เพลงสดุดีที่ 51

บทภาวนาแสดงความเสียใจที่ทำบาปa

เพลงอ้อนวอนบทนี้เป็นที่รู้จักดีที่สุดในบรรดา “เพลงสดุดีขอสมาโทษ” ทั้งเจ็ดบท เพราะพระศาสนจักรใช้บ่อยมากในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (ทำวัตร) สดด บทนี้เป็นคำภาวนาจากใจจริงด้วยความถ่อมตน ขอให้พระเจ้าทรงลบล้างความสับสนวุ่นวาย ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมอันเกิดจากบาป ผู้ประพันธ์สารภาพบาปของตนและขอพระเจ้าทรงให้อภัยเพราะเขามั่นใจในความดีหาขอบเขตมิได้ของพระองค์ อุปมาเรื่องลูกที่หายไป (ลก 15:11-32) สอนความจริงเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพลงสดุดีบทนี้จึงเป็นบทภาวนางดงาม ที่คริสตชนทุกคนควรใช้แสดงความสำนึกถึงบาปของตนบ่อยๆ

สำหรับหัวหน้านักขับร้อง เพลงสดุดีของกษัตริย์ดาวิด เมื่อประกาศกนาธันเข้าเฝ้า หลังจากที่ทรงทำบาปกับนางบัทเชบา

 

1ข้าแต่พระเจ้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าตามความรักมั่นคงของพระองค์เถิด

        โปรดทรงลบล้างการล่วงละเมิดของข้าพเจ้า เพราะพระกรุณาของพระองค์

2โปรดทรงล้างข้าพเจ้าให้สะอาดหมดจดจากความผิดของข้าพเจ้า

        โปรดชำระข้าพเจ้าให้บริสุทธิ์จากบาปที่ข้าพเจ้าได้ทำ

3เพราะข้าพเจ้าตระหนักดีถึงการล่วงละเมิดของตน

        บาปของข้าพเจ้าอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้าเสมอ

4ข้าพเจ้าทำบาปผิดต่อพระองค์ ต่อพระองค์เพียงผู้เดียว

        ข้าพเจ้าทำสิ่งที่ทรงเห็นว่าชั่วร้าย

ข้าพเจ้ายอมรับผิด เมื่อทรงพิพากษา พระองค์ทรงเที่ยงธรรม

        คำตัดสินของพระองค์ถูกต้องเสมอb

5ใช่แล้ว ข้าพเจ้ามีความผิดตั้งแต่เกิด

        เป็นคนบาปตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์c

6ถูกแล้ว พระองค์ทรงปรารถนาความจริงใจในข้าพเจ้า

        ทรงสอนปรีชาญาณในส่วนลึกของจิตใจข้าพเจ้าd

7โปรดทรงพรมน้ำชำระข้าพเจ้าด้วยกิ่งหุสบe แล้วข้าพเจ้าจะบริสุทธิ์

        โปรดทรงล้างข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะขาวกว่าหิมะ

8ขอให้ข้าพเจ้าประสบความชื่นบานและยินดี

        และกระดูกที่พระองค์ทรงหักจะเปรมปรีดิ์ที่หายเป็นปกติ

9โปรดเบือนพระพักตร์จากบาปของข้าพเจ้า

        และทรงลบล้างความผิดของข้าพเจ้าให้สิ้นไป

10ข้าแต่พระเจ้า ขอพระองค์ทรงสร้างfใจที่ใสสะอาดไว้ในข้าพเจ้า

        โปรดทรงฟื้นฟูดวงจิตของข้าพเจ้าให้มั่นคง

11ขออย่าทรงผลักไสข้าพเจ้าไปจากพระพักตร์

        ขออย่าทรงยกพระจิตศักดิ์สิทธิ์gของพระองค์ออกจากข้าพเจ้าเลย

12ขอพระองค์ประทานความชื่นชมที่ทรงช่วยให้รอดพ้นคืนให้ข้าพเจ้า

        ขอพระองค์ทรงค้ำจุนจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไว้ในข้าพเจ้า

13ข้าพเจ้าจะได้สอนผู้ล่วงละเมิดให้รู้จักทางของพระองค์

        แล้วคนบาปก็จะกลับมาหาพระองค์

14ข้าแต่พระเจ้า พระเจ้าผู้ทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้น

        โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากโทษประหารh

แล้วลิ้นของข้าพเจ้าจะร้องสรรเสริญความเที่ยงธรรมของพระองค์

15ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงเผยริมฝีปากของข้าพเจ้า

        แล้วปากของข้าพเจ้าจะกล่าวสรรเสริญพระองค์

16พระองค์ไม่พอพระทัยเครื่องบูชา

        ถ้าข้าพเจ้าจะถวายเครื่องบูชา พระองค์จะไม่ทรงรับ

17ข้าแต่พระเจ้า เครื่องบูชาของข้าพเจ้าคือดวงจิตที่เป็นทุกข์

        ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ไม่ทรงรังเกียจใจที่เป็นทุกข์และถ่อมตน

18ขอพระองค์ทรงกระทำดีต่อศิโยนด้วยพระทัยกรุณา

        ขอทรงสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่i

19แล้วพระองค์จะพอพระทัยในเครื่องบูชาที่ทรงกำหนดj

        ทั้งสัตว์และธัญบูชาที่ต้องเผาทั้งหมด

โคเพศผู้ก็จะถูกนำมาถวายยังพระแท่นบูชาของพระองค์

 

51 a เพลงสดุดีบทนี้เป็นบทหนึ่งในชุด “เพลงสดุดีขอสมาโทษ” (ดู สดด 6:1 เชิงอรรถ a) มีเนื้อหาคล้ายกับวรรณกรรมของประกาศก โดยเฉพาะ อสย และ อสค

b “ข้าพเจ้ายอมรับผิด…ถูกต้องเสมอ” พระเจ้าทรงเที่ยงธรรมอย่างยิ่ง เมื่อประทานอภัยก็ทรงแสดงอำนาจเหนือความชั่วร้ายและทรงชัยชนะเหนือบาป

c มนุษย์ทุกคนเกิดมาในสภาพมีมลทิน (โยบ 14:4 เชิงอรรถ c) ดู สภษ 20:9 ซึ่งยอมรับว่า มนุษย์มีความโน้มเอียงทางชั่ว (ปฐก 8:21) ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีอ้างถึงความอ่อนแอตามธรรมชาติเช่นนี้ของมนุษย์เป็นเหตุผลทำให้ความผิดเบาลง (เทียบ 1 พกษ 8:46) ซึ่งพระเจ้าน่าจะทรงคำนึงถึง

d คำที่ใช้ในข้อนี้แสดงถึงส่วนลึกในจิตใจของมนุษย์ที่พระเจ้าทรงเห็นและทรงเปลี่ยนแปลงได้ (เทียบ สดด 7:9; 16:7; 33:15)

e “หุสบ” เป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ มักจะใช้จุ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ประพรมในพิธีชำระมลทิน

f “สร้าง” (ฮบ bara’) กริยานี้ในภาษาฮีบรูมีพระเจ้าเป็นประธานเสมอ หมายถึงการที่พระองค์ทรงกระทำให้สิ่งใหม่และน่าอัศจรรย์เกิดขึ้น (ปฐก 1:1; อพย 34:10; อสย 48:7; 65:17; ยรม 31:21-22) การบันดาลความชอบธรรมแก่คนบาปเป็นงานที่น่าพิศวงที่สุดของพระเจ้า เทียบได้กับงานเนรมิตสร้างโลกทีเดียว (ดู อสค 36:25ฯ; ยรม 31:33; 32:39-40)

g “พระจิตศักดิ์สิทธิ์” ในที่นี้ถือว่าเป็นหลักศีลธรรมและศาสนา ไม่ว่าของปัจเจกบุคคล (สดด 143:10; ปชญ1:5; 9:17) หรือของชนทั้งชาติ (นหม 9:20; อสย 63:11; ฮกก 2:5) จิตนี้เป็นคุณลักษณะของมนุษย์ที่พระเจ้าประทานให้

h “โทษประหาร” แปลตามตัวอักษรว่า “เลือด” ประกาศกเอเสเคียลเรียกกรุงเยรูซาเล็มว่า “นครเปื้อนเลือด” (ดู อสค 7:23; 9:9; 22:2; 24:6) ข้อความนี้บางคนคิดว่าเป็นการพาดพิงถึงการที่กษัตริย์ดาวิดทรงสั่งให้อุรียาห์ถูกฆ่าในสนามรบ (2 ซมอ 12:9) แต่บางคนคิดว่าหมายถึงความตายโหงของคนชั่ว นับเป็นการที่พระเจ้าทรงลงโทษบาปที่เขาทำ

i ข้อ 18-19 นี้ดูเหมือนเป็นข้อความเพิ่มเติมในสมัยระหว่างการเนรเทศ แสดงความปรารถนาที่จะรื้อฟื้นการถวายเครื่องบูชาในพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อประชากรอิสราเอลได้รับการชำระล้างเมื่อกลับจากถิ่นเนรเทศแล้ว การสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่นับว่าเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปให้อิสราเอลแล้ว (อสย 60-62; ยรม 30:15-18; อสค 36:33)

j การถวายบูชาในกรุงเยรูซาเล็มที่สร้างขึ้นใหม่จะมีค่าเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า เพราะจะเป็นการถวายบูชาด้วยความศรัทธาและจริงใจ ข้อ 19 นี้อาจถูกเพิ่มเติมเพื่อแก้ความเข้าใจผิดที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อ 16 ที่ว่า พระเจ้าไม่พอพระทัยเครื่องบูชา