โรคภัยไข้เจ็บและยารักษาa
38. 1จงให้เกียรติแก่แพทย์ตามที่เขาควรได้รับbจากการดูแลรักษาของเขา
เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเนรมิตเขาด้วย
2การรักษาให้หายจากโรคมาจากพระผู้สูงสุด
และกษัตริย์ยังประทานรางวัลแก่เขาcด้วย
3ความรู้ของแพทย์ทำให้เขามีความภูมิใจ
เป็นที่เคารพนับถือต่อหน้าผู้ยิ่งใหญ่ในสังคม
4องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเนรมิตสมุนไพรต่างๆจากดิน
ผู้มีปัญญาย่อมไม่รังเกียจสมุนไพรเหล่านี้
5ไม้ท่อนหนึ่งทำให้น้ำจืดได้
เพื่อให้มนุษย์เห็นพระอานุภาพของพระองค์dมิใช่หรือ
6พระองค์ประทานวิชาความรู้แก่มนุษย์
เพื่อจะทรงได้รับเกียรติเพราะสิ่งน่าพิศวงที่ทรงกระทำ
7แพทย์ใช้สมุนไพรeรักษาโรคและบรรเทาความเจ็บปวด
และคนขายยาผสมสมุนไพรเหล่านี้ให้เป็นยา
8และดังนี้พระราชกิจของพระองค์ก็จะไม่สิ้นสุดf
และมนุษย์ทั่วแผ่นดินก็รับสุขภาพจากพระองค์
9ลูกเอ๋ย เมื่อลูกเจ็บป่วย จงอย่าท้อแท้
จงอธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระองค์จะทรงรักษาลูกให้หาย
10จงละทิ้งความชั่วร้าย อย่าให้มือเปื้อน
จงชำระจิตใจให้พ้นบาปทั้งปวง
11จงถวายเครื่องหอมและแป้งสาลีชนิดดีให้พระองค์ทรงระลึกถึง
จงถวายเครื่องบูชาดีที่สุดตามกำลังความสามารถของลูกg
12แล้วจงเรียกแพทย์เข้ามา เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเนรมิตเขาด้วย
อย่าให้เขาทิ้งลูกไปตลอดเวลาที่ลูกต้องการเขา
13บางครั้ง แพทย์เท่านั้นอาจรักษาลูกให้หายจากโรคได้
14เพราะแพทย์ก็อธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
ขอให้ทรงช่วยตนบรรเทาความเจ็บปวด
และรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรค ทำให้กลับมีชีวิตh
15ผู้ที่ทำบาปผิดต่อพระผู้สร้างตนมา
ก็ขอให้เขาต้องเจ็บป่วยจนต้องไปพบแพทย์เถอะi
การไว้ทุกข์j
16ลูกเอ๋ย จงร้องไห้ไว้อาลัยผู้ตายเถิด
จงคร่ำครวญแสดงว่าลูกได้รับความทุกข์สาหัส
แล้วจงปลงศพของเขาตามธรรมเนียม
จงเอาใจใส่ดูแลหลุมศพของเขาด้วยk
17จงร้องไห้อย่างขมขื่น คร่ำครวญด้วยความทุกข์ใจl
จงไว้ทุกข์ให้ผู้ตายอย่างสมเกียรติ
เป็นเวลาหนึ่งวันหรือสองวันmเพื่อมิให้ถูกตำหนิ
แล้วจงควบคุมความทุกข์ให้คลายโศก
18เพราะความทุกข์ย่อมนำความตาย
และใจโศกเศร้าย่อมทำให้หมดกำลัง
19เมื่อมีเคราะห์ร้าย ความทุกข์ก็คงอยู่
ชีวิตของคนยากจนnทำให้ใจเป็นทุกข์
20อย่าปล่อยใจให้อยู่ในความทุกข์
จงไล่ความทุกข์ไป และจงระลึกถึงวาระสุดท้ายo
21อย่าลืมว่าผู้ตายจะกลับมาอีกไม่ได้
และลูกจะไม่เป็นประโยชน์แก่เขา แต่จะทำร้ายตนเอง
22“จงระลึกว่าบั้นปลายชีวิตpของฉันจะเป็นบั้นปลายชีวิตของท่านด้วย
เมื่อวานนี้เป็นวาระของฉัน วันนี้เป็นวาระของท่าน”q
23เมื่อคนตายได้พักผ่อนแล้ว ลูกต้องปล่อยให้การระลึกถึงเขาพักผ่อนด้วย
เมื่อจิตของเขาจากไปแล้ว ก็จงคิดถึงเขาด้วยใจสงบเถิด
งานใช้สติปัญญาและงานฝีมือr
24ธรรมาจารย์ต้องการเวลาว่างเพื่อจะมีปรีชาญาณ
ผู้มีงานในหน้าที่น้อยย่อมมีโอกาสเป็นผู้มีปรีชา
25คนไถนาจะเป็นผู้มีปรีชาได้อย่างไร
เขาภาคภูมิใจเฉพาะการใช้ปฏัก
เพื่อต้อนฝูงโค เร่งให้มันทำงาน
เขาคุยถึงแต่เรื่องโคกระบือ
26ใจเขาจดจ่ออยู่เฉพาะรอยไถ
เขานอนไม่หลับเพราะต้องคอยให้อาหารแก่แม่โค
27ช่างไม้และช่างออกแบบตรากตรำทำงานทั้งวันทั้งคืนก็เช่นเดียวกัน
ช่างแกะสลักตราพยายามคิดหาแบบใหม่ๆอยู่เสมอ
เขาตั้งใจแกะสลักให้เหมือนของจริง
ยอมอดนอนเพื่อทำงานให้เสร็จ
28ช่างเหล็กที่นั่งอยู่ใกล้ทั่งก็เช่นเดียวกัน
เขาตั้งใจตีเหล็ก
ไอร้อนของไฟทำให้ผิวหนังเกรียม
แต่เขาก็ทนสู้ความร้อนจากเตาไฟ
เสียงค้อนทำให้แก้วหูของเขาแทบแตกs
ตาของเขาจับอยู่ที่แบบของสิ่งที่เขากำลังทำ
เขาตั้งใจทำงานให้สำเร็จ
แล้วต้องอดนอนเพื่อจะได้ผลงานที่ประณีตงดงาม
29ช่างปั้นหม้อที่นั่งทำงานอยู่ก็เช่นเดียวกัน
เขาใช้เท้าปั่นล้อให้หมุน
หมกมุ่นอยู่กับงานตลอดเวลา
คอยระวังใช้มืออย่างไม่ผิดพลาดt
30เขาใช้มือปั้นดินเหนียว
ใช้เท้าย่ำให้ดินอ่อน
เขาตั้งใจเคลือบผิวภาชนะให้สวยงาม
แล้วต้องอดนอนเพื่อทำความสะอาดเตาไฟ
31คนเหล่านี้วางใจในฝีมือของตน
ต่างก็เชี่ยวชาญuในอาชีพ
32ถ้าไม่มีผู้มีฝีมือเหล่านี้ จะสร้างเมืองขึ้นไม่ได้
ผู้คนจะไม่มีที่อาศัย จะไม่มีคนสัญจรไปมา
33แต่เขาไม่ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของประชากร
เขาไม่มีตำแหน่งสูงในที่ประชุม
เขาไม่นั่งบนบัลลังก์ผู้พิพากษา
และไม่รู้ข้อกำหนดของกฎหมายv
34เขาไม่เด่นในการอบรมสั่งสอน ในการตัดสินความ
เขาแต่งสุภาษิตไม่เป็นw
แต่งานของเขาค้ำจุนโลกไว้
และคำอธิษฐานภาวนาของเขาเกี่ยวกับงานอาชีพของตน
38 a ชาวยิวใจศรัทธาบางคนอาจคิดว่าการไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วยแสดงว่าตนขาดความเชื่อต่อพระเจ้า (เทียบ 2 พศด 16:12) แต่บุตรสิราแก้ไขทัศนคติเช่นนี้ให้ถูกต้อง
b “เกียรติที่เขาควรได้รับ” อาจหมายถึงค่าตอบแทนแก่แพทย์ในการรักษาโรค – ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “จงเป็นมิตรกับแพทย์”
c “กษัตริย์ยังประทานรางวัลแก่เขาด้วย” – ไม่ชัดว่า “เขา” ในที่นี้หมายถึง “ผู้ป่วย” หรือ “แพทย์” – ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “แพทย์ได้รับวิชาความรู้จากพระเจ้า และได้รับของประทานจากกษัตริย์ด้วย”
d “พระอานุภาพของพระองค์” – แปลตามต้นฉบับภาษาฮีบรู – ต้นฉบับภาษากรีกชวนให้คิดว่า บุตรสิราไม่นับว่าเรื่องน้ำที่ “มาราห์” (อพย 15:25) เป็นอัศจรรย์จากพระเจ้า แต่เป็นเพียงผลตามธรรมชาติจากไม้ที่ทำให้น้ำจืดได้
e “สมุนไพร” – ต้นฉบับว่า “สิ่งเหล่านี้”
f พระราชกิจของพระเจ้าไม่จบลงที่การเนรมิตเท่านั้น แต่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในการรักษาโรค ที่พระองค์ประทานอำนาจส่วนหนึ่งแก่มนุษย์ (แพทย์) และแก่สิ่งของ (สมุนไพร)
g “ตามกำลังความสามารถ” – แปลตามต้นฉบับภาษาฮีบรู -- ต้นฉบับภาษากรีกไม่ชัด
h “ทำให้ผู้ป่วยกลับมีชีวิต” -- ข้อความนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจของความคิดใน ยก 5:14-15 แต่มีเจตนาไม่เหมือนกัน
i “ขอให้เขาต้องเจ็บป่วยจนต้องไปพบแพทย์เถอะ” หมายความว่า “ขอให้เขาเจ็บป่วย” เป็นการลงโทษที่เขาได้ทำบาป
j พิธีศพของชาวยิวและชาวตะวันออกกลางมักเป็นงานใหญ่ ที่มีกฎระเบียบและข้อปฏิบัติกำหนดไว้อย่างละเอียด ระเบียบต่างๆเหล่านี้เห็นได้จาก ยรม 9:17-18; อสค 24:15-24; อมส 5:16; มธ 9:23; มก 5:38.
k “จงเอาใจใส่ดูแลหลุมศพของเขาด้วย” – ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “อย่าหลบหนีไปเมื่อเขาตาย”
l “คร่ำครวญด้วยความทุกข์ใจ” – แปลตามตัวอักษรว่า “ข้อนอกจนร้อน” – การข้อนอกเป็นเครื่องหมายแสดงการไว้ทุกข์ – ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “จงปฏิบัติตามกฎพิธีไว้ทุกข์”
m “วันหนึ่งหรือสองวัน” – ตาม บสร 22:12 ชาวยิวต้องไว้ทุกข์ผู้ตายเป็นเวลาเจ็ดวัน แต่เวลาไว้ทุกข์อาจสั้นกว่าได้ ตามแต่ว่าพิธีศพจะยิ่งใหญ่มากน้อยเท่าไร
n “ชีวิตของคนยากจน” – บางคนแปลโดยคาดคะเนว่า “ชีวิตที่มีความทุกข์”
o “วาระสุดท้าย” – คำภาษากรีกว่า “eschata” แปลยาก อาจหมายถึง “วาระสุดท้าย, อวสานกาล, หรือ อนาคต” ก็ได้ ดู บสร 7:36; 48:24.
p “บั้นปลายชีวิตของฉัน” – ผู้เขียนสมมุติว่าผู้ตายกำลังพูดกับผู้อ่าน หมายความว่ามนุษย์ทุกคนต้องตาย (ดู ปฐก 2:17; 3:3-4)
q “เมื่อวานนี้เป็นวาระของฉัน วันนี้เป็นวาระของท่าน” – ประโยคนี้อาจหมายความว่า “เมื่อวานนี้ฉันยังมีชีวิตอยู่ เหมือนกับที่ท่านมีชีวิตอยู่วันนี้”
r ข้อความตอนนี้คล้ายกับข้อเขียนในวรรณกรรมของอียิปต์ที่เยาะเย้ยงานอาชีพต่างๆ แต่ บสร กล่าวถึงเพียงงานอาชีพของชาวปาเลสไตน์เท่านั้น
s “เสียงค้อนทำให้แก้วหูแทบแตก” – แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัด
t “คอยระวังใช้มืออย่างไม่ผิดพลาด” – แปลโดยคาดคะเน – แปลตามตัวอักษรว่า “กิจการของเขาถูกนับไว้” ซึ่งบางคนคิดว่าหมายถึงจำนวนภาชนะที่ช่างปั้นจะต้องผลิตออกมา
u “เชี่ยวชาญ” – แปลตามตัวอักษรว่า “มีปรีชา” – การเป็นช่างฝีมือนับเป็นระดับแรกของปรีชาญาณ (ดู อพย 35:30 – 36:1; 1 พกษ 5:20; 7:13-14) – แต่ “ปรีชาญาณ” ของนายช่างเปรียบไม่ได้กับปรีชาญาณของธรรมาจารย์ (ดู บสร 39:1-11)
v “รู้ข้อกำหนดของกฎหมาย” – แปลตามตัวอักษรว่า “ไตร่ตรองถึงพันธสัญญาของการตัดสิน” (เทียบ บสร 45:17)
w “แต่งสุภาษิตไม่เป็น” – บางคนแปลว่า “ไม่มีใครพบเขาในหมู่นักปราชญ์”