“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“เอาเขาไปตรึงกางเขน”  
80. พระเยซูเจ้าต่อหน้าปีลาต (2)

- ทุกปีในเทศกาลปัสกา ปีลาตเคยปล่อยนักโทษหนึ่งคนตามคำขอของประชาชน นักบุญมาระโกพร้อมกับนักบุญมัทธิว (เทียบ มธ 27:15) และนักบุญยอห์น (เทียบ ยน 18:39) เป็นพยานถึงขนบธรรมเนียมนี้ ส่วนนักบุญลูกาไม่กล่าวถึงเรื่องนี้เลยทั้ง ๆ ที่บันทึกไว้ว่า ประชาชนเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการปลดปล่อยบารับบัส (เทียบ ลก 23:18 ฯ) ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์บางคนคิดว่า ไม่เคยมีขนบธรรมเนียมนี้เพราะขัดแย้งกับกระบวนการกฎหมายของชาวโรม และไม่มีบันทึกในวรรณคดีของชาวโรมันเลย ผู้นิพนธ์พระวรสารอาจขยายการอภัยโทษในบางกรณีว่าเป็นขนบธรรมเนียมทุกปี เพื่อเน้นว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แทนผู้มีความผิดที่ได้รับการปลดปล่อย

- ชายคนหนึ่งชื่อ บารับบัส ถูกจองจำพร้อมกับพวกกบฏที่ฆ่าคนในการจลาจล หลายคนในสมัยนั้นมีชื่อว่า บารับบัส ซึ่งมีความหมายในภาษาอาราเมอิกว่า “บุตรของบิดา” อาจจะใช้ในกรณีที่ไม่รู้จักชื่อของบิดาก็ได้ นักบุญมัทธิวบันทึกว่าบารับบัสผู้นี้ “เป็นนักโทษอุกฉกรรจ์คนหนึ่ง” (มธ 27:16) ซึ่งคงจะเป็นหัวหน้าของกลุ่มที่เป็นกบฏต่อการปกครองของชาวโรมัน

- เมื่อประชาชนขึ้นไปขอให้ปีลาตปล่อยนักโทษตามประเพณีที่เคยทำ “ขึ้นไป” รายละเอียดนี้แสดงว่า จวนผู้ว่าราชการตั้งอยู่บนที่สูงตรงกับเนินทางทิศตะวันตก ซึ่งเคยมีราชวังของกษัตริย์เฮโรดมหาราชตั้งอยู่

- ปีลาตถามว่า “ท่านต้องการให้เราปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” นักบุญมาระโกเล่าว่า ประชาชนมาที่จวนผู้ว่าราชการเพื่อขอให้ปล่อยนักโทษโดยไม่ได้คิดถึงพระเยซูเจ้า ปีลาตจึงฉวยโอกาสนี้เสนอให้ปล่อยพระเยซูเจ้า เพื่อทำให้ตนพ้นจากสถานการณ์ที่แก้ไม่ตก แต่บรรดาหัวหน้าสมณะทำให้แผนนี้ต้องล้มเหลวโดยเสนอชื่อบารับบัส ส่วนนักบุญมัทธิวเล่าเหตุการณ์โดยทำให้ปีลาตเป็นผู้เสนอที่จะปล่อยนักโทษคนหนึ่ง และให้ประชาชนเลือกเอาระหว่างบารับบัสกับพระเยซูเจ้า (เทียบ มธ 27:17) ปีลาตคงคิดว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ มิฉะนั้นแล้ว เขาคงจะไม่เสนอให้ประชาชนเรียกร้องให้ปลดปล่อยพระองค์      แต่ในเวลาเดียวกัน ปีลาตใช้ยุทธวิธีผิด ๆ เพราะเขาเองได้เรียกพระเยซูเจ้าว่า “กษัตริย์ของชาวยิว” และคงคิดว่าประชาชนมีใจเป็นกลาง ไม่ได้รับอิทธิพลจากสมาชิกสภาซันเฮดริน

- ปีลาตรู้อยู่แล้วว่าบรรดาหัวหน้าสมณะมอบพระองค์ให้เพราะความอิจฉา นักบุญมาระโกสรุปคำตัดสินของปีลาตเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยสังเกตสาเหตุของคดีในความอิจฉาของหัวหน้าชาวยิว ซึ่งไม่สนใจที่จะแสดงความซื่อสัตย์ต่อรัฐบาลโรมตามที่เขาอ้างถึง แต่สนใจเพียงผลประโยชน์ของเขาต่อหน้าประชาชน

- แต่บรรดาหัวหน้าสมณะเสี้ยมสอนยุยงประชาชนให้ขอปีลาตปล่อยตัวบารับบัสแทนที่จะปล่อยพระเยซูเจ้า ปีลาตคงมองข้ามว่าสมาชิกสภาซันเฮดรินมีอิทธิพลเหนือประชาชน

- ปีลาตถามเขาอีกว่า “ท่านจะให้ข้าพเจ้าทำอะไรกับคนนี้ที่ท่านเรียกว่ากษัตริย์ของชาวยิว” บางทีคำถามของปีลาตเกี่ยวกับชะตากรรมของพระเยซูเจ้าอาจมาจากเจตนาของเขาที่จะช่วยพระเยซูเจ้าให้พ้นจากการลงโทษ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นี่เป็นการกระทำที่แสดงถึงความอ่อนแอของเขาต่อหน้าประชาชน เพราะเขาไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากประชาชน เพื่อจะตัดสินเด็ดขาดว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์

- ประชาชนร้องตะโกนตอบว่า “เอาเขาไปตรึงกางเขน” ประชาชนร้องตะโกนเสียงดังให้ประหารชีวิตพระเยซูเจ้า โดยการตรึงบนไม้กางเขน ซึ่งเป็นการรับทรมานที่รับมาจากอาณาจักรเปอร์เซีย และชาวโรมันจำเป็นต้องมีทหารโรมันเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นการลงโทษที่โหดเหี้ยมและเหยียดหยามมากที่สุด ใช้สำหรับลงโทษทาสที่เป็นฆาตกร ผู้ทรยศ และผู้เป็นกบฏ แต่ห้ามปฏิบัติกับพลเมืองชาวโรมัน ซึ่งจะต้องถูกประหารชีวิตด้วยวิธีอื่น เช่น การตัดศีรษะ 

- ปีลาตถามว่า “เขาทำผิดอะไร” แต่ประชาชนร้องตะโกนดังยิ่งขึ้นว่า “เอาเขาไปตรึงกางเขน” คำถามนี้สะท้อนคำถามของคริสตชนที่ถูกรัฐบาลโรมเบียดเบียนในสมัยแรก ๆ ในข้อครหาที่เป็นอันตรายสำหรับจักรวรรดิโรมัน น่าสังเกตว่า นักบุญมาระโกทำให้ผู้ว่าราชการโรมันเองยืนยันความบริสุทธิ์ของพระเยซูเจ้าและของคริสตชน

- ปีลาตต้องการเอาใจประชาชน จึงปล่อยบารับบัสไป แล้วสั่งให้โบยตีพระเยซูเจ้า การที่ปีลาตสั่งให้โบยตีพระเยซูเจ้าเป็นการกระทำไร้เหตุผล เพราะเขาได้ยืนยันหลายครั้งว่าพระองค์ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่เขาตัดสินเช่นนี้เพื่อเอาใจประชาชนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตามธรรมเนียมของชาวโรมันก่อนที่นักโทษจะถูกตรึงบนไม้กางเขน เขามักจะถูกเฆี่ยนด้วยแส้ซึ่งมีลักษณะเป็นสายเชือกบิดเป็นเกลียว และทำให้แข็งแรงขึ้นโดยติดด้วยเศษกระดูกหรือเศษโลหะ  ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเล่าว่า ปีลาตเสนอให้ประชาชนเลือกการลงโทษระหว่างการโบยตีกับการตรึงบนไม้กางเขน (เทียบ ลก 23:16, 22)   ส่วนในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นเล่าว่า พระเยซูเจ้าทรงถูกโบยตีก่อนที่ปีลาตจะมีมติตัดสินลงโทษพระองค์ (เทียบ ยน 19:1) ชาวโรมันมักโบยตีนักโทษก่อนที่จะถูกตรึงบนไม้กางเขน เพื่อทำให้เขาอ่อนเปลี้ยจนหมดแรง จะได้ไม่รู้สึกทรมานนานจนเกินไปเมื่อต้องถูกตรึงบนไม้กางเขน ตามกฎหมายชาวโรม นักโทษจะถูกผูกไว้กับเสาและรับการเฆี่ยนตีไม่เกิน 39 ที

- มอบพระองค์ให้เขานำไปตรึงบนไม้กางเขน น่าสังเกตว่า การเล่าเรื่องพระทรมานของพระเยซูเจ้าใช้กริยาคำว่า “มอบ” บ่อย ๆ เพื่อเน้นขั้นตอนต่าง ๆ คือยูดาสมอบพระเยซูเจ้าแก่บรรดาหัวหน้าสมณะ (เทียบ 14:10, 41) คนเหล่านี้มอบพระองค์แก่ปีลาต (เทียบ 15:1, 10) และปีลาตมอบพระองค์แก่บรรดาทหาร

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก