ประกาศกอิสยาห์ประกาศพระวาจาแด่กษัตริย์อาหัส
7. 1ในรัชสมัยของกษัตริย์อาหัส โอรสของกษัตริย์โยธาม โอรสของกษัตริย์อุสซียาห์แห่งยูดาห์ กษัตริย์เรซีนaแห่งซีเรีย และกษัตริย์เปคาห์แห่งอิสราเอล โอรสของเรมาลิยาห์ ยกทัพขึ้นมายังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อทำสงครามกับเมือง แต่เอาชนะไม่ได้b 2เมื่อมีผู้มาส่งข่าวแก่ราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิดว่า “ชาวซีเรียมาตั้งค่ายอยู่ในเขตแดนเอฟราอิมแล้ว” พระทัยของกษัตริย์และจิตใจของประชาชนก็สั่นเหมือนต้นไม้ในป่าสั่นเมื่อถูกลมพัด
3พระยาห์เวห์ตรัสกับอิสยาห์ว่า “ท่านและเชอาร์ยาชูบcบุตรชาย จงออกไปพบกษัตริย์อาหัสที่ปลายท่อน้ำของสระข้างบนที่ถนนลานช่างซักฟอก 4ทูลกษัตริย์ว่า “ขอพระองค์โปรดฟัง สงบพระทัย อย่าทรงกลัว อย่าให้พระทัยหวั่นไหวเพราะความกริ้วรุนแรงของกษัตริย์เรซีนแห่งซีเรีย และโอรสของเรมาลิยาห์ซึ่งเป็นเหมือนฟืนสองดุ้นที่จวนจะมอดอยู่แล้ว มีแต่ควัน 5ซีเรียพร้อมกับเอฟราอิมและโอรสของเรมาลิยาห์ได้คิดการชั่วร้ายต่อพระองค์ พูดว่า 6‘เราจงขึ้นไปโจมตียูดาห์ ทำให้ประชาชนมีความกลัว เราจะได้ยึดเมืองและแต่งตั้งบุตรของทาเบเอลdให้เป็นกษัตริย์ที่นั่น’”
7พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้ว่า
“สิ่งนี้จะไม่เป็นไป จะไม่เกิดขึ้นเลย
8กรุงดามัสกัสเป็นเมืองหลวงของซีเรีย
และกษัตริย์เรซีนเป็นหัวของกรุงดามัสกัส
อีกหกสิบห้าปี เอฟราอิมจะไม่เป็นประชากรอีกต่อไป
9กรุงสะมาเรียเป็นเมืองหลวงของเอฟราอิม
และโอรสของเรมาลิยาห์เป็นหัวของกรุงสะมาเรีย
ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อมั่น
พระองค์จะทรงตั้งมั่นอยู่ไม่ได้”e
ประกาศกอิสยาห์ประกาศพระวาจาอีกครั้งหนึ่ง
10พระยาห์เวห์ตรัสกับกษัตริย์อาหัสอีกว่า
11“จงขอพระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าของพระองค์ ให้ทรงส่งเครื่องหมายจากที่ลึกของแดนผู้ตาย หรือจากที่สูงเบื้องบนเถิด”
12แต่กษัตริย์อาหัสตรัสตอบว่า “เราจะไม่ทูลขอ เราจะไม่ทดลองพระยาห์เวห์”
13ประกาศกอิสยาห์จึงทูลว่า
“พงศ์พันธุ์กษัตริย์ดาวิดเอ๋ย จงฟังเถิด
ท่านทำให้มนุษย์เอือมระอายังไม่พออีกหรือ
ทำไมท่านจึงทำให้พระเจ้าของข้าพเจ้าทรงเอือมระอาอีกเล่า
14ดังนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าจะประทานเครื่องหมายให้ท่านfด้วยพระองค์เอง
หญิงสาวgผู้หนึ่งจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชาย
และนางจะเรียกเขาว่า “อิมมานูเอล” แปลว่า “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา”
15เขาจะกินนมข้นเปรี้ยวและน้ำผึ้ง
จนกว่าจะรู้จักปฏิเสธความชั่วและเลือกความดี
16แต่ก่อนที่เด็กคนนี้จะรู้จักปฏิเสธความชั่วและเลือกความดีนั้น
แผ่นดินของกษัตริย์ทั้งสององค์ที่ทำให้พระองค์ทรงหวาดกลัวhจะถูกทิ้งร้าง
17พระยาห์เวห์จะทรงบันดาลให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับพระองค์
กับประชากรของพระองค์ และกับราชวงศ์ของพระราชบิดา
อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่เอฟราอิมแยกตัวออกไปจากยูดาห์i
พระยาห์เวห์จะทรงนำกษัตริย์แห่งอัสซีเรียมาโจมตี”
คำทำนายถึงการถูกรุกรานj
18วันนั้น พระยาเวห์จะทรงผิวพระโอษฐ์
เรียกเหลือบจากปลายสายน้ำต่างๆของอียิปต์
และเรียกผึ้งจากแผ่นดินอัสซีเรีย
19สัตว์เหล่านี้จะมาอยู่รวมกันทั้งหมดในหุบเขาสูงชัน
ในซอกหิน ในกอหนามและในทุ่งหญ้าทุกแห่ง
20วันนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงใช้มีดโกน
ซึ่งทรงเช่ามาจากฟากตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส
หมายถึงกษัตริย์แห่งอัสซีเรีย
มาโกนพระเศียร พระมัสสุ และพระโลมาทั่วพระวรกาย
21วันนั้น แม้แต่ละคนจะเลี้ยงแม่โคสาวเพียงตัวเดียวและแกะสองตัว
22สัตว์เหล่านี้ก็จะให้นมมากมาย เขาจะกินนมข้นเปรี้ยว
ทุกคนที่รอดชีวิตเหลืออยู่ในแผ่นดินนี้จะกินนมข้นเปรี้ยวและน้ำผึ้ง
23วันนั้น สถานที่ใดที่เคยมีเถาองุ่นหนึ่งพันเถา
ซึ่งมีค่าเท่ากับเงินหนักหนึ่งพันบาท
ก็จะกลายเป็นสถานที่ที่มีต้นหนามและกอหนาม
24คนที่ถือคันธนูและลูกศรจะเข้ามาที่นั่นได้
เพราะแผ่นดินทั้งหมดจะมีแต่ต้นหนามและกอหนาม
25บนเนินเขาทั้งหลายที่เคยถูกขุดด้วยจอบ
จะไม่มีผู้ใดเดินผ่านเพราะกลัวต้นหนามและกอหนาม
เนินเขาเหล่านั้นจะใช้เป็นที่ให้ฝูงโคและฝูงแกะเหยียบย่ำ
7 a “เรซีน” – ต้นฉบับภาษากรีกและศิลาจารึกของอัสซีเรียเรียกพระนามว่า “ราโซน”
b การยกทัพครั้งนี้คือ “สงครามซีโร-เอฟราอิม” (ราวช่วงเวลาปี 736-732 ก.ค.ศ.) กษัตริย์แห่งซีเรียและอิสราเอล (เอฟราอิม) หวังจะบังคับกษัตริย์แห่งยูดาห์ให้เข้าพวกกับตนเพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพอัสซีเรีย แม้ประกาศกอิสยาห์ได้ทูลเตือนแล้ว กษัตริย์อาหัสแห่งยูดาห์ก็ยังทรงขืนไปขอร้องพระเจ้าทิกลัท-ปีเลเสอร์ที่ 3 ให้ยกทำลังมาช่วยเหลือ กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงยกทัพมาโจมตีกรุงดามัสกัสและกรุงสะมาเรีย แต่ในขณะเดียวกันก็บังคับยูดาห์ให้กลายเป็นประเทศราชของอัสซีเรียด้วย กษัตริย์อาหัสทรงทำให้อาณาจักรยูดาห์ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของอัสซีเรีย – ดู 2 พกษ 16:5-16.
c “เชอาร์ยาชูบ” เป็นชื่อที่ทำนายถึงอนาคต – ดู 1:26 เชิงอรรถ n – ชื่อนี้แปลว่า “ผู้ที่เหลือรอดตายจะกลับมา” – นั่นคือ “กลับใจมาหาพระยาห์เวห์ และดังนี้จะรอดพ้นจากการถูกลงโทษ” – ดู 4:3 เชิงอรรถ c; 10:20-23.
d “ทาเบเอล” อาจเป็นชาวซีเรีย ข้าราชสำนักที่กรุงดามัสกัส – ชื่อนี้มีความหมายว่า “พระเจ้าทรงดี” แต่ MT ใส่สระให้ออกเสียงเพี้ยนไป มีความหมายว่า “ไร้ประโยชน์”
e “ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อมั่น พระองค์จะทรงตั้งมั่นอยู่ไม่ได้” เป็นข้อความที่เข้าใจยาก – นักวิชาการบางคนเสนอแนะให้ใส่ข้อ 8ข ไว้หลังข้อ 9ก และแก้วลี “65 ปี” เป็น “5 หรือ 6 ปี” – อันที่จริง กรุงสะมาเรียจะถูกทำลายในปี 722 หรือ 721 ก.ค.ศ. – ตามข้อความที่เขียนไว้เช่นนี้ เราจะเห็นความแตกต่าง (ที่ไม่ได้เขียนบอกไว้ชัดๆ) ระหว่างอาณาจักรยูดาห์ ซึ่งมีกรุงเยรูซาเล็มเป็นราชธานี และ “หัว” ที่แท้จริงคือพระยาห์เวห์ กับเมืองคู่อริทั้งสอง (กรุงดามัสกัสและสะมาเรีย) ซึ่งไม่มีโชคดีเช่นนี้ – ยิ่งกว่านั้น ประกาศกอิสยาห์ยังกล่าวทำนายว่าอาณาจักรเหนือจะถึงจุดจบ และใช้เหตุการณ์นี้เตือนกษัตริย์อาหัสให้มีความเชื่อในพระเจ้า – สำหรับประกาศก “ความเชื่อ” ไม่ได้หมายถึงเพียงการยอมรับคำสอนทางทฤษฎีว่ามีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว แต่ยังหมายถึงท่าทีของความวางใจในพระเจ้า ความวางใจนี้ตั้งอยู่บนความจริงที่ว่าพระเจ้าทรงเลือกอิสราเอล อิสราเอลเป็นประชากรของพระองค์ (ฉธบ 7:6 เชิงอรรถ b) พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงอำนาจที่จะช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นได้ ความไว้วางใจโดยไม่มีเงื่อนไขเช่นนี้ ซึ่งเป็นประกันว่าประเทศชาติจะรอดพ้น (28:16) หมายความว่าเราจะต้องไม่ไว้ใจสิ่งใดทั้งหมด ไม่เพียงแต่ความช่วยเหลือจากมนุษย์เท่านั้น แต่ยิ่งกว่านั้น ต้องไม่ไว้ใจในพระเท็จเทียมทั้งหลายด้วย (30:15; สดด 52:7; ยรม 17:5)
f “เครื่องหมาย” ที่กษัตริย์อาหัสไม่ทรงยอมขอนั้น พระเจ้าก็จะประทานให้ คือการบังเกิดของทารกคนหนึ่ง ซึ่งจะได้ชื่อว่า “อิมมานูเอล” ซึ่งแปลว่า “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” (เทียบ 8:8,10) – ชื่อนี้ยังเป็นคำพยากรณ์ (ดู อสย 1:26 เชิงอรรถ n) และประกาศว่าพระเจ้ากำลังจะทรงปกป้องและอวยพระพรแก่เผ่ายูดาห์ – ในข้อความต่อไป 9:1-6; 11:1-9 ประกาศกอิสยาห์จะให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับความรอดพ้นที่ทารกผู้นี้จะนำมาให้อิสราเอล คำทำนายเหล่านี้แสดงความหวังเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ซึ่งจะทรงครองราชย์ดังที่ประกาศกนาธานเคยทำนายไว้ก่อนแล้ว (2 ซมอ 7) และที่จะได้รับการพัฒนาต่อไปจาก อสค 34:23; มคา 4:14 – 5:1; ฮกก 2:23; เทียบ สดด บทที่ 2, 45, 72, 110. พระเจ้าจะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นอาศัยกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงเป็นทายาทของกษัตริย์ดาวิด ความหวังของผู้เลื่อมใสในพระยาห์เวห์ตั้งอยู่บนการสืบทอดเชื้อสายของราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด แม้ว่าประกาศกอิสยาห์อาจคิดถึงเพียงการประสูติของเฮเซคียาห์ราชโอรสของกษัตริย์อาหัสเท่านั้น การกล่าวคำทำนายนี้อย่างสง่าและให้ชื่อเป็นสัญลักษณ์แก่ทารกที่จะเกิดมาแสดงว่า ประกาศกอิสยาห์กำลังคิดถึงเหตุการณ์สำคัญในอนาคต เมื่อพระเจ้าจะทรงสถาปนาพระอาณาจักรของพระเมสสิยาห์ คำทำนายนี้จึงมีความหมายมากกว่าเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ในขณะนั้น และผู้นิพนธ์พระวรสารก็เข้าใจว่าคำทำนายนี้กล่าวถึงการประสูติของพระคริสตเจ้าด้วย มธ 1:23 อ้างถึง อสย 7:14; มธ 4:15-16 อ้างถึง อสย 8:23 – 9:1; เทียบ ยน 1:5 และธรรมประเพณีของคริสตชนก็เข้าใจตามนี้ด้วย
g “หญิงสาว” - ต้นฉบับภาษากรีกว่า “หญิงพรหมจารี” ส่วนคำ ‘almah ในภาษาฮีบรูหมายถึง “หญิงสาว” ซึ่งอาจเป็นสาวพรหมจารี หรือหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงานแล้วก็ได้ ความเข้าใจของผู้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษากรีกฉบับ LXX เป็นพยานว่าชาวยิวในสมัยนั้นคิดถึงหญิงสาวที่เป็น “พรหมจารี” ด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจของผู้นิพนธ์พระวรสาร
h เช่นเดียวกับคำพยากรณ์ก่อนหน้านี้ (7:7-9) คำพยากรณ์นี้กล่าวถึงหายนะที่จะมาถึงอาณาจักรอิสราเอลและซีเรียว่าเป็นวิธีการที่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงลงโทษศัตรูที่มาคุกคามอาณาจักรยูดาห์ในขณะนั้น
i ข้อความในข้อนี้กล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่อิสราเอลเคยมีในรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิดและซาโลมอน - ส่วนที่สองของคำพยากรณ์เรื่อง “อิมมานูเอล” จบลงด้วยนิมิตแห่งความหวังเช่นนี้ ** ข้อความที่ว่า “พระยาห์เวห์จะทรงนำกษัตริย์แห่งอัสซีเรียมาจู่โจม” ในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีเพียงคำว่า “กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย” - เป็นข้อความที่ผู้คัดลอกเพิ่มเข้ามาโดยความเข้าใจผิด
j ข้อความต่อไปนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสงครามซีโร-เอฟราอิม แต่กล่าวถึงอียิปต์และอัสซีเรีย – ไม่ใช่คำพยากรณ์ถึงพระพรที่จะมาถึง แต่เป็นการกล่าวล่วงหน้าว่าแผ่นดินจะถูกกองทัพอัสซีเรียทำลาย ประกาศกน่าจะกล่าวคำพยากรณ์นี้หลังจากคำพยากรณ์เรื่อง “อิมมานูเอล” นานพอสมควร อาจจะเป็นในช่วงปีท้ายๆที่อิสยาห์ประกาศพระวาจา ก่อนที่กษัตริย์เซนนาเคริบแห่งอัสซีเรียจะทรงยกทัพมาจู่โจมยูดาห์ คำพยากรณ์นี้ถูกนำมาจัดไว้ที่นี่เพราะกล่าวถึง “นมข้นเปรี้ยวและน้ำผึ้ง” (ข้อ 22) ซึ่งสะท้อนข้อความในข้อ 15 - แต่ขณะที่ในข้อ 15 อาหารที่กล่าวนี้เป็นเครื่องหมายของพระพรจากสวรรค์ (เทียบ อพย 3:8,17 ฯลฯ; ฉธบ 6:3; 11:9 ฯลฯ) ในข้อ 22 นมข้นเปรี้ยวและน้ำผึ้งจะเป็นอาหารอย่างเดียวที่พบได้ในแผ่นดินที่ถูกทำลายล้าง ต้องกลับเป็นสังคมของชนเร่ร่อนที่เลี้ยงแพะแกะ