“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

Merry Christmas

หนังสือมัคคาบี ฉบับที่สอง


  1. บทที่ 1
  2. บทที่ 2
  3. บทที่ 3
  4. บทที่ 4
  5. บทที่ 5
  6. บทที่ 6
  7. บทที่ 7
  8. บทที่ 8
  9. บทที่ 9
  10. บทที่ 10
  11. บทที่ 11
  12. บทที่ 12
  13. บทที่ 13
  14. บทที่ 14
  15. บทที่ 15

I. จดหมายของชาวยิวในปาเลสไตน์ถึงชาวยิวในอียิปต์a

 

จดหมายฉบับแรก

 

1 1ชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มและในแคว้นยูเดีย ขอส่งความสุขถึงพี่น้องชาวยิวในอียิปต์b ขอให้ท่านทั้งหลายมีสันติสุขอย่างแท้จริง 2ขอพระเจ้าประทานพระพรแก่ท่าน และทรงระลึกถึงพันธสัญญาที่ทรงกระทำไว้กับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ผู้รับใช้ซื่อสัตย์ของพระองค์ 3ขอพระองค์ประทานจิตใจให้ท่านทั้งหลายปรารถนาที่จะนมัสการพระองค์ และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ด้วยใจกว้าง 4ขอพระองค์ทรงช่วยให้ท่านเข้าใจธรรมบัญญัติและพระบัญชาของพระองค์ และประทานสันติสุขแก่ท่าน 5ขอพระองค์ทรงฟังคำอธิษฐานของท่าน และโปรดปรานท่าน ไม่ทอดทิ้งท่านในยามทุกข์ยาก 6เราอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลายเช่นนี้

          7“ในรัชสมัยกษัตริย์เดเมตรีอัส ปีหนึ่งร้อยหกสิบเก้า ศักราชกรีก เราชาวยิวได้เขียนถึงท่านดังนี้c เราได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่งในปีเหล่านี้ ตั้งแต่ยาโสนและพวกทรยศต่อแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์และต่อพระอาณาจักร 8เขาจุดไฟเผาประตูพระวิหาร และหลั่งโลหิตคนบริสุทธิ์ แต่เราได้อธิษฐานทูลองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระองค์ทรงฟัง เราจึงถวายเครื่องบูชาและแป้งสาลีชนิดดี จุดดวงประทีป และตั้งขนมปังถวายได้อีก”

9เราจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ในปีหนึ่งร้อยแปดสิบแปด ศักราชกรีกd เพื่อเตือนท่านให้เฉลิมฉลองเทศกาลอยู่เพิงในเดือนคิสเลฟ

จดหมายฉบับที่สองe

คำขึ้นต้น

            10ชาวกรุงเยรูซาเล็มและชาวยูเดีย สภาผู้อาวุโสและยูดาสf ขอส่งความสุขถึงอาริสโตบูลัสg ผู้สืบสกุลจากครอบครัวสมณะผู้รับเจิมและเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์โทเลมี และส่งความสุขถึงชาวยิวที่อยู่ในอียิปต์ ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสุข

คำขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงลงโทษกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส

            11พระเจ้าทรงช่วยเราให้พ้นอันตรายยิ่งใหญ่ เราจึงขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงช่วยเราให้สู้รบกับกษัตริย์ได้ 12พระองค์ทรงขับไล่ผู้ที่ยกทัพมาโจมตีนครศักดิ์สิทธิ์ 13เมื่อผู้นำของเขายกทัพไปที่แคว้นเปอร์เซีย ก็ถูกฆ่าในวิหารของเทพีนาเนียh เพราะบรรดาสมณะของเทพีนาเนียใช้อุบายหลอกล่อเขา กองทัพของเขาที่คิดว่าไม่มีใครเอาชนะได้ ก็ถูกทำลายยับเยินด้วย 14กษัตริย์อันทิโอคัสเสด็จมาที่นั่นพร้อมกับพระสหาย ทรงเสแสร้งว่าจะอภิเษกสมรสกับเทพีนาเนีย เพื่อจะได้รับทรัพย์สมบัติจำนวนมากเป็นเงินสินสอด 15บรรดาสมณะของเทพีนาเนียนำทรัพย์สมบัติออกมาแสดง อันทิโอคัสเสด็จเข้าไปในวิหารชั้นในกับทหารติดตามบางคน เมื่อเสด็จเข้าไปแล้ว บรรดาสมณะก็ปิดประตู 16เปิดประตูลับบนเพดาน ขว้างก้อนหินใส่กษัตริย์อันทิโอคัสและพวกอย่างรุนแรงเหมือนสายฟ้าจนเสียชีวิต แล้วจึงตัดศพออกเป็นท่อนๆ ตัดศีรษะiโยนออกไปให้ผู้ที่อยู่ข้างนอก 17ขอถวายพระพรแด่พระเจ้าของเราตลอดไป พระองค์ทรงบันดาลให้คนอธรรมต้องพินาศ

พระเจ้าทรงรักษาไฟศักดิ์สิทธิ์j

            18พวกเรากำลังจะฉลองการชำระพระวิหารในวันที่ยี่สิบห้าเดือนคิสเลฟ จึงคิดว่าควรแจ้งให้ท่านทราบ เพื่อท่านจะฉลองเทศกาลอยู่เพิง และฉลองไฟที่ปรากฏ เมื่อเนหะมีย์kถวายเครื่องบูชาหลังจากที่สร้างพระวิหารและพระแท่นบูชาขึ้นใหม่ 19เมื่อบรรพบุรุษของเราถูกเนรเทศไปอยู่ในแคว้นเปอร์เซีย บรรดาสมณะที่เลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้าในสมัยนั้นลอบนำไฟจากพระแท่นบูชาไปซ่อนไว้ในโพรงของบ่อแห้ง เอาใจใส่มิให้ใครรู้ว่าไฟถูกซ่อนที่ใด 20หลายปีต่อมา เมื่อพระเจ้าพอพระทัย กษัตริย์แห่งเปอร์เซียlทรงส่งเนหะมีย์มาที่กรุงเยรูซาเล็ม เนหะมีย์จึงสั่งให้ลูกหลานของบรรดาสมณะที่เคยซ่อนไฟไว้ ไปค้นหาไฟนั้น เมื่อคนเหล่านั้นยืนยันว่าm เขาหาไฟไม่พบ พบแต่น้ำข้นๆ เท่านั้น เนหะมีย์จึงสั่งให้ไปตักน้ำนั้นมาให้ตน 21เมื่อเครื่องบูชาถูกนำมาวางไว้บนพระแท่นแล้ว เนหะมีย์ก็สั่งสมณะให้เอาน้ำนั้นมาประพรมฟืนและเครื่องบูชาที่วางอยู่บนกองฟืน 22บรรดาสมณะก็ทำเช่นนั้น ต่อมาไม่นานเมฆเคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เริ่มส่องแสง ทำให้เกิดไฟลุกใหญ่จนทุกคนประหลาดใจ 23ขณะที่เครื่องบูชาถูกเผา บรรดาสมณะก็อธิษฐานภาวนาพร้อมกับทุกคน โยนาธานnเป็นผู้นำการอธิษฐานภาวนา ทุกคนและเนหะมีย์ร้องรับพร้อมกัน

          24คำอธิษฐานมีความว่าดังนี้ “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง ผู้ทรงพระอานุภาพน่าเกรงขาม ทรงเที่ยงธรรมและทรงพระกรุณา พระองค์ผู้เดียวทรงเป็นกษัตริย์และทรงความดี 25พระองค์ผู้เดียวทรงพระทัยกว้างขวาง ทรงเที่ยงธรรมและทรงสรรพานุภาพ ทรงดำรงอยู่ตลอดนิรันดร ทรงช่วยอิสราเอลให้พ้นจากภัยทั้งปวง ทรงเลือกสรรบรรพบุรุษ และบันดาลให้เขาเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ 26โปรดทรงรับการบูชาที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเพื่ออิสราเอลประชากรของพระองค์ โปรดทรงคุ้มครองผู้ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ และทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเถิด 27โปรดทรงรวบรวมข้าพเจ้าทั้งหลายที่กระจัดกระจายอยู่o โปรดทรงปลดปล่อยผู้ที่เป็นทาสของชนต่างชาติให้เป็นอิสระ โปรดทรงพระเมตตาทอดพระเนตรผู้ถูกสบประมาทและถูกเหยียดหยาม ชนต่างชาติจะได้รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย 28โปรดทรงลงโทษผู้ที่ข่มเหงและสาปแช่งข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยความหยิ่งยโส 29โปรดทรงบันดาลให้ประชากรของพระองค์ตั้งมั่นอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ดังที่โมเสสสัญญาไว้เถิด”

          30แล้วบรรดาสมณะก็ขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและดีดพิณคลอ 31เมื่อถวายเครื่องเผาบูชาแล้ว เนหะมีย์ก็สั่งให้เทน้ำที่เหลือลงบนหินก้อนใหญ่ 32เมื่อทำดังนี้ เปลวไฟก็ลุกขึ้น แต่แสงของไฟนี้สว่างสู้แสงไฟบนพระแท่นบูชาไม่ได้ 33เมื่อเหตุการณ์เรื่องนี้เล่าลือกัน มีผู้ไปทูลกษัตริย์ของชาวเปอร์เซียให้ทรงทราบว่า มีผู้พบน้ำในที่ที่สมณะได้ซ่อนไฟไว้ก่อนจะไปในถิ่นเนรเทศ เนหะมีย์กับผู้ที่อยู่กับเขาใช้น้ำนี้ชำระสิ่งต่างๆ ที่ใช้ถวายบูชาp 34กษัตริย์ทรงบัญชาให้สอบสวนเรื่องนี้ แล้วทรงให้สร้างรั้วล้อมสถานที่นั้นไว้ และทรงประกาศให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 35กษัตริย์ทรงรับของถวายจำนวนมากจากผู้ที่โปรดปราน และทรงแจกจ่ายรายได้จากผลตอบแทนของน้ำนั้น 36ผู้ที่อยู่กับเนหะมีย์เรียกน้ำนั้นว่า “เนฟธาร์” แปลว่า “ชำระให้บริสุทธิ์” แต่คนส่วนมากนิยมเรียกว่า “นัฟธา”q

1 a จดหมายทั้งสองฉบับนี้มีเจตนาเชิญชวนชาวยิวในอียิปต์ให้เฉลิมฉลองการถวายพระวิหาร (ดู 1 มคบ 4:59 เชิงอรรถ l) เรื่องราวใน 2 มคบ จนถึง 10:8 เล่าเหตุการณ์ที่เป็นภูมิหลังของวันฉลองนี้

b ชาวยิวไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในอียิปต์นานมาแล้ว กลุ่มที่เรารู้จักดีกว่าเพื่อนก็คือกลุ่มที่อยู่บนเกาะเอเลฟันไตน์ (ในแม่น้ำไนล์)  นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. ราวปี 150 ก่อน ค.ศ. สมณะโอนีอัสที่ 4 ได้สร้างวิหารที่เมืองเล-อนโตโปลิส ตามแบบพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม โดยย่อส่วนให้เล็กลง (ดู 1 มคบ 10:20 เชิงอรรถ d) โอนีอัสที่ 4 ผู้นี้เป็นบุตรของโอนีอัสที่ 3 ซึ่งถูกฆ่าที่เมืองดัฟเน (4:33ฯ) ชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มต้องการรักษาความสัมพันธ์ในการนมัสการพระเจ้ากับพี่น้องร่วมชาติในอียิปต์ ซึ่งในขณะนั้นถูกกษัตริย์โทเลมีที่ 8 เบียดเบียน

c ข้อความนี้อ้างถึงจดหมายที่ชาวยิวในแคว้นยูเดียเขียนถึงชาวยิวในอียิปต์เมื่อปี 169 ศักราชกรีก (= ปี 142 ก่อน ค.ศ. ดู 1 มคบ 1:10 เชิงอรรถ f) เกี่ยวกับความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับตนเมื่อยาโสนทรยศต่อธรรมประเพณีของบรรพบุรุษ (ดู 2 มคบ 4:7ฯ) เมื่อยูดาสมัคคาบีและพรรคพวกถวายพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง ความทุกข์ยากเหล่านั้นก็จบลง เพราะเหตุนี้ ชาวยิวในแคว้นยูเดียจึงเขียนจดหมายเชิญชวนให้ชาวยิวในอียิปต์เฉลิมฉลองวันถวายพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มร่วมกับตนด้วย

d ปีหนึ่งร้อยแปดสิบแปดศักราชกรีก ตรงกับปี 124 ก่อน ค.ศ. “เทศกาลอยู่เพิง” ในเดือนคิสเลฟ (= ธันวาคม) นี้ (ดูข้อ 18) ไม่ใช่เทศกาลอยู่เพิงในเดือนติสรี (= ตุลาคม) (ดู 2 มคบ 10:6 และ ลนต 23:34ฯ) แต่เป็นวันฉลองการถวายพระวิหาร (1 มคบ 4:59 เชิงอรรถ l) ที่มีกิจกรรมคล้ายกับในเทศกาลอยู่เพิง

e จดหมายฉบับที่สองนี้อ้างว่าเป็นเอกสารที่เขียน 40 ปีก่อนฉบับแรกที่เพิ่งกล่าวถึง (เป็นการเชิญชวนให้ชาวยิวที่อยู่ในอียิปต์ร่วมฉลองการถวายพระวิหาร ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 25 เดือนคิสเลฟ (= 15 ธันวาคม ปี 164 ก่อน ค.ศ.) ข้อความในจดหมายนี้เล่าข่าวลือเรื่องการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อันทิโอคัสเอปีฟาเนส กับเรื่องที่ชาวบ้านเล่ากันถึงเนหะมีย์และประกาศกเยเรมีย์ ผู้เขียนอ้างถึงจดหมายนี้ตอนต้นของหนังสือก็จริง แต่ไม่ได้รับรองว่ารายละเอียดของเรื่องเหล่านี้เป็นความจริง

f “ยูดาส” ผู้นี้คือ ยูดาสมัคคาบี

g อาริสโตบูลัสเป็นชาวยิวที่เมืองอเล็กซานเดรีย มีชื่อเสียงเพราะได้เขียนคำอธิบายหนังสือปัญจบรรพโดยใช้วิธีอุปมานิทัศน์ (allegory) เขาถวายหนังสือของตนแด่กษัตริย์โทเลมีที่ 6 “ฟีโลเมเตอร์” (180-145 ก่อน ค.ศ.)

h เทพีนาเนียเป็นเทพีที่ชาวเมโสโปเตเมียเคารพนับถือ ตรงกับเทพีอาร์เทมิสที่ชาวเอเฟซัสเคารพนับถือ วิหารที่กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 เอปีฟาเนส ทรงประสงค์จะปล้นก็คือ วิหารถวายแด่เทพีอาร์เทมิสที่เมืองเอลีมาอิส

i “ตัดศีรษะ” ต้นฉบับภาษากรีกอยู่ในรูปพหูพจน์ แต่สำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียคฉบับหนึ่งอยู่ในรูปเอกพจน์ จึงหมายถึงพระเศียรของกษัตริย์เท่านั้น รายละเอียดเรื่องการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสที่นี่ไม่ตรงกับรายละเอียดที่เล่าไว้ใน 9:1ฯ หรือใน 1 มคบ 6:1ฯ เราไม่รู้แน่ว่ากษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสสิ้นพระชนม์อย่างไร ชาวบ้านคงใช้จินตนาการเล่าถึงการสิ้นพระชนม์ตามแบบการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 3 ซึ่งทรงถูกประหารชีวิตพร้อมกับกองทัพหลังจากเข้าปล้นวิหารของเทพเจ้าเบลที่เมืองเอลีมาอิสด้วย

j เรื่องนี้มีเจตนาพิสูจน์ว่าพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มหลังที่สองที่สร้างขึ้นหลังกลับจากเนรเทศ มิได้สูญเสียความโปรดปรานพิเศษจากพระเจ้า เพราะยังรักษาแม้กระทั่งไฟศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมไว้ (ดู ลนต 6:5-6)

k เนหะมีย์เป็นผู้สร้างชุมชนชาวยิวหลังกลับจากเนรเทศร่วมกับเอสรา ราวปี 445-425 มีเอกสารนอกสารบบพระคัมภีร์ที่มีชื่อว่า “บันทึกความจำของเนหะมีย์” (2:13) เล่าว่าเนหะมีย์เป็นผู้สร้างพระแท่นบูชาและพระวิหารขึ้นใหม่ แต่โดยแท้จริงแล้ว ชาวยิวถวายพระแท่นบูชาแด่พระเจ้าในปี 538 ก่อน ค.ศ. และ ถวายพระวิหารหลังที่สองในปี 515 ก่อน ค.ศ. (ดู อสร 3:1ฯ; 6:14ฯ) จงสังเกตว่าพระคัมภีร์เล่าว่าเศรุบบาเบลถวายพระแท่นบูชาแด่พระเจ้าระหว่างเทศกาลอยู่เพิง (อสร 3:4)

l กษัตริย์แห่งเปอร์เซียพระองค์นี้คงหมายถึงกษัตริย์อาร์ทาเซอร์ซิสที่ 1 (464-423 ก่อน ค.ศ.)

m “ยืนยันว่า” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “บอกเราว่า”

n “โยนาธาน” มหาสมณะในสมัยของเนหะมีย์คือ เอลียาชิบและเยโฮยาดา (นหม 3:1; 13:28) ส่วนโยนาธาน (หรือ “โยคานาน”) เป็นบุตรของเยโฮยาดา เป็นมหาสมณะในภายหลัง (ดู นหม 12:11)

o “ที่กระจัดกระจายอยู่” การที่ชาวยิวต้องพลัดพรากจากแผ่นดินคานาอันไปอยู่ในหมู่ชนต่างชาตินับเป็นการลงโทษจากพระเจ้า (ดู ฉธบ 30:11; นหม 1:8ฯ; สดด 147:2; อสย 49:6)

p รายละเอียดที่กษัตริย์ทรงได้รับฟัง ไม่ตรงทีเดียวกับรายละเอียดในเรื่องก่อนหน้านี้

q “เนฟธาร์–นัฟธา” มีการเล่นคำที่นี่ คำ “เนฟธาร์” ในภาษาฮีบรูหมายถึง “การชำระ” “การแก้” ส่วนคำ “นัฟธา” มาจากภาษาเปอร์เซีย หมายถึง “น้ำมันดิบ” น้ำข้นๆ ที่กล่าวถึงในเรื่องนี้คงเป็นน้ำมันดิบซึ่งชาวตะวันออกกลางรู้จักและใช้ในพิธีกรรมมาแต่โบราณ

ประกาศกเยเรมีย์ซ่อนกระโจมนัดพบ หีบพันธสัญญาและพระแท่นบูชา

2 1เอกสารเขียนไว้ว่าประกาศกเยเรมีย์a สั่งให้ผู้ถูกเนรเทศนำไฟไปด้วย ดังที่เราได้กล่าวแล้ว 2ประกาศกมอบธรรมบัญญัติแก่ผู้ถูกเนรเทศ เตือนเขามิให้ลืมบทบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้า ทั้งมิให้คิดไขว้เขวออกห่าง เมื่อไปเห็นรูปเคารพทำด้วยทองคำหรือเงินกับเครื่องประดับ 3เขายังใช้ถ้อยคำคล้ายกันเตือนผู้ถูกเนรเทศมิให้ละทิ้งธรรมบัญญัติออกไปจากใจ 4เอกสารฉบับเดียวกันเล่าอีกว่าประกาศกได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า จึงขึ้นไปบนภูเขาที่โมเสสขึ้นไปชมแผ่นดินที่พระเจ้าจะประทานให้เป็นมรดก และสั่งให้บางคนนำกะโจมนัดพบและหีบพันธสัญญาตามตนไปด้วย 5เมื่อเยเรมีย์ไปถึงที่นั่น เขาพบถ้ำกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง จึงนำกระโจมนัดพบ หีบพันธสัญญา และพระแท่นเผากำยานมาไว้ที่นั่น แล้วปิดทางเข้า 6ต่อมา บางคนที่เคยไปกับเขากลับไปที่นั่น เพื่อทำเครื่องหมายชี้ทาง แต่ก็หาถ้ำไม่พบ 7เมื่อเยเรมีย์รู้เรื่องนี้ เขาก็ตำหนิพวกนั้นว่า “อย่าให้ใครรู้จักสถานที่นั้นจนกว่าพระเจ้าจะทรงรวบรวมประชากรของพระองค์ไว้ด้วยกันอีก และทรงพระกรุณาต่อเขา 8เวลานั้น พระเจ้าจะทรงชี้ทางให้ไปพบสิ่งเหล่านี้ พระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะปรากฏอยู่ในก้อนเมฆ เหมือนที่ปรากฏแก่โมเสส และที่ปรากฏเมื่อกษัตริย์ซาโลมอนทรงอธิษฐานขอให้สถานที่นั้นbเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง”

          9เอกสารนั้นยังเล่าว่ากษัตริย์ซาโลมอนผู้ทรงพระปรีชา ทรงถวายเครื่องบูชา เมื่อทรงถวายพระวิหารที่ทรงสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วแด่พระเจ้า 10โมเสสเคยอธิษฐานต่อพระเจ้า แล้วไฟจากท้องฟ้าลงมาเผาเครื่องบูชาฉันใด กษัตริย์ซาโลมอนทรงอธิษฐาน แล้วไฟก็ลงมาจากท้องฟ้าเผาเครื่องบูชาฉันนั้น 11โมเสสเคยพูดว่า “เนื่องจากไม่มีผู้ใดกินเครื่องบูชาที่ถวายเพื่อชดเชยบาป ไฟจึงลงมาเผาเครื่องบูชานั้น” 12กษัตริย์ซาโลมอนยังทรงฉลองการถวายพระวิหารเป็นเวลาแปดวันอีกด้วย

ห้องสมุดของเนหะมีย์

            13นอกจากเหตุการณ์เหล่านี้แล้ว ยังมีจารึกไว้ทั้งในเอกสารดังกล่าวและในบันทึกความจำของเนหะมีย์cว่า เขาได้สร้างห้องสมุดและรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับบรรดากษัตริย์ เกี่ยวกับบรรดาประกาศก ข้อเขียนของกษัตริย์ดาวิด และพระราชสาสน์ของบรรดากษัตริย์เกี่ยวกับของถวายd 14ยูดาสยังรวบรวมหนังสือเหล่านี้ที่กระจัดกระจายไป เพราะสงครามที่เกิดขึ้นแก่เรา และหนังสือเหล่านี้ยังอยู่กับเรา 15ถ้าท่านทั้งหลายต้องการ ก็จงส่งคนมารับไปเถิด


คำเชิญชวนให้ฉลองวันถวายพระวิหาร

          16เราเขียนถึงท่านขณะที่กำลังจะฉลองวันถวายพระวิหาร ถ้าท่านร่วมฉลองวันเหล่านี้ด้วยจะเป็นการดีมาก 17พระเจ้าทรงช่วยประชากรทั้งหลายให้รอดพ้น และประทานแผ่นดินให้เป็นมรดกแก่เราทุกคน รวมทั้งพระอาณาจักร สมณภาพ และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ 18ดังที่ทรงสัญญาไว้ในธรรมบัญญัติ เราวางใจในพระเจ้าว่าในไม่ช้าพระองค์จะทรงพระกรุณาต่อเรา จะทรงรวบรวมพวกเราจากทุกแห่งใต้ท้องฟ้ามาอยู่ในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงช่วยเราให้พ้นภัยพิบัติยิ่งใหญ่ และทรงชำระพระวิหารให้บริสุทธิ์

 

II. คำนำของผู้เขียน

          19เรื่องราวของยูดาสมัคคาบีและญาติพี่น้อง การชำระพระวิหารให้หมดมลทิน การถวายพระแท่นบูชาแด่พระเจ้า 20การสงครามกับกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส และกษัตริย์ยูปาเตอร์พระโอรส 21การที่พระเจ้าทรงสำแดงพระอานุภาพแก่วีรบุรุษผู้สู้รบอย่างกล้าหาญเพื่อความเชื่อในศาสนายิว ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อย ก็ยังยึดแผ่นดินทั้งหมดกลับคืนมา ขับไล่ชนต่างชาติไร้อารยธรรมจำนวนมากออกไป 22ยึดพระวิหารที่มีชื่อเสียงในโลกกลับคืนมา ปลดปล่อยเมืองเป็นอิสระ และรื้อฟื้นกฎหมายที่เกือบจะถูกยกเลิกขึ้นมาใหม่ได้ เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดปรานเขาทั้งหลายอย่างมากด้วยพระกรุณา 23เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ยาโสนชาวไซรีนเล่าไว้แล้วในหนังสือห้าเล่ม เราจึงพยายามสรุปไว้ในหนังสือเพียงเล่มเดียวe

            24เมื่อคำนึงว่าผู้ปรารถนาจะศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก 25เราจึงพยายามให้ความสนุกแก่ผู้ที่ชอบอ่าน ให้ความสะดวกแก่ผู้ต้องการจะจดจำ และให้ประโยชน์แก่ทุกคนที่จับหนังสือนี้ขึ้นมา 26แต่การสรุปเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่งานง่ายสำหรับเรา เพราะต้องลำบาก เสียเหงื่อและอดนอน 27เช่นเดียวกับผู้จัดเตรียมงานเลี้ยงฉลอง ต้องมีภาระไม่น้อยในการตอบสนองรสนิยมต่างๆ ของผู้อื่น ถึงกระนั้น เราก็ยินดีลำบากเพื่อทำให้คนจำนวนมากพอใจ 28เราจึงปล่อยให้ผู้เขียนเดิมเล่าเรื่องอย่างละเอียด แต่เราพยายามสรุปเพียงสาระสำคัญ 29สถาปนิกผู้สร้างบ้านหลังใหม่ต้องคิดคำนึงถึงการก่อสร้างทั้งหมด แต่ผู้ตกแต่งและวาดฝาผนังต้องเอาใจใส่เพียงการประดับประดาเท่านั้น เราก็คิดว่าเป็นเช่นนี้สำหรับเราด้วย 30ผู้เขียนประวัติศาสตร์จะต้องรวบรวมข้อมูล จัดลำดับเรื่อง ตรวจสอบรายละเอียดอย่างถี่ถ้วน 31แต่ผู้สรุปย่อมเอาใจใส่เล่าเรื่องเพียงสั้นๆ โดยตัดรายละเอียดปลีกย่อยของเรื่อง 32ดังนั้น เราจะเริ่มเรื่องของเราโดยไม่เพิ่มเรื่องใดอีกนอกจากที่กล่าวไว้แล้ว การเขียนคำนำยาว แล้วเล่าเหตุการณ์เพียงสั้นๆ จึงไม่สมเหตุสมผล

 

2 a ประกาศกเยเรมีย์ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากชาวยิวหลังสมัยเนรเทศ (ดู 15:13-15) ชาวยิวคิดว่าประกาศกเยเรมีย์เป็นผู้ประพันธ์ พคค และจดหมายต่อต้านการนับถือรูปเคารพใน บรค 6 (Vg) รวมทั้งหนังสือหลายฉบับนอกสารบบพระคัมภีร์ หนังสือนอกสารบบเหล่านี้ฉบับหนึ่ง ซึ่งบัดนี้สูญหายไปแล้ว คงเล่าเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ที่นี่ เรื่องที่เล่านี้เป็นจริงไปไม่ได้ เพราะกระโจมนัดพบไม่มีอีกแล้วตั้งแต่กษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างพระวิหารหลังแรก หีบพันธสัญญาก็สูญหายไปเมื่อพระวิหารหลังนี้ถูกทำลายในปี 587 ก่อน ค.ศ. และประกาศกเยเรมีย์ก็ไม่เคยเสียดายหีบพันธสัญญานี้เลย (ยรม 3:16) ผู้เล่าเรื่องนี้มีเจตนายืนยันความต่อเนื่องของการนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ (ดู 1:18 เชิงอรรถ j) และแสดงว่าการฉลองวันถวายพระวิหารในสมัยมัคคาบีสอดคล้องกับการถวายพระวิหารหลังแรกในรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน และสอดคล้องกับการที่โมเสสสร้างกระโจมนัดพบถวายแด่พระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร (ดูข้อ 8-12)

b “สถานที่นั้น” (ดู 2:18; 3:2, 18, 30, 38; 5:16-20; 10:7; 13:23; 15:34) หรือ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” (1:29; 2:18; 8:17) มีความหมายเดียวกัน หมายถึงพระวิหาร แต่ยังอาจหมายถึง “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์” ด้วยก็ได้ เช่นใน 2:18

c “บันทึกความจำของเนหะมีย์” เป็นหนังสือนอกสารบบพระคัมภีร์ที่อาจสูญหายไปแล้ว และไม่มีหลักฐานอื่นอ้างถึง

d หนังสือต่างๆ ที่กล่าวมานี้ไม่อยู่ในสารบบพระคัมภีร์ แต่ชาวยิวคงใช้อ่านบำรุงศรัทธา ยูดาสมัคคาบีก็เคยรวบรวมหนังสือต่างๆ ไว้ในห้องสมุดเช่นเดียวกัน (ข้อ 14)

e รัชสมัยของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส และอันทิโอคัส ยูปาเตอร์ (ข้อ 20) อยู่ระหว่างปี 175-162 ก่อน ค.ศ. ถึงกระนั้น ยาโสน นักเขียนสำคัญของชุมชนชาวยิวในแคว้นไซรีน ได้เขียนเล่าเหตุการณ์ของช่วงเวลามากกว่านั้น ชัยชนะเหนือนิคาโนร์เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 160 ก่อน ค.ศ. ในรัชสมัยของกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 1 ส่วนเรื่องเฮลีโอโดรัส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เล่าก็เกิดขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์เซเลวคัสที่ 4 พระเชษฐาของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส และเป็นพระบิดาของกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 1

III. เฮลีโอโดรัสaลบหลู่พระวิหาร

เฮลีโอโดรัสมาที่กรุงเยรูซาเล็ม

3 1เวลานั้น ประชาชนในนครศักดิ์สิทธิ์ดำเนินชีวิตอยู่อย่างสงบสุข และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด เพราะมหาสมณะโอนีอัสbมีความเลื่อมใสศรัทธาและเกลียดชังความชั่วร้าย 2บรรดากษัตริย์ทรงเคารพพระวิหารและประทานของถวายมีค่าอย่างยิ่ง 3เช่น กษัตริย์เซเลวคัสแห่งอาเซียทรงสละรายได้ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องบูชาc 4แต่ชายผู้หนึ่งชื่อซีโมน จากตระกูลบิลกาห์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการพระวิหารd เขาทะเลาะกับมหาสมณะในเรื่องระเบียบจัดการตลาดในเมือง 5เมื่อเขาเอาชนะโอนีอัสไม่ได้ เขาจึงไปพบอปอลโลเนียสชาวเมืองทาร์ซัส ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการแคว้นซีเรียใต้และแคว้นฟีนีเซีย 6บอกเขาว่าห้องคลังที่กรุงเยรูซาเล็มมีทรัพย์สมบัติมากมายจนคำนวณราคาไม่ได้ ซึ่งไม่จำเป็นในการใช้จ่ายจัดหาเครื่องบูชา และเป็นไปได้ที่จะนำทรัพย์สมบัติเหล่านี้มาถวายให้เป็นของกษัตริย์

          7อปอลโลเนียสไปเฝ้ากษัตริย์ ทูลพระองค์เรื่องทรัพย์สมบัติที่มีผู้มารายงานให้เขารู้ พระองค์จึงทรงเลือกเฮลีโอโดรัส มนตรีคนหนึ่ง ทรงส่งเขาไปยึดทรัพย์สมบัติดังกล่าว 8เฮลีโอโดรัสออกเดินทางไปทันที ทำทีว่าจะไปเยี่ยมเมืองต่างๆ ในแคว้นซีเรียใต้และแคว้นฟีนีเซีย แต่แท้จริงแล้วจะไปปฏิบัติตามพระประสงค์ของกษัตริย์ 9เมื่อเขาไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม มหาสมณะได้ต้อนรับเขาอย่างมีเกียรติ เขาก็แจ้งมหาสมณะถึงเรื่องที่มีคนมาบอก และเหตุผลที่เขามา แล้วถามว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่ 10มหาสมณะอธิบายว่าทรัพย์สมบัติที่ฝากไว้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นของหญิงม่ายและลูกกำพร้า และอีกส่วนหนึ่งเป็นของฮีร์กันบุตรของโทเบียส ซึ่งมีตำแหน่งสูงมากe ทรัพย์สมบัติทั้งหมดเป็นเงินหนักสี่ร้อยตะลันต์ เท่ากับสิบสองตัน และทองคำfหนักสองร้อยตะลันต์ เท่ากับหกตันเท่านั้น ต่างกับที่ซีโมนผู้ทรยศได้ปั้นเรื่องขึ้นมา 12เขายังบอกอีกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะคดโกงผู้ศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ และในความยิ่งใหญ่ที่ล่วงละเมิดมิได้ของพระวิหาร ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือทั่วโลก

 

ชาวเยรูซาเล็มกังวลใจ

13เฮลีโอโดรัสตอบว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์ และนำทรัพย์สมบัตินั้นเข้าพระคลัง 14ในวันที่กำหนด เขาก็เข้าไปตรวจทรัพย์สมบัติ ทั่วทั้งเมืองมีความทุกข์อย่างยิ่ง 15บรรดาสมณะสวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ กราบลงหน้าพระแท่นบูชา ทูลวอนขอพระเจ้าผู้ทรงวางกฎเกี่ยวกับการฝากเงิน ให้ทรงช่วยรักษาของฝากให้ปลอดภัยสำหรับผู้ฝาก 16ผู้ที่เห็นใบหน้าของมหาสมณะรู้สึกปวดร้าวใจ เพราะสายตาและสีหน้าของเขาแสดงความทรมานใจ 17เขาตกใจกลัวจนร่างกายสั่นเทา ผู้ที่เห็นก็รู้ว่าเขามีความทุกข์ใจอย่างยิ่ง 18ประชาชนออกจากบ้านเรือนรีบไปชุมนุมกันวอนขอพระเจ้า เพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กำลังจะถูกลบหลู่ 19บรรดาสตรีสวมเสื้อผ้ากระสอบเปลือยอก**มาอยู่เต็มท้องถนน หญิงสาวบางคนที่ตามปกติอยู่ในบ้าน วิ่งมาชุมนุมกันที่ประตูเมือง หรือกำแพงเมือง บางคนก็แอบมองมาทางหน้าต่าง 20ทุกคนชูมือสู่สวรรค์ อธิษฐานภาวนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า 21น่าอนาถที่ได้เห็นประชาชนมากมายกราบวอนขอพระเจ้าในท่าต่างๆ และเห็นมหาสมณะเป็นทุกข์และหวาดกลัว 22ขณะที่ทุกคนกำลังวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพให้ทรงพิทักษ์รักษาทรัพย์สินให้ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ฝากไว้ในพระวิหาร 23เฮลีโอโดรัสตั้งใจปฏิบัติตามแผนการของตน

พระเจ้าทรงลงโทษเฮลีโอโดรัส

            24เฮลีโอโดรัสมาถึงห้องคลังของพระวิหารพร้อมกับทหารคุ้มกัน พระเจ้าจอมจักรวาลผู้ทรงสรรพานุภาพทรงสำแดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทรงบันดาลให้ผู้ที่กล้าเข้าไปต้องตกตะลึงเมื่อเห็นพระอานุภาพของพระเจ้า และเป็นลมหมดสติไปด้วยความกลัว 25บุรุษผู้หนึ่งหน้าตาน่ากลัวปรากฏมา เขาขี่ม้าที่มีเครื่องประดับงดงาม ม้าตัวนี้พุ่งปราดเข้ามาใช้กีบเท้าหน้าโขกเฮลีโอโดรัส คนขี่ม้าประหนึ่งสวมเกราะทองคำ 26ชายหนุ่มอีกสองคนแข็งแรงอย่างน่าอัศจรรย์ หน้าตางดงามมาก แต่งกายสวยงามปรากฏมายืนคนละข้าง เฆี่ยนตีเฮลีโอโดรัสไม่หยุดจนนับครั้งไม่ถ้วน 27เฮลีโอโดรัสล้มฟุบลงที่พื้น มองอะไรไม่เห็นเหมือนมีความมืดห้อมล้อมอยู่ ทหารคุ้มกันจึงมายกเขาวางไว้บนแคร่หาม 28เฮลีโอโดรัสที่ก่อนหน้านี้เข้ามาในห้องคลังของพระวิหารพร้อมกับบริวารและกองทหารคุ้มกัน กลับต้องถูกหามออกไปอย่างผู้ที่ช่วยตนเองไม่ได้ ทุกคนต้องยอมรับอย่างเปิดเผยว่าพระเจ้าทรงสำแดงพระอานุภาพ 29ขณะที่เฮลีโอโดรัสต้องนอนนิ่งพูดไม่ได้ และหมดหวังที่จะเอาชีวิตรอดเพราะพระอานุภาพของพระเจ้า 30คนอื่นๆ ก็สรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงปกป้องเกียรติยศของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ก่อนหน้านี้เล็กน้อย ที่พระวิหารมีแต่คนหวาดกลัวและตกใจ แต่บัดนี้เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดงพระอานุภาพแล้วg ทุกคนต่างมีความร่าเริงยินดี

          31ทหารบางคนของเฮลีโอโดรัสรีบวอนขอโอนีอัส ให้ทูลขอพระผู้สูงสุดได้ทรงพระกรุณาประทานชีวิตแก่ผู้ที่กำลังนอนรอความตายอยู่นี้ 32มหาสมณะเกรงว่ากษัตริย์อาจทรงคิดว่าชาวยิวได้วางอุบายทำร้ายเฮลีโอโดรัส จึงถวายเครื่องบูชาเพื่อให้เฮลีโอโดรัสหายเป็นปกติ 33ขณะที่มหาสมณะถวายเครื่องบูชาชดเชยบาป ชายหนุ่มทั้งสองคนสวมเสื้อผ้าชุดเดิมปรากฏมายืนอยู่ต่อหน้าเฮลีโอโดรัส กล่าวว่า “จงขอบคุณมหาสมณะโอนีอัสอย่างมากเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระกรุณาประทานชีวิตแก่ท่านอีกเพราะเห็นแก่เขา 34ท่านถูกสวรรค์ลงโทษแล้ว จงประกาศให้คนทั้งหลายรู้ถึงพระอานุภาพยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเถิด” พอกล่าวจบ เขาก็หายตัวไป

 

เฮลีโอโดรัสกลับใจ

          35เฮลีโอโดรัสถวายเครื่องบูชาแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า อธิษฐานภาวนาขอบพระคุณที่ทรงไว้ชีวิตของตน แล้วจึงอำลาโอนีอัสกลับไปเฝ้ากษัตริย์พร้อมกับกำลังพล 36เขาเป็นพยานยืนยันให้ทุกคนรู้ถึงกิจการของพระเจ้าสูงสุดดังที่เขาได้เห็นมากับตา 37เมื่อกษัตริย์ตรัสถามเฮลีโอโดรัสว่าควรส่งผู้ใดไปกรุงเยรูซาเล็มอีก เฮลีโอโดรัสทูลตอบว่า 38ถ้าพระองค์ทรงมีศัตรูหรือผู้วางแผนร้ายต่อพระองค์ ขอทรงส่งเขาไปเถิด เขาจะถูกเฆี่ยนตีอย่างสาสม ถ้าเขามีชีวิตรอด เขาก็จะกลับมา เพราะพระอานุภาพของพระเจ้าอยู่ในสถานที่นั้นอย่างแท้จริง 39พระองค์ผู้สถิตในสวรรค์ทรงเฝ้ารักษาและทรงป้องกันสถานที่แห่งนั้น ทรงเฆี่ยนตีและทรงทำลายผู้มีเจตนาจะมาทำร้ายสถานที่นั้น

          40นี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเฮลีโอโดรัส และการที่พระเจ้าทรงปกป้องทรัพย์สินในห้องคลังของพระวิหาร

3 a ผู้เขียนได้รักษาเรื่องน่าตื่นเต้นนี้จากหนังสือของยาโสน เพื่อเป็นตัวอย่างอธิบายความคิดที่ให้ไว้ในข้อ 39 (พระเจ้าทรงคุ้มครองประชากรของพระองค์) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์เซเลวคัสที่ 4 ฟีโลปาเตอร์ (187-175 ก่อน ค.ศ.) ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กษัตริย์พระองค์นี้ทรงต้องการยึดทรัพย์สมบัติของพระวิหาร เพราะไม่ทรงมีเงินเพียงพอสำหรับชำระหนี้แก่ชาวโรมัน ที่กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 3 พระบิดาทรงต้องจ่ายให้ชาวโรมัน เมื่อทรงแพ้สงครามที่เมือง Magnesia ในปี 189 ก่อน ค.ศ. (ดู 1 มคบ 8:7)

b โอนีอัสที่ 3 เป็นบุตรของมหาสมณะซีโมนที่ 2 ซึ่ง บสร 50:1ฯ กล่าวชมไว้ โอนีอัสก็ได้รับคำชมด้วยใน 2 มคบ 4:5-6; 15:12 ครอบครัวของโอนีอัสเป็นตระกูลมหาสมณะในช่วงเวลาที่ชาวเปอร์เซียปกครองชาวยิว เพราะสืบสกุลมาจากมหาสมณะโยชูวา (นหม 12:10ฯ) ซึ่งสืบสกุลมาจากศาโดก (ดู 2 ซมอ 8:17; 1 พศด 5:27ฯ)

c กษัตริย์โทเลมีที่ 2 และ 3 ของอียิปต์ รวมทั้งกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 3 แห่งซีเรีย เคยพระราชทานสิ่งของถวายพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษก่อน (เทียบ ของถวายของกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 1 ใน 1 มคบ 10:39ฯ)

d “บิลกาห์” ตามสำนวนแปลโบราณภาษาละติน และภาษาอาราเมอิก ต้นฉบับภาษากรีกว่า “เบนยามิน” บิลกาห์เป็นหัวหน้าของตระกูลสมณะ (ดู นหม 12:5, 18; 1 พศด 24:14)

e “ตำแหน่งสูง” ของฮีร์กันคือ ตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นชาวอัมโมน (ดู 1 มคบ 5:13 เชิงอรรถ e)

f จำนวนเงินและทองคำที่กล่าวนี้ดูจะเกินความจริง

** ในสมัยนั้น สตรีชาวยิวแสดงการไว้ทุกข์โดยสวมเสื้อผ้ากระสอบ เปลือยอก สยายผมและข้อนอก

g วรรณกรรมทั้งของชาวยิวและของชาวกรีก-โรมันชอบเล่าเรื่องการสำแดงพระองค์และพระอานุภาพของพระเจ้าหรือเทพเจ้า ** ใน 2 มคบ พระเจ้าทรงสำแดงพระอานุภาพโดยทรงปรากฏองค์ หรือโปรดให้อิสราเอลมีชัยชนะเหนือศัตรูซึ่งมีกำลังพลมากกว่า

IV. การเบียดเบียนในรัชสมัยกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส

 

ความผิดของซีโมนผู้ดูแลพระวิหาร

4 1เราเคยพูดถึงซีโมนแล้ว ว่าเขาเอาเรื่องทรัพย์สินในพระวิหารและเรื่องราวภายในของบ้านเมืองไปเปิดเผยแก่อปอลโลเนียส เขายังใส่ร้ายโอนีอัสว่าเป็นผู้ทำร้ายเฮลีโอโดรัส และก่อให้เกิดความวุ่นวายต่างๆa 2เขากล้าเรียกโอนีอัสว่าเป็นศัตรูต่อบ้านเมือง ทั้งๆ ที่โอนีอัสเป็นผู้มีบุญคุณต่อกรุงเยรูซาเล็ม ป้องกันเพื่อนร่วมชาติ และรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด 3มีความเกลียดชังกันอย่างมากจนลูกน้องคนหนึ่งของซีโมนเริ่มฆ่าคน 4เมื่อโอนีอัสเห็นว่าความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น และอปอลโลเนียสบุตรของเมเนสธิอัส ผู้ปกครองแคว้นซีเรียใต้และแคว้นฟีนีเซียยุยงให้ซีโมนทำความชั่วร้าย 5เขาจึงไปทูลกษัตริย์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคลของประชาชน มิใช่เพื่อกล่าวหาเพื่อนร่วมชาติ 6โอนีอัสเห็นว่าถ้ากษัตริย์ไม่ทรงช่วย บ้านเมืองจะมีความสงบสุขไม่ได้ และซีโมนจะไม่เลิกความบ้าคลั่งของตน

 

มหาสมณะยาโสนนำวัฒนธรรมกรีกเข้ามา

          7เมื่อกษัตริย์เซเลวคัสสิ้นพระชนม์ อันทิโอคัสซึ่งมีสมญาว่า “เอปีฟาเนส”b ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อมา ยาโสนน้องชายของโอนีอัสcได้รับตำแหน่งมหาสมณะมาอย่างไม่ชอบธรรม 8เขาไปเฝ้ากษัตริย์ สัญญาว่าจะถวายเงินหนักสามร้อยหกสิบตะลันต์ เท่ากับสิบสองตัน และเงินอีกแปดสิบตะลันต์ เท่ากับสามตัน จากรายได้อื่นๆ 9นอกจากนี้ เขายังสัญญาจะจ่ายเงินอีกหนึ่งร้อยห้าสิบตะลันต์ เท่ากับห้าตัน ถ้าเขาได้รับอำนาจให้เปิดสถานฝึกกีฬาและศูนย์ฝึกชายหนุ่มd และให้จดทะเบียนชาวกรุงเยรูซาเล็มเป็นชาวเมืองอันทิโอก

          10เมื่อกษัตริย์ทรงอนุญาต ยาโสนก็เข้ารับตำแหน่ง และบังคับเพื่อนร่วมชาติให้ดำเนินชีวิตตามแบบชาวกรีก 11ยกเลิกสิทธิพิเศษที่กษัตริย์ทรงพระกรุณามอบให้ชาวยิว เมื่อยอห์นบิดาของยูโปเลมัสทูลขอ ยูโปเลมัสผู้นี้เคยนำคณะทูตไปที่กรุงโรม เพื่อทำสัญญาเป็นมิตรไมตรีกับชาวโรมัน ยาโสนยกเลิกสถาบันที่สอดคล้องกับธรรมบัญญัติและนำประเพณีที่ขัดกับธรรมบัญญัติเข้ามา 12เขารีบสร้างสถานฝึกกีฬาไว้ที่เชิงภูเขาที่ตั้งป้อมปราการe แล้วเชิญชวนชายหนุ่มผู้มีสกุลให้สวมหมวกแบบกรีกf 13ยาโสนมหาสมณะจอมปลอมผู้ไม่นับถือพระเจ้าทำความชั่วร้ายมากมาย จนชาวกรุงเยรูซาเล็มคลั่งขนบธรรมเนียมกรีกและประเพณีต่างชาติอย่างหนัก 14บรรดาสมณะไม่สนใจประกอบพิธีกรรมที่พระแท่นบูชา ลบหลู่พระวิหารและละเลยการถวายเครื่องบูชา เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่มการกีฬาg ก็รีบไปยังสถานฝึกกีฬาเพื่อร่วมการแข่งขันกีฬาที่ธรรมบัญญัติห้าม 15เขาไม่เคารพกิจการที่บรรพบุรุษถือว่ามีเกียรติ กลับไปยกย่องกิจการที่ชาวกรีกถือว่ามีเกียรติอย่างสูงสุด 16เพราะเหตุนี้เอง เขาจึงตกในอันตรายใหญ่หลวง ผู้ที่เขาพยายามเลียนแบบความเป็นอยู่และต้องการดำเนินชีวิตตามทุกประการ กลับเป็นศัตรูและผู้กดขี่ 17การละเมิดบทบัญญัติของพระเจ้าจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่อไปนี้

          18ที่เมืองไทระมีการแข่งขันกีฬาเฉพาะพระพักตร์เป็นประจำทุกสี่ปี 19ยาโสนอาชญากรส่งชาวเยรูซาเล็มบางคนที่ลงทะเบียนเป็นชาวอันทิโอกไปชมกีฬาแทนตน นำเหรียญเงินกรีกสามร้อยดรักมาไปเพื่อถวายเครื่องบูชาแด่เทพเฮอร์คิวลิส แต่ผู้ถือเงินกลับตัดสินใจว่าไม่ควรใช้เงินนั้นเพื่อถวายบูชา ควรใช้อย่างอื่นดีกว่า 20ดังนั้น เงินที่ยาโสนกำหนดให้ใช้เพื่อถวายเครื่องบูชาแด่เทพเฮอร์คิวลิสจึงถูกนำไปใช้สร้างเรือรบตามที่ผู้ถือเงินตัดสินใจ

ชาวกรุงเยรูซาเล็มรับเสด็จกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสอย่างยิ่งใหญ่

          21มีพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ฟีโลเมเตอร์hที่อียิปต์ กษัตริย์อันทิโอคัสทรงส่งอปอลโลเนียส บุตรของเมเนสเธอัสไปร่วมพิธี ทรงทราบว่ากษัตริย์ฟีโลเมเตอร์ไม่ทรงเห็นด้วยกับนโยบายของพระองค์ จึงทรงเป็นห่วงถึงความปลอดภัยและเสด็จไปเมืองยัฟฟา แล้วเสด็จต่อไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม 22ที่กรุงเยรูซาเล็ม ยาโสนและชาวเมืองรับเสด็จพระองค์อย่างยิ่งใหญ่ จุดคบเพลิงเข้าขบวนเสด็จและโห่ร้องด้วยความยินดี แล้วพระองค์เสด็จพร้อมกับกองทัพไปยังแคว้นฟีนีเซียi

เมเนเลาส์แย่งชิงตำแหน่งมหาสมณะจากยาโสน

            23สามปีต่อมา ยาโสนส่งเมเนเลาส์น้องชายของซีโมนคนที่เราได้กล่าวถึงแล้ว นำเงินjไปถวายกษัตริย์ และเพื่อปรึกษาพระองค์ในเรื่องสำคัญบางเรื่อง 24เมื่อเมเนเลาส์เข้าเฝ้ากษัตริย์ เขาถวายความเคารพกษัตริย์อย่างผู้มีอำนาจ ประมูลตำแหน่งมหาสมณะ โดยเสนอเงินหนักสามร้อยตะลันต์มากกว่ายาโสน จึงได้รับตำแหน่งมหาสมณะ 25เขานำเอกสารแต่งตั้งจากกษัตริย์กลับมาที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่เขาไม่มีคุณสมบัติใดเหมาะสมกับตำแหน่งมหาสมณะเลย เขาเป็นคนบ้าอำนาจอย่างทรราช และเหี้ยมโหดเยี่ยงสัตว์ป่า 26ดังนั้น ยาโสนที่เคยแย่งชิงตำแหน่งจากพี่ชายของตน บัดนี้ถูกอีกคนหนึ่งแย่งชิงตำแหน่ง จนต้องถูกขับไล่ไปลี้ภัยอยู่ในเขตแดนของชาวอัมโมน 27เมเนเลาส์ยึดอำนาจได้ตำแหน่งมหาสมณะแล้ว ก็ไม่ยอมจ่ายเงินให้กษัตริย์ตามที่สัญญาไว้ 28ทั้งๆ ที่โสสตราตัสผู้บัญชาการป้อมปราการและมีหน้าที่เก็บภาษีได้ขอร้องแล้ว เพราะเหตุนี้ กษัตริย์จึงทรงเรียกทั้งสองคนมาเฝ้า 29เมเนเลาส์ให้ลีซิมาคัสน้องชายทำหน้าที่มหาสมณะแทน ส่วนโสสตราตัสให้คราเตสเป็นผู้บัญชาการทหารชาวไซปรัสkแทนตน

โอนีอัสถูกฆ่า

          30ขณะที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ชาวเมืองทาร์ซัสและชาวเมืองมัลลัสก่อการกบฏ เพราะกษัตริย์ทรงยกเมืองทั้งสองนี้เป็นของขวัญแก่พระนางอันทิโอคิสพระสนม 31ดังนั้น กษัตริย์จึงรีบเสด็จไปจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย โดยให้อันโดรนิคัสซึ่งเป็นขุนนางตำแหน่งสูงคนหนึ่งรักษาการแทนพระองค์ 32เมเนเลาส์คิดว่าเป็นโอกาสดี จึงขโมยภาชนะทองคำจากพระวิหารมาให้อันโดรนิคัส แล้วนำภาชนะอื่นๆ ไปขายที่เมืองไทระและเมืองใกล้เคียง 33เมื่อโอนีอัสรู้เรื่องนี้โดยมีหลักฐานแล้ว ก็หนีไปยังสถานที่ปลอดภัยที่เมืองดัฟนีใกล้เมืองอันทิโอก แล้วกล่าวหาเมเนเลาส์ 34เมเนเลาส์ไปพบอันโดรนิคัสเป็นการส่วนตัว ขอให้กำจัดโอนีอัส อันโดรนิคัสจึงไปพบโอนีอัส หลอกลวงเขาให้วางใจ จับมือสาบานเป็นมิตร แล้วชักชวนให้โอนีอัสออกจากสถานที่ปลอดภัย ทั้งๆ ที่โอนีอัสยังสงสัยอยู่ แล้วอันโดรนิคัสฆ่าเขาทันที โดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรม 35เพราะเหตุนี้ ทั้งชาวยิวและชนต่างชาติต่างเสียใจและโกรธแค้นอันโดรนิคัสที่ฆ่าคนดีคนนี้อย่างอยุติธรรม

          36เมื่อกษัตริย์เสด็จกลับจากแคว้นซีลีเซีย ชาวเมืองที่เป็นยิวคบคิดกับชาวกรีกที่เกลียดชังการฆ่านี้ทูลกษัตริย์ให้ทรงทราบเรื่องที่โอนีอัสถูกฆ่าอย่างอยุติธรรม 37กษัตริย์อันทิโอคัสเศร้าพระทัยมาก ทรงสงสารโอนีอัส ทรงกันแสงเมื่อทรงระลึกถึงปรีชาญาณและความรอบคอบของผู้ตาย 38พระองค์กริ้วยิ่งนัก ทรงกระชากเสื้อคลุมสีม่วงแดงออกจากอันโดรนิคัส ทรงฉีกเสื้อผ้าของเขา และทรงบัญชาให้นำตัวแห่ประจานไปทั่วเมืองจนมาถึงที่ที่เขาได้ฆ่าโอนีอัส แล้วทรงขจัดฆาตกรผู้นี้ออกไปจากโลก ณ ที่แห่งนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงลงโทษเขาอย่างสาสมด้วยประการฉะนี้l

ลีซิมาคัสถูกฆ่าในการจลาจล

            39เมเนเลาส์ยินยอมให้ลีซิมาคัสทำโจรกรรมที่กรุงเยรูซาเล็มหลายครั้ง มีข่าวลือว่าภาชนะทองคำจำนวนมากถูกขโมยไป ประชาชนจึงมาชุมนุมกันต่อต้านลีซิมาคัส 40ผู้มาชุมนุมโกรธแค้นจนถึงขั้นก่อการจลาจล ลีซิมาคัสนำคนถืออาวุธประมาณสามพันคนมาปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้ควบคุมกำลังคราวนี้คือออรานัส ซึ่งมีอายุมากและบ้าคลั่งมากด้วย 41เมื่อประชาชนเห็นว่าลีซิมาคัสเข้ามาโจมตีก็คว้าก้อนหินบ้าง ท่อนไม้บ้าง หรือกอบขี้เถ้าซึ่งอยู่ที่นั่นmมาขว้างใส่ลีซิมาคัสและผู้ที่อยู่กับเขาอย่างชุลมุน 42ทำให้หลายคนบาดเจ็บ บางคนเสียชีวิต คนที่รอดตายทุกคนต้องหนีไป ประชาชนฆ่าคนขโมยที่ลบหลู่พระวิหารใกล้ๆ กับห้องคลัง

เมเนเลาส์ให้สินบนเพื่อพ้นโทษ

            43มีผู้กล่าวหาว่าเมเนเลาส์เป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดนี้ 44เมื่อกษัตริย์เสด็จมาที่เมืองไทระ สภาผู้อาวุโสก็ส่งชายสามคนมาฟ้องเขาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม 45เมเนเลาส์เห็นว่าตนจะต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จึงสัญญาจะให้เงินจำนวนมากแก่โทเลมีบุตรของดอริเมเนส เพื่อให้กษัตริย์ทรงตัดสินว่าตนไม่ผิด 46โทเลมีจึงทูลเชิญกษัตริย์ให้ทรงพระดำเนินไปที่เฉลียง ประหนึ่งว่าอยากจะได้อากาศบริสุทธิ์ ทูลชักชวนกษัตริย์ให้เปลี่ยนพระทัย 47กษัตริย์ทรงปล่อยเมเนเลาส์ผู้เป็นต้นเหตุของความชั่วร้ายทั้งหมดนี้พ้นข้อกล่าวหา แล้วทรงลงโทษประหารชีวิตคนที่น่าสงสาร ซึ่งคงจะได้รับการตัดสินว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หากมาดำเนินคดีต่อหน้าชาวซีเธียนที่โหดร้าย 48ผู้ที่ปกป้องบ้านเมือง ปกป้องประชากร และภาชนะศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารถูกลงโทษอย่างอยุติธรรมทันที 49ชาวเมืองไทระรู้สึกขุ่นเคืองเพราะเหตุการณ์นี้ จึงจัดงานศพอย่างยิ่งใหญ่ให้ผู้ถูกประหารชีวิตเหล่านี้ 50ส่วนเมเนเลาส์ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพราะความโลภของผู้มีอำนาจบางคน เขาประพฤติชั่วร้ายมากยิ่งขึ้น แสดงตนเป็นศัตรูร้ายกาจต่อชนชาติเดียวกับตน

4 a ซีโมนอ้างว่าโอนีอัสอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่เฮลีโอโดรัส ไม่ใช่เป็นอัศจรรย์จากเบื้องบน

b “เอปีฟาเนส” คือกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 (175-164 ก่อน ค.ศ.) พระอนุชาของกษัตริย์เซเลวคัสที่ 4

c การสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์เซเลวคัสที่ 4 ในปี 175 ก่อน ค.ศ. ทำให้ความหวังของโอนีอัสจบลง โยชูวาน้องชายของโอนีอัสนิยมวัฒนธรรมกรีกอย่างมากจนเปลี่ยนชื่อของตนเป็น “ยาโสน”

d “ศูนย์ฝึกชายหนุ่ม” หมายถึงสมาคมของชายหนุ่มอายุระหว่าง 18-20 ปี เพื่อฝึกความพร้อมสำหรับการรบ รวมทั้งฝึกกายบริหารและศิลปวิทยา การจดทะเบียนชาวกรุงเยรูซาเล็มเป็นชาวอันทิโอกเช่นนี้เท่ากับว่าเปลี่ยนชื่อกรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองอันทิโอก เพื่อเป็นเกียรติแด่กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 ด้วย

e “ป้อมปราการ” เป็นที่ตั้งกองทหารซีเรีย อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของลานพระวิหาร (ดู นหม 7:2) ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรดมหาราชป้อมนี้จะได้ชื่อว่า “ป้อมอันโตเนีย” สนามกีฬาจึงตั้งอยู่ติดกับพระวิหาร

f หมวกนี้มีชื่อเรียกว่า “Petasos” มีปีกกว้าง เป็นสัญลักษณ์และสวมเป็นเกียรติแด่เทพเจ้าเฮอร์เมส ผู้อุปถัมภ์ของนักกีฬา

g แปลตามตัวอักษรว่า “สัญญาณของการขว้างจาน”

h “พิธีราชาภิเษก” กษัตริย์โทเลมีที่ 6 ฟีโลเมเตอร์ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอียิปต์ในปี 172 ก่อน ค.ศ. และทรงครองราชย์จนถึงปี 145 ก่อน ค.ศ. ทรงเป็นพระนัดดาของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสแห่งซีเรีย เพราะพระมารดาคือ พระนางเคลโอพัตราที่ 1 ทรงเป็นพระเชษฐภคินีของกษัตริย์อันทิโอคัส * สำเนาโบราณบางฉบับว่า “พิธีราชาภิเษกสมรส” (เทียบ มธ 23:6) โทเลมี ฟีโลเมเตอร์ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเคลโอพัตราที่ 2 พระเชษฐภคินีในปี 174 ก่อน ค.ศ.

i “แคว้นฟีนีเซีย” เขตปกครองของแคว้นนี้ขยายลงมาถึงบริเวณชายทะเลของปาเลสไตน์อีกด้วย เมืองยัฟฟาอาจเป็นที่พำนักของกษัตริย์

j เงินที่นำไปถวายกษัตริย์นี้คือบรรณาการประจำปี (ดู 4:8; 1 มคบ 11:23) อาจรวมจำนวนเงินที่ยาโสนสัญญาจะถวายด้วย (ดู 4:9)

k ทหารชาวไซปรัสคงเป็นทหารรับจ้างในกองทัพซีเรีย

l โอนีอัสผู้นี้คือ “เจ้านายผู้รับเจิม” ใน ดนล 9:25ฯ และ “เจ้านายแห่งพันธสัญญา” ใน ดนล 11:22 * ความตายของโอนีอัสเป็นการเริ่ม “ช่วงเวลาเจ็ดปี” (week of years) ครั้งที่ 70 ณ จุดกึ่งกลางของ 7 ปีสุดท้ายนี้การถวายบูชาอย่างถูกต้องจะถูกระงับ และจะมีการตั้งรูป “ผู้ทำลายที่น่ารังเกียจ” (ดนล 9:27; ดู 2 มคบ 1:9; 6:2; 10:5; 1 มคบ 1:54; 4:52; ดนล 7:25; 8:11-14; 11:31; 12:11ฯ) ช่วงเวลาสามปีครึ่ง หรือครึ่งหนึ่งของ 7 ปี จึงตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ โอนีอัสถูกฆ่าในฤดูร้อนปี 170 ก่อน ค.ศ. ส่วนรูปเคารพ “ผู้ทำลายที่น่ารังเกียจ” ถูกตั้งขึ้นในฤดูหนาวปี 167 ก่อน ค.ศ. (1 มคบ 1:54) 3 ปีครึ่งต่อมา ยูดาสมัคคาบีจะชำระพระวิหารในปี 164 ก่อน ค.ศ. ส่วนเลข 7 ปี 70 ครั้งนั้น ยืมมาจาก ยรม 35:11-12; 29:10

m “ขี้เถ้าซึ่งอยู่ที่นั่น” คงจะหมายถึงขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาเครื่องบูชาในลานพระวิหาร การจลาจลคงเกิดขึ้นที่นั่น

สงครามครั้งที่สองกับอียิปต์

5 1ในช่วงเวลานั้น กษัตริย์อันทิโอคัสทรงเตรียมกองทัพไปทำสงครามกับอียิปต์เป็นครั้งที่สองa 2ตลอดเวลาเกือบสี่สิบวัน ชาวกรุงเยรูซาเล็มเห็นทหารม้าควบม้าไปมาในอากาศ สวมเสื้อทอด้วยด้ายทอง จัดเป็นกลุ่มถือหอกและดาบเป็นอาวุธ 3เขาเห็นทหารม้าตั้งแถวเรียงรายเข้าต่อสู้ประจัญบานกันทั่วไป ทหารจำนวนมากกวัดแกว่งโล่ ถือหอก ยิงธนู เครื่องประดับทองคำ และเสื้อเกราะทุกชนิดส่องแสงเป็นประกาย 4ทุกคนจึงอธิษฐานภาวนาขอให้ภาพที่เห็นเป็นนิมิตดีb

กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสทรงปราบกบฏยาโสน

            5มีข่าวลือกันผิดๆ ว่ากษัตริย์อันทิโอคัสสิ้นพระชนม์ ยาโสนจึงนำกำลังพลไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคนเข้าโจมตีเมือง ขับไล่ทหารป้องกันกำแพงเมือง และยึดเมืองได้ในที่สุด เมเนเลาส์ลี้ภัยอยู่ในป้อมปราการ 6ยาโสนฆ่าชาวเมืองเดียวกันอย่างเหี้ยมโหด ไม่เข้าใจว่าการชนะเพื่อนร่วมชาติของตนคือความพ่ายแพ้อย่างใหญ่หลวง เขาคิดเพียงว่าเขาชนะศัตรู ไม่ใช่ชนะเพื่อนร่วมชาติ 7แต่เขาก็ยึดอำนาจปกครองไม่ได้ ต้องได้รับความอับอายที่ทรยศ และในที่สุดต้องลี้ภัยไปอยู่ในเขตแดนของชาวอัมโมนอีก 8เขาต้องจบชีวิตอย่างน่าอนาถ อาเรตัสกษัตริย์ของชาวอาหรับทรงจองจำเขา ต่อมาเขาต้องหนีจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งc ถูกทุกคนตามล่าและถูกเกลียดชังในฐานะที่เป็นผู้ทรยศต่อธรรมบัญญัติ เป็นที่น่ารังเกียจเพราะเป็นศัตรูของบ้านเมืองและประชาชน ต้องหนีไปอียิปต์ 9ผู้ที่เคยขับไล่เพื่อนร่วมชาติหลายคนจากบ้านเมืองต้องเสียชีวิตในถิ่นเนรเทศในหมู่ชาวสปาร์ตา เขาหวังจะได้รับความคุ้มครองเพราะความเป็นญาติกัน 10ผู้ที่ปล่อยให้ศพจำนวนมากถูกทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ใดฝัง ก็ต้องเสียชีวิตโดยไม่มีผู้ใดไว้ทุกข์ให้ ไม่มีพิธีศพ ไม่มีโอกาสถูกฝังในหลุมศพของบรรพบุรุษ

          11กษัตริย์ทรงทราบเรื่องเหล่านี้ ทรงคิดว่าแคว้นยูเดียเป็นกบฏ จึงกริ้วยิ่งนักประดุจสัตว์ร้าย เสด็จกลับจากอียิปต์มาโจมตีกรุงเยรูซาเล็มและยึดได้ 12ทรงบัญชาทหารให้ฆ่าทุกคนที่พบอย่างโหดเหี้ยม และฆ่าทุกคนที่หลบซ่อนอยู่ในบ้าน 13มีการฆ่าหมู่ครั้งใหญ่ ทั้งคนหนุ่ม คนแก่ ผู้หญิงและเด็ก สาวพรหมจารีและทารกถูกฆ่าตายทั้งหมด 14ในระยะเวลาสามวัน กรุงเยรูซาเล็มสูญเสียพลเมืองแปดหมื่นคน สี่หมื่นคนถูกฆ่าในการสู้รบ อีกไม่น้อยกว่าสี่หมื่นคนถูกขายเป็นทาส

การปล้นพระวิหาร

          15กษัตริย์ยังไม่พอพระทัยเช่นนี้ จึงเสด็จเข้าในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทั่วแผ่นดิน โดยมีเมเนเลาส์ผู้ทรยศต่อธรรมบัญญัติและต่อบ้านเมืองเป็นผู้นำ 16ทรงใช้พระหัตถ์ที่มีมลทินจับต้องและยึดภาชนะศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่กษัตริย์องค์อื่นๆ เคยถวายเพื่อเพิ่มความงดงามและเกียรติยศของพระวิหาร พระองค์ก็ทรงใช้พระหัตถ์ที่มีมลทินริบเอาไป

17กษัตริย์อันทิโอคัสมีพระทัยหยิ่งผยอง เข้าพระทัยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงละทิ้งพระวิหารชั่วขณะ เพราะทรงลงโทษบาปของชาวเมือง 18ถ้าเขาไม่ทำบาปมากมาย เมื่อกษัตริย์เสด็จเข้าไป พระองค์คงต้องทรงถูกเฆี่ยนและต้องเลิกการกระทำโอหัง เหมือนกับเฮลีโอโดรัสที่กษัตริย์เซเลวคัสทรงส่งไปสำรวจห้องคลังของพระวิหาร 19องค์พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงเลือกประชากรเพราะเห็นแก่พระวิหาร แต่ทรงเลือกพระวิหารเพราะเห็นแก่ประชากรd 20พระวิหารจึงต้องร่วมเคราะห์กรรมของประชากรด้วย แต่ภายหลังจะได้ร่วมในความโชคดี ทุกสิ่งที่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพทรงละทิ้งเพราะพระพิโรธ ก็จะได้รับความรุ่งเรืองคืนมา เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่คืนดีกับประชากรอีก

21กษัตริย์อันทิโอคัสทรงขนเงินหนักหนึ่งพันแปดร้อยตะลันต์ คือประมาณหกสิบตันไปจากพระวิหาร ทรงรีบเสด็จกลับไปเมืองอันทิโอก ทรงหยิ่งผยองว่าทรงให้เรือแล่นบนแผ่นดินและให้กองทัพเดินบนทะเลได้ พระองค์ทรงเพ้อฝันได้ถึงเพียงนี้ 22พระองค์ทรงปล่อยผู้ปกครองบางคนไว้ให้ข่มเหงประชาชน คือที่กรุงเยรูซาเล็ม ทรงปล่อยฟีลิปeชาวฟรีเจียโดยกำเนิดไว้ ซึ่งมีนิสัยเหี้ยมโหดมากกว่าพระองค์ที่ทรงแต่งตั้งเขา 23ทรงปล่อยอันโดรนีคัสfไว้บนภูเขาเกริซิม นอกจากคนเหล่านี้ ทรงปล่อยเมเนเลาส์ผู้ปกครองซึ่งกดขี่ข่มเหงเพื่อนร่วมชาติมากกว่าผู้อื่นไว้ด้วย

การกระทำของอปอลโลเนียสผู้ปกครองแคว้นมีเซีย

            กษัตริย์ทรงเกลียดชังชาวยิวยิ่งนัก 24จึงทรงส่งอปอลโลเนียสผู้ปกครองแคว้นมีเซียไปพร้อมกับกำลังทัพสองหมื่นสองพันคน ทรงรับสั่งให้ฆ่าชายฉกรรจ์ทุกคน จับผู้หญิงและเด็กนำไปขายเป็นทาส 25เมื่ออปอลโลเนียสมาถึงกรุงเยรูซาเล็ม เขาเสแสร้งว่ามาอย่างสันติ แล้วคอยจนถึงวันสับบาโตซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เขาฉวยโอกาสที่ชาวยิวหยุดงาน สั่งทหารให้เดินขบวนสวนสนาม 26แล้วฆ่าทุกคนที่ออกมาดูขบวน เขาวิ่งผ่านเมืองพร้อมกับทหาร ฆ่าคนเป็นจำนวนมาก

          27แต่ยูดาสมัคคาบีกับพรรคพวกอีกเก้าคนปลีกตัวไปยังถิ่นทุรกันดาร เขาหลบซ่อนอยู่ตามภูเขาพร้อมกับพวก เหมือนสัตว์ป่า กินแต่ผัก ไม่ยอมทำตนให้มีมลทินg                  

5 a ผู้เขียน 2 มคบ คิดว่ากษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 เสด็จมายึดกรุงเยรูซาเล็ม (ดู 5:11ฯ) เพราะเกิดการจลาจลที่นั่น (ข้อ 5ฯ) เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในปี 168 ก่อน ค.ศ. ระหว่างการยกทัพไปทำสงครามกับอียิปต์เป็นครั้งที่สอง แต่ลำดับเหตุการณ์ใน 1 มคบ น่าจะตรงกับความจริงมากกว่า กษัตริย์อันทิโอคัสทรงปล้นพระวิหารหลังกลับจากสงครามครั้งแรกกับอียิปต์ในปี 169 ก่อน ค.ศ. (1 มคบ 1:16-24) การจลาจลเกิดขึ้นในฤดูร้อนปี 168 ก่อน ค.ศ. และอปอลโลเนียสผู้ปกครองชาวมีเซีย ปราบการจลาจลนี้ในปี 167 ก่อน ค.ศ. (1 มคบ 1:29-35; ดู 2 มคบ 5:24-26 ด้วย)

b ผู้แต่ง 2 มคบ ชอบเล่าเรื่องอัศจรรย์ โดยเฉพาะนิมิตในท้องฟ้า (ดู 3:25; 10:29, 30; 11:8) ดังที่เคยสัญญาไว้ในอารัมภบท (2:21) จงเปรียบเทียบนิมิตเช่นนี้กับนิมิตที่โยเซฟุสเล่าในหนังสือ “สงครามของชาวยิว” ว่าประชาชนได้เห็นก่อนที่พระวิหารจะถูกทำลายในปี ค.ศ. 70

c “จากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง” สำนวนแปลโบราณภาษาละตินว่า “จากเมืองนั้น” หมายถึงเมืองเปตรา เมืองหลวง * กษัตริย์อาเรตัสผู้นี้คือ อาเรตัสที่ 1 กษัตริย์ของชาวนาบาเทีย (ดู 1 มคบ 5:25 เชิงอรรถ h)

d พระเจ้าทรงเลือกประชากรก่อน ต่อมาในภายหลังจึงทรงเลือกสถาบันทางศาสนา เช่นพระวิหาร ความคิดนี้ออกจะแปลกในพันธสัญญาเดิม (ดู ยรม 7:14) แต่จะชัดเจนขึ้นในพระวรสาร (มก 2:27)

e ฟีลิปชาวฟรีเจียที่จะกล่าวถึงใน 6:11 และ 8:8 เป็นคนละคนกับฟีลิป พระสหายของกษัตริย์ ใน 9:29 และ 1 มคบ 6:14

f อันโดรนีคัสผู้นี้ไม่ใช่คนเดียวกันกับที่กล่าวถึงใน 4:31ฯ เป็นเพียงผู้ปกครองเมืองหนึ่งแทนกษัตริย์ เช่นเดียวกับฟีลิป เขาคงอยู่ที่เมืองเชเคม เชิงภูเขาเกริซิม

g ผู้เขียน 2 มคบ เรียงลำดับเหตุการณ์ต่างจากที่มีเล่าอยู่ใน 1 มคบ 1:53; 2:28

ชาวยิวถูกบังคับให้ร่วมศาสนพิธีของชาวกรีก

6 1ต่อมา กษัตริย์ทรงส่งชาวเอเธนส์ผู้อาวุโสคนหนึ่งมาบังคับชาวยิวให้ละทิ้งขนบประเพณีของบรรพบุรุษ และไม่ให้ดำเนินชีวิตตามบทบัญญัติของพระเจ้าอีกต่อไป 2เขายังต้องทำให้พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเป็นมลทิน โดยถวายพระวิหารแด่เทพซุสแห่งภูเขาโอลิมเปีย และถวายพระวิหารบนภูเขาเกรีซิมแด่เทพซุสองค์อุปถัมภ์ของคนต่างถิ่น ตามที่ชาวบ้านขอร้องa 3ความชั่วร้ายแผ่ขยายทั่วไปอย่างมากจนไม่มีผู้ใดทนได้ 4พระวิหารกลายเป็นสถานที่ที่ชนต่างชาติประพฤติเสเพล เสพสุรามึนเมา สนุกสนานกับหญิงโสเภณี ร่วมเพศกับผู้หญิงที่เฉลียงของพระวิหารb ทั้งยังนำของต้องห้ามเข้าไปข้างในด้วย 5พระแท่นบูชาจึงเต็มไปด้วยของถวายน่ารังเกียจที่ธรรมบัญญัติห้ามไว้

          6มีข้อห้ามไม่ให้ถือวันสับบาโตหรืองานฉลองตามประเพณี และมิให้ประกาศตนว่าเป็นชาวยิว 7ในวันฉลองคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกเดือน ทุกคนถูกบังคับให้กินเนื้อจากเครื่องบูชา และเมื่อถึงวันฉลองเทพดีโอนีซัส ทุกคนต้องสวมมงกุฎเถาวัลย์ร่วมเดินขบวนแห่เป็นเกียรติแด่เทพดิโอนีซัสด้วย

          8ชาวเมืองโทเลมาอิสcทูลกษัตริย์ให้ออกพระราชกฤษฎีกาบังคับให้เมืองกรีกที่อยู่ใกล้ปฏิบัติต่อชาวยิวเช่นเดียวกัน บังคับเขาให้กินเนื้อจากเครื่องบูชา 9และฆ่าผู้ที่ไม่ยินยอมรับขนบประเพณีกรีก จึงเห็นได้ชัดว่าภัยพิบัติยิ่งใหญ่เข้ามาใกล้แล้ว

          10ดังเช่นหญิงสองคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำพิธีสุหนัตบุตรของตน ถูกบังคับให้อุ้มทารกไว้ที่อก เดินประจานไปทั่วเมือง แล้วถูกโยนลงมาจากกำแพงเมือง 11ชาวยิวคนอื่นที่มาชุมนุมกันในถ้ำใกล้ๆ เพื่อลอบฉลองวันสับบาโต ถูกฟ้องต่อฟิลิปแล้วถูกเผาทั้งเป็น เพราะเขาไม่กล้าป้องกันตนเพราะเห็นแก่ความศักดิ์สิทธิ์ของวันสับบาโต

พระเจ้าทรงจัดให้การเบียดเบียนเกิดผลดี

            12ข้าพเจ้าเชิญชวนผู้อ่านหนังสือนี้มิให้รู้สึกท้อแท้เพราะเหตุร้ายเหล่านี้ แต่ให้พิจารณาว่าพระเจ้าทรงลงโทษเช่นนี้มิใช่เพื่อทำลาย แต่เพื่อตีสั่งสอนชนชาติของเรา 13เป็นเครื่องหมายแสดงพระกรุณายิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ไม่ทรงปล่อยให้คนบาปอยู่อย่างสบายได้นานโดยไม่ถูกลงโทษ แต่ทรงลงโทษเขาทันที 14องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงตัดสินพระทัยปฏิบัติกับเราดังที่ทรงกระทำกับชนต่างชาติ พระองค์ทรงอดทนรอคอยจนกว่าเขาทำบาปถึงที่สุด จึงทรงลงโทษเขา 15แต่ทรงลงโทษเราทันทีโดยไม่ทรงรอให้เราทำบาปจนถึงที่สุดd 16ดังนี้ พระองค์ไม่ทรงยุติพระเมตตาที่ทรงมีต่อเรา แต่ทรงบันดาลให้เราประสบเหตุร้ายเพื่อทรงตีสั่งสอนเรา พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งประชากรของพระองค์เลย 17ขอให้ถ้อยคำเหล่านี้เตือนความจำ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะเล่าเรื่องต่อไป

เอเลอาซาร์สละชีพเพื่อศาสนา

          18เอเลอาซาร์ธรรมาจารย์สำคัญคนหนึ่ง มีอายุมากแล้ว แต่ยังสง่างาม ถูกบังคับให้อ้าปากกินเนื้อหมู 19แต่เขายอมตายอย่างมีเกียรติดีกว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างน่าอับอาย จึงเต็มใจเดินไปยังสถานที่ทรมาน 20เขาถ่มเนื้อหมูทิ้ง ประพฤติตนเหมาะสมกับผู้ที่ไม่ยอมกินอาหารที่ธรรมบัญญัติห้าม แม้จะต้องเสียชีวิต 21ผู้มีหน้าที่ดูแลการเลี้ยงที่ผิดบทบัญญัตินั้นแยกเขาออกไปเพราะความคุ้นเคยที่มีมานานแล้ว และขอร้องให้นำเนื้อที่ธรรมบัญญัติอนุญาตให้กินได้มากิน แสร้งทำเป็นกินเนื้อที่ถวายบูชาแล้วตามที่กษัตริย์ทรงบัญชา 22ถ้าเขาทำเช่นนี้ เขาจะรอดตาย เขาได้รับความกรุณานี้เพราะมิตรภาพที่ยาวนาน 23แต่เอเลอาซาร์ตัดสินใจอย่างน่าชื่นชมเหมาะสมกับอายุและเกียรติของความเป็นผู้อาวุโสน่าเคารพ เหมาะสมกับชีวิตไม่มีตำหนิตั้งแต่เยาว์วัย และเหมาะสมกับธรรมบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า จึงบอกทันทีให้นำตนไปประหารชีวิต 24“คนอายุอย่างเรานี้ไม่ควรจะเสแสร้งทำ เยาวชนหลายคนอาจจะคิดว่าเอเลอาซาร์อายุเก้าสิบปีแล้วยังเปลี่ยนใจไปดำเนินชีวิตอย่างคนต่างศาสนา 25ถ้าข้าพเจ้าจะเสแสร้งทำเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็จะเป็นเหตุให้เขาหลงผิด แล้วข้าพเจ้าจะมีมลทินได้รับความอับอายในวัยชรา 26บัดนี้ข้าพเจ้าอาจพ้นโทษทัณฑ์ของมนุษย์ได้ แต่จะหนีไม่พ้นพระหัตถ์ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพได้เลย ไม่ว่าข้าพเจ้าจะยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว 27ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงสละชีวิตอย่างกล้าหาญ ณ บัดนี้ เพื่อแสดงว่าข้าพเจ้าสมควรกับวัยชรา 28จะได้เป็นตัวอย่างที่มีเกียรติให้เยาวชนเห็นว่า ควรเต็มใจตายอย่างกล้าหาญเพื่อธรรมบัญญัติศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพ”e

          พูดเช่นนี้แล้ว เขาก็เดินไปยังสถานที่ทรมานทันที 29เมื่อผู้ที่นำเขาไปประหารชีวิตได้ยินคำพูดนี้ก็คิดว่าเอเลอาซาร์เสียสติ ผู้ที่เคยมีใจกรุณาต่อเขากลับเปลี่ยนใจเป็นศัตรู 30ขณะที่เอเลอาซาร์ถูกเฆี่ยนตีใกล้จะตาย เขาคร่ำครวญว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบทุกสิ่ง ทรงทราบว่าข้าพเจ้าอาจรอดพ้นความตายได้ ข้าพเจ้าถูกเฆี่ยนตี ร่างกายถูกทรมานอย่างสาหัส แต่จิตใจอดทนรับการทรมานด้วยความยินดีและเคารพยำเกรงพระองค์”

31เขาตายเช่นนี้ เป็นตัวอย่างความกล้าหาญและเป็นอนุสรณ์แห่งคุณธรรมทั้งแก่เยาวชนและแก่ประชากรส่วนใหญ่

 

6 a “ตามที่ชาวบ้านขอร้อง” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

b ในสมัยกรีก-โรมัน ในบริเวณวิหารมีเฉลียงและห้องต่างๆ ที่ใช้เพื่องานเลี้ยงฉลองทางศาสนา ซึ่งบ่อยครั้งจะเลยเถิดกลายเป็นการประพฤติเสเพล ในวิหารของแคว้นซีเรียยังมี “โสเภณีศักดิ์สิทธิ์” ประจำสักการสถานด้วย

c “ชาวเมืองโทเลมาอิส” แปลโดยคาดคะเน ชาวเมืองโทเลมาอิส (คือเมือง Acco ในปัจจุบัน) เป็นชาวกรีก เป็นศัตรูกับชาวยิว (ดู 13:25; 1 มคบ 5:15; 12:48)

d ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณจะพัฒนาความคิดนี้ต่อไป โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงพากเพียรอดทนต่อชนต่างชาติอีกด้วย (ปชญ 11:10; 12:20-22) ส่วน “ทำบาปจนถึงที่สุด” (ดู ดนล 8:23; 9:24; 1 ธส 2:16) สำนวนนี้โบราณมาก (ดู ปฐก 15:16)

e “ธรรมบัญญัติ” แปลตามตัวอักษรว่า “กฎหมายต่างๆ” สำหรับชาวยิวหมายถึงธรรมบัญญัติ (ดู 7:30; 10:26; 12:40; 15:9) ซึ่งเป็นเงื่อนไขของพันธสัญญา (ดู 1 มคบ 2:20) และเป็นประกันว่าพระเจ้าจะประทานพระพรให้ (ดู 2 มคบ 7:36; 8:15)

มารดาและบุตรเจ็ดคนยอมสละชีวิต a

7       1เหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น มารดาและบุตรเจ็ดคนถูกจับกุม กษัตริย์ทรงพยายามบังคับเขาให้กินเนื้อหมูซึ่งธรรมบัญญัติห้ามกิน โดยใช้แส้เฆี่ยนตีทรมาน 2บุตรคนหนึ่งพูดแทนพี่น้องว่า “พระองค์ทรงซักถามพวกเรานี้หวังจะทราบอะไรเล่า  เราพร้อมจะตายดีกว่าจะละเมิดธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษ”

          3กษัตริย์กริ้วยิ่งนัก รับสั่งให้นำกระทะและหม้อใบใหญ่มาตั้งบนเตาไฟ 4เมื่อกระทะและหม้อร้อนแล้ว พระองค์รับสั่งให้จับผู้ที่พูดแทนคนอื่นมาตัดลิ้น ถลกหนังศีรษะ ตัดมือตัดเท้าต่อหน้าพี่น้องและมารดา 5เมื่อเขาถูกกระทำเช่นนี้แล้ว กษัตริย์ทรงบัญชาให้โยนเขาลงทอดในกระทะทั้งเป็น ขณะที่ควันพลุ่งโขมงจากกระทะ มารดาและพี่น้องของเขาต่างพูดปลุกใจกันให้ยอมตายอย่างกล้าหาญด้วยถ้อยคำดังนี้ 6“พระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าทอดพระเนตรเห็นเราจากเบื้องบน ประทานกำลังให้แก่เราอย่างแท้จริง ดังที่โมเสสกล่าวในบทเพลงเมื่อยืนยันว่า ‘พระองค์จะทรงสงสารผู้รับใช้ของพระองค์’”

          7เมื่อพี่คนแรกตายแล้ว เขาก็นำน้องชายคนที่สองมาทรมาน ถลกหนังศีรษะและผมบนศีรษะออก แล้วถามว่า “พร้อมจะกินหมูไหม หรือจะยอมถูกฉีกร่างกายทีละส่วน” 8แต่เขาตอบเป็นภาษาของบรรพบุรุษb ว่า “ไม่กิน” เขาจึงถูกทรมานเช่นเดียวกับพี่ชายคนแรก 9เมื่อใกล้จะตาย เขาพูดว่า “พระองค์ทรงโหดร้าย ทรงทำลายชีวิตปัจจุบันของพวกเราได้ แต่พระเจ้า กษัตริย์จอมจักรวาลจะทรงบันดาลให้เรากลับคืนชีพมีชีวิตตลอดไปc เพราะเราได้ตายเพื่อธรรมบัญญัติของพระองค์”

          10ต่อจากนั้น คนที่สามก็ถูกทรมาน เมื่อถูกสั่ง เขาก็แลบลิ้นและยื่นมือออกมาอย่างกล้าหาญ 11แล้วพูดอย่างภาคภูมิใจว่า “พระเจ้าประทานอวัยวะเหล่านี้ให้ข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าพร้อมจะสละอวัยวะเหล่านี้เพราะเห็นแก่ธรรมบัญญัติของพระองค์ ข้าพเจ้าหวังว่าจะได้รับอวัยวะเหล่านี้คืนมาอีกครั้งหนึ่ง”d

          12กษัตริย์ทรงประหลาดพระทัยเช่นเดียวกับข้าราชบริพารที่หนุ่มคนนี้มีความกล้าหาญ จนไม่หวั่นไหวต่อการทรมานใดๆ 13เมื่อเขาตายแล้ว น้องชายคนที่สี่ก็ถูกทรมานเช่นเดียวกัน 14เมื่อใกล้จะตาย เขาพูดว่า “ตายด้วยน้ำมือมนุษย์เป็นสิ่งสวยงาม เมื่อมีความหวังว่าพระเจ้าจะประทานชีวิตให้อีก แต่พระองค์ ข้าแต่พระราชา พระองค์จะไม่มีวันได้กลับคืนพระชนมชีพอีกเลย”

          15น้องชายคนที่ห้าก็ถูกนำมาทรมาน 16เขาเงยหน้าขึ้นจ้องมองกษัตริย์แล้วพูดว่า “แม้ทรงเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ทรงอำนาจเหนือมนุษย์ ทรงทำตามพระประสงค์ได้ทุกอย่าง ขออย่าทรงคิดว่าพระเจ้าจะทรงทอดทิ้งชนชาติของเรา 17พระองค์ทรงรออีกไม่นาน ก็จะทรงเห็นพระอานุภาพยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ผู้จะทรงลงโทษพระองค์และพระราชวงศ์”

          18แล้วน้องชายคนที่หกก็ถูกนำออกมา เมื่อใกล้จะตายเขาพูดว่า “ขอพระองค์อย่าทรงเข้าพระทัยผิดเลย พวกเราถูกทรมานเช่นนี้ก็เพราะเราเป็นต้นเหตุ เราได้ทำบาปผิดต่อพระเจ้าของเรา ดังนั้น เหตุการณ์ประหลาดจึงเกิดขึ้น 19พระองค์ทรงกล้าต่อสู้พระเจ้า ขออย่าทรงคิดว่าจะทรงพ้นโทษได้”

          20เป็นเรื่องที่น่าชมเชยและน่าจดจำมารดาผู้นี้ตลอดไป นางเห็นบุตรทั้งเจ็ดคนตายในวันเดียวกัน ยังอดทนด้วยใจกล้าหาญเพราะมีความหวังในองค์พระผู้เป็นเจ้า 21นางมีความคิดสูงส่งอย่างยิ่ง มีความอ่อนโยนเยี่ยงสตรีและความกล้าหาญเยี่ยงบุรุษ นางเตือนใจบุตรแต่ละคนเป็นภาษาของบรรพบุรุษว่า  22”แม่ไม่รู้ว่าลูกมาอยู่ในครรภ์ของแม่ได้อย่างไร แม่มิใช่ผู้ที่ให้ลูกมีลมหายใจและชีวิต แม่มิใช่ผู้ที่จัดโครงสร้างของลูกแต่ละคน 23แต่พระเจ้าผู้ทรงเนรมิตโลกทรงเป็นผู้ให้กำเนิดมนุษยชาติและทรงเป็นบ่อเกิดของทุกสิ่ง พระองค์จะทรงพระกรุณาประทานลมหายใจและชีวิตคืนให้แก่ลูก เพราะบัดนี้ลูกสละชีวิตของตนเพราะเห็นแก่ธรรมบัญญัติของพระองค์”

          24กษัตริย์อันทิโอคัสทรงคิดว่านางดูถูกพระองค์ ทรงสงสัยว่าน้ำเสียงของนางแสดงการเยาะเย้ย เมื่อน้องชายคนเล็กยังไม่ตาย กษัตริย์ทรงสัญญาทั้งด้วยพระวาจาและด้วยคำสาบานว่า จะทรงให้เขาร่ำรวยและมีความสุขมาก ถ้าเขาละทิ้งขนบประเพณีของบรรพบุรุษ พระองค์จะทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นพระสหาย และจะทรงมอบตำแหน่งสูงให้ 25เมื่อทรงเห็นว่าชายหนุ่มไม่สนใจ จึงทรงเรียกมารดา ตักเตือนนางให้แนะนำบุตรเพื่อช่วยชีวิตของเขาไว้ 26กษัตริย์ทรงรบเร้านางอยู่นาน นางจึงรับปากว่าจะชักชวนบุตร 27นางก้มลงที่ตัวบุตร ดูถูกกษัตริย์ผู้โหดร้าย พูดเป็นภาษาของบรรพบุรุษว่า “ลูกเอ๋ย สงสารแม่เถิด แม่อุ้มท้องลูกมาถึงเก้าเดือน ให้นมเลี้ยงลูกเป็นเวลาสามปี เลี้ยงดูและอบรมลูกมาจนถึงอายุเท่านี้ เอาใจใส่ลูกอย่างดีตลอดมา 28ลูกเอ๋ย แม่ขอร้องให้ลูกมองดูสวรรค์และแผ่นดินเถิด  จงดูทุกสิ่งที่อยู่ในนั้น แล้วลูกจะรู้ว่าพระเจ้าทรงสร้างสิ่งเหล่านี้มิใช่จากสิ่งที่มีอยู่ก่อนe มนุษยชาติก็เกิดขึ้นโดยวิธีเดียวกัน 29อย่ากลัวเพชฌฆาตผู้นี้ แต่จงแสดงตนเป็นผู้เหมาะสมกับพี่ๆของลูก จงยอมตาย เพื่อแม่จะได้รับลูกกลับคืนมาพร้อมกับพี่ๆของลูกในวันที่พระเจ้าจะทรงพระกรุณา”

          30นางพูดยังไม่จบf ชายหนุ่มก็ร้องว่า “คอยอะไรอยู่เล่า ข้าพเจ้าไม่ฟังพระบัญชาของกษัตริย์ ข้าพเจ้าฟังแต่คำสั่งของธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่บรรพบุรุษผ่านทางโมเสส 31แต่พระองค์ผู้ทรงก่อให้เกิดเหตุร้ายทั้งหมดนี้แก่ชาวฮีบรูg จะไม่ทรงพ้นจากพระหัตถ์ของพระเจ้าได้เลย 32พวกเรารับความทุกข์ทรมานเพราะบาปของเรา 33องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงชีวิตกริ้วเราชั่วขณะเพื่อทรงลงโทษและตีสั่งสอนให้เราดีขึ้น แต่พระองค์จะทรงคืนดีกับผู้รับใช้ของพระองค์อีก 34ส่วนพระองค์ ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงเป็นคนอธรรมและโหดเหี้ยมที่สุด ขออย่าได้ทรงทะนงอย่างไร้เหตุผล โดยมีความหวังเกินความจริง เมื่อทรงยกพระหัตถ์ทำร้ายบุตรของพระเจ้าh 35พระองค์ยังไม่ทรงพ้นการตัดสินลงโทษจากพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพและทรงเห็นทุกสิ่ง 36บัดนี้ บรรดาพี่ที่ได้รับทรมานชั่วเวลาสั้นๆเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร ได้ตายเพราะความซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของพระเจ้าi  ส่วนพระองค์ พระองค์จะทรงได้รับคำตัดสินลงโทษอย่างยุติธรรมจากพระเจ้าเพราะความหยิ่งยโส 37ข้าพเจ้ายอมสละร่างกายและชีวิตเพื่อธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษเหมือนกับพี่ๆ  ข้าพเจ้าวอนขอให้พระเจ้าทรงพระกรุณาต่อชนชาติยิวโดยรวดเร็ว วอนขอให้พระองค์ ข้าแต่พระราชา ต้องทรงรับทรมานอย่างสาหัส จนทรงยืนยันว่ามีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวj 38พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพทรงลงโทษชนชาติของเราอย่างยุติธรรม ข้าพเจ้าวอนขอให้พระพิโรธสิ้นสุด เพราะข้าพเจ้าและพี่ๆยอมรับทรมาน”

          39เมื่อทรงได้ยินดังนี้ กษัตริย์กริ้วยิ่งนัก ทรงทรมานเขาอย่างโหดเหี้ยมมากกว่าคนอื่น เพราะทรงทนคำเยาะเย้ยไม่ได้ 40บุตรคนสุดท้ายตายโดยมิได้ละเมิดธรรมบัญญัติเลย เขาวางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม 41มารดาของบุตรเหล่านี้ตายเป็นคนสุดท้าย

          42เราได้เล่าถึงงานเลี้ยงถวายบูชาและความทารุณอย่างไม่น่าเชื่อมาเพียงพอแล้ว

7 a ผู้เขียน 2 มคบ เล่าเรื่องของเอเลอาซาร์ ธรรมาจารย์ เป็นตัวอย่างแล้ว ยังเล่าตัวอย่างของมารดาและบุตรเจ็ดคน การเบียดเบียนครั้งนี้ใช้วิธีการทารุณโหดร้ายต่อสตรีและเด็กด้วย (ดู 1 มคบ 1:60ฯ) เรื่องนี้คงจะได้เกิดขึ้นจริง แต่ผู้เล่าแต่งเติมรายละเอียดให้น่าอ่านขึ้น เช่นคำพูดของบุคคลในเหตุการณ์ – ความศรัทธาต่อมรณสักขีทั้ง 7 ท่านในสมัยมัคคาบี แผ่ขยายเข้ามาในยุโรป มีการสร้างโบสถ์หลายแห่งถวายเกียรติแด่ท่าน งานเขียนที่มีขื่อว่า “การรับทรมานของพี่น้องมัคคาบี” เป็นที่นิยมมากในอดีต และเป็นแบบฉบับของวิธีเล่าประวัติการรับทรมานของบรรดามรณสักขี

b “ภาษาของบรรพบุรุษ” (ดูข้อ 21 และ 27) ผู้เขียนคงคิดว่า “ภาษาของบรรพบุรุษ” คือภาษาฮีบรู (ดู 12:37; 15:29) แต่โดยแท้จริง หญิงคนนั้นคงพูดเป็นภาษาอาราเมอิก

c ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกายมีกล่าวไว้อย่างไม่ชัดเจนใน โยบ 19:26-27 และ อสย 26:19 (ดูเชิงอรรถ) แต่กล่าวถึงอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในหนังสือ 2 มคบ (ดูข้อ 11,14,23,29,36) และใน ดนล 12:2-3 หนังสือทั้งสองฉบับนี้สะท้อนเหตุการณ์ที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส ทรงเบียดเบียนชาวยิว (ดู ดนล 11 และ 2 มคบ 12:38-45; 14:46) พระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทรงพระอานุภาพที่จะประทานชีวิตใหม่ให้แก่มรณสักขีที่ยอมตายเพื่อยืนยันความเชื่อในพระองค์ – บรรดามรณสักขีเหล่านี้จะกลับคืนชีพ (ข้อ 23) มารับชีวิต (ข้อ 14 – ดู ยน 5:29) ซึ่งเป็นชีวิตนิรันดร (2 มคบ 7:9,36) ในสมัยเดียวกันนี้ เรายังพบคำสอนเรื่องอมตภาพ (ของมนุษย์) ซึ่งจะพัฒนาใน ปชญ 3:11 – 5:16 ในบริบทของความคิดแบบกรีกที่ไม่กล่าวถึงการกลับคืนชีพของร่างกายเลย แต่ความคิดของชาวยิวไม่แยกวิญญาณจากร่างกาย ความคิดเรื่องอมตภาพของมนุษย์จึงรวมการกลับคืนชีพของร่างกายไว้เป็นนัยด้วย ดังที่เราพบในเรื่องนี้ ข้อความนี้มิได้กล่าวอย่างชัดเจนถึงการกลับคืนชีพของมนุษย์ทุกคน แต่จำกัดพิจารณาเพียงกรณีของผู้ชอบธรรมเท่านั้น (ดูข้อ 14) ส่วน ดนล 12:2-3 กล่าวถึงการกลับคืนชีพของมนุษย์ทุกคนอย่างชัดเจน

d “แล้วกล่าว.......อีกครั้งหนึ่ง” สำนวนแปลโบราณภาษาละตินหลายฉบับละข้อนี้

e “มิใช่จากสิ่งที่มีอยู่ก่อน” เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนครั้งแรกถึงความเชื่อว่าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างทุกสิ่งจากความว่างเปล่า (ดู ยน 1:3; คส 1:15ฯ ด้วย) ก่อนหน้านั้นมีกล่าวไว้เป็นนัยเท่านั้น เช่น อสย 44:24

f “พูดยังไม่จบ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับว่า “ยังกำลังพูดอยู่”

g “ชาวฮีบรู” ผู้เขียนจงใจใช้คำโบราณ “ฮีบรู” เทียบ 11:13; 15:37; ยดธ 10:12; 14:18 ผู้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษากรีก (LXX) ใช้คำนี้น้อยมาก นอกจากในหนังสือปัญจบรรพ

h “บุตรของพระเจ้า” แปลได้อีกว่า “ผู้รับใช้จากสวรรค์”

i “เพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร......พันธสัญญาของพระเจ้า” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่สมบูรณ์

j กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 ทรงอ้างว่าทรงเท่าเทียมกับเทพเจ้า (ดู 9:12 เชิงอรรถ d) ความคิดที่ว่าพระเจ้าทรงปกครองทั่วจักรวาลเพียงพระองค์เดียว ไม่ทรงมีผู้ใดเท่าเทียมได้ ดู อสย 45:14; 1 พศด 17:20 และ บสร 36:4)

V. ชาวยิวได้รับอิสรภาพในการปฏิบัติศาสนกิจ

 

ยูดาสมัคคาบีต่อต้านกษัตริย์ซีเรียa

8 1ยูดาสมัคคาบีและพวกลอบเข้ามาตามหมู่บ้าน เชิญชวนญาติพี่น้องและคนอื่นๆ ที่ซื่อสัตย์ต่อลัทธิยูดายให้มารวมกันได้ประมาณหกพันคน 2เขาเหล่านั้นวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ทอดพระเนตรประชากรที่ถูกทุกคนเหยียบย่ำ และให้ทรงสงสารพระวิหารที่คนไม่ยำเกรงพระเจ้าทำให้เป็นมลทิน 3ให้ทรงพระกรุณาต่อเมืองซึ่งถูกทำลายจนเกือบจะราบ ให้ทรงแก้แค้นแทนโลหิตที่เรียกหาพระองค์ 4ให้ทรงระลึกถึงบรรดาเด็กไม่มีความผิดที่ถูกประหารชีวิตอย่างอยุติธรรม ให้ทรงระลึกถึงความผิดของผู้กล้าดูหมิ่นพระนามพระองค์ เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเกลียดชังความชั่วร้าย 5เมื่อยูดาสมัคคาบีจัดกำลังพลแล้ว ชนต่างชาติไม่อาจต้านทานเขาได้ เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเลิกกริ้ว กลับมาแสดงพระเมตตาต่อเขา 6ยูดาสเข้าโจมตีเมืองและหมู่บ้านโดยฉับพลันและจุดไฟเผา เขายึดชัยภูมิที่ดีแล้วขับไล่ข้าศึกจำนวนไม่น้อยbให้หนีไป 7เขาเลือกเข้าโจมตีในเวลากลางคืน ไม่นานนักชื่อเสียงความกล้าหาญของเขาก็เลื่องลือไปทุกแห่ง

นิคาโนร์และกอร์เกียสยกทัพมาทำสงคราม

          8เมื่อฟีลิปcเห็นว่ายูดาสขยายอำนาจปกครองได้มากขึ้นทุกที และประสบความสำเร็จบ่อยครั้งขึ้น จึงส่งสารไปถึงโทเลมี ผู้ปกครองแคว้นซีเรียใต้และแคว้นฟีนีเซีย ขอให้ยกทัพมาช่วยปกป้องผลประโยชน์ของกษัตริย์ 9โทเลมีรีบเลือกนิคาโนร์ บุตรของปาโตรคลัส พระสหายเอกคนหนึ่งของกษัตริย์ ให้ยกกำลังพลจากชนชาติต่างๆ อย่างน้อยสองหมื่นคน ไปทำลายล้างชนชาติยิวทั้งหมด แล้วให้กอร์เกียสผู้มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารและชำนาญศึกยกทัพไปด้วย 10นิคาโนร์ตั้งใจจะขายเชลยศึกชาวยิวเป็นทาส เพื่อจะได้เงินสองพันตะลันต์มาจ่ายเป็นบรรณาการที่กษัตริย์ต้องทรงจ่ายแก่ชาวโรมัน 11เขาจึงส่งคนไปแจ้งข่าวที่เมืองตามชายฝั่งทะเล เชิญชวนให้มาซื้อทาสชาวยิว สัญญาว่าจะให้ทาสเก้าสิบคนต่อเงินหนึ่งตะลันต์ เขาไม่เคยคิดว่าพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพกำลังจะทรงลงโทษเขา

          12ยูดาสรู้ข่าวว่านิคาโนร์กำลังยกทัพมา จึงแจ้งให้คนของตนรู้ว่าข้าศึกอยู่ใกล้แล้ว 13คนขลาดและผู้ที่ไม่วางใจในความเที่ยงธรรมของพระเจ้าต่างหนีไปอยู่ที่อื่น 14บางคนก็ขายทุกสิ่งที่ตนมี แล้ววอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงช่วยตนให้รอดชีวิต เพราะแม้ก่อนจะสู้รบกัน นิคาโนร์ผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าก็ขายตนไปแล้ว 15เขาวอนขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเหลือ มิใช่เพราะบุญกุศลของตน แต่เพราะเห็นแก่พันธสัญญาที่ทรงกระทำกับบรรพบุรุษ และเพราะพระองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์และทรงพระสิริรุ่งโรจน์ทรงเรียกตนเป็นประชากรของพระองค์d

          16ยูดาสมัคคาบีเรียกชุมนุมกำลังพลของตนจำนวนหกพันคน ปลุกใจไม่ให้หวาดกลัวข้าศึก หรือกลัวชนต่างชาติจำนวนมากที่มาโจมตีเขาอย่างอยุติธรรม แต่ให้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ 17ให้ระลึกอยู่เสมอว่าศัตรูได้ลบหลู่พระวิหารอย่างน่าเกลียด ทารุณ เยาะเย้ยชาวกรุงเยรูซาเล็ม และยกเลิกขนบประเพณีของบรรพบุรุษ 18เขาพูดว่า “คนเหล่านี้วางใจในอาวุธและความสามารถของตน แต่พวกเราวางใจในพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ พระองค์ทรงพยักพระพักตร์เท่านั้นก็ทรงทำลายได้ทั้งศัตรูที่มาจู่โจมพวกเราและโลกทั้งโลก” 19เขายังเตือนให้ระลึกถึงโอกาสที่พระเจ้าทรงช่วยบรรพบุรุษ เช่นในรัชสมัยของกษัตริย์เซนนาเคริบ เมื่อศัตรูจำนวนหนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันคนต้องถูกทำลาย 20และในสมัยสงครามกับชาวกาลาเทียที่กรุงบาบิโลน ชาวยิวเพียงแปดพันคนeร่วมกับชาวมาซิโดเนียสี่พันคนไปรบ เมื่อชาวมาซิโดเนียกำลังจะเพลี่ยงพล้ำ คนเพียงแปดพันคนก็ทำลายศัตรูหนึ่งแสนสองหมื่นคนได้ และปล้นข้าวของจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพราะความช่วยเหลือจากสวรรค์

21ยูดาสพูดปลุกใจทหารด้วยถ้อยคำเหล่านี้ ให้ยอมตายเพื่อธรรมบัญญัติและบ้านเกิดเมืองนอน แล้วแบ่งกองทัพออกเป็นสี่กอง 22ให้พี่น้องของตน คือซีโมน โยเซฟ และโยนาธานบังคับบัญชาแต่ละกอง ซึ่งมีกำลังพลหนึ่งพันห้าร้อยคน 23สั่งให้เอเลอาซาร์fอ่านหนังสือศักดิ์สิทธิ์ให้ทุกคนฟัง และกล่าวเป็นสัญญาณว่า “พระเจ้าทรงช่วย”g ต่อจากนั้นก็นำทหารกองแรกเข้าโจมตีนิคาโนร์ 24พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพทรงร่วมกับเขาในการสู้รบ เขาจึงฆ่าศัตรูได้มากกว่าเก้าพันคน ทำให้ทหารส่วนใหญ่ในกองทัพของนิคาโนร์บาดเจ็บและพิการ ทุกคนต้องหนีไป 25เขายึดเงินของพ่อค้าที่ตั้งใจจะมาซื้อชาวอิสราเอลไปเป็นทาส ไล่ตามศัตรูเป็นระยะทางพอสมควรแล้วจึงกลับมา เพราะเป็นเวลาเย็นมากแล้ว 26วันนั้นเป็นวันก่อนวันสับบาโต เขาจึงไล่ตามข้าศึกต่อไปไม่ได้ 27เขารวบรวมอาวุธของข้าศึกและข้าวของที่ริบมาได้ แล้วหยุดงานในวันสับบาโต สรรเสริญพระเจ้ามากกว่าเดิม และขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงพิทักษ์รักษาเขาให้ปลอดภัยจนถึงวันที่ทรงเริ่มสำแดงพระเมตตาแก่เขา 28หลังวันสับบาโต เขาแบ่งของที่ริบมาได้ให้แก่ผู้ที่ถูกข่มเหง แก่หญิงม่ายและลูกกำพร้า ส่วนที่เหลือ เขากับพวกลูกๆ ก็แบ่งปันกัน 29เมื่อแบ่งข้าวของเสร็จแล้ว เขาก็ร่วมใจกันอธิษฐานภาวนาวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ทรงพระเมตตา และทรงกลับคืนดีกับบรรดาผู้รับใช้ของพระองค์อย่างสมบูรณ์

ทิโมธีและบัคคีเดสพ่ายแพ้h

            30ยูดาสและกำลังพลยังคงเผชิญหน้ากับกองทัพของทิโมธีและบัคคีเดส ฆ่าศัตรูได้มากกว่าสองหมื่นคน ยึดป้อมในที่สูงได้หลายป้อม เขาแบ่งข้าวของมากมายที่ปล้นมาได้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับตนและทหาร อีกส่วนหนึ่งสำหรับผู้ที่ถูกข่มเหง ลูกกำพร้า หญิงม่ายและคนชรา 31เขารวบรวมอาวุธของศัตรูนำไปเก็บไว้อย่างดีในที่เหมาะสม นำของเชลยที่เหลือไปกรุงเยรูซาเล็ม 32เขาประหารชีวิตผู้บัญชาการiกองทัพของทิโมธี ผู้บัญชาการผู้นี้เป็นคนเลวร้ายที่สุด ทำร้ายชาวยิวจำนวนมาก 33ขณะที่ฉลองชัยชนะที่กรุงเยรูซาเล็ม ยูดาสและกำลังพลเผาคนที่จุดไฟเผาประตูพระวิหารj และเผาคัลลิสเธเนสซึ่งหลบซ่อนอยู่ในบ้านเล็กๆ หลังหนึ่ง คัลลิสเธเนสจึงได้รับโทษสาสมกับความอธรรมของตน

นิคาโนร์ต้องหนีและยอมรับว่ามีพระเจ้า

            34นิคาโนร์ผู้สมควรจะถูกสาปแช่ง นำพ่อค้าหนึ่งพันคนมาคอยซื้อชาวยิว 35แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเหลือผู้ที่นิคาโนร์คิดว่าไร้ค่า คนเหล่านี้ทำให้เขาต้องตกต่ำ ต้องถอดเสื้อผ้าหรูหราออก หลบหนีไปตามทุ่งนาคนเดียวเหมือนทาสที่หลบหนี เขาโชคดีที่ไปถึงเมืองอันทิโอกได้ ทั้งๆที่กองทัพของตนถูกทำลายสิ้นแล้ว 36นิคาโนร์เคยสัญญากับชาวโรมันว่าจะจ่ายบรรณาการให้โดยขายชาวกรุงเยรูซาเล็มที่จับเป็นเชลย บัดนี้ เขาต้องยืนยันว่าชาวยิวมีพระเจ้าผู้ทรงป้องกัน จึงไม่มีใครเอาชนะได้ เพราะชาวยิวเหล่านี้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติที่พระองค์ประทานให้

8 a เรื่องนี้ต่อจากเรื่องราวใน 5:27 ผู้เขียนรวมเรื่องราวที่ 1 มคบ 2 เล่าว่าเป็นการกระทำของมัทธาธีอัสกับกิจการของยูดาสก่อนที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสจะขึ้นครองราชย์ (1 มคบ 3:1-16)

b “ขับไล่ข้าศึกจำนวนไม่น้อย” บางคนแปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาละตินว่า “ฆ่าหลายศพ”

c ฟีลิปผู้นี้คือผู้ปกครองกรุงเยรูซาเล็ม (ดู 5:22,23 เชิงอรรถ f) ขึ้นกับโทเลมีผู้บัญชาการกองทัพในแคว้นซีเรียใต้และแคว้นฟีนีเซีย

d “เพราะ...ทรงเรียกตนเป็นประชากรของพระองค์” แปลตามตัวอักษรว่า “เพราะการเรียกพระนามศักดิ์สิทธิ์และสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เหนือเขา” (ดู 1 มคบ 7:37) เป็นสำนวนภาษาฮีบรู (เทียบ ฉธบ 28:10; 2 ซมอ 12:28; 1 พกษ 8:43; อสย 4:1)

e พระคัมภีร์ไม่เคยกล่าวถึงการรบกับชาวกาลาเทียที่กรุงบาบิโลนครั้งนี้เลย ข้อความนี้อาจพาดพิงถึงชาวยิวที่ได้ต่อสู้กับทหารชาวกาลาเทียที่โมโลน แม่ทัพของแคว้นมีเดียจ้างเมื่อเป็นกบฏต่อกษัตริย์ซีเรีย ในโอกาสนี้ ชาวยิวยกทัพไปช่วยกษัตริย์ซีเรีย

f “เอเลอาซาร์” ต้นฉบับภาษาละตินและอาร์เมเนียนว่า “เอสดรีอัส” (เทียบ 12:36) เอเลอาซาร์ผู้นี้เป็นคนเดียวกับอาซาริยาห์ใน 1 มคบ 5:18, 56

g “พระเจ้าทรงช่วย” แม่ทัพกรีกและโรมันมักจะให้คำเป็นสัญญาณในการออกรบ สัญญาณของยูดาสนี้มาจากหนังสือพระคัมภีร์ที่เพิ่งอ่าน (เทียบ 1 มคบ 3:48)

h ข้อความนี้ (ข้อ 30-33) แทรกเข้ามาในเรื่องของนิคาโนร์ ซึ่งจะดำเนินต่อไปในข้อ 34 เพื่อเป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่พระเจ้าทรงลงโทษผู้เบียดเบียนชาวยิว

i “ผู้บัญชาการ” แปลตามตัวอักษรว่า “หัวหน้าเผ่า” ซึ่งคงจะเป็นหัวหน้าชนเผ่าอาหรับในกองทัพของทิโมธี (12:10ฯ)

j “คนที่จุดไฟเผาประตูพระวิหาร” คงจะหมายถึงบรรดาทหารที่ได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการแคว้นมีเซียที่สั่งให้เผาประตูพระวิหาร (เทียบ 1 มคบ 3:31) * เราไม่รู้ว่าคัลลิสเธเนสผู้นี้เป็นใคร คงเป็นชาวยิวที่นิยมอารยธรรมกรีก

วาระสุดท้ายของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส

9 1ขณะนั้น กษัตริย์อันทิโอคัสต้องเสด็จกลับมาจากแคว้นเปอร์เซียอย่างน่าอับอาย 2พระองค์เคยเสด็จเข้าเมืองเปอร์เซโปลิส พยายามจะปล้นวิหารa และยึดเมือง แต่ชาวเมืองรีบจับอาวุธเพื่อป้องกัน จนกระทั่งกษัตริย์อันทิโอคัสทรงถูกชาวเมืองขับไล่ ต้องถอยทัพกลับไปอย่างน่าอับอาย 3เมื่อประทับอยู่ที่เมืองเอกบาทานาb กษัตริย์อันทิโอคัสทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้นกับนิคาโนร์และกองทัพของทิโมธี 4พระองค์กริ้วมาก ทรงคิดจะลงโทษชาวยิวแทนผู้ที่ทำให้พระองค์ต้องหลบหนีอย่างน่าอับอาย จึงรับสั่งให้ผู้ขับรถศึกรีบเดินทางต่อไปโดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงปลายทาง แต่การตัดสินลงโทษจากสวรรค์อยู่ใกล้พระองค์แล้ว เพราะพระองค์ตรัสอย่างโอหังว่า “เมื่อเราไปถึง เราจะทำให้กรุงเยรูซาเล็มเป็นสุสานของชาวยิว”

          5แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าแห่งอิสราเอลทรงเห็นทุกสิ่ง ทรงบันดาลให้เกิดแผลที่มองไม่เห็นและรักษาไม่ได้ ทันทีที่ตรัสจบ กษัตริย์ต้องทรงทรมานอย่างยิ่งในพระนาภี และทรงเจ็บปวดอย่างสาหัสที่พระอันตคุณ(ลำไส้) 6เป็นโทษทัณฑ์อย่างสาสมสำหรับผู้ที่เคยทรมานลำไส้ของผู้อื่นด้วยเครื่องทรมานแปลกๆ หลายอย่าง 7พระองค์ไม่ทรงเลิกประพฤติอย่างโอหัง กลับทรงหยิ่งยโสยิ่งขึ้น กริ้วชาวยิวอย่างรุนแรง ทรงสั่งให้ขับรถศึกเร็วขึ้น ทันใดนั้นก็ทรงตกจากรถที่กำลังแล่นไปอย่างรวดเร็ว การตกอย่างรุนแรงนี้ทำให้พระวรกายทุกส่วนยับเยิน 8ผู้ที่เคยคิดว่าตนมีอำนาจสั่งคลื่นในทะเล และคิดว่าตนอยู่เหนือผู้อื่น ชั่งยอดเขาได้ด้วยตาชั่ง บัดนี้กลับต้องถูกโยนลงกับพื้น ต้องถูกแบกขึ้นแคร่หามไป แสดงให้ทุกคนเห็นพระอานุภาพของพระเจ้าอย่างชัดเจน 9นัยน์ตาcของคนอธรรมผู้นี้มีหนอนไต่ยั้วเยี้ย ขณะที่ยังไม่ตาย เขาต้องได้รับความทรมานอย่างสาหัส เนื้อหนังเน่าส่งกลิ่นเหม็นจนกองทัพทั้งหมดต้องคลื่นเหียนเพราะความเน่าเปื่อย 10ผู้ที่เคยคิดว่าตนเอื้อมหยิบดวงดาวบนท้องฟ้าลงมาได้ บัดนี้กลับไม่มีผู้ใดยอมเข้ามาแบกร่างขึ้น เพราะกลิ่นเหม็นสุดจะทนได้

          11ในที่สุด พระองค์ทรงท้อแท้หมดหวัง ทรงยอมเลิกโอหัง ทรงเริ่มเข้าใจว่าความทรมานอย่างต่อเนื่องเช่นนี้มาจากการที่พระเจ้าทรงเฆี่ยนตีพระองค์ 12เมื่อทรงทนความเหม็นในพระวรกายไม่ได้ พระองค์ตรัสว่า “ถูกต้องแล้วที่จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้า มนุษย์ที่รู้จักตายต้องไม่คิดว่าตนเท่าเทียมกับพระเจ้า”d

          13คนชั่วร้ายคนนี้เริ่มอธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้จะไม่ทรงพระเมตตาต่อเขาอีกต่อไปว่า 14ก่อนนั้นตนเคยคิดจะรีบไปทำลายเมืองศักดิ์สิทธิ์ให้ราบ แล้วทำให้เป็นสุสาน บัดนี้ ตนจะปล่อยเมืองนั้นให้เป็นอิสระ 15ก่อนนั้นตนเคยคิดว่าชาวยิวไม่สมควรจะได้รับการฝังศพ แต่ควรนำไปโยนพร้อมกับทารกให้แร้งและสัตว์ป่ากิน บัดนี้ตนจะให้มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวเอเธนส์ 16ตนสัญญาว่าจะตกแต่งพระวิหารที่เคยปล้นมาแล้วด้วยของถวายที่ดีที่สุด ตนจะนำภาชนะศักดิ์สิทธิ์มาคืนให้มากกว่าที่เคยนำไป จะจัดถวายค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องบูชาจากรายได้ของตน 17ยิ่งกว่านั้น ตนจะกลับใจเป็นยิวด้วย จะไปทุกแห่งที่มีผู้คนอยู่ แล้วประกาศพระอานุภาพของพระเจ้า

กษัตริย์อันทิโอคัสทรงเขียนพระราชสาสน์ถึงชาวยิว

            18การตัดสินลงโทษอย่างยุติธรรมของพระเจ้ามาถึงแล้ว ความทรมานที่พระองค์ทรงได้รับจึงไม่ลดน้อยลง ทรงรู้สึกหมดหวังสำหรับพระองค์ จึงทรงเขียนพระราชสาสน์ถึงชาวยิวดังต่อไปนี้

          19“อันทิโอคัสกษัตริย์และผู้บัญชาการกองทัพe ขอส่งความสุขและความปรารถนาดีมายังพลเมืองชาวยิวที่นับถือ ขอให้ท่านอยู่อย่างเป็นสุข 20ถ้าท่านและลูกหลานอยู่สบายดี การงานดำเนินไปดังที่ท่านปรารถนา ข้าพเจ้าขอบพระคุณสวรรค์fยิ่งนัก 21บัดนี้ข้าพเจ้าป่วย ข้าพเจ้ายินดีระลึกถึงความเคารพและความปรารถนาดีที่ท่านมีต่อข้าพเจ้าg เมื่อกลับมาจากแคว้นเปอร์เซีย ข้าพเจ้าเจ็บป่วยเป็นโรคที่ทรมานอย่างมาก ข้าพเจ้าคิดว่าจำเป็นต้องวางแผนสำหรับความปลอดภัยของทุกคน 22ข้าพเจ้ามิได้หมดหวังกับสภาพของตน ข้าพเจ้ายังหวังอย่างมากที่จะหายจากโรคนี้ 23ข้าพเจ้าระลึกได้ว่าเมื่อพระบิดาเสด็จไปรบhยังแคว้นทางเหนือ พระองค์ทรงแต่งตั้งผู้ที่สืบราชสมบัติ 24เพื่อว่าถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น หรือมีข่าวลือที่ไม่ดี ประชาชนทั่วแผ่นดินจะไม่วุ่นวายเมื่อรู้ว่าผู้ใดได้รับอำนาจปกครองสืบต่อไป 25ข้าพเจ้ารู้ดีว่าผู้ปกครองเมืองใกล้เคียง โดยเฉพาะที่มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาจักรของเรา คอยเฝ้าหาโอกาสและคอยดูว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งอันทิโอคัสบุตรของข้าพเจ้าให้เป็นกษัตริย์ อันทิโอคัสผู้นี้ข้าพเจ้าเคยฝากไว้กับท่านเกือบทุกคนแล้ว เมื่อข้าพเจ้าต้องรีบยกทัพไปรบในแคว้นทางเหนือ ข้าพเจ้ายังเขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงเขาแนบมาด้วยi 26ข้าพเจ้าขอร้องท่านทุกคนให้ระลึกถึงบุญคุณทั้งส่วนรวมและส่วนตัวที่ท่านแต่ละคนได้รับ ขอให้ท่านรักษาความปรารถนาดีต่อข้าพเจ้าและต่อบุตรของข้าพเจ้าต่อไป 27ข้าพเจ้ามั่นใจว่าเขาจะปฏิบัติต่อท่านตามคำแนะนำของข้าพเจ้าอย่างเป็นธรรมและมีเมตตา”

          28คนชั่วร้ายผู้หมิ่นประมาทพระเจ้าผู้นี้ต้องทนทรมานอย่างสาหัส ดังที่เขาเคยทรมานผู้อื่น และสิ้นชีวิตอย่างน่าสังเวชในแถบภูเขาต่างแดนj 29ฟีลิปซึ่งเติบโตมาพร้อมกับพระองค์ นำพระศพกลับมา แต่เพราะไม่ไว้ใจพระโอรสของกษัตริย์อันทิโอคัส เขาจึงไปอยู่กับกษัตริย์โทเลมี ฟีโลเมเตอร์kที่อียิปต์

9 a แท้จริงแล้ว วิหารนี้อยู่ที่เมืองเอลีมาอิส ทางเหนือของเมืองเปอร์เซโปลิส (1 มคบ 6:1ฯ) แต่ผู้เขียนอาจเลือกเมืองเปอร์เซโปลิสเป็นฉากของเหตุการณ์ เพราะเป็นเมืองที่ทุกคนรู้จักดีกว่า

b เมือง “เอกบาทานา” ในสมัยนี้คือเมืองฮามาดาน 724 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเปอร์เซโปลิส แท้จริงแล้ว กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส สิ้นพระชนม์ที่เมืองทาเบ ครึ่งทางระหว่างเมืองทั้งสองนี้

c “นัยน์ตา” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาละตินและอาร์เมเนียน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ร่างกาย” อาการของโรคที่ทำให้กษัตริย์อันทิโอคัสสิ้นพระชนม์นี้ไม่เป็นที่รู้จักในตำราแพทย์ ผู้เขียนคงใช้จินตนาการบรรยายให้เห็นว่า ความตายของทรราชเป็นการลงโทษจากพระเจ้า (เทียบ ยดธ 16:17; อสย 14:11; กจ 12:23) เทียบรายละเอียดที่โยเซฟุสบรรยายถึงการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์เฮโรดมหาราช ใน Ant. Jud.; 1 มคบ 6:9 เล่าเหตุการณ์นี้อย่างตรงไปตรงมามากกว่า

d “เท่าเทียมกับพระเจ้า” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาละติน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “คิดโอหัง”

e “ผู้บัญชาการกองทัพ” เป็นตำแหน่งหัวหน้าผู้ปกครองเมือง ซึ่งในที่นี้หมายถึงเมืองอันทิโอก พระราชสาสน์ฉบับนี้คงเป็นพระราชสาสน์ที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส ทรงเขียนไปถึงชาวเมืองอันทิโอก (“พลเมืองที่นับถือ”) แต่ยาโสนชาวไซรีน ผู้เขียน 2 มคบ ใช้พระราชสาสน์ฉบับนี้ให้เป็นพระราชสาสน์ถึงชาวยิว

 f ข้าพเจ้าขอบพระคุณสวรรค์” แปลโดยคาดคะเน ตามตัวอักษรว่า “(ข้าพเจ้า)มีความหวังในสวรรค์”

g “ที่ท่านมีต่อข้าพเจ้า” แปลตามตัวอักษรว่า “ของท่าน”

h “เสด็จไปรบ” แปลโดยคาดคะเน ตามตัวอักษรว่า “ตั้งค่าย”

i “แนบมาด้วย” ผู้เขียนมิได้คัดลอกพระราชสาสน์ฉบับนี้ เพราะไม่มีสำเนาในมือ มีแต่สำเนาของพระราชสาสน์ถึงชาวเมืองอันทิโอกเท่านั้น

j น่าสังเกตลีลาการเขียนที่เปลี่ยนไป ขณะที่พระราชสาสน์ของกษัตริย์เขียนเป็นภาษาทางการ แสดงความเป็นมิตรต่อชาวยิว ผู้เขียน 2 มคบ เปลี่ยนลีลาเป็นการประณามกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสอย่างรุนแรง

k รายละเอียดนี้ขัดกับ 1 มคบ 6:55, 63 ฟีลิปคงอยู่ที่อียิปต์จนถึงปลายปี 163 ก่อน ค.ศ. (ดู 13:33)

การชำระพระวิหาร

10 1องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงนำยูดาสมัคคาบีและพวกไปยึดพระวิหารและกรุงเยรูซาเล็มคืนมา 2เขาทั้งหลายทำลายแท่นบูชาที่ชนต่างชาติสร้างขึ้นในตลาด และในบริเวณพระวิหาร 3เขาชำระพระวิหารให้หมดมลทินและสร้างพระแท่นบูชาใหม่ แล้วใช้หินเหล็กไฟตีให้เกิดประกาย เพื่อก่อไฟเผาเครื่องบูชาหลังจากหยุดมาเป็นเวลาสองปี เผากำยาน จุดตะเกียง และตั้งขนมปังถวาย 4เมื่อทำเสร็จแล้ว เขาก็กราบลงที่พื้น ทูลขอองค์พระผู้เป็นเจ้า อย่าทรงปล่อยให้เขาต้องประสบเคราะห์ร้ายเช่นนี้อีก ถ้าเขาทำบาปเมื่อใด ก็ขอทรงลงโทษเขาแต่พอประมาณ อย่าทรงมอบเขาแก่ชนต่างชาติที่ดูหมิ่นพระเจ้าและทำทารุณ 5เขาชำระพระวิหารในวันครบรอบปีที่ชนต่างชาติทำให้พระวิหารเป็นมลทิน คือวันที่ยี่สิบห้าเดือนคิสเลฟa 6เขาฉลองด้วยความยินดีเป็นเวลาแปดวันเหมือนเทศกาลอยู่เพิง ระลึกว่าก่อนหน้านั้นไม่นานเขาฉลองเทศกาลอยู่เพิงไม่ได้ เพราะกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาและในถ้ำเหมือนสัตว์ป่า 7บัดนี้ เขาถือท่อนไม้พันด้วยเถาวัลย์ และถือกิ่งไม้เขียวหรือกิ่งปาล์ม เดินเป็นขบวนร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้เขาชำระพระวิหารของพระองค์ได้ 8เขาจึงชุมนุมกันกำหนดให้ชนชาติยิวทั้งชาติจัดงานฉลองวันเหล่านี้ทุกปีb ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย

VI. ยูดาสสู้รบกับชนชาติใกล้เคียง

และสู้รบกับลีเซียสแม่ทัพของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5

 

เริ่มรัชสมัยของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5

            9เราเพิ่งเล่าถึงวาระสุดท้ายของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส 10บัดนี้ เราจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์อันทิโอคัส ยูปาเตอร์ บุตรของคนที่ดูหมิ่นพระเจ้าผู้นั้น และจะสรุปเหตุร้ายที่เป็นผลของสงครามc 11เมื่อกษัตริย์อันทิโอคัส ยูปาเตอร์สืบราชสมบัติต่อมา ก็ทรงแต่งตั้งลีเซียสผู้ปกครองแคว้นซีเรียใต้และแคว้นฟีนีเซียให้เป็นผู้สำเร็จราชการ 12โทเลมี มาโครน เคยปกครองทั้งสองแคว้นนี้มาก่อน เขาพยายามปฏิบัติต่อชาวยิวอย่างยุติธรรม เพื่อชดเชยความอยุติธรรมที่ชาวยิวเคยได้รับ เขาพยายามมีความสัมพันธ์อย่างดีกับชาวยิว 13เพราะเหตุนี้ บรรดาพระสหายของกษัตริย์จึงฟ้องเขาต่อกษัตริย์อันทิโอคัส ยูปาเตอร์ ทุกคนเรียกโทเลมีว่าผู้ทรยศ เพราะเขาทิ้งเกาะไซปรัสd ซึ่งกษัตริย์ฟีโลเมเตอร์ทรงมอบหมายให้เขาปกครอง ไปสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส เมื่อโทเลมีคิดว่าตนปฏิบัติหน้าที่อย่างมีเกียรติไม่ได้ จึงฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาพิษ

 

กอร์เกียสและป้อมปราการของชาวอีดูเมอา

            14เมื่อกอร์เกียสขึ้นเป็นผู้ปกครองแคว้นอีดูเมอา เขาจ้างทหารต่างชาติแล้วหาโอกาสทำสงครามกับชาวยิวอยู่เสมอ 15เวลาเดียวกัน ชาวอีดูเมอาซึ่งคุมป้อมปราการสำคัญก็รังควานชาวยิว ต้อนรับทุกคนที่ถูกขับไล่จากกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อยั่วยุชาวยิวให้ทำสงคราม 16ยูดาสมัคคาบีและพวกอธิษฐานภาวนาทูลวอนขอพระเจ้าให้ทรงสู้รบเป็นฝ่ายตน แล้วจึงรีบเคลื่อนทัพไปยังป้อมปราการของชาวอีดูเมอา 17เมื่อโจมตีอย่างรุนแรงแล้ว เขาก็เข้ายึดสถานที่นั้นได้ ขับไล่ทหารที่เฝ้ากำแพงออกไป แล้วฆ่าฟันทุกคนที่เขาพบ มีผู้คนตายไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน 18แต่ไม่น้อยกว่าเก้าพันคนหนีไปหลบภัยในป้อมปราการมั่นคงมากสองป้อม มีเสบียงอาหารและทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อต่อต้านการถูกล้อม 19ยูดาสมัคคาบีให้ซีโมน โยเซฟ และศักเคียส รวมทั้งทหารจำนวนมากพอที่จะล้อมป้อมต่อไปอยู่ที่นั่น แล้วยกทัพไปยังที่ที่มีความต้องการเร่งด่วนกว่า 20แต่ทหารของซีโมนบางคนที่เห็นแก่เงิน ยอมรับสินบนจากผู้ที่อยู่ในป้อม เขารับเงินเจ็ดหมื่นดรักมา แล้วปล่อยให้คนจำนวนหนึ่งหนีไป 21เมื่อยูดาสรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็เรียกประชุมหัวหน้าประชากร กล่าวหาผู้ที่ขายญาติพี่น้องเพื่อเงิน แล้วปล่อยศัตรูเป็นอิสระให้กลับมาสู้รบกับตน 22เขาจึงสั่งประหารชีวิตผู้ทรยศ แล้วยึดป้อมทั้งสองป้อมได้ทันที 23ยูดาสทำการรบครั้งใดก็ประสบความสำเร็จทุกครั้ง เขาประหารชีวิตคนที่อยู่ในป้อมปราการทั้งสองป้อมนั้นมากกว่าสองหมื่นคนe

ยูดาสชนะทิโมธีและยึดเมืองเกเซอร์f

            24ทิโมธีซึ่งแต่ก่อนเคยแพ้ชาวยิว รวบรวมกำลังพลต่างชาติจำนวนมาก และกองทหารม้าจากแคว้นอาเซียจำนวนไม่น้อย ยกมาเพื่อใช้กำลังยึดแคว้นยูเดีย 25เมื่อทิโมธีมาถึง ยูดาสมัคคาบีกับคนของเขาโปรยฝุ่นบนศีรษะเพื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้า สวมผ้ากระสอบ 26กราบลงหน้าพระแท่นบูชา วอนขอพระเจ้าให้ทรงพระเมตตาต่อเขา และแสดงพระองค์เป็นศัตรูต่อศัตรูของเขา เป็นปรปักษ์ต่อปรปักษ์ของเขา ดังที่ธรรมบัญญัติกล่าวไว้

          27เมื่ออธิษฐานจบแล้ว เขาจับอาวุธออกจากเมืองไประยะหนึ่ง แล้วหยุดใกล้ศัตรู 28พอรุ่งสาง กองทัพทั้งสองฝ่ายก็เข้าปะทะกัน ฝ่ายหนึ่งมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จและมีชัยชนะ เพราะความกล้าหาญของตน และเพราะมีความวางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งสู้รบเพราะความโกรธ

          29ขณะที่กำลังสู้รบกันอย่างดุเดือด ศัตรูเห็นชายห้าคนปรากฏบนท้องฟ้า สูงสง่า ขี่ม้าสายบังเหียนทองคำนำหน้าชาวยิว 30ชายห้าคนนี้นำยูดาสมาอยู่ตรงกลาง ใช้โล่ล้อมเขาไว้ บังเขาไม่ให้ถูกอาวุธบาดเจ็บ ยิงธนู ขว้างสายฟ้าเข้าใส่ศัตรู ทำให้ศัตรูตกตะลึงและนัยน์ตาบอดไป ศัตรูจึงสับสนอลหม่าน แตกกระจัดกระจายไปg 31ทหารราบสองพันห้าร้อยคนและทหารม้าหกร้อยคนถูกฆ่าตาย 32ทิโมธีหนีเข้าไปในป้อมที่มั่นคงชื่อเกเซอร์ มีเคเรอัสเป็นผู้บังคับบัญชาป้อม[1] 33ยูดาสมัคคาบีและคนของเขาล้อมป้อมไว้เป็นเวลาสี่วัน[2]ด้วยความมุ่งมั่น 34คนที่อยู่ในป้อมวางใจในความมั่นคงของสถานที่ กล่าวดูหมิ่นพระเจ้าและด่าแช่งอย่างหยาบคายอยู่ตลอดเวลา 35รุ่งเช้าวันที่ห้า ชายหนุ่มยี่สิบคนในกองทัพของยูดาสมัคคาบีโกรธที่พวกศัตรูดูหมิ่นพระเจ้า จึงเข้าโจมตีกำแพงป้อมอย่างกล้าหาญ ฆ่าฟันศัตรูทุกคนที่พบเหมือนสัตว์ร้ายที่กำลังโกรธ 36ส่วนคนอื่นปีนกำแพงอีกด้านหนึ่งของป้อม จุดไฟเผาป้อมและจุดไฟคลอกผู้ดูหมิ่นพระเจ้าเหล่านั้นตายทั้งเป็น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งพังประตูใหญ่ให้กำลังพลที่เหลือเข้ามายึดเมืองได้ 37ทิโมธีไปซ่อนตัวอยู่ในบ่อเก็บน้ำ แต่ก็ถูกฆ่าพร้อมกับเคเรอัสน้องชาย และอปอลโลฟาเนส 38เมื่อทหารชาวยิวประกอบวีรกรรมนี้แล้ว เขาก็ร้องเพลงสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงพระเมตตาต่ออิสราเอลอย่างใหญ่หลวง และประทานชัยชนะให้

10 a “วันที่ยี่สิบห้าเดือนคิสเลฟ” ตรงกับวันที่ 15 ธันวาคม ปี 164 ก่อน ค.ศ. (ดู 1:10 เชิงอรรถ e) ไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสสิ้นพระชนม์

b ฉลองนี้เรียกว่า “ฮันนุกกา” (ดู 1 มคบ 4:59) ภาคแรกของหนังสือ 2 มคบ จบที่นี่ จุดประสงค์ประการหนึ่งของ 2 มคบ ก็คือ เชิญชวนชาวยิวทุกคนให้ร่วมฉลองการถวายพระวิหาร ดังที่อธิบายไว้ในจดหมายนำในบทที่ 1-2 ภาคที่สองของ 2 มคบ จะเชิญชวนชาวยิวให้ร่วมฉลอง “วันของนิคาโนร์” เช่นเดียวกัน (15:36)

c “สงคราม” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียคและละติน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ของ(บรรดา)เมือง”

d “ไซปรัส” การที่โทเลมีมาโครนเคยปกครองเกาะไซปรัสมีหลักฐานจากศิลาจารึก และจากข้อเขียนของ Polybius นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน

e “สองหมื่นคน” จำนวนนี้เกินความจริง เช่นเดียวกับข้อ 18

f เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นหลังจากเวลาที่เล่า เพราะทิโมธีที่หนังสือเล่าว่าตายในการรบครั้งนี้ ยังมีชีวิตอยู่ในฤดูร้อนของปี 163 ก่อน ค.ศ. เมื่อมีการสู้รบที่แคว้นกิเลอาด (12:10-31) การยึดเมืองเกเซอร์ที่เล่าก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน (ดูข้อ 32 เชิงอรรถ h)

g “แตกกระจัดกระจายไป” แปลตามตัวอักษรว่า “ถูกตัดเป็นสอง” หรือ “แตกสลาย”

[1] 2 มคบ ต้องการเล่าถึงวีรกรรมของยูดาสมัคคาบีเท่านั้น จึงเล่าว่าเขาเป็นผู้ยึดเมืองเกเซอร์ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล และอยู่ในความทรงจำของทุกคน ส่วน 1 มคบ 13:43 (ดู 1 มคบ 14:34) เล่าว่าผู้ยึดเมืองเกเซอร์คือซีโมนพี่ชายของยูดาส

[2] “สี่วัน” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาละติน ต้นฉบับภาษากรีกบางฉบับว่า “ยี่สิบสี่” บางฉบับว่า “สี่สิบ”

ลีเซียสปราชัยa

11 1หลังจากนั้นไม่นาน ลีเซียสผู้ดูแลกษัตริย์ เป็นพระประยูรญาติและเป็นผู้สำเร็จราชการ ไม่พอใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก 2จึงระดมกำลังพลทหารราบประมาณแปดหมื่นคน และทหารม้าทั้งหมด ยกทัพมาสู้รบกับชาวยิว เขามีแผนการจะทำให้กรุงเยรูซาเล็มเป็นที่อยู่ของชาวกรีก 3จะเก็บภาษีจากพระวิหารเหมือนที่เคยเก็บจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนชาติอื่น และจะขายตำแหน่งมหาสมณะทุกปี 4เขาไม่คำนึงถึงพระอานุภาพของพระเจ้าเลย กลับมั่นใจอย่างยิ่งในทหารราบจำนวนมาก ทหารม้าหลายพันคนและช้างแปดสิบเชือก 5เมื่อเขายกทัพมาถึงแคว้นยูเดีย เข้ามาใกล้เมืองเบธซูร์ ซึ่งมีป้อมปราการป้องกัน อยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มราวสามสิบกิโลเมตร ก็ล้อมเมืองไว้ 6เมื่อยูดาสมัคคาบีและคนของเขารู้ว่าลีเซียสกำลังล้อมป้อมอยู่ ก็มาชุมนุมกับประชาชนทุกคน วอนขององค์พระผู้เป็นเจ้า ร้องคร่ำครวญด้วยน้ำตานองหน้า ขอให้ทรงส่งทูตสวรรค์มาช่วยอิสราเอลให้รอดพ้น 7ยูดาสมัคคาบีจับอาวุธเป็นคนแรก ปลุกใจคนอื่นให้มาร่วมเสี่ยงชีวิตกับตนเพื่อช่วยเหลือญาติพี่น้อง ทุกคนออกเดินทางไปด้วยความกล้าหาญ 8เมื่อเขายังอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ทันใดนั้นทหารม้าคนหนึ่งปรากฏต่อหน้าเขา สวมเสื้อขาวและถืออาวุธทองคำ 9ทุกคนจึงร่วมกันขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงพระเมตตา จิตใจของเขาฮึกเหิมขึ้น พร้อมจะโจมตีทั้งมนุษย์และสัตว์ป่าที่ดุร้ายที่สุดและกำแพงเหล็ก 10เขาเดินหน้าเป็นขบวนตามผู้ร่วมรบที่มาจากสวรรค์ เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเมตตาต่อเขา 11เขาบุกเข้าใส่ศัตรูเหมือนสิงโต ฆ่าฟันทหารราบหนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน และทหารม้าหนึ่งพันหกร้อยคน ส่วนคนอื่นจำต้องหลบหนีไปหมด 12คนที่หนีไปได้ส่วนมากบาดเจ็บ ต้องทิ้งอาวุธ ลีเซียสก็ต้องหนีเอาชีวิตรอดอย่างน่าอับอายด้วย

ลีเซียสทำสัญญาสงบศึกกับชาวยิว

            13แต่ลีเซียสไม่ใช่คนโง่ เขาไตร่ตรองถึงเรื่องความพ่ายแพ้ที่เพิ่งได้รับ ก็รู้ว่าที่ชาวฮีบรูไม่มีวันแพ้ก็เพราะพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพทรงสู้รบเคียงข้างเขา 14ลีเซียสจึงส่งผู้ถือสารไปเสนอข้อตกลงสันติภาพโดยมีเงื่อนไขอย่างยุติธรรม และสัญญาจะชักชวนbกษัตริย์ให้ยอมเป็นมิตรกับชาวยิวด้วย 15ยูดาสมัคคาบีเป็นห่วงผลประโยชน์ส่วนรวม จึงตกลงตามข้อเสนอของลีเซียสทุกประการ ส่วนกษัตริย์ก็ทรงยอมตามที่ยูดาสมัคคาบีขอร้องลีเซียสเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับชาวยิวc

          16จดหมายที่ลีเซียสเขียนถึงชาวยิวมีความว่าดังนี้

          “ลีเซียสขอส่งความสุขมายังชาวยิว 17ยอห์นกับอับซาโลมdที่ท่านส่งมาได้มอบเอกสารที่แนบมาด้วย ขอให้ข้าพเจ้ารับรองข้อเสนอที่กล่าวไว้ 18ทุกสิ่งที่ต้องเสนอแด่กษัตริย์อันทิโอคัสe ข้าพเจ้าได้ทูลเสนอให้ทรงพิจารณา และข้อเสนอที่เป็นไปได้ พระองค์ก็ทรงอนุมัติ 19ถ้าท่านยังคงส่งเสริมผลประโยชน์ของรัฐ ข้าพเจ้าจะพยายามส่งเสริมผลประโยชน์ของท่านในอนาคตด้วย 20ข้าพเจ้ามอบอำนาจให้ผู้ถือสารและผู้แทนของข้าพเจ้าปรึกษากับท่านในรายละเอียด 21สวัสดี” ปีหนึ่งร้อยสี่สิบแปด วันที่ยี่สิบสี่ เดือนดิโอสโครินธิอัสf

          22พระราชสาสน์ของกษัตริย์มีความว่าดังนี้

          “กษัตริย์อันทิโอคัสgขอส่งความสุขมายังลีเซียสพี่ชาย 23พระบิดาของเราเสด็จไปอยู่กับบรรดาเทพเจ้าhแล้ว เราปรารถนาให้พลเมืองของอาณาจักรทำการงานของตนได้โดยสะดวก 24เราได้ยินว่าชาวยิวไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพระบิดา ในเรื่องการดำเนินชีวิตแบบกรีก เขาอยากดำเนินชีวิตตามแบบของตนมากกว่า จึงขอให้เราอนุญาตให้เขาปฏิบัติตามประเพณีของตน 25เราปรารถนาให้ประชาชนนี้พ้นจากความวุ่นวายด้วย เราตัดสินให้คืนพระวิหารแก่เขา และให้เขาดำเนินชีวิตตามประเพณีของบรรพบุรุษได้ 26จะเป็นการดีถ้าท่านจะส่งทูตไปพบเขาเพื่อทำสัญญามิตรภาพ เมื่อเขารู้ถึงการตัดสินใจของเรานี้แล้ว เขาจะได้ดีใจ ทำการงานของตนอย่างสะดวกอีกครั้งหนึ่ง”

          27พระราชสาสน์ของกษัตริย์ถึงประชากรชาวยิวมีความว่าดังนี้

          “กษัตริย์อันทิโอคัสขอส่งความสุขมายังผู้อาวุโสของชาวยิว และถึงชาวยิวทั้งปวง 28เราหวังว่าท่านสบายดี เราเองก็สุขสบายดี 29เมเนเลาส์บอกเราว่าท่านปรารถนาจะกลับบ้านไปทำการงานของท่าน 30ดังนั้น ผู้ที่ออกเดินทางภายในวันที่สามสิบของเดือนซันธิคัสจะได้รับประกันความปลอดภัย 31และได้รับสิทธิในฐานะที่เป็นชาวยิว ให้ใช้กฎบัญญัติเรื่องอาหารและกฎบัญญัติอื่นๆดังที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม เขาจะไม่ถูกผู้ใดรบกวนเพราะความผิดที่ทำโดยไม่รู้ 32เราส่งเมเนเลาส์มายืนยันให้ท่านแน่ใจi 33สวัสดี” ปีหนึ่งร้อยสี่สิบแปด วันที่สิบห้าเดือนซันธิคัส

          34ชาวโรมันยังส่งจดหมายมาถึงชาวยิวมีความว่าดังนี้

          “ควินทัส เมมมิอัส และทิตัส มานิอัสj ทูตของชาวโรมัน ขอส่งความสุขมายังชาวยิว 35เราเห็นชอบด้วยกับข้อตกลงที่ลีเซียส พระประยูรญาติของกษัตริย์อนุมัติแก่ท่าน 36ส่วนเรื่องที่เขาตัดสินว่าควรเสนอต่อกษัตริย์นั้น เมื่อท่านพิจารณาแล้ว จงรีบส่งผู้แทนนำเรื่องมาบอกเราด้วย เพื่อเราจะได้เสนอต่อกษัตริย์อย่างที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่าน เรากำลังจะไปเมืองอันทิโอก 37ขอได้รีบส่งบางคนมาแจ้งความคิดเห็นของท่านให้เราทราบด้วย 38สวัสดี” ปีหนึ่งร้อยสี่สิบแปด วันที่สิบห้าเดือนซันธิคัสk

11 a เหตุการณ์ที่เล่าใน 11:1-21 และ 11:27-12:9 เกิดขึ้นในปี 164 ก่อน ค.ศ. ขณะที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสยังทรงพระชนม์อยู่ และยาโสนชาวไซรีนคงเล่าเรื่องนี้ต่อจาก 8:36 (ข้อความว่า “หลังจากนั้นไม่นาน”) แต่ผู้เขียน 2 มคบ ซึ่งสรุปผลงานของยาโสน ย้ายเหตุการณ์นี้มาอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 (ดูข้อ 22ฯ)

b “ชักชวน” แปลตามสำนวนแปลภาษาละตินบางฉบับ ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ชักชวนและบังคับ” คำเดิมคงจะเป็น “บังคับ” แต่ผู้คัดลอกอาจรู้สึกว่าแรงเกินไป จึงเพิ่มคำ “ชักชวน” เข้าไปด้วย ผู้เขียน 2 มคบ คิดว่ากษัตริย์ในขณะนั้น คืออันทิโอคัสที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ จึงต้องทรงยอมตามคำเสนอของลีเซียสทุกประการ

c การตกลงครั้งนี้ทำให้ยูดาสมัคคาบีไม่ต้องสู้รบกับชาวซีเรียอีกตลอดปี 164 ก่อน ค.ศ.

d “ยอห์นและอับซาโลม” ยอห์นคงจะเป็นบุตรชายคนแรกของมัทธาธีอัส (1 มคบ 2:2) ส่วนอับซาโลมต้องเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง เพราะบุตรสองคนของเขาได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพ (ดู 1 มคบ 11:70; 13:11)

e “กษัตริย์อันทิโอคัส” ที่เอกสารฉบับนี้กล่าวถึงน่าจะเป็นกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 เอปีฟาเนส แต่ผู้เขียน 2 มคบ คิดว่าเป็นกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 ซึ่งยังทรงพระเยาว์ ถ้าเป็นเช่นนี้ ลีเซียสซึ่งมีอำนาจเต็มที่ในการปกครองบ้านเมือง ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเสนอเรื่องราวต่อกษัตริย์ผู้ทรงพระเยาว์

f “ดิโอสโครินธิอัส” แปลว่า “ของเทพซุสแห่งเมืองโครินธ์” สำนวนแปลภาษาละตินว่า “ดิโอสโครัส” เป็นชื่อเดือนหนึ่งตามปฏิทินของชาวเกาะครีต ตรงกับเดือน “ซันธิคัส” ตามปฏิทินของราชวงศ์เซเลวซิด และตรงกับเดือน “อาดาร์” ตามปฏิทินของชาวยิว คือเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม (26 กุมภาพันธ์ – 27 มีนาคม) ปี 164 ก่อน ค.ศ.

g “กษัตริย์อันทิโอคัส” หมายถึงกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 เอกสารฉบับนี้คงเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ประทานแก่ชาวยิว หลังจากที่ลีเซียสยกทัพไปสู้รบกับชาวยิวในแคว้นยูเดียครั้งที่ 2 (ดู 13:23 และ 1 มคบ 6:59)

h “เสด็จไปอยู่กับบรรดาเทพเจ้า” เป็นธรรมเนียมของราชวงศ์เซเลวซิดในซีเรีย และราชวงศ์ลากิดในอียิปต์ ที่จะถวายคารวกิจแด่กษัตริย์ที่สวรรคตแล้วเท่าเทียมกับถวายแด่เทพเจ้า สำนวนนี้จึงหมายถึงการสิ้นพระชนม์

i การที่กษัตริย์ส่งเมเนเลาส์มหาสมณะที่ถูกพวกมัคคาบีและชาวยิวที่ซื่อสัตย์ต่อศาสนาขับไล่ แสดงว่ากษัตริย์ไม่ทรงยอมรับยูดาสมัคคาบีเป็นผู้นำของชาวยิว กระนั้นก็ดี จุดมุ่งหมายทางศาสนาของการกบฏก็ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง เพราะกษัตริย์ทรงอนุญาตให้ชาวยิวปฏิบัติศาสนาได้ตามกฎบัญญัติของบรรพบุรุษ และคืนพระวิหารให้ด้วย

j “ทิตัส มานิอัส” เป็นชื่อไม่ถูกต้อง ที่ถูกควรจะเป็น “ทิตัส มานีลิอัส” และ “มานิอัส แซร์เจียส” ตามสำเนาโบราณบางฉบับ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เรามี

k “เดือนซินธิคัส” สำนวนแปลโบราณภาษาละตินว่า “ดิโอสโครัส” (ดู เชิงอรรถ f ข้างบน)

เหตุการณ์ที่เมืองยัฟฟาและยัมเนีย

12     1เมื่อตกลงกันเช่นนี้แล้ว ลีเซียสก็กลับไปเฝ้ากษัตริย์a ส่วนชาวยิวทำไร่ทำนาได้อีก 2แต่ผู้ปกครองเขตแดนบางคน ได้แก่ ทิโมธีและอปอลโลเนียสบุตรของเยนเนอัส เฮโรนิมัสและเดโมโฟน รวมทั้งนิคาโนร์ ผู้บังคับบัญชาทหารรับจ้างชาวไซปรัส ไม่ยอมให้ชาวยิวดำเนินชีวิตอย่างสงบและทำงานอย่างสันติ 3ชาวเมืองยัฟฟาทำความผิดร้ายแรง เขาเชิญชาวยิวที่อยู่ในหมู่ของตน พร้อมทั้งบุตรภรรยาให้ลงเรือที่เขาจัดขึ้น เหมือนมิได้มีเจตนาร้ายต่อชาวยิวแม้แต่น้อย 4แต่ทำไปเพราะเป็นข้อตกลงของชาวเมือง ชาวยิวยินดีรับคำเชิญโดยไม่ระแวง เพราะปรารถนาจะเป็นมิตรกัน แต่เมื่ออยู่กลางทะเล ชาวยัฟฟาทำให้ชาวยิวจมน้ำตายไม่น้อยกว่าสองร้อยคน

          5เมื่อยูดาสรู้เรื่องที่ชาวยัฟฟาทำต่อเพื่อนร่วมชาติอย่างป่าเถื่อน เขาก็ออกคำสั่งแก่คนของตน 6ร้องทูลพระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม เดินทัพเข้าโจมตีผู้ที่ฆ่าญาติพี่น้องของเขา ในเวลากลางคืนเขาจุดไฟเผาท่าเรือ เผาเรือ ฆ่าทุกคนที่มาลี้ภัยอยู่ที่นั่นด้วยดาบ 7แต่ประตูเมืองปิดอยู่ เขาจึงถอยทัพ ตั้งใจจะกลับมาโจมตีอีกในภายหลังเพื่อกวาดล้างชาวเมืองยัฟฟาให้หมดสิ้น

          8เมื่อยูดาสรู้ว่าชาวเมืองยัมเนียต้องการใช้วิธีการเดียวกันกับชาวยิวที่อยู่ในเมืองของตน 9เขาก็เข้าโจมตีชาวเมืองยัมเนียในเวลากลางคืน จุดไฟเผาท่าเรือและเรือรบ แสงไฟลุกโชติช่วงเห็นได้ไกลถึงกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งอยู่ห่างออกไปสี่สิบแปดกิโลเมตร

การยกกองทัพไปแคว้นกิเลอาด

          10เมื่อยูดาสและทหารออกเดินทางจากเมืองไปได้ราวหนึ่งกิโลเมตรครึ่งb เพื่อไปสู้รบกับทิโมธี ก็ถูกชาวอาหรับโจมตี ชาวอาหรับกลุ่มนี้มีทหารราบจำนวนห้าพันคนเป็นอย่างน้อย และทหารม้าห้าร้อยคน 11ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอย่างดุเดือด กำลังพลของยูดาสมีชัยชนะเพราะพระเจ้าทรงช่วยเหลือ ชาวอาหรับเร่ร่อนที่พ่ายแพ้วอนขอให้ยูดาสทำสัญญาเป็นมิตรกับตน สัญญาจะให้สัตว์เลี้ยงแก่ชาวยิว และจะช่วยเหลือทุกวิถีทาง 12ยูดาสก็ตกลงสงบศึกด้วย เพราะเห็นว่าจะใช้คนเหล่านี้เป็นประโยชน์ได้หลายทาง หลังจากจับมือเป็นมิตรกันแล้ว ชาวอาหรับก็กลับไปที่กระโจมของตน

          13ยูดาสโจมตีอีกเมืองหนึ่งชื่อคัสปิน เมืองนี้มีเชิงเทินป้องกัน มีกำแพงเมืองล้อมรอบ ชาวเมืองเป็นชนหลายเชื้อชาติ 14ชาวเมืองเชื่อมั่นว่ากำแพงเมืองของตนแข็งแรง มีเสบียงอาหารสะสมไว้มาก จึงดูถูกยูดาสและทหารที่ล้อมเมืองอยู่ เขาดูหมิ่นพระเจ้า กล่าววาจาหยาบคายที่ไม่ควรกล่าวถึง 15แต่ยูดาสกับทหารทูลขอให้พระผู้ปกครองยิ่งใหญ่ของจักรวาลทรงช่วยเหลือ พระองค์ทรงเคยทำให้กำแพงของเมืองเยรีโคในสมัยของโยชูวาพังทลาย โดยไม่ต้องใช้เครื่องกระทุ้งกำแพงหรืออุปกรณ์อื่นๆ เลย ยูดาสโจมตีกำแพงเมืองอย่างรุนแรงประดุจสัตว์ร้าย 16ฆ่าฟันผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วน จนทะเลสาบซึ่งกว้างประมาณครึ่งกิโลเมตรใกล้ๆ เมืองดูเหมือนเต็มไปด้วยเลือดที่ไหลลงไป เขายึดเมืองได้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า

 

การสู้รบที่คาร์นิโอน

            17ยูดาสและทหารเดินทางต่อไปจากที่นั่นประมาณหนึ่งร้อยสี่สิบสี่กิโลเมตรมาถึงเมืองคารักส์ ที่นั่นมีชาวยิวกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “ชาวทูเบียน”c 18แต่เขาไม่พบทิโมธีในบริเวณนั้น เพราะทิโมธีออกจากที่นั่นไปแล้วโดยไม่ได้ทำอะไร นอกจากให้กองทหารที่เข้มแข็งมากอยู่ในที่แห่งหนึ่ง 19แต่โดสิเธอัสและโสสิปาเตอร์ นายทหารสองคนของยูดาสมัคคาบี ยกกำลังไปทำลายล้างทหารมากกว่าหนึ่งหมื่นคนที่ทิโมธีให้อยู่ในป้อม 20ขณะนั้น ยูดาสมัคคาบีแบ่งกองทัพเป็นสองส่วน แต่งตั้งผู้บังคับบัญชาแต่ละส่วน ยกทัพไล่ตามทิโมธีซึ่งมีกำลังพลเป็นทหารราบหนึ่งแสนสองหมื่นคน และทหารม้าสองพันห้าร้อยคน 21เมื่อทิโมธีรู้ว่ายูดาสกำลังยกทัพมา เขาก็ส่งผู้หญิง เด็กและสัมภาระเดินทางล่วงหน้าไปยังที่ที่เรียกว่า “คาร์นิโอน”d สถานที่นี้เข้าถึงได้ยาก และไม่มีทางจะยึดได้เพราะทางเข้าแคบมาก 22เมื่อศัตรูเห็นทหารส่วนแรกของยูดาสมาถึง ก็หวาดกลัวมาก เพราะพระผู้ทรงเห็นทุกอย่างทรงสำแดงพระองค์แก่เขาเหล่านั้น เขาหนีแตกกระจายกันไปคนละทิศละทาง ได้รับบาดเจ็บจากพวกเดียวกัน เพราะถูกดาบของเพื่อนทหารแทง 23ยูดาสไล่ตามอย่างกระชั้นชิด ฆ่าฟันศัตรูล้มตายประมาณสามหมื่นคน

          24ทิโมธีตกอยู่ในมือของทหารใต้บังคับบัญชาของโดสิเธอัสและโสสิปาเตอร์ แต่ด้วยความเจ้าเล่ห์ เขาขอให้ไว้ชีวิตของตนแล้วปล่อยไป เพราะอ้างว่าตนยังมีพ่อแม่และญาติพี่น้องของทหารหลายคนเป็นตัวประกันอยู่ คนเหล่านี้จะต้องลำบาก 25เมื่อทิโมธีสาบานยืนยันอย่างแข็งขันว่าจะไม่ทำร้ายพ่อแม่ญาติพี่น้อง ทหารเหล่านี้จึงปล่อยตัวทิโมธีไปเพื่อความปลอดภัยของญาติพี่น้อง

          26ยูดาสเดินทัพไปยังคาร์นิโอน ซึ่งเป็นวิหารของเทพีอาทาร์กาติสe ฆ่าศัตรูสองหมื่นห้าพันคน

ยูดาสยกทัพกลับผ่านเมืองเอโฟรนและชีโธโปลิส

            27เมื่อยูดาสมัคคาบีปราบและทำลายศัตรูแล้ว เขาก็ยกทัพไปโจมตีเมืองเอโฟรนซึ่งมีป้อมปราการป้องกัน ลีซาเนียสfพำนักอยู่ที่นี่กับชาวเมืองจำนวนมากหลายเชื้อชาติ ชายฉกรรจ์ตั้งมั่นอยู่บนกำแพงเมือง สู้รบอย่างกล้าหาญ ภายในป้อมมีอุปกรณ์สงครามและลูกธนูจำนวนมาก 28แต่ชาวยิวทูลขอพระผู้ทรงอานุภาพ พระองค์ก็ทรงทำลายกำลังของศัตรูด้วยพระอานุภาพ เขาจึงยึดเมืองได้ ฆ่าฟันผู้คนที่อยู่ในเมืองถึงสองหมื่นห้าพันคน 29แล้วเขารีบไปจากที่นั่นเพื่อโจมตีเมืองชีโธโปลิสg ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณหนึ่งร้อยสิบกิโลเมตร 30แต่ชาวยิวที่อยู่ที่นั่นยืนยันว่าชาวเมืองชีโธโปลิสมีน้ำใจดี และปฏิบัติต่อตนอย่างใจกรุณา แม้ในยามยากลำบาก 31ยูดาสกับทหารขอบใจชาวเมืองชีโธโปลิสและชักชวนให้เป็นมิตรกับชาวยิวต่อไป ในที่สุดก็มาถึงกรุงเยรูซาเล็มก่อนเทศกาลฉลองสัปดาห์ไม่นานนัก

การสู้รบกับกอร์เกียส

            32เมื่อฉลองเทศกาลที่เรียกว่า “เปนเตกอสเต” แล้ว ชาวยิวก็ยกทัพไปสู้รบกับกอร์เกียสผู้บัญชาการทหารแคว้นอีดูเมอา 33กอร์เกียสนำกำลังพลทหารราบสามพันคน ทหารม้าสี่ร้อยคนออกมา 34ในการสู้รบครั้งนั้น ชาวยิวถูกฆ่าไม่กี่คน 35ชายคนหนึ่งชื่อโดสิเธอัส เป็นทหารม้าที่เก่งกล้าคนหนึ่งในกองทหารชาวทูเบียนh จู่โจมเข้าใส่กอร์เกียส จับชายเสื้อคลุมทหารของเขา ลากไปด้วยกำลัง ตั้งใจจะจับเป็นชายชั่วร้ายผู้นี้ แต่ทหารม้าชาวทราเชียพุ่งเข้าใส่โดสิเธอัส ฟันบ่าเขาจนแขนขาด กอร์เกียสจึงหนีไปที่เมืองมาริสา 36ส่วนเอสดรินกับทหารสู้รบอยู่เป็นเวลานานจนเหนื่อยอ่อน ยูดาสจึงวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ทรงต่อสู้เคียงข้างตน และทรงเป็นผู้นำในการสู้รบ 37แล้วเขาก็โห่ร้องเป็นสัญญาณออกศึก และขับร้องเพลงสรรเสริญiเป็นภาษาฮีบรู จู่โจมเข้าใส่ทหารของกอร์เกียสไม่ทันให้รู้ตัว ทำให้คนเหล่านั้นต้องหนีไป

การถวายบูชาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับj

            38ยูดาสรวบรวมกองทัพยกไปถึงเมืองอดุลลัมk เมื่อสิ้นสัปดาห์ ชาวยิวก็ชำระตนตามประเพณีและถือวันสับบาโตที่นั่น 39วันรุ่งขึ้น เพราะความจำเป็นเร่งด่วน ยูดาสกับทหารlไปเก็บศพของผู้ที่ถูกฆ่าในการรบ เพื่อนำไปฝังไว้กับญาติพี่น้องในที่ฝังศพของบรรพบุรุษ 40แต่ในเสื้อของผู้ตายแต่ละคนเขาพบเครื่องรางmรูปเคารพที่นับถือกันที่เมืองยัมเนีย ซึ่งธรรมบัญญัติห้ามชาวยิวสวม จึงเห็นได้ชัดว่า เพราะเหตุนี้เองทหารเหล่านี้จึงถูกฆ่า 41ดังนั้น ทุกคนถวายพระพรแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงตัดสินอย่างยุติธรรม และทรงเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนไว้ 42เขาอธิษฐานภาวนาวอนขอพระเจ้าให้ทรงลบล้างบาปให้หมดสิ้น ยูดาสผู้ทรงศักดิ์เตือนบรรดาทหารให้รักษาตนให้พ้นจากบาป เขาทั้งหลายได้เห็นกับตาแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ตายเพราะได้ทำบาป 43ยูดาสเรี่ยไรเงินจากทหารแต่ละคน ได้เงินจำนวนสองพันเหรียญดรักมา ส่งไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อจัดให้มีการถวายบูชาชดเชยบาป นับว่าเป็นการกระทำที่งดงามและน่ายกย่อง โดยคำนึงถึงการกลับคืนชีพของผู้ตาย 44เพราะถ้าเขาไม่มีความหวังว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพ การอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ตายคงไม่มีประโยชน์และไร้ความหมาย 45แต่ถ้าเขาทำไปเพราะคิดว่าผู้ที่ตายขณะที่ยังเลื่อมใสต่อพระเจ้าจะได้รับบำเหน็จรางวัลงดงาม ก็เป็นความคิดที่ดีและศักดิ์สิทธิ์n เขาสั่งให้ถวายเครื่องบูชาชดเชยบาปของผู้ตาย เพื่อจะได้พ้นจากบาป

12 a “กษัตริย์” ผู้เขียน 2 มคบ คิดว่ากษัตริย์พระองค์นี้คืออันทิโอคัสที่ 5 ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองอันทิโอกแห่งซีเรีย กระนั้นก็ดี การที่ยูดาสยกทัพไปโจมตีเมืองชายทะเลสองเมืองนี้คงเกิดขึ้นเมื่อลีเซียสยกทัพไปโจมตีแคว้นยูเดียในรัชสมัยของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 ขณะที่กษัตริย์ประทับอยู่ในแคว้นเปอร์เซีย (ดู 9:1) เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในปี 164 ก่อน ค.ศ.

b “ระยะทางหนึ่งกิโลเมตรครึ่ง” นี้ไม่น่าจะนับจากเมืองยัมเนีย แต่นับจากที่ใดที่หนึ่งในแคว้นกิเลอาด (ดูข้อ 13) ผู้เขียน 2 มคบ คงสรุปเรื่องราวจากหนังสือของยาโสนมาผิดๆ เกี่ยวกับรายละเอียดของการสู้รบในฤดูร้อนปี 163 ก่อน ค.ศ. (ดู 1 มคบ 5:9ฯ) * “ชาวอาหรับ” ที่นี่หมายถึงชาวนาบาเทียน (ดู 1 มคบ 5:25) หัวหน้าของชนเผ่านี้คงเป็นคนเดียวกันกับที่กล่าวถึงใน 2 มคบ 8:32

c “ชาวทูเบียน” หมายถึงผู้อาศัยในแคว้นของตระกูล “โทบีอา” (ดู 1 มคบ 5:13) ซึ่งมีชื่อเสียงในการเลี้ยง-ผสมพันธุ์ม้า กองทหารม้าชาวทูเบียนมีชื่อเสียงในกองทัพของชาวอีดูเมอา (ข้อ 35) * เมืองคารักซ์คงจะเป็นป้อมปราการซึ่งมีชื่ออีกว่า “บีร์ตาของชาวอัมโมน” (“อารัก-เอล-เอมีร์” [Arak-el-Emir] ในปัจจุบัน) เป็นที่พำนักของทิโมธีผู้ว่าราชการ

d “คาร์นิโอน” เป็นที่ตั้งของวิหารของเทพีอัชทาโรทที่มีเขา (ดู 1 มคบ 5:43) * ทางเข้าที่แคบนั้นคงหมายถึงท้องน้ำของลำธาร นาห์ร-เอล-เอห์เรอีร์ [Nahr-el-Ehreir] แควสายหนึ่งของแม่น้ำยาร์มุก (ดู 1 มคบ 5:37)

e “วิหารของเทพีอาทาร์กาติส” [Atargatis] เทพีอาทาร์กาติสเป็นเทพีที่ชาวซีเรียนับถือ คงเป็นเทพีองค์เดียวกันกับเทพีอัชทาโรท

f “ลีซาเนียส” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาละตินบางฉบับ ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ลีเซียส” แต่ลีเซียสผู้นี้เป็นคนละคนกับลีเซียสผู้บัญชาการแคว้นซีเรียใต้ ซึ่งคงพำนักอยู่ที่เมืองไทระ ส่วนลีซาเนียส (หรือ “ลีเซียส”) ผู้นี้เป็นเพียงผู้บังคับบัญชากองทหารในเขตเล็กๆ คนหนึ่ง * ในสมัยนั้นมีหลายคนชื่อ “ลีเซียส”

g “ชีโธโปลิส” เป็นชื่อภาษากรีกของเมืองเบธชาน ในภาษาฮีบรู (1 มคบ 5:52)

h “กองทหารชาวทูเบียน” แปลตามสำนวนแปลภาษาละตินและซีเรียคบางฉบับ ต้นฉบับภาษากรีกว่า “กองทหารของบาเชโนร์” แต่ชื่อนี้ไม่มีใครรู้จัก

i “ขับร้องเพลงสรรเสริญ” แม้ขับร้องระหว่างการสู้รบ ก็ยังรักษาลักษณะเป็นพิธีกรรมถวายแด่พระเจ้า จึงร้องเป็นภาษาฮีบรู

j แม้ข้อ 45 (ดูเชิงอรรถ n) จะเป็นข้อความเพิ่มเติมของผู้คัดลอก แต่ข้อความนี้ (ข้อ 38-44) แสดงความเชื่อที่ว่าคำภาวนาและการถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้ามีผลช่วยให้พระเจ้าทรงอภัยความผิดของผู้ล่วงลับได้ ข้อความตอนนี้เป็นหลักฐานครั้งแรกในพันธสัญญาเดิมถึงความเชื่อประการนี้ เป็นไปได้ว่ายูดาสสั่งให้ถวายบูชาเพียงเพื่อชำระมลทินที่ประชาชนทั้งหมดได้รับเพราะบาปของบางคน (เทียบ ยชว 7) และยาโสนซึ่งเล่าเรื่องนี้ 40 ปีหลังจากเหตุการณ์ ได้ใส่ความเชื่อของตนในปากของยูดาสมัคคาบี แต่ไม่ว่าความเชื่อเรื่องนี้จะเริ่มตั้งแต่เมื่อใด ก็เป็นขั้นตอนใหม่และสำคัญในวิวัฒนาการของเทววิทยาของชาวยิว

k “อดุลลัม” เป็นที่มั่นสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งอยู่ 25 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม (ดู ยชว 12:15; 1 ซมอ 22:1; 2 พศด 11:6) * ภาษากรีกว่า “โอโดลลัม”

l “ยูดาสกับพวกทหาร” แปลตามตัวอักษรว่า “ผู้ที่อยู่กับยูดาส”

m “เครื่องราง” ชาวยิวน่าจะเผาทำลายเครื่องรางเหล่านี้ตามคำสั่งของธรรมบัญญัติ (ดู ฉธบ 7:25ฯ) แทนที่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือเป็นวัตถุที่มีราคา

n ข้อความในข้อ 45 นี้คัดลอกต่อๆ กันมาในหลายรูปแบบด้วยกัน ตัวบทของเราจึงเป็นการประนีประนอมจากต้นฉบับต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันทีเดียว

กองทัพซีเรียบุกรุกแคว้นยูเดีย เมเนเลาส์สิ้นชีวิต

13     1ปีหนึ่งร้อยสี่สิบเก้า ศักราชกรีกa ยูดาสและทหารรู้ว่ากษัตริย์อันทิโอคัส ยูปาเตอร์ ยกทัพใหญ่มาบุกรุกแคว้นยูเดีย 2ลีเซียสผู้ดูแลและผู้สำเร็จราชการอยู่กับพระองค์ นำกองทัพกรีกมีกำลังพลทหารราบหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นคน ทหารม้าห้าพันสามร้อยคน ช้างยี่สิบสองเชือก และรถศึกติดเคียวที่ล้อสามร้อยคัน 3เมเนเลาส์ก็ร่วมด้วย เขาใช้เล่ห์เหลี่ยมสนับสนุนกษัตริย์ มิใช่เพื่อความอยู่รอดของบ้านเกิดเมืองนอน แต่เพราะความหวังจะได้ตำแหน่งมหาสมณะคืนมา 4แต่พระเจ้าจอมกษัตริย์ทรงบันดาลให้กษัตริย์อันทิโอคัสกริ้วคนชั่วร้ายผู้นี้ เมื่อลีเซียสแสดงให้กษัตริย์เห็นว่าเมเนเลาส์เป็นผู้ก่อเหตุยุ่งยากทั้งหมดนี้ กษัตริย์ทรงสั่งให้นำตัวเขาไปที่เมืองเบโรอา และประหารชีวิตเขาที่นั่นตามธรรมเนียมของท้องถิ่นb 5ที่นั่นมีหอสูงราวยี่สิบห้าเมตร บรรจุขี้เถ้าจนเต็ม มีทางเดินที่ขอบข้างบนโดยรอบและมีพื้นลาดทุกด้านลงไปสู่กองขี้เถ้า 6ผู้ทำผิดฐานล่วงละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือทำผิดอย่างหนัก ย่อมถูกผลักจากขอบยอดหอให้ตกลงมาตายc 7เมเนเลาส์ผู้ละเมิดธรรมบัญญัติพบความตายด้วยวิธีนี้ เขาไม่ได้รับแม้กระทั่งการฝังศพ 8เป็นการลงโทษที่ยุติธรรม เพราะผู้ที่ทำผิดต่อพระแท่นบูชาที่มีไฟและเถ้าบริสุทธิ์ ก็ควรจะจบชีวิตในกองขี้เถ้า

ชัยชนะของชาวยิวใกล้เมืองโมดีน

            9กษัตริย์ทรงยกทัพมา มีพระทัยโหดร้ายป่าเถื่อน มีพระประสงค์จะปฏิบัติต่อชาวยิวอย่างเลวร้ายยิ่งกว่าที่พระบิดาเคยทรงกระทำ 10เมื่อยูดาสรู้เรื่องนี้ ก็สั่งประชาชนให้อธิษฐานภาวนาทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าทั้งวันทั้งคืนให้ทรงช่วยเขา ณ บัดนี้ เหมือนที่ทรงเคยทำในอดีต เพราะเขาอยู่ในอันตรายที่จะสูญเสียธรรมบัญญัติ บ้านเกิดเมืองนอนและพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ 11และทูลขออย่าทรงปล่อยให้ประชาชนที่เพิ่งหายใจได้อีกต้องตกในมือของชนต่างชาติที่หยาบช้า 12ทุกคนร่วมใจกันทำเช่นนี้ วอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระเมตตา ด้วยการคร่ำครวญ จำศีลอดอาหาร และกราบลงที่พื้นดินเป็นเวลาสามวันอย่างต่อเนื่อง ยูดาสปลุกใจเขาทั้งหลายและสั่งให้เตรียมพร้อม 13เขาเรียกบรรดาผู้อาวุโสมาประชุม ตกลงจะแก้ไขสถานการณ์โดยไม่รอให้กองทัพของกษัตริย์บุกแคว้นยูเดียและยึดเมือง แต่ออกไปสู้รบด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า 14ฝากความสำเร็จไว้กับพระผู้ทรงสร้างโลก ปลุกใจทหารให้สู้รบอย่างกล้าหาญ ยอมตายเพื่อธรรมบัญญัติ พระวิหาร กรุงเยรูซาเล็ม บ้านเกิดเมืองนอน และสถาบันของตน แล้วไปตั้งค่ายอยู่ใกล้เมืองโมดีน 15ให้สัญญาณแก่บรรดาทหารว่า “พระเจ้าทรงชัยชนะ” แล้วเลือกชายหนุ่มผู้กล้าหาญที่สุดเข้าโจมตีกระโจมที่ประทับของกษัตริย์ในค่าย ฆ่าศัตรูประมาณสองพันคน เขายังฆ่าช้างนำทัพกับคนขี่ช้างด้วย 16ในที่สุด เขาทำให้ค่ายของข้าศึกสับสนอลหม่านและมีความหวาดกลัวยิ่งนัก แล้วเขาก็ถอยทัพกลับอย่างมีชัย 17ครั้นรุ่งเช้า การรบที่กล้าหาญนี้ก็สำเร็จเพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเหลือและปกป้องยูดาส

กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 ทรงทำสัญญากับชาวยิว

            18กษัตริย์ทรงเห็นตัวอย่างความกล้าหาญของชาวยิวเช่นนี้ จึงทรงพยายามจะใช้เล่ห์เหลี่ยมยึดสถานที่ต่างๆ 19พระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองเบธซูร์ ซึ่งเป็นป้อมปราการแข็งแรงของชาวยิว แต่ก็ถูกต่อต้าน ถูกตีกลับ เคราะห์ร้ายและพ่ายแพ้ 20ยูดาสเคยส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นไปให้คนที่ถูกล้อมอยู่ในป้อม 21ขณะนั้นโรโดคัสซึ่งอยู่ในกองทัพชาวยิวนำความลับทางทหารไปบอกศัตรู แต่เมื่อความผิดปรากฏ เขาก็ถูกจับและถูกประหารชีวิต 22กษัตริย์ทรงเจรจากับชาวเบธซูร์อีกครั้งหนึ่ง ทรงทำสัญญาเป็นมิตร ทรงถอยทัพ แล้วเข้าโจมตีกองทัพของยูดาส แต่ทรงพ่ายแพ้ 23ต่อมาทรงทราบว่าฟีลิปที่ทรงให้เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ที่เมืองอันทิโอกเป็นกบฏ พระองค์ตกพระทัยมาก จึงทรงเชิญชาวยิวมาเจรจาเป็นมิตร ทรงยอมรับเงื่อนไขที่เป็นธรรมทุกข้อ และทรงสาบานจะรักษาสิทธิของเขา เมื่อตกลงเช่นนี้แล้ว พระองค์ก็ทรงถวายเครื่องบูชา ทรงแสดงความเคารพต่อพระวิหาร โดยประทานของกำนัลให้สถานที่นั้นdอย่างมากมาย 24ทรงต้อนรับมัคคาบีอย่างดี ทรงให้เฮเกโมนีดิสเป็นผู้บังคับบัญชาทหารจากเมืองโทเลมาอิสจนถึงดินแดนของชาวเกราร์e 25เมื่อกษัตริย์เสด็จมาถึงเมืองโทเลมาอิส ชาวเมืองไม่พอใจที่กษัตริย์ทรงทำสัญญาเป็นมิตร เขาโกรธจนต้องการจะเลิกสัญญานั้นf 26แต่ลีเซียสขึ้นเวทีปราศรัยปกป้องสัญญาอย่างสุดความสามารถ ชักชวนให้ประชาชนอยู่ในความสงบ เมื่อเขามั่นใจว่าประชาชนหายโกรธแล้ว ก็กลับไปเมืองอันทิโอก

          ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องกล่าวถึงการเข้าโจมตีและการถอยทัพของกษัตริย์อันทิโอคัส

13 a “ปีที่หนึ่งร้อยสี่สิบเก้า ศักราชกรีก” ตรงกับฤดูใบไม้ร่วง ปี 163 ก่อน ค.ศ.

b เมเนเลาส์มหาสมณะกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็ม (ดู 11:32) แต่คงรักษาตำแหน่งมหาสมณะที่นั่นอยู่ไม่ได้นาน กษัตริย์อันทิโอคัสคงรับสั่งให้ประหารชีวิตของเขาเมื่อทรงยึดกรุงเยรูซาเล็มได้ในภายหลัง ตามที่โยเซฟุสบันทึกไว้ (Ant. Jud.) * เมืองเบโรอาอยู่ในแคว้นมาซิโดเนีย (ดู กจ 17:10) กษัตริย์เซเลวคัสที่ 1 ทรงมอบเมืองนี้ให้ Aleppo ปกครอง

c “ถูกผลัก...ลงมา” แปลโดยคาดคะเนตามสำนวนแปลโบราณภาษาละติน การประหารชีวิตโดยผลักลงไปในกองขี้เถ้าเป็นธรรมเนียมการประหารชีวิตในหมู่ชาวเปอร์เซีย 2 มคบ เล่าเรื่องนี้เพื่อเน้นให้เห็นว่าพระเจ้าทรงลงโทษผู้ทำผิดในสมกับลักษณะของความผิดที่ได้ทำ (ข้อ 8 – ดู 4:26; 9:5-6)

d เรื่องกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 ทรงทำสัญญาสันติภาพและถวายของกำนัลแด่พระวิหารยังมีเล่าใน 1 มคบ 6:55-62 แต่ที่นั่นไม่เน้นความพิเศษของกิจการนี้ เพียงแสดงว่าชาวยิวได้รับอิสรภาพทางศาสนาเท่านั้น (6:59) ส่วนผู้เขียน 2 มคบ ไม่ได้เน้นเรื่องอิสรภาพทางศาสนามากนัก เพราะดูเหมือนจะไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพระราชสาสน์ของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 (11:22ฯ) กับการยกทัพครั้งที่สองของลีเซียสที่เล่าไว้ที่นี่

e ตั้งแต่นี้ไป (ปี 163 ก่อน ค.ศ.) กษัตริย์ราชวงศ์เซเลวซิดแห่งซีเรียยอมรับอำนาจปกครองชาวยิวในแคว้นยูเดียของตระกูลฮัสโนเนียนโดยพฤตินัย อำนาจปกครองของตระกูลนี้จะคงอยู่จนถึงปี 37 ก่อน ค.ศ. เมื่อชาวโรมันจะตั้งเฮโรดมหาราชเป็นผู้ปกครองแคว้นยูเดีย

f “เขาโกรธจนต้องการเลิก...” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาละติน ต้นฉบับภาษากรีกไม่สมบูรณ์

VII. สงครามกับนิคาโนร์ผู้บัญชาการของกษัตริย์เดเมตริอัสที่ 1

 

อัลชีมัส

14 1สามปีต่อมาa ยูดาสกับทหารรู้ว่าเดเมตริอัสพระโอรสของกษัตริย์เซเลวคัส ทรงยกกองทัพใหญ่และกองทัพเรือมาขึ้นบกที่ท่าเรือเมืองตรีโปลี 2ทรงยึดดินแดนแถบนั้นได้ ทรงประหารชีวิตกษัตริย์อันทิโอคัสและลีเซียสผู้ดูแลกษัตริย์

          3ชายคนหนึ่งชื่ออัลชีมัส ซึ่งเคยเป็นมหาสมณะ แต่ได้จงใจทำให้ตนเป็นมลทินbในสมัยที่เกิดกบฏ รู้ว่าตนไม่มีโอกาสได้ตำแหน่งคืนมาและไม่มีโอกาสเข้าใกล้พระแท่นบูชาศักดิ์สิทธิ์ได้อีก 4เขาจึงไปเฝ้ากษัตริย์เดเมตริอัสในปีหนึ่งร้อยห้าสิบเอ็ด ศักราชกรีก ถวายมงกุฎทองคำ กิ่งปาล์มและกิ่งมะกอกเทศจากพระวิหารตามประเพณี แต่ในวันนั้นเขานิ่งเงียบ มิได้ทูลขออะไร 5เขาฉวยโอกาสที่จะปฏิบัติตามแผนชั่วร้ายของตน เมื่อกษัตริย์เดเมตริอัสทรงเชิญเขาเข้าร่วมประชุม ทรงซักถามว่าชาวยิวมีท่าทีและแผนการอย่างใด เขาก็ตอบว่า 6“ชาวยิวกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่าพวกฮาสิเดียน มียูดาสมัคคาบีเป็นผู้นำ ก่อสงครามและเป็นกบฏ ไม่ยอมให้อาณาจักรอยู่ในความสงบ 7เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงถูกปลดจากตำแหน่งมหาสมณะซึ่งเป็นเกียรติตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ข้าพเจ้ามาที่นี่เพราะเหตุผลสองประการ 8ประการแรก ข้าพเจ้าเป็นห่วงผลประโยชน์ของกษัตริย์อย่างจริงใจ และประการที่สอง ข้าพเจ้าห่วงใยสถานการณ์ของเพื่อนร่วมชาติ ประชาชนทั้งหลายของเราต้องทนทุกข์ลำบากอย่างมากจากการกระทำไร้เหตุผลของกลุ่มชาวยิวที่กล่าวมานี้ 9เมื่อพระองค์ทรงทราบรายละเอียดในเรื่องนี้แล้ว ข้าแต่พระราชา ขอทรงสนพระทัยแผ่นดินและชนชาติของเราที่ถูกข่มเหง ขอทรงแสดงพระเมตตาดังที่ทรงมีต่อคนทั้งหลายเถิด 10ตราบใดที่ยูดาสยังมีชีวิตอยู่ บ้านเมืองย่อมจะมีความสงบสุขไม่ได้” 11เมื่ออัลชีมัสทูลกษัตริย์เช่นนี้ พระสหายอื่นๆ ของกษัตริย์ที่ไม่พอใจในความสำเร็จของยูดาส ก็รีบยุยงกษัตริย์เดเมตริอัสให้กริ้วยิ่งขึ้น

          12กษัตริย์ทรงรีบเลือกและทรงแต่งตั้งนิคาโนร์ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการกองช้าง ให้เป็นผู้บังคับบัญชาทหารในแคว้นยูเดียc พระองค์ทรงส่งเขา 13มีพระบัญชาให้ฆ่ายูดาส ขับไล่ทหารของเขา แล้วให้ตั้งอัลชีมัสเป็นมหาสมณะที่พระวิหารยิ่งใหญ่ 14ชนต่างชาติจากแคว้นยูเดียที่เคยหนีจากการสู้รบกับยูดาสรวมตัวกันมาเข้าพวกกับนิคาโนร์ โดยคิดว่าความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของชาวยิวจะนำโชคมาให้ตน

นิคาโนร์สร้างมิตรภาพกับยูดาส

            15เมื่อชาวยิวรู้ว่านิคาโนร์กำลังยกทัพมา และชนต่างชาติกำลังร่วมโจมตีด้วย ต่างก็โปรยฝุ่นใส่ศีรษะ ทูลวอนขอความช่วยเหลือจากองค์พระผู้ทรงตั้งประชากรของพระองค์ตลอดไป และทรงปกป้องผู้ที่เป็นส่วนมรดกของพระองค์ตลอดมาด้วยเครื่องหมายอัศจรรย์ 16เมื่อผู้นำออกคำสั่ง ชาวยิวก็ออกเดินทางจากที่นั่นทันที เข้าโจมตีข้าศึกใกล้หมู่บ้านเดสเสาd 17ซีโมนพี่ชายของยูดาสเตรียมสู้รบกับนิคาโนร์แล้ว แต่กำลังจะพ่ายแพ้ เพราะข้าศึกเข้าโจมตีโดยฉับพลันe 18ส่วนนิคาโนร์เมื่อรู้ว่าทหารของยูดาสมีความกล้าหาญและความกระตือรือร้นที่จะสู้รบเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน ก็ไม่กล้าสู้รบจนนองเลือดเพื่อตัดสินเรื่องนี้ 19เขาส่งโปสิโดนิอัส ธีโอโดทัส และมัทธาธิอัสมาเจรจาสงบศึก 20ผู้นำทั้งสองฝ่ายปรึกษากันถึงข้อตกลงในสัญญาเป็นเวลานาน แล้วแจ้งให้กองทัพของตนรู้ ทุกคนเห็นด้วยและยอมรับข้อตกลงในสัญญา 21มีการกำหนดวันที่ผู้นำจะต้องมาพบกันเป็นส่วนตัว รถศึกจะออกมาจากแต่ละฝ่าย แล้วจัดที่นั่ง 22ยูดาสให้ทหารถืออาวุธเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้ง เกรงว่าจะถูกข้าศึกหักหลังเข้าโจมตีโดยฉับพลัน แต่การประชุมก็จบลงโดยมีสัญญาสงบศึก 23นิคาโนร์ยังพักอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม ไม่ทำสิ่งใดไม่ถูกต้อง เขาให้ผู้ที่มารวมเป็นฝ่ายตนกลับไป 24ให้ยูดาสอยู่กับตนตลอดเวลา และเป็นมิตรกับยูดาสอย่างจริงใจ 25เขาแนะนำยูดาสให้แต่งงานและมีบุตร ยูดาสจึงแต่งงานและดำเนินชีวิตอย่างสงบเยี่ยงสามัญชนf

อัลชีมัสยุยงให้เกิดสงครามอีก

            26เมื่ออัลชีมัสเห็นว่านิคาโนร์กับยูดาสเป็นมิตรกัน ก็นำสำเนาสัญญาที่ทั้งสองคนทำขึ้นไปถวายกษัตริย์เดเมตริอัส ทูลกล่าวหาว่านิคาโนร์มีแผนร้ายต่อบ้านเมือง แต่งตั้งยูดาสผู้เป็นกบฏต่ออาณาจักรให้สืบตำแหน่งต่อจากตน 27คำใส่ร้ายของคนชั่วร้ายผู้นี้ทำให้กษัตริย์กริ้วมาก มีพระราชสาสน์ไปถึงนิคาโนร์ว่าพระองค์ไม่พอพระทัยสัญญา และทรงสั่งให้จับยูดาสมัคคาบีเป็นนักโทษส่งไปที่เมืองอันทิโอกทันที 28เมื่อนิคาโนร์รับพระบัญชานี้ ก็รู้สึกสับสน เพราะไม่ต้องการผิดสัญญากับผู้ที่มิได้ทำสิ่งใดผิด 29แต่เพราะขัดพระบัญชาไม่ได้ นิคาโนร์จึงคอยหาโอกาสgจะปฏิบัติตามพระบัญชาโดยใช้กลอุบาย 30ยูดาสมัคคาบีสังเกตว่านิคาโนร์มีกิริยาเย็นชาต่อตน และเมื่อพบกันก็มีกิริยาหยาบคายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เข้าใจว่าความเย็นชาเช่นนี้ไม่เกิดผลดีแน่นอน จึงรวบรวมผู้คนของตนจำนวนไม่น้อยไปหลบซ่อน ไม่พบนิคาโนร์อีก

          31เมื่อนิคาโนร์รู้ว่ายูดาสรู้ทันตน จึงขึ้นไปที่พระวิหารยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่บรรดาสมณะกำลังถวายเครื่องบูชาตามปกติ แล้วสั่งให้ส่งตัวยูดาสมาให้ 32บรรดาสมณะต่างสาบานว่าตนไม่รู้ว่ายูดาสอยู่ที่ใด 33นิคาโนร์จึงยื่นมือขวาไปทางพระวิหาร สาบานว่า “ถ้าท่านทั้งหลายไม่จับยูดาสส่งเป็นเชลยมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำลายพระวิหารของพระเจ้าให้ราบเป็นหน้ากลอง จะรื้อแท่นบูชาลง แล้วสร้างวิหารสวยงามถวายแด่เทพเจ้าดิโอนีสิอัส” 34พูดแล้วเขาก็จากไป บรรดาสมณะต่างชูมือไปทางท้องฟ้า ทูลขอพระผู้ทรงปกป้องประชากรของเราอยู่ตลอดเวลาว่า 35“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ไม่ทรงต้องการสิ่งใดเลย ถึงกระนั้นก็พอพระทัยตั้งพระวิหารนี้เป็นที่ประทับของพระองค์ในหมู่ข้าพเจ้าทั้งหลาย 36บัดนี้ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเพียงพระองค์เดียว โปรดทรงพิทักษ์ที่ประทับของพระองค์นี้ที่เพิ่งได้รับการชำระ ให้พ้นมลทินตลอดไปเถิด”

การตายของราซิสh

          37ชายคนหนึ่งชื่อราซิส เป็นผู้อาวุโสที่กรุงเยรูซาเล็ม ถูกฟ้องต่อนิคาโนร์ว่าเป็นผู้รักชาติยิว เขาได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง ทุกคนเรียกเขาว่าบิดาของชาวยิว เพราะความใจดีของเขา 38ตั้งแต่เริ่มการกบฏ มีผู้ฟ้องว่าเขาปฏิบัติลัทธิยิวอย่างเคร่งครัด ยอมเสี่ยงทั้งร่างกายและวิญญาณเพื่อศาสนา 39นิคาโนร์ต้องการแสดงให้ทุกคนรู้ว่าเขาเกลียดชังชาวยิว จึงส่งทหารมากกว่าห้าร้อยคนไปจับราซิส 40เขาคิดว่าการจับกุมราซิสได้จะทำให้ชาวยิวหมดกำลังใจ 41แต่เมื่อกองทหารกำลังจะยึดป้อมที่ราซิสอยู่ และพังประตูเข้าไปที่ลานภายใน ก็ได้รับคำสั่งให้นำไฟมาเผาประตู ราซิสเห็นว่าตนถูกล้อมทุกด้าน จึงใช้ดาบพยายามฆ่าตัวตาย 42เขาเลือกตายอย่างกล้าหาญดีกว่าตกในมือของคนชั่วร้าย และถูกสบประมาทอย่างไม่สมกับศักดิ์ศรีของตน 43แต่ความรีบร้อนในการต่อสู้ทำให้เขาแทงพลาด เมื่อกองทหารกรูกันเข้าประตูมา ราซิสจึงวิ่งขึ้นไปบนกำแพงอย่างเด็ดเดี่ยว แล้วกระโจนลงมาที่กลุ่มชนข้างล่างอย่างกล้าหาญ 44กลุ่มชนเหล่านี้รีบถอยเปิดทางให้ ราซิสจึงตกลงกลางที่ว่าง 45แต่เขายังมีลมหายใจ ลุกขึ้นด้วยโทสะ วิ่งฝ่ากลุ่มชนทั้งที่มีเลือดไหลออกมาจากบาดแผลเหวอะหวะ ขึ้นไปยืนอยู่บนก้อนหินสูงชัน 46เมื่อเลือดไหลเกือบหมดร่างกายแล้ว เขาใช้มือทั้งสองข้างล้วงไส้พุงออกมา โยนไปที่กลุ่มชน ร้องทูลพระผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งชีวิตและลมหายใจให้คืนชีวิตและลมหายใจแก่ตนอีก แล้วเขาก็สิ้นใจเช่นนี้i

14 a “สามปีต่อมา” นับจากปี 149 ศักราชกรีก ตรงกับฤดูใบไม้ผลิปี 161 ก่อน ค.ศ.

b “ทำให้ตนเป็นมลทิน” คือการที่อัลชีมัสสนับสนุนให้ชาวยิวรับอารยธรรมกรีก

c นิคาโนร์เป็นผู้บังคับบัญชาในแคว้นยูเดีย จึงทำให้อัลชีมัสมหาสมณะไม่มีอำนาจทางการเมืองอีกต่อไป

d เหตุการณ์ที่เมืองเดสเสา (หรือ “อาดาสา” ตาม 1 มคบ 7:40) คงจะเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่เกิดขึ้นที่เมืองกาฟาร์ซาลามา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน (ดู 1 มคบ 7:31)

e ข้อ 17 นี้แปลโดยคาดคะเน เพราะต้นฉบับไม่สมบูรณ์

f ผู้เขียน 2 มคบ บรรยายถึงอุปนิสัยของยูดาสและนิคาโนร์อย่างละเอียด ซึ่งเราไม่พบใน 1 มคบ ที่มักกล่าวถึงอุปนิสัยแบบ “ขาวกับดำ” ยูดาสเป็นวีรบุรุษชาวยิวที่กล้าหาญ ส่วนนิคาโนร์เป็นคนต่างศาสนาที่โหดร้าย (ดู 1 มคบ 7:42)

g “คอยหาโอกาส” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

h           เรื่องนี้ไม่มีเล่าใน 1 มคบ แต่มีลีลาการเขียนเหมือนเรื่องเอเลอาซาร์และเรื่องพี่น้องเจ็ดคน ผู้เขียน 2 มคบ คงยืมทั้งสามเรื่องนี้มาจากข้อเขียนของยาโสนชาวไซรีน โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

i พระคัมภีร์เกือบจะไม่เล่าเรื่องการฆ่าตัวตายเลย (ดู 2 ซมอ 17:23 เชิงอรรถ e) นอกจากในบางกรณีที่เล่าเหตุการณ์โดยไม่ตัดสินว่าดีหรือชั่ว แม้ผู้เขียนจะรู้สึกว่าการทำเช่นนี้เป็น “วีรกรรม” เพื่อป้องกันศักดิ์ศรีหรือเพื่อจะไม่ยอมทำบาป

นิคาโนร์พูดหมิ่นประมาทพระเจ้า

15       1เมื่อนิคาโนร์รู้ว่ายูดาสและทหารอยู่ในแคว้นสะมาเรีย ก็ตัดสินใจจะเข้าโจมตีในวันหยุดงานของชาวยิว เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงอันตราย 2ชาวยิวที่ถูกบังคับให้เป็นฝ่ายนิคาโนร์ขอร้องว่า “อย่าฆ่าคนจำนวนมากอย่างทารุณและป่าเถื่อนเช่นนี้เลย จงเคารพวันที่พระผู้ทรงเห็นทุกสิ่งทรงยกย่องให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์กว่าวันอื่นๆ เถิด”

          3แต่คนชั่วร้ายที่สุดผู้นี้ถามว่า บนสวรรค์มีผู้ทรงอำนาจที่ออกกฎให้ถือวันสับบาโตจริงหรือ 4เขาทั้งหลายก็ตอบว่า มีองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงชีวิตอยู่จริง พระองค์ทรงปกครองในสวรรค์ พระองค์ทรงบัญชาให้ถือวันที่เจ็ด 5นิคาโนร์พูดว่า “เราก็เป็นผู้ปกครองบนแผ่นดิน เราขอสั่งให้ท่านจับอาวุธขึ้นทำตามพระบัญชาของกษัตริย์” ถึงกระนั้น เขาก็ทำตามแผนการโหดร้ายของตนไม่สำเร็จ

ยูดาสปลุกใจทหาร

            6นิคาโนร์ผู้ยโสต้องการโอ้อวด ตั้งใจจะสร้างอนุสาวรีย์aเพื่อระลึกถึงชัยชนะต่อยูดาสและทหารของเขา 7แต่ยูดาสมัคคาบียังมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม และหวังว่าตนจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์พระผู้เป็นเจ้า 8เขาจึงปลุกใจบรรดาทหารของตนไม่ให้กลัวการโจมตีของชนต่างชาติ แต่ให้ระลึกถึงความช่วยเหลือที่เคยได้รับจากสวรรค์ในอดีต และบัดนี้ให้มีความหวังว่าพระผู้ทรงสรรพานุภาพจะประทานชัยชนะครั้งนี้ให้ด้วย 9เขาอ้างถ้อยคำจากธรรมบัญญัติและจากบรรดาประกาศกb มาให้กำลังใจเหล่าทหาร และเตือนให้ระลึกถึงการต่อสู้ต่างๆ ที่เคยชนะมาแล้ว เขาทำให้เหล่าทหารมีใจฮึกเหิม 10เมื่อพูดปลุกใจเช่นนี้แล้ว เขาก็ออกคำสั่ง ชี้ให้เห็นว่าชนต่างชาติขาดความจริงใจเพราะละเมิดคำสาบาน 11ยูดาสมอบอาวุธให้ทหารแต่ละคน ทั้งโล่และหอกที่ให้ความปลอดภัยและถ้อยคำปลุกใจที่ให้ความกล้าหาญ เขาทำให้ทหารมีกำลังใจโดยเล่าถึงความฝันที่น่าเชื่อถือ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นนิมิตอย่างหนึ่งc

          12นิมิตที่เขาเห็นเป็นดังนี้ เขาเห็นโอนีอัสที่เคยเป็นมหาสมณะเป็นคนดี มีคุณธรรม มีกิริยาท่าทางสุภาพอ่อนโยน คำพูดน่าฟัง ได้รับการอบรมตั้งแต่เยาว์วัยให้ปฏิบัติคุณธรรมทุกประการ กำลังยกมือขึ้นอธิษฐานภาวนาเพื่อชาวยิวทั้งหลายd 13แล้วชายอีกคนหนึ่งปรากฏขึ้น มีผมหงอกขาว ท่าทางสง่า ดูเป็นผู้ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจ 14โอนีอัสพูดว่า “นี่คือเยเรมีย์eประกาศกของพระเจ้า เขารักพี่น้อง และอธิษฐานเพื่อประชากรและนครศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ” 15เยเรมีย์ยื่นมือขวามอบดาบทองคำให้ยูดาส ขณะที่มอบดาบ เขาพูดว่า 16“จงรับดาบศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้เถิด ดาบนี้เป็นของประทานจากพระเจ้า ท่านจะใช้ดาบนี้ปราบศัตรู”

ความฮึกเหิมของทหาร

            17ถ้อยคำน่าฟังของยูดาส ซึ่งมีพลังทำให้คนหนุ่มมีความกล้าหาญ พร้อมจะออกไปเผชิญหน้ากับข้าศึกเยี่ยงชายฉกรรจ์ นำพลังใจมาให้ชาวยิว จนเขาตกลงใจรีบออกไปต่อสู้อย่างกล้าหาญ เข้าประจัญบานอย่างไม่กลัวตาย ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะf เพราะกรุงเยรูซาเล็ม พระวิหารและภาชนะศักดิ์สิทธิ์ตกอยู่ในอันตราย 18เขาเป็นห่วงบุตร ภรรยา และญาติพี่น้องน้อยกว่าเป็นห่วงพระวิหาร 19คนที่ยังอยู่ในเมืองมีความกังวลเช่นเดียวกัน เพราะเป็นห่วงผู้ที่สู้รบอยู่ในสมรภูมิ

          20ขณะที่ทุกคนกำลังรอคอยผลการสู้รบ ข้าศึกก็เคลื่อนทัพมาตั้งแนวรบ พร้อมจะเข้าประจัญบาน ช้างประจำอยู่ตามตำแหน่ง ทหารม้าประจำอยู่ที่ปีกทั้งสองด้านgของกองทัพ 21ยูดาสมัคคาบีเห็นกำลังทัพที่อยู่ตรงหน้า เห็นอาวุธชนิดต่างๆ เห็นความดุร้ายของช้าง จึงชูมือขึ้นสู่ท้องฟ้า วอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกระทำอัศจรรย์ เขามั่นใจว่าชัยชนะไม่ขึ้นกับอาวุธ แต่ขึ้นกับการที่ทรงตัดสินว่าจะประทานให้แก่ผู้ที่เหมาะสมจะได้รับ 22เขาจึงทูลพระองค์ว่าดังนี้ “ข้าแต่พระเจ้า ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์แห่งยูดาห์ พระองค์ทรงส่งทูตสวรรค์มาฆ่าทหารหนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันคนในกองทัพของกษัตริย์เซนนาเคริบ 23ข้าแต่พระเจ้าแห่งสวรรค์ บัดนี้โปรดทรงส่งทูตสวรรค์ที่ดีมานำหน้าข้าพเจ้าทั้งหลาย ทำให้บรรดาศัตรูหวาดกลัวจนตัวสั่น 24ขอให้ผู้ที่กล่าวสบประมาทพระองค์ และมาโจมตีประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ถูกพระกรทรงอำนาจของพระองค์ตีให้ล้มลงเถิด” เขาจบคำอธิษฐานภาวนาด้วยถ้อยคำเหล่านี้

นิคาโนร์ปราชัยและถูกฆ่าตาย

          25บรรดาทหารของนิคาโนร์เคลื่อนที่เข้ามาพร้อมกับเสียงแตรและเพลงศึก 26ส่วนทหารของยูดาสยกออกมาต่อสู้ศัตรูพร้อมกับคำอธิษฐานภาวนาวอนขอพระเจ้า 27มือของเขาสู้รบ แต่จิตใจของเขาอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้า เขาฆ่าศัตรูไม่น้อยกว่าสามหมื่นห้าพันคน และชื่นชมยิ่งนักที่พระเจ้าทรงสำแดงพระอานุภาพ 28เมื่อการสู้รบสิ้นสุดและทุกคนกำลังถอยกลับด้วยความยินดี เขาก็พบนิคาโนร์สวมเสื้อเกราะนอนตายอยู่ที่นั่น 29เสียงตะโกนสับสนอลหม่าน ถวายพระพรแด่พระผู้ทรงสรรพานุภาพเป็นภาษาของบรรพบุรุษ

          30แล้วยูดาสผู้เป็นคนแรกอยู่เสมอhที่ต่อสู้ด้วยร่างกายและจิตใจ เพื่อปกป้องเพื่อนร่วมชาติ และรักเพื่อนร่วมชาติมาตั้งแต่เยาว์วัย สั่งให้ตัดศีรษะและแขนของนิคาโนร์นำไปกรุงเยรูซาเล็ม 31เมื่อมาถึงที่นั่น เขาเรียกประชุมเพื่อนร่วมชาติ ให้บรรดาสมณะมายืนหน้าแท่นบูชา แล้วส่งคนไปเรียกผู้ที่อยู่ในป้อมปราการออกมา 32เขาให้คนเหล่านั้นดูศีรษะของนิคาโนร์คนชั่วร้าย และดูแขนของผู้ดูหมิ่นพระเจ้าที่เคยชูขึ้นท้าทายพระวิหารของพระผู้ทรงสรรพานุภาพอย่างโอหัง 33เขาสั่งให้คนตัดลิ้นของนิคาโนร์ผู้ดูหมิ่นพระเจ้าเป็นชิ้นๆ เพื่อเป็นอาหารของนก สั่งให้แขวนแขนไว้หน้าพระวิหาร ให้ทุกคนเห็นผลของการกระทำโง่เขลาiของเขา 34ทุกคนจึงเงยหน้าขึ้นยังท้องฟ้า สรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ พูดว่า “ขอถวายพระพรแด่พระองค์ ผู้ทรงรักษาที่พำนักของพระองค์ให้พ้นมลทิน”

          35ยูดาสสั่งให้แขวนศีรษะของนิคาโนร์ไว้ที่กำแพงป้อมj ให้ทุกคนได้เห็นเป็นเครื่องหมายแสดงความช่วยเหลือขององค์พระผู้เป็นเจ้า 36แล้วทุกคนลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันออกข้อกำหนดให้จัดงานฉลองในวันที่สิบสามเดือนสิบสอง ที่เรียกเป็นภาษาอาราเมอิกkว่า “เดือนอาดาร์” ซึ่งเป็นวันก่อนวันโมรเดคัยl เพื่อมิให้วันนั้นผ่านไปโดยไม่มีใครสนใจ

 

บทส่งท้ายของผู้เรียบเรียง

          37เรื่องราวของนิคาโนร์จบลงเช่นนี้ นับแต่เวลานั้น กรุงเยรูซาเล็มอยู่ในการครอบครองของชาวฮีบรูm ข้าพเจ้าจึงขอจบเรื่องเล่าเพียงเท่านี้ 38ถ้าเรื่องที่เขียนขึ้นนี้ดีและตรงจุด ก็เป็นไปตามที่ข้าพเจ้าต้องการ แต่ถ้าเขียนไม่ดี มีค่าน้อย ข้าพเจ้าทำได้ดีที่สุดแล้ว 39การดื่มเหล้าองุ่นหรือน้ำเพียงอย่างเดียวย่อมเป็นอันตราย แต่การดื่มเหล้าองุ่นผสมกับน้ำย่อมมีรสดีและน่าดื่มกว่าฉันใด การเขียนเรื่องราวอย่างชำนาญก็ย่อมทำให้ผู้อ่านรื่นหูฉันนั้น

ขอจบเรื่องเพียงเท่านี้

15 a “อนุสาวรีย์” แปลตามตัวอักษรว่า “ของเชลยที่ยึดมาได้” หมายถึงเครื่องอาวุธที่เก็บมาจากศพของศัตรูในสนามรบ

b “ธรรมบัญญัติและประกาศก” เป็นสองภาคของพันธสัญญาเดิมที่มักจะใช้หมายถึงพันธสัญญาเดิมทั้งหมด (ดู ลก 24:27) โดยละภาคที่สามคือ “ข้อเขียนอื่นๆ” น่าสังเกตว่าในสมัยมัคคาบี ชาวยิวให้ความเคารพแก่หนังสือของบรรพบุรุษเป็น “หนังสือศักดิ์สิทธิ์” แล้ว (ดู 1 มคบ 12:9)

c “นิมิตอย่างหนึ่ง” ธรรมประเพณีกรีกแยกแยะ “ความฝัน” จาก “นิมิต” เพราะ “นิมิต” มีความเป็นจริงมากกว่าความฝัน

d โอนีอัสยังมีบทบาทเป็นผู้วอนขอเพื่อประชากรชาวยิว ดังที่เคยทำขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ (3:10ฯ; 4:5)

e “เยเรมีย์” ได้รับทรมานมากมายจากชาวยิว (ดู ยรม 11:19, 21; 18:18ฯ; 20:1-2; บทที่ 26) จึงเหมาะสมจะเป็นผู้วอนขอพระเจ้าเพื่อประชากร บทบาททั้งของโอนีอัสและเยเรมีย์ดังกล่าวเป็นหลักฐานแรกถึงความเชื่อของชาวยิวว่าผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่ล่วงลับไปแล้วยังอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ยังมีชีวิตอยู่ได้ ความเชื่อถือเรื่องนี้สัมพันธ์กับความเชื่อถึงการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย (ดู สดด 16:10; 49:16; ยรม 6-7)

f “ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ” แปลโดยคาดคะเน

g เทียบ 1 มคบ 7:39-50 ในที่นี้ไม่กล่าวถึงช้าง แต่บอกว่าการสู้รบเกิดขึ้นที่เมืองอาดาสา

h “เป็นคนแรก” แปลตามตัวอักษรว่า “เป็นพระเอก”

i “ผลของการกระทำโง่เขลา” แปลตามตัวอักษรว่า “ค่าจ้างของความโง่เขลา”

j “กำแพงป้อม” รายละเอียดนี้คลาดเคลื่อนจากความจริง เพราะในเวลานั้นป้อมปราการที่กรุงเยรูซาเล็มยังอยู่ในการปกครองของกองทหารซีเรีย และยังเป็นเช่นนั้นอยู่อีก 9 ปี (ดู 1 มคบ 13:51)

k “ภาษาอาราเมอิก” แปลตามตัวอักษรว่า “ภาษาซีเรียค” ซึ่งเป็นคำที่ LXX ใช้เรียกภาษาอาราเมอิก (ดู 2 พกษ 18:26; อสร 4:7; ดนล 2:4)

l “วันโมรเดคัย” ในภายหลังได้ชื่อว่า “วันฉลองปูริม” (ดู อสธ 9) ดูเหมือนว่าในสมัยของผู้เขียน 2 มคบ ราวปี 124 ก่อน ค.ศ. วันฉลองทั้งสองนี้ยังแยกกันอยู่ เอกสารจากคริสตศตวรรษที่ 1 ซึ่งพบได้ที่กุมราน กำหนดว่าวันของนิคาโนร์เป็นวันฉลอง ห้ามจำศีลอดอาหาร

m ผู้เขียนสนใจเพียงกรุงเยรูซาเล็มส่วนที่เป็นที่ตั้งของพระวิหาร (คือภูเขาศิโยน) เท่านั้น เพราะส่วนที่เป็นป้อมปราการยังคงอยู่ในปกครองของกองทหารซีเรีย (ดู เชิงอรรถ j)

เช้าวันใหม่ใส่ใจภาวนา

Lectio Divina-Daily 2024

Sinapis Talk | ซีนาปีส ทอล์ค

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก