เพลงสดุดีที่ 2

อำนาจปกครองของพระเมสสิยาห์a

            สดด บทนี้กล่าวถึงกษัตริย์ แต่เดิมใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ราชวงศ์ดาวิดที่กรุงเยรูซาเล็ม หลังสมัยเนรเทศเมื่อชาวอิสราเอลไม่มีกษัตริย์อีกแล้ว เขายังใช้ สดด บทนี้แสดงความหวังว่าสักวันหนึ่ง กษัตริย์อีกองค์หนึ่งจากราชวงศ์ดาวิดจะเสด็จมาเริ่มศักราชแห่งสันติภาพ และความรุ่งเรืองอย่างสมบูรณ์ ประกาศกหลายท่านกล่าวถึงความหวังนี้บ่อยๆ เนื่องจากว่าความหวังเช่นนี้ มิได้เป็นความจริงในสมัยพันธสัญญาเดิม คริสตชนในสมัยแรก จึงเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหวังดังกล่าวเป็นความจริง (กจ 4:25-28; 13:32-33) เราคริสตชนจึงอาจใช้ สดด บทนี้ได้ด้วยความมั่นใจว่า พระคริสตเจ้าจอมกษัตริย์จะทรงมีชัยชนะเหนืออำนาจของโลกที่ต่อต้านคำสั่งสอนของพระองค์ และจะทรงสถาปนาพระอาณาจักรที่มีพระเจ้าทรงเป็นผู้ปกครองขึ้นในโลกนี้อย่างแน่นอน

1เหตุใดบรรดาประชาชาติจึงคิดกบฏ

        เหตุใดชนชาติทั้งหลายจึงวางแผนโดยไร้ประโยชน์

2บรรดากษัตริย์ของแผ่นดินทรงพากันแข็งข้อ

        บรรดาเจ้านายร่วมกันต่อสู้กับพระยาห์เวห์ และผู้รับเจิมของพระองค์

3“พวกเราจงหักโซ่ตรวนเสีย

        เราจงโยนพันธนาการทิ้งไป”

4พระองค์ผู้ประทับบนพระบัลลังก์ในสวรรค์ทรงพระสรวล

        องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเยาะเย้ยเขาเหล่านั้น

5พระองค์ทรงตำหนิเขาทั้งหลายด้วยพระพิโรธ

        ความกริ้วของพระองค์บันดาลให้เขาหวาดกลัว

6“เราเองเป็นผู้เจิมตั้งกษัตริย์ของเรา

        ไว้บนเนินศิโยนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเรา”b

7ข้าพเจ้าจะประกาศพระราชกฤษฎีกาของพระยาห์เวห์c

            พระองค์ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “ท่านเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว

8จงขอจากเราเถิด และเราจะมอบบรรดาประชาชาติให้เป็นมรดกของท่าน

            จะให้ท่านมีกรรมสิทธิ์จนสุดปลายแผ่นดิน

9ท่านจะปกครองเขาเหล่านั้นด้วยคทาเหล็ก

            จะตีเขาให้แตกแหลกลาญดังทุบหม้อดิน”d

  10ดังนั้น กษัตริย์ทั้งหลายเอ๋ย จงมีความฉลาดเถิด

            บรรดาเจ้านายของแผ่นดินเอ๋ย จงเรียนรู้เถิด

  11จงรับใช้พระยาห์เวห์ด้วยความยำเกรง

            จงชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์

12จงกราบนมัสการeพระองค์ด้วยอาการสั่นกลัว

            มิฉะนั้นพระองค์จะกริ้ว แล้วแผนการของท่านจะล้มเหลว

เพราะพระพิโรธของพระองค์ย่อมพลุ่งขึ้นโดยฉับพลัน

            ทุกคนที่ลี้ภัยมาพึ่งพระองค์ย่อมเป็นสุข

 

2 a ธรรมประเพณีทั้งของชาวยิวและของคริสตชนเห็นตรงกันว่า สดด 2 นี้กล่าวถึงพระเมสสิยาห์ในลักษณะเดียวกันกับ สดด 110 ซึ่งเป็นต้นแบบของ สดด บทนี้  สดด 2 มองล่วงหน้าถึงยุคพระเมสสิยาห์ในอนาคต

b “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเรา” หมายถึงภูเขาซีนายเป็นอันดับแรก (อพย 3:1; 18:5) เพราะบนภูเขานี้โมเสสได้พบพระเจ้าเป็นการส่วนตัวและรับธรรมบัญญัติจากพระองค์ (อพย 24:12-18; ฉธบ 33:2 ดู 1 พกษ 19:8) เมื่อกษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างพระวิหารถวายแด่พระเจ้าบนภูเขาศิโยนที่กษัตริย์ดาวิดทรงยึดมาได้ (2 ซมอ 5:7-9) ภูเขาศิโยนจึงกลายเป็นภูเขาพิเศษที่พระเจ้าทรงพำนักอยู่ เป็นภูเขาที่ประชากรของพระองค์ขึ้นไปฟังพระสุรเสียงและนมัสการพระองค์ (ดู ฉธบ 12:2-3 เชิงอรรถ b) ภูเขาศิโยนจึงกลายเป็นชื่อของนครเยรูซาเล็มอีกด้วย เป็นนครของพระเมสสิยาห์ที่ประชาชนทั่วโลกจะมาชุมนุมกัน (สดด 48:1 เชิงอรรถ a; อสย 2:1-3; 11:9; 24:23; 56:7; ยอล 3:5; ศคย 14:16-19 ดู ฮบ 12:22; วว 14:1; 21:1 เชิงอรรถ a ด้วย )

c ข้อ 3 เป็นคำพูดของฝ่ายกบฏ ส่วนข้อ 6 เป็นพระดำรัสของพระยาห์เวห์ และในที่สุดตั้งแต่ข้อ 7 ถึง 9 เป็นคำกล่าวของพระเมสสิยาห์ เมื่อพระยาห์เวห์ทรงตั้งพระเมสสิยาห์ให้เป็นกษัตริย์ของชาติอิสราเอลนั้น ทรงเรียกพระเมสสิยาห์ว่าเป็น “บุตร” ของพระองค์ ความจริงสำนวนนี้พบได้บ่อยในวัฒนธรรมของชาวตะวันออกกลางโบราณ แต่เมื่อเชื่อมโยงกับพระสัญญาเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ใน 2 ซมอ 7 ก็มีความหมายลึกซึ้งมากขึ้น ฮบ 1:5 ใช้ข้อ 7 มาประยุกต์ ในเรื่องพระวจนาตถ์ทรงถือกำเนิดตั้งแต่นิรันดร

d “ตีให้แตกแหลกลาญดังทุบหม้อดิน” เป็นภาพที่คนโบราณนิยมใช้ หมายถึงผู้พิชิตทำลายและสาปแช่งศัตรูโดยเขียนชื่อศัตรูบนหม้อดินแล้วทุบให้แตก

e “จงกราบนมัสการ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูไม่ชัดเจน อาจแปลได้อีกว่า “จงจุมพิตพระบาท” หรือ “จงจุมพิตพระบุตร”