาเถิด”

43กองทัพทั้งสองฝ่ายสู้รบกันในวันที่สิบสามเดือนอาดาร์ กองทัพของนิคาโนร์พ่ายแพ้ยับเยิน นิคาโนร์เป็นคนแรกที่เสียชีวิตในการรบครั้งนี้ 44เมื่อทหารของนิคาโนร์เห็นว่าเขาถูกฆ่าแล้ว ต่างก็ทิ้งอาวุธหลบหนีไป 45ชาวยิวไล่ตามทหารเหล่านั้นไปเป็นระยะทางหนึ่งวัน จากเมืองอาดาสาจนถึงเมืองเกเซอร์ พลางเป่าแตรเป็นสัญญาณขณะที่ไล่ตามไป 46ผู้คนออกมาจากหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณนั้นของแคว้นยูเดีย เพื่อล้อมทหารที่หลบหนี ทำให้เขาต้องถอยกลับและถูกฆ่า ทุกคนเสียชีวิต ไม่มีผู้ใดหนีรอดไปได้

47ชาวอิสราเอลริบของเชลยทั้งหมด ตัดศีรษะของนิคาโนร์และแขนขวาของเขาที่เคยชูขึ้นอย่างโอหัง นำมาแขวนประจานไว้ที่กรุงเยรูซาเล็ม 48ประชากรมีความยินดีอย่างยิ่งและฉลองวันนั้นเป็นวันแห่งความยินดียิ่งใหญ่ 49แล้วกำหนดให้วันที่สิบสามเดือนอาดาร์mเป็นวันฉลองประจำปี 50แผ่นดินยูดาห์จึงมีความสงบnอยู่ระยะหนึ่ง

7 a เดเมตรีอัสที่ 1 ซึ่งมาเป็นตัวประกันที่กรุงโรมแทนอันทิโอคัสเอปีฟาเนส ในปี 176 ก่อน ค.ศ. หนีไปได้ในปี 161 ก่อน ค.ศ. อาศัยความช่วยเหลือของโปลีบีอัส ซึ่งเล่าเหตุการณ์นี้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของตน ทีแรกเดเมตรีอัสลงเรือมาขึ้นที่เมืองทริโปลี แล้วจึงไปที่เมืองอันทิโอก (ข้อ 2) รัฐบาลโรมยอมรับเขาเป็นกษัตริย์ในปี 160 ก่อน ค.ศ.

b “ดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรติส” เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเซเลวซิด ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำยูเฟรติสกับอียิปต์ ซึ่งกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสทรงมอบให้ลีเซียสดูแล (3:32) บัคคีเดสได้รับมอบหมายให้ปราบกบฏในดินแดนส่วนนี้ ขณะที่กษัตริย์องค์ใหม่เสด็จไปปราบการกบฏที่แคว้นมีเดีย

c อัลชีมัส (แปลว่า “ผู้กล้าหาญ”) เป็นชื่อกรีกของชาวยิวที่ชื่อภาษาฮีบรูว่า “ยาชิม” เพราะออกเสียงคล้ายกัน พระคัมภีร์เล่าว่าอัลชีมัสผู้นี้เป็นผู้ทรยศต่อศาสนาของตน เพราะไปเลื่อมใสกับอารยธรรมกรีก และขัดขวางการแสวงหาอำนาจของตระกูลฮัสโมเนียน (ครอบครัวมัคคาบี) แต่เขาเป็นสมาชิกในตระกูลของอาโรน ทำให้เขามีสิทธิได้รับเลือกเป็นมหาสมณะอย่างถูกต้อง และได้รับการสนับสนุนจากพวกฮาสิดิม (ดู 2:42 เชิงอรรถ i)

d “ธรรมาจารย์” ในที่นี้หมายถึงชนเลวีหรือสมณะที่เชี่ยวชาญเรื่องธรรมบัญญัติ (2 พศด 34:13; อสร 7:6 ฯ)

e “กลุ่มฮาสิดิม” เคยสนับสนุนพวกมัคคาบีเมื่อเริ่มขบวนการ (2:42) แต่ขณะนั้นแยกตัวออกไป เพราะคิดว่ากษัตริย์ซีเรียคงจะอนุญาตให้เขาปฏิบัติศาสนาได้โดยเสรี (6:59) แต่ยูดาสไม่เชื่อนโยบายของกษัตริย์ จึงไม่ร่วมเจรจาด้วย แม้ว่าจนบัดนี้กษัตริย์ยังไม่ทรงไล่ล่าเขา (ดู 2 มคบ 14:12)

f “ข้อความในพระคัมภีร์” แปลตามตัวอักษรว่า “ถ้อยคำที่เขาได้เขียน” “เขา” ในที่นี้อาจหมายถึงกษัตริย์ดาวิด หรือ อาสาฟ หรือ “ประกาศกผู้นั้น” (The Prophet)

g “เบธซาอิธ” ในปัจจุบันมีหมู่บ้านชื่อ “เบธไศตา” ตั้งอยู่ 6 กิโลเมตร ทางเหนือของเมืองเบธซูร์ * ยังมีบ่อน้ำอีกบ่อหนึ่งที่มีบันไดวนที่นี่ด้วย * บัคคีเดสไม่ลังเลใจที่จะฆ่าทุกคนที่เคยเป็นกบฏ แม้ในภายหลังเขาจะเปลี่ยนข้างเข้ามามอบตัวกับตนแล้วก็ตาม

h “คาฟาร์สะลามา” แปลว่า “หมู่บ้านแห่งสันติ” อาจจะตรงกับหมู่บ้านที่ปัจจุบันชื่อ “คีร์เบทเซลมา” ใกล้เมืองกิเบโอน ห่างจากเมืองอาดาสา (7:40) ราว 4 กิโลเมตร (ดู 2 มคบ 14:16 เชิงอรรถ d)

i “ทำให้บรรดาสมณะเป็นมลทิน” ชาวยิวถือว่าการถ่มน้ำลายใส่พระวิหารเป็นการทำให้สมณะเป็นมลทิน

j “พระองค์” สำเนาโบราณและสำนวนแปลโบราณบางฉบับเสริมว่า “ข้าแต่พระเจ้า” แต่โดยปกติ 1 มคบ มักจะหลีกเลี่ยงคำว่า “พระเจ้า”

k เมืองอาดาสา คงเป็นเมืองเดียวกับเมือง “คาดาสา” ใน ยชว 15:37 ซึ่ง 2 มคบ 14:16 เรียกว่า “เดสเซา” ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเบธโฮโรนกับกรุงเยรูซาเล็ม

l “กษัตริย์” สำนวนแปลภาษาละตินเสริมว่า “เซนนาเคริบ” สำเนาโบราณบางฉบับอ่านว่า “กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย” (ดู 2 พกษ 19:35)

m วันที่ 13 เดือนอาดาร์ ปี 151 ศักราชกรีก ตรงกับวันที่ 28 มีนาคม ปี 160 ก่อน ค.ศ. วันที่ 13 นี้กลายเป็นวันฉลองตามปฏิทินของชาวยิว เรียกว่า “วันปราชัยของนิคาโนร์” (ดู 2 มคบ 15:36) ชาวยิวฉลองวันนี้อยู่ไม่นาน

n หนังสือ 2 มคบ เล่าเหตุการณ์จบที่นี่

คำยกย่องชาวโรมันa

 8 1ยูดาสได้ยินชื่อเสียงของชาวโรมันว่ามีกำลังทหารมาก และสนับสนุนทุกคนที่เข้ามาเป็นฝ่ายเดียวกับตน ชาวโรมันจะทำสัญญามิตรภาพกับทุกคนที่มาขอเป็นมิตรด้วย เขามีกำลังทหารมาก 2ยูดาสรู้เรื่องสงครามและความกล้าหาญที่ชาวโรมันสู้รบกับชาวโกลbจนมีชัยชนะ แล้วบังคับชาวโกลให้ส่งเครื่องบรรณาการ 3ยูดาสยังรู้เรื่องที่ชาวโรมันยึดเหมืองเงินและเหมืองทองคำในแคว้นสเปน 4และยังรู้ว่าเขาเคยวางแผนและยึดครองดินแดนนั้นได้ทั้งหมด แม้ดินแดนนั้นอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินของตนมากก็ตาม กษัตริย์บางองค์ที่เสด็จมาจากสุดปลายแผ่นดินเพื่อทำสงครามกับเขาต้องพ่ายแพ้ และถูกทำลายย่อยยับ ส่วนอีกบางองค์ต้องส่งเครื่องบรรณาการทุกปี 5ฟีลิปและเปอเซอัสcกษัตริย์แห่งมาซิโดเนีย และกษัตริย์อื่นๆ ที่ทรงเป็นกบฏต่อชาวโรมันมาทำสงคราม แต่ก็ต้องพ่ายแพ้และอยู่ใต้อำนาจด้วย 6อันทิโอคัสมหาราชกษัตริย์แห่งอาเซีย คู่ศึกที่มีช้างหนึ่งร้อยยี่สิบเชือก ทหารม้า รถศึก และกองทัพใหญ่ยิ่งเป็นกำลังรบก็พ่ายแพ้ 7ชาวโรมันจับพระองค์เป็นเชลยd แล้วบังคับให้พระองค์และผู้สืบราชสมบัติส่งเครื่องบรรณาการจำนวนมาก ส่งตัวประกัน และมอบดินแดนส่วนหนึ่ง 8คือแคว้นลีเซีย มีเซีย และลีเดีย ซึ่งเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ที่สุดให้ตน ชาวโรมันถวายดินแดนเหล่านี้แด่กษัตริย์ยูเมเนส 9เมื่อชาวกรีกคิดจะยกทัพมาทำลาย 10ชาวโรมันรู้เรื่อง จึงส่งแม่ทัพเพียงคนเดียวยกทัพไปรบกับเขา ชาวกรีกบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เขาจับบุตร ภรรยาของชาวกรีกไปเป็นเชลย ปล้นข้าวของ ยึดแผ่นดิน รื้อป้อมปราการ บังคับชาวกรีกให้เป็นทาสจนถึงทุกวันนี้e 11อาณาจักรอื่นๆ และเกาะทั้งหลายที่ต่อต้าน ชาวโรมันจะทำลาย บังคับให้เป็นทาส ส่วนผู้ที่เป็นมิตรและยอมขึ้นต่อเขา ชาวโรมันก็จะเป็นมิตรด้วย 12เขาบังคับกษัตริย์ทั้งใกล้และไกลให้อยู่ใต้อำนาจ ทุกคนที่ได้ยินชื่อเสียงของเขาต่างก็เกรงกลัว 13ผู้ใดที่เขาต้องการช่วยเหลือและให้เป็นกษัตริย์ ผู้นั้นก็ได้เป็นกษัตริย์ ผู้ใดที่เขาต้องการถอดจากราชสมบัติ ผู้นั้นก็จะถูกถอด อำนาจของเขายิ่งใหญ่มาก 14แม้ชาวโรมันประสบความสำเร็จเช่นนี้ ก็ไม่มีผู้ใดสวมมงกุฎกษัตริย์ ไม่มีผู้ใดสวมเสื้อคลุมสีม่วงแดงแสดงอำนาจ 15เขาตั้งวุฒิสภา ทุกวันสมาชิกสภาสามร้อยยี่สิบคนจะมาประชุมปรึกษากันในเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมือง เพื่อให้ทุกสิ่งดำเนินไปด้วยดี 16เขามอบอำนาจปกครองแก่ชายผู้หนึ่งf ให้ปกครองแผ่นดินทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งปี ทุกคนจะเชื่อฟังชายคนนั้นโดยไม่อิจฉาริษยา

ชาวยิวทำสนธิสัญญากับชาวโรมัน

17ยูดาสเลือกยูโพเลมัสบุตรของยอห์น บุตรของอัคโคส พร้อมกับยาโสนบุตรของเอเลอาซาร์ แล้วส่งไปกรุงโรมเพื่อทำสัญญามิตรภาพและสนธิสัญญาด้วยg 18โดยหวังจะปลดแอกของชาวกรีก เพราะเห็นชัดว่าอาณาจักรกรีกกำลังทำให้อิสราเอลตกเป็นทาส 19ทั้งสองคนเดินทางเป็นระยะทางไกลมาถึงกรุงโรม เข้าไปพูดในวุฒิสภาว่า 20“ยูดาสซึ่งเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ‘มัคคาบี’ ญาติพี่น้อง และประชากรชาวยิว ส่งเราทั้งสองคนมาทำสัญญามิตรภาพและสนธิสัญญากับท่านทั้งหลาย จะได้เป็นพันธมิตรและเป็นสหายกับท่าน”

21ข้อเสนอนี้ทำให้วุฒิสมาชิกพอใจ 22สารที่ชาวโรมันจารึกลงบนแผ่นทองสัมฤทธิ์ส่งไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อให้ชาวยิวเก็บไว้เป็นหลักฐานแห่งมิตรภาพและสนธิสัญญา มีความว่าดังนี้

23“ขอให้ชาวโรมันและประชากรชาวยิวมีความสุขความเจริญตลอดไป ทั้งบนแผ่นดินและผืนน้ำ ขอคมดาบและศัตรูอยู่ห่างไกลจากเขา 24ถ้าเกิดสงครามกับกรุงโรมหรือกับพันธมิตรชาติใดที่อยู่ในอาณัติของจักรวรรดิโรมัน 25ประชากรชาวยิวเต็มใจช่วยสู้รบเคียงข้างตามแต่โอกาสจะเรียกร้อง 26และจะไม่ส่งอาหาร อาวุธ เงิน หรือเรือ แก่ศัตรูคู่สงคราม รัฐบาลโรมได้ตกลงเช่นนี้ และประชากรชาวยิวจะปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่รับสิ่งใดเป็นค่าตอบแทน 27เช่นเดียวกัน ถ้าสงครามเกิดขึ้นกับชนชาติยิว กรุงโรมก็เต็มใจต่อสู้เคียงข้างตามแต่โอกาสจะเรียกร้อง 28และจะไม่ส่งอาหาร อาวุธ เงิน หรือเรือ แก่ศัตรูคู่สงคราม รัฐบาลโรมได้ตกลงเช่นนี้ และจะปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่หลอกลวงเลย 29นี่เป็นข้อตกลงที่ชาวโรมันทำกับประชากรชาวยิว 30แต่ถ้าในภายหลังทั้งสองฝ่ายตกลงจะเพิ่มเติม หรือตัดข้อความใดออกก็ย่อมทำได้ และสิ่งที่เขาเพิ่มเติมหรือตัดออก ก็จะมีผลใช้บังคับh

31ส่วนเรื่องความชั่วร้ายที่กษัตริย์เดเมตรีอัสกระทำต่อชาวยิวนั้น พวกเราได้เขียนจดหมายไปทูลพระองค์ว่าดังนี้ “เหตุใดพระองค์จึงทรงทำให้แอกซึ่งชาวยิว สหายและพันธมิตรของเราต้องแบกนั้นหนักขึ้น 32ถ้าเขามาฟ้องร้องกล่าวหาพระองค์อีก พวกเราจะปกป้องสิทธิของเขาและจะทำสงครามกับพระองค์ทั้งทางบกและทางทะเล”

8 a พระคัมภีร์ยกย่องชาวโรมันที่ตรงนี้ เป็นการนำเรื่องสนธิสัญญาระหว่างยูดาสกับรัฐบาลโรม (ข้อ 17ฯ) ชาวโรมันมีนโยบายสนับสนุนฝ่ายกบฏ เพื่อตัดกำลังของกษัตริย์ที่ยังไม่ยอมเป็นประเทศราชต่อชาวโรมันอย่างสมบูรณ์

b “ชาวโกล” แปลตามตัวอักษรว่า “ชาวกาลาเทีย” คงหมายถึงสงครามกับชาวโกลที่อยู่ทางฟากนี้ของเทือกเขาแอลป์ หรืออิตาลีเหนือในปัจจุบัน ราวปี 222 ก่อน ค.ศ.

c ฟีลิป คือกษัตริย์ฟีลิปที่ 5 แห่งมาซิโดเนีย ทรงปราชัยที่เมือง Cynoscephalae ในปี 197 ก่อน ค.ศ. ส่วนเปอเซอัสพระโอรส ทรงปราชัยที่เมือง Pydna ในปี 168 ก่อน ค.ศ. * “มาซิโดเนีย” ตามตัวอักษรว่า “คิทธิม” ซึ่งแต่เดิมหมายถึงชาวเกาะไซปรัส แต่ต่อมาหมายถึงชาวเกาะและเมืองต่างๆ ชายทะเลเอเจียน รวมทั้งแคว้นมาซิโดเนียด้วย

d กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 3 มหาราชทรงปราชัยต่อกองทัพโรมันที่เมือง Magnetia ใกล้ภูเขา Sipylus ในปี 189 ก่อน ค.ศ. ทรงต้องยอมรับเงื่อนไขอย่างหนักจากสนธิสัญญากับชาวโรมันที่เมืองอาปาเมอา (ดู 2 มคบ 3:1 เชิงอรรถ a)

e โดยแท้จริงแล้ว ชาวโรมันชนะชาวกรีกและทำให้เป็นแคว้นหนึ่งในจักรวรรดิโรมันในปี 146 ก่อน ค.ศ.เท่านั้น ดังนั้น ผู้เขียน 1 มคบ จึงเขียนหลังเหตุการณ์นี้ ซึ่งเกิดขึ้นราว 20 ปีหลังสมัยยูดาสมัคคาบี

f “ชายผู้หนึ่ง” โดยแท้จริงแล้ว วุฒิสภากรุงโรมแต่งตั้ง “กงสุล” ปีละ 2 คน ให้เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองในนามของวุฒิสภา

g ยูดาสคงได้ส่งทูตคณะนี้ไปกรุงโรมก่อนที่นิคาโนร์จะถูกฆ่า เพราะยูดาสจะเสียชีวิตเพียง 2 เดือนหลังจากนั้น ยูดาสคงส่งคณะทูตไปในปี 161 ก่อน ค.ศ. ตามที่โยเซฟุสเล่าไว้

h ข้อความนี้เป็นสูตรลงท้ายสนธิสัญญาต่างๆ ตามปกติ ข้อความในข้อต่อไปเป็นข้อสรุปคำตอบที่บรรดาทูตได้รับจากชาวโรมัน

มรณกรรมของยูดาสในการรบที่เมืองเบธซาอิธ a

               9 1เมื่อกษัตริย์เดเมตรีอัสทรงทราบว่านิคาโนร์เสียชีวิตในการรบ และกองทัพของเขาถูกทำลาย พระองค์ทรงส่งบัคคีเดส อัลชีมัส และกองทัพส่วนหนึ่งไปยังแผ่นดินยูดาห์อีก 2เขาเดินตามทางไปถึงแคว้นกาลิลี มาล้อมเมืองเมซาโลธb ใกล้เมืองอาร์เบลา แล้วยึดเมืองไว้ได้ ฆ่าผู้คนจำนวนมาก 3ในเดือนแรกของปีหนึ่งร้อยห้าสิบสองc ศักราชกรีก เขาตั้งค่ายหน้ากรุงเยรูซาเล็ม 4แล้วยกทัพไปยังเมืองเบเรอาd พร้อมกับทหารราบสองหมื่นคน และทหารม้าสองพันคน 5ยูดาสตั้งค่ายอยู่ที่เมืองเอลาสาe พร้อมกับทหารที่คัดเลือกแล้วสามพันคน 6เมื่อเห็นกองทัพข้าศึกมีจำนวนมาก ทหารของยูดาสมีความกลัวยิ่งนัก หลายคนหลบหนีไปจากค่าย เหลือทหารเพียงแปดร้อยคน

7เมื่อยูดาสเห็นว่ากองทัพของตนกำลังสลายตัวขณะที่การรบกำลังจะเริ่มอยู่แล้ว ก็รู้สึกเจ็บใจ เพราะไม่มีเวลาพอที่จะรวบรวมกำลังพลอีก 8แม้จะเศร้าใจ เขาก็ยังปลุกใจทหารที่เหลืออยู่ว่า “ลุกขึ้นเถิด พวกเราจงออกไปเผชิญหน้ากับศัตรู เราอาจจะสู้กับเขาได้”

9บรรดาทหารพยายามให้เขาเปลี่ยนความคิด พูดว่า “เราสู้ไม่ได้แน่ๆ เราจงเอาชีวิตรอดเถิด แล้วเราจะกลับมาต่อสู้พร้อมกับญาติพี่น้อง เวลานี้เรามีจำนวนน้อยเกินไป” 10แต่ยูดาสตอบว่า “เราจะไม่ทำดังนี้เป็นอันขาด เราจะไม่หนีข้าศึก ถ้าเราจะต้องตาย ก็ให้เราตายอย่างผู้กล้าหาญเพื่อญาติพี่น้องของเราเถิด อย่าให้เกียรติยศของเราต้องด่างพร้อยไปเลย”

11กองทัพข้าศึกออกมาจากค่าย เตรียมเข้าประจัญบาน กองทหารม้าแบ่งออกเป็นสองกอง ทหารยิงก้อนหินและทหารยิงธนูออกหน้า ส่วนทหารชำนาญศึกอยู่แนวหน้า บัคคีเดสอยู่ทางปีกขวา 12แถวทหารเดินหน้าระหว่างแถวทหารม้าทั้งสองแถว พลางเป่าแตร ทหารฝ่ายยูดาสก็เป่าแตรด้วย 13เสียงของกองทัพทั้งสองทำให้แผ่นดินสั่นสะเทือน ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ 14เมื่อเห็นว่าบัคคีเดสกับกำลังทัพส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดอยู่ทางด้านขวา ยูดาสก็นำบรรดาทหารที่มีใจกล้าหาญทั้งหมด 15เข้าโจมตีปีกขวา แล้วไล่ตามไปจนถึงภูเขาฮาซาราf 16เมื่อทหารทางปีกซ้ายเห็นว่าปีกขวาพ่ายแพ้แล้ว จึงกลับมาไล่ตามยูดาสกับทหารของเขาทางด้านหลัง 17การต่อสู้หนักหน่วงขึ้น ทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากทั้งสองฝ่าย 18ยูดาสถูกฆ่า ทหารที่เหลือหนีไปได้

พิธีฝังศพของยูดาสมัคคาบี

            19โยนาธานพร้อมกับซีโมนนำศพของยูดาสพี่ชาย ไปฝังไว้ในที่ฝังศพของบรรพบุรุษที่เมืองโมดีน 20ชาวอิสราเอลทุกคนร่ำไห้ไว้ทุกข์ให้ยูดาสอย่างมาก คร่ำครวญอาลัยถึงเขาเป็นเวลาหลายวันว่า “ผู้กล้าหาญที่เคยช่วยอิสราเอลให้รอดพ้นเสียชีวิตไปได้อย่างไร”

          21กิจการอื่นๆ ของยูดาส การสงครามและวีรกรรมต่างๆ ที่เขาได้ทำ และความยิ่งใหญ่ของเขา มิได้บันทึกไว้ เพราะมีจำนวนมากเหลือเกิน

IV. โยนาธานเป็นผู้นำและมหาสมณะ (160-143 ก่อน ค.ศ.)

 

โยนาธานต่อต้านชาวกรีก

23เมื่อยูดาสเสียชีวิต ผู้ทรยศต่อพระเจ้าออกจากที่ซ่อน แสดงตัวทั่วแผ่นดินอิสราเอล ผู้ทำความชั่วร้ายก็ปรากฏให้เห็นอีก 24ขณะนั้น เกิดขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ประชาชนทั้งหลายต่างเข้าข้างคนชั่วร้ายเหล่านี้ 25บัคคีเดสเลือกผู้ไม่นับถือพระเจ้าบางคน แต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองแผ่นดิน 26คนเหล่านี้ค้นหาจนพบมิตรสหายของยูดาส แล้วนำตัวมาให้บัคคีเดสลงโทษและเยาะเย้ย 27เกิดความเดือดร้อนอย่างหนักในอิสราเอลอย่างที่ไม่เคยมีมาตั้งแต่ประกาศกหมดไปจากอิสราเอล

28มิตรสหายทุกคนของยูดาสมาชุมนุมกัน บอกโยนาธานว่า 29“ตั้งแต่ยูดาสพี่ชายของท่านเสียชีวิต ไม่มีผู้ใดเหมือนเขาที่จะออกไปต่อสู้กับศัตรู คือบัคคีเดสและผู้ที่เกลียดชังชาติของเราได้ 30บัดนี้ พวกเราเลือกท่านให้เป็นหัวหน้าของเรา และเป็นผู้นำเราต่อสู้แทนยูดาส” 31โยนาธานจึงรับอำนาจปกครองในวันนั้น เป็นผู้นำแทนยูดาสพี่ชาย

โยนาธาน((ในถิ่นทุรกันดารเทโคอาและในแผ่นดินโมอับ

            32เมื่อบัคคีเดสรู้เรื่องก็ออกตามหาโยนาธานเพื่อฆ่าเขา 33แต่โยนาธาน ซีโมนพี่ชาย และผู้ติดตามทุกคนรู้เรื่องนี้ จึงหลบหนีไปสู่ถิ่นทุรกันดารเทโคอาg และตั้งค่ายอยู่ข้างสระอัสฟาร์ 34บัคคีเดสรับรู้เรื่องในวันสับบาโต จึงยกทัพทั้งหมดข้ามแม่น้ำจอร์แดนh

          35โยนาธานส่งยอห์นพี่ชายนำกองคุ้มกันไปขอให้ชนเผ่านาบาเทียนซึ่งเป็นพันธมิตรดูแลสัมภาระจำนวนมากของตน 36แต่ลูกหลานของยัมบรีiออกจากเมืองเมดาบามาจับยอห์น และปล้นสิ่งของเหล่านั้นไปหมด

          37ต่อมา มีผู้นำข่าวไปบอกโยนาธานและซีโมนพี่ชายว่า “ลูกหลานของยัมบรีกำลังจะมีงานใหญ่ฉลองการแต่งงาน เขาจะนำเจ้าสาวซึ่งเป็นธิดาของคนสำคัญคนหนึ่งในแคว้นคานาอัน มาจากเมืองนาบาดาธj และมีขบวนใหญ่ตามมาด้วย”

          38โยนาธานและซีโมนคิดถึงยอห์นพี่ชายที่ถูกฆ่า จึงนำพวกขึ้นไปซุ่มคอยอยู่บนภูเขา 39เมื่อจ้องมองไป เขาก็เห็นคนเป็นขบวนใหญ่ส่งเสียงเฮฮา มีข้าวของจำนวนมาก เจ้าบ่าวกับเพื่อนๆและญาติพี่น้องถืออาวุธพร้อม ตีรำมะนาและเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ออกมาต้อนรับขบวนเจ้าสาว 40ชาวยิวกรูกันออกมาจากที่ซ่อน และฆ่าเขา มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก คนที่รอดชีวิตต่างหนีไปทางภูเขา ชาวยิวยึดของเชลยได้ทั้งหมด 41งานแต่งงานจึงเปลี่ยนเป็นงานไว้ทุกข์ เสียงดนตรีกลับเป็นเสียงคร่ำครวญ 42โยนาธานและซีโมนจึงแก้แค้นแทนพี่ชาย แล้วกลับไปยังลุ่มแม่น้ำจอร์แดน

 

การสู้รบที่แม่น้ำจอร์แดน

            43เมื่อบัคคีเดสรู้เรื่องนี้ เขาก็ยกทัพใหญ่มาที่ฝั่งแม่น้ำจอร์แดนในวันสับบาโต 44โยนาธานพูดกับทหารของตนว่า “ลุกขึ้น พวกเราจงต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดเถิด เพราะวันนี้ไม่เหมือนวันที่ผ่านมา 45ข้าศึกอยู่ทั้งข้างหน้าและข้างหลังเรา ด้านหนึ่งมีแม่น้ำจอร์แดน อีกด้านหนึ่งมีพรุและป่า เราไม่มีทางหนี 46จงร้องเสียงดังทูลพระเจ้าแห่งสวรรค์ให้ทรงช่วยเราพ้นมือของศัตรูเถิด”

          47การสู้รบก็เริ่มขึ้น โยนาธานเข้าฟันบัคคีเดส แต่บัคคีเดสหลบได้และถอยหนี 48โยนาธานกับทหารของตนกระโดดลงแม่น้ำจอร์แดน ว่ายน้ำข้ามไปขึ้นอีกฝั่งหนึ่ง ข้าศึกไม่ได้ข้ามแม่น้ำไล่ตามไปk 49วันนั้นทหารฝ่ายบัคคีเดสเสียชีวิตหนึ่งพันคน

บัคคีเดสสร้างป้อมปราการ อัลชีมัสเสียชีวิต

            50บัคคีเดสกลับไปกรุงเยรูซาเล็มแล้วสร้างป้อมปราการตามเมืองต่างๆ ในแคว้นยูเดีย ที่เมืองเยรีโค เอมมาอุส เบธโฮโรน เบธเอล ทิมนาท ฟาราโธน และเทโฟนl มีกำแพงสูง มีดาลกั้นประตูเมือง 51เขายังเสริมกำลังป้อมที่เมืองเบธซูร์ เกเซอร์ และป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม วางกำลังทหารและเสบียงสำรองไว้ที่นั่น 53เขายังจับบุตรผู้นำเมืองต่างๆ ไว้เป็นตัวประกัน และขังไว้ในป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม

          54ปีหนึ่งร้อยห้าสิบสาม ศักราชกรีก เดือนที่สองm อัลชีมัสสั่งให้รื้อกำแพงล้อมลานชั้นในของพระวิหาร เป็นการทำลายผลงานของบรรดาประกาศกn เมื่อเริ่มรื้อกำแพง 55งานนี้ก็ต้องหยุดชะงัก เพราะอัลชีมัสเป็นอัมพาต อ้าปากไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ สั่งทำพินัยกรรมก็ไม่ได้ด้วย 56ในที่สุด อัลชีมัสต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมากและเสียชีวิต 57เมื่อบัคคีเดสเห็นว่าอัลชีมัสเสียชีวิตแล้ว เขาก็กลับไปเฝ้ากษัตริย์ แคว้นยูเดียสงบสุขเป็นเวลาสองปี

การล้อมเมืองเบธบาสี

            58ผู้ทรยศต่อพระเจ้าทุกคนมาประชุมปรึกษากันว่า “บัดนี้ โยนาธานกับบรรดาผู้ติดตามอยู่อย่างสงบสุขและปลอดภัย พวกเราจงไปเชิญบัคคีเดสให้กลับมาอีก เขาจะได้จับคนทั้งหมดนี้เป็นเชลยได้ในคืนเดียว” 59คนเหล่านั้นจึงปรึกษาบัคคีเดส 60บัคคีเดสก็ยกทัพใหญ่มา เขาส่งจดหมายลับไปถึงพวกที่เป็นพันธมิตรกับตนในแคว้นยูเดีย บอกให้จับโยนาธานกับผู้สนับสนุนไว้ แต่แผนการนี้รั่วไหล คนเหล่านั้นจึงทำการไม่สำเร็จ 61โยนาธานและพวกจับคนในชนบทที่เป็นหัวหน้าทำแผนชั่วร้ายนี้ฆ่าเสียประมาณห้าสิบคน 62โยนาธาน ซีโมนและผู้ติดตามถอยไปที่เมืองเบธบาสีo ในถิ่นทุรกันดาร แล้วสร้างป้อมปราการขึ้นใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม แทนป้อมปราการที่ถูกทำลาย 63บัคคีเดสรู้เรื่องก็รวบรวมกำลังทัพทั้งหมดแล้วส่งข่าวไปถึงผู้ที่อยู่ในแคว้นยูเดีย 64แล้วมาตั้งค่ายล้อมเมืองเบธบาสี สร้างเครื่องยิง เข้าจู่โจมเมืองนั้นอยู่หลายวัน

          65โยนาธานทิ้งซีโมนไว้ให้อยู่ในเมือง แล้วยกพลจำนวนหนึ่งออกไปในชนบท 66เข้าโจมตีโอโดเมรา บรรดาพี่น้อง และบรรดาลูกหลานของฟาสิโรนpในกระโจม เมื่อคนเหล่านี้พ่ายแพ้ ก็เข้าพวกกับโยนาธาน ยกกำลังไปต่อสู้กับบัคคีเดส 67ซีโมนและบรรดาทหารรีบออกไปจากเมือง จุดไฟเผาเครื่องยิง 68แล้วเข้าโจมตีบัคคีเดสจนบัคคีเดสพ่ายแพ้ ทำให้เขาเสียใจมากที่แผนการและความพยายามของตนต้องล้มเหลว 69เขาโกรธพวกทรยศต่อพระเจ้ามากที่แนะนำเขาให้บุกรุกแคว้นนี้ จึงฆ่าพวกนี้หลายคน แล้วตัดสินใจกลับไปยังแผ่นดินของตน

          70เมื่อโยนาธานรู้เรื่องนี้ ก็ส่งทูตไปทำสัญญาสันติภาพกับเขา ขอให้แลกเชลยศึกกัน 71บัคคีเดสตกลงตามที่โยนาธานเสนอ ทั้งให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ทำร้ายเขาอีกตลอดชีวิตของตน 72ปล่อยเชลยศึกที่เคยจับมาก่อนในแผ่นดินยูดาห์ แล้วจึงกลับไปสู่แผ่นดินของตน ตั้งใจจะไม่กลับมาเขตแดนนี้อีก

          73ความสงบสุขกลับมาสู่อิสราเอลอีก โยนาธานมาพำนักอยู่ที่เมืองมิคมาช เริ่มปกครองประชากรq และกำจัดผู้ทรยศต่อพระเจ้าให้หมดไปจากอิสราเอล

9 a เรื่องราวในบทนี้ต่อจาก 7:50

b “กาลิลี” แปลโดยคาดคะเนตามโยเซฟุส ต้นฉบับภาษากรีกและละตินว่า “กิลกัล” * “เมซาโลธ” (แปลว่า “ทางเดิน”) คงเป็นทางนำไปสู่ถ้ำอาร์เบลา (ตั้งอยู่ 5 กิโลเมตร ทางตะวันตกของทะเลสาบกาลิลี) ทหารที่หลบหนีจากกองทัพมักมาอาศัยหลบภัยในถ้ำนี้

c ตรงกับเดือน เมษายน-พฤษภาคม ปี 160 ก่อน ค.ศ.

d “เบเรอา” เมืองนี้ตั้งอยู่ 20 กิโลเมตรทางเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม สมัยนี้เรียกว่า “บีร์ซาอิท” (ดู 1 พศด 7:31)

e “เอลาสา” คือเมือง Kirbet-Il’asa ในปัจจุบัน ใกล้เมืองเบธโฮโรน ดูเหมือนว่าค่ายของยูดาสอยู่ไกลเกินไปจากค่ายของบัคคีเดส (ราว 15 กิโลเมตร) บางคนเข้าใจว่าที่เอลาสามีเพียงกองทหารเฝ้าสัมภาระของกองทัพเท่านั้น บางคนคิดว่าต้องอ่านชื่อเมืองเสียใหม่ว่า “อาดาสา”

f “ฮาซารา” แปลโดยคาดคะเนตามโยเซฟุส ต้นฉบับภาษากรีก-ละตินว่า “อาโซตัส” (หรือ “อัชโดด”) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในบริเวณนั้นไม่มีเนินเขาเลย

g “เมืองเทโคอา” เป็นบ้านเกิดของประกาศกอาโมส อยู่ห่าง 18 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเบธเลเฮม อยู่ใกล้กับถิ่นทุรกันดารที่มีชื่อเดียวกัน (ดู 2 พศด20:20) ซอกเขาในบริเวณนี้ลงไปยังทะเลตาย เป็นที่หลบซ่อนของดาวิดกับพรรคพวก ขณะที่หนีการไล่ล่าของกษัตริย์ซาอูล (1 ซมอ 24-26) ในภายหลังซอกเขานี้ยังจะเป็นที่หลบซ่อนของซีโมนบาร์ค็อกบากับพรรคพวกที่กบฏต่อชาวโรมันในปี ค.ศ. 132-135 * ส่วนเมือง “อัสฟาร์” เราไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน บางคนคิดว่าเป็นเมืองหนึ่งตั้งอยู่ราว 6 กิโลเมตรทางใต้ของเมืองเทโคอา

h บางคนคิดว่าข้อ 34 นี้เป็นข้อความซ้ำกับข้อ 43

i “ยัมบรี” ตามต้นฉบับภาษากรีก-ละติน โยเซฟุสว่า “อัมราย” ชนเผ่านี้คงเป็นชาวอาหรับคนละเผ่ากับชาวนาบาเทียน

j “นาบาดาธ” ตามต้นฉบับภาษากรีก-ละติน โยเซฟุสว่า “นาบาตา” อาจเป็นที่มั่นของชาวอารัมบนภูเขาเนโบ (ดู กดว 36:3) ริมที่ราบโมอับ ซึ่งมีชื่อโบราณว่า “คานาอัน” * พระคัมภีร์มักจะเรียกดินแดนของชนชาติต่างๆ ที่ไม่ใช่ชาวยิวว่า “คานาอัน”

k การสู้รบคงเกิดขึ้นทางฟากตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน โยนาธานตั้งค่ายอยู่ที่นั่น หวังจะเคลื่อนกำลังไปทางตะวันตกของทะเลตาย แต่บัคคีเดสบังคับโยนาธานให้ถอยข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปทางฟากตะวันออก โดยไม่ได้ยกทัพติดตามไป

l เมืองเบธเอลตั้งอยู่ 18 กิโลเมตรทางเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม * เมืองทิมนาท (ยชว 19:50) หรือทัมนาตา (ตามต้นฉบับภาษากรีก) ตั้งอยู่ราว 15 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเบธเอล * เมืองฟาราโธน หรือ ปิราโธน (วนฉ 12:15) ตั้งอยู่ 25 กิโลเมตรทางเหนือของเมืองทิมนาท ใกล้เมืองเทโฟน หรือทาปูอัค (ยชว 12:17) ในแคว้นสะมาเรีย

m ตรงกับเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 159 ก่อน ค.ศ.

n “บรรดาประกาศก” คงจะหมายถึงประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์หลังการเนรเทศที่บาบิโลน กำแพงที่อัลชีมัสสั่งให้รื้อนี้คงจะเป็นกำแพงที่แยกลานพระวิหารออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับชาวยิว อีกส่วนหนึ่งสำหรับชนต่างชาติ (ดู อสค 44:9) กำแพงนี้อาจสร้างขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยกษัตริย์มนัสเสห์ (2 พกษ 21:5)

o “เบธบาสี” รายชื่อของบุคคลที่กลับจากเนรเทศที่กรุงบาบิโลนมีลูกหลานของเบไซ (อสร 2:17) ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อเมืองซึ่งอยู่ระหว่างเมืองเบธเลเฮมกับเทโคอา ในสมัยนี้ยังมีชื่อว่า ”เบธบัสสา”

p “โอโดเมรา บรรดาพี่น้อง และบรรดาลูกหลานของฟาสิโรน” เป็นเผ่าชาวอาหรับซึ่งคงเป็นพันธมิตรกับบัคคีเดส แต่เปลี่ยนข้างมาเข้ากับโยนาธาน

q ผู้เขียนเปรียบเทียบยูดาสและโยนาธานกับ “ผู้วินิจฉัย” ในสมัยก่อน (ดู 3:11; 4:3 ฯลฯ) เมืองมิคมาชตั้งอยู่ประมาณ 12 กิโลเมตรทางเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม และตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเบธเอล เมืองนี้เป็นที่รู้จักในพระคัมภีร์จากวีรกรรมของโยนาธาน พระโอรสของกษัตริย์ซาอูล (1 ซมอ 14)

อเล็กซานเดอร์บาลัสแต่งตั้งโยนาธานเป็นมหาสมณะ

                10 1ปีหนึ่งร้อยหกสิบ ศักราชกรีก อเล็กซานเดอร์เอปีฟาเนสaพระโอรสของอันทิโอคัส ยกทัพไปยึดเมืองทอเลเมอิส ชาวเมืองยอมรับเขา เขาจึงเริ่มครองราชย์ที่นั่นb 2เมื่อกษัตริย์เดเมตรีอัสทรงทราบเรื่องนี้ ก็ทรงระดมกองทัพใหญ่มาก ยกออกไปรบกับเขา 3กษัตริย์เดเมตรีอัสทรงมีสารไปถึงโยนาธาน ทรงใช้ถ้อยคำแสดงมิตรภาพเพื่อยกย่องเขา 4ทรงคิดว่า “เราจงรีบมีไมตรีกับโยนาธานก่อนที่เขาจะมีไมตรีกับอเล็กซานเดอร์มาต่อสู้เรา 5เพราะเขายังไม่ลืมความชั่วร้ายที่เราเคยทำกับเขา กับญาติพี่น้องและกับชนชาติของเขา”

          6เดเมตรีอัสยังทรงอนุญาตให้โยนาธานรวบรวมกองทัพ เตรียมอาวุธ ทรงนับว่าเขาเป็นพันธมิตร และทรงปล่อยตัวประกันที่ถูกขังไว้ในป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม 7โยนาธานจึงขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และอ่านสารนั้นต่อหน้าประชากรทั้งหลายและผู้ที่อยู่ในป้อมอาครา 8ทุกคนที่นั่นกลัวมากเมื่อได้ยินว่ากษัตริย์ทรงมอบอำนาจให้โยนาธานรวบรวมกองทัพได้ 9คนที่อยู่ในป้อมอาคราจึงปล่อยตัวประกันให้โยนาธาน โยนาธานก็คืนคนเหล่านั้นให้บิดามารดา 10โยนาธานมาพำนักอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม เริ่มสร้างและบูรณะเมือง 11เขาสั่งคนงานให้สร้างกำแพงเมืองและใช้หินสี่เหลี่ยมcล้อมเนินเขาศิโยนให้เป็นที่มั่น คนงานก็ทำตาม 12ชนต่างชาติที่อยู่ในป้อมปราการที่บัคคีเดสเคยสร้างไว้ก็หนีไป 13ต่างคนต่างทิ้งที่มั่นกลับไปยังแผ่นดินของตน 14ที่เมืองเบธซูร์เท่านั้นยังเหลือผู้ที่ทรยศต่อธรรมบัญญัติและต่อบทบัญญัติบางคน เมืองนี้จึงเป็นที่ลี้ภัยของเขา

          15กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงทราบเรื่องสัญญาที่เดเมตรีอัสเสนอแก่โยนาธาน ทั้งทรงทราบเรื่องสงครามและความกล้าหาญของโยนาธานและญาติพี่น้อง ตลอดจนความทุกข์ยากที่เขาได้รับ 16จึงตรัสว่า “เราจะหาคนอย่างเขาได้ที่ไหน เราจงเป็นมิตรและมีไมตรีกับเขาเถิด” 17พระองค์จึงทรงเขียนและส่งสารไปถึงโยนาธานมีความว่า 18“กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ขอส่งความสุขมาถึงโยนาธานน้องชาย 19เราได้ยินว่าท่านเป็นนักรบผู้กล้าหาญ สมควรจะเป็นมิตรของเรา 20วันนี้เราจึงแต่งตั้งท่านให้เป็นมหาสมณะของชนชาติdของท่าน ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นพระสหายของกษัตริย์ ท่านจะสนับสนุนผลประโยชน์ของเรา และรักษามิตรภาพกับเราไว้” พระองค์ยังทรงส่งเสื้อคลุมสีม่วงแดงและมงกุฎทองคำไปให้เขาอีกด้วย

          21โยนาธานสวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ในเดือนที่เจ็ด ปีหนึ่งร้อยหกสิบe ศักราชกรีก ในเทศกาลอยู่เพิง แล้วจึงรวบรวมกองทัพและเตรียมอาวุธจำนวนมาก

สารของเดเมตรีอัสถึงโยนาธาน

            22เมื่อกษัตริย์เดเมตรีอัสทรงทราบเรื่องเหล่านี้ก็ทรงเป็นทุกข์ รับสั่งว่า 23“เหตุไฉนเราจึงปล่อยให้อเล็กซานเดอร์ทำสัญญาเป็นมิตรกับชาวยิวเพื่อรับการสนับสนุนก่อนหน้าเราเล่า 24เราจะเขียนสารไปยกย่องเขา สัญญาจะให้ตำแหน่งและของกำนัลแก่เขา เพื่อเขาจะช่วยเหลือเราด้วย”

          25พระองค์จึงทรงเขียนสารดังนี้ “กษัตริย์เดเมตรีอัสขอส่งความสุขมายังชนชาติยิว 26เราได้ยินด้วยความยินดีว่าท่านได้รักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับเรา และดำรงมิตรภาพของเราไว้ ไม่เข้าข้างศัตรู 27บัดนี้ ท่านจงซื่อสัตย์ต่อเราต่อไป และเราจะตอบแทนความดีที่ท่านจะทำต่อเรา 28เราจะให้ท่านได้รับการยกเว้นหลายประการ และให้ของกำนัลแก่ท่านมากมาย 29ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะยกเว้นภาษีแก่ท่าน ชาวยิวทุกคนจะไม่ต้องถวายเครื่องบรรณาการ ไม่ต้องเสียภาษีเกลือ และไม่ต้องเสียภาษีแก่กษัตริย์ 30ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะสละสิทธิ์ไม่เก็บภาษีหนึ่งในสามของข้าว ไม่เก็บภาษีครึ่งหนึ่งของผลไม้f ทั้งในแคว้นยูเดียและในสามจังหวัดที่เคยรวมอยู่กับแคว้นสะมาเรียและแคว้นกาลิลีg 31กรุงเยรูซาเล็มจะต้องเป็นนครศักดิ์สิทธิ์และเขตแดนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีหนึ่งในสิบและภาษีอื่นๆ 32เรายอมสละสิทธิ์เหนือป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็มและมอบคืนให้แก่มหาสมณะ เขาจะมีสิทธิ์เลือกคนมาเฝ้ารักษา 33ชาวยิวทุกคนที่ถูกกวาดต้อนจากแผ่นดินยูดาห์ไปเป็นเชลยไม่ว่าที่ใดในอาณาจักรของเรา เราจะปล่อยให้เป็นอิสระโดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ ทุกคนจะได้รับการยกเว้นภาษีต่างๆ แม้แต่ภาษีฝูงสัตว์ 34วันฉลองต่างๆ วันสับบาโต วันต้นเดือนและวันฉลองที่กำหนดไว้ สามวันก่อนและหลังวันฉลอง เป็นวันที่ไม่ต้องใช้หนี้และเสียภาษีh สำหรับชาวยิวทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักรของเรา 35จะไม่มีผู้ใดมีอำนาจบังคับให้เขาจ่ายเงิน หรือข่มขู่เขาในเรื่องใดก็ตาม 36ชาวยิวเพียงสามหมื่นคนเท่านั้นจะต้องเข้ารับราชการในกองทัพของกษัตริย์ เขาจะได้รับค่าจ้างเท่ากับทหารอื่นๆ ของกษัตริย์ 37ทหารชาวยิวบางคนจะต้องอยู่ประจำที่ป้อมปราการสำคัญๆ ของกษัตริย์ คนอื่นจะได้รับตำแหน่งเป็นที่ไว้วางใจในราชการ ผู้บังคับบัญชาและหัวหน้าจะต้องเลือกจากชาวยิวด้วยกัน เขาจะได้ดำเนินชีวิตตามบทบัญญัติของเขา ตามที่กษัตริย์ทรงบัญชาสำหรับแผ่นดินยูดาห์

          38จังหวัดทั้งสามของแคว้นสะมาเรียที่รวมเข้ากับแคว้นยูเดีย จะอยู่กับแคว้นยูเดียต่อไปเพื่อจะได้อยู่ใต้การปกครองของคนเดียว และจะไม่ต้องเชื่อฟังอำนาจอื่นใดนอกจากอำนาจของมหาสมณะแต่ผู้เดียว 39เรามอบเมืองทอเลเมอิสและเขตแดนโดยรอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระวิหารiที่กรุงเยรูซาเล็ม เพื่อจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับพระวิหาร 40ทุกๆ ปีเราจะให้เงินจากบัญชีส่วนตัวของเราหนักหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ที่เก็บมาจากสถานที่ต่างๆ ที่กำหนดไว้ 41เงินทั้งหมดในปีก่อนๆ ที่เจ้าหน้าที่มิได้ส่งดังที่เคยปฏิบัติ จะต้องส่งและนำมาใช้ในงานของพระวิหาร 42และเงินหนักห้าพันบาทที่เราเคยเก็บจากรายได้ของพระวิหารทุกปีก็ให้ยกเลิกด้วย เพราะเงินนี้เป็นของสมณะผู้รับใช้ในพระวิหาร 43ผู้ใดจะลี้ภัยในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม หรือในอาณาบริเวณพระวิหาร เพราะเป็นหนี้กษัตริย์ หรือเพราะเหตุอื่นๆ ผู้นั้นจะถูกปล่อยเป็นอิสระ และยังมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งของต่างๆ ที่เขามีอยู่ในราชอาณาจักรของเรา 44สำหรับงานสร้างและบูรณะพระวิหาร รายจ่ายจะคิดจากบัญชีของกษัตริย์ 45งานสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มและป้อมปราการโดยรอบจะคิดจากบัญชีของกษัตริย์ งานสร้างกำแพงเมืองอื่นๆ ในแคว้นยูเดียก็เช่นเดียวกัน”

กษัตริย์เดเมตรีอัสสิ้นพระชนม์

          46โยนาธานและประชากรได้ยินข้อความจากสารนี้ แต่ไม่เชื่อและไม่ยอมรับ เพราะคิดถึงความชั่วร้ายมากมายที่กษัตริย์เดเมตรีอัสทรงกระทำกับชาวอิสราเอล และคิดถึงความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสที่ตนได้รับ 47เขาทั้งหลายพอใจมากกว่าที่จะเลือกเป็นมิตรกับอเล็กซานเดอร์ เพราะพระองค์ทรงเป็นฝ่ายแรกที่เจรจาขอสันติภาพj เขาจึงเป็นพันธมิตรกับอเล็กซานเดอร์ตลอดไป

          48กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงรวบรวมกำลังพลจำนวนมาก ยกไปเผชิญหน้ากับกษัตริย์เดเมตรีอัส 49กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงสู้รบกัน กองทัพของเดเมตรีอัสล่าถอย กษัตริย์อเล็กซานเดอร์จึงทรงไล่ตามและทรงมีชัยชนะ 50การรบดำเนินไปอย่างดุเดือดจนพลบค่ำ กษัตริย์เดเมตรีอัสสิ้นพระชนม์ในวันนั้น

กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงทำสัญญากับกษัตริย์โทเลมี

            51กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงส่งราชทูตนำสารไปเฝ้ากษัตริย์โทเลมีแห่งอียิปต์ มีความว่า 52“ข้าพเจ้าได้กลับคืนสู่อาณาจักรของข้าพเจ้า แล้วนั่งบนบัลลังก์ของบรรพบุรุษ ยึดอำนาจปกครองหลังจากมีชัยชนะต่อเดเมตรีอัส และครอบครองแผ่นดินของเรา 53ข้าพเจ้าทำสงครามกับเดเมตรีอัส เขาและกองทัพถูกพวกเราทำลาย และข้าพเจ้าได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนเขา 54บัดนี้ ขอพระองค์ทรงเป็นมิตรกับข้าพเจ้าเถิด ขอพระองค์ประทานพระธิดาให้เป็นมเหสีของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะเป็นราชบุตรเขยของพระองค์ จะถวายเครื่องบรรณาการที่มีค่าควรแก่พระองค์แด่พระองค์และพระธิดา”

          55กษัตริย์โทเลมีทรงมีพระราชสาสน์ตอบไปดังนี้

“ข้าพเจ้ายินดีอย่างยิ่งที่พระองค์เสด็จกลับสู่แผ่นดินของบรรพบุรุษ และประทับบนราชบัลลังก์ 56ข้าพเจ้าจะทำตามที่พระองค์ทรงเสนอในพระราชสาสน์ ขอเชิญพระองค์เสด็จมาที่เมืองทอเลเมอิสเพื่อเราจะได้พบกัน ข้าพเจ้าจะมีความสัมพันธ์ฉันญาติกับพระองค์ดังที่ทรงขอ”

57กษัตริย์โทเลมีเสด็จจากอียิปต์พร้อมกับเคลโอพัตราพระธิดามาที่เมืองทอเลเมอิส ในปีหนึ่งร้อยหกสิบสองk ศักราชกรีก 58กษัตริย์อเล็กซานเดอร์เสด็จมาพบพระองค์ กษัตริย์โทเลมีประทานเคลโอพัตราพระธิดาให้กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ ทรงจัดงานอภิเษกสมรสที่เมืองทอเลเมอิสอย่างสง่างามตามราชประเพณี

59กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มีพระราชสาสน์ไปเชิญโยนาธานมาเฝ้า 60โยนาธานจึงไปที่เมืองทอเลเมอิสเป็นขบวนยิ่งใหญ่ เข้าเฝ้ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทูลถวายเงิน ทองคำ และเครื่องบรรณาการจำนวนมากแด่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์และบรรดาพระสหาย กษัตริย์ทั้งสองพระองค์พอพระทัย 61ชาวอิสราเอลบางคนที่ชั่วร้ายและทรยศต่อพระเจ้า ร่วมกันใส่ร้ายโยนาธาน แต่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ไม่ทรงเชื่อl 62พระองค์ตรัสสั่งให้โยนาธานเปลี่ยนเสื้อธรรมดาเป็นเสื้อสีม่วงแดง เขาก็ปฏิบัติตาม 63กษัตริย์ยังรับสั่งให้เขานั่งเคียงข้างพระองค์ แล้วตรัสแก่บรรดานายทหารว่า “จงพาโยนาธานไปที่กลางเมืองแล้วประกาศว่า อย่าให้ใครกล่าวหาชายผู้นี้ไม่ว่าในเรื่องใด อย่าให้ใครทำให้ชายผู้นี้เดือดร้อนไม่ว่าเพราะเหตุใด”

64เมื่อผู้ใส่ร้ายเห็นว่าโยนาธานได้รับการประกาศเกียรติยศ และรับพระราชทานเสื้อคลุมสีม่วงแดง ทุกคนก็หนีไป 65กษัตริย์ประทานเกียรติแก่เขา ทรงนับเขาเป็นพระสหายสนิทของพระองค์ ทรงตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการทหารและเป็นผู้ว่าราชการแคว้นm 66โยนาธานจึงกลับกรุงเยรูซาเล็มด้วยความยินดีและปลอดภัย

โยนาธานชนะอปอลโลเนียส แม่ทัพของเดเมตรีอัสที่ 2

            67ปีหนึ่งร้อยหกสิบห้าศักราชกรีก เดเมตรีอัสพระโอรสของกษัตริย์เดเมตรีอัส ออกจากเกาะครีตมายังแผ่นดินของบรรพบุรุษn 68เมื่อกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงทราบข่าวนี้ ก็ทรงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เสด็จกลับยังเมืองอันทิโอก 69เดเมตรีอัสแต่งตั้งอปอลโลเนียสเป็นผู้ปกครองแคว้นซีเรียใต้o เขาจึงระดมกำลังพลจำนวนมากมาตั้งค่ายใกล้เมืองยัมเนีย แล้วส่งสารไปถึงโยนาธานมหาสมณะ ความว่า

70“ท่านเป็นผู้เดียวที่ต่อสู้กับพวกเรา ข้าพเจ้าถูกเยาะเย้ย ได้รับความอับอายก็เพราะท่าน เหตุใดท่านจึงอวดอำนาจกับพวกเราอยู่บนภูเขา 71ถ้าท่านมั่นใจในกองทัพของท่าน ก็จงลงมาสู้รบกับเราในที่ราบเถิด เราจะได้ลองกำลังกันดู กำลังพลของเมืองต่างๆ เป็นฝ่ายข้าพเจ้าแล้ว 72จงถามดูซิว่าข้าพเจ้าเป็นใคร และใครบ้างที่ช่วยพวกเรา คนเหล่านี้พูดกันว่าท่านจะต่อต้านพวกเราไม่ได้ เพราะบรรพบุรุษของท่านต้องพ่ายแพ้ถึงสองครั้งในแผ่นดินของตนp 73บัดนี้ ท่านก็จะต้านทานกองทัพม้าและกำลังทหารของเราไม่ได้ ในที่ราบนี้ไม่มีก้อนหิน ไม่มีก้อนกรวด ไม่มีที่หลบซ่อน”

          74เมื่อโยนาธานได้ยินถ้อยคำของอปอลโลเนียสก็โกรธ จึงเลือกทหารหนึ่งหมื่นคน ยกทัพออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม ซีโมนพี่ชายก็ยกกำลังมาช่วยด้วย 75โยนาธานตั้งค่ายอยู่ใกล้เมืองยัฟฟา แต่ชาวเมืองไม่ยอมให้เขาเข้าเมือง เพราะอปอลโลเนียสมีทหารกองหนึ่งอยู่ที่นั่น เมื่อชาวยิวเริ่มโจมตีเมือง 76ชาวเมืองก็ตกใจกลัว เปิดประตูเมืองให้ โยนาธานจึงยึดเมืองยัฟฟาได้

          77เมื่ออปอลโลเนียสรู้ข่าว เขาก็รวบรวมทหารม้าสามพันคนและทหารราบจำนวนมาก เดินทัพเหมือนกับว่าจะไปยังเมืองอาโซทัส แต่ความจริงเขามุ่งไปยังที่ราบ เพราะเขาไว้ใจทหารม้าจำนวนมากที่มีอยู่ 78โยนาธานไล่ตามไปทางเมืองอาโซทัส กองทัพทั้งสองฝ่ายเข้าสู้รบกัน 79อปอลโลเนียสให้ทหารม้าหนึ่งพันคนหลบซ่อนอยู่เบื้องหลัง 80โยนาธานรู้ว่ามีกองทัพข้าศึกซุ่มโจมตีอยู่เบื้องหลัง กองทัพของเขาถูกศัตรูล้อมและถูกยิงธนูใส่ตั้งแต่เช้าจนค่ำ 81แต่ทหารของโยนาธานยังคงยืนหยัดต่อสู้อยู่ตามคำสั่ง ขณะที่ม้าของข้าศึกเหน็ดเหนื่อยมาก 82เมื่อทหารม้าหมดกำลังลง ซีโมนก็ยกกำลังพลของตนเข้าโจมตีแนวทหาร ข้าศึกพ่ายแพ้ยับเยินและหนีไป 83ทหารม้าก็แตกกระเจิงไปทั่วที่ราบ ข้าศึกหนีไปยังเมืองอาโซทัส เข้าไปในเบธดาโกนซึ่งเป็นวิหารของเทพเจ้าของเขา เพื่อจะเอาชีวิตรอด 84แต่โยนาธานปล้นแล้วเผาเมืองอาโซทัส เมืองใกล้เคียง เผาทำลายวิหารพระดาโกนและประชาชนที่หลบอยู่ในวิหารนั้น 85มีผู้เสียชีวิตเพราะถูกคมดาบและผู้ที่ถูกไฟคลอกตายนับจำนวนได้แปดพันคน 86โยนาธานจึงยกทัพออกจากที่นั่นมาตั้งค่ายอยู่หน้าเมืองอัชเคโลน ชาวเมืองออกมาต้อนรับเขาเป็นขบวนยิ่งใหญ่ 87โยนาธานกลับไปกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับทหาร ขนสิ่งของจำนวนมากที่ปล้นมาได้ไปด้วย 88เมื่อกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงทราบเรื่องนี้ ก็ประทานเกียรติแก่โยนาธานมากยิ่งขึ้น 89ทรงส่งเข็มกลัดทองคำให้เขา เช่นเดียวกับที่เคยประทานแก่พระประยูรญาติq พระองค์ยังประทานเมืองเอโครนกับเขตแดนทั้งหมดโดยรอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ด้วย

10 a “เอปีฟาเนส” สมญา “เอปีฟาเนส” ปรากฏอยู่บนเหรียญกษาปณ์ในรัชสมัยของพระองค์ แต่นักประวัติศาสตร์มักจะกล่าวถึงพระองค์โดยใช้พระนามว่า “อเล็กซานเดอร์บาลัส” เท่านั้น พระองค์ทรงอ้างว่าทรงเป็นโอรสของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส เพราะทรงมีพระพักตร์คล้ายกันมาก

b ชาวเมืองทอเลเมอิสยอมรับอเล็กซานเดอร์บาลัสเป็นกษัตริย์ในปี 152 ก่อน ค.ศ. ต้นปีเดียวกันนั้นเอง วุฒิสภาที่กรุงโรมได้รับรองตำแหน่งกษัตริย์ของพระองค์ด้วย

c “สี่เหลี่ยม” แปลตามสำเนาโบราณภาษากรีกฉบับคัดลอกของลูเซียน และต้นฉบับภาษาละติน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ยาวสี่ฟุต”

d โยนาธานเป็นลูกหลานของโยอาริบ หัวหน้าของครอบครัวสมณะครอบครัวหนึ่ง (ดู 2:1,54) กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ ในฐานะที่รัฐบาลโรมรับรองแล้ว ทรงมีอำนาจแต่งตั้งมหาสมณะ (ดู 7:9; 2 มคบ 4:24) ครอบครัวของโอนีอัสที่เคยดำรงตำแหน่งมหาสมณะจึงถูกปลดจากตำแหน่งโดยปริยาย ในขณะนั้นบุตรของมหาสมณะโอนีอัสที่ 3 หลบหนีไปอยู่ที่อียิปต์ และสร้างพระวิหารขึ้นที่เมืองเลออนโตโปลิส (2 มคบ 1:1) สมณะอีกองค์หนึ่ง [ที่ชาวเอสเสนเรียกว่า “อาจารย์สอนความชอบธรรม” (Teacher of Righteousness)] ได้หลบหนีไปอยู่ที่กุมราน ตามที่ปรากฏในเอกสาร “ดามัสกัส” * โยนาธานเป็นคนแรกในราชวงศ์ฮัสโมเนียนที่เป็นทั้ง “เจ้า” และ “มหาสมณะ” ตามธรรมเนียมทั่วไปในสมัยนั้น ราชวงศ์ฮัสโมเนียนที่สืบตำแหน่งต่อมาจะสนใจเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องศาสนา

e ตรงกับเดือนตุลาคม ปี 152 ก่อน ค.ศ.

f “ภาษีเกลือ” คือภาษีที่เก็บจากเกลือที่ได้จากทะเลตาย และต้องจ่ายแก่กษัตริย์ทุกปี เพราะทะเลตายเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์ (ดู 11:35) * “ภาษีแก่กษัตริย์” แปลตามตัวอักษรว่า “มงกุฎ” (รูปกิ่งปาล์มหรือกิ่งมะกอกเทศสานเป็นมงกุฎสวมศีรษะ) แต่เดิมบรรณาการที่ถวายแด่กษัตริย์นั้นมักจะเป็นทองคำที่ทำเป็นรูปใบไม้สานเป็นมงกุฎ ในภายหลังไม่จำเป็นต้องเป็นมงกุฎทองคำ แต่เป็นเหรียญกษาปณ์ถวายแด่กษัตริย์ ภาษีดังกล่าวแก่ราชวงศ์เซเลวซิดเป็นภาระหนักมากสำหรับชาวยิว ตั้งแต่ปี 165 ก่อน ค.ศ. (ดู 3:36 เชิงอรรถ i)

g ยูดาสยึดสามจังหวัดนี้ให้มาอยู่ในปกครองของชาวยิว บัคคีเดสจึงผนวกเข้ากับแคว้นยูเดียด้วย (9:50)

h “ไม่ต้องใช้หนี้และเสียภาษี” เป็นธรรมเนียมโบราณที่ยกเว้นการบังคับหนี้ และบังคับให้เสียภาษี ในเทศกาลที่ชาวยิวจาริกแสวงบุญไปกรุงเยรูซาเล็ม

i “เมืองทอเลเมอิส...เป็นกรรมสิทธิ์ของพระวิหาร” ขณะนั้นเมืองทอเลเมอิสไม่อยู่ในปกครองของกษัตริย์เดเมตรีอัสแล้ว แต่เป็นของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัส (10:1) การยกเมืองนี้ให้ชาวยิวจึงเป็นเหมือนการเชิญชวนให้ชาวยิวไปต่อสู้กับอเล็กซานเดอร์บาลัส เพื่อยึดเมืองนี้มา เป็นการแก้แค้นต่อชาวเมืองด้วย (5:15,22; 2 มคบ 6:8)

j “เป็นฝ่ายแรกที่เจรจาขอสันติภาพ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

k ตรงกับฤดูใบไม้ร่วงปี 150 ก่อน ค.ศ. * เคลโอพัตราเธอาพระธิดาของกษัตริย์โทเลมีที่ 6 ฟีโลเมเตอร์ทรงอภิเษกสมรสกับกษัตริย์
อเล็กซานเดอร์บาลัส และมีพระโอรสชื่ออันทิโอคัสที่ 6 ต่อมาทรงอภิเษกสมรสกับกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 (11:12) และในที่สุดทรงอภิเษกสมรสอีกกับอันทิโอคัสที่ 7 พระอนุชาของเดเมตรีอัสที่ 2

l ชาวยิวที่นิยมอารยธรรมกรีกคิดว่าการที่เขาสนับสนุนราชวงศ์เซเลวซิดไม่ได้รับการตอบแทนเท่าที่ควร

m “ผู้ว่าราชการแคว้น” ใหญ่กว่าผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะโยนาธานปกครองไม่เพียงแต่แคว้นยูเดียเท่านั้น แต่ยังปกครองดินแดนอีก 3 จังหวัดที่ถูกผนวกเข้ากับแคว้นยูเดียด้วย (ดู ข้อ 30) * ตำแหน่ง “พระสหายสนิท” ดู 2:18 เชิงอรรถ e; 2 มคบ 8:9

n ปี 165 ศักราชกรีก ตรงกับปี 147 ก่อน ค.ศ. โดยแท้จริงแล้ว เดเมตรีอัสที่ 2 ขึ้นเป็นกษัตริย์เพียงในปี 145 ก่อน ค.ศ. แต่ระหว่างปี 138 ถึง 129 ทรงเป็นเชลยของชาวปาร์เทีย อันทิโอคัสที่ 7 พระอนุชาทรงครองราชย์แทน (ดู 14:3; 15:1ฯ)

o อปอลโลเนียสผู้นี้คงจะเป็นคนเดียวกับที่ช่วยให้เดเมตรีอัสที่ 1 หลบหนีจากกรุงโรม (ดู 7:1) บิดาของเขาซึ่งมีชื่อเหมือนกัน เคยเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรียใต้ และฟีนีเซีย (2 มคบ 3:5)

p “บรรพบุรุษ...พ่ายแพ้ถึงสองครั้งในแผ่นดินของตน” เป็นการกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อชาวอิสราเอลพ่ายแพ้ต่อชาวฟีลิสเตียในสมัยของเอลี (1 ซมอ 4:2,10) และยังพาดพิงถึงความคิดของศัตรูที่มักคิดว่าชาวอิสราเอลไม่มีความชำนาญในการสู้รบในที่ราบ (1 พกษ 20:23, 28)

q โดยการกระทำเช่นนี้ กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงตอบแทนโยนาธานโดยทรงยกฐานะขึ้นเป็นเสมือน “พระประยูรญาติ” (ดู 3:32) เข็มกลัดทองคำที่ใช้กลัดเสื้อคลุมสีม่วงแดงเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งนี้ ซึ่งสูงกว่าตำแหน่ง “พระสหายสนิท” ในข้อ 65

สัญญาระหว่างกษัตริย์โทเลมีที่ 6 กับเดเมตรีอัสที่ 2

11 1กษัตริย์แห่งอียิปต์ทรงรวบรวมกำลังพลจำนวนมากราวกับเม็ดทรายตามชายทะเลและเรือจำนวนมาก ทรงพยายามใช้อุบายยึดราชอาณาจักรของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์เข้ามารวมกับราชอาณาจักรของพระองค์ 2พระองค์เสด็จไปยังแคว้นซีเรียเหมือนมาอย่างสันติ ชาวเมืองต่างๆเปิดประตูเมืองออกไปรับเสด็จตามพระบัญชาของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ เพราะกษัตริย์โทเลมีเป็นพระบิดาของมเหสี 3แต่เมื่อกษัตริย์โทเลมีaเสด็จเข้าเมืองใด พระองค์ก็ทรงตั้งกองทหารไว้ทุกเมือง 4เมื่อเสด็จมาถึงเมืองอาโซทัส ชาวเมืองก็ชี้ให้ทอดพระเนตรวิหารของเทพเจ้าดาโกนที่ถูกไฟเผา รวมทั้งหมู่บ้านโดยรอบที่ถูกทำลาย ซากศพที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาด และศพไหม้เกรียมของทหารที่ถูกเผาในการสู้รบ เขานำศพเหล่านี้มากองสุมอยู่ตามทางที่เสด็จผ่าน 5ทูลให้กษัตริย์ทรงทราบการกระทำของโยนาธาน หวังจะให้พระองค์ทรงมีอคติต่อเขา แต่กษัตริย์ไม่ตรัสประการใด 6โยนาธานมารับเสด็จกษัตริย์เป็นขบวนยิ่งใหญ่ที่เมืองยัฟฟา ทั้งสองฝ่ายแสดงความเป็นมิตรต่อกันและพักแรมที่นั่น 7โยนาธานเดินทางไปกับกษัตริย์จนถึงแม่น้ำเอลูเทรัสb แล้วกลับกรุงเยรูซาเล็ม

          8กษัตริย์โทเลมีทรงยึดเมืองต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลไปจนถึงเมืองเซลูเคียริมฝั่งทะเลc และทรงคิดแผนชั่วร้ายต่อกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ 9ทรงส่งราชทูตไปพบเดเมตรีอัส ตรัสว่า “เราจงมาทำสัญญากันเถิด ข้าพเจ้าจะยกธิดาที่ขณะนี้เป็นdมเหสีของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ให้เป็นภรรยาของท่าน และท่านจะเป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักรของบิดาของท่าน 10ข้าพเจ้าเสียใจจริงๆ ที่ได้ยกธิดาให้เขา เพราะเขาพยายามจะฆ่าข้าพเจ้า” 11กษัตริย์โทเลมีทรงใส่ร้ายกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ เพราะทรงปรารถนาครอบครองราชอาณาจักรของอเล็กซานเดอร์e 12พระองค์ทรงเรียกพระธิดาคืนมาจากกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ แล้วทรงยกให้เดเมตรีอัส จึงทรงแตกแยกกับกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ กลายเป็นศัตรูกัน 13ต่อมา กษัตริย์โทเลมีก็เสด็จเข้าเมืองอันทิโอก และทรงสวมมงกุฎแห่งอาเซียf พระองค์จึงทรงสวมทั้งมงกุฎแห่งอียิปต์และมงกุฎแห่งอาเซีย

 

กษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัสและโทเลมีที่ 6 สิ้นพระชนม์

            14เวลานั้น กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ประทับอยู่ในแคว้นซีลีเซีย เพราะประชาชนในดินแดนนั้นเป็นกบฏ 15เมื่อทรงทราบข่าวก็เสด็จไปสู้รบกับกษัตริย์โทเลมี กษัตริย์โทเลมีทรงยกทัพออกมาต่อสู้ด้วยกำลังพลเข้มแข็งและทรงมีชัยชนะg 16กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงหนีไปหลบภัยอยู่ในแคว้นอาระเบีย กษัตริย์โทเลมีจึงทรงชนะอย่างเด็ดขาด 17ศับดีเอลชาวอาหรับhตัดพระเศียรของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ นำมาถวายกษัตริย์โทเลมี 18แต่สามวันต่อมา กษัตริย์โทเลมีก็สิ้นพระชนม์ ทหารที่อยู่ตามป้อมปราการของเมืองต่างๆ ถูกชาวเมืองฆ่าจนหมดสิ้น 19แล้วเดเมตรีอัสจึงขึ้นเป็นกษัตริย์ในปีหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดศักราชกรีก

 

โยนาธานทำสัญญากับกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2

            20เวลานั้น โยนาธานระดมกำลังพลชาวยูเดียเข้าโจมตีป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม ทั้งยังสร้างเครื่องยิงอาวุธเข้าโจมตีด้วยi 21คนบางคนที่ทรยศต่อพระเจ้าและเป็นศัตรูกับชนชาติของตนไปเฝ้ากษัตริย์ทูลว่า โยนาธานกำลังล้อมป้อมอาครา 22กษัตริย์เดเมตรีอัสทรงได้ยินเรื่องนี้ก็กริ้ว เมื่อทรงทราบเรื่องอย่างแน่ชัดจึงเสด็จไปเมืองทอเลเมอิสทันที มีพระราชสาสน์ไปถึงโยนาธานให้เลิกล้อมป้อมอาครา แล้วให้ไปเฝ้าโดยด่วนที่เมืองทอเลเมอิสเพื่อปรึกษากับพระองค์

          23เมื่อโยนาธานรู้ข้อความในพระราชสาสน์แล้ว ก็สั่งให้ล้อมป้อมอาคราต่อไป เลือกผู้อาวุโสชาวอิสราเอลและสมณะบางคนเป็นเพื่อนร่วมทางไปเฝ้ากษัตริย์ แม้จะเสี่ยงอันตราย 24โยนาธานนำเงิน ทองคำ เสื้ออาภรณ์และเครื่องบรรณาการอื่นๆ จำนวนมากไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ที่เมืองทอเลเมอิส พระองค์ก็พอพระทัยเขา 25ชนชาติเดียวกันบางคนที่ทรยศต่อพระเจ้ากล่าวหาเขา 26แต่กษัตริย์ทรงปฏิบัติต่อเขาเหมือนที่บรรพบุรุษของพระองค์เคยปฏิบัติ และทรงยกย่องให้เกียรติเขาต่อหน้าพระสหายทั้งหลาย 27พระองค์ทรงรับรองตำแหน่งมหาสมณะและตำแหน่งอื่นๆ ที่โยนาธานเคยมี และทรงตั้งเขาให้เป็นผู้หนึ่งในจำนวนพระสหายสนิทของพระองค์

          28โยนาธานทูลขอให้กษัตริย์ทรงยกเลิกเก็บภาษีจากแคว้นยูเดีย จากสามจังหวัด และจากแคว้นสะมาเรีย โดยสัญญาว่าจะถวายเงินหนักสิบตันjแทน 29กษัตริย์ทรงยินยอม แล้วทรงมีพระราชสาสน์ไปถึงโยนาธานในเรื่องเหล่านี้มีความว่าk

          30“กษัตริย์เดเมตรีอัสขอส่งความสุขมายังโยนาธานน้องชาย และชนชาติยิวทั้งหลาย 31เราส่งสำเนาจดหมายที่เราเขียนเกี่ยวกับท่านไปถึงลัสเทเนสญาติของเรา เพื่อท่านจะได้รู้ข้อความนั้น

          32‘กษัตริย์เดเมตรีอัสขอส่งความสุขมายังลัสเทเนสพระบิดา 33ชนชาติยิวแสดงความปรารถนาดีต่อเรา เราจึงตกลงจะตอบแทนเขาซึ่งเป็นมิตรกับเรา และเคารพสิทธิของเขา 34เรารับรองว่าเขตแดนของแคว้นยูเดีย และเขตแดนสามจังหวัด คือ อาไฟเรมา ลิดดา และรามาธิมl เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา สามจังหวัดนี้และเมืองบริวารเคยขึ้นกับแคว้นสะมาเรียได้ถูกรวมเข้ากับแคว้นยูเดีย เพื่อสนับสนุนทุกคนที่ถวายเครื่องบูชาที่กรุงเยรูซาเล็ม ทั้งนี้เพื่อเราจะได้เก็บภาษีที่กษัตริย์องค์ก่อนๆ เคยเก็บจากเขาทุกปี โดยรับผลิตผลจากพื้นดินและต้นผลไม้ 35ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราสละสิทธิ์ที่จะเก็บภาษีอื่นๆ ที่เราควรได้ ได้แก่ ภาษีหนึ่งในสิบ เครื่องบรรณาการ ภาษีเกลือ และภาษีแก่กษัตริย์m 36ตั้งแต่นี้ไปจะไม่มีการยกเลิกข้อกำหนดเหล่านี้อีก 37ดังนั้น จงจัดให้เขียนสำเนาข้อกำหนดนี้ส่งให้โยนาธานนำไปติดไว้ในที่สาธารณะบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์’”

โยนาธานช่วยกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2

            38กษัตริย์เดเมตรีอัสทรงเห็นว่าแผ่นดินของพระองค์มีความร่มเย็น ไม่มีผู้ใดเป็นศัตรูกับพระองค์ จึงทรงเลิกกองทัพ ปล่อยให้ทหารแต่ละคนกลับบ้าน เหลือแต่ทหารต่างชาติที่จ้างมาจากเกาะnของชนชาติต่างๆ ดังนั้น กำลังพลที่เคยรับราชการกับบรรพบุรุษของพระองค์จึงกลับเป็นศัตรูกับพระองค์ 39ตรีโฟซึ่งเคยอยู่ฝ่ายกษัตริย์อเล็กซานเดอร์เห็นว่า กำลังพลทุกคนพูดแสดงความไม่พอใจต่อกษัตริย์เดเมตรีอัส จึงไปพบอิมัลคิวoชาวอาหรับ ผู้ดูแลอันทิโอคัสพระโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ 40ตรีโฟเฝ้ารบเร้าอิมัลคิวให้มอบอันทิโอคัสให้เขา เพื่อจะได้แต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์แทนพระบิดา ตรีโฟยังเล่าให้เขารู้เรื่องที่กษัตริย์เดเมตรีอัสทรงกระทำ และเล่าว่าพวกทหารเกลียดชังเดเมตรีอัสเพียงใด ตรีโฟอยู่ที่นั่นหลายวัน

          41โยนาธานส่งคนไปเฝ้ากษัตริย์เดเมตรีอัส ขอให้ถอนทหารออกจากป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม และจากป้อมปราการอื่นๆ เพราะทหารเหล่านี้ต่อสู้กับชาวอิสราเอลอยู่เสมอ 42เดเมตรีอัสทรงส่งสารตอบโยนาธานว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ปฏิบัติต่อท่านและต่อชนชาติของท่านเพียงเท่านี้ แต่ข้าพเจ้าจะยกย่องให้เกียรติท่านอย่างเต็มที่เมื่อมีโอกาส 43บัดนี้ ขอได้โปรดส่งทหารมาร่วมรบกับข้าพเจ้า เพราะกำลังพลทั้งหลายต่างละทิ้งข้าพเจ้า”

          44โยนาธานส่งทหารชำนาญศึกสามพันคนไปที่เมืองอันทิโอก เขาไปเฝ้ากษัตริย์ พระองค์ทรงยินดีที่เห็นกองทัพไปถึง 45ชาวเมืองอันทิโอกมาชุมนุมกันกลางเมืองเป็นจำนวนหนึ่งแสนสองหมื่นคน คิดจะปลงพระชนม์ 46แต่กษัตริย์เสด็จไปทรงหลบซ่อนอยู่ในพระราชวัง ขณะที่ชาวเมืองมาอยู่เต็มถนนและเริ่มโจมตี 47กษัตริย์รับสั่งให้ทหารชาวยิวช่วยพระองค์ ทุกคนเข้าห้อมล้อมพระองค์ไว้ทันที แล้วกระจายกันไปอยู่ทั่วเมือง วันนั้น ชาวยิวฆ่าชาวเมืองประมาณหนึ่งแสนคน 48แล้วจุดไฟเผาเมือง วันนั้นเขาได้สิ่งของเชลยจำนวนมาก และช่วยกษัตริย์ให้รอดชีวิต 49เมื่อชาวเมืองเห็นว่าชาวยิวยึดเมืองไว้ได้ตามใจตน ก็หมดกำลังใจ ร้องตะโกนอ้อนวอนกษัตริย์ว่า 50“โปรดทรงสงบศึกกับข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด โปรดให้ชาวยิวเลิกโจมตีข้าพเจ้าและเมืองของข้าพเจ้าเถิด”

          51เขาทั้งหลายวางอาวุธและยอมจำนน ชาวยิวได้รับเกียรติอย่างสูงจากกษัตริย์และจากทุกคนในราชอาณาจักร แล้วจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม มีของเชลยจำนวนมาก

          52กษัตริย์เดเมตรีอัสจึงได้ครองราชย์ต่อไป และแผ่นดินในปกครองของพระองค์ก็มีความสงบสุข 53แต่พระองค์ทรงละเมิดสัญญาทุกประการ ทรงเปลี่ยนท่าทีต่อโยนาธาน ไม่ทรงตอบแทนความปรารถนาดีที่โยนาธานเคยแสดงต่อพระองค์ กลับทำให้โยนาธานต้องเดือดร้อนอย่างมากp

โยนาธานเข้าข้างอันทิโอคัสที่ 6 ต่อต้านเดเมตรีอัสที่ 2

          54หลังจากนั้น ตรีโฟกลับมาพร้อมกับอันทิโอคัสq ซึ่งแม้ยังทรงพระเยาว์ ก็ยังทรงได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์และทรงรับสวมมงกุฎ 55กำลังพลทั้งหมดที่กษัตริย์เดเมตรีอัสทรงเลิกจ้าง มาสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์อันทิโอคัสและสู้รบกับกษัตริย์เดเมตรีอัสจนเดเมตรีอัสทรงพ่ายแพ้และหนีไป 56ตรีโฟยึดช้างและยึดเมืองอันทิโอกได้ 57แล้วยุวกษัตริย์อันทิโอคัสก็มีพระราชสาสน์ไปถึงโยนาธาน ความว่า “ข้าพเจ้ารับรองตำแหน่งมหาสมณะของท่าน แต่งตั้งให้ท่านปกครองสี่จังหวัดr และนับว่าท่านเป็นพระสหายคนหนึ่งของกษัตริย์”

          58พระองค์ยังประทานถ้วยทองคำ และชุดรับประทานอาหารทำด้วยทองคำชุดหนึ่งแก่เขา ประทานสิทธิให้ดื่มจากถ้วยทองคำ สวมเสื้อคลุมสีม่วงแดง กลัดเข็มกลัดทองคำsได้ 59พระองค์ยังทรงแต่งตั้งซีโมนพี่ชายของโยนาธานเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพ ในเขตแดนตั้งแต่ลาดเขาของเมืองไทระจนถึงชายแดนอียิปต์

          60โยนาธานเดินทางไปทั่วแคว้นฟากตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรติสและเมืองต่างๆ กำลังพลทั้งหมดของซีเรียมารวมพลังเป็นพันธมิตรกับเขา เมื่อโยนาธานมาถึงเมืองอัชเคโลน ชาวเมืองต้อนรับเขาอย่างยิ่งใหญ่ 61แต่เมื่อเขาเดินทางจากที่นั่นไปถึงเมืองกาซาt ชาวเมืองกาซาปิดประตูเมืองไม่ต้อนรับเขา เขาจึงล้อมเมืองไว้ เผาและปล้นเมืองบริวาร 62ชาวเมืองกาซาจึงร้องขอความกรุณา โยนาธานยอมสงบศึกกับเขา นำบุตรชายของบรรดาหัวหน้าเป็นตัวประกันไปกรุงเยรูซาเล็ม ต่อจากนั้นเขาเดินทางไปทั่วเขตแดนจนถึงเมืองดามัสกัส

          63โยนาธานได้ยินว่าบรรดาแม่ทัพของกษัตริย์เดเมตรีอัสยกทัพใหญ่มาอยู่ใกล้เมืองคาเดชu ในแคว้นกาลิลี เพื่อปลดเขาออกจากตำแหน่ง 64เขาจึงยกทัพไปเผชิญหน้า ทิ้งซีโมนพี่ชายไว้ในเขตแดน 65ซีโมนตั้งค่ายใกล้เมืองเบธซูร์ เข้าโจมตีเมืองอยู่เป็นเวลาหลายวัน และปิดล้อมชาวเมืองไว้ 66เมื่อชาวเมืองขอสงบศึก ซีโมนก็ยอม แต่ขับไล่ชาวเมืองออกจากเมือง ยึดเมืองไว้และตั้งกองทหารไว้ที่นั่นv

          67ในระหว่างนั้น โยนาธานยกกองทัพมาตั้งค่ายอยู่ใกล้ทะเลสาบเยนเนซาเรท 68และขึ้นไปถึงที่ราบเมืองฮาโซร์wตั้งแต่เช้าตรู่ 68เขาเห็นกองทัพของชนต่างชาติอยู่เบื้องหน้าเขาในที่ราบ กองทัพนี้เข้าโจมตีเขาในที่โล่ง ก่อนหน้านี้ข้าศึกซุ่มโจมตีอยู่บนภูเขา 69แล้วกรูกันออกจากที่ซ่อนมาสมทบในการรบ 70ทหารทุกคนของโยนาธานหนีไป เหลือแต่ผู้บัญชาการกองทัพสองคน คือมัทธาธิอัสบุตรของอับซาโลม และยูดาสบุตรของคัลฟี 71โยนาธานฉีกเสื้อผ้าด้วยความผิดหวัง โปรยฝุ่นดินบนศีรษะ และอธิษฐานภาวนา 72แล้วจึงกลับไปต่อสู้อีก จนข้าศึกพ่ายแพ้และหนีไป 73ทหารของโยนาธานที่กำลังหนี เมื่อเห็นดังนี้ก็กลับมารวมกำลังกับโยนาธาน ช่วยไล่ตามข้าศึกไปจนถึงค่ายของเขาที่เมืองคาเดช แล้วตั้งค่ายอยู่ที่นั่น 74ทหารต่างชาติเสียชีวิตในวันนั้นประมาณสามพันคน แล้วโยนาธานก็กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม

11 a “กษัตริย์โทเลมี” แปลตามสำเนาโบราณบางฉบับ และสำนวนแปลภาษาละติน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ของเมืองทอเลเมอิส”

b โยนาธานตามเสด็จกษัตริย์โทเลมีเพื่อจะเป็นที่โปรดปรานแด่กษัตริย์ และเพื่อแสดงให้ชาวยิวและชนต่างชาติเห็นว่าตนเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์โทเลมี * แม่น้ำเอลูเทรัสอยู่ทางเหนือของเมืองตรีโปลี

c “เซลูเคีย” เป็นท่าเรือของเมืองอันทิโอกแห่งซีเรีย

d “ขณะนี้เป็น” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “เคยเป็น” เราไม่รู้แน่ว่าขณะนั้นกษัตริย์โทเลมีทรงเรียกพระธิดาคืนจากกษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัสแล้วหรือยัง โยเซฟุสคิดว่าทรงเรียกกลับมาแล้ว

e โยเซฟุสเล่าว่ากษัตริย์อเล็กซานเดอร์ทรงพยายามปลงพระชนม์กษัตริย์โทเลมี แต่นักประวัติศาสตร์ดีโอโดรัสและผู้เขียน 1 มคบ ซึ่งรู้เรื่องราวอย่างดีไม่คิดเช่นนั้น

f ดีโอโดรัสนักประวัติศาสตร์โบราณกล่าวว่า ตรีโฟซึ่งมาเข้ากับกษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัส และปกครองเมืองอันทิโอกแทนพระองค์ ยอมรับโทเลมีเป็นกษัตริย์แห่งอาเซียด้วย แต่กษัตริย์โทเลมีทรงยอมปกครองเพียงแคว้นซีเรียใต้ ซึ่งทรงคิดว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของพระนางเคลโอพัตราที่ 1 พระมารดา และทรงสละแคว้นอาเซียให้เดเมตรีอัสที่ 2 ปกครอง

g การรบครั้งนี้เกิดขึ้นในที่ราบใกล้เมืองอันทิโอกแห่งซีเรีย ราวปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน ปี 145 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์โทเลมีที่ 6 ทรงรับบาดแผลฉกรรจ์และสิ้นพระชนม์ 4 วันต่อมา

h “ศับดีเอลชาวอาหรับ” ดีโอโดรัสเรียกเขาว่า “ดีโอเคลส” คงเป็นชื่อภาษากรีกของเขา และอธิบายว่ากษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัสทรงฝากอันทิโอคัส (ที่ 6) พระโอรสไว้กับเขา (ดูข้อ 39)

i การที่โยนาธานยกกำลังไปโจมตีป้อมปราการอาคราที่กรุงเยรูซาเล็มแสดงว่ากษัตริย์เดเมตรีอัสไม่ได้ทรงปฏิบัติตามคำสัญญาที่ทรงให้ไว้ใน 10:32

j “เงินหนักสิบตัน” แปลตามตัวอักษรว่า “หนัก 300 ตะลันต์” เท่ากับบรรณาการที่มหาสมณะต้องจ่ายแก่กษัตริย์เป็นประจำทุกปี (ดู 2 มคบ 4:8) โยนาธานขอให้กษัตริย์ทรงยกเว้นภาษีที่ดิน ยอมจ่ายบรรณาการแก่กษัตริย์โดยตรงตามที่เคยปฏิบัติกับกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 1 พระบิดา (ดู 10:30 เชิงอรรถ f) ดูเหมือนว่ากษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 ทรงยอมตกลงเช่นนี้ แต่ยกเว้นใน 3 จังหวัดที่ยังคงต้องจ่ายภาษีเต็มอัตรา (ดูข้อ 34 ฯลฯ)

k เนื้อหาของกฎบัตรนี้ส่วนหนึ่งเหมือนกับข้อเสนอของกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 1 ที่โยนาธานไม่ยอมรับ การที่กษัตริย์ทรงเรียกโยนาธานว่า “น้องชาย” (ข้อ 30) แสดงว่ากษัตริย์ประทานตำแหน่ง “พระประยูรญาติ” ซึ่งสูงกว่าตำแหน่ง “พระสหายสนิท” (ข้อ 27) ให้โยนาธานด้วย ตำแหน่ง “พระสหายสนิท” นี้ โยนาธานได้รับจากษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัสแล้ว (10:89) * ลัสเทเนสเป็นชาวเกาะครีต ได้รับตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงจากกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2

l สามจังหวัดนี้ (ดู 10:30, 38; 11:28) เป็นเขตแดนของเมืองอาไฟเรมา ซึ่งยังมีชื่ออีกว่า “โอฟรา” (ยชว 18:23) และ “เอฟราอิม” (2 ซมอ 13:23) ตั้งอยู่ราว 20 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม เมืองลิดดาตั้งอยู่ราว 20 กิโลเมตรทางตะวันออกของเมืองยัฟฟา (1 พศด 8:11) ส่วนเมืองรามาธิมคือเมือง “รามาห์” (1 ซมอ 1:1,19) หรือเมือง “อะริมาเธีย” ใน มธ 27:37 ราว 35 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม

m บรรณาการเงินหนัก 300 ตะลันต์ไม่ได้รับการยกเว้น (ข้อ 28) กฎบัตรของกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 จึงเรียกร้องมากกว่ากฎบัตรของพระบิดา เช่นไม่กล่าวถึงการคืนป้อมอาครา หรือการจัดรายได้สำหรับศาสนพิธีในพระวิหาร

n การส่งทหารประจำการกลับบ้านเป็นการกระทำเพื่อตัดรายจ่าย กษัตริย์เดเมตรีอัสคงยังจ้างทหารต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเกาะครีตตามคำแนะนำของลัสเทเนส

o “อิมัลคิว” คงจะเป็นบุตรของศับดีเอลชาวอาหรับ (ข้อ 17) เจ้านายอาหรับผู้นี้คงพำนักอยู่ที่เมืองคัลซีส ทางทิศใต้ของเมืองอาเลปโปในซีเรีย อันทิโอคัสที่ 6 จะทรงรับสวมมงกุฎที่เมืองนี้ (ข้อ 54)

p โยเซฟุสบันทึกว่ากษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 ทรงย้ำให้โยนาธานถวายบรรณาการที่ทำมาแต่ก่อน แต่การถวายบรรณาการนี้เป็นเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามกฎบัตรอยู่แล้ว (ข้อ 28, 35) เราไม่รู้ว่าเหตุผลที่ต้องย้ำเช่นนี้คืออะไร

q หมายถึงกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 6 “ดีโอนีโซส” ซึ่งครองราชย์ในปี 144-142 ก่อน ค.ศ.

r จังหวัดที่สี่นี้คงจะเป็นเขตแดนเมืองอาคราบัทตา (ดู 5:3)

s กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 6 ทรงรื้อฟื้นอภิสิทธิ์ที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัสพระบิดาเคยประทานแก่โยนาธานแล้ว (ดู 10:89) กษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 คู่แข่งก็ประทานอภิสิทธิ์เหล่านี้ให้เขาด้วย กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 6 ยังทรงแต่งตั้งโยนาธานให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของแคว้นซีเรียใต้ (ข้อ 60) และทรงแต่งตั้งซีโมนพี่ชายเป็นผู้บังคับบัญชาทหารในบริเวณชายฝั่งทะเลด้วย (ข้อ 59) เกียรติยศที่กษัตริย์ซีเรียประทานแก่ตระกูลฮัสโมเนียนเช่นนี้แสดงว่าว่าตระกูลนี้มีอำนาจปกครองที่ประชาชนยอมรับ

t “เมืองกาซา” เป็นเมืองใต้สุดของชาวฟีลิสเตียทั้ง 5 เมือง (1 ซมอ 6:7) เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมกรีกที่เป็นอริกับชาวยิว ในภายหลังกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ยันเนอัสจะทรงยึดเมืองนี้ได้ในปี 100 ก่อน ค.ศ. ได้ปล้นฆ่าชาวเมือง หลังจากล้อมเมืองอยู่ 1 ปี

u “เมืองคาเดช” แห่งนี้อยู่ในเขตแดนของเผ่านัฟทาลี (ยชว 12:22) อยู่ราว 35 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองไทระ กองทัพซีเรียคงยกพลขึ้นบกที่เมืองไทระนี้

v โยนาธานในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของแคว้นซีเรียใต้มีอำนาจควบคุมกองทหารของกษัตริย์ที่อยู่ในป้อมทุกแห่ง ซีโมนคงได้รับอำนาจจากโยนาธานให้สับเปลี่ยนกองทหารในป้อมที่เมืองเบธซูร์

w เมืองฮาโซร์เคยเป็นเมืองสำคัญของชาวคานาอันในสมัยโบราณ (ยชว 11:10) แต่ในขณะนั้นเป็นเพียงป้อมปราการสำคัญ ตั้งอยู่ราว 10 กิโลเมตรทางเหนือของทะเลสาบกาลิลี

โยนาธานรื้อฟื้นสัญญากับชาวโรมัน และทำสัญญากับชาวสปาร์ตา

                12 1เมื่อโยนาธานเห็นว่าโอกาสอำนวย ก็เลือกบางคนส่งไปกรุงโรม เพื่อรับรองและรื้อฟื้นมิตรภาพกับชาวโรมันa 2เขายังส่งจดหมายไปถึงชาวสปาร์ตาและเมืองอื่นๆ ในเรื่องเดียวกันด้วย

3เมื่อคณะทูตไปถึงกรุงโรมแล้ว ก็เข้าไปในวุฒิสภา กล่าวว่า “โยนาธานมหาสมณะและชนชาติยิวส่งพวกเรามารื้อฟื้นมิตรภาพและสัญญาระหว่างท่านกับเรา ดังที่เคยมีแต่ก่อน” 4วุฒิสภาให้จดหมายรับรองเขาถึงผู้มีอำนาจปกครองในที่ต่างๆ ขอร้องให้ช่วยดูแลคณะทูตให้เดินทางกลับแผ่นดินยูดาห์อย่างปลอดภัย

5นี่เป็นข้อความในจดหมายที่โยนาธานเขียนไปถึงชาวสปาร์ตา

6“โยนาธานมหาสมณะ สภาผู้อาวุโสของชาติ บรรดาสมณะ และประชาชนชาวยิวทุกคน ขอส่งความสุขมายังพี่น้องชาวสปาร์ตา 7ในอดีต กษัตริย์อารีอัสbผู้ปกครองท่านทั้งหลายได้ส่งจดหมายไปถึงโอนีอัสมหาสมณะ บอกว่าท่านเป็นพี่น้องของเรา ดังที่ปรากฏในสำเนาเอกสารที่แนบมาด้วยนี้ 8โอนีอัสได้ต้อนรับทูตอย่างมีเกียรติ และรับจดหมายที่อ้างถึงสัญญาและความเป็นมิตรอย่างชัดเจนไว้ 9แม้สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นสำหรับเรา เพราะเรามีหนังสือศักดิ์สิทธิ์cที่ให้กำลังใจแก่เราอยู่ในมือ 10เราก็พยายามส่งทูตมาถึงท่านเพื่อรื้อฟื้นความเป็นพี่น้องและมิตรภาพระหว่างเรากับท่าน ให้เห็นว่าเรามิใช่คนอื่นไกลสำหรับท่าน เพราะเวลาล่วงเลยมานานแล้วตั้งแต่ท่านส่งทูตมาหาเรา 11เราระลึกถึงท่านอยู่เสมอในวันฉลองและวันอื่นๆ ที่กำหนด เมื่อถวายเครื่องบูชาและอธิษฐานภาวนา ดังที่เป็นการเหมาะสมและถูกต้องที่พี่น้องจะระลึกถึงกัน 12เราชื่นชมที่ท่านมีชื่อเสียง 13แต่พวกเรามีความทุกข์และสงครามรุมล้อมเรา กษัตริย์ที่อยู่โดยรอบก็โจมตีเรา 14แต่ในการสู้รบเหล่านี้ พวกเราไม่อยากรบกวนท่านหรือพันธมิตรอื่นๆ ของเรา รวมทั้งมิตรสหายของเราด้วย 15ความช่วยเหลือของพวกเรามาจากสวรรค์ พวกเราจึงพ้นจากศัตรู ขณะที่ศัตรูต้องพ่ายแพ้ 16เราจึงเลือกนูเมนีอัสบุตรของอันทิโอคัส และอันทีพาเทอร์บุตรของยาโสน ให้ไปกรุงโรมเพื่อรื้อฟื้นมิตรภาพและสัญญาที่เราเคยมีต่อกัน 17เรายังกำชับให้เขามาเยี่ยมท่านเพื่อทักทายท่าน และมอบจดหมายกระชับความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างเรากับท่าน 18ดังนั้น จะเป็นการดีถ้าท่านจะตอบเราในเรื่องนี้”

19ต่อไปนี้เป็นสำเนาของจดหมายที่โอนีอัสเคยได้รับ

20“อารีอัสdกษัตริย์ของชาวสปาร์ตา ขอส่งความสุขมาถึงโอนีอัสมหาสมณะ 21เราได้พบเอกสารที่กล่าวว่าชาวสปาร์ตากับชาวยิวเป็นพี่น้องกัน ทั้งสองชาติสืบเชื้อสายมาจากอับราฮัมe 22เมื่อเรารู้เช่นนี้ ก็ขอให้ท่านเขียนมาบอกเราว่าท่านมีความสุขดี 23ส่วนเรา เราตอบท่านว่าฝูงสัตว์และสิ่งของของท่านเป็นของเรา ฝูงสัตว์และสิ่งของของเราก็เป็นของท่านด้วยf เราจึงจัดคณะทูตให้มาแจ้งเรื่องนี้ให้ท่านทราบ”

โยนาธานและซีโมนต้องทำสงครามอีก

            24โยนาธานรู้ว่าแม่ทัพของกษัตริย์เดเมตรีอัสยกทัพกลับมาโจมตีตน โดยมีกำลังมากกว่าแต่ก่อน 25เขาจึงออกจากกรุงเยรูซาเล็มไปเผชิญหน้าในเขตแดนคามัท ไม่ให้โอกาสพวกนี้เข้ามาสู่ดินแดนของตน 26สายลับที่เขาส่งเข้าไปสืบในค่ายศัตรูกลับมารายงานว่า ศัตรูเตรียมเข้าโจมตีชาวยิวในคืนนั้น 27เมื่อดวงอาทิตย์ตก โยนาธานจึงสั่งทหารของตนให้เฝ้าระวัง เตรียมอาวุธพร้อมที่จะต่อสู้ตลอดคืน ทั้งยังจัดทหารยามไว้รอบค่าย 28เมื่อศัตรูรู้ว่าโยนาธานและทหารเตรียมพร้อม ก็ตกใจกลัว หมดกำลังใจ จุดไฟไว้ในค่ายของตนและหนีไปg 29โยนาธานและทหารของตนเห็นแสงไฟ แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจนรุ่งเช้า 30โยนาธานจึงไล่ตามไปแต่ไม่ทัน เพราะศัตรูข้ามแม่น้ำเอลูเทรัสhไปแล้ว 31โยนาธานจึงเปลี่ยนทิศทางมาโจมตีชาวอาหรับกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “ชาวศาบาเดียน”i จนได้ชัยชนะแล้วยึดของเชลย 32ต่อมาจึงรื้อค่าย แล้วเดินทัพไปถึงเมืองดามัสกัส ผ่านทั่วดินแดนนั้น

          33ซีโมนก็ยกทัพด้วย ออกเดินทางไปถึงเมืองอัชเคโลนและป้อมปราการใกล้ๆ แล้วเปลี่ยนทิศทางไปยึดเมืองยัฟฟา 34เพราะได้ยินข่าวว่าชาวเมืองจะยกป้อมปราการให้แก่ผู้ที่สนับสนุนกษัตริย์เดเมตรีอัส เขายังจัดกองทหารไว้ที่นั่นเพื่อเฝ้าเมืองj

         

โยนาธานเสริมกำลังกรุงเยรูซาเล็ม

35เมื่อโยนาธานกลับมาแล้ว เขาเรียกประชุมบรรดาผู้อาวุโสของประชากร ตกลงกันจะสร้างป้อมปราการในแคว้นยูเดีย 36เสริมกำแพงกรุงเยรูซาเล็มให้สูงขึ้น และจะสร้างเครื่องกีดขวางสูงไว้ระหว่างปัอมอาคราkกับเมือง จะได้แยกป้อมออกจากตัวเมือง พวกทหารจะได้ไม่มาค้าขายกับชาวเมือง 37ทุกคนช่วยกันบูรณะเมือง เพราะกำแพงทางด้านตะวันออกเหนือหุบเขาพังลงมา ย่านที่เรียกว่า “คาเฟนาธา”l ก็ได้รับการซ่อมแซมด้วย 38ส่วนซีโมนก็บูรณะเมืองอะดิดาmในลาดเขาเชเฟลาห์ สร้างป้อมปราการและประตูใหญ่ใส่ดาล

โยนาธานถูกจับเป็นเชลย

            39ตรีโฟพยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งอาเซีย เขาพยายามแย่งมงกุฎและกำจัดกษัตริย์อันทิโอคัส 40แต่ก็เกรงว่าโยนาธานจะไม่ยอมให้เขาทำเช่นนั้น และจะกลับมาสู้รบอีก เขาจึงออกเดินทางไปถึงเมืองเบธชานเพื่อหาทางจับโยนาธานฆ่า 41โยนาธานและทหารชำนาญศึกสี่หมื่นคนเดินทัพไปพบเขาที่เมืองเบธชาน 42เมื่อตรีโฟเห็นว่าโยนาธานยกทัพใหญ่มาก็ไม่กล้าทำรุนแรง 43เขากลับต้อนรับโยนาธานอย่างมีเกียรติ แนะนำให้รู้จักกับบรรดามิตรสหายและกำลังพล และให้ของขวัญแก่โยนาธาน เขาสั่งมิตรสหายและกำลังพลให้เชื่อฟังโยนาธานเหมือนที่เชื่อฟังตน 44เขาพูดกับโยนาธานว่า “ทำไมท่านจึงรบกวนผู้คนเหล่านี้ให้ต้องลำบากด้วย ในเมื่อเราไม่ได้สู้รบกันเลย 45จงปล่อยทหารกลับบ้าน เลือกทหารไว้เพียงบางคนที่จะพาท่านและข้าพเจ้าไปยังเมืองทอเลเมอิสเถิด ข้าพเจ้าจะให้เมืองนี้ ป้อมปราการอื่นๆ กำลังพลที่เหลือ และข้าราชการnทั้งหมดแก่ท่าน แล้วข้าพเจ้าก็จะเดินทางกลับ ข้าพเจ้ามาที่นี่ก็เพราะเหตุนี้แหละ”

          46โยนาธานเชื่อและทำตามที่ตรีโฟแนะนำ ปล่อยให้กำลังพลกลับไปแผ่นดินยูดาห์ 47เขาเหลือทหารไว้กับตนเพียงสามพันคน ในจำนวนนี้ เขาให้ทหารสองพันคนอยู่ในแคว้นกาลิลี ส่วนอีกหนึ่งพันคนไปกับตน 48เมื่อโยนาธานเข้าเมืองทอเลเมอิส ชาวเมืองก็ปิดประตู แล้วจับตัวเขาไว้ ใช้ดาบฟันทหารที่มากับเขาตายทั้งหมด

          49ตรีโฟส่งทหารราบกับทหารม้าไปยังแคว้นกาลิลีและที่ราบกว้างใหญ่ เพื่อทำลายทหารของโยนาธานทั้งหมด 50เมื่อทหารของโยนาธานรู้ว่าเขาถูกจับเป็นเชลย และคิดว่าเขาถูกฆ่าพร้อมกับทหารที่ไปด้วย ก็ให้กำลังใจกัน เดินหน้าไปเป็นขบวนพร้อมที่จะต่อสู้ 51เมื่อผู้ที่ไล่ตามเห็นว่าคนเหล่านี้เตรียมต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดก็หันกลับ 52ดังนั้น ทหารทั้งหมดของโยนาธานก็กลับไปยังแผ่นดินยูดาห์อย่างปลอดภัย ไว้ทุกข์ให้โยนาธานและพวกทหารที่อยู่กับเขา และหวาดกลัวอย่างยิ่ง ชาวอิสราเอลทั้งหลายร่วมไว้ทุกข์ให้เขาอย่างมาก

          53ชนชาติทั้งหลายที่อยู่โดยรอบพยายามจะทำลายล้างชาวอิสราเอล พูดว่า “บัดนี้ ชาวอิสราเอลไม่มีหัวหน้าที่จะช่วยเขาแล้ว เราจงทำสงครามกับเขา ลบล้างเขาให้สูญไปจากความทรงจำของคนทั้งหลายเถิด”

12 a การที่ต้องรื้อฟื้นสนธิสัญญากันบ่อยๆ เป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น แสดงว่าสถานภาพทางการเมืองไม่มีความมั่นคง (ดู 14:18, 22) สำหรับข้อความของสนธิสัญญา ดู 8:22 ฯลฯ

b “อารีอัส” ผู้นี้น่าจะเป็นอารีอัสที่ 1 (309-265 ก่อน ค.ศ.) ซึ่งเขียนจดหมายถึงมหาสมณะโอนีอัสที่ 1 ที่ต้อนรับกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชเข้าในพระวิหาร และเป็นบรรพบุรุษของมหาสมณะโอนีอัสที่ 3 * แต่โยเซฟุสคิดว่าจดหมายมาถึงมหาสมณะโอนีอัสที่ 3 ซึ่งถึงแก่กรรมในปี 174 ก่อน ค.ศ.

c “หนังสือศักดิ์สิทธิ์” หมายถึงหนังสือที่ชาวยิวคิดว่าพระเจ้าทรงดลใจให้เขียนขึ้น ซึ่งมีมากกว่า “ธรรมบัญญัติ” (3:48) หรือ “หนังสือศักดิ์สิทธิ์” ตาม 2 มคบ 8:23 ในสมัยนั้นยังไม่มีการกำหนด “สารบบ” ของหนังสือศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ แต่เริ่มมีการรวบรวมหนังสือศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ไว้เป็นพิเศษ เช่นมีการอ้างถึงเพลงสดุดีที่ 79 ว่าเป็น “พระคัมภีร์” (7:17) ต่อมาอีกไม่นาน อารัมภบทของหนังสือบุตรสิราจะแยกหนังสือพระคัมภีร์เป็น “ธรรมบัญญัติ” “ประกาศก” และ “หนังสืออื่นๆ” (ดู 2 มคบ 2:13) การแบ่งเช่นนี้ยังคงใช้อยู่ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูจนทุกวันนี้ (ดู รม 1:2; 2 ทธ 3:15 เชิงอรรถ d)

d “อารีอัส” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “อาเรส”

e เรื่องนี้ชาวยิวคงแต่งขึ้นเพื่อชนะใจชาวสปาร์ตาให้เป็นพันธมิตรด้วย ชาวสปาร์ตาดูเหมือนจะยอมรับเรื่องนี้ เพราะยาโสนเองก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีเมื่อหนีไปพึ่ง (ดู 2 มคบ 5:9)

f สำนวนแสดงมิตรภาพเช่นนี้พบได้บ่อยๆ เช่น 1 พกษ 20:3-4; 2 พกษ 3:7 แต่การอ้างถึง “ฝูงสัตว์” ที่นี่ออกจะแปลกสักหน่อย

g “และหนีไป” แปลตามสำเนาโบราณภาษากรีกบางฉบับ ไม่มีในต้นฉบับภาษากรีกและละติน

h “แม่น้ำเอลูเทรัส” ในสมัยนี้ชื่อ Nahr-el-Kebir เป็นเขตแดนระหว่างเลบานอนกับซีเรีย(เหนือ) อำนาจปกครองของโยนาธาน (เหนือแคว้นซีเรียใต้) จึงสิ้นสุดลงที่นี่

i “ชาวศาบาเดียน” เป็นชนเผ่าอาหรับที่อาศัยตามเชิงเทือกเขาเลบานอน (Anti-Lebanon) ในสมัยนี้ยังมีหมู่บ้านชื่อ “เศบดานี” ตั้งอยู่ 46 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงดามัสกัส

j ซีโมนในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 6 ให้เป็นแม่ทัพ (ดู 11:59) จึงยึดเมืองยัฟฟาที่ไปฝักใฝ่กับกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 แต่ผู้แต่ง 1 มคบ ยกย่องเขาที่ได้ยึดเมืองนี้มาให้ชาวยิว (14:5)

k ป้อมอาคราในขณะนั้นยังอยู่ในอำนาจของทหารรับจ้างของกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 (11:20) ซึ่งเข้าออกกรุงเยรูซาเล็มได้โดยสะดวก

l “คาเฟนาธา” (ภาษาอาราเมอิกว่า “คาเฟลตา”) แปลว่า “ซ้ำ” หมายถึงเขตเมืองที่ขยายออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของพระวิหาร (ดู 2 พกษ 22:14) * “หุบเขา” นี้หมายถึงร่องน้ำของห้วยขิดโรน

m “อะดิดา” คือเมืองฮาดิด ใน อสร 2:33 ตั้งอยู่ 6 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองลิดดา ดูเหมือนว่าซีโมนตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่นี่ (1 มคบ 13:13)

n ตรีโฟยอมรับหรือ “แสร้ง” ยอมรับว่าโยนาธานเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของแคว้นซีเรียใต้และเฟนีเซีย

V. ซีโมนเป็นมหาสมณะและผู้ปกครองชาวยิว (143-134 ก่อน ค.ศ.)

 

ซีโมนรับตำแหน่งแทนโยนาธาน

                13 1ซีโมนได้ยินว่าตรีโฟรวบรวมกำลังพลจำนวนมากเพื่อไปรุกรานและทำลายแผ่นดินยูดาห์ 2เมื่อเขาเห็นว่าประชากรตกใจกลัวจนตัวสั่น เขาก็ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม เรียกประชุมประชากร 3ให้กำลังใจเขาเหล่านั้นดังนี้

“ท่านทั้งหลายรู้ว่าข้าพเจ้ากับพี่น้องและวงศ์ตระกูลได้ทำสิ่งใดเพื่อธรรมบัญญัติและพระวิหาร เราได้ผ่านสงครามและประสบความยากลำบากมามากเพียงใด 4เพื่อเห็นแก่การนี้ และเห็นแก่อิสราเอล พี่น้องทุกคนของข้าพเจ้าต้องสิ้นชีวิตa เหลือข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว 5บัดนี้ ข้าพเจ้าสาบานว่าจะไม่มีวันที่ข้าพเจ้าจะหนีเอาตัวรอดในยามยากลำบาก เพราะข้าพเจ้าไม่มีค่ามากกว่าพี่น้อง 6ข้าพเจ้าจะปกป้องชนชาติของข้าพเจ้าและพระวิหาร รวมทั้งบุตรภรรยาของท่าน เพราะบรรดาชนต่างชาติเกลียดชังเรา รวมกำลังเพื่อจะทำลายพวกเรา”

7เมื่อประชากรได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ ก็มีกำลังใจขึ้น 8ร้องตอบเสียงดังว่า “ท่านเป็นผู้นำพวกเราแทนยูดาสและโยนาธานน้องชายของท่าน 9จงนำพวกเราออกสู้รบเถิด เราจะทำทุกสิ่งตามที่ท่านสั่ง”b

10ซีโมนจึงระดมกำลังชายฉกรรจ์ทุกคนที่จับอาวุธได้ รีบบูรณะกำแพงกรุงเยรูซาเล็มให้เสร็จ และเสริมกำลังโดยรอบ 11เขาส่งโยนาธานบุตรชายของอับซาโลม ไปเมืองยัฟฟาพร้อมกับกำลังพลจำนวนมาก โยนาธานขับไล่ผู้ที่อยู่ในเมืองนั้นออกไป แล้วหยุดพักอยู่ที่นั่นc

ซีโมนขับไล่ตรีโฟออกจากแคว้นยูเดีย

            12ตรีโฟเคลื่อนกำลังพลจำนวนมากจากเมืองทอเลเมอิสมาในแผ่นดินยูดาห์ เขาพาโยนาธานเป็นเชลยมาด้วย 13ซีโมนตั้งค่ายที่เมืองอะดิดาต่อหน้าที่ราบ 14เมื่อตรีโฟรู้ว่าซีโมนได้รับตำแหน่งแทนโยนาธานน้องชาย และมีเจตนาจะสู้รบ เขาก็ส่งคณะทูตไปเจรจาว่าดังนี้

          15“เรากักตัวโยนาธานน้องชายของท่านไว้ เพราะเขาเป็นหนี้ท้องพระคลังในการปฏิบัติหน้าที่ของเขา 16บัดนี้ ท่านจงส่งเงินหนักสามตัน และส่งบุตรชายสองคนของโยนาธานมาเป็นตัวประกัน เพื่อรับรองว่าเมื่อเป็นอิสระแล้ว เขาจะไม่เป็นกบฏต่อเรา แล้วเราจะปล่อยเขาเป็นอิสระ”

          17ซีโมนรู้ว่าคนเหล่านี้พูดหลอกลวง เขาจึงสั่งคนไปนำเงินและบุตรชายของโยนาธานมาให้ เพื่อมิให้ประชากรกลับเป็นศัตรูของตน 18และพูดว่า โยนาธานถูกฆ่าเพราะซีโมนไม่ส่งเด็กและเงินไปให้ตรีโฟ 19เขาจึงส่งบุตรชายของโยนาธานกับเงินหนักสามตันไปให้ แต่ตรีโฟผิดสัญญา ไม่ยอมปล่อยตัวโยนาธาน 20หลังจากนั้น ตรีโฟเข้ารุกรานและทำลายเขตแดน โดยอ้อมไปตามทางที่ไปสู่เมืองอโดราd แต่ซีโมนนำกองทัพไปดักตรีโฟไม่ว่าเขาจะไปทางใด 21ทหารที่อยู่ในป้อมอาคราส่งผู้นำสารไปพบตรีโฟ ขอร้องให้เดินทัพผ่านถิ่นทุรกันดารมาช่วยเหลือตน และส่งเสบียงมาให้ 22ตรีโฟจึงเตรียมกองทหารม้าไว้พร้อมที่จะออกเดินทาง แต่คืนนั้นหิมะตกหนัก เพราะหิมะ เขาจึงไปไม่ได้ แต่ยกทัพไปยังแคว้นกิเลอาด 23เมื่อมาถึงเมืองบัสกามาe เขาก็ฆ่าโยนาธานและฝังศพไว้ที่นั่น 24แล้วตรีโฟก็กลับไปยังแผ่นดินของตน

ซีโมนฝังศพโยนาธานที่เมืองโมดีน

            25ซีโมนให้คนไปรับกระดูกของโยนาธานน้องชายนำมาฝังไว้ที่โมดีน เมืองของบรรพบุรุษ 26ชาวอิสราเอลทั้งหลายร่ำไห้ไว้ทุกข์อย่างมากให้เขาหลายวัน 27ซีโมนสร้างอนุสาวรีย์บนหลุมฝังศพของบิดาและพี่น้อง ทำด้วยหินขัดมันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ให้สูงมองเห็นได้แต่ไกล 28เขายังตั้งพีระมิดขึ้นเจ็ดพีระมิดfเรียงกัน ให้บิดามารดาและพี่น้องทั้งสี่คน 29รอบพีระมิดเหล่านี้เขาสร้างเสาใหญ่ชุดหนึ่ง มีรูปอาวุธครบชุดสลักอยู่บนนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ตลอดไป ถัดจากเครื่องอาวุธ เขาให้สลักรูปเรือใหญ่จนผู้ที่แล่นเรืออยู่ในทะเลมองเห็นได้ 30อนุสาวรีย์ที่ซีโมนสร้างที่เมืองโมดีน ยังคงอยู่ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้

กษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 โปรดปรานซีโมน

            31ตรีโฟทรยศและปลงพระชนม์gยุวกษัตริย์อันทิโอคัส 32แล้วขึ้นครองราชย์แทน และสวมมงกุฎแห่งอาเซีย ทำให้เกิดหายนะมากมายในแผ่นดิน 33ซีโมนสร้างป้อมปราการในแคว้นยูเดีย สร้างหอสูงใหญ่ สร้างกำแพงแน่นหนาโดยรอบ มีประตูใหญ่ใส่ดาล และเก็บเสบียงอาหารไว้ในป้อมเหล่านี้ 34ซีโมนยังเลือกคนบางคน ส่งไปเฝ้ากษัตริย์เดเมตรีอัส ขอให้ทรงยกเว้นภาษีแก่เขตปกครองของตน เพราะสิ่งที่ตรีโฟทำมีแต่การปล้นh 35กษัตริย์เดเมตรีอัสทรงรับข้อเสนอและทรงส่งพระราชสาสน์ตอบว่าดังนี้

          36“กษัตริย์เดเมตรีอัสขอส่งความสุขมายังซีโมนมหาสมณะและพระสหาย และมายังบรรดาผู้อาวุโสและชนชาติยิว 37เราได้รับมงกุฎทองคำและกิ่งปาล์มที่ท่านส่งมาให้เราแล้ว เราพร้อมจะทำสัญญาสันติภาพกับท่าน และจะเขียนจดหมายไปแจ้งให้บรรดาข้าราชการรู้ว่า ท่านได้รับการยกเว้นภาษี 38สิ่งที่เราเคยกำหนดไว้เกี่ยวกับท่านยังมีผลบังคับต่อไป ป้อมปราการที่ท่านสร้างจะเป็นของท่าน 39เราให้อภัยความผิดและข้อบกพร่องที่ท่านทำมาจนถึงวันนี้ ภาษีแก่กษัตริย์ที่ท่านติดค้างอยู่i และภาษีอื่นๆ ที่เคยเก็บจากกรุงเยรูซาเล็มก็ไม่ต้องเก็บอีกต่อไป 40ถ้าท่านใดมีคุณสมบัติเหมาะสมจะรับราชการทหารกับเรา ก็จงสมัครเข้ามาเถิด ขอให้มีสันติระหว่างเรากับท่าน”

          41ดังนั้น ในปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบj ศักราชกรีก ชาวอิสราเอลก็พ้นจากแอกของชนต่างชาติ 42ประชากรเริ่มเขียนในเอกสารของตน และระบุในสัญญาว่า “ในปีแรกของซีโมนมหาสมณะผู้ยิ่งใหญ่ ผู้บัญชาการสูงสุด และผู้ปกครองkชาวยิว”

ซีโมนยึดเมืองเกเซอร์

            43เวลานั้น ซีโมนยกทัพมาตั้งค่ายล้อมเมืองเกเซอร์lไว้ สร้างหอเคลื่อนที่เข็นมาประชิดเมือง โจมตีหอคอยแห่งหนึ่งแล้วยึดไว้ได้ 44ทหารที่อยู่ในหอเคลื่อนที่กระโดดเข้าเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวายเป็นอันมาก 45ชาวเมืองและบุตรภรรยาขึ้นบนกำแพงเมือง ฉีกเสื้อผ้าของตนด้วยความทุกข์ ร้องเสียงดังวอนขอซีโมนให้สงบศึก 46กล่าวว่า “อย่าทำกับพวกเราสมกับความผิดของเราเลย แต่โปรดเมตตาเราเถิด”

          47ซีโมนยอมทำสัญญาสงบศึกด้วย ไม่ต่อสู้กับเขาต่อไป แต่บังคับชาวเมืองให้ออกไป แล้วสั่งทหารให้เอารูปเคารพออกจากบ้านเรือนไปทิ้ง ทำให้บ้านเรือนหมดมลทิน แล้วทุกคนเดินขับร้องสรรเสริญถวายพระพรแด่พระเจ้าเข้าไปในเมือง 48ซีโมนสั่งให้นำทุกสิ่งที่เป็นมลทินออกไปทิ้งให้หมด แล้วให้คนที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอาศัยอยู่ในเมือง เขายังซ่อมแซมป้อมปราการและสร้างที่พำนักของตนไว้ในเมืองนั้นด้วย

ซีโมนยึดป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม

            49ทหารที่อยู่ในป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม ถูกขัดขวางไม่ให้เข้าออกไปซื้อขายmในบริเวณนั้น เขาจึงหิวโหยมาก หลายคนต้องตายเพราะอดอาหาร 50เขาจึงร้องขอสงบศึกกับซีโมน ซีโมนก็ยอม แต่บังคับให้เขาออกไปจากที่นั่น แล้วสั่งให้ชำระป้อมอาคราจากทุกสิ่งที่เป็นมลทิน 51วันที่ยี่สิบสามของเดือนที่สอง ปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเอ็ดnศักราชกรีก ชาวยิวเข้าไปในป้อมอาครา ขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า โบกกิ่งปาล์ม ดีดพิณเล็กพิณใหญ่ ตีฉิ่งฉาบ เขาโห่ร้องและขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า เพราะเขาได้ขจัดศัตรูตัวฉกาจออกไปจากอิสราเอลแล้ว 52ซีโมนกำหนดให้ฉลองวันนั้นด้วยความยินดีเป็นประจำทุกปี เขายังสร้างกำแพงและป้อมปราการบนเนินเขาที่ตั้งพระวิหาร ซึ่งอยู่ข้างป้อมอาครา แล้วเข้าพำนักอยู่ที่นั่นพร้อมกับทหารของตน 53เมื่อซีโมนเห็นว่ายอห์นบุตรชายของตนเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้บังคับบัญชากำลังพลทั้งหมด ยอห์นจึงไปพำนักอยู่ที่เมืองเกเซอร์

13 a ในเวลานั้น ซีโมน เช่นเดียวกับชาวยิวทุกคนคิดว่าโยนาธานเสียชีวิตแล้ว โดยแท้จริงเขายังมีชีวิตอยู่ แต่เป็นเชลย (ข้อ 12)

b ประชาชนที่มาชุมนุมกันประกาศแต่งตั้งให้ซีโมนเป็นผู้นำ เช่นเดียวกับที่เคยทำกับโยนาธานก่อนนั้น (9:30) ส่วนยูดาสได้รับการแต่งตั้งจากบิดา (2:66) บิดาเคยสั่งบรรดาบุตรให้เคารพซีโมนเป็นเหมือนบิดาคนที่สอง แต่จนถึงเวลานั้น ซีโมนมีบทบาทน้อยกว่าน้องชายทุกคน

c นโยบายของซีโมนไม่มีการประนีประนอม ต่างจากนโยบายของโยนาธาน ซีโมนขับไล่ชนต่างชาติทุกคนออกไปจากเมืองเบธซูร์แล้ว (11:66)

d “เมืองอโดรา” เป็นเมืองเดียวกับเมืองอโดราอิม ใน 2 พศด 11:9 * ในปัจจุบันคือเมือง “ดูรา” ตั้งอยู่ 8 กิโลเมตรทางตะวันตกของเมืองเฮบโรน * ตรีโฟใช้เส้นทางเดินทัพตามลาดเนินเชเฟลาห์เช่นเดียวกับที่ลีเซียสเคยทำ (ดู 4:29; 6:31)

e “เมืองบัสกามา” เราไม่รู้ว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน เพราะชื่อนี้พบที่นี่เท่านั้น บางคนคิดว่าเมืองนี้คือเมือง Sycaminos ที่ปลายแหลมทางตะวันตกของเทือกเขาคารเมล กษัตริย์โทเลมีที่ 9 จะทรงยกพลขึ้นบกที่นี่ในปี 100 ก่อน ค.ศ. * นักวิชาการบางคนคิดว่า “กีเลอาด” ในข้อ 22 น่าจะอ่านว่า “กาลิลี” ถ้าเป็นเช่นนี้ ตรีโฟคงประหารชีวิตโยนาธานที่เมือง Sycaminos นี้ แล้วจึงลงเรือกลับไปยังแผ่นดินของตน

f “พีระมิด” หมายถึงอนุสาวรีย์รูปพีระมิดซึ่งในสมัยนั้นนิยมสร้างเพื่อระลึกถึงผู้ล่วงลับ

g ดีโอโดรัสนักประวัติศาสตร์เล่าเช่นเดียวกันว่า ตรีโฟปลงพระชนม์ยุวกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 6 ก่อนจะขึ้นครองราชย์ในปี 142/141 ก่อน ค.ศ. แต่ลีเวียสนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน และโยเซฟุสเล่าว่าตรีโฟปลงพระชนม์ยุวกษัตริย์หลังจากที่กษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 ทรงถูกจับเป็นเชลยแล้วในปี 139 (ดู 14:2)

h “ปล้น” ต้นฉบับภาษาฮีบรูของ 1 มคบ คงเล่นคำระหว่าง “ตรีโฟ” (ต-ร-ฟ) กับ “เตเรฟ” (ต-ร-ฟ = ปล้น)

i “ภาษีแก่กษัตริย์” คงจะหมายถึงภาษีประจำปีที่ต้องถวายเป็นบรรณาการแก่กษัตริย์ การยกเว้นภาษีคงมีผลบังคับใช้สำหรับกรุงเยรูซาเล็มและแคว้นยูเดียเท่านั้น ไม่รวม 3 จังหวัดที่ถูกผนวกเข้ามาในภายหลัง (ดู 11:34 เชิงอรรถ h; 15:31)

j “ปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบศักราชกรีก” ตรงกับปี 142 ก่อน ค.ศ. * “แอก” หมายถึงการเป็นประเทศราช ต้องส่งบรรณาการแก่ชนต่างชาติที่มาปกครอง (8:18; เทียบ 1 พกษ 12:4)

k “ผู้ปกครอง” แปลได้อีกว่า “หัวหน้า” หรือ “เจ้านาย” เป็นตำแหน่งผู้ปกครองชนชาติหนึ่งโดยเอกเทศภายในจักรวรรดิ * ก่อนนั้นเอกสารต่างๆ ต้องลงวันเดือนปีตามปีศักราชกรีกของราชวงศ์เซเลวซิด

l “เกเซอร์” แปลโดยคาดคะเนตามโยเซฟุส (ดู 14:7; 15:28; 16:21; 2 มคบ 10:32ฯ) ต้นฉบับภาษากรีกและละตินว่า “กาซา” เมืองเกเซอร์ตั้งอยู่ 32 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม

m ทหารซีเรียที่ประจำอยู่ในป้อมอาคราเข้าออกไม่ได้เป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว (ดู 12:36)

n ตรงกับเดือนมิถุนายน ปี 141 ก่อน ค.ศ. เหตุการณ์นี้เป็นการสิ้นสุดการยึดครองกรุงเยรูซาเล็มโดยกองทัพของกษัตริย์ราชวงศ์เซเลวซิด ซึ่งเริ่มต้นในปี 167 ก่อน ค.ศ. (ดู 1:33-40)

คำชมเชยซีโมน

14 1ปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสองa ศักราชกรีก กษัตริย์เดเมตรีอัสทรงระดมกำลังพล ยกไปยังแคว้นมีเดีย เพื่อรวบรวมกำลังพลเพิ่มเติมมาต่อสู้กับตรีโฟ 2เมื่อกษัตริย์อาร์ซาเชสแห่งเปอร์เซียและมีเดียbทรงทราบว่ากษัตริย์เดเมตรีอัสทรงเข้ามาในเขตแดนของพระองค์ ก็ทรงสั่งแม่ทัพคนหนึ่งไปจับกษัตริย์เดเมตรีอัสโดยไว้ชีวิตพระองค์ 3แม่ทัพผู้นี้ก็ยกทัพไปสู้รบกับกองทัพของกษัตริย์เดเมตรีอัสจนมีชัยชนะ จับพระองค์นำไปถวายกษัตริย์อาร์ซาเชส ซึ่งมีพระบัญชาให้จองจำพระองค์ไว้ 4แผ่นดินยูดาห์มีความสงบสุขตลอดชีวิตของซีโมนc

         เขาแสวงหาความดีสำหรับชนชาติของตน

                   ทุกคนชื่นชมอำนาจปกครองของเขา

         และชื่นชมในเกียรติยศที่เขามีตลอดชีวิต

         5วีรกรรมสูงสุดของเขาคือ

ยึดเมืองยัฟฟามาเป็นท่าเรือ

         เปิดทางไปสู่เกาะต่างๆ ในทะเล

         6เขาขยายเขตแดนให้ชนชาติของตน

                   และปกครองบ้านเมืองอย่างมั่นคง

         7เขาจับศัตรูจำนวนมากเป็นเชลยศึก

                   ยึดเมืองเกเซอร์ เมืองเบธซูร์และป้อมอาคราd

         เขากำจัดสิ่งที่เป็นมลทินทั้งหมดออกจากป้อมอาครา

                   ไม่มีใครต้านทานเขาได้

         8ชาวนาเพาะปลูกด้วยความสงบสุข

                   ผืนแผ่นดินให้ผลิตผลอุดมสมบูรณ์

         ต้นไม้ในทุ่งนาให้ผลมากมาย

         9คนชรานั่งอยู่ตามลานสาธารณะ

                   สนทนากันถึงความเจริญรุ่งเรือง

          ชายหนุ่มสวมเครื่องรบสง่างาม

          10ซีโมนสะสมเสบียงอาหารไว้ตามเมืองต่างๆ

                   สร้างป้อมปราการไว้ป้องกันเมือง

          ชื่อเสียงของเขาเลื่องลือไปจนสุดปลายแผ่นดิน

          11เขาทำให้แผ่นดินมีสันติสุข

                   ทุกคนในอิสราเอลมีความชื่นชมอย่างยิ่ง

          12แต่ละคนนั่งอยู่ใต้เถาองุ่น

และใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน

          ไม่มีผู้ใดทำให้เขาต้องกลัว

          13ไม่มีศัตรูใดเหลืออยู่ในแผ่นดิน

                   บรรดากษัตริย์ทรงพินาศไปหมดในวันเหล่านั้น

          14ซีโมนทำให้คนต่ำต้อยในหมู่ประชากรมีกำลังขึ้น

                   มีความกระตือรือร้นต่อธรรมบัญญัติ

          กำจัดคนอธรรมeและคนชั่วทุกคน

          15เขาทำให้พระวิหารสง่างาม

                   มีอุปกรณ์ใช้สอยอย่างมากมาย

ซีโมนรื้อฟื้นสัญญากับชาวโรมันและชาวสปาร์ตา

            16เมื่อชาวโรมันและชาวสปาร์ตาได้ยินว่าโยนาธานเสียชีวิต ก็โศกเศร้ายิ่งนัก 17แต่เมื่อเขาได้ยินว่าซีโมนพี่ชายขึ้นเป็นมหาสมณะแทนโยนาธาน ปกครองแผ่นดินและเมืองต่างๆ อย่างมั่นคง 18เขาจึงเขียนสารจารึกลงบนแผ่นทองสัมฤทธิ์เพื่อรื้อฟื้นมิตรภาพและสัญญาที่เคยทำไว้กับยูดาสและโยนาธานน้องชายf 19เอกสารนี้ถูกนำมาอ่านต่อหน้าที่ประชุมในกรุงเยรูซาเล็ม 20นี่เป็นสำเนาของสารที่ชาวสปาร์ตาส่งมา

          “ผู้ปกครองและชาวเมืองสปาร์ตาขอส่งความสุขมายังซีโมนมหาสมณะ บรรดาผู้อาวุโสและสมณะทั้งหลาย รวมทั้งประชาชนชาวยิวพี่น้องของเรา 21คณะทูตที่ท่านส่งมาพบประชาชนของเราได้แจ้งให้เราทราบถึงเกียรติยศชื่อเสียงของท่าน เรามีความยินดีที่ท่านส่งคณะทูตมาพบเรา 22เราได้บันทึกถ้อยคำของเขาไว้ในจดหมายเหตุของประชาชนว่า นูเมนีอัสบุตรของอันทิโอคัส และอันทิปาเทอร์บุตรของยาโสน ทูตของชาวยิวมาพบเราเพื่อรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีกับเรา 23ประชาชนยินดีต้อนรับคนเหล่านี้อย่างมีเกียรติ และลงมติให้จารึกถ้อยคำของเขาไว้ในจดหมายเหตุ เพื่อให้ประชาชนชาวสปาร์ตาอ่านดูได้ และไม่ลืม เรายังได้เขียนสำเนาส่งมาให้ซีโมนมหาสมณะด้วย”

          24หลังจากนั้น ซีโมนส่งนูเมนีอัสไปยังกรุงโรมเพื่อรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีกับชาวโรมัน นูเมนีอัสนำโล่ทองคำใหญ่ หนักประมาณสามหมื่นบาทไปด้วย

ประชากรอิสราเอลประกาศเกียรติยศของซีโมน

            25เมื่อประชาชนได้ยินเรื่องเหล่านี้ ก็พูดว่า “พวกเราจะตอบแทนซีโมนและบรรดาบุตรของเขาได้อย่างไร 26เขากับพี่น้องและวงศ์ตระกูลของเขายืนหยัดgขับไล่ศัตรูของอิสราเอลออกไป ทำให้อิสรภาพกลับคืนมา”

          เขาจึงจารึกข้อความลงบนแผ่นทองสัมฤทธิ์ นำมาติดกับเสาบนเนินเขาศิโยน 27ข้อความที่จารึกไว้มีดังนี้

          “วันที่สิบแปด เดือนเอลุล ปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสอง ศักราชกรีก ซึ่งเป็นปีที่สามในสมัยของซีโมนมหาสมณะผู้ยิ่งใหญ่ ที่ลานอสาราเมลh 28ได้ประกาศข้อความต่อไปนี้ต่อหน้าที่ประชุมใหญ่ของบรรดาสมณะ ประชากร ผู้นำชนชาติ และบรรดาผู้อาวุโสของแคว้น ดังนี้

          29ได้เกิดสงครามหลายครั้งในเขตแดนของเรา แต่ซีโมนบุตรของมัทธาธีอัส สมณะเชื้อสายโยอาริบ และบรรดาพี่น้องได้เสี่ยงอันตรายไปต่อสู้กับศัตรูของประชากร เพื่อปกป้องพระวิหารและธรรมบัญญัติ เขาเหล่านั้นได้นำเกียรติยศยิ่งใหญ่มาสู่ชนชาติของตน 30โยนาธานได้รวบรวมชนชาติให้เป็นหนึ่งเดียว ขึ้นเป็นมหาสมณะ แล้วก็เสียชีวิตไปรวมอยู่กับบรรพบุรุษ 31บรรดาศัตรูพยายามรุกรานเขตแดนของเขา และลงมือทำลายพระวิหาร 32ซีโมนก็ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อชาติ เขาใช้ทรัพย์สมบัติiจำนวนมากของตนเพื่อจัดหาอาวุธสำหรับทหารในกองทัพของชาติ เขาจ่ายเงินให้บรรดาทหาร 33เขาสร้างป้อมปราการในเมืองต่างๆ ของแคว้นยูเดีย และที่เมืองเบธซูร์ซึ่งอยู่ที่ชายแดนของแคว้นยูเดีย และเคยเป็นคลังอาวุธของศัตรู เขาจัดให้กองทหารยิวประจำอยู่ที่นั่น 34เขาสร้างป้อมปราการที่เมืองยัฟฟาริมทะเล และที่เมืองเกเซอร์ทางชายแดนด้านเมืองอาโซตัส ซึ่งเป็นที่ที่ข้าศึกเคยอยู่มาก่อน เขาจัดให้ชาวยิวอยู่ที่นั่นพร้อมกับทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ 35เมื่อประชากรเห็นว่าซีโมนซื่อสัตย์ ตั้งใจจะนำเกียรติยศมาให้ชนชาติของตน ก็ตั้งเขาเป็นผู้นำและมหาสมณะ เพื่อตอบแทนการกระทำทั้งหมด ความชอบธรรมและความซื่อสัตย์ของเขาที่ได้แสดงต่อชนชาติของตน และตอบแทนที่เขาได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อยกฐานะของประชากร

          36ในสมัยของซีโมน เขาขับไล่ชนต่างชาติออกไปจากเขตแดนjได้สำเร็จ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในนครของดาวิดที่กรุงเยรูซาเล็ม พวกนี้เคยสร้างป้อมอาครา และออกมาสู้รบจากที่นั่น ทำให้บริเวณโดยรอบพระวิหารเป็นมลทิน สร้างความเสียหายอย่างมากแก่ความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร 37ซีโมนให้ทหารยิวประจำป้อมนี้ ทำให้ป้อมนี้มั่นคงขึ้นเพื่อป้องกันเขตแดนและนคร เขายังสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มให้สูงขึ้น 38กษัตริย์เดเมตรีอัสจึงทรงรับรองตำแหน่งมหาสมณะของเขา 39ทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นพระสหายคนหนึ่งของพระองค์ และประทานเกียรติยศยิ่งใหญ่kแก่เขา 40ทรงทำเช่นนี้เพราะทรงได้ยินว่าชาวโรมันประกาศว่าชาวยิวเป็นมิตรสหาย พันธมิตรและพี่น้องl ทั้งยังต้อนรับคณะทูตของซีโมนอย่างมีเกียรติ

          41ทรงทราบอีกว่าชาวยิวและบรรดาสมณะยินดีให้ซีโมนเป็นผู้ปกครองและเป็นมหาสมณะของตนตลอดไป จนกว่าประกาศกที่น่าเชื่อถือจะปรากฏ 42ชาวยิวยินดีให้เขาเป็นผู้บัญชาการสูงสุด และผู้ดูแลกิจการของพระวิหาร เลือกผู้รับผิดชอบงานก่อสร้าง งานบริหารแผ่นดิน การจัดหาเครื่องอาวุธ และรักษาป้อมปราการ 43mทุกคนจะต้องเชื่อฟังเขา สัญญาทั้งหมดที่ทำในเขตแดนจะต้องทำในนามของเขา เขามีสิทธิ์สวมเสื้อคลุมสีม่วงแดง และสวมเครื่องประดับทองคำ 44ประชากรหรือสมณะคนใดไม่มีสิทธิ์โต้แย้งข้อกำหนดนี้ ไม่มีสิทธิ์ฝ่าฝืนคำสั่งของซีโมน ไม่มีสิทธิ์เรียกประชุมในเขตแดนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเขา และไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์สวมเสื้อคลุมสีม่วงแดง หรือกลัดเข็มกลัดทองคำ 45ผู้ใดฝ่าฝืนหรือโต้แย้งข้อกำหนดนี้ข้อใดข้อหนึ่งย่อมมีความผิด

          46ประชากรทั้งหลายเห็นชอบกับการมอบอำนาจให้ซีโมนปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ 47ซีโมนตกลงและยินดีรับตำแหน่งมหาสมณะ ตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด ตำแหน่งผู้ปกครองชาวยิวและบรรดาสมณะn และตำแหน่งผู้นำประชากรทั้งมวล”

          48ชาวยิวตกลงให้จารึกข้อความนี้บนแผ่นทองสัมฤทธิ์ และตั้งไว้ในที่สาธารณะในบริเวณพระวิหาร 49และให้เก็บสำเนาไว้ในห้องคลังของพระวิหาร เพื่อซีโมนและบรรดาบุตรจะนำมาอ้างอิงเป็นหลักฐานได้

14 a ตรงกับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 141 ถึงเดือนกันยายน ปี 140 ก่อน ค.ศ.

b กษัตริย์อาร์ซาเชสที่ 6 (171-138 ก่อน ค.ศ.) ซึ่งยังทรงพระนามอีกว่า มีตรีดาแทสที่ 1 ทรงสถาปนาจักรวรรดิปาร์เทีย ทรงยึดเปอร์เซียและมีเดียจากกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 เมื่อชาวเปอร์เซียและมีเดียขอให้กษัตริย์เดเมตรีอัสไปช่วยเหลือ พระองค์จึงทรงยกทัพไปต่อสู้กับกษัตริย์อาร์ซาเชส และทรงได้ชัยชนะบ้างในตอนแรก แต่ในที่สุดทรงถูกจับเป็นเชลยในปี 139 ก่อน ค.ศ. (ดู 10:67) และทรงถูกจองจำอย่างมีเกียรติอยู่ในแคว้น Hyrcania ทางใต้ของทะเลสาบแคสเปียน

c คำชมเชยซีโมนเขียนเป็นคำประพันธ์ภาษาฮีบรู เป็นการรวบรวมข้อความจากพระคัมภีร์หลายตอนเข้าด้วยกัน (เทียบ 1:28 เชิงอรรถ m)

d การที่ซีโมนยึดเมืองท่ายัฟฟา (ข้อ 5 – ดู 12:33; 13:11; 14:34) และเมืองป้อมปราการสำคัญที่สุดของกษัตริย์ซีเรียในแคว้นยูเดีย (ได้แก่ เมืองเกเซอร์ เบธซูร์ และป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม) ทำให้อิสราเอลเป็นอิสระอย่างมั่นคง (ข้อ 26)    

e ข้อความในข้อนี้คล้ายกับข้อความที่กล่าวถึงบทบาทของพระเมสสิยาห์ การปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัดเป็นเอกลักษณ์ของความศรัทธาของชาวยิวในสมัยนั้น โดยเฉพาะของซีโมน (13:3; 14:29; ดู 2 มคบ 13:10-11, 14)

f ดู 8:22 อันที่จริงซีโมนคงเป็นผู้ขอให้มีการรื้อฟื้นมิตรภาพและสนธิสัญญากับชาวโรมันและชาวสปาร์ตา ตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้ปกครองชาวยิวในปี 142 ก่อน ค.ศ. เพราะสำเนาจดหมายตอบจากกรุงโรมลงวันเดือนในปี 142 ก่อน ค.ศ. (“ขณะที่ Lucius เป็นกงสุล” 15:16) ลำดับเหตุการณ์ที่เล่าออกจะสับสน

g “ยืนหยัด” แปลโดยคาดคะเน แปลตามตัวอักษรว่า “ตั้งขึ้น”

h ปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสองศักราชกรีก ตรงกับเดือนกันยายน ปี 140 ก่อน ค.ศ. * “อสาราเมล” เป็นคำภาษาฮีบรู แปลว่า “ลานของประชากรของพระเจ้า” คงหมายถึงลานภายนอกของพระวิหาร (ดู ข้อ 48; 9:54)

i การอ้างว่าคนสำคัญสละทรัพย์สมบัติเพื่อบ้านเมืองเป็นธรรมเนียมในวัฒนธรรมกรีก ดูเหมือนว่าผู้ร่วมขบวนการกับพวกมัคคาบีแต่เดิมเป็นอาสาสมัคร แต่ต่อมาคงจะเป็นทหารรับจ้าง

j “เขตแดน” ต้นฉบับว่า “เขตแดนของพวกเขา” คงหมายถึงชาวยิว

k ดู 13:36 แม้ซีโมนจะประกาศอิสรภาพจากการเป็นประเทศราชของซีเรียแล้ว กษัตริย์เดเมตรีอัสยังทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับซีโมนต่อไป

l “พี่น้อง” คงเป็นคำเพิ่มเติมของผู้คัดลอก ให้สอดคล้องกับตำนานที่ว่า ชาวสปาร์ตากับชาวยิวเป็นพี่น้องกัน (12:21) ผู้คัดลอกจึงนำความคิดนี้มาใช้กับชาวโรมันด้วย

m ต้นฉบับซ้ำข้อความ “ผู้ดูแลกิจการของพระวิหาร” จากข้อ 42

n การอ้างถึง “บรรดาสมณะ” โดยตรงที่นี่ และในข้อ 41 ต้องการแสดงว่าบรรดาสมณะสนับสนุนซีโมน ทั้งๆ ที่ยังมีสมณะกลุ่มหนึ่งที่ยังซื่อสัตย์ต่อตระกูลของมหาสมณะโอนีอัสซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งไปแล้ว อำนาจของซีโมนรวมเอาตำแหน่ง “มหาสมณะ” ซึ่งเป็นตำแหน่งตามธรรมเนียมของชาวยิว และตำแหน่ง “ผู้บังคับบัญชาสูงสุด” ซึ่งสะท้อนการอยู่ใต้อำนาจของราชวงศ์เซเลวซิด เข้ากับตำแหน่ง “ผู้นำชนชาติ” หรือผู้นำชนกลุ่มหนึ่งที่มีอิสระพอสมควรภายในจักรวรรดิ

พระราชสาสน์จากกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 ถึงซีโมน

15 1กษัตริย์อันทิโอคัสพระโอรสของกษัตริย์เดเมตรีอัส ทรงส่งพระราชสาสน์จากเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนa มาถึงซีโมนมหาสมณะและผู้ปกครองชาวยิว และถึงประชากรทั้งหลาย 2มีความดังต่อไปนี้

          “กษัตริย์อันทิโอคัสขอส่งความสุขมาถึงซีโมนมหาสมณะและผู้นำชนชาติ และถึงชนชาติยิว 3การที่คนชั่วร้ายได้ยึดครองอาณาจักรของบรรพบุรุษของเรา ข้าพเจ้าตั้งใจจะยึดกลับคืนมาบูรณะให้เหมือนเดิม ข้าพเจ้าจึงระดมกำลังพลคนต่างชาติเป็นจำนวนมาก และเตรียมเรือรบ 4ข้าพเจ้าตั้งใจจะขึ้นบกในแคว้นนั้น เพื่อแก้แค้นผู้ที่ทำลายล้างและปล้นเมืองต่างๆ ในอาณาจักรของข้าพเจ้า

          5ข้าพเจ้าจึงรับรองการยกเว้นภาษีที่กษัตริย์องค์ก่อนๆ เคยยกเว้นให้ท่าน และยกเว้นเครื่องบรรณาการอื่นๆ ทั้งหมดที่ท่านเคยถวายด้วยb 6ข้าพเจ้าให้ท่านมีสิทธิ์ทำเงินตราขึ้นใช้เองในแผ่นดินของท่านc 7ให้กรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารเป็นอิสระ อาวุธทั้งหลายที่ท่านตระเตรียม และป้อมปราการที่ท่านสร้างไว้และยึดครองอยู่จะเป็นของท่านต่อไป 8หนี้สินทั้งหมด ทั้งปัจจุบันและอนาคตที่จะต้องจ่ายให้กษัตริย์ จะยกเลิกให้ท่านตลอดไป 9เมื่อเราได้อาณาจักรของเรากลับคืนมาแล้ว เราจะให้เกียรติอย่างสูงแก่ท่าน ชนชาติของท่านและพระวิหาร เกียรติยศของท่านจะปรากฏไปทั่วแผ่นดิน”

          10ในปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสี่d ศักราชกรีก กษัตริย์อันทิโอคัสเสด็จเข้าในแผ่นดินของบรรพบุรุษ กำลังพลทั้งหมดมาร่วมกับพระองค์ เหลือทหารเพียงไม่กี่คนอยู่กับตรีโฟ 11กษัตริย์อันทิโอคัสทรงไล่ตามตรีโฟ ซึ่งต้องหนีไปที่เมืองโดร์eริมทะเล 12เขารู้ว่าตนจะต้องเคราะห์ร้าย เพราะกำลังพลทิ้งเขาไปแล้ว 13กษัตริย์อันทิโอคัสทรงตั้งค่ายอยู่หน้าเมืองโดร์ มีทหารราบหนึ่งแสนสองหมื่นคน และทหารม้าแปดพันคน 14พระองค์ทรงล้อมเมือง ขณะที่เรือเข้ามาสู้รบจากทะเล พระองค์จึงทรงปิดเมืองไว้ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ จนไม่มีใครเข้าออกได้

คณะทูตชาวยิวกลับจากกรุงโรม

          15ขณะนั้น นูเมนีอัสและคณะกลับมาจากกรุงโรม นำจดหมายที่ชาวโรมันเขียนถึงบรรดากษัตริย์และแคว้นต่างๆ มาด้วย ความในจดหมายมีดังนี้

          16“ลูชีอัสfกงสุลของชาวโรมัน ขอส่งความสุขมายังกษัตริย์โทเลมี 17คณะทูตของชาวยิวซึ่งเป็นเพื่อนและพันธมิตรของเรา ได้มาหาเราเพื่อรื้อฟื้นสัญญาและมิตรภาพตามที่เคยมี ซีโมนมหาสมณะและประชากรชาวยิวส่งเขามา 18เขาเหล่านี้ได้นำโล่ทองคำมีค่าเท่ากับเงินหนักสามหมื่นบาทgมาด้วย 19เราจึงตกลงจะเขียนถึงกษัตริย์และแคว้นต่างๆ ไม่ให้ทำร้ายชาวยิว หรือทำสงครามกับเขา กับเมืองของเขาหรือแคว้นที่เขาปกครอง และมิให้เป็นพันธมิตรกับผู้ที่ต่อสู้เขา 20เราตกลงจะรับโล่จากเขา 21ถ้าคนชั่วร้ายหนีจากแคว้นของเขามาลี้ภัยกับท่าน ท่านจงมอบคนเหล่านี้แก่ซีโมนมหาสมณะ เพื่อเขาจะได้ลงโทษตามกฎหมาย”

          22ลูชีอัสส่งจดหมายมีใจความคล้ายกันนี้ให้กษัตริย์เดเมตรีอัส กษัตริย์อัททาลัส กษัตริย์อาริอาราเทส และกษัตริย์อาร์ซาเชสh 23และส่งไปยังแคว้นต่างๆ ได้แก่ ซัมสาเมส สปาร์ตา เดโลส มินโตส ซีชิโอน คาเรีย สามอส ปัมฟีเลีย ลีเซีย ฮาลิคาร์นาซัส โรดส์ ฟาเสลิส โขส ซีเด อาราโดส กอร์ทินา คนีดัส ไซปรัส และไซรีนi 24และส่งสำเนาจดหมายเหล่านี้ไปให้ซีโมนมหาสมณะ

กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 ทรงขัดแย้งกับซีโมน

          25กษัตริย์อันทิโอคัสทรงตั้งค่ายอยู่ชายเมืองโดร์ ทรงใช้กองทหารและเครื่องอาวุธที่สร้างขึ้นเข้าโจมตีเมืองตลอดเวลา ทรงปิดกั้นมิให้ตรีโฟและพวกเข้าหรือออกจากเมืองได้ 26ซีโมนส่งทหารชำนาญศึกสองพันคน เงินทองและอุปกรณ์จำนวนมากไปช่วยกษัตริย์อันทิโอคัส 27แต่พระองค์ไม่ทรงยอมรับความช่วยเหลือเหล่านี้ กลับทรงถอนข้อตกลงที่เคยทรงทำไว้กับซีโมน และกลับทรงเป็นศัตรูกับเขา

          28กษัตริย์อันทิโอคัสทรงส่งอาเธโนเบียสพระสหายคนหนึ่งไปเจรจากับซีโมนว่า “ท่านทั้งหลายยึดครองป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็ม เมืองยัฟฟา และเกเซอร์ ซึ่งเป็นเมืองในอาณาจักรjของข้าพเจ้า 29ท่านทำลายล้างเขตแดนเหล่านี้ ทำความเสียหายในแผ่นดินอย่างมาก ทั้งยังยึดครองที่อื่นkในอาณาจักรของข้าพเจ้าอีกหลายแห่ง 30บัดนี้ จงคืนเมืองที่ท่านยึดไปกลับมาเถิด และคืนภาษีอากรที่ท่านได้เก็บนอกเขตแดนยูเดีย 31หรือจงจ่ายเงินหนักห้าร้อยตะลันต์แทน และจงจ่ายอีกห้าร้อยตะลันต์เพื่อชดเชยค่าเสียหายที่ท่านได้ทำ และชดเชยเครื่องบรรณาการของเมืองต่างๆ มิฉะนั้น ข้าพเจ้าจะยกทัพมาสู้รบกับท่าน”

          32อาเธโนเบียสพระสหายของกษัตริย์อันทิโอคัสมาที่กรุงเยรูซาเล็ม เมื่อเขาเห็นความรุ่งโรจน์ของซีโมน เห็นจานเงินจานทองในตู้ และความหรูหราอีกมากมาย เขาก็แปลกใจ และส่งพระราชสาสน์ให้ 33ซีโมนตอบเขาว่า “เราไม่ได้ยึดแผ่นดินของผู้อื่น ไม่ได้เอาของผู้อื่นมาเลย เอาแต่มรดกของบรรพบุรุษซึ่งศัตรูของเราเคยยึดไปอย่างอยุติธรรม 34เมื่อเรามีโอกาส เราก็ยึดมรดกของบรรพบุรุษของเรากลับคืนมา 35ส่วนเมืองยัฟฟาและเกเซอร์ ซึ่งท่านเรียกร้องให้คืนนั้น เราเต็มใจจ่ายค่าเมืองเหล่านี้ให้ท่านหนึ่งร้อยตะลันต์ เมืองเหล่านี้เคยทำความเสียหายมากมายแก่ประชากรและแผ่นดินของเราl

          36อาเธโนเบียสไม่ตอบแต่ประการใด กลับไปเฝ้ากษัตริย์ด้วยความโกรธ ทูลรายงานถ้อยคำและความรุ่งโรจน์ของซีโมน รวมทั้งทุกสิ่งที่เขาได้เห็น กษัตริย์ทรงพระพิโรธอย่างยิ่ง

เซนเดเบียสข่มเหงชาวยิว

          37ตรีโฟลงเรือหนีไปยังเมืองออร์โธเซียm 38กษัตริย์อันทิโอคัสจึงทรงแต่งตั้งเซนเดเบียสเป็นผู้บัญชาการเขตแดนชายทะเล ประทานกำลังพลทหารราบและทหารม้าแก่เขา 39ทรงสั่งให้เคลื่อนพลไปตั้งค่ายที่ชายแดนแคว้นยูเดีย ทรงสั่งให้สร้างเมืองขิดโรนnขึ้นใหม่ เสริมประตูเมืองให้มั่นคงเพื่อต่อสู้กับประชากร ระหว่างนั้น กษัตริย์ทรงไล่ตามจับตรีโฟ 40เมื่อเซนเดเบียสมาถึงเมืองยัมเนีย เขาก็เริ่มข่มเหงประชากร เขารุกรานแคว้นยูเดีย จับประชากรเป็นเชลยหรือฆ่าเสีย 41เขาสร้างเมืองขิดโรนขึ้นใหม่ ทิ้งทหารม้าและกำลังพลไว้ที่นั่น เพื่อออกไปโจมตีตามถนนในแคว้นยูเดีย ตามพระบัญชาของกษัตริย์

15 a “เกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” หมายถึงเกาะโรดส์ กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 ทรงพำนักอยู่ที่นั่นเมื่อทรงทราบว่าเดเมตรีอัสที่ 2 พระเชษฐาทรงถูกจับเป็นเชลย กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 นี้ทรงเจริญวัยที่เกาะคนีดัสและที่เมืองซีเด (Side) ในแคว้นปัมฟีเลีย จึงทรงรับสมญาว่า “ชาวซีเด” (Sidetes) แต่ทรงจารึกพระนามบนเหรียญกษาปณ์ว่า “เอวเอร์เกเตส” (Euergetes) ซึ่งแปลว่า “ผู้ทำดี(ต่อประชาชน)”

b ดู 13:39 กษัตริย์อันทิโอคัสทรงยกเว้นภาษี โดยกล่าวพาดพิงถึงภาษีในสามจังหวัดที่ถูกผนวกเข้ากับแคว้นยูเดียด้วย (15:30ฯ; ดู 11:34 เชิงอรรถ l)

c หลังจากนี้ไม่นาน สิทธิทำเงินตราขึ้นใช้เองนี้จะถูกยกเลิก (ข้อ 27) เราจึงไม่พบเหรียญกษาปณ์ที่มีชื่อของซีโมนเลย เราพบเพียงเหรียญทองแดงราคาน้อยจำนวนมากที่มีชื่อของยอห์นและชุมชนชาวยิว ซึ่งคงจะหมายถึงยอห์นฮีร์กันบุตรของซีโมน

d ปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสี่ศักราชกรีก ตรงกับปี 139/138 ก่อน ค.ศ. เหรียญกษาปณ์ที่จารึกพระนามกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 เริ่มมีตั้งแต่ปี 138 ก่อน ค.ศ. พระองค์คงจะยกทัพขึ้นบกในฤดูใบไม้ร่วงปี 139 ก่อน ค.ศ. ตามคำขอของพระนางเคลโอพัตราเธอาพระมเหสีของกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 พระเชษฐา

e เมือง “โดร์” ตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาคารเมล เป็นเมืองท่าสำคัญในอดีต (ดู 1 พกษ 4:11)

f “ลูชีอัส” ผู้นี้คือ Lucius Caecilius Metellus Calvus ซึ่งเป็นกงสุลในปี 142 ก่อน ค.ศ. วันเดือนปีของจดหมายนี้จึงไม่ถูกต้อง (เทียบ 14:18)

g “มีค่าเท่ากับเงินหนักสามหมื่นบาท” แปลตามตัวอักษรว่า “หนักหนึ่งพันมีนา” (1 มีนา หนักประมาณครึ่งกิโลกรัม) หนึ่งพันมีนาจึงเท่ากับน้ำหนักราว 500 กิโลกรัม ดูออกจะเกินไปถ้าโล่ทองคำหนัก 500 กิโลกรัมจริง นักวิชาการจึงคิดว่าน่าจะหมายถึง “มีค่าเท่ากับเงินหนัก 500 กิโลกรัม” ซึ่งเทียบเท่ากับทองคำประมาณ 44 กิโลกรัม (เทียบ 14:24)

h อัททาลัสที่ 2 (159-138) เป็นกษัตริย์ของเมืองเปอร์กามัม (Pergamum) อาริอาราเทสที่ 5 (162-131) เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นกัปปาโดเชีย กษัตริย์อาร์ซาเชส ดู 14:2

i รายชื่อแคว้นต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ทางการเมืองของดินแดนทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนราวกลางศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. นอกจากอาณาจักรใหญ่ไม่กี่แห่ง มีนครรัฐเล็กๆ จำนวนมาก เช่น ซีเดในแคว้นปัมฟีเลีย ซีชิโอนในคาบสมุทรเปโลโปเนส ฯลฯ มีเกาะเล็กๆ ที่เป็นนครรัฐด้วย เช่น เดโลส สามอส โรดส์ อาราโดส ซี่งปัจจุบันชื่อ Ruad อยู่เหนือเมืองทรีโปลี และยังมีแคว้นอิสระเช่น คาเรีย ลีเซีย ฯลฯ ซึ่งคงจะต้องมีกลุ่มชาวยิวอยู่ในนครรัฐเหล่านั้นด้วย * แม้เกาะไซปรัสและแคว้นไซรีนจะขึ้นอยู่กับอียิปต์ ชาวโรมันก็ยังสั่งเหมือนกับสั่งประเทศราชอื่นๆ เพราะมีชาวยิวอาศัยอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก

j ป้อมอาคราที่กรุงเยรูซาเล็มใหญ่มากจนนับได้ว่าเป็นเมืองเมืองหนึ่ง (ดู 1:33) แน่นอน ซีโมนไม่ยอมคืนป้อมปราการนี้และไม่ยอมจ่ายภาษีสำหรับป้อมนี้ แต่เขาพร้อมที่จะจ่ายภาษีสำหรับป้อมปราการที่เมืองยัฟฟาและเกเซอร์ ซึ่งอยู่นอกแคว้นยูเดีย (ข้อ 27)

k “ที่อื่น” ในที่นี้คงหมายถึงสี่จังหวัดที่ถูกผนวกเข้ากับแคว้นยูเดีย (ดู 11:57)

l แผ่นดินของเรา” สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “ทำลายแผ่นดินของเรา”

m เมืองออร์โธเซียตั้งอยู่ระหว่างเมืองทรีโปลีกับแม่น้ำเอลูเทรัส (12:30) นักโบราณคดีได้พบเหรียญกษาปณ์ที่จารึกนามของตรีโฟ 33 เหรียญในเมืองนี้ แสดงว่าเขาเคยมีอำนาจปกครองในสมัยที่เรากำลังกล่าวถึง ต่อมาตรีโฟได้หนีไปที่เมืองอาปาเมอา แล้วถูกประหารชีวิต (ตามข้อเขียนของโยเซฟุส) หรือฆ่าตัวตาย (ตามข้อเขียนของสตราโบ) ที่นั่น

n “ขิดโรน” ในปัจจุบันคือเมืองกาตรา ประมาณ 5 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองยัมเนีย

บุตรของซีโมนขับไล่เซนเดเบียส

                16       1ยอห์นขึ้นจากเมืองเกเซอร์ไปรายงานให้ซีโมนบิดาทราบสิ่งที่เซนเดเบียสได้ทำ 2ซีโมนจึงเรียกยูดาสและยอห์นบุตรชายคนโตมาสั่งว่า

          “พ่อกับพี่น้อง และวงศ์ตระกูลของเรา ได้ต่อสู้กับศัตรูของอิสราเอลaตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงทุกวันนี้ เราประสบความสำเร็จหลายครั้งในการช่วยอิสราเอลให้รอดพ้น 3บัดนี้ พ่อแก่แล้ว ส่วนลูก สวรรค์โปรดbให้ลูกอยู่ในวัยฉกรรจ์ ลูกทั้งสองคนจะต้องรับหน้าที่แทนพ่อกับน้องชายของพ่อ ออกไปสู้รบเพื่อชนชาติของเรา ขอสวรรค์โปรดช่วยลูกเถิด”

          4ยอห์นรวบรวมทหารชำนาญศึกและทหารม้าสองหมื่นคน ยกไปสู้รบกับเซนเดเบียส และค้างคืนที่เมืองโมดีน 5เขาลุกขึ้นแต่เช้าและเดินทางเข้าไปในที่ราบ ทันใดนั้น เขาก็เห็นกองทัพใหญ่ยกมาเผชิญหน้า มีทั้งทหารราบและทหารม้า ระหว่างกองทัพทั้งสองมีลำธารcขวางอยู่ 6ยอห์นdและทหารของเขาตั้งค่ายประจัญหน้ากับศัตรู เมื่อเห็นว่าทหารส่วนใหญ่กลัวไม่กล้าข้ามลำธาร ยอห์นก็ข้ามไปก่อน พวกทหารเห็นดังนั้นก็ข้ามลำธารตามเขาไป 7เขาแบ่งกองทัพออกเป็นสองกอง ให้ทหารม้าอยู่กลางทหารราบe เพราะเห็นว่าทหารม้าของข้าศึกมีจำนวนมาก 8เสียงแตรดังขึ้น เซนเดเบียสและกองทัพของเขาถูกโจมตีจนแตกกระเจิงไป มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก คนที่รอดตายก็หนีเข้าไปในป้อมปราการ 9ยูดาสพี่ชายของยอห์นได้รับบาดเจ็บ แต่ยอห์นไล่ตามข้าศึกไปจนถึงป้อมขิดโรนที่เซนเดเบียสสร้างขึ้นใหม่ 10พวกศัตรูหนีเข้าไปในหอคอยที่ตั้งอยู่ในทุ่งรอบเมืองอาโซทัส แต่ยอห์นจุดไฟเผา ทหารข้าศึกเสียชีวิตประมาณสองพันคน แล้วเขาก็ยกทัพกลับแคว้นยูเดียอย่างปลอดภัย

ซีโมนถูกฆ่า – ยอห์นฮีร์กันสืบตำแหน่งต่อจากบิดา

          11โทเลมีบุตรของอาบูบัสได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารในที่ราบรอบเมืองเยรีโคf เขามีเงินทองมากมาย 12เพราะเป็นบุตรเขยของมหาสมณะ 13เขามีใจทะเยอทะยาน ตั้งใจจะยึดครองแผ่นดิน จึงวางแผนใช้กลอุบายกำจัดซีโมนและบรรดาบุตร 14ซีโมนมาเยี่ยมเมืองต่างๆ ในเขตแดนนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ในปีหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเจ็ด เดือนสิบเอ็ด คือเดือนเชบัทg เขาลงไปที่เมืองเยรีโคพร้อมกับมัทธาธีอัสและยูดาสบุตรของตน 15โทเลมีบุตรของอาบูบัสเสแสร้งต้อนรับเขาอย่างดีในป้อมเล็กๆ ที่ตนสร้างขึ้น ชื่อ “โดก”h จัดงานเลี้ยงใหญ่ แต่ซ่อนทหารไว้ที่นั่น 16เมื่อซีโมนและบุตรทั้งสองคนดื่มจนมึนเมาแล้ว โทเลมีและทหารก็ลุกขึ้น จับอาวุธเข้าโจมตีซีโมนในห้องเลี้ยงอาหาร ฆ่าซีโมน บุตรทั้งสองคนi และผู้รับใช้บางคน 17โทเลมีทรยศอย่างน่ารังเกียจ ทำความชั่วตอบแทนความดี

18โทเลมีเขียนรายงานเรื่องนี้ส่งไปถวายกษัตริย์ ทูลขอให้ทรงส่งกองทหารมาช่วย และขอให้ทรงแต่งตั้งตนเป็นผู้ปกครองเขตแดนและเมืองต่างๆ แทนซีโมน 19เขาส่งทหารอีกกลุ่มหนึ่งไปที่เมืองเกเซอร์เพื่อกำจัดยอห์น และส่งจดหมายไปถึงบรรดานายทหารjให้มาหาตน สัญญาว่าจะให้เงินทองและของกำนัล 20เขายังส่งทหารอื่นๆ ไปยึดกรุงเยรูซาเล็มและเนินเขาที่ตั้งพระวิหาร 21แต่มีผู้วิ่งล่วงหน้าไปแจ้งข่าวให้ยอห์นรู้ว่าบิดาและพี่น้องของเขาเสียชีวิตหมดแล้ว บัดนี้ โทเลมียังส่งคนมาฆ่าเขาด้วย 22เมื่อยอห์นรู้เรื่องนี้ ก็ตกใจมาก จับและฆ่าพวกทหารที่โทเลมีส่งมาฆ่าตน เพราะเขารู้ว่าคนเหล่านั้นมาเพื่อฆ่าตนk

          23เหตุการณ์อื่นๆ ของยอห์น การสู้รบและความกล้าหาญของเขา การบูรณะกำแพงเมืองและกิจการอื่นๆ 24ล้วนมีบันทึกไว้ในหนังสือพงศาวดารของสมัยที่เขาเป็นมหาสมณะl ตั้งแต่วันที่เขาได้รับตำแหน่งมหาสมณะต่อจากบิดา

16 a “ต่อสู้กับศัตรู” แปลตามต้นฉบับภาษาละติน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ทำสงครามของอิสราเอล” * ยอห์นผู้นี้คือ ยอห์นฮีร์กัน ซึ่งรับตำแหน่งสืบต่อจากบิดาในปี 134 ก่อน ค.ศ. ถ้อยคำของซีโมนชวนให้คิดถึงวาจาสุดท้ายของมัทธาธีอัส (2:49ฯ, ดู 2:66; 12:15; 14:26, 36)

b ”สวรรค์โปรด” แปลตามตัวอักษรว่า “โดยพระกรุณา” (ดู 2:21)

c ลำธารนี้คงจะเป็นห้วยกาตรา ซึ่งอยู่ห่าง 1 กิโลเมตร ทางเหนือของเมืองกาตรา ระหว่างเมืองโมดีน (ห่างไปประมาณ 24 กิโลเมตร) กับเมืองอาโซตัส (หรือ “อัชโดด”) ซึ่งอยู่ห่างไปราว 13 กิโลเมตร

d “ยอห์น” ต้นฉบับไม่มีประธานของกริยา แต่คงจะเป็นยอห์นแน่ๆ เพราะซีโมนชราแล้ว (ข้อ 3)

e การจัดให้ทหารม้าอยู่ระหว่างกลางทหารราบเป็นยุทธวิธีของคนโบราณ เพื่อรับมือกับศัตรูที่มีกำลังม้ามากกว่า ตรงนี้เป็นครั้งแรกที่กล่าวถึงกองทหารม้าของชาวยิวในสมัยฮัสโมเนียน

f ซีโมนอาจได้แต่งตั้งโทเลมีให้ดูแลเขตแดนรอบเมืองเยรีโค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นยูเดีย เช่นเดียวกับที่แต่งตั้งให้ยอห์นฮีร์กันบุตรชายดูแลเมืองเกเซอร์

g ตรงกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 134 ก่อน ค.ศ.

h “โดก” เป็นป้อมอยู่บนยอดเขาใกล้เมืองเยรีโค ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า “เยเบล การันตุล” หรือภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงถูกมารผจญเป็นเวลา 40 วัน (เทียบ มธ 4:1-2; มก 1:12-13; ลก 4:1-2)

i โดยแท้จริงแล้ว บุตรทั้งสองคนของซีโมนไม่ได้ถูกฆ่าพร้อมกับบิดา และจะถูกประหารชีวิตในภายหลัง โทเลมีจับบุตรทั้งสองคนและมารดาเป็นตัวประกัน จนยอห์นฮีร์กันไม่กล้าจู่โจมป้อมโดก เพื่อช่วยชีวิตพี่น้องและมารดา โยเซฟุสเล่าว่าโทเลมีฉวยโอกาสที่ยอห์นฮีร์กันเลิกล้อม ฆ่าตัวประกันทั้งสามคน แล้วหนีไปที่เมืองฟีลาเดลเฟีย (คือ “กรุงอัมมาน” ในปัจจุบัน)

j “นายทหาร” แปลตามตัวอักษรว่า “นายพัน” (ดู 3:55; ยดธ 14:12)

k จากข้อเขียนของโยเซฟุสเรารู้ว่ายอห์นฮีร์กันหลบหนีไปกรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่นประชาชนต้อนรับเขา แต่ต่อต้านโทเลมี ซึ่งขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 พระองค์ทรงยกทัพมาล้อมกรุงเยรูซาเล็ม แต่ในที่สุดก็ทรงทำสัญญาสงบศึกกับยอห์นฮีร์กัน เมื่อกษัตริย์อันทิโอคัสสิ้นพระชนม์ในปี 129 ก่อน ค.ศ. ยอห์นฮีร์กันจึงประกาศอิสรภาพ ผู้เขียน 1 มคบ ไม่เล่าเรื่องนี้ เพราะต้องการเล่าเพียงวีรกรรมของมัทธาธีอัสและบรรดาบุตรเท่านั้น

l โยเซฟุสได้อ้างถึงและคัดลอกข้อความจาก “หนังสือพงศาวดาร” ฉบับนี้ด้วย ข้อความสุดท้ายชวนให้คิดถึงสูตรที่หนังสือพงศ์กษัตริย์เคยใช้เพื่อสรุปเหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์แห่งอิสราเอลและยูดาห์แต่ละพระองค์ (เช่น 2 พกษ 10:34) ผู้เขียน 1 มคบ คงได้เขียนหนังสือนี้หลังจากที่ยอห์นฮีร์กันถึงแก่กรรมแล้ว คือหลังปี 104 ก่อน ค.ศ.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก