“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์

“พระเยซูเจ้าตรัสว่า เราเป็น”  
78. พระเยซูเจ้าทรงถูกพิจารณาคดีในสภาซันเฮดริน (2)
-มหาสมณะจึงลุกขึ้นยืนกลางที่ชุมนุม ถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านไม่ตอบอะไรหรือ พยานเหล่านี้ตั้งข้อกล่าวหาอะไรปรักปรำท่าน” บางคนแปลว่า “ท่านไม่ตอบอะไรในข้อหาที่พยานเหล่านี้ตั้งมาปรักปรำท่านเลยหรือ” (เทียบ มธ 26:62) นักบุญมาระโกนำเสนอคำถามนี้ของมหาสมณะอย่างสง่างาม ซึ่งแสดงความหน้าซื่อใจคดของคู่อริ ที่เชิญชวนพระเยซูเจ้าให้ทรงปกป้องตนเองจากคำกล่าวหา ขณะที่นักบุญมาระโกได้ประกาศบ่อย ๆ แล้วว่า คำกล่าวหานั้นเป็นคำกล่าวเท็จ

-แต่พระองค์ทรงนิ่ง มิได้ตรัสตอบแต่ประการใด
พระองค์จะทรงนิ่งต่อหน้าปีลาตด้วย (15:5) ท่าทีนี้ชวนให้คิดถึงความเงียบของผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ (เทียบ อสย 53:7; สดด 38:14-15; 39:3,10; กจ 8:32)

-มหาสมณะจึงถามพระองค์อีกว่า “ท่านเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้ควรรับการถวายพระพรหรือ” “พระผู้ควรได้รับการถวายพร” (เทียบ “พระผู้ทรงอานุภาพ” ข้อ 62) เป็นคำที่ใช้แทนการออกพระนาม “พระยาห์เวห์” โดยตรง ซึ่งธรรมเนียมของชาวยิวจะไม่ออกพระนามพระยาห์เวห์เลย สมาชิกของสภาซันเฮดรินคงจะได้ยินประชาชนที่เรียกพระเยซูเจ้าว่าเป็นพระเมสสิยาห์ มหาสมณะจึงตั้งคำถามนี้เพื่อบังคับพระองค์ให้ตรัสตอบรับรองว่า เคยประกาศตนว่าเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรของพระเจ้า เพื่อจะได้มีข้อกล่าวหาพระองค์อย่างชัดเจน น่าสังเกตคำว่าสำนวน “พระบุตรของพระเจ้า” ตามความคิดของมหาสมณะยังไม่มีความหมายตรงกับความเชื่อของคริสตชนที่ยืนยันว่า พระองค์ทรงมีพระธรรมชาติพระเจ้า แต่มีความหมายเพียงว่า เป็นพระเมสสิยาห์ กษัตริย์

-พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็น” พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่า พระองค์เป็นพระคริสต์และพระบุตรของพระเจ้า ดังที่นักบุญมาระโกประกาศในข้อแรกของพระวรสาร และพระบิดาเจ้าทรงรับรองเมื่อพระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้าง และทรงสำแดงความรุ่งโรจน์บนภูเขา (1:11; 9:7) นักบุญเปโตรก็เช่นกันประกาศความจริงนี้ที่เมืองซีซารียา (เทียบ 8:29) และนายร้อยจะประกาศความจริงนี้บนภูเขากลโกธา (เทียบ 15:39)

- และท่านทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์ประทับนั่ง ณ เบื้องขวาของพระผู้ทรงอานุภาพ และจะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆบนท้องฟ้า” คำตอบของพระเยซูเจ้านี้ประกอบด้วยข้อความจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ เราพบสำนวน “บุตรแห่งมนุษย์” หลายครั้งแล้วในพระวรสารฉบับนี้ น่าสังเกตว่า พระเยซูเจ้าพระองค์เท่านั้นทรงใช้สำนวนภาษาเซมิติกนี้เพื่ออ้างถึงพระองค์เอง (เทียบ 2:10,28; 8:31,38; 9:9,12,31; 10:33,45; 13:26; 14:21,41) “ส่วนวลี “ประทับนั่ง ณ เบื้องขวาของพระผู้ทรงอานุภาพ” มาจากหนังสือเพลงสดุดีบทที่ 110 ข้อ 1 (เทียบ มธ 22:44; มก 12:36; ลก 20:42; กจ 2:34; ฮบ 1:13) และสำนวน “พระผู้ทรงอานุภาพ” เป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่ออ้างถึงพระเจ้าโดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้พระนามของพระองค์ ดังนั้น ข้อความนี้ประกาศการเทิดทูนและพระสิริรุ่งโรจน์ของบุตรแห่งมนุษย์ ในฐานะที่เป็นพระเมสสิยาห์ กษัตริย์ และผู้ปกครองชนชาติทั้งหลายบนแผ่นดิน (เทียบ อฟ 1:20; คส 3:1; ฮบ 1:3; 10:12; 12:2) อีกวลีหนึ่งที่ว่า “จะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆบนท้องฟ้า” เป็นข้อความที่คัดมาจากหนังสือดาเนียล ในบทที่ 7 ข้อ 13 ซึ่งนำเสนอว่า บุตรแห่งมนุษย์ขณะที่เสด็จมาจากท้องฟ้า เพื่อปฏิบัติอำนาจการพิพากษาสูงสุดเหนือมนุษย์ทุกคน สมาชิกของสภาซันเฮดรินรู้จักข้อความที่พระเยซูเจ้าตรัสถึง และเข้าใจว่าพระองค์ทรงอ้างว่าเป็นพระเมสสิยาห์

- มหาสมณะจึงฉีกเสื้อของตน การกระทำนี้เป็นพิธีที่ธรรมประเพณียิวกำหนดไว้ เพื่อแสดงความทุกข์และความระทมใจ (เทียบ ปฐก 37:29; 2 พกษ 13:37; ยดธ 14:39; 2 มคบ 4:38) แต่หนังสือเลวีนิติห้ามไม่ให้มหาสมณะกระทำเช่นนี้ (เทียบ ลวต 1:11; 9:7) พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาไม่กล่าวถึงรายละเอียดนี้

- แล้วกล่าวว่า “เราจะต้องการพยานอะไรอีก ท่านทั้งหลายต่างได้ยินเขาพูดดูหมิ่นพระเจ้าแล้ว ท่านคิดเห็นอย่างไร”
การที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าจะประทับนั่ง ณ เบื้อขวาของพระเจ้า และในเวลาเดียวกัน จะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆบนท้องฟ้าหมายความว่า พระองค์ทรงอ้างถึงคุณลักษณะพิเศษของพระเจ้า (เทียบ 2:7) พระองค์จึงทรงละเมิดธรรมบัญญัติ (เทียบ อพย 22:27; ลวต 24:15-16)

- เขาทุกคนตัดสินว่า พระองค์ควรรับโทษถึงตาย (เทียบ ยน 19:7) คำกริยาที่นักบุญมาระโกใช้ในที่นี้ไม่ค่อยมีความหมายเกี่ยวกับการตัดสินลงโทษอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการรับรองคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตที่ได้ประกาศไว้แล้ว

- บางคนถ่มน้ำลายรดพระองค์
จากบริบทดูเหมือนว่าคนเหล่านี้เป็นสมาชิกของสภาซันเฮดริน ต่างจากบรรดาผู้รับใช้ที่จะกล่าวถึงในข้อต่อไป บางทีข้อเขียนของนักบุญลูกาน่าจะสมเหตุสมผลมากกว่า เพราะเขาเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าทรงถูกสบประมาทจากบรรดาผู้รับใช้ ก่อนที่จะทรงถูกพิจารณาคดีต่อหน้าสภาซันเฮดริน

- ใช้ผ้าปิดพระพักตร์ ชกต่อยพระองค์ และพูดว่า “จงทายซิ” บรรดาผู้รับใช้ก็ตบตีพระองค์ด้วย ต้นฉบับในภาษากรีก ข้อความนี้ไม่แน่นอน แต่การแปลในที่นี้เป็นข้อความในต้นฉบับส่วนใหญ่ สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “ใครเป็นคนตีท่าน” เพื่อให้เหมือนกับข้อความใน มธ 26:68 และ ลก 22:64 พระเยซูเจ้าทรงประกาศล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่นี้ (เทียบ 9:12; 10:34) ประกาศกอิสยาห์ทำนายถึงเรื่องอย่างชัดเจนด้วย เมื่อพูดถึงผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ (เทียบ อสย 19:7; 50:6 ; 53 :3-7)

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก