ความรู้เกี่ยวกับหนังสือประกาศก
1. พระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูรวมหนังสืออิสยาห์ เยเรมีย์ เอเสเคียล และหนังสือรวมข้อเขียนของประกาศก “น้อย” 12 องค์เข้าไว้เป็นหมวดเดียวกันในนามของ “ประกาศกสมัยหลัง” จัดอยู่หลังหนังสือชุด “โยชูวา-พงศ์กษัตริย์” ซึ่งได้ชื่อว่า “ประกาศกดั้งเดิม” ส่วนพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกจัดหนังสือชุด “ประกาศก” ไว้หลังหนังสือเพลงสดุดีและปรีชาญาณ (ซึ่งยังมีชื่อเรียกอีกว่า “ข้อเขียนต่างๆ” หรือ “หนังสือศักดิ์สิทธิ์”) โดยเรียงลำดับแตกต่างจากพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรู และยังเพิ่มหนังสือ “เพลงคร่ำครวญ” และ “ดาเนียล” (ซึ่งพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูจัดไว้ในภาคสุดท้ายของพระคัมภีร์) นอกจากนั้นยังมีข้อเขียนเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีเขียนหรือรักษาไว้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูเข้ามาอีกด้วย ได้แก่หนังสือ “บารุค” อยู่หลังหนังสือเยเรมีย์ และ “จดหมายของประกาศกเยเรมีย์” อยู่หลังหนังสือ “เพลงคร่ำครวญ” และยังมีส่วนเพิ่มเติมในหนังสือดาเนียลอีกด้วย พระคัมภีร์ฉบับ Vulgata ในพระศาสนจักรละติน ยอมรับการเรียงลำดับของพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก แต่ก็ใช้ลำดับตามพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูโดยจัดหนังสือ “ประกาศกน้อย” ไว้หลัง “ประกาศกใหญ่” ทั้งสี่ท่าน และเพิ่ม “จดหมายของประกาศกเยเรมีย์” กับหนังสือ “บารุค” ไว้หลังหนังสือ “เพลงคร่ำครวญ”
2. ลักษณะและบทบาทของ “ประกาศก”
2. ลักษณะและบทบาทของ “ประกาศก”
ศาสนาสำคัญๆในสมัยโบราณมักจะมีบุคคลพวกหนึ่งซึ่ง “ได้รับการดลใจจากเทพเจ้า” ในรูปแบบต่างๆมากหรือน้อย ให้ประกาศเรื่องราวที่ได้รับมาจากเทพเจ้า ปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่จริงๆในชนชาติเพื่อนบ้านของชาวอิสราเอล หลักฐานที่พบได้ที่บีบลอส (Byblos) ราวศตวรรษที่ 9 ก.ค.ศ. กล่าวถึง “คนทรง” ซึ่งกล่าวคำทำนายขณะกำลังเข้าฌาน และในศตวรรษที่ 8 ก.ค.ศ. ก็มีพยานหลักฐานกล่าวถึง “ผู้ทำนาย” และ “ประกาศก” ที่เมืองฮามา (Hama) บนฝั่งแม่น้ำโอ-รนเตส (Orontes) และอีกหลายครั้งยังมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เมืองมารี (Mari) บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรติสในศตวรรษที่ 18 ก.ค.ศ. สาระเรื่องราวที่ “ประกาศก” เหล่านี้แจ้งแก่กษัตริย์มีรูปแบบและเนื้อหาคล้ายกับคำสอนของบรรดาประกาศกของอิสราเอลในสมัยแรกๆ ที่พระคัมภีร์กล่าวถึง เช่นที่เราอ่านพบในเรื่องบาลาอัมผู้วิเศษ ที่บาลัคกษัตริย์ชาวโมอับทรงเรียกจากอารัมให้มาสาปแช่งประชากรอิสราเอลใน กดว บทที่ 22-24 และในเรื่องประกาศกสี่ร้อยห้าสิบคนของพระบาอัลที่พระนางเยเซเบลชาวเมืองไทระทรงเรียกมาเผชิญหน้ากับประกาศกเอลียาห์บนภูเขาคาร์เมล (1 พกษ 18:19-40) พระคัมภีร์ยังกล่าวถึงประกาศกสี่ร้อยคนที่กษัตริย์อาหับทรงขอคำปรึกษา (1 พกษ 22:5-12) เช่นเดียวกับ “ประกาศก” ของพระนางเยเซเบล “ประกาศก” เหล่านี้เป็นกลุ่มบุคคลที่ “เข้าฌาน” และอ้างว่าตนพูดในพระนามของพระยาห์เวห์ แม้การกล่าวอ้างเช่นนี้ไม่เป็นความจริง ถึงกระนั้นผู้นับถือพระยาห์เวห์ร่วมสมัยก็ยอมรับว่าสถาบันดังกล่าวไม่ใช่สถาบันไม่ถูกต้อง เรายังพบบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่ง “ได้รับการดลใจ” อยู่ด้วยกันกับซามูเอล (1 ซมอ 10:5; 19:20) และในสมัยประกาศกเอลียาห์ (1 พกษ 18:4) ประกาศกเอลีชาก็ยังมีความสัมพันธ์กับ “กลุ่มประกาศก” ใน 2 พกษ 2:3-18; 4:38 ฯ; 6:1 ฯ; 9:1 และในข้อความสุดท้ายนี้เราอ่านพบเรื่องราวของกลุ่ม “ประกาศก” ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย นอกเหนือจากการกล่าวพาดพิงถึงใน อมส 7:14 กลุ่มบุคคลดังกล่าวมักจะใช้เครื่องดนตรีเพื่อช่วยให้เขาได้ “เข้าฌาน” พร้อมกันทั้งกลุ่ม หรือทำให้ประชาชนผู้ฟังได้เคลิบเคลิ้มตามไปด้วย (1 ซมอ 10:10; 19:20-24) หรือมิฉะนั้นก็ใช้การแสดงที่เป็นสัญลักษณ์ (2 พกษ 22:11) เพื่อการนี้
ครั้งหนึ่ง ประกาศกเอลีชาก็เคยใช้ดนตรีก่อนที่จะประกาศพระวาจา (2 พกษ 3:15) แต่วิธีการที่ประกาศกมักจะใช้เป็นประจำคือ “การกระทำที่เป็นสัญลักษณ์” ประกาศกอาหิยาห์แห่งชิโลห์ได้กระทำเช่นนี้ใน 1 พกษ 11:29 ฯ และประกาศกอิสยาห์ก็กระทำเช่นเดียวกันใน อสย 20:2-4; ประกาศกเยเรมีย์ทำกิจการที่เป็นสัญลักษณ์บ่อยๆ (ยรม 13:1 ฯ; 19:1 ฯ; 27:2 ฯ) รวมทั้งประกาศกเอเสเคียลด้วย (อสค 4:1 – 5:4; 12:17,18; 21:23 ฯ; 37:15 ฯ) ขณะที่กำลังทำกิจการที่เป็นสัญลักษณ์เช่นนี้ หรือในโอกาสอื่นหลายครั้ง การกระทำดูแปลกประหลาดชวนให้คิดไปว่าผู้กระทำเช่นนั้นอาจมีความผิดปรกติทางจิตด้วย แต่อาการผิดปรกติเช่นนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญของภารกิจเฉพาะของบรรดาประกาศกที่พระคัมภีร์บันทึกการกระทำและคำสอนรักษาไว้ให้เรารู้ ในเรื่องนี้เขาทั้งหลายจึงแตกต่างอย่างชัดเจนจากบรรดา “ผู้เข้าทรง” ในหมู่ “คณะประกาศก” สมัยโบราณ
กระนั้นก็ดี บุคคลที่ “เข้าทรง” เหล่านี้ก็ได้ชื่อเช่นเดียวกับบรรดาประกาศกว่า “nabi” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำนี้มีรากมาจากคำกริยาที่หมายความว่า “เข้าฌาน” “เข้าทรง” (ดู 1 ซมอ 18:10 และที่อื่นๆด้วย) ซึ่งเป็นอากัปกริยาของ “ประกาศก” เหล่านี้บางคน แต่ความหมายในอันดับรองเช่นนี้ไม่สู้จะมีผลมากนักต่อความหมายเดิมของคำนาม ที่น่าจะสัมพันธ์กับรากศัพท์ซึ่งมีความหมายว่า “เรียก” “ประกาศ” ดังนั้นคำว่า “nabi” จึงน่าจะหมายความว่า “ผู้ได้รับเรียก(จากพระเจ้า)” หรือ “ผู้ประกาศ(พระวาจาของพระเจ้า)” ความหมายทั้งสองของคำนี้รวมกันจึงบอกให้เรารู้ลักษณะเฉพาะของ “การประกาศพระวาจา” (prophecy) ในอิสราเอล “ประกาศก” คือผู้ที่นำพระวาจาของพระเจ้ามาอธิบายให้แก่ประชาชน ความหมายที่ว่านี้มีกล่าวไว้สั้นๆในข้อความคล้ายกันสองตอนใน อพย 4:15-16 อาโรนเป็นผู้อธิบายความหมายถ้อยคำของโมเสส อาโรนเป็น “ปาก” ของโมเสส และโมเสส “เป็นพระเจ้าซึ่งทรงดลใจเขา” ใน อพย 7:1 โมเสสต้องเป็นเหมือน "พระเจ้าสำหรับพระเจ้าฟาโรห์” และอาโรนจะเป็นเหมือน “ประกาศก” (nabi) ของโมเสส เรายังได้รับคำเตือนให้ระลึกถึงพระวาจาที่พระยาห์เวห์ตรัสแก่ประกาศกเยเรมีย์ว่า “เราเอาคำของเราใส่ในปากของท่าน” (ยรม 1:9) และบรรดาประกาศกก็สำนึกอยู่เสมอว่าคำสอนที่เขาประกาศแก่ประชาชนนั้นมาจากพระเจ้า โดยกล่าวนำถ้อยคำเหล่านี้ว่า “พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า” “นี่คือพระดำรัสของพระยาห์เวห์” หรือ “นี่คือพระวาจาที่พระยาห์เวห์ตรัส”
พระวาจาเช่นนี้มีพลังผลักดันให้บรรดาประกาศกต้องพูด ประกาศกอาโมสร้องประกาศว่า “พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัส แล้วใครจะไม่ประกาศพระวาจานี้” (อมส 3:8) และประกาศกเยเรมีย์พยายามจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมประกาศพระวาจา แต่ก็ไม่สำเร็จ (ยรม 20:7-10)
ในบางช่วงเวลาของชีวิต บรรดาประกาศกได้รับเรียกจากพระเจ้าโดยที่ไม่อาจต้านทานได้ (อมส 7:15; อสย บทที่ 6; ดูโดยเฉพาะ ยรม 1:4-10) ให้เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งไป (อสย 6:8) ถ้าประกาศกต้องการจะหนีให้พ้นจากการเรียกของพระเจ้า เขาอาจต้องประสบชะตากรรมที่ไม่น่าชื่นชอบนัก ดังที่มีเล่าอยู่ตอนต้นของเรื่องประกาศกโยนาห์ บุคคลเหล่านี้ที่ได้รับเรียกจากพระเจ้าถูกส่งไปประกาศข้อเรียกร้องของพระเจ้า และให้ตนเองเป็น “เครื่องหมาย” เพื่อแสดงพระประสงค์ของพระเจ้า ไม่เพียงแต่ถ้อยคำที่เขาพูดและการกระทำที่เขาปฏิบัติเท่านั้นบอกเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้า แต่ชีวิตทั้งชีวิตของเขาก็กล่าวถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงปรารถนาจะประกาศด้วย การแต่งงานที่ไม่ประสบความสุขของประกาศกโฮเชยาเป็นสัญลักษณ์ (ฮชย บทที่ 1-3) ประกาศกอิสยาห์เดินเปลือยกาย (อสย 20:3) เป็นสัญลักษณ์ และใน อสย 8:18 ประกาศกและบุตรทั้งสองของเขาก็เป็น “เครื่องหมายอัศจรรย์” สำหรับประชาชน ชีวิตของประกาศกเยเรมีย์เองก็เป็นบทเรียน (ยรม บทที่ 16) ประกาศกเอเสเคียลก็เป็น “เครื่องหมายสำหรับพงศ์พันธุ์อิสราเอล” เมื่อเขาปฎิบัติตามพระบัญชาที่แปลกประหลาดของพระเจ้า (อสค 4:3; 12:6,11; 24:24)
พระเจ้าทรงใช้วิธีการหลายแบบในการสื่อสารแก่บรรดาประกาศกด้วย เช่น โดยให้เห็นนิมิต เช่นใน อสย บทที่ 6, ใน อสค 1:2,8; ใน ดนล บทที่ 8-12, ใน ศคย บทที่ 1-6 (แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่นิมิตในเวลากลางคืน ดู กดว 12:6; เทียบ ดนล บทที่ 7, ศคย 1:8 ฯ) หรือโดยตรัสให้ได้ยินพระสุรเสียง แต่ส่วนใหญ่แล้วพระองค์ทรงสื่อสารโดยการดลใจภายใน (ตามปรกติเราจึงเข้าใจสูตรที่ว่า “พระวาจาของพระยาห์เวห์มาถึงข้าพเจ้าว่า.....” หรือ “พระวาจาของพระยาห์เวห์ที่ตรัสแก่...” ในความหมายนี้) การดลใจภายในที่ว่านี้บางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน บางครั้งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ธรรมดาสามัญที่สุด เช่นการมองเห็นกิ่งต้นอัลมอนด์ (ยรม 1:11) เห็นกระจาดสองใบใส่ผลมะเดื่อ (ยรม บทที่ 24) หรือการไปเยี่ยมที่ทำงานของช่างปั้นหม้อ (ยรม 18:1-4) ในทำนองเดียวกัน ประกาศกก็อาจใช้วิธีการต่างๆเพื่อสื่อ “สาร” ที่ได้รับมาจากพระเจ้าให้ประชาชนได้รับรู้ เช่นกล่าวเป็นบทประพันธ์สั้นๆ เล่าเป็นเรื่องร้อยแก้ว เล่าเรื่องอุปมา หรือกล่าวเป็นคำปราศรัยโดยตรง กล่าวเป็นสูตรทำนายห้วนๆ หรือกล่าวตักเตือนในรูปแบบต่างๆ ใช้เหตุผลวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวเป็นคำเทศน์ สุภาษิต เพลงสดุดี เพลงรัก คำประชดประชัน เพลงคร่ำครวญ ฯลฯ
ความหลากหลายทั้งในการรับและถ่ายทอด “สาร” ที่มาจากพระเจ้าเช่นนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากนิสัยใจคอและความสามารถตามธรรมชาติของประกาศกแต่ละคน ถึงกระนั้น ทั้งๆที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ ประกาศกทุกคนล้วนมีความรู้สำนึกที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือประกาศกแท้ย่อมมีความรู้สำนึกเต็มที่ว่า ตนเป็นเพียงกระบอกเสียงของพระเจ้าเท่านั้น คำพูดที่ตนกล่าวนั้น แม้จะเป็นคำพูดของตน แต่ก็ไม่ใช่ของตน ประกาศกไม่สงสัยเลยว่าพระวาจาของพระเจ้ามาถึงตนและตนจะต้องส่งต่อไปให้ผู้อื่น ความมั่นใจเช่นนี้มีที่มาอย่างลึกลับ เราอาจกล่าวได้ว่ามาจากฌานพิเศษ เป็นประสบการณ์จากการสัมผัสโดยตรงกับพระเจ้าดังที่เราได้กล่าวแล้ว การที่พระเจ้าเข้าครอบคลุมตัวประกาศกไว้นี้บางครั้งก็ทำให้ประกาศกมีอาการ “ไม่ปรกติ” ขึ้นในตัว แต่ทว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเพียง “ของแถม” เช่นที่เกิดขึ้นได้กับผู้บำเพ็ญฌานยิ่งใหญ่บางคน เราจำเป็นต้องกล่าวว่าพระเจ้าทรงแทรกเข้ามายกประกาศกขึ้นไปอยู่ในสภาพทางจิตใจที่ “เหนือปรกติ” เช่นเดียวกับที่ทรงกระทำกับผู้บำเพ็ญฌาน ถ้าเราไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงกระทำเช่นนี้กับประกาศก ประกาศกก็ถูกลดตำแหน่งลงมาอยู่ในระดับเดียวกับจินตกวี หรือมิฉะนั้นก็ต้องกล่าวว่าเขาเป็นเพียงคนเพ้อฝันที่หลงไปเท่านั้น
3. ประกาศกมักจะไม่สื่อ “สาร” ที่ตนได้รับมาแก่บุคคลเพียงคนเดียว (อสย 22:1 ฯ) หรือถ้าเขาทำเช่นนั้น เขาก็คิดถึงคนอื่นๆด้วย (ยรม 20:6; อมส 7:17) กษัตริย์ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบสำหรับชนทั้งชาตินับเป็นข้อยกเว้น ดังที่เราเห็นได้ในกรณีที่ประกาศกนาธันทูลกษัตริย์ดาวิด ประกาศกเอลียาห์ทูลกษัตริย์อาหับ ประกาศกอิสยาห์ทูลกษัตริย์อาหัสและเฮเซคียาห์ ประกาศกเยเรมีย์ทูลกษัตริย์เศเดคียาห์ หลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว ประกาศกยังเป็นผู้แจ้งสารจากพระเจ้าแก่ผู้นำชุมชนอิสราเอล (ศคย บทที่ 3) ดังนั้นถ้าเราไม่พิจารณาถึงข้อยกเว้นเช่นนี้ เราต้องกล่าวว่าภารกิจของบรรดาประกาศกยิ่งใหญ่ที่มีคำสอนบันทึกเก็บไว้จนถึงสมัยของเรานั้นแตกต่างจากบรรดาประกาศกก่อนหน้านั้นในอิสราเอล หรือต่างจากบรรดาผู้ทำหน้าที่คล้ายๆกันในแถบตะวันออกกลาง ก็ตรงที่ท่านเหล่านี้แจ้งสารที่ได้รับมาจากพระเจ้าแก่ชนทั้งชาติ ทุกๆครั้งที่มีการเล่าถึงการเรียกประกาศก พระคัมภีร์กล่าวชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมอบพันธกิจให้ประกาศกไปปฏิบัติต่อชนอิสราเอลทั้งชาติ (อสย 6:9; อสค 2:3; อมส 7:15) หรือในกรณีของประกาศกเยเรมีย์ พระเจ้าทรงมอบพันธกิจให้เขาไปปฏิบัติต่อนานาชาติด้วย
ข่าวสารที่ประกาศกสื่อให้แก่ผู้ฟังนั้นเกี่ยวข้องทั้งกับปัจจุบันและกับอนาคต พันธกิจของประกาศกมุ่งถึงผู้คนร่วมสมัย ประกาศกสื่อให้คนเหล่านี้รู้พระประสงค์ของพระเจ้า แต่ในฐานะที่ประกาศกประกาศพระประสงค์ของพระเจ้าให้มนุษย์รับรู้ เขาก็อยู่เหนือกาลเวลา การเทศน์สอนของเขาได้รับการสนับสนุนและคงอยู่ต่อไป เมื่อเหตุการณ์ที่เขาทำนายว่าจะเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจริงๆ บางครั้งประกาศกจะกล่าวทำนายถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆก็ทำให้คำพูดของเขาและพันธกิจที่เขาได้รับจากพระเจ้ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ (1 ซมอ 10:1 ฯ; อสย 7:14; ยรม 28:15 ฯ; 44:29-30) บางครั้งเขากล่าวว่าพระเจ้าจะทรงลงโทษความผิดตามที่ทรงคาดโทษไว้ หรือกล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองเป็นรางวัลของการกลับใจตามที่ทรงขอร้อง บรรดาประกาศกในสมัยหลังๆยังมองไปถึงอนาคตที่ไกลกว่านั้น คือมองไปถึงชัยชนะในยุคสุดท้ายของพระเจ้า ถึงกระนั้นในกรณีนี้ด้วย คำสอนของประกาศกก็มีบทสอนสำหรับปัจจุบันอยู่เสมอ กระนั้นก็ดี เนื่องจากว่าประกาศกเป็นเพียงเครื่องมือของพระเจ้า คำสอนของประกาศกอาจก้าวเกินขอบเขตบริบททางประวัติศาสตร์ของถ้อยคำที่ประกาศกกล่าว หรืออาจก้าวเกินความเข้าใจของประกาศกด้วย คำกล่าวของประกาศกอาจซ่อนความลึกลับอยู่ด้วยจนกระทั่งเมื่อเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในอนาคตตรงตามที่ประกาศกทำนายไว้ บรรดาผู้ฟังจึงจะเข้าใจความลึกลับนั้นได้
สารที่พระเจ้าทรงสื่อแก่มนุษย์ผ่านทางประกาศกมีอยู่สองแบบด้วยกัน คืออาจเป็นการคาดโทษ หรืออาจเป็นคำปลอบโยนให้กำลังใจ พระเจ้าทรงส่งประกาศกเยเรมีย์ให้ไป “ถอนรากและทำให้พังทลาย ให้ก่อสร้างและให้ปลูก” และ “สาร” จากพระเจ้านี้มักขัดหูผู้ฟัง เป็นการคาดโทษและตำหนิความผิด จนกระทั่งว่าความเคร่งครัดกลายเป็นเครื่องหมายว่าประกาศกท่านนั้นเป็นประกาศกแท้หรือไม่ (ยรม 28:8-9; ดู 1 พกษ 22:8; ยรม 26:16-19 ด้วย) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าประกาศกแท้คิดอยู่เสมอว่าบาปเป็นสิ่งที่ขัดขวางพระประสงค์ของพระเจ้า แต่กระนั้น ประกาศกก็มิได้ลืมแผนการเรื่องความรอดพ้นเลย “หนังสือบันทึกคำปลอบโยนอิสราเอล” ใน อสย บทที่ 40-56 เป็นจุดยอดของคำเทศน์สอนของประกาศก และไม่มีเหตุผลใดที่เราจะไปถามว่า ข้อความที่ประกาศกในสมัยโบราณเคยประกาศถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น เป็นของแท้หรือไม่ ดังเช่นข้อความที่เราพบใน ฮชย 2:16-25; 11:8-11; 14:2-9; อมส 9:8-15 เมื่อพระเจ้าทรงติดต่อกับมนุษย์นั้น พระกรุณาอภัยโทษกับการลงโทษนั้นเป็นของคู่กันและเสริมกัน
แม้ว่าพระเจ้าทรงส่งประกาศกมาเทศน์สอนชาวอิสราเอล แต่มุมมองของประกาศกขยายวงกว้างมากกว่านั้น คล้ายกับพระอานุภาพของพระเจ้า ซึ่งเป็นความคิดหลักที่ประกาศกสอน ในหนังสือของประกาศก “ใหญ่” หรือประกาศก “สำคัญ” เราจะพบข้อความที่ประกาศกกล่าวประณามนานาชาติ เช่น อสย บทที่ 13-23, ยรม บทที่ 46-51, อสค บทที่ 25-32 หนังสือประกาศกอาโมสเริ่มด้วยคำพิพากษาซึ่งประกาศกกล่าวประณามชนชาติเพื่อนบ้านของอิสราเอล ประกาศกโอบาดีห์กล่าวประณามชาวเอโดม และประกาศกนาฮูมก็กล่าวประณามกรุงนินะเวห์อย่างยืดยาว
ประกาศกแต่ละท่านรู้ดีว่าตนกำลังพูดในพระนามของพระเจ้า แต่คนฟังล่ะ รู้สึกเช่นนั้นหรือเปล่า ในพระคัมภีร์มีเรื่องประกาศกเทียมปรากฏมามากกว่าหนึ่งครั้ง ประกาศกดังกล่าวอาจพูดด้วยความจริงใจแต่อาจเข้าใจผิด หรืออาจมีเจตนาหลอกลวงประชาชนโดยตรง ความประพฤติของประกาศกไม่ช่วยให้เราแยกประกาศกเทียมจากประกาศกแท้ได้ ประกาศกเทียมหลอกลวงประชาชนให้เชื่อได้ง่ายๆ และประกาศกแท้ก็จำเป็นต้องบอกให้ประชาชนรู้ถึงกลลวงเช่นนี้ ดังเช่นประกาศกมีคายาห์ เบน อิมลาห์ ทูลกษัตริย์อาหับให้ทรงทราบเรื่องประกาศกเทียมใน 1 พกษ 22:8 ฯ หรือประกาศกเยเรมีย์กล่าวโจมตีประกาศก(เทียม)ฮานันยาห์ (ยรม บทที่ 28) และกล่าวประณามประกาศกเทียมทั่วไปใน ยรม บทที่ 23 และประกาศกเอเสเคียลก็กล่าวประณามบรรดาประกาศกทั้งชายและหญิงในอิสราเอลใน อสค บทที่ 13 แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรเล่าว่า “สาร” ที่ประกาศกนำมาบอกนั้นมาจากพระเจ้า เราจะรู้จักประกาศกแท้ได้อย่างไร พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมให้มาตรการไว้ 2 ประการ คือ (1) เหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามที่ประกาศกกล่าวทำนายไว้ล่วงหน้า (ฉธบ 18:22; ยรม 28:9; ดู 1 ซมอ 10:1 ฯ; อสย 7:14; ยรม 28:15 ฯ; 44:29-30) (2) และยังมีมาตรการประการที่สองที่มีความสำคัญมากกว่าด้วย คือคำสอนของประกาศกต้องสอดคล้องกับความเชื่อเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ (ฉธบ 13:1-6; ยรม 23:22)
ข้อความที่เรายกมาอ้างจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติแสดงว่า ประกาศกเป็นสถาบันทางการซึ่งศาสนาของชาวอิสราเอลยอมรับ บางครั้งพระคัมภีร์กล่าวถึง “ประกาศก” ควบคู่กับ “สมณะ” (ยรม 8:1; 23:11; 26:7 ฯ; ศคย 7:3) และประกาศกเยเรมีย์ยังบอกเราด้วยว่าในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มมีห้องของเบน-โยฮานัน “คนของพระเจ้า” ซึ่งน่าจะเป็น “ประกาศก” คนหนึ่ง จากข้อความพาดพิงดังกล่าวนี้และจากการที่ถ้อยคำซึ่งประกาศกกล่าวในบางครั้งมีความละม้ายคล้ายกับข้อความที่ใช้ในพิธีกรรม ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันบางคนสรุปว่าประกาศกหลายท่าน แม้ประกาศกซึ่งเป็นที่รู้จักดีมากๆ นั้นสังกัดอยู่กับพระวิหารและมีบทบาททางการในการประกอบศาสนพิธีด้วย ถึงกระนั้น สมมุติฐานนี้ดูเหมือนจะก้าวเกินข้อมูลจากตัวบทที่เป็นฐานของทฤษฎีนี้มากไปสักหน่อย คำอธิบายเพียงว่าประกาศกบางท่านมีความสัมพันธ์อย่างหลวมๆกับสักการสถานสำคัญบางแห่งของอิสราเอลน่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีพอควรแล้ว หรือยังอธิบายได้อีกว่าคำเทศน์สอนบางตอนของประกาศก โดยเฉพาะ ฮาบากุก เศคารยาห์และโยเอล อาจได้รับอิทธิพลจากพิธีกรรมอยู่บ้าง
เราจะรู้ลักษณะบทบาทของประกาศกได้ ก็โดยพิจารณาเหตุการณ์และตัวบทต่างๆเกี่ยวกับประกาศก ความคิดพื้นฐานจะปรากฏเด่นชัดออกมาจากข้อมูลเหล่านี้ เช่น ประกาศกคือผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงเรื่องพระเจ้า ประกาศกคือผู้ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์และพระประสงค์ของพระองค์ ประกาศกพิศเพ่งถึงปัจจุบันและอนาคตในมุมมองของพระเจ้า พระองค์ทรงส่งประกาศกมาเตือนให้มนุษย์คิดถึงหน้าที่ของตนต่อพระเจ้า และนำมนุษย์ให้กลับมาเชื่อฟังและรักพระองค์ ถ้าเราเข้าใจคำประกาศสอนของประกาศกเช่นนี้ แม้เราจะพบว่ามีความละม้ายคล้ายกันกับปรากฏการณ์ของศาสนาอื่นๆของชนชาติที่อยู่โดยรอบ ก็จะเห็นได้ว่า “ประกาศก” เป็นบุคคลพิเศษกลุ่มหนึ่งสำหรับอิสราเอลโดยเฉพาะ เป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงพระกรุณาจัดไว้ให้เป็นเครื่องมือเพื่อนำทางประชากรที่พระองค์ทรงเลือกสรร
4. ประวัติของขบวนการประกาศก
4. ประวัติของขบวนการประกาศก
เมื่อทราบคำจำกัดความถึงลักษณะและบทบาทของประกาศกแล้ว เราจึงไม่แปลกใจที่พระคัมภีร์สอนว่าโมเสสเป็นเสมือน “บิดา” ของประกาศกทั้งหลาย (ฉธบ 18:5,18) และเป็นผู้แทนโดดเด่นที่สุดของบรรดาประกาศก (กดว 12:6-8; ฉธบ 34:10-12) เพราะโมเสสเป็นผู้ที่สนทนากับพระเจ้าโดยตรง และเป็นผู้นำธรรมบัญญัติมามอบให้แก่ประชากรที่ทรงเลือกสรร อภิสิทธิ์ของโมเสสมิได้จบสิ้นไปพร้อมกับเขา แต่ “พระจิตของพระเจ้ายังประทับอยู่ต่อไป” กับโยชูวาผู้สืบตำแหน่งของเขา (กดว 27:18; เทียบ ฉธบ 34:9) ในสมัยผู้วินิจฉัย เรายังพบนางเดโบราห์ประกาศกหญิง (วนฉ บทที่ 4-5) และประกาศกที่พระคัมภีร์มิได้ออกชื่ออีกท่านหนึ่งใน วนฉ 6:8 ต่อมาเราก็พบว่าซามูเอลเป็นทั้งประกาศกและผู้ทำนาย (1 ซมอ 3:20; 9:9; เทียบ 2 พศด 35:18) ต่อจากนั้น เรายังพบพลังจิตของประกาศกอยู่ทั่วไปในกลุ่มของคนทรงที่มีพฤติกรรมแปลกๆดังที่เราเคยกล่าวถึงมาแล้ว (1 ซมอ 10:5; 19:20) หลังจากนี้พระคัมภีร์ยังกล่าวถึงกลุ่มประกาศกที่มีพฤติกรรมไม่สู้จะแปลกประหลาดอะไรนัก พระคัมภีร์เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “บุตรของประกาศก” (“sons of the prophets” - 2 พกษ บทที่ 2) แต่ต่อมาหลังจากนั้นพระคัมภีร์ก็ไม่กล่าวถึงกลุ่มประกาศกเช่นนี้อีก แม้ว่าหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว เรายังพบการกล่าวถึง “บรรดาประกาศก” ในรูปพหูพจน์ (ศคย 7:3) เราไม่รู้ว่า “กลุ่มประกาศก” เหล่านี้มีอิทธิพลอะไรต่อชีวิตทางศาสนาของชาติ มีประกาศกอีกหลายท่านซึ่งไม่ได้มาจาก “กลุ่มประกาศก” เหล่านี้ แต่ก็มีอิทธิพลไม่น้อย เช่นประกาศกชื่อ “กาด” ของกษัตริย์ดาวิด (1 ซมอ 22:5; 2 ซมอ 24:11) ประกาศก “นาธัน” ในสมัยเดียวกัน (2 ซมอ 7:2 ฯ; 12:1 ฯ; 1 พกษ 1:11 ฯ) ในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัมก็มีประกาศกอาหิยาห์ (1 พกษ 11:29 ฯ; 14:2 ฯ) ประกาศกเยฮูบุตรของฮานานีในรัชสมัยของกษัตริย์บาอาชา (1 พกษ 16:7) ประกาศกเอลียาห์และเอลีชาในรัชสมัยกษัตริย์อาหับและหลังจากนั้น (แทรกอยู่ในเรื่องที่เล่าไว้ใน 1 พกษ บทที่ 17 ถึง 2 พกษ บทที่ 13) ประกาศกโยนาห์ในรัชสมัยกษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 (2 พกษ 14:25) ประกาศกหญิงฮุลดาห์ในรัชสมัยกษัตริย์โยสิยาห์ (2 พกษ 22:14 ฯ) ประกาศกอูรียาห์ในรัชสมัยกษัตริย์เยโฮยาคิม (ยรม 26:20) และจากหนังสือพงศาวดารก็ยังมีชื่อของประกาศกเชไมยาห์ในรัชสมัยกษัตริย์เยโรโบอัม (2 พศด 12:5 ฯ) ประกาศกอิดโดในรัชสมัยกษัตริย์เรโหโบอัมและอาบียาห์ (2 พศด 12:15; 13:22) ประกาศกอาซาริยาห์ในรัชสมัยกษัตริย์อาสา (2 พศด 15:1 ฯ) ประกาศกโอเบด ในรัชสมัยกษัตริย์อาหัส (2 พศด 28:9 ฯ) และประกาศกอีกบางท่านที่พระคัมภีร์ไม่ได้ให้ชื่อไว้
ประกาศกเหล่านี้ส่วนใหญ่เพียงแต่ถูกกล่าวชื่อเท่านั้น เรารู้เรื่องราวเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับท่านเหล่านี้บางคน ประกาศกนาธันกล่าวทำนายให้กษัตริย์ดาวิดทรงทราบว่าพระเจ้าจะทรงอวยพระพรให้พระราชวงศ์ดำรงอยู่ตลอดไป คำทำนายนี้เป็นจุดเริ่มต้นของคำทำนายอื่นๆที่จะตามมาเสมือนสายโซ่ และจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ ซึ่งจะสืบเชื้อสายจากราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด (2 ซมอ 7:1-17) ประกาศกท่านนี้ยังทูลตำหนิกษัตริย์ดาวิดที่ทรงเป็นชู้กับนางบัทเชบา และเมื่อทรงสำนึกถึงบาปแล้ว ก็ทูลว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปให้พระองค์ด้วย (2 ซมอ 12:1-25) เรารู้จักเรื่องราวของประกาศกเอลียาห์และเอลีชาดีพอสมควรจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ ประกาศกเอลียาห์แสดงตนเป็นผู้ปกป้องความเชื่อต่อพระเจ้าเที่ยงแท้ ขณะที่การนับถือเทพเจ้าที่ชนต่างชาตินำเข้ามากำลังคุกคามศาสนาของพระยาห์เวห์ บนภูเขาคารเมลประกาศกเอลียาห์มีชัยชนะเด็ดขาดเหนือประกาศกของพระบาอัล (1 พกษ บทที่ 18) แต่ก็ต้องหนีความอาฆาตของพระนางเยเซเบลไปที่ภูเขาโฮเรบ ภูเขาแห่งพันธสัญญา การที่เขาพบพระเจ้าที่นั่นแสดงว่างานของเขามีความสัมพันธ์กับงานของโมเสส (1 พกษ บทที่ 19) นอกจากเป็นผู้ปกป้องความเชื่อต่อพระยาห์เวห์แล้ว ประกาศกเอลียาห์ยังเป็นผู้พิทักษ์ศีลธรรมด้วย เขาทูลกษัตริย์อาหับโดยไม่เกรงพระทัยว่าพระเจ้าได้ทรงตัดสินลงโทษพระองค์แล้วเพราะทรงประหารชีวิตนาโบทเพื่อทรงช่วงชิงกรรมสิทธิ์สวนองุ่นของเขามา (1 พกษ บทที่ 21) ประกาศกเอลียาห์ได้รับความเคารพนับถืออย่างมากจากประชาชน พระคัมภีร์เล่าถึงการจากโลกนี้ไปของเขาอย่างลึกลับ (2 พกษ 2:1-18) และยิ่งเวลาผ่านไป ธรรมประเพณีของชาวยิวเกี่ยวกับประกาศกท่านนี้ก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ส่วนประกาศกเอลีชานั้นแตกต่างไปจากประกาศกเอลียาห์ เขาเป็นประกาศกสันโดษแยกจากสังคม แต่ก็มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ร่วมสมัย เช่นในสงครามกับชาวโมอับ (2 พกษ บทที่ 3) ในสงครามกับชาวซีเรีย (2 พกษ บทที่ 6-7) ในการที่ฮาซาเอลเข้ายึดอำนาจเป็นกษัตริย์ที่กรุงดามัสกัส (2 พกษ 8:7-15) ในการที่เยฮูเข้ายึดอำนาจเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรอิสราเอล (2 พกษ 9:1-3) ผู้มีอำนาจต้องมาปรึกษาเขา เช่น กษัตริย์เยโฮอาชแห่งอิสราเอล (2 พกษ 13:14-19) เบนฮาดัดกษัตริย์ที่กรุงดามัสกัส (2 พกษ 8:7-8) นาอามานแม่ทัพชาวซีเรีย (2 พกษ บทที่ 5) ประกาศกเอลีชายังเกี่ยวข้องกับ “กลุ่มประกาศก” ที่มีเรื่องเล่าถึงอัศจรรย์หลายเรื่องเกี่ยวกับเขาด้วย (2 พกษ 4:1-7,38-44: 6:1-7)
โดยปรกติแล้วเราได้รายละเอียดเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับประกาศกจากพระคัมภีร์ เราจะแยกกล่าวถึงประกาศกเหล่านี้แต่ละคนเมื่อเราจะศึกษาหนังสือที่มีชื่อของเขา เป็นการเพียงพอแล้วในขณะนี้ที่จะกล่าวว่า ประกาศกแต่ละคนมีบทบาทอย่างไรในขบวนการประกาศก และชี้ให้เห็นว่า ประกาศกแต่ละคนมีเอกลักษณ์อะไรพิเศษบ้างเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น บรรดาประกาศกมักจะเข้ามามีบทบาทในช่วงเวลาวิกฤติ ก่อนหรือร่วมสมัยกับจุดหักเหในประวัติศาสตร์ของชาติ เช่นเมื่ออาณาจักรเหนือถูกชาวอัสซีเรียคุกคามและถูกทำลาย เมื่ออาณาจักรยูดาห์ถูกทำลายและประชาชนถูกจับเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน เมื่อการเนรเทศสิ้นสุดและประชากรจะกลับจากการเนรเทศ ประกาศกมิได้มีแต่ข่าวสารสำหรับกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังมีสำหรับประชาชนด้วย ในเมื่อ “สาร” เหล่านี้ยังมีความสำคัญสำหรับทุกคนด้วย จึงถูกบันทึกลงไว้และยังคงมีอิทธิพลต่อไปสำหรับทุกคน ช่วงเวลาปฏิบัติภารกิจของประกาศกอาโมส ประกาศกคนแรกในบรรดาประกาศกเหล่านี้ อยู่ราวกลางศตวรรษที่ 8 ก.ค.ศ. คือราว 50 ปีหลังจากที่ประกาศกเอลีชาถึงแก่มรณภาพแล้ว และช่วงเวลาสำคัญของบรรดาประกาศก (ซึ่งยืดเยื้ออยู่เกือบสองศตวรรษ) ดำเนินต่อมาจนถึงการถูกจับเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน ในระยะเวลาช่วงนี้มีประกาศกยิ่งใหญ่สองคนคือ อิสยาห์ และเยเรมีย์ แต่ในช่วงเวลานี้ก็ยังมีประกาศกอีกหลายคนได้แก่ โฮเชยา มีคาห์ นาฮูม เศฟันยาห์ และฮาบากุก ประกาศกเอเสเคียลซึ่งประกาศพระวาจาในช่วงเวลาเนรเทศที่กรุงบาบิโลน เริ่มภารกิจของตนเมื่อภารกิจของเยเรมีย์จบลง ในช่วงเวลาของประกาศกเอเสเคียลนี้บรรยากาศของประกาศกก็เปลี่ยนไปด้วย การประกาศพระวาจาอย่างมีชีวิตชีวาและไม่สนใจนักที่จะขัดเกลาถ้อยคำนั้นลดน้อยลง มีการใช้ “นิมิต” บ่อยและซับซ้อนมากขึ้น มีการบรรยายถึง “นิมิต” เหล่านี้อย่างละเอียด และมีความสนใจต่อ “ยุคสุดท้าย” เพิ่มขึ้น กล่าวสั้นๆก็คือ วรรณกรรมแบบ “วิวรณ์” เริ่มปรากฏขึ้น ถึงกระนั้นในช่วงเวลานี้ ธรรมประเพณีที่สำคัญของประกาศกอิสยาห์ก็ยังมีอยู่สืบต่อมาและได้รับการพัฒนาขึ้นใน อสย บทที่ 40-55 (ซึ่งได้ชื่อว่า “หนังสือบันทึกคำปลอบโยนอิสราเอล”) ประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์ในสมัยกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนมีมุมมองแคบลง ประกาศกทั้งสองคนนี้สนใจถึงแต่เรื่องการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่เท่านั้น หลังจากนั้นก็มีประกาศกมาลาคีที่กล่าวถึงความบกพร่องของชุมชนชาวอิสราเอลซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในแผ่นดินยูดาห์ หนังสือประกาศกโยนาห์ซึ่งมีความยาวไม่มากนักจะตามมา โดยนำข้อความจากพระคัมภีร์ก่อนหน้านั้นมาปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อเป็นบทสอนใหม่แก่ประชาชน หนังสือโยนาห์นี้เป็นการเริ่มวรรณกรรมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “midrash” ในหนังสือโยเอลและในภาคสองของเศคาริยาห์เราพบวรรณกรรมแบบ “วิวรณ์” อย่างที่เคยพบในหนังสือเอเสเคียลอีกเช่นเดียวกับในหนังสือดาเนียล ภาพของอดีตและอนาคตมาพบกันกลายเป็น “นิมิต” ยิ่งใหญ่ที่อยู่เหนือกาลเวลา เป็นนิมิตถึงความชั่วร้ายที่ถูกทำลายและการมาถึงของ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ดูเหมือนว่า ณ จุดนี้การดลใจบรรดาประกาศกสิ้นสุดลง เราจึงเริ่มได้ยินสำนวนที่กล่าวถึง “ประกาศกในอดีต” (ดนล 9:6,10 และเทียบข้อความก่อนหน้านั้นใน ศคย 7:7,12 แต่ ศคย 13:2-6 มองล่วงหน้าเห็นจุดจบของหน้าที่ประกาศกเพราะประกาศกเทียมจะมาทำให้หน้าที่นี้หมดความน่าเชื่อถือไป แต่ประกาศกโยเอล (ยอล 3:1-5) ก็สัญญาไว้ว่าพระเจ้าจะหลั่งพระจิตเจ้าลงมาในยุคพระเมสสิยาห์ และพระสัญญานี้ก็เป็นความจริงในวันเปนเตก๊อสเต (ดู กจ 2:16 ฯ) เหตุการณ์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแท้จริงของยุคใหม่ที่เมื่อยอห์นผู้ทำพิธีล้างออกเทศน์สอนประชาชน จึงนับได้ว่ายอห์นคือประกาศกคนสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม เขาคือ “ประกาศก และยิ่งกว่าประกาศกอีก” (มธ 11:9; ลก 7:26)
5. คำสอนของบรรดาประกาศก
5. คำสอนของบรรดาประกาศก
บรรดาประกาศกมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านศาสนาของชนชาติอิสราเอล บุคคลเหล่านี้พยายามสอนประชาชนให้ซื่อสัตย์ต่อศาสนาเที่ยงแท้ของพระยาห์เวห์ แต่ยิ่งกว่านั้น เขายังเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้พิเศษ เพื่อพระองค์จะได้ทรงเปิดเผยความจริงมากยิ่งขึ้นให้แก่มนุษยชาติ ในกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ประกาศกแต่ละคนล้วนมีบทบาทหน้าที่พิเศษของตนในการเสริมความรู้เรื่องพระเจ้าในสมบูรณ์ขึ้น คำสั่งสอนเฉพาะเหล่านี้มีส่วนช่วยทำให้ประชากรมีความรู้ความเข้าใจถึงพระเจ้าได้สมบูรณ์ขึ้น นับเป็นการถ่ายทอดและย้ำความคิดทางเทววิทยาของพันธสัญญาเดิมสืบต่อมาในเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ เอกเทวนิยม (Monotheism); คำสอนในเรื่องศีลธรรม และในเรื่องความรอดพ้นที่พระเจ้าจะประทานให้ในอนาคต
เอกเทวนิยม: ชาวอิสราเอลต้องใช้เวลาหลายศตวรรษเพื่อจะให้คำนิยามด้านปรัชญาในเรื่อง “เอกเทวนิยม” คือการยืนยันว่าพระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว ดังนั้นจึงไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีก เป็นที่ยอมรับกันมาตลอดเวลาหลายศตวรรษว่าชนแต่ละชาติต่างก็มีพระเจ้าของตน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอิสราเอล ชนชาติอิสราเอลยอมรับพระยาห์เวห์แต่เพียงพระองค์เดียว พระยาห์เวห์นี้ทรงพระอานุภาพเหนือบรรดา “พระเจ้า” หรือ “เทพเจ้า” ทั้งมวล และทรงเรียกร้องให้มนุษย์ถวายเกียรติแด่พระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น คำเทศน์สอนของบรรดาประกาศกค่อยๆเปลี่ยนแปลงความคิดและการปฏิบัติดังที่กล่าวนี้ ให้มาเป็นการให้คำนิยามแบบนามธรรมเรื่อง “เอกเทวนิยม” นี้ได้ เมื่อประกาศกอาโมส ซึ่งเป็นประกาศกคนแรกที่พระคัมภีร์บันทึกคำสอนไว้ กล่าวถึงพระยาห์เวห์ว่าทรงเป็นพระเจ้า ทรงเป็นเจ้านายของธรรมชาติ รวมทั้งของมนุษย์และเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เขาก็ทำเพียงย้ำความจริงที่เคยเชื่อกันมาเพื่อสนับสนุนการคาดโทษที่พระองค์จะทรงกระทำต่อประชากรที่ไม่เชื่อฟังพระองค์เท่านั้น แต่ทว่าคำสั่งสอนและข้อเรียกร้องของความเชื่อแต่โบราณนี้ก็ปรากฏชัดยิ่งๆขึ้น จากการที่ทรงเปิดเผยพระองค์ที่ภูเขาซีนายผูกพันอยู่กับความคิดเรื่องการเลือกสรรและพันธสัญญานั้น อาจทำให้คิดไปได้ว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของชนชาติอิสราเอลเพียงชาติเดียว ทรงผูกพันอยู่กับแผ่นดินและสักการสถานต่างๆของชนชาตินี้เท่านั้น จริงอยู่ที่บรรดาประกาศกย้ำถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของพระยาห์เวห์กับชนชาติที่ทรงเลือกสร และเขาเหล่านี้ก็ยังสอนด้วยว่าชะตากรรมของชนชาติอื่นๆก็อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ด้วย (อมส 9:7) พระองค์ประทับนั่งเป็นผู้พิพากษาชนชาติเล็กน้อยเช่นเดียวกับที่ทรงพิพากษาบรรดาจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ด้วย (อมส บทที่ 1-2; ดู “คำประกาศพระวาจาประณามชนชาติต่างๆ” ด้วย) พระองค์ประทานอำนาจให้แก่จักรวรรดิยิ่งใหญ่เหล่านี้และทรงเรียกอำนาจนี้กลับคืนมาด้วย (ยรม 27:5-8) พระองค์ทรงใช้จักรวรรดิเหล่านี้เป็นเครื่องมือและเป็นอาวุธเพื่อทรงลงโทษผู้กระทำผิด (อมส 6:11; อสย 7:18-19; 10:6; ยรม 5:15-17) และจะทรงเลิกใช้เมื่อใดก็ได้ตามที่พอพระทัย (อสย 10:12) แผ่นดินอิสราเอลเป็นสมบัติของพระยาห์เวห์ (ยรม 7:7) พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเป็นที่ประทับของพระองค์ (อสย บทที่ 6; ยรม 7:10-11) แต่ประกาศกหลายท่านก็กล่าวล่วงหน้าว่าพระวิหารจะถูกทำลาย (ยรม 7:12-14; มคา 3:12) ประกาศกเอเสเคียลยังแลเห็นล่วงหน้าด้วยว่า พระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์กำลังออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม (อสค 10:18-22; 11:23-23)
ไม่มีที่สำหรับพระเจ้าอื่นใดให้มาอยู่เคียงคู่กับพระยาห์เวห์ เจ้านายแห่งสกลจักรวาลเลย เมื่อมีการเคารพนับถือพระเจ้าของชนต่างชาติหรือมีการประนีประนอมกับกิจการเหล่านี้ ก็นับว่าความเชื่อของอิสราเอลกำลังถูกภัยคุกคาม บรรดาประกาศกจึงมักจะย้ำว่าพระเจ้าเท็จเทียมเหล่านี้ไม่มีอำนาจทำอะไรได้ และรูปเคารพต่างๆก็เป็นสิ่งไร้ค่า (ยรม 2:5-13,27-28; 5:7; 16:20; ฮชย 2:7-15) ในช่วงเวลาการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน เมื่อความหวังของชาติล่มสลายลงและพระอานุภาพของพระยาห์เวห์ดูเหมือนว่าประสบความพ่ายแพ้ ประกาศกอิสยาห์ที่สองก็ยิ่งใช้ถ้อยคำรุนแรงขึ้นและให้เหตุผลชัดเจนขึ้นในการกล่าวประณามรูปเคารพ (อสย 40:19-20; 41:6-7,21-24; 44:9-20; 46:17; ดู ยรม 10:1-16) และในช่วงเวลาหลังจากนั้น (ดู “จดหมายของเยเรมีย์”; บรค บทที่ 6 และ ดนล บทที่ 14) คำสอนเรื่องเอกเทวนิยมมีความชัดเจนเต็มที่ (อสย 44:6-8; 46:1-7,9)
พระเจ้าพระองค์นี้ทรงอยู่เหนือสรรพสิ่ง (transcendent) ลักษณะประการนี้เองทำให้บรรดาประกาศกนิยมใช้คำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” (Holy) ซึ่งเป็นความคิดหลักในการเทศน์สอนของประกาศกอิสยาห์ (อสย บทที่ 6 และในที่อื่นอีกหลายแห่ง: 1:4; 5:19,24; 10:17,20) น่าจะดูข้อความตอนอื่นอีกด้วย เช่น อสย 40:25; 41:14,16,20; ยรม 50:29; 51:5; ฮชย 11:9; ฮบก 1:12; 3:3) พระองค์ทรงมีความลึกลับห้อมล้อมอยู่ (อสย บทที่ 6; อสค บทที่1) และทรงอยู่เหนือ “บรรดาบุตรของมนุษย์” อย่างไร้ขอบเขต (ประกาศกเอเสเคียลชอบใช้วลี “บุตรของมนุษย์” นี้ตลอดเวลาเพื่อเน้นระยะห่างระหว่างประกาศกกับพระเจ้าซึ่งตรัสกับตน) แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงอยู่ใกล้ๆเพราะทรงพระกรุณาต่อมนุษย์ และยิ่งกว่าทรงพระกรุณาเสียอีก ประกาศกโฮเชยาและเยเรมีย์กล่าวเปรียบเทียบถึงพระองค์ว่า ความรักที่พระยาห์เวห์ทรงมีต่ออิสราเอลนั้นเป็นเหมือนกับความรักในการแต่งงานของพระองค์กับอิสราเอล (ฮชย บทที่ 2; ยรม 2:2-7; 3:6-8) ประกาศกเอเสเคียลยังกล่าวถึงความรักนี้โดยเล่าเป็นเรื่องเปรียบเทียบยืดยาวใน อสค บทที่ 16 และ 23 อีกด้วย
คำสอนเรื่องศีลธรรม: พระเจ้าทรงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ล้วนๆ มนุษย์เป็นสิ่งที่มีมลทิน (อสย 6:5) ความมั่นใจเช่นนี้ทำให้บรรดาประกาศกเข้าใจชัดเจนว่าบาปคืออะไร สำคัญอย่างไร มุมมองด้านศีลธรรมเช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมีซ่อนอยู่ในบัญญัติสิบประการมาแต่โบราณแล้ว ประกาศกนาธันก็มีมุมมองเช่นนี้เมื่อเขาเข้าไปตำหนิความผิดของกษัตริย์ดาวิดใน 2 ซมอ บทที่ 12 และเมื่อประกาศกเอลียาห์กล่าวประณามกษัตริย์อาหับใน 1 พกษ บทที่ 21 แต่เรื่องความผิดถูกทางศีลธรรมนี้เป็นข้อคิดที่พระคัมภีร์กล่าวย้ำบ่อยๆในหนังสือของบรรดาประกาศก บาปคือสิ่งที่แยกมนุษย์จากพระเจ้า (อสย 59:2) เพราะบาปเป็นการทำผิดต่อพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น (อมส) ผิดต่อพระเจ้าผู้ทรงรัก (ฮชย) ผิดต่อพระเจ้าผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์ (อสย) เราอาจกล่าวได้ว่าบาปเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในมุมมองของประกาศกเยเรมีย์ บาปมีผลต่อชนทั้งชาติ นำหายนะมาสู่ประชากรอิสราเอลจนแทบจะทำให้หมดหวัง (ยรม 13:23) ความชั่วร้ายมีอยู่ทั่วไปและเรียกร้องการลงโทษจากพระเจ้า เรียกร้องให้การพิพากษาอย่างเคร่งครัดแห่ง “วันของพระยาห์เวห์” (อสย 2:6-22; 5:18-20; ฮชย 5:9-14; ยอล 2:1-2; ศฟย 1:14-18) ได้มาถึงอย่างแน่นอน จนทำให้ประกาศกเยเรมีย์คิดว่าเอกลักษณ์แท้จริงของการประกาศพระวาจาก็คือการประกาศล่วงหน้าถึงหายนะที่จะมาถึง (ยรม 28:8-9) ในเมื่อบาปเป็นกิจการส่วนรวมของชนทั้งชาติ การลงโทษบาปก็ต้องเป็นโทษส่วนรวมสำหรับชนทั้งชาติด้วย ถึงกระนั้น ยรม 31:29-30 ยังคำนึงถึงการลงโทษปัจเจกบุคคลอีกด้วย (เทียบ ฉธบ 24:16) และประกาศกเอเสเคียลก็ยืนยันความคิดนี้ใน อสค บทที่ 18 ด้วยเช่นเดียวกัน (เทียบ 33:10-20)
แต่ความคิดที่เราเรียกว่า “เอกเทวนิยมเกี่ยวกับศีลธรรม” (ethical monotheism) ของบรรดาประกาศกก็มิใช่รูปแบบหนึ่งของการต่อต้านกฎเกณฑ์ ความคิดเกี่ยวกับศีลธรรมของบรรดาประกาศกมีธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประกาศไว้เป็นฐานรองรับ แต่บ่อยๆธรรมบัญญัตินี้มักถูกเข้าใจผิดหรือถูกฝ่าฝืน (ดูคำเทศน์ของประกาศกเยเรมีย์ใน ยรม 7:5-10 เป็นตัวอย่างเพื่อจะเห็นว่าคำสอนนี้เกี่ยวข้องกับพระบัญญัติสิบประการอย่างไรบ้าง)
ควบคู่กับการปฏิบัติตามธรรมบัญญัตินี้ ยังต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วยว่าศาสนาเรียกร้องอะไรบ้าง ผู้ใดต้องการพ้นจากการลงโทษเพราะบาปจะต้อง “แสวงหาพระเจ้า” (ยรม 50:4; อมส 5:4; ศฟย 2:3) วลีนี้มีความหมายดังที่ประกาศกเศฟันยาห์อธิบายไว้ คือหมายถึงการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า พยายามปฏิบัติอย่างถูกต้อง มีความถ่อมตน (ดู อสย 1:17; ฮชย 10:12; อมส 5:24; มคา 6:8) พระเจ้าทรงเรียกร้องการถือศาสนาด้วยจิตใจหรือจากใจจริง และประกาศกเยเรมีย์ก็ประกาศว่านี่คือเงื่อนไขของพันธสัญญาซึ่งจะมาถึงในอนาคต (ยรม 31:31-34) ศาสนาและคารวกิจภายนอกต้องมีเจตนารมณ์เช่นนี้ บรรดาประกาศกกล่าวบ่อยๆตำหนิพิธีกรรมภายนอกที่ไม่สัมพันธ์กับความประพฤติทางศีลธรรม (อสย 1:11-17; ยรม 6:20; ฮชย 6:6; มคา 6:6-8) แต่ก็ไม่ถูกต้องที่จะคิดว่าบรรดาประกาศกเป็นอริกับพิธีกรรมทางศาสนาในฐานะที่เป็นพิธีภายนอก ประกาศกหลายท่าน เช่น เอเสเคียล ฮักกัยและเศคาริยาห์ ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการปฏิบัติคารวกิจส่วนรวมและต่อพระวิหาร
ความรอดพ้นที่จะมาในอนาคต: ถึงกระนั้นการลงโทษก็มิใช่พระวาจาสุดท้ายของพระเจ้า พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้ประชากรของพระองค์ต้องพินาศ แม้ว่าเขาอาจทรยศต่อพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า พระองค์ก็ไม่ทรงยกเลิกพระสัญญาที่ทรงทำไว้กับเขา พระองค์จะทรงโปรดให้ “ประชากรที่เหลือ” (a “remnant”) ส่วนหนึ่งรอดชีวิตอยู่ต่อไป (อสย 4:3ค) ความคิดนี้ยังปรากฏมาอีกใน อมส 5:15 และจะได้รับการพัฒนาและนิยามให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในคำสอนของประกาศกในช่วงเวลาหลังจากนั้น บรรดาประกาศมีความคิดในแบบสามมิติที่แยกการลงโทษซึ่งจะมาถึงในไม่ช้ากับการตัดสินลงโทษในยุคสุดท้าย เพราะฉะนั้น “ประชากรที่เหลืออยู่” จึงเป็นได้ทั้งผู้ที่รอดชีวิตอยู่จากหายนะที่กำลังจะมาถึง และอาจหมายถึงผู้ที่จะได้รับความรอดพ้นในยุคสุดท้ายก็ได้ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เท่านั้นทำให้เราเห็นความแตกต่างนี้ได้อย่างชัดเจน วิกฤติการณ์หนึ่งอาจเกิดขึ้นต่อจากอีกวิกฤติการณ์หนึ่ง ผู้ที่รอดจากวิกฤติการณ์แต่ละครั้งล้วนเป็น “ประชากรที่เหลืออยู่” เช่นประชากรของอาณาจักรอิสราเอลที่ต้องทนทุกข์และรอดชีวิตจากการทำลายกรุงสะมาเรีย (อมส 5:15) หรืออาจเป็นประชากรชาวยูดาห์ในสมัยที่พระเจ้าเซนนาเคริบทรงยกทัพมารุกรานอาณาจักรยูดาห์ (อสย 37:31-32) หรืออาจหมายถึงประชาชนที่ถูกจับเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลนเมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี 587 ก.ค.ศ. (ยรม 24:8) “ประชากรที่เหลืออยู่” ยังอาจหมายถึงประชากรที่กลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนมายังแผ่นดินปาเลสไตน์ก็ได้ด้วย (อศร 9:8,13-15; ศคย 8:6,11,12) แต่ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ใด บรรดาผู้ที่รอดชีวิตเหล่านี้นับได้ว่าเป็นหน่อที่จะแตกออกเป็นต้นไม้ต่อไป เป็นแก่นแท้ของชนชาติศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพระเจ้าทรงให้คำมั่นว่าจะมีอนาคตยิ่งใหญ่ (อสย 11:10; 37:31; อสค 37:12-14; มคา 4:7; 5:6-7; ศคย 8:11-13)
ในช่วงเวลาที่จะมาถึงในอนาคตนี้ จะมีความสุขอย่างที่ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไม่เคยรู้จักมาก่อน ประชากรของอาณาจักรอิสราเอลและอาณาจักรยูดาห์ซึ่งกระจัดกระจายไปอยู่กับชนชาติต่างๆจะกลับมายังแผ่นดินแห่งพระสัญญา (อสย 11:12-13; ยรม บทที่ 30-31) ซึ่งจะมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง (อสย 30:23-26; 32:15-17) และประชากรของพระเจ้ามีชัยชนะต่อศัตรูที่เคยข่มเหงตน (มคา 4:11-13: 5:6-8) ถึงกระนั้น ความรุ่งเรืองด้านวัตถุและอำนาจไม่ใช่หัวใจของสิ่งที่ประกาศกหวัง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งประกอบของการที่พระเจ้าจะทรงปกครองเท่านั้น ความหวังแท้จริงในเรื่องนี้มีมิติที่ลึกซึ้งด้านจิตใจ คือคุณธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ (อสย 29:19-24) การดำเนินชีวิตแบบใหม่และการอภัยความผิดที่พระเจ้าประทานให้ (ยรม 31:31-34) การรู้จักพระเจ้าอย่างแท้จริง (อสย 2:3; 11:9; ยรม 31:34) สันติและความยินดี (อสย 2:4; 9:6; 11:6-8; 29:19)
พระยาห์เวห์จะทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ในโลกนี้ เพื่อสถาปนาและปกครองพระอาณาจักรในอุดมการณ์นี้ ผู้แทนพระองค์ผู้นี้ในเวลาเดียวกันจะเป็นทั้งบุตรบุญธรรมและข้าราชบริพารของพระองค์ พูดสั้นๆก็คือเขาจะเป็นผู้ปกครองในโลกนี้ตามอุดมการณ์ เราจะรู้จักเขาในนาม “ผู้รับเจิมของพระยาห์เวห์” (หรือ “พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) ประกาศกนาธันซึ่งสัญญากับกษัตริย์ดาวิดว่าจะทรงมีพระราชวงศ์ที่คงอยู่ตลอดไป (2 ซมอ บทที่ 7) เป็นคนแรกที่กล่าวถึงบทบาทของ “พระเมสสิยาห์-กษัตริย์” ความคิดนี้จะสะท้อนในเพลงสดุดีหลายบท ดังนั้น แม้ว่ากษัตริย์ส่วนใหญ่ในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิดจะทรงประพฤติชั่วร้าย และทำให้ประชาชนต้องผิดหวัง เราก็พบว่าประกาศกอิสยาห์ มีคาห์ และเยเรมีย์ ยังกล่าวย้ำถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่งในอนาคตใกล้หรือไกล “พระเมสสิยาห์” พระองค์นี้จะทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด (อสย 11:1; ยรม 23:5 = 33:15) จะมาจากเมืองเบธเลเฮม-เอฟราธาห์ เหมือนกษัตริย์ดาวิด (มคา 5:1) พระองค์จะทรงรับตำแหน่งสูงส่งเท่าที่มนุษย์จะคาดคิดได้ (อสย 9:5) และพระจิตของพระยาห์เวห์จะสถิตอยู่เหนือพระเมสสิยาห์พระองค์นี้พร้อมกับพระพรต่างๆของพระองค์ (อสย 11:1-5) สำหรับประกาศกอิสยาห์ พระเมสสิยาห์นี้คือ “องค์อิมมานูเอล” (“พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” อสย 7:14) สำหรับประกาศกเยเรมีย์ พระเมสสิยาห์นี้คือ “พระยาห์เวห์ทรงเป็นความชอบธรรมของเรา” (Yahweh zidqenu - ยรม 23:6) นามตำแหน่งทั้งสองนี้รวมอุดมการณ์แท้จริงเรื่องพระเมสสิยาห์ไว้ทั้งหมด
ความหวังดังกล่าวนี้ มิได้จบไปกับการที่ชนชาติอิสราเอลต้องสูญเสียอำนาจปกครองทางการเมือง และประชาชนต้องถูกจับเป็นเชลยเนรเทศไปกรุงบาบิโลน แม้ว่าประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์จะได้ชวนประชากรให้มีความหวังเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในตัวเศรุบบาเบล ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิด ถึงกระนั้นความหวังว่าพระเมสสิยาห์จะทรงเป็นกษัตริย์ปกครองด้วยนั้นก็จางหายไป จะไม่มีเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ดาวิดองค์ใดได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ และในอิสราเอลก็จะไม่มีกษัตริย์ปกครองอีกต่อไป ประชากรอิสราเอลถูกผนวกเข้าอยู่ในจักรวรรดิระดับโลกของชนต่างชาติ (อาณาจักรเปอร์เซียและอาณาจักรกรีกในเวลาต่อมา) จริงอยู่ที่ประกาศกเอเสเคียลยังมองไปในอนาคตว่าจะมี “ดาวิด” องค์ใหม่มาปกครอง แต่ประกาศกก็กล่าวถึงบุคคลผู้นี้ว่าเป็นเพียง “เจ้านาย” ไม่ใช่ “กษัตริย์” และพรรณนาว่าเขาจะเป็นเสมือน “คนกลาง” และ “ผู้อภิบาล” (shepherd) มากกว่าจะเป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ (อสค 34:23-24; 37:24-25) ประกาศกเศคาริยาห์กล่าวพยากรณ์ว่าจะมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จมา แต่พระองค์จะทรงต่ำต้อยและใฝ่สันติ ไม่ใช่นักรบผู้พิชิตทรงอำนาจ (ศคย 9:9-10) ส่วนสำหรับประกาศกอิสยาห์ที่สอง “ผู้รับเจิมของพระยาห์เวห์” ผู้นี้ไม่ใช่เชื้อสายจากราชวงศ์ดาวิด แต่จะเป็นพระเจ้าไซรัส กษัตริย์ของชาวเปอร์เซีย (อสย 45:1) ซึ่งพระเจ้าจะทรงใช้เพื่อปลดปล่อยประชากรของพระองค์ แต่ประกาศกคนเดียวกันนี้ยังกล่าวพรรณนาถึง “ผู้ช่วยให้รอดพ้น” อีกแบบหนึ่ง ซึ่งได้แก่ “ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์” บุคคลท่านนี้จะเป็นผู้สอนประชากรของตนและจะเป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ เทศน์สอนมวลมนุษย์ให้รู้จักพระบัญญัติของพระเจ้า แม้จะต้องถูกประชากรของตนเยาะเย้ยและไม่ยอมรับ แต่เขาก็จะยอมสละชีวิตของตนเพื่อช่วยให้ประชากรได้รอดพ้น (อสย 42:1-7; 49:1-9; 50:4-9 และโดยเฉพาะ 52:13 – 53:12) ถึงกระนั้น แนวความคิดเก่าๆก็ยังหวนกลับมาอีก ในช่วงเวลาก่อนคริสตกาลไม่นานนัก ประชาชนทั่วไปยังมีความหวังว่าพระเมสสิยาห์ที่ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองด้วยจะเสด็จมากอบกู้ในไม่ช้า ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งยังหวังว่าจะมีพระเมสสิยาห์ซึ่งทรงเป็นสมณะด้วย และยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่หวังในพระเมสสิยาห์ “เหนือธรรมชาติ”
กลุ่มคริสตชนในสมัยแรกนำข้อความทั้งหมดนี้ของบรรดาประกาศกมาใช้กับพระเยซูเจ้า แม้ว่าทีแรกดูเหมือนว่าข้อความเหล่านี้จะมีความขัดแย้งกันเองอยู่ด้วย พระองค์คือ “พระเยซู” (ภาษาฮีบรู “โยชูวา” ซึ่งแปลว่า “ผู้ช่วยให้รอดพ้น”) พระองค์คือ “พระคริสต์” (“Christos” ในภาษากรีก ส่วนภาษาฮีบรูว่า “เมสสิยาห์” ซึ่งแปลว่า “ผู้รับเจิม”) พระองค์ทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด ประสูติที่เมืองเบธเลเฮม ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสันติที่ประกาศกเศคาริยาห์กล่าวทำนายไว้ ทรงเป็น “ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์” ตามคำกล่าวของประกาศกอิสยาห์ที่สอง ทรงเป็น “องค์อิมมานูเอล” (พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา) ตามคำทำนายของประกาศกอิสยาห์ และยังทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งลงมาจากสวรรค์ตามที่ดาเนียลได้เห็นในนิมิตด้วย แต่เราต้องไม่ปล่อยให้การกล่าวพาดพิงถึงคำทำนายโบราณเหล่านี้ทำให้ความเชื่อของคริสตชนที่ว่าพระคริสตเจ้าคือองค์พระเมสสิยาห์ โดยมีพระบุคคลและพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นฐานรองรับอยู่นี้ ต้องขาดเอกลักษณ์เฉพาะของตนไป ถ้าพระคริสตเจ้าทรงทำให้คำกล่าวของบรรดาประกาศกเป็นความจริง พระองค์ก็ทรงกระทำเช่นนั้นในแบบที่สูงส่งกว่า พระองค์เองทรงปฏิเสธความคิดทางการเมืองที่ประชาชนทั่วไปเคยมีสืบต่อกันมาว่าพระเมสสิยาห์คือผู้ปกครองในทางโลก
6. หนังสือของบรรดาประกาศก
6. หนังสือของบรรดาประกาศก
เรามักจะเรียกบรรดาประกาศก ที่มีหนังสือในนามของท่านปรากฏรวมอยู่ในพระคัมภีร์ว่า “ประกาศกผู้เขียนหนังสือ” (“Writing Prophets” หรือ “Literary Prophets”) แต่การเรียกเช่นนี้ไม่เหมาะเลย จากการที่เราเคยกล่าวไว้เกี่ยวกับบทบาทของบรรดาประกาศก เราเห็นได้ชัดว่าประกาศกไม่ใช่ “นักเขียน” ก่อนอื่นใดหมด ประกาศกเป็นนักพูด นักเทศน์ คำสั่งสอนของบรรดาประกาศกแต่ดั้งเดิมเป็นเพียงคำพูด จึงมีคำถามว่า “แล้วคำสอนเหล่านี้กลายมาเป็นหนังสือได้อย่างไร?”
เนื้อหาสาระของหนังสือเหล่านี้แบ่งได้เป็นสามแบบ คือ (1) “การประกาศพระวาจา” (prophetic sayings) ซึ่งเป็นพระวาจาที่พระเจ้าตรัสโดยตรง หรือตรัสอาศัยประกาศกที่กล่าวพระวาจาในพระนามของพระเจ้า หรือมิฉะนั้นก็เป็นข้อความที่เป็นคำประพันธ์ซึ่งถ่ายทอดคำสอน คำทำนาย การคาดโทษ หรือพระสัญญา ฯลฯ จากพระเจ้า (2) เรื่องราวที่เขียนในบุรุษที่หนึ่ง เป็นการที่ประกาศกเล่าถึงประสบการณ์ของตน โดยเฉพาะเรื่องการที่พระเจ้าทรงเรียกตนให้มารับภารกิจเป็นประกาศก (3) เรื่องราวที่เขียนในบุรุษที่สาม ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ในชีวิตของประกาศก หรือสภาพแวดล้อมที่ประกาศกกำลังปฏิบัติภารกิจของตนอยู่ ลักษณะทางวรรณกรรมของข้อความทั้งสามแบบนี้ไม่มีความขัดแย้งกัน อันที่จริง ข้อความตอนที่เป็นเรื่องเล่าบ่อยๆมักจะมี “การประกาศพระวาจา” หรือ “คำเทศน์สอน” รวมอยู่ด้วย
ข้อความที่เขียนในบุรุษที่สามแสดงว่าผู้เขียนเป็นผู้อื่น ไม่ใช่ประกาศกผู้นั้น เรามีข้อพิสูจน์ชัดเจนถึงเรื่องนี้ในหนังสือประกาศกเยเรมีย์ ยรม 36:4 กล่าวไว้ชัดเจนว่าประกาศกบอกให้บารุค เลขานุการของตน บันทึกข้อความที่ตนได้กล่าวในพระนามของพระเจ้าตลอดระยะเวลา 23 ปี (ดู ยรม 25:3) และเมื่อกษัตริย์เยโฮยาคิมทรงเผาม้วนหนังสือที่บันทึกข้อความเหล่านี้ (ยรม 36:23) บารุคคนเดิมก็ได้เขียนถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมาใหม่เป็นหนังสืออีกม้วนหนึ่ง เรายังกล่าวได้อีกว่าบารุคผู้นี้เองได้เขียนเรื่องราวประวัติของประกาศกตอนที่ตามมาด้วย (ยรม 37:44) แม้ว่าข้อความตอนนี้จบลงด้วยถ้อยคำที่ประกาศกเยเรมีย์กล่าวบรรเทาใจบารุคก็ตาม (ยรม 45:1-5) ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าหนังสือม้วนที่สองที่บารุคเขียนนั้น (ยรม 36:32) มี “ข้อความเพิ่มเติมหลายคำคล้ายๆกัน” อยู่ด้วย (ที่บารุคหรือคนอื่นเขียนเพิ่ม)
การเรียบเรียงหนังสือประกาศกฉบับอื่นๆก็คงเกิดขึ้นในสถานการณ์คล้ายๆกัน เป็นไปได้ที่ประกาศกเป็นผู้เขียนหรือบอกให้ผู้อื่นเขียนคำประกาศพระวาจา หรือเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนส่วนหนึ่ง (ดู อสย 8:1; 30:8; ยรม 30:2; 51:60; อสค 43:11; ฮบก 2:2) บรรดาผู้ติดตามประกาศกหรือศิษย์ของคนเหล่านี้ (จาก อสย 8:16 เรารู้ว่าประกาศกอิสยาห์มีศิษย์หลายคน) อาจเป็นผู้เก็บรักษาถ้อยคำและเรื่องราวเกี่ยวกับประกาศกไว้บางส่วนและบอกเล่าต่อๆกันมาอย่างซื่อสัตย์ คนกลุ่มเดียวกันนี้คงต้องเก็บรักษาเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของประกาศกและคำประกาศพระวาจาของประกาศกไว้ด้วย ตัวอย่างเช่นธรรมประเพณีเกี่ยวกับประกาศกอิสยาห์ที่ถูกผนวกเข้ากับหนังสือพงศ์กษัตริย์ (2 พกษ บทที่ 18-20) แล้วย้ายจากหนังสือพงศ์กษัตริย์นี้เข้ามาบันทึกไว้ในหนังสืออิสยาห์ (อสย บทที่ 36-39) ในทำนองเดียวกัน เรื่องพิพาทระหว่างประกาศกอาโมสกับสมณะอามาซิยาห์ (อมส 7:10-17) ก็คงถูกบันทึกและถ่ายทอดไว้เช่นนี้ด้วย
ข้อความหน่วยสั้นๆเหล่านี้หลายๆหน่วยถูกรวมกันเข้าจัดเป็นหมวดหมู่ คำประกาศพระวาจา (prophecies) ที่เกี่ยวข้องกัน หรือข้อความที่กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน (เช่น คำกล่าวประณามนานาชาติในหนงสือประกาศกอิสยาห์ เยเรมีย์ เอเสเคียล) หรือคำคาดโทษอย่างรุนแรงว่าประชากรจะไม่ได้รับความรอดพ้นตามพระสัญญา (เช่นในหนังสือประกาศกมีคาห์) จะถูกนำมาจัดรวมไว้ด้วยกัน ข้อความเหล่านี้ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องราวสำหรับอ่านและคิดคำนึงซึ่งจะช่วยให้อนุชนรุ่นต่อๆมาได้รักษาเจตนารมณ์ของประกาศกที่ผ่านมาในอดีต ให้ยังคงเป็นปัจจุบันอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้นบุคคลร่วมสมัยของประกาศกเยเรมีย์จึงอ้างถึงคำประกาศพระวาจาของประกาศกมีคาห์ (ยรม 26:17-18) และยังกล่าวพาดพิงถึงประกาศกอื่นๆก่อนหน้านั้นด้วย (ยรม 28:8) การกล่าวพาดพิงเช่นนี้กลายเป็นสูตรที่เราพบได้บ่อยๆใน ยรม 7:25; 25:4; 26:5; ดู อสร9:11; ดนล 9:6; 10; ศคย 1:4-6; 7:7,12 กลุ่มบรรดาผู้เลื่อมใสต่อบรรดาประกาศกเป็นผู้เก็บรักษาหนังสือของประกาศกไว้ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้หนังสือเหล่านี้เป็นเสมือนอาหารหล่อเลี้ยงความเชื่อและความศรัทธา จริงอยู่ เช่นเดียวกับในกรณีม้วนหนังสือของบารุค (ยรม 36:32) มี “ข้อความเพิ่มเติมหลายคำคล้ายๆกัน” ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าอยู่ด้วย เพื่อปรับให้หนังสือเหมาะกับความต้องการด้านจิตใจของยุคใหม่ หรือเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ในบางครั้ง ดังที่เราจะเห็นเมื่อจะกล่าวถึงหนังสืออิสยาห์และเศคาริยาห์ ข้อความเพิ่มเติมเช่นนี้มีปริมาณไม่น้อยทีเดียว เมื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นนี้ ผู้ที่เป็นศิษย์หรือทายาทของบรรดาประกาศกคิดว่าตนกำลังเก็บรักษาขุมทรัพย์ที่ตนได้รับมาจากอาจารย์เอาไว้ และพร้อมกันนั้นยังทำให้ขุมทรัพย์นี้ยิ่งมีความหมายมากขึ้นอีกด้วย
7. ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู และในฉบับแปลภาษากรีกและละติน รวมทั้งในสำนวนแปลฉบับนี้ หนังสือของประกาศก “ใหญ่” ทั้งสี่ท่านเรียงไว้ตามลำดับเวลาก่อนหลัง ส่วนลำดับของหนังสือประกาศก “น้อย” ทั้งสิบสองท่านนั้นเรียงไว้ตามสบายโดยไม่มีหลักเกณฑ์อะไร แต่เราจะพิจารณาหนังสือเหล่านี้ตามลำดับเวลาที่เรียบเรียงเท่าที่เราอาจกำหนดลำดับเวลาได้
8. ประกาศกอิสยาห์
8. ประกาศกอิสยาห์
ประกาศกอิสยาห์เกิดราวปี 765 ก.ค.ศ. พระเจ้าทรงเรียกท่านในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มให้เป็นประกาศกในปีที่กษัตริย์อุสซียาห์สวรรคต คือปี 740 ก.ค.ศ. พันธกิจของท่านคือการประกาศให้รู้ว่าอาณาจักรอิสราเอลและยูดาห์จะต้องล่มสลาย เป็นการลงโทษที่ประชากรไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์ (6:1-13) ประกาศกอิสยาห์ปฏิบัติภารกิจของท่านเป็นเวลา 40 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว จักรวรรดิอัสซีเรียเป็นภัยคุกคามมากยิ่งๆขึ้นทั้งต่ออาณาจักรอิสราเอลและต่ออาณาจักรยูดาห์ เราอาจแบ่งช่วงเวลาที่อิสยาห์ประกาศพระวาจาเป็นสี่ระยะได้ชัดเจนพอควรดังนี้ (1) ช่วงแรกเป็นช่วงเวลา 3-4 ปีตั้งแต่ได้รับเรียกให้เป็นประกาศกจนถึงปีที่กษัตริย์อาหัสขึ้นครองราชย์ คือปี 736 ก.ค.ศ. ในช่วงเวลานี้ประกาศกอิสยาห์ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความเสื่อมศีลธรรมซึ่งเป็นผลมาจากความเจริญรุ่งเรืองอาณาจักรยูดาห์ (บทที่ 1-5) (2) เวลาช่วงที่สองคือช่วงที่เรซีน กษัตริย์ของกรุงดามัสกัส และเปคาห์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรอิสราเอล ทรงพยายามชักชวนยุวกษัตริย์แห่งยูดาห์ให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อต่อต้านการรุกรานของพระเจ้าทีกลัท-ปีเลเสอร์ กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย เมื่อกษัตริย์อาหัสไม่ทรงยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็ทรงยกทัพมาจู่โจมอาณาจักรยูดาห์ กษัตริย์อาหัสจึงทรงขอความช่วยเหลือจากอัสซีเรีย ประกาศกอิสยาห์จึงเข้ามามีบทบาทในเหตุการณ์นี้ พยายามทูลทัดทานอาหัสมิให้ทรงใช้แผนการตามความคิดแบบมนุษย์เท่านั้น แต่ก็ทูลทัดทานไม่สำเร็จ ประกาศกประกาศข้อความที่เกี่ยวกับ “อิมมานูเอล” ในช่วงเวลาช่วงนี้ (ส่วนใหญ่ของ 7:11 – 11:9 รวมทั้ง 5:26-29 [?]; 17:1-6; 28:1-4 ด้วย) หลังจากที่ประกอบภารกิจต่อกษัตริย์อาหัสไม่สำเร็จ ประกาศกอิสยาห์ก็เลิกไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจเรื่องการเมือง (ดู 8:16-18) (3) ระยะเวลาช่วงที่สาม การที่กษัตริย์อาหัสทรงขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าทีกลัท-ปีเลเสอร์ ทำให้อาณาจักรยูดาห์เป็นประเทศราชโดยพฤตินัยเพื่อได้รับการปกป้องของจักรวรรดิอัสซีเรีย ช่วยเร่งทำให้อาณาจักรเหนือ (อิสราเอล) ต้องล่มสลายเร็วขึ้น ดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรเหนือถูกผนวกเข้ากับอัสซีเรียในปี 734 ก.ค.ศ. และในปี 721 ก.ค.ศ. กรุงสะมาเรียก็ถูกทำลาย ส่วนในอาณาจักรยูดาห์ กษัตริย์เฮเซคียาห์ ซึ่งทรงสืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์อาหัสในปี 716 ก.ค.ศ. ทรงเป็นกษัตริย์ที่ศรัทธาต่อพระยาห์เวห์ จึงทรงมีแนวโน้มจะพยายามปฏิรูปการศาสนา ถึงกระนั้นกุศโลบายทางการเมืองก็ยังถูกนำกลับมาใช้อีก คราวนี้อาณาจักรยูดาห์ไปขอความช่วยเหลือจากอียิปต์ให้มาคานกำลังต่อต้านอัสซีเรีย ข้อความใน อสย 14:28-32; 18; 20; 28:2-22; 29:1-14; 30:8-17 น่าจะมาจากช่วงเวลาต้นรัชกาลของกษัตริย์เฮเซคียาห์ นครรัฐอัชโดดของชาวฟีลิสเตียแข็งข้อเป็นกบฏไม่ยอมขึ้นกับอัสซีเรีย จึงถูกกษัตริย์ซาร์กอนปราบลงในปี 711 ก.ค.ศ. (อสย บทที่ 20) หลังจากนั้นประกาศกอิสยาห์ก็ถอนตัวไม่ประกาศพระวาจาไประยะหนึ่ง (4) ประกาศกเริ่มประกาศพระวาจาอีกครั้งหนึ่งในปี 705 ก.ค.ศ. เมื่อกษัตริย์เฮเซคียาห์ทรงถูกชักชวนให้เข้าร่วมแข็งข้อเป็นกบฏต่ออัสซีเรีย พระเจ้าเซนนาเคริบแห่งอัสซีเรียจึงทรงยาตราทัพมาบุกปาเลสไตน์ในปี 701 ก.ค.ศ. กษัตริย์เฮเซคียาห์แห่งยูดาห์ทรงตัดสินพระทัยจะปกป้องกรุงเยรูซาเล็ม ประกาศกอิสยาห์สนับสนุนพระองค์ในการต่อต้านครั้งนี้ ให้คำมั่นแก่พระองค์ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือและกรุงเยรูซาเล็มราชธานีก็รอดพ้นอันตราย ช่วงเวลาสุดท้ายนี้เป็นช่วงเวลาที่ประกาศกได้ประกาศพระวาจาอย่างน้อยที่มีบันทึกไว้ใน อสย 1:49 [?]; 10:5-15,27ข-32; 14:24-27 รวมทั้งข้อความในบทที่ 28-32 ส่วนที่นักวิชาการยังไม่คิดว่ามาจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้น เราไม่รู้ว่าหลังจากปี 700 ก.ค.ศ. แล้วมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างกับประกาศกอิสยาห์ ชาวยิวมีธรรมประเพณีเล่าต่อกันมาว่าประกาศกอิสยาห์ถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีในรัชสมัยของกษัตริย์มนัสเสห์ โอรสที่สืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์เฮเซคียาห์
การที่ประกาศกอิสยาห์มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ของชาติ ทำให้ประกาศกกลายเป็นบุคคลสำคัญระดับชาติ เขายังเป็นกวีที่มีพรสวรรค์อีกด้วย ลีลาการเขียนที่ชวนอ่านและภาพพจน์ที่สดใสทำให้ผลงานของเขามีความโดดเด่นในวรรณกรรมของพระคัมภีร์ ข้อความที่เป็นร้อยแก้วมีความกระชับ มีลีลาสง่าน่าฟังอย่างที่ไม่มีนักเขียนคนใดในพระคัมภีร์ ทั้งก่อนและหลัง เขียนดีกว่าได้เลย แต่ทว่าเหนือสิ่งใดอื่นทั้งหมด ความยิ่งใหญ่ของเขาอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา นิมิตที่เขาเห็นในพระวิหารเมื่อพระเจ้าทรงเรียกเขาให้มาเป็นประกาศกนั้น เป็นการเปิดเผยถึงความเป็น “โลกุตระ” (“Transcendence”) ของพระเจ้า และแสดงความไร้ค่าของมนุษย์ต่อหน้าพระเจ้า ซึ่งทำให้เขามีความประทับใจตลอดไป ความคิดของเขาเรื่องพระเจ้ามีลักษณะความน่ายินดีก็จริง แต่ก็มีความน่ายำเกรงรวมอยู่ด้วย พระเจ้าคือผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์ ทรงพลัง ทรงพระอานุภาพ ทรงเป็นกษัตริย์ มนุษย์เป็นเพียงสิ่งสร้างที่แปดเปื้อนด้วยบาปที่พระเจ้าทรงเรียกร้องให้มีการชดเชยแก้ไข พระเจ้าทรงย้ำให้ประชากรมีความยุติธรรมต่อกันและมีความจริงใจในการแสดงคารวกิจต่อพระเจ้า พระเจ้าทรงเรียกร้องความซื่อสัตย์และอิสยาห์คือประกาศกที่เน้นถึงความเชื่อ ในช่วงเวลาวิกฤติของชาติ เขาสั่งให้ทุกคนมีความวางใจต่อพระเจ้าเท่านั้น ไม่ต้องวางใจใครอื่นใดทั้งสิ้น การวางใจต่อพระเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้นจะนำความรอดพ้นมาให้ เขารู้ดีว่าประชากรจะถูกพระเจ้าทรงทดสอบอย่างหนัก แต่เขาก็หวังว่าจะมีประชากรส่วนหนึ่งที่จะ “รอดชีวิตเหลืออยู่” พร้อมกับพระเมสสิยาห์ซึ่งจะทรงเป็นกษัตริย์ปกครอง อิสยาห์เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาประกาศกซึ่งกล่าวถึงพระเมสสิยาห์ เขากล่าวพยากรณ์ถึงพระเมสสิยาห์ว่าจะทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด พระองค์จะทรงสถาปนาสันติภาพและความยุติธรรมบนแผ่นดิน และจะทรงเผยแผ่ความรู้จักพระเจ้าแก่มวลมนุษย์ (อสย 2:1-5; 7:10-17; 9:1-6; 11:1-9; 28:16-17)
อัจฉริยบุคคลทางศาสนาที่มีคุณลักษณ์เช่นนี้ ต้องทำให้ประชากรร่วมสมัยรู้สึกประทับใจมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องมีศิษย์ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเก็บรักษาถ้อยคำที่เขาประกาศไว้และยังเพิ่มเติมความคิดใหม่ๆเข้าไปอีกด้วย หนังสือในพระคัมภีร์ที่มีชื่อของเขาจึงเป็นผลจากกระบวนการเรียบเรียงต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งเราไม่อาจกำหนดขั้นตอนต่างๆได้อย่างชัดเจน การจัดเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือในรูปแบบสุดท้ายจึงเหมือนกับในกรณีของหนังสือประกาศกเยเรมีย์ (ฉบับแปลภาษากรีก) และหนังสือของประกาศกเอเสเคียล ซึ่งมีลำดับดังนี้คือ (1) คำเทศนาประณามกรุงเยรูซาเล็มและอาณาจักรยูดาห์ (บทที่ 1-12) (2) การประกาศพระวาจาประณามนานาชาติ (บทที่ 13-23) (3) คำสัญญาถึงอนาคต (บทที่ 24-35) แต่ลำดับการเรียบเรียงก็มิได้เคร่งครัดดังนี้เสมอไป และการวิเคราะห์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการเรียงลำดับก่อนหลังของเนื้อหาในหนังสือสอดคล้องเพียงบางส่วนเท่านั้น กับลำดับเวลาของเหตุการณ์ในชีวิตการปฏิบัติงานของประกาศก เนื้อหาในหนังสือได้รับการเรียบเรียงมาจากคำเทศน์สอนของประกาศกที่มีผู้เก็บรักษาไว้เป็นชุดๆอยู่ก่อนแล้ว คำเทศน์สอนบางชุดอาจย้อนกลับไปได้ถึงสมัยของประกาศก (ดู อสย 8:16; 30:8) บรรดาศิษย์ที่ใกล้ชิดหรือศิษย์ในสมัยหลังได้รวบรวมคำสอนชุดอื่นๆ และบางครั้งก็ได้เพิ่มข้อความอธิบายคำเทศน์สอนของอาจารย์ลงไปด้วยหรือเพิ่มคำเทศน์สอนอื่นเข้าไปอีก คำกล่าวประณามนานาชาติซึ่งรวบรวมไว้ในบทที่ 13-23 ยังรวมเอาถ้อยคำที่ถูกกล่าวในภายหลังเข้ามาด้วย โดยเฉพาะบทที่ 13-14 ซึ่งกล่าวประณามกรุงบาบิโลน (ในสมัยเนรเทศ) ข้อความเพิ่มเติมที่มีความยาวกว่านั้นคือตอนที่เรียกว่า “วิวรณ์ของประกาศกอิสยาห์” (“the Apocalypse of Isaiah”) ในบทที่ 24-27 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบวรรณกรรมและเนื้อหาคำสอนแล้ว ไม่มีทางจะเขียนขึ้นได้ก่อนศตวรรษที่ 5 ก.ค.ศ. ยังมีข้อความเกี่ยวกับพิธีกรรมสมัยหลังเนรเทศในบทที่ 33 และ “วิวรณ์ชุดเล็ก” (a “little Apocalypse”) ในบทที่ 34-35 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” ในที่สุดในบทที่ 36-39 ยังเป็นเรื่องราวกิจการของประกาศกอิสยาห์ในช่วงเวลาที่พระเจ้าเซนนาเคริบทรงล้อมกรุงเยรูซาเล็ม ที่คัดลอกจาก 2 พกษ บทที่ 18-19 มาเพิ่มไว้เป็น “ภาคผนวก” พร้อมกับเพลงสดุดีขอบพระคุณใน อสย 38:9-20 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นคำภาวนาของกษัตริย์เฮเซคียาห์อีกด้วยช
9. หนังสือประกาศกอิสยาห์ยังได้รับการเพิ่มเติมที่มีความสำคัญมากกว่านี้อีกด้วย แม้เมื่อพิจารณาเพียงด้านภาษาแต่อย่างเดียว ข้อความในบทที่ 40 ถึง 55 จะเป็นผลงานของประกาศกในศตวรรษที่ 8 ก.ค.ศ. ไม่ได้ ในข้อความตอนนี้ไม่เพียงแต่ว่าไม่มีการกล่าวนามของประกาศก (อิสยาห์) เลยเท่านั้น สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ยังเป็นสภาพของสมัยสองศตวรรษหลังจากนั้น (คือศตวรรษที่ 6 ก.ค.ศ.) กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายไปแล้ว และประชากรอิสราเอลถูกเนรเทศเป็นเชลยอยู่ที่กรุงบาบิโลน พระเจ้าไซรัสแห่งเปอร์เซียทรงปรากฏมาในเวทีการเมือง และกำลังจะเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าจะทรงใช้เพื่อทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์ จริงอยู่ อาจเป็นไปได้ ที่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพจะทรงนำประกาศกไปอยู่ในเหตุการณ์อนาคตที่ห่างไกล ทรงตัดเขา ทรงเปลี่ยนแนวความคิดและภาพพจน์ของเขาไปชจากเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่การกระทำเช่นนี้เรียกร้องให้บุคลิกภาพของประกาศกถูกแบ่งแยก และไม่ให้ความสนใจแก่ผู้คนร่วมสมัยที่ประกาศกได้รับเรียกและส่งไปประกาศพระวาจาให้ฟัง ถ้าเป็นความจริงเช่นนี้ เหตุการณ์นี้ก็เห็นจะเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวในพระคัมภีร์ และมีลักษณะขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับธรรมชาติบทบาทของประกาศก ซึ่งกล่าวถึงอนาคตเมื่ออนาคตมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ปัจจุบันเท่านั้น คำสอนใน อสย บทที่ 40-55 จึงเป็นคำสอนของประกาศกนิรนามคนหนึ่งซึ่งยึดมั่นในธรรมประเพณีของประกาศกอิสยาห์ เขาจึงเป็นประกาศกยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งเหมือนกับประกาศกอิสยาห์ และเราไม่มีนามอื่นจะเรียกเขาได้ดีกว่าจะเรียกว่า “อิสยาห์ที่สอง” (“Deutero-Isaiah” or “Second Isaiah”) ประกาศกท่านนี้เทศน์สอนอยู่ที่กรุงบาบิโลน ในช่วงเวลาหลังจากชัยชนะของพระเจ้าไซรัสแห่งเปอร์เซียเมื่อปี 550 ก.ค.ศ. ก่อนที่จักรวรรดิบาบิโลนจะล่มสลาย และก่อนที่พระองค์จะออกพระราชกฤษฎีกาในปี 538 ก.ค.ศ. อนุญาตให้ชาวยิวชุดแรกอพยพกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตน คำประกาศพระวาจาชุดนี้ ถึงแม้จะไม่เรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบดีนัก แต่ก็มีเอกภาพมากกว่าข้อความในบทที่ 1-39 ข้อความชุดนี้เริ่มด้วยข้อความซึ่งเป็นเสมือนการเล่าเรื่องพระเจ้าทรงเรียกประกาศก (40:1-11) และจบลงด้วยบทสรุปชัดเจน (55:6-13) จากข้อความที่เริ่ม “จงปลอบโยน จงปลอบโยนประชากรของเราเถิด” (40:1) คำประกาศพระวาจาตอนนี้จึงได้ชื่อว่า “หนังสือบันทึกคำปลอบโยนประชากรอิสราเอล”
ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดหลักจริงๆ ในขณะที่คำประกาศพระวาจาส่วนใหญ่ในบทที่ 1-39 เป็นคำคาดโทษที่กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์อาหัสและเฮเซคียาห์ คำประกาศพระวาจาในบทที่ 40-55 ไม่ได้อยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ และเป็นคำกล่าวปลอบโยนประชากร การตัดสินลงโทษได้สำเร็จไปแล้วเมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย เวลาแห่งการรื้อฟื้นขึ้นใหม่กำลังจะมาถึง และเหตุการณ์นี้จะเป็นการก่อสร้างขึ้นใหม่อย่างสมบูรณ์ ความคิดเช่นนี้ยังได้รับการเน้นโดยให้ความสำคัญแก่ความคิดหลักที่กล่าวโดยรวมว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้เนรมิตสร้างและพร้อมกันนั้นยังทรงเป็นผู้กอบกู้อีกด้วย การอพยพครั้งใหม่ซึ่งน่าพิศวงมากกว่าการอพยพครั้งแรกจากประเทศอียิปต์ กำลังจะนำประชากรกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน ไปยังกรุงเยรูซาเล็มใหม่ซึ่งสวยสดงดงามกว่ากรุงเยรูซาเล็มเดิม ความแตกต่างระหว่างสองยุค คือยุคของ “สิ่งในอดีต” กับยุคของ “สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น” นี้นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของ “อันตกาล” ด้านวรรณกรรม (literary eschatology) เมื่อเปรียบเทียบกับความคิดของประกาศก “อิสยาห์ที่หนึ่ง” เราจะเห็นว่าความคิดทางเทววิทยาได้พัฒนามากขึ้น เอกเทวนิยมได้รับการยืนยันเป็นคำสอนที่ต้องยึดถือ และมีการพิสูจน์ว่าความเชื่อในพระเจ้าอื่นๆนั้นไร้ความหมาย เพราะพระเจ้าเหล่านี้ทำอะไรไม่ได้ ยังมีการย้ำอีกว่าพระเจ้าทรงพระปรีชาเหลือที่จะหยั่งถึงและทรงพระญาณเอื้ออาทรด้วย คำสอนเรื่องศาสนาสากลสำหรับมวลมนุษย์ได้รับการกล่าวย้ำอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ความจริงเหล่านี้ได้รับการนำเสนอด้วยลีลาการเขียนที่สูงส่งน่าฟังและมีจังหวะจะโคนอย่างเคร่งครัด เน้นให้เห็นว่าความรอดพ้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ในหนังสือส่วนนี้มีข้อความไพเราะอยู่สี่ตอนที่เรียกกันว่า “บทเพลงของผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์” คือ อสย 42:1-4 (อาจต้องเพิ่ม ข้อ 5-9 ด้วย); 49:1-6; 50:4-9 (อาจต้องเพิ่มข้อ 10-11 ด้วย); 53:13 – 53:12 บทประพันธ์ทั้งสี่นี้กล่าวถึงผู้รับใช้ที่สมบูรณ์ของพระยาห์เวห์ - เขาคือผู้รวบรวมประชากรของพระองค์เข้ามาใหม่ และเป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ – เขาคือผู้เทศน์สอนความเชื่อแท้จริง ชดเชยบาปของประชากรด้วยความตายของตน และจะได้รับสิริรุ่งโรจน์จากพระเจ้า ข้อความเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มตัวบทที่ได้รับการศึกษาค้นคว้ามากที่สุดในพันธสัญญาเดิม และบรรดานักวิชาการก็ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันว่าใครเป็นผู้ประพันธ์และบทเพลงเหล่านี้มีความหมายอย่างไร นักวิชาการส่วนใหญ่คิดว่าบทเพลงสามบทแรกเป็นผลงานของประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” และบทที่สี่อาจเป็นผลงานของศิษย์คนหนึ่งของเขา ยังเป็นที่ถกเถียงกันด้วยว่าใครคือ “ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์” ผู้นี้ บางคนคิดว่า “ผู้รับใช้” ผู้นี้คือ “ชุมชนอิสราเอล” ที่นับได้เป็นเสมือน “บุคคล” คนหนึ่ง (personification of the community of Israel) เพราะยังมีข้อความของประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” อีกหลายตอนที่เรียกประชากรอิสราเอลว่า “ผู้รับใช้” บทเพลงเหล่านี้ยังกล่าวถึงลักษณะเฉพาะของ “ผู้รับใช้” อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้อธิบายพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงคิดว่า “ผู้รับใช้” ผู้นี้เป็นปัจเจกชนจริงๆ ไม่ว่าจะเคยมีชีวิตอยู่ในอดีตหรืออยู่ในสมัยของประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” นี้เอง การพิจารณาในมุมมองนี้ชวนให้นักวิชาการหลายคนมีแนวโน้มคิดว่า “ผู้รับใช้” นี้คือประกาศก “อิสยาห์ที่สอง” นั่นเอง และยังคิดต่อไปว่าบทเพลงบทที่สี่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาหลังจากที่เขาสิ้นชีวิตแล้ว ทฤษฎีที่สามรวมเอาความเข้าใจทั้งสองแบบนี้เข้าด้วยกันโดยคิดว่า “ผู้รับใช้” เป็นปัจเจกบุคคลที่รับเอาชะตากรรมของประชากรมาเป็นชะตากรรมของตนในแง่หนึ่งก็ได้
แต่ไม่ว่า “ผู้รับใช้” ผู้นี้จะเป็นผู้ใด ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่เราจะจำกัดการอธิบายความหมายของข้อความเหล่านี้ไว้เพียงกับอดีตหรือกับศตวรรษที่ 6 ก.ค.ศ.เท่านั้น “ผู้รับใช้” ผู้นี้เป็นคนกลางที่จะนำความรอดพ้นมาให้หลายคนในอนาคต การที่ธรรมประเพณีของชาวยิวสายหนึ่งอธิบายว่า ข้อความเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์จึงเป็นคำอธิบายที่พอจะยอมรับได้ แต่ธรรมประเพณีสายนี้ไม่ยอมรับเรื่องการทนทรมานเลย ตรงกันข้าม ข้อความที่กล่าวถึงการรับทรมานของผู้รับใช้และการชดเชยความผิดแทนผู้อื่นนั้น เป็นข้อความที่พระเยซูเจ้าทรงเน้นย้ำและทรงใช้กับพระองค์และกับพันธกิจของพระองค์ด้วย (มก 10:45; ลก 22:19-20,37) และการเทศน์สอนของบรรดาคริสตชนในสมัยแรกจึงกล่าวว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับใช้” ที่ประกาศกอิสยาห์ที่สองกล่าวถึงนี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด (มธ 12:17-21; ยน 1:29)
10. ครั้งหนึ่งเคยมีผู้คิดว่าส่วนสุดท้ายของหนังสืออิสยาห์ (บทที่ 56-66) เป็นผลงานของประกาศกอีกท่านหนึ่งที่มักจะเรียกกันเพื่อความสะดวกว่า “อิสยาห์ที่สาม” (“Trito-Isaiah”) แต่ในปัจจุบันนักวิชาการโดยทั่วไปคิดกันว่าเป็นการรวบรวมข้อความจากหลายแหล่ง เพลงสดุดีใน 63:7 – 64:11 ดูเหมือนจะเขียนขึ้นก่อนที่การเนรเทศที่กรุงบาบิโลนจะสิ้นสุด ส่วนข้อความใน 66:1-4 เขียนขึ้นร่วมสมัยกับการก่อสร้างพระวิหารหลังที่สองในปี 520 ก.ค.ศ. แต่ข้อความในบทที่ 60-62 มีความใกล้ชิดมากกับประกาศกอิสยาห์ที่สอง ทั้งในด้านความคิดและลีลาการเขียน กล่าวโดยทั่วไป บทที่ 56-59 น่าจะเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 5 ก.ค.ศ. และบทที่ 65-66 (ยกเว้น 66:1-4) ซึ่งมีลักษณะของวรรณกรรม “วิวรณ์” อย่างมากนั้น ผู้อธิบายพระคัมภีร์บางคนคิดว่าเขียนขึ้นในสมัยชาวกรีกปกครอง แต่บางคนคิดว่าข้อความตอนนี้เขียนขึ้นไม่นานหลังจากที่ชาวยิวกลับมาจากการเนรเทศ เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ส่วนสุดท้ายของหนังสือนี้น่าจะเป็นผลงานของบรรดาศิษย์ของประกาศกอิสยาห์ที่สอง นักวิชาการบางคนยังคิดด้วยว่าเนื้อหาส่วนนี้เป็นการจงใจอธิบายเพิ่มเติมผลงานของประกาศกอิสยาห์ที่สอง และเขียนขึ้นไม่นานหลังกลับมาจากการเนรเทศ กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้อความตอนนี้เป็นผลงานภาคสุดท้ายของ “ธรรมประเพณี” ของประกาศกอิสยาห์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอยู่ในกระแสสังคมของชาวอิสราเอลตลอดมาตั้งแต่ช่วงเวลาของประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 8 ก.ค.ศ. นั่นเอง
ได้มีการค้นพบเอกสารคัดลอกของหนังสืออิสยาห์ทั้งเล่มเมื่อไม่นานมานี้ ในถ้ำที่กุมราน (Qumran) ริมทะเลตาย เอกสารนี้น่าจะเขียนขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก.ค.ศ. ตัวบทในเอกสารฉบับนี้แตกต่างกับตัวบท Mosoretic ในเรื่องตัวสะกดและข้อความไม่เหมือนกันจำนวนหนึ่ง ข้อความที่แตกต่างไปนี้บางข้อความถูกนำมาใช้ในการกำหนดตัวบทในพระคัมภีร์ฉบับนี้ (NJB) และจะมีอักษรย่อกำกับไว้ในเชิงอรรถว่า 1QIsa.
11. ประกาศกเยเรมีย์
11. ประกาศกเยเรมีย์
ประกาศกเยเรมีย์เกิดราวปี 646 ก.ค.ศ. ในตระกูลสมณะซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆกรุงเยรูซาเล็ม คือราวกว่าหนึ่งร้อยปีหลังจากอิสยาห์ จากข้อความกล่าวถึงชีวประวัติของเขาที่กระจายอยู่ทั่วไปในหนังสือ เรารู้จักชีวิตและลักษณะของประกาศกผู้นี้มากกว่าประกาศกคนอื่นๆ เหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของประกาศกที่มีบันทึกไว้ในหนังสือน่าจะเกิดขึ้นตามลำดับเวลาดังนี้ – 19:1 – 20:6; บทที่ 26; บทที่ 36; บทที่ 45; 28-29; 51:59-64; 34:8-22; บทที่ 37-44. ท่านประกาศกเองน่าจะเป็นผู้เขียน “คำสารภาพของเยเรมีย์” (“Confessions of Jeremiah” = “คำตัดพ้อ(?)ของเยเรมีย์”) ใน 11:18 – 12:6; 15:10-21; 17:14-18; 18:18-23; 20:7-18 ข้อความเหล่านี้ไม่ใช่ “อัตชีวประวัติ” แต่ก็เป็นพยานยืนยันแสดงให้เรารู้ถึงประสบการณ์ส่วนตัวในใจของท่านประกาศก เป็นการบรรยายในรูปแบบของ “เพลงสดุดีประเภทคำอ้อนวอน” ประกาศกเยเรมีย์ได้รับเรียกจากพระเจ้าขณะที่ยังเป็นหนุ่มในราวปี 626-627 ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 13 ในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ (1:2) และมีชีวิตอยู่ตลอดช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากก่อนและหลังการล่มสลายของอาณาจักรยูดาห์ การปฏิรูปทางศาสนาและการรวมพลังของชนในชาติที่กษัตริย์โยสิยาห์ทรงเริ่มขึ้นทำให้หลายคนมีความหวัง แต่ความหวังนี้ก็ต้องสลายลงเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิใกล้เมืองเมกิดโดในปี 609 ก.ค.ศ. และเมื่อดุลอานุภาพของมหาอำนาจในโลกโบราณในขณะนั้นต้องล่มสลายลงพร้อมกับการทำลายกรุงนีนะเวห์ในปี 612 ก.ค.ศ. ทำให้จักรวรรดิเคลเดียขยายอำนาจได้มากขึ้น นับตั้งแต่ปี 605 ก.ค.ศ. เป็นต้นไป พระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ทรงเข้ายึดครองดินแดนปาเลสไตน์ อาณาจักรยูดาห์เป็นกบฏเพราะได้รับการสนับสนุนจากอียิปต์ พระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ทรงยึดกรุงเยรูซาเล็มได้ในปี 597 ก.ค.ศ. และจับชาวเมืองส่วนหนึ่งเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน การเป็นกบฏอีกครั้งหนึ่งทำให้กองทัพชาวเคลเดียต้องยกกลับมาอีก และในปี 587 ก.ค.ศ. กรุงเยรูซาเล็มก็ถูกยึดได้อีกครั้งหนึ่ง พระวิหารถูกเผาทำลายและประชาชนถูกจับเป็นเชลยไปอีกมากกว่าครั้งก่อน ประกาศกเยเรมีย์มีชีวิตอยู่ตลอดเวลาของเหตุการณ์ร้ายๆเหล่านี้ทั้งหมด เขาเทศน์สอน ปรามประชาชน พยากรณ์ถึงภัยพิบัติที่กำลังจะมาถึง ทูลเตือนกษัตริย์ไร้ความสามารถแห่งราชวงศ์ดาวิดองค์แล้วองค์เล่า แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เขาถูกบรรดาผู้กระหายสงครามกล่าวหาว่าเป็นผู้ยอมแพ้ เขาถูกเบียดเบียนและถูกจองจำ เมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย ประกาศกเยเรมีย์ยังคงอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ต่อไปพร้อมกับเกดาลิยาห์ เพื่อนที่ชาวเคลเดียแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองชาวยิวที่เหลืออยู่ ถึงกระนั้นท่านประกาศกก็มีความคิดว่า ความหวังทั้งหมดสำหรับอานาคตของอิสราเอลนั้น อยู่กับผู้ที่ถูกจับเนรเทศเป็นเชลยไปที่กรุงบาบิโลน เมื่อเกดาลิยาห์ถูกฆ่า ชาวยิวกลุ่มหนึ่งกลัวจะถูกชาวเคลเดียลงโทษ จึงหนีไปประเทศอียิปต์และบังคับให้เยเรมีย์หนีไปกับตนด้วย ท่านประกาศกคงจะสิ้นชีวิตที่นั่นในเวลาต่อมา
ความรู้สึกขัดแย้งภายในของประกาศกเยเรมีย์ดูจะตื่นเต้น น่าเร้าใจไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เขามีบทบาทร่วมอยู่ด้วย แม้เขาจะมีอุปนิสัยอ่อนโยน มีความรักใคร่ต่อทุกคน พระเจ้าก็ทรงเรียกเขา “ให้ถอนราก โค่นลง ทำลายและคว่ำเสีย” (1:10) และคำสอนของเขามี “หายนะ” เป็นความคิดหลัก (20:8) ชายที่ใฝ่สันติผู้นี้ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลากับญาติมิตรของตน กับบรรดากษัตริย์ สมณะ ประกาศกเทียม และกับชนทั้งชาติ กลายเป็นผู้ที่ “ทำให้คนทะเลาะกัน ชิงดีกัน แตกแยกกันไปทั่วแผ่นดิน” (15:10) เขาต้องถูกทรมานเพราะหน้าที่ที่เขาจำใจต้องปฏิบัติโดยไม่อาจปฏิเสธได้ (20:9) ในการอธิษฐานภาวนา เขากล่าวย้ำถึงความทุกข์ของตนเองบ่อยๆ “ทำไมข้าพเจ้าจึงต้องทนทุกข์อยู่ตลอดเวลาเช่นนี้เล่า” (15:18) (ดู 20:14 ฯ ซึ่งเป็นข้อความคล้ายๆกันกับที่โยบ “สาปแช่งวันที่ตนเกิดมา”)
ความทุกข์ทรมานทั้งหมดนี้ชำระจิตใจของเยเรมีย์ ให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งที่ไม่เหมาะสม และทำให้เขาเปิดใจต่อพระเจ้า ก่อนที่เขาจะประกาศพระวาจากล่าวถึงพันธสัญญาใหม่ (31:31-34) ประกาศกเยเรมีย์ก็ปฏิบัติศาสนกิจภายในจากใจจริงอยู่แล้ว การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้เขาอยู่ใกล้ชิดและเป็นที่รักของบรรดาคริสตชน ความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับพระเจ้าทำให้เขาคิดทบทวนคำสั่งสอนที่เคยสอนต่อๆกันมา คือคำสอนที่ว่าพระเจ้าทรงทดสอบจิตใจ (11:20) และประทานรางวัลให้แต่ละคนตามกิจการของเขา (31:29-30) มิตรภาพกับพระเจ้า (2:2) ถูกทำลายโดยบาปซึ่งเป็นผลจากจิตใจที่ชั่วร้าย (4:4; 17:9; 18:12) การถือศาสนาจากใจจริงเช่นนี้ทำให้เยเรมีย์มีลักษณะไม่ต่างจากประกาศกโฮเชยา ซึ่งมีอิทธิพลต่อเขาอย่างมาก ความคิดของเขาที่ว่า “ธรรมบัญญัติ” คือพลัง “ภายใน” การที่เขาให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติความรักในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง ความสนใจที่เขามีต่อทุกคนในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” ทำให้คำสอนของเขาคล้ายกับคำสอนของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ แน่นอนทีเดียว ประกาศกเยเรมีย์เห็นด้วยกับการปฏิรูปทางศาสนาที่ได้รับพลังบันดาลใจจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ดังที่กษัตริย์โยสิยาห์ทรงเริ่ม แต่เขาก็ต้องประสบกับความผิดหวังอย่างมากที่การปฏิรูปเหล่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงชีวิตทางศีลธรรมและศาสนาของประชาชนในชาติให้ดีขึ้น
ประกาศกเยเรมีย์ต้องประสบความล้มเหลวในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ แต่ความสำคัญของเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังจากที่เขาสิ้นชีวิตไปแล้ว คำสอนของเขาเรื่องพันธสัญญาใหม่ที่ “เขียนไว้ในจิตใจ” ทำให้เขาเป็นบิดาของเรื่องต่างๆที่ดีที่สุดในศาสนายูดาย เราเห็นอิทธิพลของเขาได้ในข้อเขียนของประกาศกเอเสเคียล อิสยาห์ที่สอง และในบทเพลงสดุดีหลายบท ในสมัยพวกมัคคาบี เขาได้รับความนับถือเป็นผู้ปกป้องของชาติ (2 มคบ 2:1-8; 15:12-16) การที่ประกาศกเยเรมีย์ให้ความสำคัญแก่เรื่องของจิตใจเหนือสิ่งอื่นใด และการที่เขาแสดงให้เห็นว่ามนุษย์อาจมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้อย่างใกล้ชิดเพียงใดนั้น นับเป็นการเบิกทางให้แก่พันธสัญญาใหม่ในยุคสมัยของพระคริสตเจ้า ชีวิตการเสียสละและความทุกข์ทรมานในการรับใช้พระเจ้า ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นคุณลักษณะของ “ผู้รับใช้พระยาห์เวห์” ใน อสย บทที่ 53 ทำให้ประกาศกเยเรมีย์เป็นต้นแบบของพระคริสตเจ้า
การที่ประกาศกเยเรมีย์ยังคงมีอิทธิพลสืบมาอย่างต่อเนื่องนั้นแสดงว่า ถ้อยคำของเขาต้องได้รับการศึกษา ไตร่ตรอง และตีความอธิบายหลายต่อหลายครั้ง เราเห็นผลงานเพิ่มเติมจากบรรดาศิษย์ซึ่งเป็นเสมือน “บุตรทางจิตใจ” ของประกาศกได้จากโครงสร้างของหนังสือ ซึ่งปรากฏชัดว่าไม่ได้เขียนขึ้นทั้งหมดในคราวเดียวกันอย่างแน่นอน นอกจากคำประกาศพระวาจาซึ่งเป็นคำประพันธ์และข้อความที่กล่าวถึงชีวประวัติของท่านประกาศกแล้ว หนังสือเยเรมีย์ยังมีบทเทศน์แบบร้อยแก้วที่มีลีลาเหมือนกันอย่างมากกับหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ บรรดานักวิชาการยังถกเถียงกันว่าข้อความเหล่านี้เป็นของท่านประกาศกจริงหรือไม่ หลายคนคิดว่าข้อความเหล่านี้เป็นผลงานของผู้เรียบเรียงหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ในสมัยหลังกลับจากการเนรเทศแล้ว ถึงกระนั้นตามความจริง ลีลาการเขียนของข้อความเหล่านี้ก็เป็นลีลาการเขียนร้อยแก้วตามแบบของชาวแคว้นยูดาห์ในศตวรรษที่ 7 และต้นศตวรรษที่ 6 ก.ค.ศ. และความคิดทางเทววิทยาก็มีลักษณะเหมือนกับของขบวนการศาสนา ที่มีทั้งหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและข้อเขียนของประกาศกเยเรมีย์รวมอยู่ด้วย ข้อเขียนเหล่านี้สะท้อนการเทศน์สอนแท้ของประกาศกเยเรมีย์ ซึ่งผู้ที่นิยมท่านประกาศกได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรรวบรวมไว้ ข้อเขียนทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้ตกทอดมาถึงเราในรูปแบบเพียงรูปแบบเดียว สำนวนแปลภาษากรีกมีความยาวน้อยกว่าตัวบท Massoretic ในภาษาฮีบรูมากพอใช้ทีเดียว คือน้อยกว่าราวหนึ่งในแปดส่วน และหลายครั้งยังมีรายละเอียดแตกต่างกันด้วย การค้นพบเอกสารโบราณที่ถ้ำ Qumran แสดงว่าตัวบทเดิมในภาษาฮีบรูก็มีอยู่แล้วทั้งสองแบบด้วย ยิ่งกว่านั้น สำนวนแปลฉบับภาษากรีกยังจัดคำประกาศพระวาจาประณามนานาชาติไว้หลังจาก 25:13 และเรียงลำดับแตกต่างจากลำดับในฉบับภาษาฮีบรู ซึ่งจัดข้อความเหล่านี้ไว้ในตอนสุดท้ายของหนังสือ (บทที่ 46-51) บางทีแต่เดิมคำประกาศพระวาจาเหล่านี้อาจรวบรวมไว้ด้วยกันต่างหากแยกจากหนังสือตอนอื่นๆ เพราะไม่ใช่ผลงานของประกาศกเยเรมีย์หมดทุกตอน แม้ว่าคำประกาศพระวาจาเหล่านี้อาจเป็นของเยเรมีย์จริงๆ คำประณามชาวโมอับและชาวเอโดมก็ได้ถูกเขียนใหม่เกือบทั้งหมด ถ้อยคำประณามกรุงบาบิโลนอย่างยืดยาวในบทที่ 50-51 ก็เขียนขึ้นตอนปลายของช่วงเวลาการเนรเทศ บทที่ 52 ถูกรวมเข้ามาเป็นภาคผนวกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มีเนื้อหาคล้ายกับข้อความใน 2 พกษ 24:18 – 25:30 ยังมีข้อความเพิ่มเติมสั้นๆอีกหลายตอนถูกแทรกเข้ามาในหนังสือ ข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าทั้งชาวยิวซึ่งถูกเนรเทศอยู่ที่กรุงบาบิโลน และชุมชนชาวยิวที่กลับมาจากการเนรเทศแล้ว ต่างก็ได้ใช้ข้อความเหล่านี้และให้ความเคารพนับถือแก่ข้อความเหล่านี้ด้วย ข้อความที่ซ้ำกันหลายตอนยังเป็นข้อพิสูจน์ด้วยว่าหนังสือเยเรมีย์ได้รับการเรียบเรียงปรับปรุงหลายครั้ง ท้ายสุด ข้อความที่บอกวันเดือนปีก็ไม่ต่อเนื่องกันตามลำดับเวลา หนังสือเยเรมีย์อย่างที่เรามีในปัจจุบันนี้จึงอยู่ในสภาพสับสน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เวลายาวนานในการเรียบเรียง และเราไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าการเรียบเรียงนี้มีขั้นตอนต่างๆอย่างไรบ้าง
ถึงกระนั้น บทที่ 36 ก็บอกเวลาที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ในปี 605 ก.ค.ศ. ประกาศกเยเรมีย์สั่งให้บารุคเขียนตามคำบอกที่เขากล่าว (36:2) นับตั้งแต่ที่เขาเริ่มภารกิจประกาศกของตนในปี 626 ก.ค.ศ. กษัตริย์เยโฮยาคิมทรงเผาม้วนหนังสือม้วนนี้ แต่ประกาศกก็สั่งให้บารุคเขียนขึ้นใหม่ตามคำบอกและเพิ่มเติมข้อความอื่นลงไปอีกด้วย (36:32) ในขณะนี้เราเดาไม่ได้เลยว่าว่าม้วนหนังสือดังกล่าวมีคำเทศน์สอนอะไรบ้าง ดูเหมือนว่าจะมี 25:1-12 เป็นอารัมภบท แล้วรวบรวมคำสอนที่ประกาศกประกาศสอนก่อนปี 605 ก.ค.ศ. ซึ่งในปัจจุบันนี้อยู่ในบทที่ 1-18 แต่ตามข้อมูลใน 36:2 หนังสือม้วนนี้ยังมีคำประกาศพระวาจาโบราณบางตอนที่กล่าวประณามชนต่างชาติตามที่มีกล่าวพาดพิงถึงอยู่ใน 25:13-38 ต่อมาหนังสือภาคเดียวกันนี้ยังมีข้อความจากช่วงเวลาภายหลังปี 605 ก.ค.ศ. ถูกเพิ่มเข้ามาอีกด้วย รวมทั้งคำกล่าวอื่นๆที่กล่าวประณามนานาชาติด้วย ข้อความตอนที่ได้ชื่อว่า “คำสารภาพ” หรือ “คำตัดพ้อ(?)” (ดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้วก่อนหน้านี้) ก็ถูกเพิ่มเข้าไปในม้วนหนังสือม้วนนี้ด้วย ข้อความสั้นๆ 2 ตอนยังถูกเพิ่มเข้ามาอีก ตอนหนึ่งกล่าวถึงบรรดากษัตริย์ (21:11 – 23:8) ส่วนอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงบรรดาประกาศก (23:9-40) ข้อความทั้งสองตอนนี้แต่เดิมคงอยู่แยกจากกัน
โดยวิธีนี้เราจึงกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าสองภาคของหนังสือเยเรมีย์คืออะไรบ้าง ภาคแรกมีเนื้อหาเป็นการคาดโทษต่อแคว้นยูดาห์และกรุงเยรูซาเล็ม (1:1 – 25:13) ส่วน ภาคที่สอง เป็นการประกาศพระวาจาประณามนานาชาติ (25:13-48 และบทที่ 46-51) ส่วนบทที่ 26-35 คือ ภาคที่สาม ซึ่งไม่ต่อเนื่องกัน รวบรวมข้อความที่ค่อนข้างจะน่ายินดีมากกว่า ข้อความเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นร้อยแก้ว และส่วนมากคัดมาจาก “ชีวประวัติของเยเรมีย์” ซึ่งคิดกันว่าเป็นผลงานของบารุค แต่ก็ต้องยกเว้นบทที่ 30-31 ซึ่งเป็นตอนสั้นๆที่เป็นคำปลอบโยนเขียนในรูปคำประพันธ์ ส่วน ภาคที่สี่ (บทที่ 36-44) เขียนเป็นร้อยแก้ว เล่าประวัติของประกาศกเยเรมีย์ต่อ และบรรยายถึงความทุกข์ยากของเขา ขณะที่กรุงเยรูซาเล็มถูกล้อมและในช่วงเวลาหลังจากนั้น ภาคนี้จบลงที่ 45:1-5 ซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นคำลงนามสรุปของบารุค (เลขานุการของประกาศกเยเรมีย์)
12. เพลงคร่ำครวญ
12. เพลงคร่ำครวญ
พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูจัดหนังสือสั้นๆฉบับนี้ไว้ในหมวด “ข้อเขียน” (‘Writings’ หรือ ‘Hagiographa’) และนับเป็นเล่มหนึ่งของ “ม้วนหนังสือ 5 ม้วน” ที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาฮีบรูว่า “meghillot” ซึ่งใช้อ่านในวันฉลองใหญ่ๆ 5 วัน (ได้แก่ พซม อ่านในวันฉลองปัสกา - นรธ อ่านในวันฉลองเปนเตก๊อสเต - พคค อ่านในวันฉลองระลึกถึงการทำลายกรุงเยรูซาเล็ม - ปญจ อ่านในเทศกาลอยู่เพิง - และ อสธ อ่านในวันฉลอง “ปูริม”) ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกและ Vulgate ภาษาละติน หนังสือฉบับนี้จัดไว้ให้อยู่หลังหนังสือเยเรมีย์ และมีชื่อเรียกว่า “เพลงคร่ำครวญของประกาศกเยเรมีย์” ความเชื่อถือที่ว่าเยเรมีย์เป็นผู้ประพันธ์หนังสือฉบับนี้ได้มาจากข้อความใน 2 พศด 35:25 และได้รับแรงสนับสนุนจากบทประพันธ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งก็มีเนื้อหาสะท้อนช่วงเวลาสมัยของท่านประกาศก อย่างไรก็ตาม เราไม่น่าจะคิดว่าประกาศกเยเรมีย์เป็นผู้ประพันธ์หนังสือฉบับนี้ ประกาศกเยเรมีย์ที่เรารู้จักดีจากคำเทศน์สอนแท้ๆของเขาคงจะไม่กล่าวข้อความใน พคค 2:9 ที่ว่า “บรรดาประกาศกแห่งศิโยนไม่ได้รับนิมิตจากพระยาห์เวห์อีกแล้ว” และเขาคงไม่กล่าวชมเชยกษัตริย์เศเดคียาห์ดังข้อความใน พคค 4:20 หรือกล่าวแสดงความหวังว่าชาวอียิปต์จะมาช่วยเหลือ เช่นใน พคค 4:17 เขาคงแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาจากใจจริงอาศัยคำประพันธ์ “กลบทอักษร” (alphabetical poems) เหล่านี้ ในสี่บทแรกคำประพันธ์แต่ละ “บท” เริ่มด้วยอักษรเรียงตามลำดับติดต่อกันทีละตัว ส่วนบทที่ 5 อักษรแต่ละตัวเริ่มคำประพันธ์แต่ละ “บาท” (2 บรรทัด)
บทที่ 1, 2 และ 4 เขียนขึ้นในรูปคำคร่ำครวญร่ำไห้ถึงผู้ตาย บทที่ 3 อยู่ในรูป “คำอ้อนวอนส่วนตัว” และบทที่ 5 (ซึ่งพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgate เรียกว่า “คำอธิษฐานภาวนาของเยเรมีย์”) อยู่ในรูป “คำอ้อนวอนส่วนรวม” บทประพันธ์เหล่านี้น่าจะเขียนขึ้นในแผ่นดินปาเลสไตน์หลังจากกรุงเยรูซาเล็มล่มสลายแล้วในปี 587 ก.ค.ศ. และดูเหมือนจะเป็นผลงานของบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งใช้อารมณ์โศกเศร้าอย่างที่สุดบรรยายถึงความทุกข์ของกรุงเยรูซาเล็มและของประชากร แต่แม้ในความรู้สึกที่มืดมิดนี้ก็ยังมีแสงแห่งความวางใจในพระเจ้าอย่างที่ไม่มีวันจะถูกขจัดไปได้ ฉายออกมาพร้อมกับความทุกข์กลับใจอย่างแท้จริง ลักษณะเหล่านี้ทำให้หนังสือสั้นๆฉบับมีมีคุณค่าอย่างถาวร ชาวยิวขับร้องคำประพันธ์เหล่านี้ในวันจำศีลอดอาหารเป็นพิเศษระลึกถึงการที่พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย
13. บารุค
13. บารุค
หนังสือบารุคอยู่ในกลุ่มหนังสือ “สารบบที่สอง” ไม่พบในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรู พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกจัดหนังสือฉบับนี้ ไว้ระหว่างหนังสือประกาศกเยเรมีย์ และเพลงคร่ำครวญ ส่วนพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata จัดหนังสือฉบับนี้ไว้ทันทีหลัง “เพลงคร่ำครวญ” เรารู้จากอารัมภบท (1:1-14) ของหนังสือนี้ว่าบารุค ซึ่งเป็นเลขานุการของประกาศกเยเรมีย์ เขียนหนังสือฉบับนี้ที่กรุงบาบิโลนหลังจากที่ชาวยิวถูกจับเป็นเชลยไปที่นั่น และส่งหนังสือนี้มาถึงชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มสำหรับอ่านในการประชุมประกอบพิธีกรรม หนังสือนี้มีเนื้อหาดังนี้ [1] บทอธิษฐานภาวนาสารภาพความผิดที่ได้ทำ แต่ก็แสดงความหวัง (1:15 – 3:8); [2] บทประพันธ์เกี่ยวกับ “ปรีชาญาณ” (3:9 – 4:4) กล่าวว่า “ธรรมบัญญัติ” (Torah) คือปรีชาญาณ; [3] คำพยากรณ์ (4:5 – 5:9) ซึ่งกรุงเยรูซาเล็มกล่าวกับชาวยิวในถิ่นเนรเทศ และประกาศกปลอบโยนเขาทั้งหลายให้มีความหวังในพระเมสสิยาห์
อารัมภบทเขียนเป็นภาษากรีก ส่วนบทอธิษฐานภาวนาใน 1:15 – 3;8 นั้นเห็นได้ชัดว่ามีต้นฉบับเป็นภาษาฮีบรูเช่นเดียวกับข้อความในภาคที่ [2] และ [3] ผลงานชิ้นนี้น่าจะเขียนขึ้นราวกลางศตวรรษแรกก่อนคริสตกาลแน่ๆ
ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก หนังสือเพลงคร่ำครวญแยก “จดหมายของประกาศกเยเรมีย์” ออกจากหนังสือบารุค แต่พระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata รวมจดหมายนี้ (โดยมีชื่อต่างหาก) ไว้กับหนังสือบารุค นับเป็นบทที่ 6 -- “จดหมาย” นี้เป็นข้อความต่อต้านการนับถือรูปเคารพ โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องไร้เหตุผล ลีลาการเขียนไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ เป็นการขยายความคิดที่มีอยู่แล้วใน อสย 44:9-20; ยรม 10:1-16 การนับถือรูปเคารพที่ถูกต่อต้านเป็นการปฏิบัติของชาวบาบิโลนในสมัยหลัง จดหมายฉบับนี้น่าจะเขียนเป็นภาษาฮีบรูตั้งแต่แรก แต่ก็เป็นผลงานในสมัยชาวกรีกปกครอง แม้จะเจาะจงให้ชัดลงไปไม่ได้ว่าเขียนขึ้นเมื่อไร ก็ดูเหมือนว่า 2 มคบ 2:1-3 กล่าวพาดพิงถึง “จดหมาย” ฉบับนี้
นักวิชาการใช้หลักฐานทางโบราณคดีบอกได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆชิ้นหนึ่งของตัวบทภาษากรีกซึ่งพบได้ที่ถ้ำกุมรานมีอายุตั้งแต่ราวปี 100 ก.ค.ศ.
ข้อเขียนทั้งหมดนี้ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในชื่อของ “บารุค” ให้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับชุมชนชาวยิวซึ่งอยู่นอกแผ่นดินปาเลสไตน์ (Diaspora) ว่าเขามีวิธีการอย่างไรเพื่อรักษาความเชื่อทางศาสนาของตนไว้ ได้แก่การมีความสัมพันธ์กับกรุงเยรูซาเล็ม การอธิษฐานภาวนา ความเลื่อมใสต่อธรรมบัญญัติ ความกระหายอยากได้รับรางวัลตอบแทนจากพระเจ้า ความหวังในพระเมสสิยาห์ หนังสือบารุค เช่นเดียวกับหนังสือเพลงคร่ำครวญ เป็นพยานแสดงให้เห็นว่าชาวยิวยังมีความเคารพนับถืออย่างมั่นคงต่อประกาศกเยเรมีย์ หนังสือสั้นๆทั้งสองฉบับนี้อ้างว่าเป็นผลงานของท่านประกาศกและของศิษย์ของท่าน ชาวยิวยังให้ความเคารพต่อบารุคยิ่งขึ้นต่อๆมา ตั้งแต่ศตวรรษที่สอง ก.ค.ศ. มีหนังสือประเภท “วิวรณ์” นอกสารบบพระคัมภีร์ 2 ฉบับมีชื่อของเขา ฉบับหนึ่งพบได้ในภาษากรีก อีกฉบับหนึ่งพบได้ในภาษาซีเรียค (เรายังมีชิ้นส่วนคำแปลภาษากรีกของฉบับนี้อยู่บ้างอีกด้วย)
14. ประกาศกเอเสเคียล
14. ประกาศกเอเสเคียล
หนังสือประกาศกเอเสเคียลแตกต่างจากหนังสือประกาศกเยเรมีย์ เพราะเนื้อหาในหนังสือมีโครงสร้างของอย่างชัดเจน หลังจากบทที่ 1-3 ซึ่งเป็นเสมือน “อารัมภบท” ที่กล่าวถึงเรื่องประกาศกได้รับมอบหมายภารกิจจากพระเจ้าแล้ว เนื้อหาของหนังสือแบ่งได้อย่างชัดเจนเป็น 4 ภาค คือ ภาคที่หนึ่ง (บทที่ 4-24) เกือบทั้งหมดประกอบด้วยคำตำหนิและคาดโทษต่อชาวอิสราเอลก่อนที่กรุงเยรูซาเล็มจะถูกล้อม ภาคที่สอง (บทที่ 25-32) เป็นการกล่าวประณามนานาชาติ ซึ่งประกาศกขยายคำตำหนิและคาดโทษให้กว้างออกไปครอบคลุมผู้ที่มีอิทธิพลต่อชาวอิสราเอลผู้ไร้สัจจะ และสนับสนุนให้ชาวอิสราเอลเป็นเช่นนั้นต่อไป ภาคที่สาม (บทที่ 33-39) เป็นถ้อยคำปลอบโยนชาวอิสราเอลในช่วงเวลาที่กรุงเยรูซาเล็มถูกล้อมและหลังจากการทำลายกรุงเยรูซาเล็ม โดยสัญญาถึงอนาคตที่สดใส ภาคที่สี่ (บทที่ 40-48) เป็นการวางแผนสำหรับการก่อตั้งชุมชนอิสราเอลในอนาคตทั้งในด้านการเมืองและด้านศาสนา เมื่อชุมชนใหม่นี้จะตั้งขึ้นอีกครั้งหนึ่งในแผ่นดินปาเลสไตน์
ถึงกระนั้น ภายใต้การจัดระเบียบอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ก็ยังมีความสับสนที่น่าสังเกตอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น มีข้อความหลายตอนที่ซ้ำกัน เช่น 3:17-21 = 33:7-9; 18:25-29 = 33:17-20. การกล่าวพาดพิงว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้เอเสเคียลเป็นใบ้ใน 3:26; 24:27; 33:22 เชิงอรรถ g มีข้อความปราศรัยยืดยาวมาแทรกไว้ในแต่ละตอน นิมิตเรื่อง “พระราชรถของพระเจ้า” ใน 1:4 – 3:15 ก็มีนิมิตเรื่องหนังสือมาคั่นไว้ที่ 2:1 – 3:9 ในทำนองเดียวกัน การบรรยายถึงบาปของกรุงเยรูซาเล็มใน 11:1-21 ก็เป็นข้อความที่ต่อมาจากบทที่ 8 และแทรกเข้ามาในเรื่องที่เล่าถึงพระราชรถออกจากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเริ่มที่ 10:18-22 และดำเนินต่อไปใน 11:22. เหตุการณ์ในบทที่ 26-33 ก็มิได้เล่าต่อเนื่องกันตามลำดับเวลา ความสับสนเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นถ้าหนังสือนี้มีผู้เขียนเพียงคนเดียวรับผิดชอบในเรื่องความต่อเนื่องของเนื้อหาในหนังสือ จึงอาจเป็นไปได้อย่างมากว่า หนังสือเอเสเคียลเป็นผลงานของบรรดาศิษย์ซึ่งรวบรวมเอกสารต่างๆที่มีรวมกันอยู่ก่อนบ้างแล้วมาเรียบเรียงและนำเอกสารอื่นๆที่ตนมีอยู่ในมือมาเพิ่มเติมเข้าไปอีก ดังนั้น หนังสือเอเสเคียลจึงได้ผ่านขั้นตอนการเรียบเรียงไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับหนังสือฉบับอื่นๆของประกาศก อย่างไรก็ตาม ความคงที่ของลีลาการเขียนและคำสอนในหนังสือนี้ก็พิสูจน์ได้ว่าบรรดาศิษย์ของประกาศกได้พยายามรักษาความคิด รวมทั้งถ้อยคำดั้งเดิมเกือบทั้งหมดของประกาศกไว้อย่างซื่อสัตย์ เราสังเกตเห็นผลงานการเรียบเรียงของบรรดาศิษย์ได้ชัดในภาคสุดท้ายของหนังสือ (บทที่ 40-48) แต่เนื้อหาสาระที่พบในตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องราวที่มาจากเอเสเคียลโดยตรงอยู่ดี
ถึงกระนั้น ก็ยังมีคำถามว่างานเรียบเรียงของบรรดาศิษย์ได้เปลี่ยนมุมมองของหนังสือในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งไปหรือไม่ จากเรื่องราวในหนังสือ เรารู้ว่าเอเสเคียลปฏิบัติภารกิจทั้งหมดของตนในหมู่ชาวยิวในถิ่นเนรเทศที่กรุงบาบิโลนในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 593 ถึง 571 ก.ค.ศ. ตามวันเดือนปีที่บอกไว้ครั้งแรกใน 1:2 และครั้งสุดท้ายใน 29:17 ในสภาพการณ์เช่นนี้จึงน่าแปลกที่ ดูเหมือนว่า ประกาศกกล่าวคำประกาศพระวาจาในภาคแรกกับประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม และคล้ายกับว่าบางครั้งเอเสเคียลได้กลับมาอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มจริงๆ (ดู โดยเฉพาะ 11:13) เพราะฉะนั้นจึงมีทฤษฎีว่าประกาศกเอเสเคียลปฏิบัติภารกิจทั้งในปาเลสไตน์และที่กรุงบาบิโลน เขายังอยู่ในปาเลสไตน์และเทศน์สอนจนถึงเวลาที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี 587 ก.ค.ศ. แล้วจึงไปอยู่ร่วมกับชาวยิวในถิ่นเนรเทศที่กรุงบาบิโลนหลังจากนั้น นิมิตเรื่อง “ม้วนหนังสือ” ใน 2:1 – 3:9 น่าจะบอกว่าท่านประกาศกได้รับเรียกให้เป็นประกาศกในแผ่นดินปาเลสไตน์ และนิมิตเรื่องราชรถใน 1:4-28 และ 3:10-15 น่าจะบอกว่าเขามาอยู่กับชาวยิวในถิ่นเนรเทศแล้วด้วย มีผู้เสนอความคิดว่าการย้ายนิมิตเรื่องราชรถจากภาคที่สามมาอยู่ในภาคแรกของหนังสือจึงเป็นการเปลี่ยนจุดเน้นทั้งหมด สมมุติฐานเช่นนี้ช่วยแก้ปัญหาได้บางข้อ แต่ก็สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ เช่น เรียกร้องให้จัดลำดับตัวบทส่วนใหญ่เสียใหม่ ทฤษฎีนี้ยังเรียกร้องให้คิดว่าแม้ในระหว่างที่เอเสเคียลปฏิบัติภารกิจ “ในปาเลสไตน์” นั้น โดยปรกติเขาก็ยังพำนักอยู่นอกกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเขา “ถูกนำไป” ที่นั่นใน 8:3 ยิ่งกว่านั้น ต้องนับว่าแปลกประหลาดมากที่ทั้งเอเสเคียล ทั้งเยเรมีย์มิได้กล่าวถึงภารกิจของกันและกันที่กรุงเยรูซาเล็มเลยถ้าประกาศกทั้งสองท่านปฏิบัติภารกิจอยู่ที่นั่นในช่วงเวลาเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น เราก็ต้องไม่ให้น้ำหนักมากนักแก่เหตุผลที่มักถูกยกมาโต้แย้งความเห็นที่เคยถือกันมา (คือความเห็นที่ว่าเอเสเคียลปฏิบัติภารกิจของเขาตลอดเวลาในถิ่นเนรเทศเท่านั้น) คำตำหนิติเตียนความผิดที่ประกาศกดูเหมือนกล่าวประณามชาวกรุงเยรูซาเล็มนั้น ก็มีประโยชน์ต่อชาวยิวในถิ่นเนรเทศด้วย และการที่ประกาศกเอเสเคียลดูเหมือนว่ามาพำนักที่กรุงเยรูซาเล็มนั้นเป็นเพียงว่าเขา “ถูกนำ” มาที่นั่น “ในนิมิต” เท่านั้น ดังที่ตัวบทก็กล่าวไว้อย่างชัดเจน (8:3) แล้วเขาก็ถูกนำกลับมาจากกรุงเยรูซาเล็ม “ในนิมิต” ด้วยเช่นกัน (11:24) สมมุติฐานที่ว่าท่านประกาศกปฏิบัติภารกิจในที่สองแห่งจึงไม่มีนักวิชาการสนับสนุนอีกต่อไป
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับทฤษฎีใด ภาพของบุคลยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งก็ปรากฏออกมาจากหนังสืออย่างชัดเจน เอเสเคียลเป็นสมณะ (1:3) พระวิหารจึงเป็นจุดสนใจอย่างยิ่งของเขา ไม่ว่าเมื่อชาวอิสราเอลจะประกอบพิธีคารวะรูปเคารพทำให้พระวิหารในปัจจุบันต้องมีมลทิน (บทที่ 8) จนพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์ต้องละทิ้งพระวิหารไป (บทที่ 10) หรือพระวิหารในอนาคตที่เขาบรรยายถึงแผนก่อสร้างโดยละเอียดในบทที่ 40-42 และที่เขาได้เห็นพระเจ้าเสด็จกลับมาประทับอยู่ในบทที่ 43 ประกาศกให้ความเคารพนับถืออย่างมากต่อธรรมบัญญัติ และการกล่าวประณามผู้ที่ “ผ่าฝืนวันสะบาโต” ปรากฏอยู่บ่อยๆในการกล่าวโทษประณามความผิดของชาวอิสราเอล (บทที่ 20) เขารังเกียจทุกสิ่งที่เป็นมลทิน (4:14; 44:7) และเอาใจใส่อย่างเคร่งครัดในการแยกแยะสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากสิ่งของสามัญทั่วๆไป (45:1-6; 48:9 ฯ) ในฐานะที่เป็นสมณะ เขามีหน้าที่ตัดสินเรื่องธรรมบัญญัติและศีลธรรม เพราะฉะนั้นคำสอนของเขาจึงมีแนวโน้มที่จะตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ (บทที่ 18) มุมมองและถ้อยคำที่ใช้จึงคล้ายกับ “กฎหมายเรื่องความศักดิ์สิทธิ์” ใน ลนต บทที่ 17-26 แต่ไม่มีหลักฐานใดแสดงว่าท่านประกาศกได้รับแรงบันดาลใจจาก “กฎหมายเรื่องความศักดิ์สิทธิ์” นี้ หรือ “กฎหมาย” นี้มาจากคำสอนของเขาเลย ความละม้ายคล้ายกันที่มีอยู่ในข้อความเหล่านี้น่าจะเป็นผลงานของผู้เรียบเรียงเท่านั้น เรากล่าวได้แต่เพียงว่า ผลงานทั้งสองชิ้นนี้ตกทอดมาถึงเราผ่านทางบุคคลที่มีความสนใจคล้ายๆกัน งานของประกาศกเอเสเคียลมาจากธรรมประเพณีของสมณะ ในทำนองเดียวกับที่งานของประกาศกเยเรมีย์มาจากธรรมประเพณี “เฉลยธรรมบัญญัติ”
แต่สมณะผู้นี้ (ประกาศกเอเสเคียล) ยังเป็นประกาศกที่ทำกิจการด้วย เขาประกอบกิจการที่เป็นสัญลักษณ์มากกว่าคนอื่นๆ เขาแสดงท่าทางถึงเรื่องการล้อมกรุงเยรูซาเล็มใน 4:1 – 5:4 แสดงการจากไปของผู้ถูกเนรเทศใน 12:1-7 แสดงถึงกษัตริย์แห่งบาบิโลนทรงอยู่ที่ทางสองแพร่งใน 21:21 ฯ แสดงถึงการรวมอาณาจักรยูดาห์เข้ากับอาณาจักรอิสราเอลใน 37:15 ฯ แม้แต่เมื่อพระเจ้าทรงส่งความทุกข์มาให้เขาโดยเฉพาะ เอเสเคียลก็ยังเป็น “เครื่องหมาย” สำหรับอิสราเอลด้วย (24:24) เช่นเดียวกับที่ประกาศกโฮเชยา อิสยาห์ และเยเรมีย์เคยเป็น แต่ทว่ากิจการที่เป็นสัญลักษณ์ที่เอเสเคียลกระทำนั้นมีความซับซ้อน ตรงข้ามกับความเรียบง่ายของกิจการสัญลักษณ์ของบรรดาประกาศกก่อนหน้านั้นอย่างเห็นได้ชัด
ลักษณะของประกาศกเอเสเคียลอีกประการหนึ่งคือเขาเป็นผู้เห็นนิมิตบ่อยๆ หนังสือของเขามีเรื่องนิมิตจริงๆเพียงสี่ครั้ง แต่นิมิตเหล่านี้ก็กินเนื้อที่ส่วนสำคัญของหนังสือ คือ บทที่ 1-3, 8-11, 37, และบทที่ 40-48 นิมิตเหล่านี้นำเราเข้าไปในโลกที่พิสดารมากๆ คือนิมิตเรื่องสิ่งมีชีวิตสี่ตนที่แบกราชรถของพระยาห์เวห์ นิมิตเห็นการปฏิบัติศาสนกิจน่ารังเกียจในพระวิหารซึ่งมีสัตว์ร้ายและรูปเคารพมากมาย นิมิตเรื่องกระดูกแห้งที่กลับมีชีวิตขึ้นมาอีก และแผนของพระวิหารในอนาคตที่จะมีแม่น้ำไหลออกมาทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์อย่างเหลือเชื่อ เขายังใช้จินตนาการที่มีอย่างเหลือเฟือเมื่อเล่าอุปมาในรายละเอียด (allegories) เรื่องโอโฮลาห์และโอโฮลีบาห์ ในบทที่ 23 - เรื่องหายนะของเรือแห่งเมืองไทระ ในบทที่ 27 - เรื่องพระเจ้าฟาโรห์ซึ่งเป็นเสมือนจระเข้ ในบทที่ 29 และ 32 - เรื่องต้นไม้ใหญ่ ในบทที่ 31 - เรื่องการลงไปในแดนมรณะ ในบทที่ 32
แม้เอเสเคียลจะได้รับพรสวรรค์ ให้มีจินตนาการในการบรรยายให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ลีลาการเขียนของเขากลับซ้ำซากไม่มีสีสัน เย็นชืดไม่มีพลังเร้าใจเสียเลย คล้ายกับว่าสายตาของเขาได้ขโมยพลังทางคำพูดไปเสียหมด ลีลาการเขียนของเขามีมาตรฐานต่ำมากเมื่อเทียบกับประกาศกท่านอื่นที่ทุกคนรู้จักดี ประกาศกอิสยาห์มีลีลาไม่ซับซ้อนแต่ทรงพลัง ส่วนลีลาของประกาศกเยเรมีย์ชวนให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมด้วย ศิลปของเอเสเคียลเหนือกว่าประกาศกท่านอื่นที่รู้จักเน้นความยิ่งใหญ่และความลึกซึ้ง ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกยำเกรงเมื่ออยู่เฉพาะหน้าความลึกลับของพระเจ้า
ประกาศกเอเสเคียลจึงนับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวความคิดใหม่ๆ แม้ความคิดส่วนมากของเขาจะคล้ายกับของบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้านั้น แต่คำสอนของเขาก็มีอะไรใหม่ๆด้วยเช่นกัน เขาไม่อ้างถึงประวัติศาสตร์ในอดีตของประชากร เขากล่าวถึงพระสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่บรรพบุรุษและพันธสัญญาที่ภูเขาซีนายบ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงปกป้องชนชาติอิสราเอลซึ่งมีมลทินมาตั้งแต่เกิดแล้ว (16:3 ฯ) ที่ทรงกระทำเช่นนี้มิใช่เพื่อให้พระสัญญาเป็นความจริง แต่เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีแห่งพระนามของพระองค์ (บทที่ 20) ในทำนองเดียวกัน เขาบรรยายถึงการนำพันธสัญญานิรันดรเข้ามาแทนที่พันธสัญญาเดิม (16:60; 37:26 ฯ) ว่ามิได้เป็นรางวัลของการที่ประชากรอิสราเอล “กลับมาหา” พระเจ้า แต่ในฐานะที่เป็นการกระทำซึ่งมาจากพระทัยกรุณาล้วนๆ การกลับใจของประชากรมาภายหลังพระทัยกรุณานี้เท่านั้น ไม่ใช่มาก่อน (16:62-63) เอเสเคียลกล่าวถึงพระเมสสิยาห์น้อยมาก และพระเมสสิยาห์พระองค์นี้ก็ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์อีกต่อไป จริงอยู่ที่พระเมสสิยาห์จะต้องเป็น “กษัตริย์ดาวิดพระองค์ใหม่” แต่ในฐานะที่ทรงเป็นเพียง “ผู้เลี้ยงดู” ประชากรของพระองค์เท่านั้น (34:24; 37:24) ทรงเป็นเพียง “เจ้านาย” (34:24) และไม่ใช่ “กษัตริย์” อีก ในนิมิตของเอเสเคียลที่เห็นอนาคตซึ่งมีพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์นั้น (45:7 ฯ) ไม่มีที่สำหรับกษัตริย์พระองค์ใดอีกต่อไป ประกาศกเอเสเคียลยังมีความคิดแตกต่างจากธรรมประเพณีที่เคยมีมาด้วย เมื่อเขายืนยันถึงหลักการว่าแต่ละคน ไม่ใช่สังคมส่วนรวม ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน (บทที่ 18 – ดู บทที่ 33 ด้วย) การแก้ปัญหาทางเทววิทยาเช่นนี้ในเรื่องบาปจะคงอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และต่อมาก็จะต้องยอมจำนนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะค่อยๆนำไปถึงความคิดเรื่องการให้รางวัลความดีและลงโทษความชั่วในโลกหน้า เอเสเคียลมีความคิดแหวกแนวเช่นเดียวกับเยเรมีย์ จากความคิดที่เคยเชื่อถือกันมาว่าพระเจ้าทรงแยกจากพระวิหารไม่ได้ ทั้งๆที่เอเสเคียลก็เป็นสมณะและมีความรักต่อพระวิหาร ความเป็นสมณะและประกาศก ซึ่งมักจะแยกกันในอิสราเอล รวมอยู่ด้วยกันในตัวประกาศกเอเสเคียล จารีตพิธีกรรมต่างๆยังคงอยู่ แต่จะมีคุณค่าก็จากสภาพจิตใจของผู้มาร่วมประกอบพิธีเท่านั้น คำสั่งสอนทั้งหมดของเอเสเคียลรวมอยู่ที่การกลับใจภายใน มนุษย์ต้องมีจิตใหม่ใจใหม่ (18:31) หรือที่ถูกกว่านั้น พระเจ้าเองจะต้องประทานใจ “ใหม่อีกดวงหนึ่ง” ให้ และหลั่ง “จิตใหม่” ลงในใจนี้ด้วย (11:19; 36:26) ในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับในเรื่องพระพรที่พระเจ้าประทานให้เปล่าๆก่อนที่มนุษย์จะเป็นทุกข์กลับใจนั้น เราอยู่ใกล้มากๆกับเทววิทยาเรื่องพระหรรษทานซึ่งนักบุญยอห์นและนักบุญเปาโลจะอธิบายขยายความต่อไปในภายหลัง
ดังนั้น องค์ประกอบทุกๆด้านทางศาสนาของชาวอิสราเอลจึงได้รับยกขึ้นให้อยู่ในระดับจิตที่สูงส่ง และนี่คือผลงานยิ่งใหญ่ของเอเสเคียล เขาได้รับสมญาว่า “บิดาของศาสนายูดาย” แต่หลายๆครั้งเพียงเพราะว่าเขาแยกเรื่องศักดิ์สิทธิ์ออกจากเรื่องธรรมดาสามัญ และมีความสนใจเกี่ยวกับการไม่มีมลทินด้านพิธีกรรมหรือเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องพิธีกรรม ซึ่งเป็นการนำร่องให้ชาวฟาริสีปฏิบัติในภายหลัง แต่การกล่าวเช่นนี้ดูจะไม่ให้ความยุติธรรมแก่ท่านประกาศกเลย - ประกาศกเอเสเคียล เช่นเดียวกับประกาศกเยเรมีย์ แต่ด้วยวิธีการเฉพาะของตน คือผู้ริเริ่มธรรมประเพณีในด้านชีวิตจิตไม่เกี่ยวกับเรื่องทางโลก ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปในศาสนายูดาย และจะปรากฏเด่นชัดในพันธสัญญาใหม่ พระเยซูเจ้าคือ “ผู้เลี้ยงที่ดี” ซึ่งประกาศกเอเสเคียลกล่าวพยากรณ์ไว้แล้ว และจะทรงสถาปนาการนมัสการพระเจ้า “ด้วยจิต” ดังที่ประกาศกเอเสเคียลเคยเทศน์สอนไว้แล้วด้วย
ประกาศกเอเสเคียลยังมีอีกอารมณ์หนึ่ง จึงเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ธรรมประเพณีประเภท “วิวรณ์” (apocalyptic) นิมิตสลับซับซ้อนที่เขาเห็นเตรียมเราไว้สำหรับนิมิตของดาเนียล และเราไม่ต้องแปลกใจที่เรารู้สึกว่าหนังสือวิวรณ์ได้รับอิทธิพลบ่อยจากประกาศกเอเสเคียล
15. ดาเนียล
15. ดาเนียล
เนื้อหาของหนังสือดาเนียลแบ่งได้เป็น 2 ภาค
ภาคแรก คือ บทที่ 1-6 เป็นเรื่องเล่าต่อไปนี้ - (บทที่ 1) ดาเนียลและเพื่อนทั้งสามคนเข้ารับราชการในราชสำนักของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ - (บทที่ 2) พระสุบินของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เรื่องรูปปั้นทำด้วยวัสดุหลายชนิด - (บทที่ 3) พระบัญชาให้นมัสการพระรูปทองคำ เพื่อนทั้งสามคนของดาเนียลถูกโยนเข้ากองเพลิง - (บทที่ 4) กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงเสียสติ - (บทที่ 5) งานเลี้ยงของกษัตริย์เบลชัสซาร์ - (บทที่ 6) ดาเนียลในถ้ำสิงโต – พระเจ้าทรงช่วยเหลือดาเนียลและเพื่อนทั้งสามคนให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งหมดนี้ ซึ่งคุกคามชื่อเสียงและชีวิตของเขา เขากลับเป็นผู้ชนะ และผู้นับถือรูปเคารพต้องยอมถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าที่ทรงช่วยเขาเหล่านี้ให้พ้นภัย เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นที่กรุงบาบิโลนในรัชสมัยของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ เบลชัสซาร์ “พระราชโอรส” และรัชสมัยของ “กษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดีย” ผู้ทรงครองราชย์ต่อจากกษัตริย์เบลชัสซาร์
ส่วนภาคหลัง คือบทที่ 7-12 เป็นนิมิตที่พระเจ้าโปรดให้ดาเนียลแลเห็น - (บทที่ 7) สัตว์ร้ายสี่ตัว - (บทที่ 8) แพะและแกะเพศผู้ - (บทที่ 9) เวลาเจ็ดสิบสัปดาห์ - (บทที่ 10-12) นิมิตยิ่งใหญ่เกี่ยวกับเวลาตัดสินลงโทษและอันตกาล -- เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกจัดให้เกิดขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์เบลชัสซาร์ กษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดียและกษัตริย์ไซรัสชาวเปอร์เซีย และเกิดขึ้นในอาณาจักรบาบิโลน
การที่หนังสือดาเนียลมีสองภาคเช่นนี้ทำให้นักวิชาการหลายคนสรุปว่า แต่เดิมมีเอกสารต่างกันสองฉบับที่เขียนขึ้นต่างสมัยกัน แล้วมีผู้เรียบเรียงนำมารวมไว้ด้วยกัน แต่ก็มีรายละเอียดบางประการที่ชวนให้คิดว่าหนังสือนี้เป็นผลงานชิ้นเดียวมาตั้งแต่ต้น เรื่องเล่าเขียนในบุรุษที่สาม ส่วนนิมิตนั้นเขียนในบุรุษที่หนึ่ง คือดาเนียลเล่าว่าตนได้แลเห็นนิมิตเหล่านั้นด้วยตนเอง แต่นิมิตในบทที่ 7 มีคำนำและข้อสรุปในบุรุษที่สาม ตอนเริ่มต้นของหนังสือเขียนเป็นภาษาฮีบรู แต่ใน 2:4 กลับเปลี่ยนอย่างกะทันหันเป็นภาษาอาราเมอิกแล้วเป็นภาษานี้ต่อไปจนจบบทที่ 7 ซึ่งเป็นตอนที่กล่าวถึงนิมิตต่างๆ ส่วนบทที่เหลือต่อจากนั้นกลับมาเป็นภาษาฮีบรูอีก มีผู้อธิบายเหตุผลเรื่องสองภาษานี้หลายแบบด้วยกัน แต่ก็ไม่มีคำอธิบายแบบใดเป็นแบบที่ทุกคนยอมรับเป็นเอกฉันท์ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความสอดคล้องกันไม่ว่าในเรื่องเนื้อหาซึ่งมีทั้งเรื่องเล่าและนิมิต ในเรื่องลีลาการเขียนซึ่งเขียนทั้งในบุรุษที่หนึ่งและบุรุษที่สาม หรือในเรื่องภาษาซึ่งมีทั้งภาษาฮีบรูและภาษาอาราเมอิก แต่ในอีกด้านหนึ่งเรื่องราวในบทที่ 7 มีคำอธิบายอยู่ในบทที่ 8 ซึ่งก็คล้ายกันกับบทที่ 2 - ภาษาอาราเมอิกของบทที่ 7 มีลักษณะเดียวกันกับในบทที่ 2-4 แต่มีลีลาการเขียนบางประการคล้ายกับลีลาในบทที่ 8-12 ซึ่งเป็นภาษาฮีบรู -- บทที่ 7 นี้จึงเป็นตัวเชื่อมทั้งสองภาคของหนังสือนี้ และยังเป็นองค์ประกอบที่ทำให้หนังสือนี้เป็นผลงานเขียนที่สมบูรณ์ กษัตริย์เบลชัสซาร์และกษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดีย ทรงปรากฏอยู่ทั้งสองพระองค์ในแต่ละภาคของหนังสือ เพราะฉะนั้นจึงมีปัญหาทางประวัติศาสตร์เท่าๆกันในทั้งสองภาค ประการสุดท้าย หนังสือนี้มีเทคนิกการเขียนและแนวความคิดเป็นแบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม ลักษณะประการนี้จึงเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักที่สุดเพื่อพิสูจน์เอกภาพของหนังสือฉบับนี้
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทที่ 11 เป็นตัวชี้ชัดว่าหนังสือนี้แต่งขึ้นเมื่อไร ผู้แต่งเล่าถึงสงครามระหว่างราชวงศ์เซเลวซิดกับราชวงศ์โทเลมี และเหตุการณ์ในส่วนหนึ่งของรัชสมัยกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสอย่างละเอียดเกินความจำเป็นสำหรับจุดประสงค์ของเรื่อง การเล่าเรื่องแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับคำทำนายของประกาศกในพันธสัญญาเดิม และแม้จะมีลักษณะเป็นคำทำนายถึงอนาคต แต่ที่จริงกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ลีลาการเขียนเปลี่ยนไปตั้งแต่ 11:40 กลายเป็นคำทำนายถึง “เวลาในยุคสุดท้าย” คล้ายกันกับวิธีเขียนของประกาศกอื่นๆ ดังนั้น หนังสือนี้ต้องเขียนขึ้นในช่วงเวลาการเบียดเบียนชาวยิวในรัชสมัยของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ และบางทีก่อนที่การกบฏของพวกมัคคาบีจะประสบความสำเร็จด้วย นั่นคือเขียนในช่วงเวลาระหว่างปี 167 และ 164 ก.ค.ศ.
ไม่มีอะไรในส่วนที่เหลือของหนังสือที่ขัดกับการกำหนดช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้เขียนจัดให้เรื่องเล่าในภาคแรกเกิดขึ้นในสมัยของชาวเคลเดีย แต่ก็มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าเขาเขียนเรื่องหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเป็นเวลานาน เบลชัสซาร์เป็นโอรสของกษัตริย์นาโบนีดัส ไม่ใช่โอรสของเนบูคัดเนสซาร์อย่างที่กล่าวไว้ในหนังสือ และไม่ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์เสียด้วย นักประวัติศาสตร์ไม่รู้จักกษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดีย และไม่มีช่วงเวลาสำหรับกษัตริย์ดารีอัสชาวมีเดียหรือกษัตริย์องค์อื่นเลย ที่จะแทรกเข้ามาได้ระหว่างกษัตริย์ชาวเคลเดียองค์สุดท้ายกับพระเจ้าไซรัสชาวเปอร์เซียซึ่งทรงปราบชาวมีเดียลงได้ก่อนหน้านั้นแล้ว ผู้แต่งกล่าวถึงภูมิหลังของอาณาจักรบาบิโลนใหม่โดยใช้ถ้อยคำที่มีรากศัพท์จากภาษาเปอร์เซีย ชื่อเครื่องดนตรีที่บรรเลงในรัชสมัยของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เป็นชื่อภาษากรีก วันเดือนปีที่กล่าวถึงในหนังสือขัดแย้งกันเอง และขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ที่เรารู้จัก และดูเหมือนจะถูกนำมาใส่ไว้ที่ต้นบทโดยไม่ได้คำนึงถึงลำดับเหตุการณ์เลยแม้แต่น้อย ผู้แต่งใช้ธรรมประเพณีที่เล่าต่อๆกันมารวมทั้งธรรมประเพณีที่มีเขียนอยู่แล้วในสมัยของตน ในเอกสารที่พบได้ตามถ้ำใกล้กับทะเลตายมีเศษเรื่องเล่าเกี่ยวกับดาเนียลคล้ายกับในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะคำอธิษฐานภาวนาของกษัตริย์นาโบนีดัสคล้ายกับข้อความใน ดนล 3:31 – 4:34 ในเอกสารนี้ใช้ชื่อ “เนบูคัดเนสซาร์” แทนชื่อ “นาโบนีดัส” ผู้แต่งหรือเอกสารที่เขาใช้เป็นข้อมูล เล่าว่าตัวเอกของเรื่องชวนศรัทธานี้คือ “ดาเนียล” หรือ “ดาเนล” ที่มีกล่าวถึงใน อสค 14:14-20; 28:3 ว่าเป็นผู้ชอบธรรมและผู้มีปรีชาในสมัยโบราณ ชื่อ “ดาเนล” ยังปรากฏในบทประพันธ์โบราณซึ่งพบได้ที่ราส-ชัมราในประเทศซีเรียปัจจุบัน บทประพันธ์นี้น่าจะเขียนขึ้นราวสิบสี่ศตวรรษก่อนคริสตกาล
การที่หนังสือดาเนียลเขียนขึ้นในสมัยหลังทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูจึงจัดให้หนังสือนี้อยู่ในภาคสุดท้ายที่เรียกว่า “ข้อเขียน” หนังสือนี้ได้รับการรับรองเป็นพระคัมภีร์หลังจากที่สารบบหนังสือประกาศกถูกกำหนดเสร็จแล้ว หนังสือดาเนียลถูกจัดไว้ระหว่างหนังสือเอสเธอร์และหนังสือเอศราในภาค “ข้อเขียน” ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ส่วนพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกและละตินจัดหนังสือดาเนียลไว้ในหมวดประกาศก และยังเพิ่มข้อความตอนที่เป็นสารบบที่สองเข้าไปด้วย ได้แก่เพลงสดุดีของอาซาริยาห์ และบทเพลงของหนุ่มสามคน (3:24-90) เรื่องนางสุสันนา ซึ่งแสดงความเฉลียวฉลาดของหนุ่มดาเนียล (บทที่ 13) เรื่องเบลกับนาคราช ซึ่งล้อเลียนการนับถือรูปเคารพ (บทที่ 14) สำนวนแปลภาษากรีกของฉบับ LXX แตกต่างกันมากกับสำนวนแปลของเทโอโดซีโอน ซึ่งใกล้เคียงมากกว่ากับต้นฉบับภาษาฮีบรูฉบับ Masoretic (MT)
เจตนาของหนังสือคือต้องการส่งเสริมความเชื่อและความหวังของชาวยิว ซึ่งถูกกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนสเบียดเบียน ดาเนียลและเพื่อนก็เคยถูกชักชวนให้ละทิ้งธรรมบัญญัติ (บทที่ 1) ไปกราบไหว้รูปเคารพ (บทที่ 3 และ 6) แต่เขาก็เอาชนะการทดลองเหล่านี้ได้ ผู้ที่เบียดเบียนเขาจำเป็นต้องยอมรับพระอานุภาพของพระเจ้าเที่ยงแท้ หนังสือดาเนียลวาดภาพของผู้เบียดเบียนร่วมสมัยให้มีความร้ายกาจมากกว่า แต่เมื่อพระพิโรธของพระเจ้าทรงลงโทษเขาเหล่านี้แล้ว (8:19; 11:36) วาระสุดท้ายจะมาถึง (8:17; 11:40) ผู้เบียดเบียนจะถูกทำลาย (8:25; 11:45) ซึ่งหมายความว่าความทุกข์โศกและบาปจะสิ้นสุด และอาณาจักรของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่ง “บุตรแห่งมนุษย์” เป็นผู้ปกครองจะมาถึง และอาณาจักรนี้จะคงอยู่ตลอดไป (บทที่ 7)
การรอคอยวาระสุดท้ายและความหวังถึงอาณาจักรนี้ มีกล่าวถึงอยู่ทั่วไปในหนังสือ 2:44; 3:33 (100); 4:31; 7:14 พระเจ้าจะทรงบันดาลให้เป็นจริงหลังจากเวลาที่ทรงกำหนดไว้มาถึงแล้ว เวลาดังกล่าวนานพอที่จะครอบคลุมประวัติศาสตร์ทั้งหมดของมนุษยชาติ ขั้นตอนต่างๆของประวัติศาสตร์ของโลกกลายเป็นขั้นตอนต่างๆของพระราชกิจของพระเจ้า พระราชกิจเหล่านี้มีจุดประสงค์นิรันดร ดังนั้น ยุคสมัยต่างๆของโลก ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต จึงเป็นการแสดงพระประสงค์ของพระเจ้าด้วย เพราะพระเจ้า “ผู้ทรงปกครองเวลาและฤดูกาลทั้งปวง” (2:21) ทรงกำหนดไว้ ความลับประการนี้ซึ่งพระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ (2:18 ฯลฯ; 4:6) มีคนกลางลึกลับเป็นผู้เปิดเผย คนกลางเหล่านี้คือผู้ถือสารและผู้แทนของพระเจ้าสูงสุด หนังสือดาเนียลยืนยันคำสอนเรื่องทูตสวรรค์ เช่นเดียวกับหนังสือเอเสเคียลและโดยเฉพาะหนังสือโทบิต การเปิดเผยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแผนการที่ซ่อนเร้นของพระเจ้า สำหรับประชากรของพระองค์และสำหรับนานาชาติ แผนการนี้เกี่ยวข้องทั้งกับประชาชนทั้งชาติและกับปัจเจกบุคคล ดนล 12:2 เป็นข้อความสำคัญตอนหนึ่งเกี่ยวกับการกลับคืนชีพ ประกาศว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพมารับชีวิตนิรันดรหรือมารับโทษนิรันดร พระอาณาจักรที่ทุกคนรอคอยจะครอบคลุมชนทุกชาติ (7:14) และจะไม่สิ้นสุด อาณาจักรนี้จะเป็นอาณาจักรของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (7:18) จะเป็นอาณาจักรของพระเจ้า (3:33 [100]; 4:31) จะเป็นอาณาจักรของ “บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งจะได้รับมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งมวลจากพระเจ้า (7:13-14)
“บุตรแห่งมนุษย์” บุคคลลึกลับผู้นี้ซึ่ง ดนล 7:18,21-27 อธิบายว่าหมายถึงชุมชนผู้ศักดิ์สิทธิ์ ยังเป็นหัวหน้าของชุมชนนี้และเป็นผู้ปกครองอาณาจักรแห่งอันตกาลด้วย แต่เขาไม่ใช่พระเมสสิยาห์ในตระกูลดาวิด ในเวลาต่อมาธรรมประเพณีของชาวยิวจะคิดว่า “บุตรแห่งมนุษย์” เป็นบุคคลจริงๆ ไม่ใช่เป็นการสมมุติให้ชุมชนหรือประชาชนเป็นปัจเจกบุคคล และผู้นิพนธ์พันธสัญญาใหม่จะนำตำแหน่งนี้มาใช้กับพระเยซูเจ้า บางทีเพื่อเน้นว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ในด้านโลกุตระและทางจิตใจเท่านั้น (มธ 8:20 เชิงอรรถ h)
หนังสือดาเนียลไม่ใช่ส่วนหนึ่งในธรรมประเพณีของบรรดาประกาศกอีกต่อไป เพราะไม่มีเนื้อหาเป็นการเทศน์สอนของประกาศก ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้มาสั่งสอนตักเตือนประชาชนร่วมสมัย แต่เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นและผู้เขียนใช้นามแฝงเพื่อไม่เปิดเผยว่าตนเป็นใคร เช่นเดียวกับในกรณีของหนังสือโยนาห์ก่อนหน้านั้น เรื่องที่เป็นตัวอย่างเตือนใจในภาคแรกของหนังสือดาเนียลมีลักษณะใกล้เคียงกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ ซึ่งมีเรื่องของโยเซฟในหนังสือปฐมกาลเป็นต้นแบบ และในสมัยต่อมาก็มีหนังสือโทบิตซึ่งแต่งขึ้นก่อนหนังสือดาเนียลไม่นานนัก ส่วน “นิมิต” ในภาคสองของหนังสือเป็นการเปิดเผยความลับของพระเจ้า มีทูตสวรรค์เป็นผู้อธิบายความหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งจงใจกล่าวไว้เป็นปริศนา --หนังสือ “ซึ่งมีตราผนึกอยู่” นี้ (12:4) เป็นหนังสือเล่มแรกแบบ “วิวรณ์” (Apocalypse) ซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว วรรณกรรมแบบนี้เริ่มพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ในหนังสือเอเสเคียล และต่อมาจะเป็นที่นิยมกันมากในวรรณกรรมของชาวยิว ในพันธสัญญาใหม่ หนังสือซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับหนังสือดาเนียลก็คือ “หนังสือวิวรณ์” แต่ในหนังสือฉบับหลังนี้ “ดวงตราที่ผนึก” หนังสือถูก “เปิดออก” (วว บทที่ 5-6) ถ้อยคำในหนังสือจึงไม่เป็น “ความลับ” อีกต่อไป เพราะ “เวลาใกล้มาถึงแล้ว” (วว 22:10) และเรากำลังรอคอยการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (1 คร 16:22; วว 22:20)
16. ประกาศกน้อยสิบสององค์
16. ประกาศกน้อยสิบสององค์
หนังสือฉบับสุดท้ายของหมวด “ประกาศก” ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูมีชื่อสั้นๆว่า “สิบสอง” เป็นหนังสือรวบรวมหนังสือสั้นๆที่มีชื่อเป็นของประกาศกหลายองค์ ชื่อหนังสือในภาษากรีกคือ “Dodekapropheton” (= [หนังสือ]ของประกาศกสิบสององค์) พระศาสนจักรรู้จักหนังสือฉบับนี้ในนามของ “ประกาศกน้อย” ไม่ใช่เพราะรวบรวมหนังสือที่มีความสำคัญน้อยกว่า “ประกาศกใหญ่” แต่เพียงเพราะว่าหนังสือเหล่านี้มีความยาวน้อยกว่าเท่านั้น หนังสือเหล่านี้รวมไว้เป็นชุดแล้วในสมัยที่เยซู “บุตรสิรา” เขียนหนังสือของตน (บสร 49:10) พระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata เรียงหนังสือเหล่านี้ไว้ตามลำดับเหมือนกับในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นลำดับที่ถือเป็นธรรมประเพณีสืบต่อๆกันมา พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกมีลำดับแตกต่างออกไปเล็กน้อย ยิ่งกว่านั้นยังจัดหนังสือเหล่านี้ไว้ก่อน “ประกาศกใหญ่” อีกด้วย
ในพระคัมภีร์ฉบับนี้ หนังสือประกาศกน้อยทั้งสิบสองฉบับจัดลำดับตามที่เคยปฏิบัติกันมาเหมือนในฉบับภาษาฮีบรู แต่ใน “ความรู้ทั่วไป” นี้ เราจะอธิบายถึงประกาศก (น้อย) แต่ละคนตามลำดับเวลาก่อนหลังที่น่าจะถูกต้องตามประวัติศาสตร์
17. ประกาศกอาโมส
17. ประกาศกอาโมส
อาโมสมีอาชีพเลี้ยงแกะที่เมืองเทโคอา ซึ่งอยู่ริมถิ่นทุรกันดารของแคว้นยูเดีย (อมส 1:1) ไม่ได้สังกัดอยู่กับ “กลุ่มประกาศก” กลุ่มใด พระยาห์เวห์ทรงเรียกเขาจากฝูงแกะและทรงส่งเขาไปประกาศพระวาจาในอาณาจักรอิสราเอล (7:14) หลังจากที่ได้ปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลาสั้นๆที่สักการสถานของอาณาจักรเหนือที่เมืองเบธเอล (7:10-15) หรืออาจที่กรุงสะมาเรียด้วย (ดู 3:9; 4:1; 6:1) เขาก็ถูกขับไล่จากอาณาจักรอิสราเอลให้กลับไปทำอาชีพเลี้ยงแกะดังเดิม
ประกาศกอาโมสเทศน์สอนประชาชนในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 (783-743 ก.ค.ศ.) ซึ่งถ้าจะพิจารณาถึงความเจริญด้านวัตถุ เป็นช่วงเวลารุ่งเรืองของอาณาจักรเหนือที่ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางและร่ำรวยมาก ในขณะที่คนร่ำรวยเอาเปรียบคนยากจนและใช้พิธีทางศาสนาที่สง่างามปกปิดความไม่จริงใจในการถือศาสนาอย่างถูกต้อง ในฐานะที่ประกาศกอาโมสเป็นชาวชนบทแท้จริง เขาพูดจากโผงผางตรงไปตรงมา ไม่หวั่นเกรงผู้ใด ใช้ภาพพจน์ต่างๆจากชีวิตชาวชนบทประกาศสอนในพระนามของพระเจ้า ประณามความชั่วร้ายในชีวิตของชาวเมือง ตำหนิความอยุติธรรมในสังคมและการหลอกตนเองให้มีความสบายใจโดยการปฏิบัติศาสนกิจที่ไม่จริงใจ (5:21-22) พระยาห์เวห์ผู้ปกครองจักรวาลทรงลงโทษนานาชาติ (บทที่ 1-2) จะทรงลงโทษอิสราเอลอย่างรุนแรงด้วย อิสราเอลในฐานะประชากรที่ทรงเลือกสรรน่าจะปฏิบัติความยุติธรรมอย่างเคร่งครัดมากกว่าชนชาติอื่น (3:2) “วันของพระยาห์เวห์” (วลีนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในพระคัมภีร์ที่ตรงนี้) จะเป็นวันแห่งความมืด ไม่ใช่วันแห่งความสว่าง (5:18-20) เป็นวันที่พระเจ้าจะทรงลงโทษอย่างน่ากลัว (6:8ฯฯ) พระเจ้าจะทรงเรียกชนชาติหนึ่ง (6:14) มาลงโทษประชากรของพระองค์ นั่นคือชาวอัสซีเรีย ซึ่งแม้ประกาศกจะไม่ออกนามเลย แต่ชื่อนี้อยู่ในความคิดของประกาศกตลอดเวลา กระนั้นก็ดี ประกาศกอาโมสก็ยังจุดประกายความหวัง เขามองไปข้างหน้าถึงความรอดพ้นของพงศ์พันธุ์ยาโคบ (9:8) กล่าวว่าจะมี “ผู้รอดชีวิต” (the ramnant) เหลืออยู่จากตระกูลโยเซฟ (5:15) [อาโมสจะเป็นประกาศกคนแรกที่ใช้วลีนี้] เขาจะเป็นผู้กล่าวอย่างชัดเจนโดยไม่ลังเลใจแม้แต่น้อยถึงคำสอนลึกซึ้งเรื่องพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ผู้ทรงเป็นเจ้านายแห่งสกลจักรวาล ทรงความยุติธรรมนิรันดร ประกาศกไม่แสดงให้เห็นเลยว่าคำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนใหม่ เอกลักษณ์ของเขาอยู่ที่การกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าศาสนาแท้จริงของพระยาห์เวห์นั้นเรียกร้องอะไรบ้าง
หนังสืออาโมสมีความสับสนอยู่บ้างเมื่อตกมาถึงเรา ข้อความร้อยแก้วใน 7:10-17 โดยเฉพาะ แยกนิมิตสองเรื่องออกจากกัน ข้อความตอนนี้น่าจะอยู่ตอนปลายของคำประกาศพระวาจาของประกาศก ข้อความสั้นๆบางตอนทำให้เราสงสัยว่าใครเป็นผู้กล่าวข้อความดังกล่าว -- ข้อความยอพระเกียรติใน 4:13; 5:8-9; 9:5-6 อาจเป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อใช้ในพิธีกรรม คำกล่าวสั้นๆประณามเมืองไทระ เอโดม ใน 1:9-12 และกล่าวประณามยูดาห์ใน 2:4-5 น่าจะมาจากสมัยเนรเทศ -- ข้อความใน 9:8ข-10 และโดยเฉพาะ 9:11-15 ก็ชวนให้สงสัยเช่นเดียวกัน เราไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอให้สงสัยว่าข้อความแรก (9:8ข-10) ไม่ใช่ถ้อยคำของประกาศก และเป็นไปได้มากว่าข้อความใน 9:11-15 เป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าคำสัญญาถึงความรอดพ้นในอนาคตที่กล่าวไว้ใน 9:11-15 มาจากประกาศกอาโมส เพราะว่าคำสัญญาทำนองนี้มีลักษณะของคำเทศน์สอนของบรรดาประกาศกตลอดมาตั้งแต่โบราณแล้ว (ดู คำสอนของอาโมส ใน 5:15 และคำสอนของประกาศกโฮเชยาร่วมสมัยด้วย) แต่ถ้อยคำที่กล่าวพาดพิงถึง “กระท่อมที่ล้มลงแล้ว” ของดาวิด กล่าวถึงการลงโทษชาวเอโดมและกล่าวถึงการกลับมาและการสถาปนาอิสราเอลขึ้นใหม่ ล้วนชวนให้คิดถึงช่วงเวลาแห่งการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน ข้อความเหล่านี้อาจเป็นผลงานของผู้เรียบเรียงหนังสือประกาศกอาโมสในภายหลัง ซึ่งได้ดัดแปลงข้อความบางตอนของประกาศกให้สอดคล้องกับความคิดตามแนวหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติด้วย (คือหลักการที่ว่า “ความซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาจะนำพระพรมาให้ แต่การละเมิดพันธสัญญาจะนำหายนะมาสู่ประเทศชาติ)
18. ประกาศกโฮเชยา
18. ประกาศกโฮเชยา
ประกาศกโฮเชยาเป็นชาวอาณาจักรเหนือ มีชีวิตร่วมสมัยกับประกาศกอาโมส เพราะงานของเขาเริ่มในรัชสมัยกษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 และดำเนินต่อในรัชกาลต่อๆมาหลายรัชกาล แต่ดูเหมือนว่าโฮเชยามิได้มีชีวิตอยู่จนถึงการล่มสลายของกรุงสะมาเรียในปี 721 ก.ค.ศ. ช่วงเวลาทำงานของประกาศกโฮเชยาเป็นช่วงเสื่อมของอาณาจักรอิสราเอล กองทัพอัสซีเรียยกมาได้ชัยชนะในปี 734-732 ก.ค.ศ. ภายในประเทศก็มีการกบฏ กษัตริย์สี่พระองค์ถูกปลงพระชนม์ในช่วงเวลา 15 ปี ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและทางศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เราไม่รู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับชีวิตของประกาศกโฮเชยาในช่วงเวลานี้เลย นอกจากปัญหาในครอบครัวที่เล่าไว้ในบทที่ 1-3 แต่ปัญหาเหล่านี้จะต้องเป็นเงื่อนไขการงานของเขาในฐานะประกาศก นักวิชาการยังมีความเห็นแตกต่างกันมากในการอธิบายความหมายของบทเริ่มต้นทั้ง 3 บทนี้ แต่คำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าหมดเห็นจะเป็นคำอธิบายต่อไปนี้ - คือโฮเชยาได้แต่งงานกับภรรยาซึ่งเขารักมาก แต่นางก็ละทิ้งเขาไป ถึงกระนั้นเขาก็ยังคงรักนางอยู่เช่นเดิม และหลังจากได้ทดสอบนางแล้วก็นำนางกลับมาอยู่ด้วย ประสบการณ์ขมขื่นเช่นนี้ของประกาศกนับเป็นสัญลักษณ์ของการที่พระยาห์เวห์ทรงปฏิบัติต่อประชากรของพระองค์ การที่ประกาศกโฮเชยาเข้าใจสัญลักษณ์นี้น่าจะมีอิทธิพลต่อการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บทที่ 2 เสนอความหมายในการปฏิบัติตน และในขณะเดียวกันก็เป็นกุญแจไขความหมายของหนังสือทั้งเล่มด้วย ประชากรอิสราเอลในฐานะ “คู่สมรส” ของพระเจ้า ได้กลายเป็นหญิงแพศยาไร้สัตย์ ได้ทำให้พระยาห์เวห์ซึ่งเป็นเสมือนพระสวามีทรงพิโรธและทรงไม่ยอมให้มีคู่แข่ง ความรักของพระเจ้ายังมั่นคงอยู่ พระองค์จะทรงลงโทษอิสราเอล แต่เพื่อจะนำประชากร-คู่สมรสของพระองค์กลับมา และทำให้นางมีความยินดีอีกครั้งหนึ่งเหมือนเมื่อเริ่มรักกันครั้งแรก
เป็นครั้งแรกที่พระคัมภีร์กล่าวถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับอิสราเอล ว่าเป็นเสมือนการสมรส นับเป็นภาพพจน์ที่ประกาศกกล้าเลือกอย่างสุดๆ และแสดงออกด้วยอารมณ์รุนแรงและด้วยความรักที่ลึกซึ้งพร้อมกันไปด้วย คำเทศน์เหล่านี้ต้องการสื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขามากเพียงไร ประกาศกเข้าใจว่าช่วงเวลาการอพยพจากประเทศอียิปต์ และเดินทางในถิ่นทุรกันดาร เป็นเสมือนช่วงเวลา “วิเศษสุด” แห่งความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากร แต่เมื่อช่วงเวลาสั้นๆนี้ผ่านไปแล้ว ประชากรอิสราเอลก็ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าซึ่งยังทรงรักเขาอยู่ ประกาศกโฮเชยาใช้ถ้อยคำรุนแรงประณามบรรดาผู้ปกครองประชากร ซึ่งได้แก่ บรรดากษัตริย์ที่ได้รับตำแหน่งมาโดยที่พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ ใช้การเมืองเป็นเครื่องเล่นทำให้ประชากรของพระเจ้าตกต่ำมาอยู่ในระดับเดียวกับชนชาติอื่นๆทั่วไป บรรดาสมณะก็ขาดความรู้ มีแต่ความโลภ นำประชากรไปสู่หายนะ ประกาศกโฮเชยาเช่นเดียวกับอาโมส กล่าวโจมตีความอยุติธรรมและการใช้ความรุนแรง แต่เขาเน้นเป็นพิเศษเรื่องการละทิ้งพระยาห์เวห์ไปนับถือเทพเจ้าต่างๆ ทำให้คารวกิจต่อพระยาห์เวห์ในสักการสถานที่เมืองเบธเอลกลายเป็นการเคารพนับถือเทวรูปไปด้วย ประชาชนคิดว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นเหมือนกับพระบาอัลและเทพีอัชทาร์เต ซึ่งประชาชนใช้พิธีกรรมที่มีเพศสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบเพื่อถวายคารวะแด่เทพเจ้าตามสักการสถานบนเนินสูง แต่พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าที่ไม่ทรงยอมให้มีคู่แข่ง พระองค์ทรงเรียกร้องประชาชนให้มีจิตใจไม่แบ่งแยกในการถวายคารวะแด่พระองค์ “สิ่งที่เราต้องการคือความรัก ไม่ใช่เครื่องบูชา เราต้องการความรู้จักพระเจ้า ไม่ใช่เครื่องเผาบูชา” (6:6) เพราะฉะนั้น การลงโทษจะมาถึงในไม่ช้า แต่พระเจ้าทรงลงโทษก็เพื่อจะทรงช่วยให้รอดพ้น เมื่ออิสราเอลต้องสูญเสียทุกสิ่ง มีความอับอายเสมือนถูกเปลือยเปล่าแล้ว ก็จะระลึกได้อีกถึงวันในอดีตที่พวกเขายังซื่อสัตย์ต่อพระองค์ พระยาห์เวห์จะทรงรับประชากรที่เป็นทุกข์กลับใจกลับมาเป็นประชากรของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ความสุขและสันติภาพก็จะกลับคืนมาด้วย
บรรดานักวิชาการเคยคิดกันว่า คำประกาศพระวาจาทั้งหลายในหนังสือประกาศกโฮเชยาที่กล่าวถึงความสุขและกล่าวถึงอาณาจักรยูดาห์ ล้วนเป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง แต่ในปัจจุบัน ข้อสรุปเช่นนี้มีความสมดุลมากขึ้น เราคงจะเข้าใจคำสอนของประกาศกโฮเชยาผิดเพี้ยนไปหมดถ้าคิดว่าเขาเป็นประกาศกที่กล่าวถึงแต่หายนะเท่านั้น การที่ประกาศกจะสนใจคิดถึงอาณาจักรยูดาห์ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันด้วยนั้นต้องนับว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถึงกระนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าคำประกาศพระวาจาของประกาศกโฮเชยา ซึ่งมีผู้รวบรวมไว้ในอาณาจักรอิสราเอลนั้น ต่อมาก็ได้รับการเรียบเรียงอีกหนึ่งหรือสองครั้งในอาณาจักรยูดาห์ จนมีรูปแบบสุดท้ายเหมือนที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ร่องรอยของการเรียบเรียงเช่นนี้ปรากฏให้เห็นในชื่อหนังสือ (1:1) และในตัวบทด้วย (เช่นใน 1:7; 5:5; 6:11; 12:3) ข้อความสุดท้ายของหนังสือ (14:10) เป็นความคิดคำนึงของผู้มีปรีชาในสมัยเนรเทศไปกรุงบาบิโลน หรือสมัยหลังการเนรเทศ ซึ่งสรุปคติสอนใจของหนังสือ ปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการตีความอธิบายหนังสือประกาศกโฮเชยานี้มีมากยิ่งขึ้นเพราะตัวบทภาษาฮีบรูอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์และสับสน เป็นตัวบทที่เก็บรักษาไว้อย่างไม่ดีเลย จะว่าถูกเก็บรักษาไว้อย่างเลวที่สุดในพันธสัญญาเดิมก็ได้
หนังสือประกาศกโฮเชยามีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อพันธสัญญาเดิม คำตักเตือนของบรรดาประกาศกในสมัยหลังมักสะท้อนคำสอนของประกาศกโฮเชยา ในเรื่องการถือศาสนาจากใจจริงโดยมีความรักของพระเจ้าเป็นแรงบันดาลใจ ประกาศกเยเรมีย์ได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากประกาศกโฮเชยา เราจึงไม่ต้องแปลกใจที่พันธสัญญาใหม่อ้างถึงข้อความจากประกาศกโฮเชยา หรืออย่างน้อยกล่าวพาดพิงถึงอยู่บ่อยๆ ประกาศกเยเรมีย์ เอเสเคียล และอิสยาห์ที่สองยังยืมภาพพจน์เรื่องการแต่งงาน มากล่าวพาดพิงถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์ พันธสัญญาใหม่และชุมชนคริสตชนในสมัยแรกมักใช้ภาพพจน์นี้เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร บรรดาชาวคริสต์ผู้บำเพ็ญณานยังใช้ภาพพจน์นี้กับวิญญาณของปัจเจกบุคคลด้วย
19. ประกาศกมีคาห์
19. ประกาศกมีคาห์
ประกาศกมีคาห์ (อย่าไปปนกับประกาศกมีคายาห์บุตรอิมลาห์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์อาหับ - 1 พกษ บทที่ 22) เป็นชาวอาณาจักรยูดาห์ จากเมืองโมเรเชททางตะวันตกของเมืองเฮโบรน เขาปฏิบัติภารกิจในรัชสมัยกษัตริย์อาหัสและเฮเซคียาห์ คือก่อนและหลังการล่มสลายของกรุงสะมาเรียในปี 721 ก.ค.ศ. และอาจประกาศพระวาจาอยู่จนถึงการรุกรานของพระเจ้าเซนนาเคริบแห่งอัสซีเรียในปี 701 ก.ค.ศ. เพราะฉะนั้นเขาจึงอยู่ร่วมสมัยกับประกาศกโฮเชยา และร่วมสมัยนานกว่ากับประกาศกอิสยาห์ด้วย มีคาห์มีภูมิหลังเป็นชาวชนบทจึงมีลักษณะบางประการเหมือนๆกับประกาศกอาโมส คือมีความหวาดระแวงต่อสังคมเมือง พูดจาตรงไปตรงมา ไม่ระวังการใช้ภาษานัก มีรสนิยมในการใช้ภาพพจน์ต่อเนื่องกันเร็วๆและชอบเล่นคำ
หนังสือของประกาศกมีคาห์แบ่งได้เป็น 4 ภาค คือ ภาคที่ 1 การคาดโทษและคำสัญญา (1:2 – 3:12) ภาคที่ 2 การกล่าวหาประชากรอิสราเอล (4:1 – 5:14) ภาคที่ 3 พระสัญญาต่อศิโยน (6:1 – 7:7) ภาคที่ 4 การกล่าวหาอิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง และความหวังในอนาคต (7:8-20) พระสัญญาต่อศิโยนมีความขัดแย้งกันอย่างมากกับคำคาดโทษที่นำหน้าหรือตามมา การจัดข้อความให้มีสมดุลเช่นนี้ต้องเป็นผลงานของผู้เรียบเรียงแน่ๆ เป็นการยากจะกำหนดลงไปว่าผู้เรียบเรียงได้ปรับข้อความของประกาศกมากน้อยเพียงไร ผู้เรียบเรียงเหล่านี้ล้วนเคารพรักต่อประกาศกเป็นอย่างมาก นักวิชาการหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าข้อความใน 7:8-20 มาจากช่วงเวลาหลังกลับจากการเนรเทศแล้วอย่างแน่นอน คำประกาศพระวาจาใน 2:12-13 ก็น่าจะมาจากช่วงเวลานี้ด้วย เพราะไม่น่าจะรวมอยู่กับคำคาดโทษและคำประกาศพระวาจาใน 4:6-7 และ 5:6-7. แต่ข้อความใน 4:1-5 นั้นเกือบจะเหมือนกันกับข้อความใน อสย 2:2-5 และดูเหมือนว่าจะไม่อยู่ในบริบทดั้งเดิมของหนังสือทั้งสองฉบับ กระนั้นก็ดี ข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอ ที่ทำให้เราต้องตัดคำสัญญาถึงอนาคตออกไปเพราะไม่ใช่คำสอนของประกาศกมีคาห์จริงๆ คำประกาศพระวาจาซึ่งอยู่ในบทที่ 4-5 ได้รับการรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันในสมัยเนรเทศหรือหลังกลับจากการเนรเทศก็จริง แต่ก็เป็นการรวบรวมถ้อยคำที่ประกาศกเคยกล่าวไว้จริงๆ ยิ่งกว่านั้น ยังไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักพอจะทำให้เราปฏิเสธว่าคำทำนายเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ใน 5:1-5 ไม่เป็นถ้อยคำของประกาศกมีคาห์ เพราะถ้อยคำเหล่านี้เข้ากันได้ดีกับความคาดหวังของประกาศกอิสยาห์ซึ่งอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน (อสย 9:1 ฯ; 11:1 ฯ)
เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตของประกาศกมีคาห์ และไม่รู้ด้วยว่าพระเจ้าทรงเรียกเขาในโอกาสใด ถึงกระนั้นเขาก็มีความมั่นใจอย่างมากว่าพระเจ้าทรงเรียกตนให้มาเป็นประกาศก ทำให้เขาไม่กลัวสิ่งใดเมื่อกล่าวทำนายถึงหายนะที่จะเกิดขึ้น ตรงข้ามกับประกาศกเทียมซึ่งมักจะไม่กล้าทำเช่นนี้ (2:6-11; 3:5-8) เขาเป็นผู้นำข่าวสารจากพระเจ้ามาประกาศแก่ประชากร ข่าวสารนี้ก่อนอื่นหมดเป็นการกล่าวถึงการตัดสินลงโทษ พระยาห์เวห์ทรงสอบสวนประชากรของพระองค์ (1:2; 6:1 ฯ) และทรงพบว่าประชากรมีความผิด การนับถือศาสนาของประชากร และโดยเฉพาะความประพฤติของเขาทั้งหลาย ไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น ประกาศกมีคาห์กล่าวประณามพวกนายทุนที่เห็นแก่เงิน พวกที่ให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ย พวกพ่อค้าที่คดโกง ครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกกัน บรรดาสมณะ ประกาศก ผู้มีอำนาจที่มีความโลภ และบรรดาผู้พิพากษาที่กินสินบน ลักษณะทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ที่พระเจ้าทรงเรียกร้อง ซึ่งได้แก่การ “กระทำความยุติธรรม รักสัจกรุณา และดำเนินชีวิตด้วยความถ่อมตนไปกับพระเจ้า” (6:8) สูตรน่าฟังนี้สรุปข้อเรียกร้องทางจิตใจที่บรรดาประกาศกย้ำเตือนเสมอๆ โดยเฉพาะประกาศกโฮเชยา พระเจ้าทรงกำหนดการลงโทษไว้แล้ว พระองค์จะเสด็จมาพิพากษาและลงอาญาประชากรของพระองค์ด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ (1:3-4) กรุงสะมาเรียจะถูกทำลาย (1:6-7) รวมทั้งเมืองต่างๆแถบชายทะเลที่มีคาห์อาศัยอยู่ (1:8-15) แม้แต่กรุงเยรูซาเล็มก็จะกลายเป็นกองสิ่งปรักหักพังด้วย (3:12)
แต่ประกาศกก็ยังให้ความหวังอยู่อีก (7:7) เขาขยายความคำสอนของประกาศกอาโมสเรื่อง “ผู้รอดชีวิตอยู่” และกล่าวทำนายถึงการประสูติของ “สันติราชา” ที่เมืองเอฟราธาห์ พระองค์จะทรงอภิบาลเลี้ยงดูฝูงแกะของพระองค์ (5:1-5)
ประกาศกมีคาห์มีอิทธิพลอย่างมั่นคงต่อประชากร ประชาชนในสมัยประกาศกเยเรมีย์รู้และยกข้อความที่ประกาศกมีคาห์เคยกล่าวประณามกรุงเยรูซาเล็มไว้ (ยรม 26:18) พันธสัญญาใหม่ให้ความสำคัญพิเศษโดยเฉพาะแก่ข้อความของประกาศกมีคาห์ที่กล่าวว่า พระเมสสิยาห์จะประสูติที่เมืองเบธเลเฮม-เอฟราธาห์ (มธ 2:6; ยน 7:42)
20. ประกาศกเศฟันยาห์
20. ประกาศกเศฟันยาห์
จากข้อความที่เป็นชื่อของหนังสือ เรารู้ว่าประกาศกเศฟันยาห์ปฏิบัติภารกิจในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ (640-609 ก.ค.ศ.) เขากล่าวโจมตีการปฏิบัติตามอย่างคนต่างชาติ (1:8) การที่ประชาชนนับถือรูปเคารพของบรรดาเทพเจ้า (1:4-5) และกล่าวตำหนิบรรดาข้าราชสำนัก (1;8) แต่มิได้กล่าวอะไรถึงกษัตริย์โยสิยาห์ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ชวนให้เราคิดไปถึงช่วงเวลาก่อนที่กษัตริย์โยสิยาห์จะทรงปฏิรูปทางศาสนา ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ คือช่วงเวลาระหว่างปี 640 ถึง 630 ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ประกาศกเยเรมีย์จะเริ่มปฏิบัติภารกิจของตนเพียงเล็กน้อย ก่อนหน้านั้นพระเจ้าเซนนาเคริบแห่งอัสซีเรียได้ทรงยึดดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรยูดาห์ไป อาณาจักรยูดาห์เป็นประเทศราชของอัสซีเรีย ในขณะที่กษัตริย์มนัสเสห์และอาโมนไม่สนใจเรื่องศาสนาทำให้ประชาชนมีความสับสนในเรื่องนี้ แต่ต่อมาอำนาจของจักรวรรดิอัสซีเรียกำลังเสื่อมถอย จึงทำให้ชาวอิสราเอลมีความหวังในการกอบกู้เอกราชและปฏิรูปทางศาสนาได้อีก
หนังสือเศฟันยาห์แบ่งได้เป็น 4 ภาคดังนี้: ภาคที่หนึ่ง กล่าวถึง “วันของพระยาห์เวห์” (1:2 – 2:3); ภาคที่สองเป็นการประกาศพระวาจาประณามนานาชาติ (2:4-15); ภาคที่สามกล่าวประณามกรุงเยรูซาเล็ม (3:1-8); และภาคที่สี่เป็นพระสัญญาจากพระเจ้า (3:9-20). ดูจะไม่มีเหตุผลเพียงพอ ที่นักวิชาการบางคนพยายามจะตัดคำประณามนานาชาติบางข้อและพระสัญญาในภาคที่สี่ออกไปว่าไม่ใช่ผลงานของประกาศก กระนั้นก็ดี เราต้องยอมรับว่าหนังสือเศฟันยาห์คงได้รับการปรับปรุง เรียบเรียง หรือเพิ่มเติมข้อความที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง เช่นเดียวกับหนังสือของประกาศกคนอื่นๆ แต่ในกรณีของหนังสือเศฟันยาห์นี้คงมีน้อยแห่ง ที่น่าสังเกตได้แก่คำทำนายถึงการกลับใจของนานาชาติ (2:11 และ 3:9-10) ข้อความทั้งสองตอนนี้อยู่นอกบริบทและได้รับอิทธิพลจากประกาศกอิสยาห์ “ที่สอง” (Deutero-Isaiah) นักวิชากรยังมีความเห็นไม่ตรงกันอีกว่า “เพลงสดุดี” สั้นๆใน 3:14-15 และ 16-18ก จะเป็นผลงานแท้ของประกาศกหรือไม่ นักวิชาการส่วนมากมีความเห็นพ้องกันว่าข้อความสรุปใน 3:18ข-20 เป็นข้อความจากสมัยเนรเทศที่กรุงบาบิโลน
กล่าวโดยย่อ ประกาศกเศฟันยาห์ประกาศพระวาจาเกี่ยวกับ “วันของพระยาห์เวห์” (เทียบ ประกาศกอาโมส) ซึ่งจะนำหายนะมาให้ไม่เพียงแก่อาณาจักรยูดาห์เท่านั้น แต่จะนำมาให้นานาชาติด้วย อาณาจักรยูดาห์ถูกตัดสินลงโทษเพราะความผิดทางศีลธรรมและศาสนกิจซึ่งเกิดมาจากความหยิ่งจองหองและเป็นกบฏต่อพระเจ้า ประกาศกเศฟันยาห์มีความเข้าใจถึงบาปเป็นอย่างดี (ก่อนหน้าประกาศกเยเรมีย์) ว่าบาปคือการกระทำผิดต่อพระบุคคลของของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต โทษที่นานาชาติได้รับต้องเป็นการเตือนประชากรของพระเจ้า (3:7) ให้มีความเชื่อฟังและถ่อมตน (2:3); พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานความรอดพ้นให้แก่ “ประชาชนที่รอดชีวิตอยู่” (the ramnant) ซึ่งถ่อมตนและเชื่อฟังพระเจ้าเท่านั้น (3:12-13) คำสอนของประกาศกเศฟันยาห์เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ไปไกลถึงเพียงนี้เท่านั้น แต่ก็เพียงพอที่จะเปิดเผยให้เห็นว่าพระสัญญาที่ว่านี้มีลักษณะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจโดยตรง
หนังสือสั้นๆของประกาศกเศฟันยาห์มีอิทธิพลไม่มากนัก และพันธสัญญาใหม่กล่าวถึงเพียงครั้งเดียวเท่านั้นใน มธ 13:41 แต่การบรรยายถึง “วันของพระยาห์เวห์” ใน 1:14-18 นั้นมีอิทธิพลต่อประกาศกโยเอลเมื่อกล่าวถึง “วันของพระเจ้า” และในสมัยกลาง ข้อความนี้จะเป็นคำเริ่มต้นของบทเพลง “Dies Irae” ในพิธีกรรมด้วย.
21. ประกาศกนาฮูม
21. ประกาศกนาฮูม
หนังสือประกาศกนาฮูมเริ่มด้วยเพลงสดุดีที่กล่าวว่า พระยาห์เวห์ทรงลงโทษความผิดของคนชั่วร้าย และคำประกาศพระวาจาสั้นๆที่กล่าวถึงการลงโทษชาวอัสซีเรีย แต่ทรงนำความรอดพ้นมาให้อาณาจักรยูดาห์ (1:2 – 2:3) แต่ความคิดหลักของหนังสือมีกล่าวไว้ในข้อแรก คือเรื่องการทำลายกรุงนีนะเวห์ ประกาศกนาฮูมกล่าวพยากรณ์ล่วงหน้าและบรรยายถึงการทำลายกรุงนีนะเวห์นี้ไว้อย่างขึงขังจริงจัง แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นกวียิ่งใหญ่คนหนึ่งของอิสราเอล (2:4 – 3:19) จึงไม่มีผู้ใดสงสัยว่าเพลงสดุดีและคำประกาศพระวาจาเริ่มต้น ซึ่งเป็นบทนำที่ดีเลิศของภาพการทำลายที่น่ากลัวซึ่งจะตามมานี้ เป็นผลงานของท่านประกาศกอย่างแน่นอน มีผู้คิดว่า “คำนำ” นี้ (หรือหนังสือทั้งฉบับ) เกิดมาจากพิธีกรรม หรืออย่างน้อยเคยใช้ในพิธีกรรมในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่ความเห็นนี้ไม่มีเหตุผลพิสูจน์ที่มีน้ำหนักพอให้เชื่อถือได้
ประกาศกนาฮูมประกาศพระวาจาเหล่านี้ไม่นานนักก่อนที่กรุงนีนะเวห์จะถูกทำลายในปี 612 ก.ค.ศ. เป็นคำประกาศพระวาจาที่สะท้อนความเกลียดชังที่ชาวอิสราเอลมีต่อชาวอัสซีเรีย ซึ่งเป็นศัตรูร้ายกาจตลอดมา แต่คำประกาศพระวาจาก็ยังเต็มไปด้วยความหวังที่ความล่มจมของจักรวรรดิอัสซีเรียจะนำมาให้อีกด้วย ความรู้สึกชาตินิยมที่รุนแรงนี้ - เราต้องไม่คิดล่วงหน้าถึงคำสอนของพระวรสาร หรือแม้แต่มีมุมมองโลกในแบบสากลของประกาศกอิสยาห์ที่สอง - ย้ำถึงอุดมการณ์เรื่องความยุติธรรมและความเชื่อที่ว่า การล่มสลายของกรุงนีนะเวห์เป็นการลงโทษจากพระเจ้า พระองค์ทรงลงโทษผู้ที่ต่อสู้กับพระประสงค์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ (1:11; 2:1) ทรงลงโทษผู้ที่เบียดเบียนข่มเหงชาวอิสราเอล (1:12-13) และทรงลงโทษนานาชาติที่ทำผิด (3:1-7)
หนังสือของประกาศกนาฮูมคงต้องทำให้ชาวอิสราเอลมีความหวังขึ้นมาอีกในปี 612 ก.ค.ศ. ตามประสามนุษย์ แต่ความยินดีเช่นนี้ก็คงอยู่ได้ไม่นาน กรุงเยรูซาเล็มเองก็จะล่มสลายด้วยไม่นานหลังจากกรุงนีนะเวห์ หลังจากนี้ คำสอนของประกาศกจะมีมุมมองที่กว้างและลึกมากขึ้น อสย 52:7 จะยืมภาพพจน์ของ นฮม 2:1 มาใช้กล่าวถึงความรอดพ้นทางจิตใจของมวลมนุษย์ ชิ้นส่วนจากอรรถาธิบายหนังสือนาฮูม ซึ่งพบได้ที่กุมราน นำข้อความของประกาศกมาใช้อย่างอิสระกับศัตรูของชุมชนที่กุมรานว่าบรรดาศัตรูเหล่านี้จะถูกพระเจ้าทรงลงโทษด้วย
22. ประกาศกฮาบากุก
22. ประกาศกฮาบากุก
หนังสือฉบับสั้นๆของประกาศกฮาบากุกมีโครงสร้างดีมาก เริ่มด้วยคำสนทนาโต้ตอบของประกาศกกับพระเจ้า ท่านประกาศกตัดพ้อต่อว่าถึงสองครั้งขอให้พระเจ้าทรงตอบ (1:2 – 2:4) คำประกาศพระวาจาครั้งที่สองขอร้องถึงห้าครั้งให้พระเจ้าทรงสาปแช่งผู้เบียดเบียนที่ขั่วร้าย (2:5-20) ต่อจากนั้นท่านประกาศกกล่าวบทเพลงสดุดียกย่องชัยชนะของพระเจ้าในวาระสุดท้าย (บทที่ 3) บรรดานักวิชาการยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าใครเป็นผู้แต่งบทสุดท้ายนี้ แต่ถ้าเราตัดบทสุดท้ายนี้ออกไป หนังสือของประกาศกก็คงจะขาดความสมดุล ข้อความนำหน้าถึงทำนองดนตรีที่ต้องใช้ขับร้องเพลงสดุดีบทนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าข้อความนี้เคยใช้ในพิธีกรรม แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าหนังสือฮาบากุกทั้งฉบับเคยใช้ในพิธีกรรมเช่นเดียวกันด้วยหรือไม่ ลักษณะลีลาทางพิธีกรรมของหนังสือฉบับนี้อาจเป็นเพียงการลอกเลียนแบบ มากกว่าจะเป็นการใช้งานจริงๆ ดังนั้น เหตุผลที่พยายามพิสูจน์ว่าฮาบากุกเป็นประกาศกที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม หรือเป็นบุคลากรในพระวิหาร จึงไม่มีน้ำหนักพอจะเป็นที่ยอมรับได้ อรรถาธิบายหนังสือฮาบากุกซึ่งพบได้ที่กุมรานจบลงที่บทที่ 2 เท่านั้น แต่นี่ก็ไม่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าบทที่ 3 เป็นผลงานของประกาศกจริงหรือไม่
เราไม่รู้อะไรแน่ชัดถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของคำประกาศพระวาจา หรือรู้ว่าผู้เบียดเบียนข่มเหงประชากรคือใคร มีผู้เสนอความเห็นว่าอาจเป็นชาวอัสซีเรีย ชาวเคลเดีย หรืออาจเป็นกษัตริย์เยโฮยาคิมแห่งยูดาห์ก็ได้ นักวิชาการส่วนมากไม่ยอมรับสมมติฐานสุดท้าย (กษัตริย์เยโฮยาคิม) แต่สมมติฐานอีกสองข้อนั้นมีผู้เห็นด้วยกับข้อใดข้อหนึ่ง ถ้าผู้เบียดเบียนคือชาวอัสซีเรีย เครื่องมือที่พระเจ้าทรงใช้ต่อสู้พวกนี้น่าจะเป็นชาวเคลเดีย (1:5-11) และการประกาศพระวาจานี้คงมีขึ้นก่อนที่กรุงนีนะเวห์จะถูกทำลายในปี 612 ก.ค.ศ. แต่ถ้าหนังสือฉบับนี้ทั้งเล่มกล่าวถึงชาวเคลเดียตามที่ออกชื่อไว้ใน 1:6 ก็หมายความว่าพระเจ้าทรงใช้ชาวเคลเดียนี้เพื่อลงโทษประชากรของพระองค์ แต่ชาวเคลเดียก็จะถูกลงโทษด้วยเพราะใช้ความโหดร้ายมากเกินไป เนื่องจากว่าพระยาห์เวห์กำลังจะเสด็จมาช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้น ประกาศกจึงรอคอยการเสด็จมาช่วยเหลือนี้ด้วยความกระวนกระวาย และในที่สุดก็จะได้รับความยินดีมาแทนที่ ถ้าคำอธิบายเช่นนี้ถูกต้อง หนังสือฉบับนี้น่าจะเขียนขึ้นในช่วงเวลาระหว่างการรบที่คาร์เคมิชในปี 605 ก.ค.ศ. (การรบครั้งนี้ทำให้กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เป็นเจ้าปกครองดินแดนในตะวันออกกลางได้ทั้งหมด) กับการล้อมกรุงเยรูซาเล็มครั้งแรกในปี 597 ก.ค.ศ. และดังนี้ฮาบากุกก็จะปฏิบัติภารกิจภายหลังประกาศกนาฮูมไม่นาน และยังเป็นบุคคลร่วมสมัยกับประกาศกเยเรมีย์อีกด้วย
ประกาศกฮาบากุกนำความคิดใหม่ข้อหนึ่งเข้ามาในคำสอนของบรรดาประกาศก เขาบังอาจถามพระเจ้าว่าทรงจัดระเบียบปกครองโลกอย่างไร ยูดาห์ได้ทำบาป แต่ทำไมพระเจ้าผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์ (1:12) ทรงมีพระเนตรบริสุทธิ์จนไม่อาจทอดพระเนตรเห็นความชั่วร้ายได้ (1:13) จึงทรงเลือกชาวเคลเดียที่โหดร้ายให้มาลงโทษประชากรของพระองค์ ทำไมคนชั่วจึงต้องได้รับโทษจากคนที่ชั่วร้ายกว่าตน ทำไมพระองค์จึงทรงดูเหมือนว่าทำให้ความอยุติธรรมมีพลังเพิ่มขึ้น นี่คือปัญหาเรื่องความชั่วร้ายในระดับนานาชาติและมนุษย์ทุกวันนี้หลายคนก็รู้สึกผิดหวังเช่นเดียวกับประกาศกฮาบากุก แต่เขาเหล่านี้ก็ได้รับคำตอบจากพระเจ้าเช่นเดียวกับประกาศก ว่าพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพทรงเตรียมชัยชนะในวาระสุดท้ายไว้ให้ผู้ชอบธรรม ด้วยวิธีการที่ดูจะขัดกับเหตุผล ชีวิตของผู้ชอบธรรมจะมีความปลอดภัยได้ก็โดยวางใจในพระเจ้าเท่านั้น (ดู 2:4) นักบุญเปาโลจะนำหลักการทรงค่ายิ่งข้อนี้ของประกาศกฮาบากุกเข้ามารวมไว้ในคำสอนของท่านเรื่องความเชื่อ (รม 1:17; กท 3:11; ฮบ 10:38)
23. ประกาศกฮักกัย
23. ประกาศกฮักกัย
ระยะเวลาของประกาศกช่วงสุดท้าย คือสมัยหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน จะเริ่มด้วยประกาศกฮักกัย เราจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ในช่วงเวลาก่อนการเนรเทศไปกรุงบาบิโลนบรรดาประกาศกมักจะกล่าวถึงการลงโทษจากพระเจ้า ในระหว่างช่วงเวลาการเนรเทศถ้อยคำของบรรดาประกาศกจะเป็นคำปลอบโยนให้กำลังใจ บัดนี้ถึงเวลาการฟื้นฟูบูรณะอีกครั้งหนึ่ง ประกาศกฮักกัยปรากฏมาในช่วงเวลาวิกฤติของวิวัฒนาการแห่งศาสนายูดาย คือการสร้างสังคมชาวยิวขึ้นใหม่ในดินแดนปาเลสไตน์ ประกาศกกล่าวคำตักเตือนสั้นๆของตนพอดีในช่วงเวลาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนธันวาคมของปี 520 ก.ค.ศ. ชาวยิวกลุ่มแรกที่กลับมาจากกรุงบาบิโลนเพื่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ พากันหมดกำลังใจลงภายในระยะเวลาสั้นๆ ประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์จึงปลุกใจเขาให้มีความพยายามขึ้นมาใหม่ เตือนเศรุบบาเบลผู้ว่าราชการและเตือนโยชูวามหาสมณะให้เริ่มงานก่อสร้างพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง งานนี้จึงเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนปี 520 ก.ค.ศ. (1:15; ดู อสร 5:1)
คำปราศรัยสั้นๆ 4 บทซึ่งประกอบขึ้นเป็นหนังสือฮักกัยนี้ล้วนกล่าวถึงเรื่องการสร้างพระวิหารทั้งสิ้น เขาบอกประชาชนว่าการที่พระวิหารยังคงอยู่ในสภาพปรักหักพังและไม่มีผู้ใดสนใจ ทำให้พระยาห์เวห์ทรงบันดาลให้ความพยายามของบรรดากสิกรไม่บังเกิดผลิตผล แต่การเริ่มสร้างพระวิหารขึ้นใหม่จะเป็นการเบิกยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง แม้ว่าพระวิหารหลังใหม่นี้จะไม่ใหญ่โตเหมือนพระวิหารหลังแรก แต่ก็จะมีความรุ่งเรืองเหนือกว่ามาก ประกาศกยังสัญญาว่าเศรุบบาเบลจะมีอำนาจในฐานะผู้แทนของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้
ประกาศกกล่าวว่าการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่นี้เป็นเงื่อนไขของการที่พระเจ้าจะเสด็จมา พระองค์จะทรงสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์ขึ้นอีก เวลาของความรอดพ้นในยุคสุดท้ายกำลังจะเริ่มขึ้น ประกาศกเศคาริยาห์จะกล่าวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่าพระวิหารและราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิดจะเป็นศูนย์กลางของความหวังถึงองค์พระเมสสิยาห์
24. ประกาศกเศคาริยาห์
24. ประกาศกเศคาริยาห์
หนังสือประกาศกเศคาริยาห์ประกอบด้วยเนื้อหาสองภาคที่แยกกันเด็ดขาด คือ บทที่ 1-8 กับบทที่ 9-14 คำนำบอกเวลาเขียนไว้ว่าเขียนขึ้นในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี 520 ก.ค.ศ. หรือ 2 เดือนหลังจากคำประกาศพระวาจาครั้งแรกของประกาศกฮักกัย เนื้อหาในภาคแรกของหนังสือเป็น “นิมิต” 8 ครั้งของประกาศกซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 519 ก.ค.ศ. (1:7 – 6:8) ตามด้วยเรื่องการสวมมงกุฎเศรุบบาเบลเป็นสัญลักษณ์ (6:9-14) [ต่อมาผู้เรียบเรียงได้นำชื่อของโยชูวามหาสมณะมาเขียนแทน ในเมื่อความหวังที่ประชาชนเคยมีต่อเศรุบบาเบลจางหายไป และอำนาจทางการเมืองของชาวยิวตกมาอยู่กับบรรดาสมณะแทน] บทที่ 7 เป็นการกล่าวสรุปถึงประวัติศาสตร์ของอิสราเอล และบทที่ 8 มองไปในอนาคตถึงยุคพระเมสสิยาห์ เรื่องทั้งสองนี้เกิดขึ้นจากคำถามในเดือนพฤศจิกายน ปี 518 ก.ค.ศ. เกี่ยวกับหน้าที่เรื่องการจำศีลอดอาหาร
เนื้อหาในภาคแรกซึ่งมีวันเดือนปีกำกับไว้ชัดเจน และมีความคิดต่อเนื่องนี้เป็นผลงานของประกาศกเศคาริยาห์จริงๆ แต่ก็มีเครื่องหมายแสดงว่าได้รับการเรียบเรียงใหม่อยู่ด้วยเหมือนกัน ผู้เรียบเรียงอาจเป็นประกาศกหรือศิษย์ของเขา ตัวอย่างเช่น คำประกาศพระวาจาที่กล่าวถึงนานาชาติใน 8:20-23 ถูกผนวกเข้ามาต่อจาก 8:18-19 ซึ่งแต่เดิมเป็นข้อความสรุป
ประกาศกเศคาริยาห์มีความกังวลใจเช่นเดียวกับประกาศกฮักกัย ถึงเรื่องการสร้างพระวิหารหลังใหม่ เขายังเน้นอีกว่าการสร้างพระวิหารหลังใหม่เรียกร้องมากกว่าให้มีการฟื้นฟูชาติและแก้ไขความประพฤติผิดศีลธรรมที่น่าตำหนิเท่านั้น แต่ยังรอคอยว่ายุคสุดท้ายจะมาถึงในไม่ช้าด้วย เขาคอยท่าว่าการฟื้นฟูชาติคือการเริ่มต้นยุคพระเมสสิยาห์ที่ตำแหน่งสมณะซึ่งมีโยชูวาเป็นผู้แทนนั้น จะได้รับเกียรติสูงส่ง (3:1-7) แต่อำนาจปกครองสูงสุดจะตกอยู่กับ “พระอังกูร” (แปลว่า “กิ่ง” 3:8) ซึ่งเป็นนามตำแหน่งของพระเมสสิยาห์ ที่ 6:12 ใช้กับเศรุบบาเบล “ผู้รับเจิม” ทั้งสองคนนี้ (4:14) จะปกครองประชากรโดยประสานงานกันอย่างสมบูรณ์ (6:13) ด้วยวิธีนี้เศคาริยาห์จึงรื้อฟื้นความคิดเรื่องพระเมสสิยาห์-กษัตริย์ซึ่งเคยมีในอดีตขึ้นใหม่ แต่นำความคิดนี้มารวมเข้ากับความสนใจต่อตำแหน่งสมณะ อย่างที่ปรากฏในคำสอนของประกาศกเอเสเคียล ซึ่งเราจะสังเกตเห็นอิทธิพลของประกาศกท่านนี้ได้ในอีกหลายวิธี เช่นความสำคัญพิเศษของ “นิมิต” ต่างๆ แนวความคิดเรื่อง “วิวรณ์” (apocalyptic) ถึงยุคสุดท้าย การให้ความสำคัญแก่เรื่อง “ความไม่มีมลทิน” เรื่องต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งเรื่องการที่ทูตสวรรค์เข้ามาเกี่ยวข้อง นับได้ว่าเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงหนังสือดาเนียล
ภาคที่สองของหนังสือในบทที่ 9-14 ซึ่งก็มีหัวเรื่องใหม่นำอยู่แล้วด้วยนั้น (9:1) มีความแตกต่างกับภาคแรกอย่างชัดเจน เนื้อหาส่วนต่างๆในภาคหลังนี้ไม่มีวันเดือนปีหรือนามใดบอกไว้ เราไม่ได้ยินการกล่าวถึงเศคาริยาห์ โยชูวา เศรุบบาเบล หรือกล่าวถึงการสร้างพระวิหารอีก ลีลาการเขียนก็แตกต่างออกไป และบ่อยๆจะมีการยกข้อความมาจากหนังสืออื่นๆก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะหนังสือเยเรมีย์และเอเสเคียล ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของภาคหลังนี้ก็ยังแตกต่างไปด้วย มีชื่ออัสซีเรียและอียิปต์ปรากฏมาในฐานะสัญลักษณ์ของผู้กดขี่
เราเชื่อเกือบแน่ว่าข้อความในบทสุดท้าย (บทที่ 9-14) นี้เขียนขึ้นในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 4 ก.ค.ศ. หลังจากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงยึดครองดินแดนทางตะวันออกกลางได้แล้ว แม้ว่าในระยะหลังนี้มีผู้พยายามพิสูจน์ว่าบทที่ 9-14 นี้มีลักษณะเดียวกันโดยตลอด แต่ในปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ามิได้เป็นเช่นนั้น เราอาจแยกบทที่ 9-14 นี้ออกได้เป็น 2 ตอน ซึ่งแต่ละตอนก็มีหัวเรื่องของตน คือ บทที่ 9-11 และบทที่ 12-14 ตอนแรกเขียนเป็นคำประพันธ์เกือบทั้งหมด ส่วนตอนที่สองเขียนเป็นร้อยแก้วเกือบทั้งหมดเช่นกัน มีผู้เสนอให้เรียกข้อความสองตอนนี้ว่า “เศคาริยาห์ที่สอง” (Deutero-Zechariah) และ “เศคาริยาห์ที่สาม” (Trito-Zechariah) แต่ในความเป็นจริง เนื้อหาในสองตอนนี้ก็มีความหลากหลายในตัวเองอยู่แล้ว
เนื้อหาตอนแรกอาจใช้คำประพันธ์โบราณบางชิ้นจากสมัยก่อนการเนรเทศ และกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งยากที่จะบอกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ใด (การที่บางคนเข้าใจว่าข้อความใน 9:1-8 กล่าวพาดพิงถึงชัยชนะของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นความเห็นน่าเชื่อได้มากที่สุด) ส่วนเนื้อหาตอนที่สองในบทที่ 12-14 นั้นใช้ถ้อยคำจากวรรณกรรมแบบวิวรณ์ (apocalyptic) บรรยายถึงภัยพิบัติซึ่งเป็นการทดสอบอย่างร้ายแรงและบรรยายถึงชัยชนะของกรุงเยรูซาเล็มในยุคสุดท้าย แต่เรายังพบการกล่าวถึงยุคสุดท้ายในตอนแรกด้วยเหมือนกัน และยังพบความคิดหลักบางประการในข้อความทั้งสองตอนอีกด้วย เช่นความคิดเรื่อง “ผู้เลี้ยง” (shepherds) ของประชากร ใน 10:2-3; 11:4-14; 13:7-9.
ภาคที่สองของหนังสือนี้ (บทที่ 9-14) น่าสนใจเป็นพิเศษในเรื่องคำสอนเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ ถึงกระนั้นเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการกล่าวไว้อย่างเป็นระบบ มีการกล่าวถึงการรื้อฟื้นของราชวงศ์กษัตริย์ดาวิดกระจัดกระจายอยู่ในบทที่ 12 มีการกล่าวถึง “พระเมสสิยาห์-กษัตริย์” ผู้ต่ำต้อยและใฝ่สันติใน 9:9-10 แต่ก็ยังมีคำพยากรณ์ที่คลุมเครือถึงใครคนหนึ่งซึ่ง “ถูกแทง” ใน 12:10 และเรื่องการที่พระเจ้าทรงใช้กำลังทัพมาปกครองใน 10:3 – 11:3 ซึ่งก็เป็นชุมชนที่เคารพนับถือพระเจ้าเช่นเดียวกับในประกาศกเอเสเคียล ลักษณะองค์ประกอบเหล่านี้เข้ากันได้ดีกับพระบุคคลของพระคริสตเจ้า และพันธสัญญาใหม่มักจะอ้างข้อความในบทสุดท้ายเหล่านี้ของหนังสือเศคาริยาห์ หรืออย่างน้อยกล่าวพาดพิงถึง เช่นใน มธ 21:4-5; 27:9 (กล่าวรวมข้อความของเศคาริยาห์กับข้อความของเยเรมีย์) มธ 26:31= มก 14:27; ยน 19:37.
25. ประกาศกมาลาคี
25. ประกาศกมาลาคี
หนังสือฉบับนี้น่าจะเป็นผลงานของประกาศก “นิรนาม” เพราะคำว่า “มาลาคี” มีความหมายว่า “ผู้ส่งข่าวของฉัน” (“ของเรา” ถ้าพระเจ้าตรัส) และดูเหมือนจะถูกนำมาจาก มลค 3:1 หนังสือฉบับนี้ประกอบด้วยข้อความที่มีโครงสร้างเหมือนกัน 6 ตอน คือ พระยาห์เวห์ หรือประกาศกของพระองค์ กล่าวข้อความข้อหนึ่ง แล้วบรรดาสมณะหรือประชาชนก็ถกเถียงเกี่ยวกับข้อความนี้ ซึ่งก็พัฒนาขึ้นเป็นคำปราศรัยที่มีคำคาดโทษและคำสัญญาถึงความรอดพ้นอยู่เคียงคู่กัน หนังสือฉบับนี้มีความคิดหลักอยู่สองประการ ประการแรกคือความบกพร่องของบรรดาสมณะ (1:6 – 2:9) และของประชาชน (3:6-12) ในการปฏิบัติศาสนกิจ รวมทั้งความผิดเรื่องการแต่งงานกับคนต่างชาติและการหย่าร้าง (2:10-16) ความคิดหลักประการที่สองคือการที่ประกาศกกล่าวพยากรณ์ถึง “วันของพระยาห์เวห์” ซึ่งจะมาชำระบรรดาสมณะ เผาผลาญคนอธรรม และนำชัยชนะรุ่งเรืองมาให้ผู้ชอบธรรม (3:1-5,13-21; ข้อ 22-23 ของบทที่ 3 เป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ซึ่งอาจรวมไปถึง มลค 2:11ข-13ก ด้วย)
เนื้อหาของหนังสือฉบับนี้ทำให้เรากำหนดได้ว่าเขียนขึ้นเมื่อใด คือต้องเขียนขึ้นภายหลังการฟื้นฟูคารวกิจในพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่เสร็จในปี 516 ก.ค.ศ. และเขียนขึ้นก่อนที่จะมีการห้ามแต่งงานกับคนต่างชาติในสมัยของเนหะมีย์ ปี 445 ก.ค.ศ. น่าจะเป็นเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์หลังนี้มากกว่า ความกระตือรือร้นของประชากรที่ประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์เคยปลุกขึ้นนั้นได้เย็นเฉยลงแล้ว และชุมชนชาวยิวปล่อยตัวตามสบาย ท่านประกาศกได้รับพลังบันดาลใจจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและจากประกาศกเอเสเคียล กำลังรอคอยให้ “ทูตสวรรค์แห่งพันธสัญญา” (Angel of the Covenant) มาถึงโดยมี “ผู้นำข่าว” ลึกลับคนหนึ่งล่วงหน้ามาก่อน (3:1). มก 1:2 (เทียบ มธ 11:10; ลก 7:27) เห็นว่า “ผู้นำข่าว” ลึกลับคนนี้ก็คือท่านยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งนำหน้าพระคริสตเจ้า ในสมัยของพระเมสสิยาห์นี้ ระเบียบทางศีลธรรมจะได้รับการรื้อฟื้น (3:5) รวมทั้งการนับถือศาสนาจากใจจริงด้วย (3:4) การที่นานาชาติจะถวายบูชาอย่างสมบูรณ์จะเป็นความบริบูรณ์สูงสุดของการนับถือศาสนาจากใจจริงที่กล่าวนี้ (1:11).
26. ประกาศกโอบาดีย์
26. ประกาศกโอบาดีย์
หนังสือประกาศกซึ่งสั้นที่สุด (มีเพียง 21 ข้อ) ฉบับนี้มีปัญหาอยู่มากมาย บรรดานักวิชาการถกเถียงกันว่าหนังสือฉบับนี้มีเอกภาพหรือไม่ มีลักษณะทางวรรณกรรมแบบใด เขียนขึ้นเมื่อไร (บางคนคิดว่าเขียนขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ก.ค.ศ. ส่วนอีกบางคนคิดว่าเขียนขึ้นในสมัยชาวกรีกปกครอง) ปัญหายิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเกือบครึ่งหนึ่งของหนังสือ (คือ ข้อ 2-10) ซ้ำกับข้อความใน ยรม 49:7-22 แต่เรียงลำดับไม่เหมือนกัน และเป็นเหมือนกับข้อความเพิ่มเติมของคำกล่าวของประกาศก ซึ่งก็ยังถกเถียงกันว่าเป็นของประกาศกเยเรมีย์หรือเปล่าด้วย คำประกาศพระวาจาของโอบาดีย์มีความคิดหลักอยู่ 2 ข้อ คือการกล่าวล่วงหน้าถึงการลงโทษชาวเอโดมเป็นข้อความสั้นๆหลายข้อ (ข้อ 1ก-14 และมีข้อ 15ข เป็นข้อสรุป) ความคิดหลักอีกข้อหนึ่งคือเรื่อง “วันของพระยาห์เวห์” เมื่ออิสราเอลจะแก้แค้นเอโดมได้ (ข้อ 15ก,16-18 ซึ่งมีข้อความสรุปว่า “พระยาห์เวห์ทรงลั่นพระวาจาไว้แล้ว”) คำสัญญาเกี่ยวกับอันตกาลในข้อ 19-21 เป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง หนังสือฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการต่อต้านชาวเอโดมภายหลังเหตุการณ์ในปี 587 ก.ค.ศ. (เทียบ สดด 137:7; ยรม 49:7 ฯ ดังที่กล่าวแล้ว; พคค 4:21-22; อสค 25:12 ฯ; 35:1 ฯ; มลค 1:2 ฯ) ชาวเอโดมได้ฉวยโอกาสที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายเข้ามาบุกรุกดินแดนทางภาคใต้ของแคว้นยูเดีย ชาวยิวยังคงจำเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดี และคำประกาศพระวาจาของโอบาดีย์ดูเหมือนจะประพันธ์ขึ้นในแคว้นยูดาห์ ก่อนที่ชาวยิวจะกลับมาจากการถูกเนรเทศไปที่กรุงบาบิโลนเสียด้วย ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะกล่าวว่าข้อความเกี่ยวกับ “วันของพระยาห์เวห์” ต้องเขียนขึ้นในภายหลังหรือโดยผู้ประพันธ์คนอื่น (ไม่ใช่ประกาศกโอบาดีย์) ดูเหมือนว่ามีแต่ข้อความตอนสุดท้ายเท่านั้น (ข้อ 19-21) เป็นข้อความที่ถูกเพิ่มเข้ามาในสมัยหลังการเนรเทศ
การปลุกเร้าใจชนทั้งชาติเรียกร้องให้แก้แค้นศัตรูเช่นนี้ ขัดแย้งโดยตรงกับคำสอนในพระคัมภีร์ เช่นในภาคที่สองของหนังสือประกาศกอิสยาห์ที่สอนว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระผู้สร้างและพระผู้กอบกู้ชนทุกชาติ แต่ข้อความเช่นนี้ก็ยังยกย่องพระยุติธรรมและพระอานุภาพน่าเกรงขามของพระยาห์เวห์ผู้ทรงปกป้องความถูกต้องอีกด้วย และเราต้องไม่แยกความคิดเช่นนี้ออกมาต่างหากจากคำสอนต่างๆของขบวนการประกาศกโดยรวม เพราะความคิดเช่นนี้สะท้อนเพียงช่วงเวลาสั้นๆในขบวนการนี้เท่านั้น
27. ประกาศกโยเอล
27. ประกาศกโยเอล
หนังสือประกาศกโยเอลแบ่งได้เป็น 2 ภาค ภาคแรกกล่าวถึงการที่ฝูงตั๊กแตนมาทำลายแคว้นยูดาห์ หายนะประการนี้เรียกร้องให้มีพิธีทางศาสนาแสดงความทุกข์ใจเพื่ออธิษฐานภาวนาอ้อนวอนพระเจ้า พระยาห์เวห์ทรงตอบในพิธีนี้โดยทรงสัญญาจะให้หายนะนี้สิ้นสุด กลับมีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม (1:2 – 2:27) ภาคที่สองใช้ภาษาแบบวิวรณ์บรรยายถึงการพิพากษานานาชาติและชัยชนะยิ่งใหญ่ในที่สุดของพระยาห์เวห์และของชาติอิสราเอล (บทที่ 3-4) เนื้อหาของทั้งสองภาคนี้มีความต่อเนื่องเป็นเอกภาพจากข้อความที่กล่าวถึง “วันของพระยาห์เวห์” ซึ่งเป็นความคิดหลักของบทที่ 3-4 แต่ก็มีกล่าวถึงแล้วใน 1:15; 2:1-2,10-11. ตั๊กแตนเป็นกองทัพของพระยาห์เวห์ที่พระองค์ทรงส่งมาปฏิบัติตามพระวินิจฉัยของพระองค์ เป็น “วันของพระยาห์เวห์” ที่การกลับใจและคำอธิษฐานภาวนาคือวิธีการที่ทรงช่วยให้รอดพ้น ภัยพิบัติกลายเป็นภาพของการพิพากษายิ่งใหญ่ครั้งสุดท้าย เป็น “วันของพระยาห์เวห์” ที่นำหน้า “ยุคสุดท้าย” เข้ามา ไม่มีข้อมูลใดชวนให้คิดว่า หนังสือฉบับนี้เป็นผลงานของผู้แต่งสองคน หรือมาจากช่วงเวลาต่างกันสองช่วง นักวิชาการสมัยใหม่บางคนมีความเห็นว่าหนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นในระยะสุดท้ายของสมัยที่อิสราเอลมีกษัตริย์ปกครอง แต่นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าหนังสือฉบับนี้มาจากสมัยหลังการเนรเทศเพราะเหตุผลต่อไปนี้ คือไม่มีการกล่าวถึงกษัตริย์พระองค์ใดเลย มีการกล่าวพาดพิงถึงการเนรเทศ และยังกล่าวถึงพระวิหารว่าได้สร้างขึ้นใหม่แล้ว นอกจากนั้นยังมีสำนวนและลีลาคล้ายกับหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ และประกาศกในสมัยหลัง เช่นเอเสเคียล เศฟันยาห์ มาลาคี และโอบาดีย์ ซึ่งมีข้อความที่ถูกยกมาที่ 3:5 อีกด้วย หนังสือโยเอลนี้น่าจะเขียนขึ้นราวปี 400 ก.ค.ศ.
ข้อความในหนังสือฉบับนี้เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีของประชาชนอย่างชัดเจน ข้อความในบทที่ 1-2 มีลักษณะของพิธีกรรมชดเชยใช้โทษบาป จบลงด้วยคำสัญญาจากประกาศกว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปให้แล้ว เพราะเหตุนี้จึงมีผู้เสนอทฤษฎีว่าโยเอลเป็นประกาศกที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธี สังกัดอยู่กับหน้าที่ในพระวิหาร ถึงกระนั้น ลักษณะดังกล่าวอาจเป็นเพียงวิธีเขียนเลียนแบบภาษาของศาสนพิธีเท่านั้นก็ได้ หนังสือนี้ไม่ใช่การคัดลอกบทเทศน์ในพระวิหาร แต่เป็นข้อความที่เขียนขึ้นมาให้อ่านต่อหน้าประชาชน หนังสือฉบับนี้จึงหมายถึงการสิ้นสุดของขบวนการประกาศก
การหลั่งจิตแห่งการประกาศพระวาจาลงเหนือประชากรทุกคนของพระเจ้าในยุคสุดท้าย (3:1-5) นับเป็นคำตอบต่อคำอธิษฐานของโมเสสใน กดว 11:29 พันธสัญญาใหม่คิดว่าคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงเมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือบรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้า และนักบุญเปโตรจะยกข้อความตอนนี้ทั้งหมดใน กจ 2:16-21 โยเอลจึงเป็น “ประกาศกของวันเปนเตก๊อสเต” (เรื่องการประทานพระจิตเจ้า) เขายังเป็นประกาศกที่สอนเรื่องการเป็นทุกข์กลับใจ และคำสอนของเขาเรื่องการจำศีลอดอาหารและการอธิษฐานภาวนา ไม่ว่าเขาจะยืมเรื่องนี้มาจากพิธีกรรมในพระวิหาร หรือเพียงกล่าวลอกเลียนแบบ ในเวลาต่อมาจะพบว่าข้อความเหล่านี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะอยู่ในพิธีกรรมเทศกาลมหาพรตของพระศาสนจักร
28. ประกาศกโยนาห์
28. ประกาศกโยนาห์
หนังสือสั้นๆฉบับนี้มีลักษณะแตกต่างจากหนังสือประกาศกฉบับอื่นๆทุกฉบับ คือเป็นเรื่องเล่าทั้งหมด เล่าเรื่องประกาศกคนหนึ่งที่ไม่เชื่อฟัง และในตอนต้นพยายามหลบหนีไม่ยอมปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้า แต่ในที่สุดยังบ่นต่อพระเจ้าที่งานนี้ประสบผลสำเร็จขัดกับความคาดหวังของตน ตัวเอกของเรื่องผจญภัยน่าขบขันเรื่องนี้คือประกาศกที่มีชื่อกล่าวถึงใน 2 พกษ 14:25 และมีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 ถึงกระนั้น หนังสือฉบับนี้มิได้อ้างว่าเป็นผลงานของเขาและไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้ด้วย กรุงนีนะเวห์ “นครยิ่งใหญ่” ซึ่งถูกทำลายลงในปี 612 ก.ค.ศ. เป็นเพียงความทรงจำในอดีต ส่วนความคิดและข้อความต่างๆของหนังสือถูกยืมมาจากหนังสือของประกาศกเยเรมีย์และเอเสเคียล ภาษาที่ใช้ก็มาจากสมัยหลัง ข้อมูลต่างๆล้วนชวนให้คิดว่าหนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นในสมัยหลังการเนรเทศ ภายในช่วงเวลาศตวรรษที่ 4 ก.ค.ศ. เพลงสดุดีใน 2:3-10 ซึ่งอยู่ในแบบวรรณกรรมอีกแบบหนึ่งและไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยทั้งกับการอ้อนวอนของโยนาห์หรือกับคำสอนของหนังสือ เป็นส่วนที่ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลัง
การที่หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นในสมัยหลังก็เพียงพอแล้วที่จะเตือนว่า เราจะต้องไม่เข้าใจหนังสือฉบับนี้ว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ ยังมีเหตุผลอื่นสนับสนุนความคิดนี้อีกด้วย ในเอกสารของชาวอัสซีเรีย หรือในพระคัมภีร์ ไม่เคยมีหลักฐานใดๆเลยว่ากษัตริย์แห่งกรุงนีนะเวห์ได้กลับใจพร้อมกับประชาชนของพระองค์มาเคารพนับถือพระเจ้าของอิสราเอล และแม้ว่าพระเจ้าทรงเป็นเจ้านายปกครองสิ่งสร้างทั้งหลายจริงๆ การอัศจรรย์ที่มีเล่าต่อมาก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่พระเจ้าทรงเล่นตลกกับประกาศก เช่นเรื่องการเกิดพายุโดยฉับพลัน เรื่องการที่ฉลากมาตกกับโยนาห์ เรื่องปลาใหญ่ที่กลืนเขา เรื่องต้นไม้ที่เติบโตขึ้นภายในคืนเดียวและเหี่ยวเฉาไปภายในชั่วโมงเดียว ในเมื่อเรื่องที่เล่าทั้งหมดเป็นการประชดประชันอย่างเห็นได้ชัด การเขียนแบบนี้จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิธีเขียนประวัติศาสตร์
หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นเป็นเรื่องตลกเพื่อสอนใจ เป็นนิยายเพื่อใช้สอน และคำสอนของหนังสือนับเป็นจุดยอดจุดหนึ่งของพันธสัญญาเดิม ไม่ยอมรับการอธิบายพระวาจาของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด แต่สอนว่าแม้คำคาดโทษอย่างรุนแรงที่สุดก็ยังเป็นเครื่องหมายแสดงพระเมตตากรุณาของพระเจ้า พระองค์ประทานอภัยทันทีที่คนบาปแสดงเครื่องหมายว่าได้เป็นทุกข์กลับใจแล้ว ถ้าคำประกาศพระวาจาของโยนาห์ไม่เป็นความจริง ก็เป็นเพราะว่าพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะทรงทำลายนั้นมีเงื่อนไขเสมอ สิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์คือการเป็นทุกข์กลับใจ ถ้าการเป็นทุกข์กลับใจนี้เกิดขึ้น ภารกิจของประกาศกก็ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ (เทียบ ยรม 18:7-8)
หลังกลับมาจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว ชุมชนชาวยิวมีแนวโน้มจะแยกตนจากชนต่างชาติ หนังสือโยนาห์ไม่ยอมรับความคิดชาตินิยมแคบๆนี้และประกาศได้อย่างน่าพิศวงว่าพระเจ้าทรงพระกรุณาต่อชนทุกชาติ ลักษณะของทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น กลาสีต่างชาติ กษัตริย์ ประชาชน แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงของกรุงนีนะเวห์ ทุกคนยกเว้นชาวอิสราเอลเพียงคนเดียวในเรื่อง ซึ่งยังเป็นประกาศกอีกด้วย พระเจ้าไม่พอพระทัยต่อประกาศกดื้อด้านไม่ยอมเชื่อฟังผู้นี้ แต่สิ่งที่น่าสังเกตกว่านี้คือพระกรุณาของพระองค์แผ่ไปถึงศัตรูที่ชาวอิสราเอลรังเกียจมากที่สุด
เรากำลังจะก้าวข้ามมายังพันธสัญญาใหม่ พระเจ้าไม่ทรงเป็นพระเจ้าของชาวยิวเท่านั้น พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของชนต่างชาติด้วย เพราะมีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น (รม 3:29-30) ใน มธ 12:41 และ ลก 11:29-32 พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงการกลับใจของชาวนีนะเวห์เป็นตัวอย่างของการเป็นทุกข์กลับใจ และ มธ 12:40 เห็นการที่โยนาห์อยู่ในท้องปลาใหญ่เป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงพระคริสตเจ้าทรงอยู่ในพระคูหาฝังพระศพ เราจะนำการอ้างถึงเรื่องโยนาห์เช่นนี้มาพิสูจน์ว่าเรื่องโยนาห์เกิดขึ้นจริงๆไม่ได้ พระเยซูเจ้าทรงใช้เรื่องในพันธสัญญาเดิมเช่นเดียวกับที่นักเทศน์ชาวคริสต์ใช้เรื่องอุปมาจากพันธสัญญาใหม่ในบทเทศน์ เจตนาในการใช้เช่นนี้เหมือนกัน คือเพื่อสอนโดยใช้ตัวอย่างที่ทุกคนรู้จักดีโดยไม่แสดงความเห็นว่าเรื่องที่เล่านั้นเกิดขึ้นจริงๆหรือเปล่า