“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

III. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการมีมลทินและไม่มีมลทินa

 

สัตว์ที่มีมลทินและไม่มีมลทินb

ก. สัตว์บก

11 1พระยาห์เวห์ตรัสสั่งโมเสสและอาโรน 2ให้ไปบอกชาวอิสราเอลว่า

          “ท่านทั้งหลายกินสัตว์บกต่อไปนี้ได้คือ

          3“สัตว์ที่มีสองกีบแยกกันและเคี้ยวเอื้อง 4ห้ามกินสัตว์ที่เคี้ยวเอื้องแต่ไม่มีสองกีบแยกกัน หรือสัตว์ที่มีสองกีบแยกกันแต่ไม่เคี้ยวเอื้อง ท่านต้องนับว่าอูฐมีมลทินเพราะเคี้ยวเอื้อง แต่ไม่มีสองกีบแยกกัน 5ท่านต้องนับว่าตัวไฮแรกซ์[1]มีมลทินเพราะเคี้ยวเอื้อง แต่ไม่มีสองกีบแยกกัน 6ท่านต้องนับว่ากระต่ายป่ามีมลทินเพราะเคี้ยวเอื้อง แต่ไม่มีสองกีบแยกกัน 7ท่านต้องนับว่าหมูมีมลทินเพราะมีสองกีบแยกกัน แต่ไม่เคี้ยวเอื้อง 8ท่านจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์เหล่านี้ และอย่าสัมผัสแม้แต่ซากของมันด้วย ท่านจะต้องนับว่าสัตว์เหล่านี้มีมลทิน”

 

ข. สัตว์น้ำ

          9ท่านทั้งหลายกินสัตว์น้ำต่อไปนี้ได้

          “สัตว์ที่มีครีบ มีเกล็ดและอาศัยอยู่ในน้ำ ไม่ว่าในทะเลหรือในแม่น้ำ ท่านกินได้ 10แต่สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีครีบและไม่มีเกล็ดซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ ไม่ว่าในทะเลหรือในแม่น้ำ ท่านจะต้องนับว่าเป็นสัตว์น่ารังเกียจ 11สัตว์ประเภทนี้เป็นสัตว์น่ารังเกียจ ท่านจะต้องไม่กินและต้องรังเกียจซากของมันด้วย 12สัตว์ใดที่อยู่ในน้ำ ไม่มีครีบและไม่มีเกล็ด ท่านจะต้องนับว่าเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ”

 

ค. นก

          13นกดังต่อไปนี้ ท่านต้องนับว่าน่ารังเกียจ กินไม่ได้

          “คือนกอินทรี นกแร้ง นกออก 14นกเหยี่ยวหางยาว เหยี่ยวดำชนิดต่างๆ 15นกกาทุกชนิด 16นกกระจอกเทศ นกเค้าโมง นกนางนวล เหยี่ยวนกเขาทุกชนิด 17นกฮูก นกเค้าแมว นกช้อน 18นกอีโก้ง นกกระทุง นกเหยี่ยว 19นกกระสา นกยางทุกชนิด นกหัวขวาน และค้างคาว”

ง. แมลงมีปีก

          20“แมลงมีปีกทั้งหลายที่มีสี่ขาc ท่านต้องนับว่าเป็นสัตว์น่ารังเกียจ ห้ามกิน 21แต่ท่านอาจกินแมลงมีปีกเหล่านี้ได้ คือแมลงที่มีขาพับd กระโดดจากพื้นได้ 22ดังนั้น แมลงที่กินได้คือ ตั๊กแตน ตั๊กแตนตำข้าว จักจั่นและจิ้งหรีด 23แต่แมลงมีปีกชนิดอื่นๆ ที่มีสี่ขา ท่านจะต้องนับว่าเป็นสัตว์น่ารังเกียจ”

 

การสัมผัสสัตว์มีมลทิน

          24“ท่านจะมีมลทินในกรณีต่อไปนี้ ผู้ใดสัมผัสซากสัตว์ จะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น 25ผู้ใดเคลื่อนย้ายซากสัตว์จะต้องซักเสื้อผ้า เขาจะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น 26สัตว์ที่มีกีบไม่แยกกันและไม่เคี้ยวเอื้อง นับว่าเป็นสัตว์มีมลทิน ผู้ใดสัมผัสจะมีมลทิน 27สัตว์สี่เท้าที่มีอุ้งเท้าeนับว่ามีมลทิน ผู้ใดสัมผัสซากของสัตว์เหล่านี้จะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น 28และผู้ใดเคลื่อนย้ายซากของมันจะต้องซักเสื้อผ้าและมีมลทินจนถึงเวลาเย็น ท่านต้องนับว่าสัตว์เหล่านี้มีมลทิน”

 

จ. สัตว์บกเล็กๆ

          29“สัตว์เล็กๆ ซึ่งเคลื่อนไหวตามพื้นดิน ท่านต้องนับว่าเป็นสัตว์มีมลทิน คือตัวตุ่น หนู สัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งจก 30ตุ๊กแก แย้ จิ้งเหลน กิ้งก่า และหนูพุก”

ข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสัมผัสสิ่งมีมลทิน

          31“ท่านจะต้องนับว่าสัตว์เล็กๆ เหล่านี้เป็นสัตว์มีมลทิน ผู้ใดสัมผัสซากของมันจะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น”

          32“ถ้าซากสัตว์เหล่านี้ตกลงบนสิ่งใด สิ่งนั้นจะมีมลทิน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเครื่องใช้ทำด้วยไม้ ผ้า หนังสัตว์ กระสอบ หรือเป็นเครื่องใช้อื่นๆ ต้องเอาไปจุ่มน้ำ แต่สิ่งนั้นจะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น แล้วจึงจะไม่มีมลทิน 33ถ้าสัตว์เหล่านี้ตกลงในหม้อดิน ทุกสิ่งที่อยู่ในหม้อจะมีมลทิน ท่านต้องทุบทำลายหม้อเสีย 34ถ้าเทน้ำจากหม้อดินนั้นลงไปบนอาหารที่ไม่มีมลทินและกินได้ อาหารนั้นจะมีมลทิน ถ้าเทน้ำจากหม้อดินนั้นลงไปในน้ำที่ดื่มได้ ไม่ว่าจะอยู่ในภาชนะใด น้ำดื่มนั้นจะมีมลทินด้วย 35ทุกสิ่งที่ซากสัตว์ตกลงไปก็จะมีมลทิน ถ้าเป็นเตาที่เป็นดินเผาก็จงทุบให้แตก เพราะมันมีมลทิน และท่านจะต้องนับว่าเตานั้นมีมลทิน 36ถ้าซากสัตว์ตกลงในน้ำพุ บ่อและที่เก็บน้ำ น้ำจะไม่มีมลทินf แต่ผู้ใดก็ตามสัมผัสซากสัตว์ที่ตกในนั้นจะมีมลทิน 37ถ้าซากสัตว์ตกลงบนเมล็ดพืชที่กำลังจะเพาะปลูก เมล็ดพืชนั้นจะยังคงไม่มีมลทิน 38แต่ถ้าเมล็ดพืชนั้นแช่น้ำอยู่ และซากสัตว์ตกลงไป ท่านจะต้องนับว่าเมล็ดพืชนั้นมีมลทิน”

          39“ถ้าสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารตาย ผู้ใดสัมผัสซากสัตว์นั้น จะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น 40ถ้าผู้ใดกินเนื้อสัตว์ที่ตายนั้น จะต้องซักเสื้อผ้า และจะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น ผู้ใดเคลื่อนย้ายซากสัตว์นั้น จะต้องซักเสื้อผ้า และจะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น”

 

เหตุผลทางศาสนา

          41“สัตว์เล็กๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ตามพื้นดิน เป็นสัตว์น่ารังเกียจ กินไม่ได้ 42สัตว์ทุกชนิดที่ใช้ท้องเลื้อยไปตามพื้นดิน สัตว์ที่คลานสี่ขาหรือมากกว่านั้น สัตว์ทุกชนิดที่คลานไปตามพื้นดิน ท่านอย่ากิน เพราะเป็นสัตว์น่ารังเกียจ 43อย่าทำตนเป็นที่น่ารังเกียจเพราะสัมผัสกับสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ อย่าทำตนให้มีมลทินเพราะไปสัมผัสกับมัน 44เพราะเราคือพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติตนเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ อย่าทำตนให้มีมลทินโดยสัมผัสสัตว์เลื้อยคลานใดเหล่านี้ที่อยู่ตามพื้นดิน 45เพราะเราคือพระยาห์เวห์ ผู้นำท่านทั้งหลายออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ เพื่อเป็นพระเจ้าของท่าน ดังนั้น ท่านต้องเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์เพราะเราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์”

 

บทสรุป

          46นี่คือข้อกำหนดเกี่ยวกับสัตว์ นก สิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ และสัตว์เลื้อยคลานตามพื้นดิน 47เพื่อให้ท่านทั้งหลายสามารถแยกสิ่งที่มีมลทินจากสิ่งที่ไม่มีมลทิน แยกสัตว์ที่กินได้จากสัตว์ที่กินไม่ได้

 

11 a กฎเกี่ยวกับ “การมีมลทินและไม่มีมลทิน” (บทที่ 11-16) เสริม “กฎเรื่องความศักดิ์สิทธิ์” (บทที่ 17-26) ให้สมบูรณ์ เป็นการพิจารณาคำเรียกร้องของพระเจ้าทั้งในแง่ลบ (สิ่งที่ต้องละเว้น) และแง่บวก (สิ่งที่ต้องปฏิบัติ) ระเบียบปฏิบัติเหล่านี้มีเบื้องหลังในข้อห้ามทางศาสนาตั้งแต่สมัยโบราณ สิ่งที่ “ไม่มีมลทิน” หมายถึง สิ่งที่เหมาะสมจะเข้าใกล้หรือถวายแด่พระเจ้า ส่วน “สิ่งที่มีมลทิน” หมายถึง สิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่เหมาะสมจะเข้าร่วมศาสนพิธีหรือสิ่งที่ทำให้เขาเข้าร่วมพิธีไม่ได้ สัตว์ที่ไม่มีมลทินหมายถึงสัตว์ที่ถวายแด่พระเจ้าได้ (ปฐก 7:2) ส่วนสัตว์ที่มีมลทินหมายถึงสัตว์ที่ชนชาติเพื่อนบ้านถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นสัตว์ที่มนุษย์ไม่ชอบ จึงคิดว่าพระเจ้าไม่ทรงพอพระทัยเช่นเดียวกัน (บทที่ 11) กฎปฏิบัติอื่นๆ เกี่ยวข้องกับการเกิด (บทที่ 12) เพศสัมพันธ์ (บทที่ 15) และความตาย (21:1, 11; กดว 19:11-16) เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องลึกลับสำหรับมนุษย์ พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ เพราะทรงเป็นเจ้าของชีวิต โรคผิวหนังที่ติดต่อได้ นับเป็นอาการแสดงความเสื่อมโทรม (13:1 เชิงอรรถ a) จึงชวนให้คิดว่าเป็นสิ่งมีมลทิน อย่างไรก็ตาม บรรดาประกาศกจะพัฒนาความคิดเรื่องมีมลทินไม่มีมลทิน โดยเน้นถึงการชำระจิตใจเป็นพิเศษ (อสย 1:16; ยรม 33:8 ดู สดด 51:10) จึงเป็นการเตรียมทางสำหรับคำสอนของพระเยซูเจ้า (มธ 15:10-20//) พระองค์ทรงปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากข้อกำหนดภายนอกซึ่งเป็นเพียงประเพณีตกทอดมาเท่านั้น (มธ 23:24-26//) อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดโบราณเหล่านี้ก็ได้สร้างอุดมการณ์เกี่ยวกับการมีจิตใจบริสุทธิ์โดยวางกฎปฏิบัติต่างๆ ไว้

b การจำแนกสัตว์เป็นประเภทต่างๆ ในบทนี้ เป็นผลของการสังเกตแบบชาวบ้านไม่ใช่การแยกประเภทตามหลักวิชาการ แพะแกะและโคเป็นต้นแบบของสัตว์ไม่มีมลทินที่กินได้ กระต่ายถูกจัดเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องเพราะปากของมันเคลื่อนไหวคล้ายสัตว์เคี้ยวเอื้อง ชื่อของสัตว์ต่างๆ ในต้นฉบับ หลายครั้งไม่รู้แน่ว่าหมายถึงสัตว์อะไร สำนวนแปลฉบับต่างๆ จึงไม่เหมือนกัน

[1] ไฮแรกซ์ (Hyrax) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายหนูตะเภา หางสั้น ขนหนานุ่ม เมื่อโตเต็มที่มีขนาดลำตัวตั้งแต่ 30-70 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 2-5 กิโลกรัม กินพืชเป็นอาหาร

c การกล่าวถึงแมลงมีปีกที่มี “สี่ขา” เพื่อแยกแยะจากนก ตั๊กแตนถือเป็นสัตว์ไม่มีมลทิน กินได้ (ข้อ 21)

d “มีขาพับ” แปลตามฉบับแปลทั่วไป ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ไม่มีขาเหนือเท้า”

e ซึ่งหมายถึงสัตว์ที่ไม่มีกีบทุกชนิด เช่น สุนัข แมว เสือ ฯลฯ

f เพราะน้ำเป็นสิ่งที่ให้ชีวิตและใช้ชำระ

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก