เพลงสดุดีที่ 80

คำอธิษฐานภาวนาเพื่อการฟื้นฟูชาติอิสราเอลa

คำภาวนาอ้อนวอนบทนี้ ดูเหมือนจะถูกจงใจจัดไว้ให้อยู่หลัง สดด 79 ความต่อเนื่องคงจะมาจากความคิดที่ว่าอิสราเอลคือ “ฝูงแกะที่พระเจ้าทรงเลี้ยงดู” ที่ปลาย สดด 79 และการเรียกพระเจ้าว่า “ผู้เลี้ยงของอิสราเอล” ตอนต้นของ สดด 80 การกล่าวถึงโยเซฟ เอฟราอิมและมนัสเสห์เป็นเหตุผลสำคัญชวนให้คิดว่า สดด บทนี้แต่งขึ้นในอาณาจักรเหนือและเท้าความถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลาระหว่างปี 732-721 ก่อน ค.ศ. เมื่อกองทัพอัสซีเรียมาบุกรุกอาณาจักรอิสราเอล เพลงอ้อนวอนบทนี้ใช้อุปมาที่รู้จักกันดีกล่าวถึง “เถาองุ่น” และ “สวนองุ่น” เพื่อบรรยายถึงความเอาพระทัยใส่ดูแลที่พระยาห์เวห์ทรงมีต่อประชากรของพระองค์ตลอดมา ตั้งแต่เมื่อทรงนำเขาออกมาจากอียิปต์ เราคริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้เป็นบทภาวนาสำหรับพระศาสนจักรซึ่งเป็น “อิสราเอลใหม่” ขอให้พระเยซูเจ้า “ผู้เลี้ยงที่ดี” ทรงปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากศัตรูทั้งภายนอกและภายในซึ่งมีอยู่เสมอ

สำหรับหัวหน้านักขับร้อง ตามทำนองเพลง “ดอกลิลี่เป็นพยาน” เพลงสดุดี ของอาสาฟ

1ข้าแต่ผู้เลี้ยงแห่งอิสราเอล โปรดทรงฟังเถิด

        พระองค์ทรงนำโยเซฟไปประดุจฝูงแกะ

พระองค์ประทับบนพระบัลลังก์เหนือเหล่าเครูบ โปรดทรงทอรัศมี

2ลงมาเหนือเอฟราอิม เบนยามิน และมนัสเสห์b

        โปรดทรงปลุกพระอานุภาพ เสด็จมาช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้น

3ข้าแต่พระเจ้าจอมจักรวาล โปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายกลับคืนสู่สภาพเดิมเถิด

        โปรดสำแดงพระพักตร์สุกใส

แล้วข้าพเจ้าทั้งหลายจะรอดพ้น

4ข้าแต่พระยาห์เวห์พระเจ้าจอมจักรวาล อีกนานเพียงใด

        พระองค์จะทรงคลายพระพิโรธต่อประชากรที่วอนขอพระองค์

5พระองค์ทรงให้เขากินน้ำตาต่างอาหาร

        และดื่มน้ำตามากมายต่างน้ำ

6พระองค์ทรงปล่อยให้เพื่อนบ้านก่อการวิวาทกับข้าพเจ้าทั้งหลาย

        และให้บรรดาศัตรูเยาะเย้ย

7ข้าแต่พระเจ้าจอมจักรวาล โปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายกลับคืนสู่สภาพเดิมเถิด

        โปรดสำแดงพระพักตร์สุกใส

แล้วข้าพเจ้าทั้งหลายจะรอดพ้น

8พระองค์ทรงถอนเถาองุ่นcออกจากอียิปต์

        ทรงขับไล่นานาชาติออกไปเพื่อจะปลูกเถาองุ่นนั้น

9ทรงแผ้วถางเตรียมพื้นที่ให้

        เถาองุ่นนั้นก็หยั่งรากลึก แผ่ขยายเต็มแผ่นดิน

10ร่มเงาขององุ่นเถานี้ปกคลุมภูเขาหลายลูก

        กิ่งก้านก็แผ่ออกไปปกคลุมต้นสนสีดาร์สูงส่งd

11แขนงของมันแผ่ขยายออกไปจนถึงทะเล

        และหน่อก็ไปไกลถึงแม่น้ำยูเฟรติสe

12เหตุไฉนพระองค์จึงทรงทำลายรั้วที่กั้น

        จนผู้ที่ผ่านไปมาเด็ดผลองุ่นได้โดยง่าย

13หมูป่าจากพงไพรมาทำลายเถาองุ่นนั้น

        สัตว์ป่าก็มากินเป็นอาหาร

14ข้าแต่พระเจ้าจอมจักรวาล โปรดเสด็จกลับมา

        โปรดทอดพระเนตรลงมาจากสวรรค์และทรงพิจารณาเถิด

โปรดเสด็จมาเยี่ยมองุ่นเถานี้

15โปรดทรงคุ้มครองเถาองุ่นที่พระหัตถ์ขวาปลูกไว้

        โปรดทรงพิทักษ์บุตรที่ทรงทำนุบำรุงให้เข้มแข็งสำหรับพระองค์f

16ขอให้ผู้ที่ตัดและเผาgเถาองุ่นนี้จงพินาศ

        เฉพาะพระพักตร์น่าสะพรึงกลัวของพระองค์

17ขอพระหัตถ์ปกป้องบุรุษซึ่งอยู่เบื้องขวาของพระองค์

        โปรดทรงพิทักษ์บุตรแห่งมนุษย์ที่ทรงทำนุบำรุงให้เข้มแข็งสำหรับพระองค์h

18ข้าพเจ้าทั้งหลายจะไม่มีวันละทิ้งพระองค์อีก

        โปรดประทานชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย

และข้าพเจ้าทั้งหลายจะเรียกขานพระนามพระองค์

19ข้าแต่พระเจ้าจอมจักรวาล โปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายกลับคืนสู่สภาพเดิมเถิด

          โปรดสำแดงพระพักตร์สุกใส แล้วข้าพเจ้าทั้งหลายจะรอดพ้น

 

80 a เพลงสดุดีบทนี้อาจชวนให้คิดถึงอาณาจักรเหนือ (อิสราเอล) ซึ่งถูกกองทัพอัสซีเรียทำลาย (ดู ข้อ 1-2 เทียบ ยรม 31:15ฯ) หรือชวนให้คิดถึงอาณาจักรใต้ (ยูดาห์) หลังจากที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี 587 ก่อน ค.ศ. (เทียบ ยรม 12:7-13) ผู้ประพันธ์มองไปข้างหน้าว่าอาณาจักรทั้งสองจะรวมเป็นอาณาจักรเดียวกันอีก (ดู อสย 49:5; อสค 37:16; ศคย 9:13; 10:6) โดยมีอาณาเขตที่ผู้ประพันธ์วาดไว้ในอุดมการณ์ (ข้อ 11; ดู วนฉ 20:1 เชิงอรรถ a)

b เอฟราอิมและมนัสเสห์เป็นบุตรของโยเซฟ ชนทั้งสองเผ่านี้เป็นกำลังสำคัญของอาณาจักรเหนือ (อิสราเอล) ซึ่งบางครั้งก็รวมเผ่าเบนยามินเข้าไว้ด้วย

c เถาองุ่นเป็นภาพเปรียบเทียบที่บรรดาประกาศกมักใช้กล่าวถึงประชากรอิสราเอล (ดู อสย 5:1 เชิงอรรถ a)

d “ต้นสนสีดาร์สูงส่ง” แปลตามตัวอักษรว่า “ต้นสนสีดาร์ของพระเจ้า” (เทียบ สดด 36:6; 68:15)

e “แม่น้ำยูเฟรติส” ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “แม่น้ำ”

f บางคนคิดว่าประโยคนี้เป็นการเขียนข้อ 17b ไว้ล่วงหน้า

g “ผู้ที่ตัดและเผา” แปลโดยคาดคะเน แปลตามตัวอักษรว่า “ถูกตัดและถูกไฟเผา”

h “พระราชา” และ “บุตรแห่งมนุษย์” ในข้อนี้อาจหมายถึงเศรุบบาเบล (อสร 3:2; ฮกก 1:1) มากกว่าจะหมายถึงเบนยามิน (บุตรแห่งมือขวา)