2 1ฟ้า แผ่นดิน และสิ่งประดับทั้งปวงก็สำเร็จบริบูรณ์ 2ในวันที่เจ็ดพระเจ้าทรงเสร็จสิ้นจากงานที่ทรงกระทำ พระองค์ทรงหยุดพักในวันที่เจ็ดจากงานทั้งหมดที่ทรงกระทำ 3พระเจ้าทรงอวยพรวันที่เจ็ดและทรงทำให้วันนั้นเป็นวันศักดิ์สิทธิ์a เพราะในวันนั้น พระองค์ทรงพักจากงานทั้งปวงที่ทรงกระทำในการเนรมิตสร้าง

          4กนี่คือประวัติความเป็นมาbของฟ้าและแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทรงเนรมิตสร้าง

สวนอุทยานและการทดสอบอิสรภาพc

          4ขเมื่อพระยาห์เวห์พระเจ้าทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน 5บนแผ่นดินยังไม่มีพุ่มไม้ และตามทุ่งนาหญ้ายังไม่ได้งอกขึ้นเลย เพราะพระยาห์เวห์พระเจ้ายังไม่ได้ทรงทำให้ฝนตกบนแผ่นดิน และยังไม่มีมนุษย์ใช้แผ่นดินเป็นที่เพาะปลูก 6แต่มีน้ำขึ้นมาจากแผ่นดิน เพื่อรดหน้าดินทั้งหมด 7พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงเอาฝุ่นจากพื้นดินdมาปั้นมนุษย์ และทรงเป่าลมแห่งชีวิตเข้าในจมูกของเขา มนุษย์จึงเป็นผู้มีชีวิตe

          8พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงปลูกสวนขึ้นทางทิศตะวันออกในแคว้นเอเดนf และทรงนำมนุษย์ที่ทรงปั้นมาไว้ที่นั่น 9พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงบันดาลให้ต้นไม้ทุกชนิดงอกขึ้นจากดิน ต้นไม้เหล่านี้งดงามชวนมองและมีผลน่ากิน มีต้นไม้แห่งชีวิตต้นหนึ่งgอยู่ที่กลางสวน และมีต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว

          10แม่น้ำสายหนึ่งไหลจากแคว้นเอเดนมารดสวน แล้วจึงแยกสาขาออกเป็นสี่สายh 11สายแรกชื่อปิโชน ไหลรอบแผ่นดินฮาวิลาห์ทั้งหมด ที่นั่นมีทองคำ 12ทองคำของแผ่นดินนี้เป็นทองบริสุทธิ์ ที่นั่นยังมียางไม้หอมiและพลอยสีแดง 13แม่น้ำสายที่สองชื่อกิโฮน ไหลรอบแผ่นดินคูชทั้งหมด 14แม่น้ำสายที่สามชื่อไทกริส ซึ่งไหลทางตะวันออกของแคว้นอัสซีเรีย แม่น้ำสายที่สี่คือยูเฟรติส

          15พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงนำมนุษย์มาไว้ในสวนเอเดน เพื่อเพาะปลูกและดูแลสวน 16แล้วพระยาห์เวห์พระเจ้าทรงบัญชามนุษย์นั้นว่า “ท่านจะกินผลไม้จากต้นไม้ทุกต้นในสวนได้ 17แต่อย่ากินจากต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วj วันใดที่ท่านกินผลจากต้นนั้น ท่านจะต้องตาย”k

          18พระยาห์เวห์พระเจ้าตรัสว่า “มนุษย์อยู่เพียงคนเดียวนั้นไม่ดีเลย เราจะสร้างผู้ช่วยlที่เหมาะสมให้เขา” 19พระยาห์เวห์พระเจ้าจึงทรงเอาดินมาปั้นสัตว์ป่าทุกชนิดและนกทุกชนิดในท้องฟ้า ทรงนำสัตว์เหล่านี้มาให้มนุษย์ เพื่อดูว่าเขาจะตั้งชื่อมันว่าอย่างไร สัตว์แต่ละตัวจะมีชื่อตามที่มนุษย์ตั้งให้ 20มนุษย์จึงตั้งชื่อให้สัตว์เลี้ยง นกในอากาศ และสัตว์ป่าทั้งหมด แต่มนุษย์ยังไม่พบผู้ช่วยที่เหมาะกับตน 21ดังนั้น พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงทำให้มนุษย์หลับสนิท และขณะที่เขากำลังนอนหลับ ก็ทรงเอากระดูกซี่โครงของเขาออกมาหนึ่งซี่ และทรงบันดาลให้เนื้อปิดสนิทm 22พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงเอาซี่โครงนั้นมาสร้างหญิงn แล้วทรงนำมาให้มนุษย์ 23มนุษย์จึงพูดว่า

          “นี่คือกระดูกจากกระดูกของฉัน

                    และเนื้อจากเนื้อของฉัน

          นางจะมีชื่อว่าหญิงo

                    เพราะนางมาจากชาย”

          24เพราะฉะนั้น ชายจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันกับภรรยา และทั้งสองคนจะเป็นเนื้อเดียวกัน

          25เขาทั้งสองคนคือมนุษย์และภรรยาต่างเปลือยกายอยู่ แต่ไม่อายกัน

2 a พระเจ้าเป็นผู้ทรงกำหนดวันสับบาโต (shabbat) ในวันนั้นพระเจ้าทรงพักผ่อน (shabat) แต่ในที่นี้พระคัมภีร์หลีกเลี่ยงไม่ใช้คำ Shabbat เพราะตามตำนานสงฆ์ กฎที่จะต้องหยุดงานในวันสับบาโตเริ่มต้นเมื่อพระเจ้าประทานธรรมบัญญัติที่ภูเขาซีนาย เพื่อเป็นเครื่องหมายของพันธสัญญา (อพย 31:12-17) อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงหยุดงานเนรมิตสร้างในวันสับบาโต เพื่อเป็นแบบฉบับให้ปฏิบัติตาม (อพย 20:11; 31:17)

b คำนี้ในภาษาฮีบรู หมายถึง “ลำดับวงศ์ตระกูล” ดังนั้น จึงเป็นประวัติของบรรพบุรุษและเชื้อสาย (ดู 6:9; 25:19; 37:2) ในที่นี้ พระคัมภีร์ต้องการอธิบายว่า การเนรมิตสร้างไม่ใช่ตำนานเทพ (myth) แต่เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหตุการณ์แรก นั่นคือ ไม่ใช่เหตุการณ์ของเทพเจ้าในสวรรค์ดังที่ชาวซูเมอร์และอียิปต์เล่ากัน

c ข้อความใน 2:4ข-3:24 มาจากตำนานยาห์วิสต์ ประกอบขึ้นจากธรรมประเพณีหลายสายที่มารวมกัน มีเรื่องการสร้างมนุษย์ต่างจากการเนรมิตสร้างโลกในบทที่ 1 เรื่องนี้จบลงด้วยเรื่องการสร้างหญิงเป็นมนุษย์คู่แรก (2:4ข-8 และ 18-24) ตามด้วยเรื่องบาปแรกในสวนอุทยานและการลงโทษซึ่งเริ่มตั้งแต่การสร้างสวนอุทยาน (2:9-17) และจบลงในบทที่ 3 (3:1-24)

d มนุษย์ ’adam มาจากดิน ’adamah (ดู 3:19) คำ “มนุษย์” (อาดัม) นี้จะกลายเป็นนามเฉพาะของมนุษย์คนแรก “อาดัม” (4:25; 5:1, 3)

e “ผู้มีชีวิต” ภาษาฮีบรู nephesh หมายถึง สิ่งซึ่งมีชีวิตอาศัยลมหายใจ “จิต” (ruah) ยังเป็นเครื่องหมายแสดงชีวิตอีกด้วย (6:17 เชิงอรรถ f; อสย 11:2 เชิงอรรถ c; ดู สดด 6:4 เชิงอรรถ c)

f คำว่า “สวน” ต้นฉบับภาษากรีกใช้คำ “paradise” จึงเป็นที่มาของคำแปลที่พบได้ทั่วไปว่า “สวนสวรรค์ หรือสวรรค์” ส่วนแคว้นเอเดนเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ยังบอกไม่ได้ว่าหมายถึงที่ใด แต่เดิมอาจหมายถึง “ที่ร้างกว้างขวาง” อย่างไรก็ตาม ชาวอิสราเอลเข้าใจว่าคำนี้ หมายถึง “ความสุขสำราญ” ในข้อนี้และข้อ 10 แคว้นเอเดนและสวนมีความหมายต่างกัน แต่ในภายหลังความแตกต่างนี้จะเลือนไป เราจึงพบสำนวน “สวนเอเดน” (ข้อ 15; 3:23, 24) ใน อสค 28:13  และ 31:9 เอเดนเป็น “สวนของพระเจ้า” และใน อสย 51:3 เอเดนเป็น “สวนของพระยาห์เวห์” ตรงข้ามกับทะเลทรายและที่ราบ

g “ต้นไม้แห่งชีวิต” เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตอมตะ (ดู 3:22 เชิงอรรถ g) เกี่ยวกับต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว ดู ข้อ 17 เชิงอรรถ j

h ข้อ 10-14 เป็นข้อความที่แทรกเข้ามา อาจจะโดยผู้เขียนตำนานยาห์วิสต์เอง ซึ่งใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์โบราณของโลก ผู้เขียนไม่ต้องการบอกสถานที่ตั้งของสวนเอเดน แต่ต้องการแสดงว่าแม่น้ำสายใหญ่ซึ่งเป็นสายชีวิตสำคัญของทั้งสี่เขตของโลกมีต้นกำเนิดมาจากสวนนี้ จึงไม่แปลกที่การบรรยายภูมิศาสตร์ไม่สมเหตุผล แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสเป็นสายที่รู้จักดีและมีต้นกำเนิดจากภูเขาในแคว้นอาร์เมเนีย แต่แม่น้ำปิโชนและกิโฮนไม่เป็นที่รู้จัก แผ่นดินฮาวิลาห์ ตาม 10:29 อยู่ในแคว้นอาราเบีย ส่วนแผ่นดินคูชซึ่งพบในที่อื่นของพันธสัญญาเดิม หมายถึง แคว้นเอธิโอเปีย แต่เราไม่รู้ว่า ฮาวิลาห์และคูชในที่นี้มีความหมายตามปกติหรือไม่

i ภาษาฮีบรู  bedolah

j ความรู้ดังกล่าวเป็นอภิสิทธิ์ที่พระเจ้าทรงสงวนไว้สำหรับพระองค์ แต่มนุษย์ทำบาปเพราะอ้างสิทธิดังกล่าวเป็นของตนเอง (3:5,22) ดังนั้น ความรู้ดีรู้ชั่วจึงไม่ได้หมายถึงความรู้ทุกอย่างซึ่งสิ่งสร้างที่ตกในบาปไม่มี อีกทั้งไม่ได้หมายถึงการรู้จักแยกแยะทางศีลธรรม เพราะมนุษย์มีอยู่แล้ว ก่อนจะตกในบาปเพราะพระเจ้าจำเป็นต้องประทานให้มนุษย์มีสติปัญญาแยกแยะได้ ดังนั้น ความรู้ดีรู้ชั่วน่าจะหมายถึงอำนาจการตัดสินด้วยตนเองว่าอะไรดีอะไรชั่วและกระทำตามการตัดสินนั้น ซึ่งเป็นการไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าโดยสิ้นเชิง ในด้านศีลธรรม คือ มนุษย์ปฏิเสธไม่ยอมรับสถานภาพการเป็นสิ่งสร้างของตน (ดู อสย 5:20) บาปแรกเป็นการกบฏต่ออำนาจสูงสุดของพระเจ้า เป็นบาปความหยิ่งจองหอง พระคัมภีร์กล่าวถึงการกบฏนี้เป็นรูปธรรมว่าเป็นการละเมิดคำสั่งของพระเจ้า โดยใช้ภาพการกินผลไม้ต้องห้าม

k สำนวนนี้เป็นภาษากฎหมายที่ใช้ในคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต การกินผลไม้ไม่ได้หมายความว่าผู้ผิดจะต้องตายทันที อาดัมและเอวายังมีชีวิตอยู่หลังจากกินแล้ว และการตัดสินโทษใน 3:16-19 กล่าวถึงความตายว่าเป็นเพียงจุดจบของชีวิตที่น่าสมเพช พระคัมภีร์ต้องการบอกเพียงว่าบาปซึ่งมีการกินผลไม้เป็นสัญลักษณ์ เป็นสาเหตุของความตาย (ดู 3:3)

l การเล่าเรื่องการสร้างหญิงดูเหมือนจะมาจากธรรมประเพณีอีกสายหนึ่ง ในข้อ 16 “มนุษย์” หมายถึง ทั้งชายและหญิง เช่นเดียวกับใน 3:24 และ 3:1-3 ซึ่งต่อเนื่องกับ 2:17 ทำให้เข้าใจว่าพระเจ้าทรงห้ามทั้งชายและหญิง ไม่ให้กินผลไม้

m ความหมายแรกของคำว่า “เนื้อ” basar คือ “เนื้อ หรือกล้ามเนื้อของสัตว์หรือคน” (41:2-4; อพย 4:7; โยบ 2:5) ความหมายที่สองคือ “เนื้อ” หมายถึง ร่างกายทั้งหมด (ลนต 8:7; 1 พกษ 21:27; 2 พกษ 4:7; 2 พกษ 6:30) แล้วยังหมายถึงสมาชิกในครอบครัว (ปฐก 2:23; 29:14; 37:27) ในความหมายสุดท้าย “เนื้อ” จึงหมายถึงมนุษยชาติหรือสิ่งที่มีชีวิตทั้งมวล (“เนื้อทั้งมวล” ปฐก 6:17, 19; สดด 136:25; อสย 40:5-6) ส่วน “วิญญาณ” หรือ “ลมหายใจ” (nephesh) (2:7 เชิงอรรถ e; สดด 6:4 เชิงอรรถ b) หรือ “จิต” (ปฐก 6:17 เชิงอรรถ f) เป็นสิ่งที่ทำให้ “เนื้อ” มีชีวิต อย่างไรก็ดี บ่อยครั้ง “เนื้อ" หมายถึง ส่วนที่อ่อนแอและเสื่อมสลายได้ในมนุษย์ (6:3 ; สดด 56:4; อสย 40:6; ยรม 17:5) ในสมัยต่อมา ค่อยๆ มีการเน้นลักษณะตรงกันข้ามของ “จิต” และ “เนื้อ” มากขึ้น (สดด 78:39; ปญจ 12:7; อสย 31:3; ดู ปชญ 8:19; 9:15 เชิงอรรถ f) ภาษาฮีบรูไม่มีคำเฉพาะในความหมายว่า “ร่างกาย” ต่อมาพันธสัญญาใหม่ใช้คำกรีก “soma” (body=ร่างกาย) คู่กับคำว่า sarx (flesh=เนื้อ)(ดู รม 7:5 เชิงอรรถ c, 24 เชิงอรรถ l)

n การที่หญิงถูกสร้างมาจากกระดูกซี่โครงของชาย หมายถึง ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างชายและหญิง (ข้อ 23) ซึ่งนำทั้งสองให้มาอยู่ด้วยกันในการสมรส (ข้อ 24)

o เป็นการเล่นคำในภาษาฮีบรู ระหว่าง ’ishshah “หญิง” และ ’ish “ชาย” (เทียบ “ชายา” กับ “ชาย” ในภาษาไทย)