“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“เอาเขาไปตรึงกางเขน”  
80. พระเยซูเจ้าต่อหน้าปีลาต (มก 15:1-15) 

151ครั้นรุ่งเช้า บรรดาหัวหน้าสมณะ พร้อมกับผู้อาวุโส ธรรมาจารย์ และบรรดาสมาชิกสภาซันเฮดรินทุกคน ประชุมตกลงกัน สั่งให้มัดพระเยซูเจ้า และนำไปมอบให้ปีลาต 2ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านพูดเองแล้ว” 3บรรดาหัวหน้าสมณะพยายามกล่าวหาพระองค์หลายประการ 4ปีลาตจึงถามพระองค์อีกว่า “ท่านไม่ตอบอะไรหรือ เห็นไหม เขากล่าวหาท่านหลายประการทีเดียว” 5แต่พระเยซูเจ้ามิได้ตรัสตอบอีก ทำให้ปีลาตประหลาดใจมาก 6ทุกปีในเทศกาลปัสกา ปีลาตเคยปล่อยนักโทษหนึ่งคนตามคำขอของประชาชน 7ชายคนหนึ่งชื่อ บารับบัส ถูกจองจำพร้อมกับพวกกบฏที่ฆ่าคนในการจลาจล 8เมื่อประชาชนขึ้นไปขอให้ปีลาตปล่อยนักโทษตามประเพณีที่เคยทำ 9ปีลาตถามว่า “ท่านต้องการให้เราปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” 10ปีลาตรู้อยู่แล้วว่าบรรดาหัวหน้าสมณะมอบพระองค์ให้เพราะความอิจฉา 11แต่บรรดาหัวหน้าสมณะเสี้ยมสอนยุยงประชาชนให้ขอปีลาตปล่อยตัวบารับบัสแทนที่จะปล่อยพระเยซูเจ้า 12ปีลาตถามเขาอีกว่า “ท่านจะให้ข้าพเจ้าทำอะไรกับคนนี้ที่ท่านเรียกว่ากษัตริย์ของชาวยิว” 13ประชาชนร้องตะโกนตอบว่า “เอาเขาไปตรึงกางเขน” 14ปีลาตถามว่า “เขาทำผิดอะไร” แต่ประชาชนร้องตะโกนดังยิ่งขึ้นว่า “เอาเขาไปตรึงกางเขน” 15ปีลาตต้องการเอาใจประชาชน จึงปล่อยบารับบัสไป แล้วสั่งให้โบยตีพระเยซูเจ้า มอบพระองค์ให้เขานำไปตรึงบนไม้กางเขน

          เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเช้าวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวันที่หกของสัปดาห์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 6 เมื่อปาเลสไตน์ตกอยู่ใต้อำนาจปกครองโดยตรงของโรมัน สภาซันเฮดรินยังคงมีอำนาจปกครองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใด สิทธิการประหารชีวิตสงวนไว้สำหรับผู้ว่าราชการโรมันเท่านั้น (เทียบ ยน 18:31) ด้วยเหตุนี้ เมื่อสมาชิกทุกคนของสภาซันเฮดรินตัดสินว่าพระเยซูเจ้า “ควรรับโทษถึงตาย” (14:64) ในฐานะพูดดูหมิ่นพระเจ้า เขาทั้งหลายจำเป็นต้องขอร้องปีลาต ผู้ว่าราชการในสมัยนั้นให้รับรองการตัดสินลงโทษนี้

- ครั้นรุ่งเช้า ต้นฉบับภาษากรีก ประโยคดังกล่าวนี้เริ่มต้นด้วยคำว่า “และทันที” ซึ่งเป็นวลีเฉพาะของนักบุญมาระโก เพื่อรื้อฟื้นเรื่องเล่าการพิจารณาคดีที่ยังคงค้างอยู่ เพราะได้นำเรื่องนักบุญเปโตรปฏิเสธพระเยซูเจ้าเข้ามาคั่นไว้ โดยแท้จริงแล้ว ผู้นิพนธ์พระวรสารทุกคนเชื่อมโยงการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าต่อหน้าสภาซันเฮดรินกับการพิจารณาคดีต่อหน้าปีลาตในลักษณะที่แตกต่างกัน แม้ทุกคนเล่าเช่นเดียวกันว่า พระเยซูเจ้าทรงปรากฏต่อหน้าปีลาตในเช้าวันศุกร์ แต่นักบุญลูกากล่าวว่า การพิจารณาคดีครั้งนี้เกิดขึ้นทันทีหลังจากจบการประชุมครั้งเดียวของสภาซันเฮดรินซึ่งเกิดขึ้นในตอนเช้า ส่วนนักบุญมัทธิวและนักบุญมาระโกพร้อมกับนักบุญยอห์นเล่าว่าการประชุมนี้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ตอนกลางคืนทันทีหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงถูกจับกุม ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์พยายามอธิบายความขัดแย้งนี้หลายวิธีการ แต่ดูเหมือนว่าสภาซันเฮดรินชุมนุมกันอย่างไม่เป็นทางการในเวลากลางคืนหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงถูกจับกุมแล้ว และการประชุมดังกล่าวอาจจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงรุ่งเช้า หรือหยุดชะงักและดำเนินต่อเนื่องไปจนจบในตอนเช้า โดยตัดสินที่จะมอบพระเยซูเจ้าไว้ในเงื้อมมือของผู้ว่าราชการ

- บรรดาหัวหน้าสมณะ พร้อมกับผู้อาวุโส ธรรมาจารย์ และบรรดาสมาชิกสภาซันเฮดรินทุกคนประชุมตกลงกัน นักบุญมาระโกเน้นเป็นพิเศษว่า สมาชิกทุกคนในสภาซันเฮดรินต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินลงโทษพระเยซูเจ้า และเวลาเดียวกัน เขาชี้แจงความอยุติธรรมในการพิจารณาคดีของหัวหน้าชาวยิว ดังที่ปรากกฎชัดเจนในการร้องขอต่อปีลาต หัวหน้าชาวยิวจะพยายามให้ทั้งปีลาตและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการตัดสินลงโทษพระเยซูเจ้า 

- สั่งให้มัดพระเยซูเจ้าและนำไปมอบให้ปีลาต ประโยคนี้เทียบได้กับเรื่องพระเยซูเจ้าทรงทำนายครั้งที่สองถึงพระทรมาน (9:31) และครั้งที่สาม (10:33) ดูเหมือนว่าสภาซันเฮดรินมีอำนาจตัดสินลงโทษผู้ใดให้ถูกประหารชีวิตแต่ไม่สามารถลงมือปฏิบัติ ถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการโรมัน ปีลาตเป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 26-36 เมื่อถูกเจ้าปกครองแคว้นซีเรียไล่ออกจากตำแหน่ง เพราะเขาสั่งให้ฆ่าชาวสะมาเรียจำนวนมากผู้ไม่มีความผิด ซึ่งแสดงว่าเขาเป็นคนโหดร้ายและมีใจแข็งกระด้าง แตกต่างจากเรื่องเล่าในพระวรสารที่บันทึกว่าปีลาตเป็นคนลังเลใจและมีจิตใจอ่อนแอ เขามักจะพำนักอยู่ที่เมืองซีซารียา แต่มาที่กรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลฉลองปัสกา     เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้เดินทางมาแสวงบุญมิให้ก่อการจลาจล

- ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” นักบุญมาระโกพร้อมกับนักบุญมัทธิวไม่ได้บันทึกคำกล่าวหาปรักปรำพระเยซูเจ้า ซึ่งหัวหน้าชาวยิวนำมาฟ้องปีลาต ดังนั้น เราจึงเข้าใจได้ยากว่า ทำไมผู้ว่าราชการโรมันถามพระองค์เช่นนี้ ซึ่งเป็นคำตัดสินลงโทษของสภาซันเฮดริน อย่างไรก็ตาม เราจึงจำเป็นต้องตระหนักตามความคิดของ ลก 23:2 และ ยน 18:29-37 ที่บันทึกว่าผู้กล่าวหาพระเยซูเจ้าไม่สามารถอ้างเหตุผลแท้จริงว่าพระองค์ทรงถูกตัดสินลงโทษให้ประหารชีวิตเพราะกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า  ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้ว่าราชการโรมันไม่สนใจ เขาทั้งหลายจึงบิดเบือนคำอ้างของพระองค์ที่ประกาศว่าเป็นพระเมสสิยาห์ (เทียบ 14:62) ทางด้านจิตใจ แต่กลับนำเสนอภาพของพระเมสสิยาห์ที่เป็นนักรบผู้เป็นกบฏต่อรัฐบาลโรม โดยสรุปในคำกล่าวหาที่ว่าเป็นกษัตริย์ของชาวยิว

- พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านพูดเองแล้ว” ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ถกเถียงกันว่า คำตอบนี้ของพระเยซูเจ้ามีความหมายอะไรกันแน่ คงไม่เป็นคำปฏิเสธเหมือนกับตรัสว่า “เราไม่เป็นกษัตริย์” ดังที่คนทั่วไปอาจพูดว่า “ท่านพูดเอง” เพื่อปฏิเสธสิ่งที่ผู้อื่นพูด ในทำนองเดียวกัน คำตอบนี้ก็ไม่เป็นการยืนยันว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ ดังนั้น จึงเป็นคำตอบที่คลุมเครือ ซึ่งในแง่หนึ่ง แสดงว่าพระองค์ทรงยอมรับพระนามกษัตริย์ของชาวยิว แต่อีกแง่หนึ่ง ไม่ทรงเป็นกษัตริย์ในความหมายที่คนทั่วไปคิด ดังที่พระวรสารอธิบายมาโดยตลอด

- หัวหน้าสมณะพยายามกล่าวหาพระองค์หลายประการ นักบุญมาระโกไม่ได้บอกว่า    หัวหน้าสมณะชาวยิวกล่าวหาพระเยซูเจ้าเรื่องใด นอกจากทรงเป็นกษัตริย์ ส่วนนักบุญลูกาบันทึกว่า “เราพบคนคนนี้ยุยงประชาชนของเรา ห้ามเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิและอ้างว่าตนเป็นพระคริสต์ กษัตริย์” (ลก 23:2) อย่างไรก็ตาม นักบุญมาระโกเน้นอยู่เสมอว่า หัวหน้าชาวยิวในฐานะที่เป็นผู้แทนประชากรอิสราเอล ต้องเป็นผู้รับผิดชอบอันดับแรกของการประหารชีวิตพระเยซูเจ้า

- ปีลาตจึงถามพระองค์อีกว่า “ท่านไม่ตอบอะไรหรือ เห็นไหม เขากล่าวหาท่านหลายประการทีเดียว” แต่พระเยซูเจ้ามิได้ตรัสตอบอีก เช่นเดียวกับต่อหน้าสภาซันเฮดริน พระเยซูเจ้าไม่ทรงตอบเพื่อป้องกันพระองค์เองจากข้อกล่าวหาต่าง ๆ พฤติกรรมนี้ “ทำให้ปีลาตประหลาดใจมาก”   ท่าทีนี้แปลกมากซึ่งทำให้คริสตชนสมัยแรก ๆ ประทับใจ เพราะชวนให้คิดถึงภาพผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ ซึ่งเปรียบเหมือน “ลูกแกะที่ไม่ร้องขณะนำไปฆ่า (เทียบ อสย 53:7) ความเงียบนี้ประกาศความบริสุทธิ์ของพระเยซูเจ้าอย่างสง่างาม และพระวรสารทั้งสี่ฉบับก็บันทึกว่า ปีลาตประกาศความบริสุทธิ์ของพระเยซูเจ้าด้วยคำพูดของเขา (เทียบ 15:14; มธ 27:13; ลก 23:4,14, 22; ยน 19:4,6)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก