13 1บุตรที่มีปรีชาย่อมฟังaคำสั่งสอนของบิดา
คนชอบเยาะเย้ยไม่ฟังคำตำหนิ
2มนุษย์กินผลดีจากปากของตน
แต่ผู้ทรยศใช้ความรุนแรงเลี้ยงชีวิต
3ผู้ควบคุมปากของตนจะรักษาชีวิตไว้ได้b
ผู้พูดพล่ามจะพบความพินาศ
4คนเกียจคร้านอยากกิน แต่ไม่มีอะไรกิน
ส่วนคนขยันจะมีกินจนอิ่ม
5ผู้ชอบธรรมเกลียดคำพูดเท็จ
แต่คนชั่วร้ายทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงและอับอาย
6ความชอบธรรมรักษาผู้ดำเนินชีวิตไร้มลทิน
แต่บาปทำลายคนชั่วร้ายc
7บางคนทะนงตนว่าร่ำรวย แต่ไม่มีอะไร
บางคนเสแสร้งว่าเป็นคนจน แต่มีทรัพย์สมบัติมากมาย
8ทรัพย์สมบัติเป็นค่าไถ่ของชีวิตมนุษย์
แต่คนยากจนไม่กลัวการถูกคุกคาม
9ความสว่างของผู้ชอบธรรมส่องแสงเจิดจ้า
แต่ประทีปของคนชั่วร้ายจะดับมืด
10การพูดยกตนข่มผู้อื่นย่อมก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท
แต่ปรีชาญาณอยู่กับผู้ยอมรับคำแนะนำ
11ความร่ำรวยที่ได้มาอย่างรวดเร็วdจะลดน้อยลงเรื่อยๆ
แต่ผู้สะสมทีละเล็กทีละน้อยจะได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มพูนขึ้น
12ความหวังที่ยังไม่สมหวังย่อมทรมานใจ
แต่ความปรารถนาที่ได้รับการตอบสนองเป็นต้นไม้แห่งชีวิต
13ผู้ดูหมิ่นพระวาจาย่อมทำลายตนเอง
แต่ผู้ปฏิบัติตามบทบัญญัติจะได้รับบำเหน็จ
14คำสอนของผู้มีปรีชาเป็นพุน้ำแห่งชีวิต
เพื่อหลีกเลี่ยงบ่วงแร้วของความตาย
15สามัญสำนึกย่อมได้รับความโปรดปราน
แต่หนทางของผู้ทรยศนำไปสู่ความพินาศ
16ผู้ใดฉลาดย่อมคิดก่อนจะทำ
แต่คนโง่แสดงความโง่เขลาของตน
17ผู้สื่อสารไม่ดีก่อให้เกิดeเหตุร้าย
แต่ทูตที่ซื่อสัตย์ย่อมนำสุขภาพ
18ผู้ที่เพิกเฉยต่อคำตักเตือนจะยากจนและได้รับความอับอาย
แต่ผู้เชื่อฟังคำตักเตือนให้แก้ไขย่อมได้รับเกียรติ
19ความปรารถนาที่ได้รับการตอบสนองทำให้พอใจ
แต่คนโง่เขลาไม่ต้องการปลีกตัวจากความชั่วร้ายf
20ผู้เดินกับผู้มีปรีชาก็จะเป็นผู้มีปรีชาด้วย
แต่ผู้คบหากับคนโง่เขลาจะได้รับผลร้าย
21เคราะห์ร้ายย่อมไล่ตามคนบาป
แต่ความเจริญรุ่งเรืองจะเป็นบำเหน็จของผู้ชอบธรรม
22คนดีย่อมละมรดกไว้ให้บุตรหลาน
แต่คนบาปจะต้องละทรัพย์สมบัติไว้ให้ผู้ชอบธรรม
23แม้ทุ่งนาของคนจนจะมีผลผลิตมากมาย
แต่บางคนต้องพินาศเพราะความอยุติธรรมg
24ผู้ไม่ใช้ไม้เรียวย่อมไม่รักบุตร
แต่ผู้รักบุตรย่อมตักเตือนให้เขาแก้ไขความประพฤติ
25ผู้ชอบธรรมย่อมกินจนอิ่ม
แต่ท้องของคนชั่วร้ายย่อมหิว
13 a “ฟัง” – ข้อความในบรรทัดแรกนี้ไม่มีกริยา แต่ต้องเสริมเข้ามาเพื่อให้คล้องจองกับข้อความในบรรทัดที่สอง
b “รักษาชีวิตไว้ได้” – ที่นี่มีการเล่นคำ เพราะคำว่า “ชีวิต” (nephes) ยังอาจแปลได้อีกว่า “ลำคอ” หรือ “วิญญาณ”
c “คนชั่วร้าย” – แปลโดยคาดคะเน – ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ความชั่วร้าย”
d “อย่างรวดเร็ว” – แปลตามต้นฉบับภาษากรีก – ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ความอนิจจัง” หรือ “ความว่างเปล่า” (hebel)
e “ก่อให้เกิดเหตุร้าย” - แปลโดยคาดคะเนให้สอดคล้องกับบรรทัดที่สอง – ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ตกในเคราะห์ร้าย”
f ดูเหมือนว่าข้อความในแต่ละบรรทัดของข้อนี้ไม่เกี่ยวข้องกันเลย - ต้นฉบับอาจไม่สมบูรณ์
g ต้นฉบับของข้อนี้ก็อาจไม่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน – ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ผู้ชอบธรรมมีชีวิตเพื่อใช้ทรัพย์สมบัติได้หลายปี แต่คนชั่วจะพินาศในไม่ช้า”