เพลงสดุดีที่ 6

คำวอนขอในยามยากลำบากa

สดด บทนี้เป็นบทแรกในชุดเพลงสดุดี 7 บทที่คริสตชนแต่โบราณเรียกว่า “เพลงสดุดีขอสมาโทษ” (Penitential Psalms คือ สดด 6; 32; 38; 51; 102; 130 และ 143) สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนของผู้ป่วยที่กำลังทนทุกข์อย่างสาหัส และรู้สึกว่าวาระสุดท้ายใกล้เข้ามาแล้ว เขาจึงวอนขอพระเจ้าได้ทรงช่วยให้พ้นจากความตาย โดยให้เหตุผลว่าถ้าเขาตายไป พระองค์ก็จะขาดผู้นมัสการพระองค์ไปหนึ่งคน ชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมยังไม่ได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย บทภาวนาบทนี้จบลงด้วยข้อความที่แสดงความไว้ใจว่า พระเจ้าทรงได้ยินเสียงร้องไห้ของเขาแล้ว เราคริสตชนอาจใช้ สดด บทนี้เพื่อแสดงความทุกข์ถึงบาป ทั้งบาปส่วนตัวและส่วนรวม เพราะถ้าจะคิดให้ถึงที่สุด ต้องนับว่าบาปเป็นสาเหตุของความทุกข์และความเลวร้ายทั้งหลายที่เราประสบในโลกนี้

สำหรับหัวหน้านักขับร้อง ใช้เครื่องสายประกอบคู่แปด เพลงสดุดีของกษัตริย์ดาวิด

1ข้าแต่พระยาห์เวห์ ขออย่าได้ทรงดุด่าข้าพเจ้าในยามที่ทรงพระพิโรธ

        อย่าได้ทรงลงโทษข้าพเจ้าด้วยความกริ้ว

2ข้าแต่พระยาห์เวห์ โปรดทรงเมตตาข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้ากำลังจะสิ้นแรงอยู่แล้ว

        โปรดทรงบำบัดรักษาข้าพเจ้าด้วย กระดูกของข้าพเจ้าสั่นคลอน

3จิตใจข้าพเจ้าวุ่นวายอย่างยิ่ง

        ข้าแต่พระยาห์เวห์…อีกนานเท่าไร

4ข้าแต่พระยาห์เวห์ โปรดทรงหันกลับมาช่วยชีวิตข้าพเจ้าให้รอดพ้นb

        โปรดทรงปลดปล่อยข้าพเจ้า เพราะความรักมั่นคงของพระองค์

5ในหมู่ผู้ตาย ไม่มีใครระลึกถึงพระองค์

        ในแดนมรณะc ไม่มีใครสรรเสริญพระองค์

6ข้าพเจ้าคร่ำครวญจนหมดแรง

        หลั่งน้ำตาเปียกหมอน น้ำตาชุ่มที่นอนทุกค่ำคืน

7นัยน์ตาข้าพเจ้าพร่ามัวด้วยความทุกข์

        ข้าพเจ้าอ่อนกำลังลงเพราะมีศัตรูมากมายd

8ผู้ทำชั่วทั้งหลาย จงไปให้พ้น

        พระยาห์เวห์ทรงได้ยินเสียงร่ำไห้ของข้าพเจ้า

9พระยาห์เวห์ทรงฟังคำวอนขอของข้าพเจ้า

        พระยาห์เวห์ทรงรับฟังคำภาวนาของข้าพเจ้า

10ขอให้ศัตรูทุกคนของข้าพเจ้าต้องอับอายและกลัวจนตัวสั่น

        ขอให้เขาต้องอับอายและถอยหนีไปทันที

 

6 a สดด 6 เป็นบทแรกในชุด “เพลงสดุดีขอสมาโทษ” 7 บท (32, 38, 51, 102, 130, 143) ใน สดด บทนี้ ผู้เจ็บป่วยอ้อนวอนขอพระเจ้า

b “ชีวิต” คำภาษาฮีบรู “nephesh” (ดู ปฐก 2:7) แปลได้หลายอย่าง คือ จิตใจ ลมหายใจ ชีวิต และยังเลยไปถึง “ลำคอ” ด้วย ลมหายใจเป็นบ่อเกิดของชีวิตและสูญหายไปพร้อมกับความตาย คำนี้จึงมักจะใช้เพื่อหมายถึงคนหรือสัตว์ที่มีชีวิต (ปฐก 12:1; 14:21; อพย 1:5; 12:4) หรือหมายถึงชีวิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระดับร่างกายและระดับอารมณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกัน (ดู ปฐก 2:21 เชิงอรรถ m) สำนวนว่า “จิตใจของข้าพเจ้า” จึงมักจะมีความหมายเท่ากับ “ตัวข้าพเจ้า” (ดู 3:2; 44:25; 124:7; ปฐก 12:13; อพย 4:19; 1 ซมอ 1:26; 18:1-3) หรือเท่ากับคำว่า “ชีวิตของข้าพเจ้า” “ใบหน้าของข้าพเจ้า” “เกียรติของข้าพเจ้า” ในพันธสัญญาใหม่ คำว่า “psyche” (วิญญาณ, ชีวิต) รักษาความหมายทั้งหมดนี้ของคำภาษาฮีบรู “nephesh” (ดู มธ 2:20; 10:28; 16:25-26; 1 คร 12:15 เชิงอรรถ e; 15:44 เชิงอรรถ w)

c แดนมรณะ” แปลคำฮีบรูว่า “she’ol” (ดู กดว 16:33 เชิงอรรถ f) ผู้ตายมีสภาพเป็นเงาที่พูดไม่ได้ของผู้ที่เคยมีชีวิต และไม่สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ (สดด 30:9; 88:5, 10-12; อสย 38:18)

d บางคนแปลว่า “ศัตรูของข้าพเจ้าช่างหยิ่งยโส”