เพลงสดุดีที่ 14
ชะตากรรมของผู้ไม่นับถือพระเจ้าa
ผู้ที่พระคัมภีร์เรียกว่า "คนโง่" ซึ่งคิดว่าไม่มีพระเจ้านั้นไม่ใช่ผู้ที่ปฏิเสธพระเจ้า (อเทว์) เขาเพียงแต่คิดว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกลในสวรรค์และไม่ทรงสนใจต่อความประพฤติของมนุษย์ ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีคิดว่าในโลกนี้มีคน "โง่" จำพวกนี้มากมาย นักบุญเปาโลก็คิดเช่นนี้ด้วย "มนุษย์ทุกคนทำบาปและขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า (เทียบ รม 3:10-19,23-25) เฉพาะพระพักตร์พระเจ้ามนุษย์ทุกคนเป็นคนบาปและต้องการให้พระเยซูคริสตเจ้าทรงกอบกู้
สำหรับหัวหน้านักขับร้อง ของกษัตริย์ดาวิด
1 คนโง่คิดในใจว่า “ไม่มีพระเจ้า”
คนเหล่านี้ชั่วร้าย ประพฤติเลวทราม
จะหาใครทำความดีสักคนก็ไม่มี
2 พระยาห์เวห์ทอดพระเนตรมวลมนุษย์จากสวรรค์
ว่าจะมีสักคนไหมที่ปรีชาฉลาด
จะมีสักคนไหมที่แสวงหาพระเจ้า
3 ทุกคนเดินนอกทาง ทุกคนชั่วร้ายเช่นเดียวกัน
ไม่มีใครทำความดี ไม่มีแม้แต่คนเดียวb
4 ผู้กระทำความชั่วทุกคนที่กำลังกินประชากรของเราcเหมือนกินอาหาร
ไม่มีความสำนึกบ้างหรือ
เขาไม่เรียกหาพระยาห์เวห์
5 แต่เขาจะกลัวจนตัวสั่น
ณ ที่ซึ่งdไม่มีเหตุจะต้องกลัวe
เพราะพระเจ้าทรงอยู่กับทุกคนที่ชอบธรรม
6 ท่านทั้งหลายอยากทำลายความหวังของคนยากจน
แต่พระยาห์เวห์ทรงเป็นที่หลบภัยให้เขา
7 ขอให้ความรอดพ้นของอิสราเอลมาจากศิโยน
เมื่อพระยาห์เวห์ทรงนำประชากรของพระองค์กลับมาf
ยาโคบจะร่าเริง และอิสราเอลจะยินดี
14 a “ผู้ไม่นับถือพระเจ้า” (เทียบ 10:4 เชิงอรรถ b) เป็นคนโง่ แม้ดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต (เทียบ ยรม 5:12ฯฯ)
b ฉบับแปลโบราณภาษากรีกบางฉบับเพิ่มอีก 3 ข้อที่นี่ ซึ่งนักบุญเปาโลอ้างถึงใน รม 3:10-18 ยังพบได้อีกใน สดด 5:9; 36:2; 140:3; 10:7; สภษ 1:16; อสย 59:7-8.
c กินประชากรเหมือนกินอาหาร” เป็นสำนวนเปรียบเทียบที่พบได้บ่อยๆในข้อเขียนของประกาศก
d “ณ ที่ซึ่ง” หมายถึงภูเขาศิโยน (ข้อ 7) ดู 48:2; 76:2; 87:5-7; อสค 48:35
e “ไม่มีเหตุจะต้องกลัว” แปลตามต้นฉบับภาษากรีก และ สดด 53. ความกลัวที่ดูเหมือนไร้เหตุผล พบได้ใน ลนต 26:36; ฉธบ 28:67; 1 ซมอ 14:15; 2 พศด 14:13; โยบ 3:25 ชวนให้คิดถึงความกลัวของกองทัพชาวอัสซีเรียเมื่อต้องหนีจากการล้อมกรุงเยรูซาเล็มในปี 701 โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน (ดู 2 พกษ 19:35; อสย 37:36)
f “กลับมา” ตามปรกติหมายถึงการกลับจากเนรเทศที่กรุงบาบิโลน (85:1; 126:1; ฉธบ 30:3; โยบ 42:10; ยรม 29:14; อสค 16:53; ฮชย 6:11; อมส 9:14) แต่ยังมีความหมายกว้างๆอีกด้วย คือ การสถาปนา รื้อฟื้น บูรณะ ก็ได้