“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

หนังสือประกาศกอิสยาห์

 

I. หนังสืออิสยาห์ภาคแรก

 

ก. การประกาศพระวาจาก่อนสงครามซีโรเอฟราอิม

 

ชื่อหนังสือa

1 1นิมิตที่ประกาศกอิสยาห์บุตรของอามอสเห็นเกี่ยวกับยูดาห์และกรุงเยรูซาเล็ม เขาเห็นนิมิตเหล่านี้ในรัชสมัยของกษัตริย์อุสซียาห์ โยธาม อาคัส และเฮเซคียาห์ กษัตริย์แห่งยูดาห์

คำตำหนิประชากรเนรคุณ

            2ท้องฟ้าเอ๋ย จงฟังเถิด แผ่นดินเอ๋ย จงเงี่ยหูเถิดb

                    เพราะพระยาห์เวห์ตรัสว่า

          “เราได้เลี้ยงดูบุตรและทำให้เขาเติบโตขึ้น

                    แต่เขาทั้งหลายได้เป็นกบฏต่อเรา

          3โครู้จักเจ้าของ ลารู้จักรางหญ้าของนาย

                    แต่อิสราเอลไม่รู้จักเรา ประชากรของเราไม่เข้าใจ”

          4วิบัติจงเกิดแก่ชนชาติที่ทำบาป ประชากรที่เต็มด้วยความผิด

                    เชื้อสายของผู้ทำความชั่วร้าย บรรดาบุตรที่เสียคน

          เขาทั้งหลายได้ละทิ้งพระยาห์เวห์

ดูหมิ่นพระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของอิสราเอลc ได้หันหลังให้พระองค์

5ทำไมท่านทั้งหลายยังอยากถูกตีซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเป็นกบฏ

เจ็บป่วยไปทั่วศีรษะ จิตใจทั้งหมดก็อ่อนเปลี้ย

6ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่มีส่วนใดเลยที่เป็นปกติd

                    มีแต่บาดแผล รอยช้ำ และแผลสดที่ยังไม่ได้ดูแล

          ยังไม่ได้พันผ้า หรือเทน้ำมันรักษา

          7แผ่นดินของท่านถูกทิ้งร้าง หัวเมืองของท่านถูกไฟเผา

                    แผ่นดินที่ท่านเพาะปลูกถูกคนต่างด้าวยึดไปต่อหน้าท่าน

          ถูกทิ้งร้างเพราะคนต่างด้าวeทำลาย

          8ธิดาแห่งศิโยนfถูกทิ้งไว้เหมือนเพิงในสวนองุ่น

                    เหมือนเพิงในไร่แตง เหมือนเมืองที่ถูกล้อม

          9ถ้าพระยาห์เวห์จอมจักรวาลไม่ทรงไว้ชีวิตชนที่เหลือบ้าง

                    พวกเราคงเป็นเหมือนเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์

การประณามความไม่จริงใจg

          10ท่านทั้งหลายผู้มีอำนาจปกครองเมืองโสโดมเอ๋ย

จงฟังพระวาจาของพระยาห์เวห์เถิด

ประชาชนแห่งเมืองโกโมราห์เอ๋ย

จงเงี่ยหูฟังคำสอนของพระเจ้าของเราเถิด

11พระยาห์เวห์ตรัสว่า

“เครื่องบูชามากมายของท่านไม่เป็นประโยชน์ใดแก่เรา

เราเอือมระอาแกะเพศผู้ที่เผาบูชาถวายเรา

เบื่อไขมันของโคหนุ่มที่ขุนไว้

เราไม่พอใจเลือดของโคเพศผู้ ลูกแกะ และแพะเพศผู้

12เมื่อท่านทั้งหลายเข้ามาต่อหน้าเรา

ใครเรียกร้องให้ท่านทำเช่นนี้ เหยียบย่ำลานวิหารของเรา

13อย่านำของถวายไร้ประโยชน์เข้ามาอีกเลย

กำยานเป็นสิ่งน่ารังเกียจสำหรับเรา

เราทนการฉลองที่ปนกับความชั่วร้ายไม่ได้

14เราเกลียดวันต้นเดือน และวันฉลองของท่าน

วันเหล่านี้เป็นเหมือนภาระหนักสำหรับเรา

เราเหนื่อยที่จะต้องแบกภาระนั้น

15เมื่อท่านชูมือขึ้น เราจะเบือนสายตาไปจากท่าน

แม้ท่านจะอธิษฐานภาวนามากขึ้น เราก็จะไม่ฟัง

มือของท่านเปื้อนเลือดh

          16จงล้าง จงชำระตนให้สะอาด

                    จงนำกิจการชั่วร้ายของท่านออกไปให้พ้นจากสายตาเรา

          จงเลิกทำความชั่ว

          17จงเรียนรู้ที่จะทำความดี

                    จงแสวงหาความยุติธรรม

          จงช่วยเหลือผู้ถูกข่มเหง

                    จงให้ความเป็นธรรมแก่ลูกกำพร้า

          จงปกป้องสิทธิของหญิงม่าย”i

          18พระยาห์เวห์ตรัสว่า

                    “มาเถิด มาพิจารณาความด้วยกันกับเรา

          แม้บาปของท่านเป็นสีแดงเหมือนผ้าสีเลือดหมู

                    ก็จะขาวอย่างหิมะ

          แม้บาปของท่านจะเป็นสีแดงเหมือนผ้าสีแดงเข้ม

                    ก็จะขาวเหมือนขนแกะj

          19ถ้าท่านทั้งหลายยอมเชื่อฟัง

                    ท่านจะได้กินผลดีของแผ่นดิน

          20แต่ถ้าท่านดื้อรั้นและเป็นกบฏ

                    ท่านจะเป็นเหยื่อของคมดาบk

          เพราะพระโอษฐ์ของพระยาห์เวห์ตรัสดังนี้”

การเชิญชวนกรุงเยรูซาเล็มให้กลับใจl

          21อนิจจา เมืองที่ซื่อสัตย์กลายเป็นหญิงแพศยาได้อย่างไร

                    เมืองที่เคยเปี่ยมด้วยความยุติธรรม

          และเมืองที่ความชอบธรรมเคยพำนักอยู่m

                    บัดนี้มีแต่ฆาตกร

          22เงินของเจ้ากลายเป็นขี้แร่ไปแล้ว

                    เหล้าองุ่นของเจ้าก็มีน้ำปน

          23บรรดาผู้มีอำนาจปกครองของเจ้าเป็นกบฏ คบคิดกับโจร

                    ทุกคนชอบรับสินบน แสวงหาของกำนัล

          ไม่ปกป้องสิทธิของลูกกำพร้า

                    ไม่สนใจจะสู้คดีเพื่อหญิงม่าย

          24ดังนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าพระยาห์เวห์จอมจักรวาล

                    ผู้ทรงสรรพานุภาพแห่งอิสราเอลตรัสว่า

          “ดูซิ เราจะลงโทษคู่อริของเรา

                    จะลงโทษศัตรูของเราให้สาสม

          25มือของเราจะหันมาทำร้ายเจ้า

                    เราจะใช้ไฟชำระขี้แร่ของเจ้า

          จะขจัดสิ่งเจือปนทั้งหมดออกจากเจ้า

          26เราจะทำให้ผู้พิพากษาของเจ้ายุติธรรมเหมือนเดิม

                    จะทำให้ที่ปรึกษาของเจ้าดีเหมือนเมื่อแรกเริ่ม

          แล้วเจ้าจะได้ชื่อว่า นครแห่งความชอบธรรม

                    เมืองที่ซื่อสัตย์”n

          27ศิโยนจะรับการไถ่กู้ด้วยความยุติธรรม

                    บรรดาผู้กลับใจจะได้รับการไถ่กู้ด้วยความชอบธรรม

          28แต่ผู้กบฏและคนบาปจะถูกทำลายพร้อมกัน

                    ผู้ที่ละทิ้งพระยาห์เวห์จะพินาศo

การกล่าวประณามต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์p

          29ใช่แล้ว ท่านทั้งหลายจะต้องละอายใจเพราะต้นโอ๊กที่ท่านพอใจ

                    ท่านจะต้องอับอายเพราะสวนที่ท่านได้เลือก

          30ท่านจะเป็นเหมือนต้นโอ๊กที่ใบเหี่ยวแห้ง

                    และเหมือนสวนที่ขาดน้ำ

          31ผู้ที่แข็งแรงจะกลายเป็นเชื้อเพลิง

                    การงานของเขาจะเป็นเหมือนประกายไฟ

          ทั้งสองสิ่งจะไหม้ด้วยกัน ไม่มีผู้ใดดับได้

 

1 a ชื่อหนังสือบอกให้เรารู้กรอบเวลาการปฏิบัติงานทั้งหมดของประกาศก แต่ก็ยังยากที่จะชี้ชัดลงไปว่า กรอบเวลานี้เป็นการแนะนำหนังสือทั้งฉบับในรูปแบบล่าสุด (บทที่ 1-66) หรือเป็นเพียงกรอบเวลาของภาคแรก (บทที่ 1-39 หรือแม้กระทั่งบทที่ 1-12 เท่านั้น) กระนั้นก็ดีเราต้องเข้าใจวลี “ยูดาห์และกรุงเยรูซาเล็ม” ไม่ใช่ในความหมายทางภูมิศาสตร์ แต่ในฐานะที่หมายถึง “ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร” ซึ่งการประกาศพระวาจาทั้งหมดของประกาศกมุ่งถึง รวมทั้งประชากรในอาณาจักรเหนือและชนต่างชาติด้วย

b ท้องฟ้าและแผ่นดินถูกเรียกมาเป็นพยานให้รับรู้การพิจารณาคดีที่พระเจ้าทรงกล่าวหาประชากรของพระองค์ (ดู ฉธบ 4:26; 30:19; 32:1; สดด 50:4) บทประพันธ์ต่อไปกล่าวพาดพิงถึงการทำลายแผ่นดินและการล้อมกรุงเยรูซาเล็ม อาจเป็นเหตุการณ์ในสมัยกษัตริย์เซนนาเคริบในปี 701 ก่อน ค.ศ. (ดู 36:1ฯ; 2 พกษ 18:13ฯ) หรือเหตุการณ์ในช่วงเวลาของสงคราม “ซีโรเอฟราอิม” ปี 735 ก่อน ค.ศ. ก็ได้ (ดู 7:1-2; 2 พกษ 16:5-9)

c “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของอิสราเอล” เป็นสมญาที่ประกาศกอิสยาห์ชอบใช้เมื่อกล่าวถึงพระยาห์เวห์ (ดู 6:3 เชิงอรรถ g)

d ข้อความตอนนี้ ซึ่งในความหมายตามตัวอักษร หมายถึงประชาชนชาวยูดาห์ที่ถูกลงโทษเพราะบาปของตน ถูกนำมาใช้กับพระทรมานของพระคริสตเจ้า เช่นเดียวกับตัวบทที่คล้ายกันเกี่ยวกับ “ผู้รับใช้พระยาห์เวห์” ใน 53:3ฯ

e “คนต่างด้าว” ตามต้นฉบับภาษาฮีบรู แต่ข้อความในบรรทัดนี้ไม่ได้เพิ่มเติมอะไรเลยกับข้อความที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านั้น และคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ทำลาย” ยังหมายถึงการทำลายล้างที่เมืองโสโดมและโกโมราห์ได้รับ ดังที่กล่าวถึงในข้อ 9-10 และ 3:9 ด้วย ดังนั้น หลายครั้งจึงมีการแก้ไขคำว่า “คนต่างด้าว” (ฮบ: zarim) เป็น “โสโดม” (Sodom) แต่ไม่มีสำนวนแปลโบราณใดเลยสนับสนุนการแก้ไขเช่นนี้ (ทูกแห่งล้วนแปลว่า “คนต่างด้าว”)

f “ธิดาแห่งศิโยน” เป็นการกล่าวถึงกรุงเยรูซาเล็มอย่างกับเป็นบุคคลหนึ่ง (10:32; 16:1 ฯลฯ) หรือหมายถึง “ชาวเมือง” ของกรุงเยรูซาเล็ม (37:22; พคค 4:22; ศฟย 3:14) “ศิโยน” เป็นชื่อป้อมปราการของชาวเยบุส ซึ่งภายหลังกลายเป็น “นครของกษัตริย์ดาวิด” (ดู 2 ซมอ 5:9 เชิงอรรถ f)

g คำประกาศพระวาจาตอนนี้อาจมาจากสมัยแรกที่ประกาศกเทศน์สอนก่อนปี 735 ก่อน ค.ศ. เช่นเดียวกับ อมส 5:21-27 ประกาศกกล่าวโทษศาสนพิธีที่ไม่สอดคล้องกับสภาพทางจิตใจ ประกาศกยังกล่าวถึงเรื่องนี้อีกใน 29:13-14 ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ในภายหลังพระเยซูเจ้าจะทรงใช้ตำหนิชาวฟาริสี (มธ 15:8-9)

h “มือของท่านเปื้อนเลือด” อาจเป็นเลือดของสัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องบูชา หรืออาจหมายถึงโลหิตของผู้บริสุทธิ์ก็ได้

i ลูกกำพร้าและหญิงม่ายซึ่งมีฐานะยากจน ได้รับการปกป้องจากธรรมบัญญัติ (อพย 22:21-22; ฉธบ 10:18; 14:29; 27:19 ฯลฯ) และบรรดาประกาศกมักจะปกป้องสิทธิของบุคคลเหล่านี้อยู่บ่อยๆ (ยรม 7:6; 22:3 ดู เรื่องการล่วงละเมิดสิทธิของคนเหล่านี้ใน อสย 1:23; 9:16; ยรม 49:10-11; อสค 22:7)

j เช่นเดียวกับการพิพากษา (สดด 9:7-8) การอภัยบาปเป็นคุณลักษณะของพระเจ้าด้วย (อพย 34:6 เชิงอรรถ c; ฮชย 11:8-9) พระเจ้าทรงพระกรุณาทำให้บาปสิ้นสุด และดังนี้ทรงทำให้มนุษยชาติมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระผู้สร้างอีก ไม่มีบาปใดยิ่งใหญ่เกินกว่าที่พระเจ้าจะทรงให้อภัยไม่ได้ (สดด 130) เงื่อนไขที่พระเจ้าทรงย้ำอยู่เสมอคือการสารภาพบาปยอมรับผิดและเป็นทุกข์เสียใจ (57:15; สดด 19:12; 25:11,18; 32:5; 51:17-18 ฯลฯ) ซึ่งแสดงการกลับใจภายในด้วย (ยรม 3:14; อสค 18:30-32; 33:11 เทียบ อสย 30:18; พคค 5:21) การอภัยบาปยังเป็นคุณลักษณะของอาณาจักรของพระเมสสิยาห์อีกด้วย (ยรม 31:31 เชิงอรรถ l; เทียบ อสค 36:25-26) และเป็นอภิสิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ (มก 2:5-11//)

k “ดาบ” ในที่นี้หมายถึงการรุกรานของศัตรูซึ่งจะนำหายนะมาสู่ชาวอิสราเอล ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงการคุกคามที่อาจจะไม่เกิดขึ้นถ้าประชากรจะยอมเชื่อฟังพระเจ้า (ข้อ 19)

l ตอนต้นของคำประพันธ์บทนี้ในภาษาฮีบรูอยู่ในรูปแบบของ “บทคร่ำครวญ” (qinah) ซึ่งมีจังหวะไม่เท่ากัน (3+2 หรือ 4+3)

m คำแรกของบรรทัดที่สองในต้นฉบับภาษากรีกและสำนวนแปลโบราณภาษาละติน (Vetus Latina) มีคำว่า “ศิโยน” ซึ่งไม่มีในต้นฉบับภาษาฮีบรู **ความคิดที่เปรียบเทียบกรุงเยรูซาเล็มว่าเป็นเหมือน “หญิงแพศยา” ชวนให้คิดถึงคำเทศน์สอนของประกาศกโฮเชยา และเป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงอุปมานิทัศน์ (หรือ “อุปมาในรายละเอียด”) ของ ยรม 3:6-13; อสค 16; 23 ความผิดของนครนี้ตรงข้ามกับความซื่อสัตย์ดั้งเดิมที่เคยมี ความซื่อสัตย์นี้จะกลับมาอีกเมื่อกรุงเยรูซาเล็มจะถูกพระเจ้าทรงลงโทษ เป็นการชำระมลทินความผิดต่างๆ แล้ว (ข้อ 26)

n ในภาษาฮีบรู ชื่อเฉพาะมักจะกำหนดลักษณะของบุคคล สถานที่ หรือสิ่งของที่มีชื่อนั้น และกำหนดชะตากรรมไว้ด้วย เทียบ นามของยาโคบใน ปฐก 25:26; 27:36 และนามของบุตรของเขา ปฐก 29:31–30:24 ฯลฯ การเปลี่ยนชื่อยังหมายถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตตามที่พระเจ้าทรงเรียกร้อง เช่น อับราฮัม (ปฐก 17:5) อิสราเอล (ปฐก 32:29 ฯลฯ) ชื่อที่ประกาศกให้แก่บุคคลบางคนเป็นเครื่องหมายถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริง เช่น อิสยาห์ ใน 7:3 (เทียบ 10:21); 7:14; 8:1-3 (เทียบ 8:18) และโฮเชยา ใน ฮชย 1:4, 6, 9; 2:1-3, 25 กรุงเยรูซาเล็มในอนาคตจะได้รับนามอื่นๆ ที่เป็นเหมือนคำพยากรณ์ (อสย 60:14; 62:4, 12: อสค 48:35) ที่ตรงนี้ชื่อใหม่ของกรุงเยรูซาเล็มชวนให้เราคิดย้อนไปถึงข้อ 21 คือ “ความชอบธรรม” “ความซื่อสัตย์” สำหรับอิสยาห์ เช่นเดียวกันกับสำหรับอาโมส ความยุติธรรมที่ช่วยให้รอดพ้นก่อนอื่นหมดหมายถึง การตัดสินคดีด้วยความเที่ยงตรง แต่ในความหมายที่ลึกกว่านั้นยังหมายถึงการมีส่วนร่วมในความยุติธรรมของพระเจ้าที่ช่วยให้รอดพ้น และที่พระองค์ทรงใช้แสดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ด้วย (ดู 5:16 เชิงอรรถ f)

o ข้อ 27 และ 28 นี้มีลักษณะคล้ายคำร้อยแก้วธรรมดาที่ขยายความของข้อความก่อนหน้านั้น อาจเป็นข้อความที่ศิษย์คนหนึ่งของประกาศกอิสยาห์เพิ่มเข้ามาก็เป็นได้

p ประกาศกอิสยาห์กล่าวโจมตีธรรมเนียมปฏิบัติของคนต่างศาสนาน้อยมาก (แต่ให้ดู 2:6-8 ด้วย) “ต้นไม้” ที่กล่าวถึงที่นี่ในตัวเองไม่ใช่วัตถุที่ใช้ในศาสนพิธี แต่เป็นการปฏิบัติศาสนกิจของชาวคานาอันซึ่งหลบซ่อนแทรกเข้ามา (ดู ฉธบ 12:2 เชิงอรรถ b) ตัวอย่างที่ถูกอ้างถึงแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติไม่ถูกต้องเช่นนี้พบได้ไม่เพียงแต่ในอาณาจักรอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังพบได้ในอาณาจักรยูดาห์ด้วย

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก