ปรีชาญาณยกย่องตนเองa
24. 1ปรีชาญาณยกย่องตนเอง
ประกาศสิริรุ่งโรจน์ในหมู่ประชากรของตน
2ปรีชาญาณเปิดปากกล่าวในที่ประชุมของพระผู้สูงสุด
ยกย่องตนเองเฉพาะพระพักตร์พระผู้ทรงสรรพานุภาพ ว่า
3“ข้าพเจ้าออกมาจากพระโอษฐ์พระผู้สูงสุด
และปกคลุมแผ่นดินเหมือนหมอก
4ข้าพเจ้าตั้งกระโจมอยู่ในที่สูง
บัลลังก์ของข้าพเจ้าอยู่ในกลุ่มเมฆb
5ข้าพเจ้าโคจรไปทั่วท้องฟ้าตามลำพัง
เดินเตร่ไปจนถึงเหวลึกที่สุด
6ข้าพเจ้ามีอำนาจเหนือcคลื่นของทะเล และทั่วแผ่นดิน
เหนือประชาชนและชนทุกชาติ
7ข้าพเจ้าแสวงหาที่พักผ่อนในหมู่ชนเหล่านี้
ดูว่าจะตั้งค่ายพักในดินแดนของใคร
8แล้วพระผู้ทรงเนรมิตสรรพสิ่งทรงมีพระบัญชาแก่ข้าพเจ้า
พระผู้ทรงเนรมิตข้าพเจ้าทรงกำหนดสถานที่ให้ข้าพเจ้าตั้งกระโจม
พระองค์ตรัสว่า “จงตั้งกระโจมของท่านในยาโคบ
จงรับอิสราเอลเป็นมรดกของท่าน”
9แต่แรกเริ่ม พระองค์ทรงเนรมิตข้าพเจ้าก่อนกาลเวลา
และข้าพเจ้าจะดำรงอยู่ตลอดนิรันดร
10ข้าพเจ้ารับใช้เฉพาะพระพักตร์พระองค์dในกระโจมศักดิ์สิทธิ์
ข้าพเจ้าจึงตั้งที่พำนักอยู่ในศิโยน
11พระองค์ทรงให้ข้าพเจ้าพักผ่อนในนครที่ทรงรัก
อำนาจของข้าพเจ้าอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม
12ข้าพเจ้าหยั่งรากในประชากรรุ่งเรือง
ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกไว้เป็นมรดกของพระองค์
13ข้าพเจ้าเติบโตขึ้นเหมือนต้นสนในเลบานอน
เหมือนต้นไซเปรสบนภูเขาเฮอร์โมน
14ข้าพเจ้าเติบโตดุจต้นปาล์มที่เอน-เกดดีe
ดุจต้นกุหลาบที่เมืองเยรีโค
ดุจต้นมะกอกเทศงดงามในทุ่งราบ
ข้าพเจ้าเติบโตดุจต้นเพลน
15ข้าพเจ้าส่งกลิ่นหอมเหมือนอบเชยและกระถินเทศ
ให้กลิ่นหอมเหมือนมดยอบชนิดเยี่ยม
เหมือนมหาหิงคุ์ ชะมดเชียงและกำยาน
เหมือนควันกำยานในกระโจมf
16ข้าพเจ้าแผ่กิ่งก้านเหมือนต้นมะขามเทศ
กิ่งก้านของข้าพเจ้าสง่างามและอ่อนช้อย
17ข้าพเจ้าเป็นเหมือนเถาองุ่นที่แตกกิ่งอ่อนงดงาม
ดอกของข้าพเจ้าให้ผลงามจำนวนมากg (18)
19ท่านที่ปรารถนาอยากได้ข้าพเจ้า จงมาหาข้าพเจ้าเถิด
จงกินผลของข้าพเจ้าให้อิ่ม
20เพราะความคิดถึงข้าพเจ้าหวานกว่าน้ำผึ้ง
การได้ข้าพเจ้าเป็นมรดกหวานยิ่งกว่ารวงผึ้ง
21ผู้ที่กินข้าพเจ้าแล้วจะหิวอยากกินอีก
ผู้ที่ดื่มข้าพเจ้าแล้ว ก็จะกระหายอยากดื่มข้าพเจ้าอีก
22ผู้ที่เชื่อฟังข้าพเจ้าจะไม่อับอาย
ผู้ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของข้าพเจ้าก็จะไม่ทำบาป”
ปรีชาญาณและธรรมบัญญัติh
23ทั้งหมดนี้เป็นหนังสือพันธสัญญาของพระเจ้าสูงสุด
เป็นธรรมบัญญัติที่โมเสสประกาศใช้
เป็นมรดกสำหรับบรรดาชุมชนของยาโคบi (24)
25ธรรมบัญญัติเปี่ยมล้นด้วยปรีชาญาณเหมือนแม่น้ำปิโชนj
และเหมือนแม่น้ำไทกรีสในฤดูผลไม้
26ธรรมบัญญัติให้ความเข้าใจท่วมล้นดั่งแม่น้ำยูเฟรติส
ดังแม่น้ำจอร์แดนในฤดูเก็บเกี่ยว
27ธรรมบัญญัติให้การสั่งสอนท่วมล้นดั่งแม่น้ำไนล์k
ดั่งแม่น้ำคีโฮนในฤดูเก็บผลองุ่น
28มนุษย์คนแรกไม่มีวันเข้าใจปรีชาญาณได้ทั้งหมด
มนุษย์คนสุดท้ายก็จะยังค้นคว้าปรีชาญาณอย่างสมบูรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน
29เพราะความคิดของปรีชาญาณนั้นกว้างกว่าทะเล
แผนการของปรีชาญาณลึกกว่าห้วงสมุทรที่ลึกที่สุด
30ข้าพเจ้า บุตรสิราl เป็นเหมือนลำคลองแยกมาจากแม่น้ำ
เหมือนธารน้ำที่ออกมาเพื่อรดสวน
31ข้าพเจ้าพูดว่า “ข้าพเจ้าจะรดสวนของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะรดแปลงดอกไม้ของข้าพเจ้าให้ชุ่มฉ่ำ
แต่แล้ว ลำคลองของข้าพเจ้าก็กลายเป็นแม่น้ำ
และแม่น้ำของข้าพเจ้าก็กลายเป็นทะเลm
32ข้าพเจ้าทำให้คำสอนของข้าพเจ้าทอแสงดุจรุ่งอรุณ
ให้เป็นที่ล่วงรู้จนสุดแดนไกล
33ข้าพเจ้าจะหลั่งคำสั่งสอนดุจการประกาศพระวาจา
จะมอบให้เป็นมรดกแก่อนุชนทุกรุ่นในอนาคต
34ดูซิ ข้าพเจ้ามิได้ทำงานเพื่อข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว
แต่ทำงานเพื่อทุกคนที่แสวงหาปรีชาญาณ”
24 a เราต้องเปรียบเทียบข้อความนี้กับคำปราศรัยอื่นๆของปรีชาญาณ ที่กล่าวถึงตนเอง (สภษ 1:20-33; 8:1-36; 9:1-9) และข้อความที่ยกย่องปรีชาญาณ (โยบ บทที่ 28; บรค 3:9 – 4:4) ข้อความในบทนี้มีความสำคัญที่สุดในหนังสือบุตรสิรา เพราะสรุปคำสอนทั้งหมดเกี่ยวกับปรีชาญาณ โดยกล่าวพาดพิงบ่อยๆถึงข้อความอื่นๆในพระคัมภีร์ ซึ่งผู้เขียนให้ความหมายใหม่ตามความคิดของตน ข้อความบางประโยคในบทนี้ชวนให้คิดถึงคำสอนเรื่องพระตรีเอกภาพมากกว่าที่พบได้ในหนังสือสุภาษิต คือ ปรีชาญาณเป็นหนึ่งเดียวอย่างแน่นแฟ้นกับพระเจ้า แม้จะแตกต่างจากพระองค์ มีลักษณะซึ่งในภายหลังจะประยุกต์ใช้กับพระวจนาตถ์และพระจิตเจ้า ดูเหมือนว่าข้อความนี้เป็นแรงบันดาลใจของอารัมภบทในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น ซึ่งกล่าวถึงพระวจนาตถ์ว่ามีคุณลักษณะและกิจการหลายประการของปรีชาญาณ
b “กลุ่มเมฆ” – ข้อความเก่าแก่ที่สุดในพระคัมภีร์กล่าวถึง “กลุ่มเมฆ” ว่าเป็นการแสดงว่าพระยาห์เวห์ประทับอยู่ที่นั่น
c “มีอำนาจเหนือ” แปลตามสำเนาโบราณภาษากรีกฉบับหนึ่งและตามสำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียคและภาษาละติน – ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ได้รับมาเป็นกรรมสิทธิ์”
d บุตรสิราคิดว่าพิธีกรรมในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเป็นผลงานอีกประการหนึ่งของปรีชาญาณ เพราะว่าพิธีกรรมแสดงถึงความบริบูรณ์ของพระเจ้าเช่นเดียวกับระเบียบในจักรวาล หรือเพราะว่าธรรมบัญญัติซึ่งเป็นผลของปรีชาญาณกำหนดรายละเอียดต่างๆสำหรับพิธีกรรมด้วย (ดู บสร 24:23ฯ)
e “เอน-เกดดี” – แปลตามสำเนาโบราณภาษากรีก 2 ฉบับ – ตัวบทภาษากรีกที่ใช้กัน (Textus receptus) ว่า “ที่ชายทะเล”
f ปรีชาญาณมีบทบาทในพิธีกรรมของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม (24:10 เชิงอรรถ d) หลังจากกล่าวถึงเครื่องหอมตามธรรมชาติชนิดต่างๆแล้ว บุตรสิราก็เปรียบปรีชาญาณกับควันกำยานที่ใช้ในพิธีกรรม * ชื่อเครื่องหอมเหล่านี้ยากที่จะแปลให้ถูกต้องได้ จึงเป็นการแปลโดยคาดคะเน เครื่องหอมหลายชนิดได้มาจากยางไม้ที่มีกลิ่นหอม เมื่อเผาจึงมีควันหอมคล้ายกำยานที่ใช้ในพิธีกรรม (เทียบ อพย 30:23,34)
g สำเนาโบราณภาษากรีก Gk 248 และสำนวนแปลโบราณภาษาละตินเสริมข้อ 18 ว่า “18ข้าพเจ้าเป็นมารดาแห่งความรักบริสุทธิ์ ความยำเกรง ความรู้ และความหวังแน่วแน่” สำเนาโบราณ Gk 248 ยังเสริมต่อไปว่า “พระเจ้าประทานข้าพเจ้าซึ่งดำรงอยู่ตั้งแต่นิรันดรให้แก่บรรดาบุตรที่ทรงเลือกสรร” – ส่วนสำนวนแปลโบราณภาษาละตินอ่านข้อความสุดท้ายนี้ว่า “ในข้าพเจ้ามีพระหรรษทานทุกประการที่ให้ชีวิตและความจริง ในข้าพเจ้ามีความหวังทุกประการที่นำชีวิตและพละกำลัง” ข้อความนี้อาจเป็นคำอธิบายของผู้คัดลอกที่กล่าวพาดพิงถึง ยน 14:6 เพราะคิดว่าพระคริสตเจ้าคือพระปรีชาญาณของพระเจ้า
h คำปราศรัยของปรีชาญาณจบลงที่นี่ ผู้เขียน (บุตรสิรา) อธิบายว่าปรีชาญาณก็คือธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่ชาวอิสราเอลทางโมเสสนั่นเอง
i สำเนาโบราณภาษากรีก Gk 248 เสริมข้อ 24 ว่า “24อย่าเลิกที่จะรับพลังจากองค์พระผู้เป็นเจ้า จงยึดมั่นในพระองค์ พระองค์จะได้ประทานพลังแก่ท่าน องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงอานุภาพแต่พระองค์เดียวเป็นพระเจ้า ไม่มีผู้ช่วยให้รอดพ้นใดนอกจากพระองค์”
j ในข้อความตอนนี้ ผู้เขียนคิดถึงสวนเอเดนที่มีแม่น้ำสี่สาย (ปฐก 2:10ฯ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
k “ท่วมล้นดังแม่น้ำไนล์” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียค – ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ส่องแสงเหมือนแสงสว่าง”
l “ข้าพเจ้า บุตรสิรา” แปลตามตัวอักษรว่า “ข้าพเจ้า” -- แต่จากบริบท เราเข้าใจว่าผู้พูดเวลานี้คือผู้เขียน ซึ่งได้แก่บุตรสิรา กำลังแสดงตนเป็นเหมือน “คลองส่งน้ำ” ที่ผันน้ำเข้ามาในสวนเล็กๆของตนจากแม่น้ำใหญ่ ซึ่งได้แก่ปรีชาญาณที่ส่งน้ำให้ชีวิตแก่ชนอิสราเอลทั้งชาติ
m ผู้เขียนขยายการเปรียบเทียบว่าพระกรุณาของพระเจ้าทำให้น้ำในคลองของตนเพิ่มปริมาณอย่างมาก จนตัวเขาเป็นเสมือนประกาศกที่ประกาศพระวาจาแก่อนุชนชาวอิสราเอลในอนาคตอีกด้วย (ข้อ 33) – ผู้เขียนคงได้รับความคิดนี้มาจากข้อความใน อสย 11:9 และ อสค 47:1-12 * สำนวนแปลภาษาละตินเข้าใจว่าผู้พูดในที่นี้คือ “พระปรีชาญาณ” ซึ่งได้แก่พระคริสตเจ้า จึงเสริมข้อความว่า “ ข้าพเจ้าจะเข้าไปในขุมลึกของแผ่นดิน จะไปพบทุกคนที่กำลังนอนหลับอยู่ จะส่องแสงทุกคนที่มีความหวังในองค์พระผู้เป็นเจ้า”