“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

พระแม่มารีย์ "มารดาพระวจนาตถ์ของพระเจ้า" และ "มารดาแห่งความเชื่อ"

27.      บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาประกาศว่าเจตนาสำคัญของการประชุมสมัชชาครั้งที่ 12 นี้คือ "เพื่อปลุกความเชื่อต่อพระวาจาของพระเจ้าขึ้นใหม่" ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องหันไปมองจุดที่พระวาจาของพระเจ้าและความเชื่อพบกันอย่างสมบูรณ์ นั่นคือพระนางมารีย์พรหมจารีผู้ "ยินดีตอบรับพระวาจาแห่งพันธสัญญาและพันธกิจของพระนาง ทำให้การที่พระเจ้าทรงเรียกมนุษยชาติเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์"[1] ความเป็นอยู่ของมนุษย์ซึ่งพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างอาศัยพระวจนาตถ์มีรูปแบบที่สมบูรณ์ในความเชื่อและความเชื่อฟังของพระนางมารีย์ ตั้งแต่วันที่พระนางได้รับสารจากทูตสวรรค์จนถึงวันเปนเตก๊อสเต พระนางแสดงตนเป็นสตรีที่พร้อมเสมอจะเปิดรับพระประสงค์ของพระเจ้า การปฏิสนธินิรมลของพระนางทำให้พระนาง "เป็นผู้ที่พระเจ้าโปรดปรานยิ่ง" (เทียบ ลก 1:28) พระนางยอมรับฟังพระวาจาโดยไม่มีเงื่อนไข (เทียบ ลก 1:38) ความเชื่อที่เชื่อฟังเป็นรูปแบบชีวิตของพระนางทุกขณะต่อหน้าแผนการของพระเจ้า พระนางเป็นพรหมจารีที่คอยฟังพระวาจาอยู่เสมอ ยอมรับพระวาจาของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ เก็บรักษาเหตุการณ์ต่างๆของพระบุตรไว้ในพระทัยเสมอ นำเหตุการณ์เหล่านี้มาปะติดปะต่อกันให้เป็นเสมือนภาพโมเสคที่งดงาม (เทียบ ลก 2:19,51)[2]

ในสมัยของเรา บรรดาผู้มีความเชื่อต้องได้รับความช่วยเหลือให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าพระนางมารีย์แห่งนาซาเร็ธมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการฟังพระวาจาพระเจ้าด้วยความเชื่อ ข้าพเจ้าขอเตือนบรรดาผู้มีความรู้ให้ศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ระหว่างมารียวิทยากับเทววิทยาเรื่องพระวาจา การทำเช่นนี้น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสำหรับชีวิตจิตและสำหรับการศึกษาเทววิทยาและวิชาพระคัมภีร์. เมื่อเข้าใจความเชื่อเกี่ยวกับพระนางมารีย์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราก็เข้าใจแก่นความจริงเกี่ยวกับคริสตศาสนามากยิ่งขึ้นด้วย การที่พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์จะเข้าใจไม่ได้ถ้าก่อนหน้านั้นไม่มีการตอบรับอย่างอิสระของหญิงสาวผู้นี้ การตอบรับอย่างอิสระนี้เป็นการร่วมงานทำให้นิรันดรภาพเข้ามาในกาลเวลาได้ พระนางมารีย์ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดตนรับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ เป็นการฟังอย่างจริงจังเพื่อนำไปคิดรำพึงภายในจิตใจและทำให้เราเป็นเหมือนพระเจ้า ด้วยวิธีนี้พระวาจาจึงกลายเป็นรูปแบบของชีวิต

28.      เมื่อกล่าวเช่นนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะกล่าวถึงการที่พระแม่มารีย์มีความคุ้นเคยกับพระวาจาของพระเจ้า การนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในบทเพลง Magnificat. ในเพลงบทนี้เราเข้าใจได้บ้างว่าพระนางดูเหมือนจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับพระวาจา (หรือ "พระวจนาตถ์") และเข้าไปในพระวาจา ในบทเพลงที่แสดงความเชื่ออย่างน่าพิศวงนี้ พระนางพรหมจารีขับร้องสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยพระวาจา (หรือ "พระวจนาตถ์")  "บท Magnificat บทนี้ - ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาพวิญญาณของพระนาง - ประกอบด้วยข้อความที่คัดมาจากพระคัมภีร์ พระวาจาจึงเป็นประดุจเส้นด้ายที่ทอเป็นพระคัมภีร์ซึ่งเป็นเสมือนผืนผ้า ดังนี้จึงเห็นได้ชัดว่าพระนางคุ้นเคยกับพระวาจาเหมือนกับการเข้าในบ้านหรือออกจากบ้าน พระนางพูดและคิดด้วยพระวาจาของพระเจ้า พระวาจาของพระเจ้ากลายเป็นคำพูดของพระนาง และถ้อยคำของพระนางเกิดมาจากพระวาจาของพระเจ้า เรายังเห็นอีกว่าความคิดของพระนางคล้ายกับความคิดของพระเจ้า เจตนาของพระนางก็เป็นหนึ่งเดียวกับพระประสงค์ของพระเจ้า พระนางดื่มด่ำอย่างสมบูรณ์กับพระวาจาของพระเจ้า จึงทรงเป็นพระมารดาของพระวจนาตถ์ที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ได้"[3]

ยิ่งกว่านั้น การกล่าวถึงพระมารดาของพระเจ้ายังสอนเราว่า การกระทำของพระเจ้าในโลกมีเสรีภาพของเรารวมอยู่ด้วยเสมอ เพราะพระวาจาของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงเราด้วยความเชื่อ งานธรรมทูตและงานอภิบาลของเราจะไม่มีประสิทธิผลถ้าเราไม่เรียนรู้จากพระนางมารีย์ที่จะให้พระเจ้าทรงทำงานในตัวเรา "จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหันมองพระนางมารีย์ด้วยความรักและความศรัทธา ในฐานะที่พระนางเป็นแบบอย่างที่สะท้อนความเชื่อของพระศาสนจักร ทั้งนี้ก็เพื่อวันนี้เราจะได้ทำให้ความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับพระวาจา มีการเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ ทั้งในการฟังพระวาจาด้วยการภาวนา และในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังเพื่องานธรรมทูตและการประกาศข่าวดี"[4]

ถ้าในพระมารดาของพระเจ้าเราพิจารณาเห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ได้รับการปรุงแต่งอย่างสมบูรณ์จากพระวาจา เราก็จะพบว่าเราเองด้วยก็ได้รับเชิญให้เข้ามาในธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ ที่เราเชื่อว่าพระคริสตเจ้าเสด็จมาเพื่อประทับอยู่ในชีวิตของเรา นักบุญอัมโบรสบอกว่าคริสตชนผู้มีความเชื่อแต่ละคนนับได้ว่าปฏิสนธิและบังเกิดพระวาจาของพระเจ้าในตนเอง แม้โดยธรรมชาติพระคริสตเจ้ามีพระมารดาเพียงองค์เดียว ถึงกระนั้นในความเชื่อพระคริสตเจ้าก็เป็นเชื้อสายของเราทุกคน[5] เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระนางมารีย์ก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกวันกับเราแต่ละคนเมื่อเราฟังพระวาจา และประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆด้วย



[1] Propositio 55.

[2] Cfr. Benedictus XVI, Adhort.ap.postsynodalis Sacramentum caritatis (22 Februarii 2007),33: AAS 99 (2007), 132-133.

[3] Id. Litt.enc. Deus caritas est (25 Decembris 2005), 41: AAS 98 (2006), 251.

[4] Propositio 55.

[5] Cf. Expositio Evangelii secundum Lucam, 2,19: PL 15, 1559-1560.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก