“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว”  
85. พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ (มก 15:33-39)

1533เมื่อถึงเวลาเที่ยง ทั่วแผ่นดินก็มืดไปจนกระทั่งถึงเวลาบ่ายสามโมง 34ครั้นถึงเวลาบ่ายสามโมง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า “เอโลอี เอโลอี เลมา สะบัคทานี” ซึ่งแปลว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” 35ผู้ที่ยืนอยู่ที่นั่นบางคนได้ยินจึงพูดว่า “ฟังซิ เขากำลังร้องเรียกเอลียาห์” 36ชายคนหนึ่งวิ่งไปนำฟองน้ำจุ่มเหล้าองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายไม้อ้อส่งให้พระองค์เสวย กล่าวว่า “เราคอยดูซิว่าเอลียาห์จะมาปลดเขาลงหรือไม่” 37แต่พระเยซูเจ้าทรงเปล่งเสียงดัง แล้วสิ้นพระชนม์ 38ม่านในพระวิหารฉีกขาดเป็นสองส่วนตั้งแต่ด้านบนลงมาถึงด้านล่าง 39นายร้อยซึ่งยืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์ดังนั้น จึงพูดว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว”

        พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์เวลาบ่ายสามโมงของวันศุกร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายน ปี ค.ศ. 30 พระวรสารทั้งหมดตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเป็นการเตรียมใจผู้อ่านให้อยู่เฉพาะพระพักตร์พระเยซูเจ้า ผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะเหตุการณ์นี้เป็นจุดสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์  

- เมื่อถึงเวลาเที่ยง ทั่วแผ่นดินก็มืดไปจนกระทั่งถึงเวลาบ่ายสามโมง พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับบันทึกรายละเอียดนี้ตรงกัน คงต้องเป็นเหตุการณ์ไม่ธรรมดา ซึ่งได้รับการปฏิเสธจากผู้ที่ไม่เชื่อในเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ออริเจน ผู้เป็นปิตาจารย์ในศตวรรษที่ 3 เคยสังเกตแล้วว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่สุริยุปราคา (Solar eclipse) อย่างแน่นอน เพราะปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาวันฉลองปัสกาไม่ได้ เพราะเวลานั้นพระจันทร์เต็มดวง ปรากฏการณ์ความมืดที่กล่าวมานี้คงจะหมายถึง วันเวลาที่ลมจากทางทิศใต้พัดทรายและความร้อนจำนวนมากมาเหนือกรุงเยรูซาเล็ม จึงปิดบังแสงอาทิตย์เป็นบางเวลา อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้มีความหมายมากกว่าเหตุการณ์ทางกายภาพ มีความหมายตามหลักการทางเทววิทยาคือ เป็นการประกาศว่าการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้ามีคุณค่าสำหรับมนุษย์ทุกคน ในพันธสัญญาเดิม ข้อเขียนของบรรดาประกาศกบันทึกว่า ความมืดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าเสด็จมาเยี่ยมเยียนประชากรของพระองค์ (เทียบ อมส 8:9) และในหมู่คนต่างศาสนาก็เคยมีตำนานเล่าว่าดวงอาทิตย์จะอับแสงเมื่อบุคคลสำคัญ ๆ เสียชีวิต นอกจากนั้น ในพันธสัญญาเดิมการที่ความมืดปรากฏขึ้นอย่างกะทันหันเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ร้ายแรง (เทียบ พคค 3:2) อีกทั้งยังเป็นเครื่องหมายแสดงการพิพากษาและการลงโทษของพระเจ้า (เทียบ อมส 5:18, 20 ยอล 3:4; 4:15 อสย 13:10; 24:23) ดังนั้น นักบุญมาระโกยังต้องการเสนอว่า พระเจ้าจะทรงลงโทษผู้ที่ประหารชีวิตพระบุตรของพระองค์

- ครั้นถึงเวลาบ่ายสามโมง การบันทึกเวลาอย่างเจาะจงเช่นนี้เป็นลักษณะพิเศษของการเล่าเรื่องการรับทรมานของพระเยซูเจ้า และสะท้อนโครงสร้างทั้งของคำสอนและพิธีกรรมในกลุ่มคริสตชนที่กรุงโรม

- พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า “เอโลอี เอโลอี เลมา สะบัคทานี” สำหรับนักบุญมาระโกเสียงร้องดังของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน เป็นเครื่องหมายแสดงทั้งความทุกข์สาหัสและชัยชนะของพระองค์เหนือพลังแห่งความชั่วร้ายและความตาย เพราะโดยทั่วไป บุคคลที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนจะหายใจไม่ออก เขาคงไม่มีแรงร้องตะโกนเลย พระวาจาที่พระเยซูเจ้าร้องตะโกนนั้นเป็นคำภาษาอาราเมอิก elahi ซึ่งถูกแปลงเป็น eloi โดยอาจจะได้รับอิทธิพลจากคำภาษาฮีบรูว่า elohim นักบุญมัทธิวใช้คำว่า eli เป็นคำภาษาฮีบรูซึ่งมาจากเพลงสดุดีที่ 22  จึงอธิบายได้ดีกว่าว่า ทำไมผู้ที่ยืนอยู่ที่นั่นจึงเข้าใจผิดว่า   พระองค์ทรงร้องเรียกประกาศกเอลียาห์

- ซึ่งแปลว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” หลังจากนักบุญมาระโกได้อ้างบทเพลงสดุดีเป็นภาษาอาราเมอิกแล้ว เขาได้แปลเป็นภาษากรีกเช่นเคย นี่เป็นข้อแรกของเพลงสดุดีที่ 22 ซึ่งเป็นคำอ้อนวอนพระเจ้าของผู้ชอบธรรมที่ได้รับความทุกข์ทรมาน (เทียบข้อ 2-22) ซึ่งจะจบลงด้วยการแสดงความไว้วางใจและการสรรเสริญพระเจ้า (เทียบข้อ 23-32) จึงเป็นบทภาวนาที่ผ่านจากความสิ้นหวังสูงสุดไปสู่คำสรรเสริญพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้น คำร้องเสียงดังของพระเยซูเจ้าในสถานการณ์ที่พระองค์ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนยังแสดงความทุกข์และความกังวลพระทัย ในการที่รู้สึกว่าพระบิดาทรงนิ่งเฉยและทอดทิ้งพระองค์ 

- ผู้ที่ยืนอยู่ที่นั่นบางคนได้ยินจึงพูดว่า “ฟังซิ เขากำลังร้องเรียกเอลียาห์” ชาวยิวที่ฟังพระเยซูเจ้าทรงร้องตะโกนเช่นนั้นก็ตีความหมายว่า เป็นการวอนขอให้ประกาศกเอลียาห์มาช่วยเหลือพระองค์ ตามความคิดทั่วไปของชาวยิวในสมัยนั้น ประกาศกเอลียาห์เป็นผู้อุปการะคนที่มีความทุกข์ทรมาน และเขาทั้งหลายรอคอยการกลับมาของประกาศกองค์นี้ไปสู่แผ่นดินใหม่ เพื่อเปิดสมัยของพระเมสสิยาห์ ดังนั้น หัวหน้าชาวยิวซึ่งมีอคติต่อพระเยซูเจ้าจึงฉวยโอกาสเยาะเย้ยพระองค์มากยิ่งขึ้น

- ชายคนหนึ่งวิ่งไปนำฟองน้ำจุ่มเหล้าองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายไม้อ้อส่งให้พระองค์เสวย กล่าวว่า “เราคอยดูซิว่าเอลียาห์จะมาปลดเขาลงหรือไม่” ทหารโรมันเคยนำเหล้าองุ่นเปรี้ยวผสมกับน้ำเพื่อดื่ม ผู้ที่วิ่งนำฟองน้ำไปจุ่มกับเหล้าองุ่นเปรี้ยวเพื่อแสดงความสงสารต่อพระเยซูเจ้า คงต้องเป็นทหารคนหนึ่งที่เฝ้าดูแลการตรึงพระองค์บนไม้กางเขน เพราะทหารเท่านั้นเข้าใกล้ผู้ถูกลงโทษ ดังนั้น เราไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไมทหารคนหนึ่งจึงสามารถพูดดังที่นักบุญมาระโกบันทึกไว้คือ เหมือนกับว่าเขาต้องการให้พระเยซูเจ้าดื่มเพื่อมีชีวิตต่อไป โดยหวังว่าจะเห็นประกาศกเอลียาห์มาปลดปล่อยพระองค์ บางทีนักบุญมาระโกเล่านี้เรื่องอย่างสังเขปมากเกินไป ส่วนนักบุญมัทธิวเขียนอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเขียนว่าผู้พูดเช่นนี้เป็นคนที่เข้าใจพระวาจาของพระองค์อย่างผิด ๆ  ไม่ใช่ทหารที่นำฟองน้ำจุ่มเหล้าองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายไม้อ้อให้พระองค์ดื่ม (เทียบ ทธ 27:49)

- แต่พระเยซูเจ้าทรงเปล่งเสียงดัง แล้วสิ้นพระชนม์ นักบุญมาระโกเล่าการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าอย่างสั้น ๆ ต่างจากพระวรสารฉบับอื่น ๆ นักบุญลูกา (เทียบ 23:46) และนักบุญยอห์น (เทียบ 19:30) บันทึกพระวาจาที่แสดงความหมายลึกซึ้งที่พระองค์ทรงยอมรับการสิ้นพระชนม์ด้วยความสมัครพระทัย

- ม่านในพระวิหารฉีกขาดเป็นสองส่วนตั้งแต่ด้านบนลงมาถึงด้านล่าง นักบุญมัทธิวบันทึกปรากฏการณ์หลายประการที่เกิดขึ้นเมื่อพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์ (เทียบ มธ 27:51-53) แต่นักบุญมาระโกจดจำเพียงเหตุการณ์เดียวคือม่านในพระวิหารฉีกขาดเป็นสองส่วน โดยแท้จริงแล้ว ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม มีม่านสองผืนคือ ม่านภายในซึ่งแยกห้องศักดิ์สิทธิ์ออกจากห้องศักดิ์สิทธิ์ที่สุด (เทียบ อพย 26:31-34) และม่านอีกผืนหนึ่งอยู่ภายนอก ซึ่งอยู่ระหว่างห้องศักดิ์สิทธิ์กับสถานที่ซึ่งผู้อธิษฐานภาวนายืนอยู่  (เทียบ อพย 26:37; กดว 3:26) นักบุญเยโรมพร้อมกับผู้อธิบายพระคัมภีร์ทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบันคิดว่า ม่านที่ฉีกขาดคือม่านภายนอกนั่นเอง เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่า วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการทำลายพระวิหารที่จะสร้างสำเร็จลุล่วงในปี ค.ศ. 70 แต่สมัยนี้โดยทั่วไปมักจะคิดว่า ม่านที่ฉีกขาดคือม่านที่แยกห้องศักดิ์สิทธิ์ออกจากห้องศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และมหาสมณะผ่านเข้าไปปีละหนึ่งครั้งในวันชดเชยบาป เรายังพบความหมายนี้ในจดหมายถึงชาวฮีบรู (เทียบ ฮบ 9:8 ; 10:19-20) โดยการสิ้นพระชนม์ซึ่งเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาป พระคริสตเจ้าทรงเปิดทางให้มนุษย์เข้าหาพระเจ้าด้วยการคืนดีกับพระองค์

- นายร้อยซึ่งยืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ นักบุญมาระโกเสนอบุคคลนี้ที่เป็นคนต่างศาสนา ซึ่งยืนอยู่ต่อหน้าไม้กางเขน ตั้งใจมองพระเยซูเจ้าด้วยความพิศวง

- เมื่อเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์ดังนั้น วิธีการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าและการร้องตะโกนของพระองค์ ทำให้จิตใจของนายร้อยมีความหยั่งเห็นว่า ตนยืนอยู่ต่อหน้าบุคคลพิเศษไม่เหมือนผู้ใด

- จึงพูดว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” ประโยคนี้สอดคล้องกับคำเริ่มต้นของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกว่า “การเริ่มต้นข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า” ที่เมืองซีซารียา แห่งฟิลิป ในตอนครึ่งหนึ่งของพระวรสาร นักบุญเปโตรเคยประกาศความเชื่อว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” (8:29) เรื่องราวตรงนี้นี่เอง การเล่าเหตุการณ์ที่ภูเขากัลป์วาลีโอจบลง โดยมีนายร้อยที่เฝ้าดูแลการตรึงพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนกล่าวว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” การยืนยันความเชื่อที่แท้จริงมาจากคนต่างศาสนาคนหนึ่ง ตำแหน่งบุตรของพระเจ้าสรุปเนื้อหาสำคัญเรื่องความเชื่อของคริสตชนถึงพระเยซูเจ้า

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก