กล่าวโทษการกราบไหว้รูปเคารพ

          14. 1ผู้อาวุโสบางคนของอิสราเอลมาพบและนั่งเบื้องหน้าข้าพเจ้า 2พระยาห์เวห์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า 3“บุตรแห่งมนุษย์เอ๋ย คนเหล่านี้ยกย่องรูปเคารพไว้ในใจและรอโอกาสจะทำความผิดอยู่เสมอ เราจะไม่ยอมให้เขามาปรึกษาเรา 4ดังนั้นจงพูดกับเขาและบอกเขาว่า ‘พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า คนใดในพงศ์พันธุ์อิสราเอลที่ยกย่องรูปเคารพไว้ในใจและรอโอกาสจะทำความผิดอยู่เสมอ แล้วยังมาพบประกาศก เรา พระยาห์เวห์ จะตอบเขาตามที่รูปเคารพจำนวนมากของเขาควรจะได้รับ 5เพื่อชนะใจพงศ์พันธุ์อิสราเอลที่แยกตัวไปจากเราเพราะเรื่องรูปเคารพ’”

          6“ดังนั้น ท่านจงบอกพงศ์พันธุ์อิสราเอลว่า พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้ ‘จงกลับใจละทิ้งรูปเคารพของท่าน จงหันหน้าจากการกระทำน่าสะอิดสะเอียนของท่านเถิด 7เพราะคนใดในพงศ์พันธุ์อิสราเอลหรือคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลaที่แยกตัวไปจากเรา ไปยกย่องรูปเคารพไว้ในใจและรอโอกาสจะทำความผิดอยู่เสมอ แล้วยังมาพบประกาศกเพื่อปรึกษาเรา เรา พระยาห์เวห์ จะตอบเขาเองb 8เราจะเผชิญหน้ากับผู้นั้น จะทำให้เขาเป็นตัวอย่างและเป็นขี้ปากของทุกคน เราจะกำจัดเขาจากประชากรของเรา แล้วท่านทั้งหลายจะรู้ว่าเราเป็นพระยาห์เวห์ 9ถ้าประกาศกคนใดถูกหลอกลวงให้ประกาศเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรา พระยาห์เวห์ ได้หลอกลวงประกาศกคนนั้นc เราจะเหยียดมือออกต่อสู้กับเขา และจะกำจัดเขาจากอิสราเอลประชากรของเรา 10ทั้งประกาศกและผู้ที่ไปปรึกษาเขาจะต้องรับโทษเพราะความผิดของตน (โทษของผู้มาปรึกษาจะเท่ากับโทษของประกาศก) 11เพื่อพงศ์พันธุ์อิสราเอลจะไม่หลงทางไปจากเราอีก และจะไม่ทำตนเป็นมลทินด้วยการทรยศเช่นนี้อีก แต่เขาทั้งหลายจะเป็นประชากรของเรา และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา’ – พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส”

แต่ละคนต้องรับผิดชอบการกระทำของตนd

          12พระยาห์เวห์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า 13“บุตรแห่งมนุษย์เอ๋ย ถ้าแผ่นดินใดทำบาปต่อเราเพราะไม่ซื่อสัตย์ เราจะเหยียดมือออกต่อสู้กับแผ่นดินนั้น จะทำลายเสบียงอาหาร จะส่งการขาดแคลนอาหารมาในแผ่นดิน และจะทำลายทั้งมนุษย์และสัตว์จากแผ่นดิน 14แม้บุรุษสามคนนี้ คือ โนอาห์ ดาเนียล และโยบe จะอยู่ในแผ่นดินนั้น ความชอบธรรมของเขาก็จะช่วยตนเองเท่านั้นให้รอดชีวิต – พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส – 15ถ้าเราทำให้สัตว์ร้ายผ่านเข้ามาในแผ่นดินนั้น ทำลายชีวิตผู้อาศัย ทำให้แผ่นดินเป็นที่ร้าง ไม่มีผู้คนเดินผ่านได้เพราะสัตว์ร้ายเหล่านั้น 16แม้บุรุษทั้งสามคนนี้อยู่ในแผ่นดิน – พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส - เรามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด เราสาบานว่าบุรุษทั้งสามคนนี้จะช่วยบุตรชายบุตรหญิงให้รอดพ้นไม่ได้ เขาสามคนเท่านั้นจะเอาชีวิตรอดได้ แต่แผ่นดินนั้นจะเป็นที่ร้าง 17ถ้าเราส่งดาบมาต่อสู้กับแผ่นดินนั้น พูดว่า ‘ดาบเอ๋ย จงข้ามแผ่นดิน’ เราจะทำลายทั้งมนุษย์และสัตว์ 18แม้บุรุษสามคนนี้อยู่ในแผ่นดินนั้น – พระยาห์เวห์ตรัส – เรามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด เราสาบานว่าบุรุษทั้งสามคนนี้จะช่วยบุตรชายบุตรหญิงให้รอดพ้นไม่ได้ เขาสามคนเท่านั้นจะเอาชีวิตรอดได้ 19ถ้าเราส่งโรคระบาดเข้ามาในแผ่นดินนั้น และระบายความกริ้วทำให้เลือดนองแผ่นดิน ทำลายทั้งมนุษย์และสัตว์ให้หมดสิ้นจากแผ่นดิน 20แม้โนอาห์ ดาเนียล และโยบจะอยู่ในแผ่นดินนั้น – พระยาห์เวห์ตรัส - เรามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด เราสาบานว่าบุรุษทั้งสามคนนี้จะช่วยบุตรชายบุตรหญิงให้รอดพ้นไม่ได้ เขาสามคนเท่านั้นจะเอาชีวิตรอดได้เพราะความชอบธรรมของเขา”

          21“พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้ เมื่อเราจะส่งการลงโทษน่ากลัวสี่ประการนี้มาเหนือกรุงเยรูซาเล็ม คือดาบ การขาดแคลนอาหาร สัตว์ร้ายและโรคระบาด เพื่อกำจัดมนุษย์และสัตว์ให้หมดจากเมืองนี้ 22บางคนจะมีชีวิตรอดเหลืออยู่ในเมืองนี้ เขาจะนำบุตรชายบุตรหญิงมาหาท่านทั้งหลาย เพื่อท่านจะได้เห็นความประพฤติและการกระทำของเขา ท่านจะได้รับกำลังใจแม้ในเหตุร้ายที่เรานำมาเหนือกรุงเยรูซาเล็ม เหตุร้ายทุกอย่างที่เรานำมาเหนือนครนั้น 23เขาทั้งหลายจะให้กำลังใจท่าน ท่านจะรู้ว่าเรามิได้ทำอะไรแก่นครนั้นโดยไร้เหตุผล เมื่อท่านเห็นความประพฤติและการกระทำของเขาแล้ว – พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส”

14 a ตามข้อกำหนดของประกาศกเอเสเคียล คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในอิสราเอล (ดู อพย 12:48 เชิงอรรถ o) มีสถานภาพทางนิตินัยเหมือนกับชาวอิสราเอล (อสค 47:22)

b “เรา พระยาห์เวห์ จะตอบเขาเอง” – เมื่อชาวอิสราเอลที่ละทิ้งศาสนามาปรึกษาพระองค์ พระยาห์เวห์จะไม่ทรงยอมตอบเขาผ่านทางประกาศก พระองค์จะทรงตอบเขาด้วยพระองค์เอง คือโดยทรงลงโทษเขา

c “เรา พระยาห์เวห์ ได้หลอกลวงประกาศก” หมายความว่า เมื่อประกาศกถูกหลอกลวงให้พยากรณ์ความเท็จ พระยาห์เวห์เพียงแต่ “ทรงปล่อย” ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น พระองค์จะทรงตอบเขาเองโดยทรงลงโทษเขา

d ข้อความตอนนี้ – รวมทั้งข้อความในบทที่ 18 และใน 33:10-20 – นับเป็นการพัฒนาคำสอนด้านศีลธรรมอย่างมากในพันธสัญญาเดิม – ข้อเขียนก่อนหน้านี้มองปัจเจกบุคคลเพียงในฐานะเป็นส่วนประกอบของครอบครัว ของเผ่า หรือต่อมา ของชาติเท่านั้น - ใน ปฐก 6:18 ไม่เพียงโนอาห์เท่านั้นที่รอดจากน้ำวินาศ แต่ครอบครัวของเขาก็รอดด้วย – ใน ปฐก บทที่ 12 พระเจ้ทรงเรียกอับราฮัม แต่ทั้งครอบครัวของเขาก็เดินทางไปยังแผ่นดินคานาอันพร้อมกับเขาด้วย มุมมองเช่นนี้ยังเป็นเงื่อนไขของความรับผิดชอบและการให้บำเหน็จรางวัลความดีหรือการลงโทษความผิดด้วย เมื่ออับราฮัมวอนขอต่อรองกับพระเจ้าเพื่อชาวเมืองโสโดมใน ปฐก 18:23-23 เขาวอนขอไม่เพียงแต่ให้คนดีถูกแยกออกมาและรอดชีวิตเท่านั้น แต่ในฐานะที่ทั้งคนดีและคนชั่วร่วมชะตากรรมเดียวกัน กฎเกณฑ์เช่นนี้จึงใช้ได้ทั้งสองทาง คนดีอาจช่วยให้คนชั่วไม่ถูกลงโทษได้ด้วย ทุกคนเข้าใจว่าเมืองหรือชนชาติหนึ่งจะต้องถูกลงโทษร่วมกันทั้งคนดีและคนชั่ว และชะตากรรมของบุตรหลานก็ขึ้นอยู่กับความประพฤติของพ่อแม่ของเขา (อพย 20:5; ฉธบ 5:9; 7:10; เทียบ  ยรม 31:29 = อสค 18:2) แต่ต่อมาในภายหลัง บรรดาประกาศกจะเน้นถึงปัจเจกบุคคล และดังนี้จะแก้ไขการเน้นถึงคำสอนก่อนหน้านั้น ประกาศกเยเรมีย์อาจเห็นว่าการไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบร่วมกันเช่นนี้ในเรื่องบาปและการลงโทษของคนต่างชั่วอายุเป็นเรื่องในอนาคต (ยรม 31:29-30) แต่ผู้เขียนหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติก็ได้ประท้วงการลงโทษบุตรเพราะความผิดของบิดามารดาแล้ว (ฉธบ 24:16 เทียบ 2 พกษ 14:6) – เมื่อประกาศกเอเสสเคียลได้เห็นนิมิตในบทที่ 8-10 แล้ว ก็มีความเชื่อมั่นว่าการลงโทษกรุงเยรูซาเล็มที่กำลังจะมาถึงเป็นผลของบาปในปัจจุบันของเมืองนั้น เรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างและให้หลักการเรื่องความรับผิดชอบของแต่ละคน ความรอดพ้นหรือความพินาศของคนหนึ่งไม่ได้ขึ้นกับบรรพบุรุษหรือเพื่อนร่วมสมัย และไม่ขึ้นกับชีวิตในอดีตของเขาด้วย พระยาห์เวห์ทรงสนพระทัยต่อสภาพปัจจุบันของเขา - แต่การยืนยันอย่างแข็งขันเกี่ยวกับความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลจะได้ถูกดัดแปลงบ้างโดยหลักการเรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน ดังที่มีกล่าวถึงในบทเพลงบทที่สี่ของผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ (อสย 52:13 – 53:12 – ดู อสย 42:1 เชิงอรรถ a) ถึงกระนั้น ถ้าการใช้หลักการนี้อย่างเคร่งครัดและจำกัดอยู่กับชีวิตในโลกนี้เท่านั้น ก็จะขัดกับประสบการณ์ประจำวันที่ทุกคนเผชิญอยู่ (ดูหนังสือโยบ) และความขัดแย้งนี้เรียกร้องให้มีการพัฒนาคำสอนเรื่องนี้ต่อไปอีก ซึ่งจะมีได้จากการเปิดเผยเกี่ยวกับการให้บำเหน็จรางวัลความดีและลงโทษความชั่วหลังจากที่เราตายแล้ว (ดู “ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ” ข้อ 3) – ในที่สุด พันธสัญญาใหม่ (โดยเฉพาะนักบุญเปาโล) จะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างคำสอนเรื่องความรับผิดชอบของแต่ละคนที่ประกาศกเอเสเคียลกล่าวถึง กับหลักการที่ว่ามนุษยชาติร่วมชะตากรรมเดียวกัน โดยสอนว่าความหวังของคริสตชนตั้งอยู่บนความเชื่อว่าพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ กับมนุษยชาติที่พระเจ้าทรงสร้างมาและทรงไถ่กู้ให้รอดพ้นนั้น รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในการไถ่กู้ เช่นเดียวกับที่มนุษยชาติได้เคยร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในบาปมาแล้ว

e “ดาเนียล” – บางคนอ่านว่า “ดาเนล”  แต่ไม่มีต้นฉบับคัดลอกใดสนับสนุนการอ่านเช่นนี้ - วีรบุรุษทั้งสามคนนี้เป็นที่รู้จักดีในธรรมประเพณีของชาวอิสราเอล – โนอาห์มีเรื่องเล่าอยู่ใน ปฐก บทที่ 6-9; โยบ ซึ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดงานประพันธ์ที่ไพเราะอย่างยิ่งในพันธสัญญาเดิม คือหนังสือโยบ – ส่วน “ดาเนียล” ที่ตรงนี้ไม่ใช่ตัวเอกในหนังสือดาเนียลในพระคัมภีร์ แต่น่าจะเป็นผู้ชอบธรรมที่กวีแห่งรัส-ชัมรา (Ras-Shamra) กล่าวยกย่องความปรีชาและความชอบธรรมของเขา