“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์

“พระเยซูเจ้าตรัสว่า เราเป็น”  
78. พระเยซูเจ้าทรงถูกพิจารณาคดีในสภาซันเฮดริน (มก 14:53-65) 

1453บรรดาผู้ที่จับกุมพระเยซูเจ้านำพระองค์ไปยังบ้านของมหาสมณะ บรรดาหัวหน้าสมณะ ผู้อาวุโสและธรรมาจารย์ทุกคนชุมนุมกันที่นั่น 54ส่วนเปโตรติดตามพระองค์ไปห่างๆ จนเข้าถึงภายในลานบ้านของมหาสมณะ และนั่งผิงไฟอยู่กับบรรดาผู้รับใช้ 55บรรดาหัวหน้าสมณะและสมาชิกสภาซันเฮดรินทุกคนพยายามหาพยานเพื่อกล่าวหาพระเยซูเจ้า และประหารชีวิตพระองค์ แต่เขาหาพยานไม่ได้ 56พยานเท็จหลายคนปรักปรำพระองค์ แต่คำให้การของเขาไม่ตรงกัน 57บางคนลุกขึ้นให้การเท็จปรักปรำพระองค์ว่า 58“เราได้ยินเขาพูดว่า ‘ฉันจะทำลายวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์นี้ และภายในสามวัน จะสร้างขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์’“ 59แม้กระทั่งเรื่องนี้ คำให้การของพยานก็ไม่ตรงกัน 60มหาสมณะจึงลุกขึ้นยืนกลางที่ชุมนุม ถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านไม่ตอบอะไรหรือ พยานเหล่านี้ตั้งข้อกล่าวหาอะไรปรักปรำท่าน” 61แต่พระองค์ทรงนิ่ง มิได้ตรัสตอบแต่ประการใด มหาสมณะจึงถามพระองค์อีกว่า “ท่านเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้ควรรับการถวายพระพรหรือ” 62พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็น และท่านทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์ประทับนั่ง ณ เบื้องขวาของพระผู้ทรงอานุภาพ และจะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆบนท้องฟ้า 63มหาสมณะจึงฉีกเสื้อของตน แล้วกล่าวว่า “เราจะต้องการพยานอะไรอีก 64ท่านทั้งหลายต่างได้ยินเขาพูดดูหมิ่นพระเจ้าแล้ว ท่านคิดเห็นอย่างไร” เขาทุกคนตัดสินว่า พระองค์ควรรับโทษถึงตาย 65บางคนถ่มน้ำลายรดพระองค์ ใช้ผ้าปิดพระพักตร์ ชกต่อยพระองค์ และพูดว่า “จงทายซิ” บรรดาผู้รับใช้ก็ตบตีพระองค์ด้วย

             เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในคืนวันพฤหัสฯ ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวันที่หกของสัปดาห์ แต่ชาวยิวนับว่าเป็นวันศุกร์แล้ว นักบุญมาระโกนำเสนอการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าสองครั้ง ครั้งแรกต่อหน้าคายาฟาส มหาสมณะ (เทียบ มธ 26:57) เป็นการพิจารณาคดีสำคัญเพื่อกำหนดการฟ้องพระองค์ต่อหน้าปีลาต ซึ่งจำเป็นต้องทำเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการโรมันจะต้องรับรองการตัดสินลงโทษ และสั่งให้ดำเนินการ (เทียบ 15:1-15) หัวหน้าชาวยิวประชุมกันในเวลากลางคืนที่บ้านของมหาสมณะ บางทีจำนวนสมาชิกของสภาซันเฮดรินที่ร่วมประชุมกันในครั้งนี้ คงมีจำนวนไม่ถึงครึ่งของสมาชิกทั้งหมด ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นโมฆะ เพราะมีจำนวนสมาชิกไม่ถึงจำนวนตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้

- บรรดาผู้ที่จับกุมพระเยซูเจ้านำพระองค์ไปยังบ้านของมหาสมณะ บรรดาหัวหน้าสมณะ ผู้อาวุโสและธรรมาจารย์ทุกคนชุมนุมกันที่นั่น คนเหล่านี้เป็นผู้แทนสมาชิกของสภาซันเฮดริน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสามกลุ่มคือ หัวหน้าสมณะหมายถึง ผู้แทนครอบครัวสมณะยิ่งใหญ่ ผู้อาวุโสหมายถึง ฆราวาสที่เป็นหัวหน้าตระกูลและมีฐานะร่ำรวย ธรรมาจารย์หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องบทบัญญัติของชาวยิว มหาสมณะผู้เป็นประธานสภาซันเฮดรินในเวลานั้นคือคายาฟาส ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 18-36 (เทียบ ยน 11:49; 18:13-14) น่าสังเกตว่า นักบุญมาระโกไม่ได้พูดถึงชาวฟาริสีรวมทั้งชาวโรมันด้วย พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นบันทึกเรื่อง บรรดาผู้ที่จับกุมพระเยซูเจ้านำพระองค์ไปอยู่ต่อหน้าอันนาส มหาสมณะกิตติมศักดิ์ (เทียบ ยน 18:12-24) แต่พระวรสารสหทรรศน์ไม่บันทึกเรื่องนี้เลย

- ส่วนเปโตรติดตามพระองค์ไปห่างๆ จนเข้าถึงภายในลานบ้านของมหาสมณะ นักบุญมาระโกเน้นทั้งความรักชิดสนิทของนักบุญเปโตรต่อพระเยซูเจ้าและความกลัวของเขา ซึ่งในไม่ช้า เป็นเหตุทำให้เขาจะปฏิเสธพระอาจารย์ น่าสังเกตว่า พระวรสารทั้งสี่ฉบับเล่าเรื่องของนักบุญเปโตรในลานบ้านของมหาสมณะ และการปฏิเสธของเขาในคืนนั้น

-นั่งผิงไฟอยู่กับบรรดาผู้รับใช้ เวลานั้น เป็นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งตอนกลางคืนของฤดูนี้ ยังค่อนข้างหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กรุงเยรูซาเล็ม

-บรรดาหัวหน้าสมณะและสมาชิกสภาซันเฮดรินทุกคนพยายามหาพยานเพื่อกล่าวหาพระเยซูเจ้า และ-ประหารชีวิตพระองค์ ตามกระบวนการพิจารณาคดีของชาวยิว จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของพยานฝ่ายจำเลยก่อน แล้วจึงค่อยรับฟังความคิดเห็นของพยานฝ่ายโจทก์ การให้ปากคำของพยานจะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อมีการแสดงความคิดเห็นอย่างน้อยสองคนที่พูดตรงกัน (เทียบ ฉธบ 17:6; 19:15) ดังเช่นตัวอย่างการพิจารณาคดีของนางสุสันนา ในหนังสือประกาศกดาเนียล 13 :48-61 น่าสังเกตว่า สมาชิกของสภาซันเฮดรินได้ตัดสินลงโทษประหารชีวิตพระเยซูเจ้าอยู่แล้ว ก่อนที่จะพิจารณาคดีของพระองค์

- แต่เขาหาพยานไม่ได้ การที่สมาชิกของสภาซันเฮดรินจะตัดสินลงโทษผู้บริสุทธิ์ ก็เป็นการรับรองว่า พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีความผิดเลย

- พยานเท็จหลายคนปรักปรำพระองค์ แต่คำให้การของเขาไม่ตรงกัน “ขอพระองค์อย่าทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าให้คู่อริทำตามใจ พยานเท็จลุกขึ้นมาปรักปรำข้าพเจ้า มุ่งมั่นแต่จะทำร้ายข้าพเจ้า” (สดด 27:12)

- บางคนลุกขึ้นให้การเท็จปรักปรำพระองค์ว่า “เราได้ยินเขาพูดว่า ‘ฉันจะทำลายวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์นี้ และภายในสามวัน จะสร้างขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์’” นักบุญมาระโกเอาใจใส่อธิบายว่า ผู้เป็นพยานรายใหม่ก็เช่นเดียวกับผู้เป็นพยานก่อนหน้านั้น (เทียบ ข้อ 56) ยืนยันในคำให้การเท็จ แต่เขาไม่บอกว่าพยานกล่าวเท็จเพราะปั้นแต่งพระวาจาของพระเยซูเจ้า หรือเพียงตีความหมายพระวาจาของพระองค์อย่างผิดๆ แต่เมื่อเราสังเกตว่า นักบุญมาระโกจะซ้ำคำกล่าวหานี้อีกครั้งหนึ่งใน 15:29 คงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ให้คำพยานได้ปั้นแต่งพระวาจาของพระเยซูเจ้าโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เราต้องคิดว่าพยานเท็จตีความหมายพระวาจาของพระเยซูเจ้าอย่างผิด ๆ แต่เราไม่รู้อย่างชัดเจนว่า พระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสซึ่งผู้เป็นพยานเท็จนำมาบิดเบือนนั้นเป็นอย่างไร บางคนคิดว่าคงจะเกี่ยวกับคำทำนายของพระองค์เรื่องพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มจะถูกทำลาย ซึ่งนักบุญมาระโกบันทึกใน 23:2 แต่อาจเป็นไปได้มากกว่านั้นว่า เป็นพระวาจาที่กล่าวถึงในพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญยอห์น (เทียบ ยน 2:18-22) เพราะมีแบบวรรณกรรมคล้ายคลึงกันมากนั่นคือ “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” (ยน 2:19) นักบุญยอห์นบันทึกว่าพระเยซูเจ้า “กำลังตรัสถึงพระวิหารซึ่งหมายถึงพระกายของพระองค์” และบรรดาศิษย์เข้าใจเรื่องนี้เพียงหลังจากที่พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (เทียบ ยน 2:21-22) ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า พระวาจาที่นักบุญมาระโกอ้างอาจมีความความหมายเดียวกันนี้เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพหลังจากสามวัน เพราะเขาเน้นความขัดแย้งระหว่างวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์ กับวิหารซึ่งไม่สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์ (เทียบ 2 คร  5:1; คส 2:11; ฮบ 9:11) ก็เป็นไปได้มากกว่าที่นักบุญมาระโกเข้าใจพระวาจาดั้งเดิมของพระเยซูเจ้ากล่าวถึงการยกเลิก หรือการทำลายโครงสร้างดั้งเดิมของศาสนาฮีบรู เพื่อส่งเสริมระบบทางจิตใจแทนคือพระศาสนจักรนั่นเอง ซึ่งคริสตชนกลุ่มแรก ๆ มักชอบเปรียบเทียบกับตึก (เทียบ มธ 16:18)หรือวิหาร (เทียบ 1คร 3:17; 2คร 6:16)    

- แม้กระทั่งเรื่องนี้ คำให้การของพยานก็ไม่ตรงกัน พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวบันทึกว่า คนสองคนปรักปรำพระเยซูเจ้าเรื่องเดียวกัน (เทียบ มธ 26:60-61) ทำให้พฤติกรรมของสมาชิกสภาซันเฮดรินมีหลักฐานบ้างเล็กน้อยในการตัดสินลงโทษพระเยซูเจ้า ส่วนพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาไม่อ้างถึงเรื่องนี้เลย

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก