3. 1ยามค่ำคืนบนที่นอน ดิฉันแสวงหาหวานใจของดิฉันa
ดิฉันแสวงหาเขา แต่ไม่พบ
2บัดนี้ ดิฉันจะลุกขึ้น จะเที่ยวไปทั่วเมือง
ตามถนนและลานเมือง
ดิฉันจะแสวงหาหวานใจของดิฉัน
ดิฉันแสวงหาเขา แต่ไม่พบ
3บรรดายามที่เดินตรวจในเมืองbพบดิฉัน
“ท่านทั้งหลายได้เห็นหวานใจของดิฉันไหม”
4ดิฉันเพิ่งผ่านยามมา ก็พบหวานใจของดิฉัน
ดิฉันสวมกอดเขาไว้แน่น และจะไม่ยอมปล่อย
พาเขาเข้าไปในบ้านของมารดาดิฉัน
ในห้องของผู้ให้กำเนิดดิฉัน
5ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย
ดิฉันขอร้องเธอทั้งหลายต่อหน้าละมั่งและแม่กวางในทุ่ง
อย่าได้รบกวนหรือปลุกที่รักของดิฉัน
จนกว่าเขาจะพอใจตื่น
เพลงบทที่สาม
กวีผู้ประพันธ์c 6สิ่งใดกำลังขึ้นมาจากถิ่นทุรกันดาร
เหมือนเสาควัน
ส่งกลิ่นหอมของมดยอบและกำยาน
และกลิ่นหอมพิเศษที่หายาก
7ดูซิ เสลี่ยงของกษัตริย์ซาโลมอน
มีทหารชำนาญศึกหกสิบคนล้อมอยู่
เป็นนักรบกล้าหาญที่สุดของอิสราเอล
8ทุกคนเป็นทหารถือดาบและชำนาญศึก
แต่ละคนคาดดาบไว้ที่สะเอว
เพื่อป้องกันตนจากอันตรายเวลากลางคืน
9กษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างเสลี่ยงdสำหรับพระองค์
ด้วยไม้มาจากเลบานอน
10พระองค์ทรงทำเสาเสลี่ยงด้วยเงิน
พนักพิงทำด้วยทองคำ
ที่ประทับลาดด้วยผ้าสีม่วงแดง
ด้านในเป็นลวดลาย
ที่บรรดาธิดาแห่งเยรูซาเล็มปักไว้ด้วยความรักe
11ธิดาแห่งศิโยนเอ๋ย
จงออกไปดูกษัตริย์ซาโลมอนเถิด
พระองค์ทรงมงกุฎซึ่งพระชนนีทรงสวมให้
ในวันที่ทรงอภิเษกสมรสfร
ในวันที่พระทัยของพระองค์ชื่นชมยินดี
3 a ข้อ 1-4 เป็นเพลงบทหนึ่งซึ่งมีสร้อยที่ลูกคู่ร้องรับในข้อ 5 เหมือนกันกับใน 2:7; 8:4 แม้ว่าความคิดหลักของบทเพลงจะเป็นการแสวงหากันอีกเหมือนใน 1:7-8; 5:2-8 แต่คราวนี้ฉากสถานที่จะเป็นในเมืองและเวลากลางคืน – ชื่อของบทเพลงน่าจะเป็น “คู่รักหายไปแล้วได้พบกันอีก” - สำหรับหญิงสาว การออกจากบ้านในเวลากลางคืนและการนำ “หวานใจ” ของเธอเข้ามาในบ้านของมารดานั้นขัดกันอย่างมากกับธรรมเนียมของชาวยิว ทำให้ผู้อธิบายพระคัมภีร์บางคนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเพียงการกล่าวถึงความฝันของหญิงสาว แต่กวีและคู่รักมักจะชอบคิดถึงสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ความกล้าออกไปตามหาและความคิดถึงกันที่ไม่ยอมให้คู่รักจากไป เป็นข้อพิสูจน์ว่าเธอมีความรักต่อคู่รักอย่างร้อนแรง
b “ยาม” ในเวลากลางคืน – ดู สดด 127:1; อสย 21:11-12 – จะกลับมาอีกใน พซม 5:7 – แต่อาจเป็นตัวแสดงในบทกวีแบบชาวบ้าน - เหมือนกับยามและตำรวจในบทเพลงสมัยกลางและสมัยปัจจุบัน
c บทประพันธ์ในข้อ 6-11 ไม่กล่าวถึงความรัก – ไม่ใช่คำพูดจากปากของหนุ่มหรือสาวคู่รัก และไม่ใช่บทสร้อยร้องรับของ “ธิดาแห่งศิโยน” ที่เป็นลูกคู่ เพราะในข้อ 11 “ธิดาแห่งศิโยน” เป็นผู้ถูกเรียกหา – กวีผู้ประพันธ์จึงเป็นผู้กล่าวถ้อยคำเหล่านี้ บรรยายถึงขบวนแห่ของกษัตริย์ ซึ่งข้อ 11 นำมากล่าวให้เกี่ยวข้องกับพิธีแต่งงาน – เกี่ยวกับการแต่งงานแบบนี้ ดู 1 มคบ 9:37-39 – พิธีคล้ายๆกันนี้ชาวซีเรียและชาวอาหรับในปาเลสไตน์ยังคงปฏิบัติกันเป็นธรรมเนียมย้อนกลับไปถึงสมัยโบราณ (สดด 45:15-16) – ข้อ 6-10 บรรยายถึงขบวนแห่และของขวัญต่างๆที่เจ้าบ่าวแห่เป็นขบวนนำมาพบเจ้าสาว ข้อ 11 ชวนให้ระลึกถึงการพบกันของเจ้าบ่าวเจ้าสาว – บทประพันธ์สั้นๆบทนี้เป็นอารัมภบทอย่างดีสำหรับคำชมเชยความงามของเจ้าสาวในบทที่ 4 – การบรรยายเป็นการกล่าวเกินความจริง – เจ้าบ่าวเป็น “กษัตริย์” องค์หนึ่งเหมือน “ซาโลมอน” – เทียบ 1:4,12.
d “เสลี่ยง” – ภาษาฮีบรูว่า ’appiryon ซึ่งพบได้ที่นี่เท่านั้น อาจเป็นคำที่ยืมมาจากภาษากรีกที่ว่า “phoreion” ซึ่งแปลว่า “เสลี่ยง” (ที่นั่งมีคานหาม)
e “บรรดาธิดาแห่งเยรูซาเล็มปักไว้ด้วยความรัก” – บางคนแปลโดยคาดคะเนว่า “ฝังลวดลายไม้มะเกลือ”
f การสวมมงกุฎเจ้าบ่าว – พบได้อีกครั้งเดียวใน อสย 61:10 แต่ใช้คำไม่เหมือนกัน