“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

สงครามสี่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่a

14 1สมัยนั้นกษัตริย์อัมราเฟลแห่งแคว้นชินาร์ กษัตริย์อารีโอคแห่งเมืองเอลลาสาร์ กษัตริย์เคโดร์ลาโอเมอร์แห่งเมืองเอลาม และกษัตริย์ทิดาลแห่งเมืองโกยิม 2ทรงทำสงครามกับกษัตริย์เบราแห่งเมืองโสโดม กษัตริย์บิรชาแห่งเมืองโกโมราห์ กษัตริย์ชินาบแห่งเมืองอัดมาห์ กษัตริย์เชเมเบอร์แห่งเมืองเศโบยิม และกับกษัตริย์แห่งเมืองเบลา หรือเมืองโศอาร์b 3กษัตริย์ห้าพระองค์นี้ทรงรวมกำลังพลอยู่ที่หุบเขาสิดดิม ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นทะเลตายc 4กษัตริย์ห้าพระองค์นี้ทรงอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์เคโดร์ลาโอเมอร์มาสิบสองปีแล้ว แต่ปีที่สิบสามd ทรงกบฏต่อพระองค์ 5ปีที่สิบสี่ กษัตริย์เคโดร์ลาโอเมอร์พร้อมกับบรรดากษัตริย์พันธมิตรทรงยกทัพมาปราบชาวเรฟาอิมที่เมืองอัชทาโรทคารนาอิม ทรงปราบชาวศูซิมที่เมืองฮาม ทรงปราบชาวเอมิมที่ซาเวห์คีรียาธาอิม 6และทรงปราบชาวโฮรีแถบภูเขาเสอีร์ไปจนถึงเอลปาราน ใกล้ถิ่นทุรกันดารe 7แล้วอ้อมกลับมาถึงคาเดช หรือน้ำพุแห่งการพิพากษา ทรงตีได้ดินแดนทั้งหมดของชาวอามาเลขตลอดจนดินแดนของชาวอาโมไรต์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่ฮาซาโซนทามาร์ 8บรรดากษัตริย์แห่งเมืองโสโดม โกโมราห์ อัดมาห์ เศโบยิม และเบลาหรือโศอาร์ ทรงยกทัพออกมาสู้รบกับกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ที่หุบเขาสิดดิม 9คือกษัตริย์เคโดร์ลาโอเมอร์แห่งเมืองเอลาม กษัตริย์ทิดาลแห่งเมืองโกยิม กษัตริย์อัมราเฟลแห่งแคว้นชินาร์ และกษัตริย์อารีโอคแห่งเมืองเอลลาสาร์ กษัตริย์สี่พระองค์ทรงรบกับกษัตริย์ห้าพระองค์ 10ในหุบเขาสิดดิมมีบ่อน้ำมันดินหลายบ่อ ขณะที่กษัตริย์เมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์ทรงพยายามหนีจากสนามรบ ได้ทรงตกลงไปในบ่อน้ำมันดิน ส่วนกษัตริย์องค์อื่นทรงหลบหนีไปยังภูเขา 11กษัตริย์ที่ทรงมีชัยชนะทั้งสี่พระองค์ทรงยึดทรัพย์สมบัติทุกอย่างในเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์ รวมทั้งเสบียงอาหารด้วย แล้วทรงยกทัพกลับไป 12โลทบุตรน้องชายของอับรามอาศัยอยู่ที่เมืองโสโดม จึงถูกจับ และถูกยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดไปด้วย

          13ผู้หนีรอดคนหนึ่งมาบอกข่าวนี้แก่อับรามชาวฮีบรู ผู้อาศัยอยู่ใกล้หมู่ต้นโอ๊กของมัมเรชาวอาโมไรต์ ซึ่งเป็นพี่น้องกับเอชโคลและอาเนอร์ ทั้งสามคนนี้เป็นพันธมิตรกับอับราม 14เมื่ออับรามได้ยินว่า ญาติของตนถูกจับเป็นเชลย จึงระดมบ่าวไพร่ผู้มีความจงรักภักดีจำนวนสามร้อยสิบแปดคน ออกติดตามกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ไปจนถึงเมืองดาน 15อับรามแบ่งผู้คนของตนเข้าโจมตีศัตรูในเวลากลางคืน มีชัยชนะ ไล่ตามไปจนถึงเมืองโฮมาร์ ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองดามัสกัส 16ยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดคืนมาได้ เขานำโลทหลานชาย ทรัพย์สมบัติของโลท บรรดาผู้หญิงและคนอื่นๆ กลับมาด้วย

 

เมลคีเซเดค

          17เมื่ออับรามกลับมาจากรบชนะเคโดร์ลาโอเมอร์และบรรดากษัตริย์พันธมิตร กษัตริย์เมืองโสโดมเสด็จมาพบเขาที่หุบเขาชาเวห์ หรือหุบเขาของกษัตริย์[1] 18เมลคีเซเดคกษัตริย์เมืองซาเลม[2]ทรงเอาขนมปังและเหล้าองุ่นมาให้ พระองค์ทรงเป็นสมณะของพระเจ้าสูงสุด 19ทรงอวยพรอับรามว่าดังนี้[3]

          “อับรามจงได้รับพรจากพระเจ้าสูงสุด

                    ผู้ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน

          ขอถวายพระพรแด่พระเจ้าสูงสุด

                    เพราะพระองค์ทรงมอบศัตรูไว้ในมือของท่าน”

          20อับรามถวายหนึ่งในสิบของทุกสิ่งที่ยึดมาได้ให้แก่เมลคีเซเดค

          21กษัตริย์เมืองโสโดมตรัสกับอับรามว่า “จงคืนผู้คนให้เราเถิด ส่วนสิ่งของทั้งหมดจงเก็บเอาไว้” 22แต่อับรามทูลตอบกษัตริย์เมืองโสโดมว่า “ข้าพเจ้าขอสาบานต่อพระยาห์เวห์พระเจ้าสูงสุด[4] ผู้ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดินว่า 23ข้าพเจ้าจะไม่เอาสิ่งใดที่เป็นของพระองค์ไว้เลยแม้แต่ด้ายเส้นเดียว หรือสายรัดรองเท้า เพื่อมิให้พระองค์ตรัสได้ว่า ‘เราได้ทำให้อับรามร่ำรวย’ 24ข้าพเจ้าไม่รับสิ่งใดไว้เป็นของตนเลย ข้าพเจ้าจะรับแต่สิ่งที่บ่าวไพร่กิน และส่วนแบ่งของผู้คนที่มากับข้าพเจ้า คือเอชโคล อาเนอร์และมัมเร ให้คนเหล่านี้มารับส่วนแบ่งของเขาเถิด”

 

14 a เรื่องราวในบทนี้ไม่ได้มาจากตำนานสำคัญทั้งสามสายของหนังสือปฐมกาล (ตำนานยาห์วิสต์ เอโลฮิสต์ และตำนานสงฆ์) ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเรื่องเล่าในบทนี้เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่ บางคนคิดว่าเป็นเรื่องโบราณจากภาษาที่ใช้และจากชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ เช่น อารีโอคและทิดาล บางคนคิดว่าเป็นการเขียนเลียนแบบประวัติศาสตร์เพราะชื่อกษัตริย์สี่พระองค์จากดินแดนทิศตะวันออกไม่มีใครรู้จัก และยังเป็นไปไม่ได้ที่กษัตริย์เมืองเอลามจะมาปกครองดินแดนทางใต้ของทะเลตาย หรือเป็นผู้รวมกำลังพันธมิตรระหว่างกษัตริย์ชาวอาโมไรต์ (อัมราเฟล) กษัตริย์ชาวเซอร์เรียน (อารีโอค) และกษัตริย์ชาวฮิตไทต์ (ทิดาล) ตามความคิดเห็นดังกล่าวนี้ เรื่องนี้มีเจตนาจัดอับราฮัมให้มีบทบาทในประวัติศาสตร์โลก นอกเหนือจากคุณสมบัติอื่นๆ แล้ว เขายังมีความสามารถในการรบด้วย

b เรื่องเมืองโสโดมและโกโมราห์ ดู บทที่ 19; ส่วนเรื่องเมืองอัดมาห์และเศโบยิม ดู ฉธบ 29:22; ฮชย 11:8

c ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์โดยสำนึกว่าขณะนั้นยังไม่มีทะเลตาย (ดู 13:10) หุบเขาสิดดิม (เราไม่พบชื่อนี้อีกในพระคัมภีร์) อาจเป็นส่วนหนึ่งทางตอนใต้ของทะเลตายในปัจจุบัน (19:25 เชิงอรรถ g)

            “ทะเลตาย” ในภาษาฮีบรูว่า “ทะเลเกลือ”

d “ปีที่สิบสาม” ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “สิบสามปี”

e ชาวเรฟาอิม ชาวศูซิม (หรือชาวศัมซุมิม) ชาวเอมิม ชาวโฮรี เป็นชนชาติที่ตำนานโบราณกล่าวว่าอาศัยอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน (ดู ฉธบ 2:10 เชิงอรรถ b และ 2:12 เชิงอรรถ d) เมืองของชนเหล่านี้ตั้งอยู่เป็นระยะๆ ระหว่างทางไปทะเลแดง

[1] 2 ซมอ 18:18  กล่าวถึง “หุบเขาของกษัตริย์” ด้วย ตามความคิดเห็นของโยเซฟัส สถานที่นี้อยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณครึ่งกิโลเมตร

[2] สดด 76:2 ธรรมประเพณีของชาวยิวในสมัยหลัง และปิตาจารย์หลายคนคิดว่าเมืองซาเลมนี้เป็นเมืองเดียวกับกรุงเยรูซาเล็ม เมลคีเซเดค (เป็นชื่อคานาอัน เทียบ “อาโดนีเซเดก” กษัตริย์ของกรุงเยรูซาเล็ม ใน ยชว 10:1) เป็น “กษัตริย์  สมณะ” และ นมัสการพระเจ้าผู้สูงสุด El-Elyon ซึ่งเป็นชื่อผสม “el” กับ “Elyon” ทั้งสองนามนี้เป็นชื่อของเทพเจ้าที่ชาวเฟนีเซียนับถือ พระคัมภีร์โดยเฉพาะบทสดุดีใช้พระนาม Elyon เป็นสมญานามของพระยาห์เวห์  ในข้อความนี้ (ข้อ 22) El-Elyon เป็นพระเจ้าองค์เดียวกับพระเจ้าที่อับราฮัมนมัสการ เรื่องนี้ยังเล่าอย่างสั้น ๆ และลึกลับว่าเมลคีเซเดคเป็นกษัตริย์ของกรุงเยรูซาเล็มที่พระยาห์เวห์จะทรงเลือกเป็นสถานที่ประทับ เมลคีเซเดคยังเป็นสมณะของพระเจ้าสูงสุด ก่อนที่ชาวเลวีจะได้รับตำแหน่งหน้าที่สมณะ สดด 110:4 กล่าวถึงเมลคีเซเดคในฐานะรูปแบบของกษัตริย์ดาวิด ซึ่งเป็นรูปแบบของพระเมสสิยาห์ กษัตริย์และสมณะ  ฮบ 7 จะประยุกต์ความคิดนี้กับสมณภาพของพระคริสตเจ้า ธรรมประเพณีของบรรดาปิตาจารย์ได้พัฒนาการเปรียบเทียบนี้อย่างกว้างขวาง ขนมปังและเหล้าองุ่นที่เมลคีเซเดคนำมาให้แก่อับราฮัมเป็นภาพลักษณ์ของศีลมหาสนิท และของการถวายบูชาขอบพระคุณด้วย - ข้อ 18-20 คงได้เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง เพราะลักษณะของเมลคีเซเดคในเรื่องนี้เป็นลักษณะของมหาสมณะในช่วงหลังการเนรเทศ คือมีบทบาทและสิทธิพิเศษทั้งของกษัตริย์และหัวหน้าของบรรดาสมณะ ลูกหลานของอับราฮัมจะต้องจ่ายหนึ่งในสิบให้แก่มหาสมณะ

[3] การอวยพรเป็นวาจาที่จะเกิดผล (9:25 เชิงอรรถ g) และไม่อาจคืนคำได้ (27:33 เชิงอรรถ d; 48:18 เชิงอรรถ d) แม้มนุษย์จะเป็นผู้กล่าว คำอวยพรก็จะเกิดผลอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้ประทานพรนั้น (1:27, 28; 12:2; 28:3-4; สดด 67:1; 128:5) แต่มนุษย์ก็อาจถวายพระพรแด่พระเจ้าได้ด้วยโดยสรรเสริญความยิ่งใหญ่และความดีของพระองค์ โดยหวังที่จะเห็นคุณสมบัติเหล่านี้ชัดเจนและมากยิ่งๆ ขึ้น (24:48; อพย 18:10; ฉธบ 8:10; 1 ซมอ 25:32, 39) ในข้อความนี้มีคำอวยพรทั้งสองรูปแบบ ในพิธีกรรมของชาวอิสราเอลเราพบคำอวยพรทั้งสองรูปแบบนี้ร่วมกันด้วย (กดว 6:22; ฉธบ 27:14-26; สดด 103:1-2; 144:1; ดนล 2:19-23; ดู ลก 1:68; 2 คร 1:3; อฟ 1:3; 1 ปต 1:3)

[4] ต้นฉบับภาษากรีกและซีเรียคละคำ “พระยาห์เวห์”

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก