“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

IV. รายละเอียดเกี่ยวกับสักการสถานและศาสนบริกรa

 

การร่วมสร้างสักการสถาน

25 1พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า 2“ท่านจงบอกชาวอิสราเอลให้นำของถวายมาให้เรา ท่านทั้งหลายจะรับของถวายจากทุกคนที่มีใจเอื้อเฟื้อ 3ของถวายที่ท่านจะรับได้แก่ ทองคำ เงิน ทองสัมฤทธิ์ 4ผ้าสีม่วง สีม่วงแดง สีแดงเข้ม ผ้าป่านเนื้อดี 5ผ้าขนแพะ หนังแกะย้อมสีแดง หนังฟอกอย่างดีb ไม้กระถินเทศ 6น้ำมันจุดตะเกียง เครื่องหอมปรุงน้ำมันที่ใช้เจิมและกำยานหอม 7โกเมนและรัตนชาติอื่นๆ สำหรับประดับเสื้อเอโฟดศักดิ์สิทธิ์และเครื่องประดับอกของมหาสมณะ 8เขาทั้งหลายจะสร้างสักการสถานcให้เรา เพื่อเราจะอยู่ในหมู่พวกเขาd 9กระโจมที่ประทับและเครื่องประดับต่างๆ นี้ท่านจะทำตามแบบที่เราจะแสดงให้ท่านเห็น

 

กระโจมที่ประทับและเครื่องประดับหีบพันธสัญญาe

10ท่านจะต้องสร้างหีบไม้กระถินเทศใบหนึ่ง ยาวสองศอกครึ่ง กว้างหนึ่งศอกครึ่ง และสูงหนึ่งศอกครึ่งf 11ท่านจะต้องบุภายในและหุ้มภายนอกด้วยทองคำบริสุทธิ์ และทำขอบทองคำไว้รอบหีบ 12ท่านจะต้องทำห่วงทองคำสี่ห่วงติดไว้ที่ขาหีบทั้งสี่ด้าน ด้านละสองห่วง 13ท่านจะต้องทำคานด้วยไม้กระถินเทศแล้วหุ้มทองคำ 14ท่านจะต้องสอดคานนี้ในห่วงที่อยู่ข้างหีบทั้งสองด้านสำหรับหาม 15คานนั้นจะต้องสอดไว้ในห่วงของหีบ อย่าได้ถอดออกเลย 16ท่านจะต้องนำแผ่นศิลาจารึกgสองแผ่นที่เราจะให้ท่านใส่ไว้ในหีบนั้น 17ท่านจะต้องทำพระที่นั่งพระกรุณาhด้วยทองคำบริสุทธิ์ ยาวสองศอกครึ่ง กว้างหนึ่งศอกครึ่ง 18ท่านจะต้องใช้ค้อนเคาะทองคำให้เป็นรูปเครูบiสองตน ตั้งไว้ที่ปลายพระที่นั่งพระกรุณาทั้งสองด้าน 19ท่านจะต้องตีรูปเครูบตั้งไว้ที่ปลายสุดของหีบด้านละตน ให้ติดเป็นเนื้อเดียวกันกับพระที่นั่งพระกรุณาทั้งสองด้าน 20เครูบนั้นจะกางปีกปกเหนือพระที่นั่งพระกรุณา และหันหน้าเข้าหากัน ต่างมองดูพระที่นั่งพระกรุณา 21ท่านจะต้องตั้งพระที่นั่งพระกรุณานี้บนหีบที่บรรจุแผ่นศิลาจารึกที่เราจะให้ท่าน 22เราจะมาพบท่านที่นั่น และจะพูดกับท่านจากพระที่นั่งพระกรุณาระหว่างเครูบทั้งสองตนที่อยู่บนหีบที่บรรจุแผ่นศิลาจารึก เราจะให้คำสั่งแก่ท่านเพื่อประกาศให้ชาวอิสราเอลรู้

 

โต๊ะตั้งขนมปังถวายพระเจ้าj

23ท่านจะต้องสร้างโต๊ะไม้กระถินเทศ ยาวสองศอก กว้างหนึ่งศอกและสูงหนึ่งศอกครึ่ง 24ท่านจะต้องหุ้มโต๊ะนี้ด้วยทองคำบริสุทธิ์ และทำขอบทองคำไว้รอบโต๊ะ 25ท่านจะต้องทำกรอบกว้างหนึ่งฝ่ามือ และทำขอบทองคำรอบกรอบนี้ 26ท่านจะต้องทำห่วงทองคำสี่ห่วง ติดไว้ที่ขาโต๊ะทั้งสี่มุม 27ห่วงนี้จะต้องอยู่ติดกับกรอบโต๊ะเพื่อสอดคานที่ใช้หามโต๊ะ 28ท่านจะต้องทำคานนี้ด้วยไม้กระถินเทศแล้วหุ้มทองคำ คานนี้ใช้หามโต๊ะ 29ท่านจะต้องทำเครื่องใช้ประจำโต๊ะด้วยทองคำ คือ จาน ถ้วย เหยือก และชามสำหรับเทเครื่องดื่มถวาย 30ท่านจะต้องวางขนมปังตั้งถวายไว้บนโต๊ะเบื้องหน้าเราตลอดเวลา

 

เชิงประทีป

31ท่านจะต้องทำเชิงประทีปด้วยทองคำบริสุทธิ์ ใช้ค้อนเคาะให้เป็นฐาน ลำต้น กิ่ง ดอกตูม ดอกบาน และกลีบติดเป็นเนื้อเดียวกัน 32มีกิ่งยื่นออกมาหกกิ่ง ข้างละสามกิ่ง 33แต่ละกิ่งมีดอกบานสามดอกรูปร่างคล้ายดอกอัลมอนด์ พร้อมกับดอกตูมและกลีบ ทั้งหกกิ่งมีลักษณะเช่นเดียวกัน 34เชิงประทีปมีดอกบานสี่ดอกรูปร่างคล้ายดอกอัลมอนด์ พร้อมกับดอกตูมและกลีบ 35ใต้กิ่งทั้งสามคู่ที่ยื่นออกมาจากเชิงประทีปมีดอกตูมคู่ละดอก 36ทั้งดอกตูมและกิ่งติดเป็นเนื้อเดียวกันกับเชิงประทีป ซึ่งทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ชิ้นเดียวโดยใช้ค้อนเคาะ 37ท่านจะต้องทำตะเกียงเจ็ดดวง ตั้งไว้บนเชิงประทีปให้ส่องสว่างเบื้องหน้า 38ท่านจะต้องทำคีมและถาดรองด้วยทองคำบริสุทธิ์ 39ท่านจะต้องใช้ทองคำบริสุทธิ์หนักสามสิบห้ากิโลกรัมทำเชิงประทีป คีมและถาดรองเหล่านี้ 40จงระวังทำให้ถูกต้องตามที่เราได้แสดงให้ท่านเห็นบนภูเขา

25 a ในบทที่ 25-31 (ตำนานสงฆ์) มีรายละเอียดบางประการโบราณมาก เช่น ในเรื่องหีบพันธสัญญา และกระโจมที่ประทับรวมทั้งระบอบศาสนพิธีซึ่งคงจะมีมาตั้งแต่สมัยของโมเสสแน่ๆ แต่ยังมีรายละเอียดอื่นๆ เข้ามาปะปน ซึ่งสะท้อนวิวัฒนาการของศาสนพิธีในระยะต่อมาของประวัติศาสตร์ของอิสราเอล เมื่อพระคัมภีร์กล่าวรวบยอดว่า “พระเจ้าตรัสแก่โมเสส” ความหมายก็คือเป็นการยืนยันว่าระบอบศาสนพิธีของอิสราเอลกำหนดขึ้นโดยมีอำนาจของพระเจ้าอยู่เบื้องหลัง

b แปลโดยคาดคะเน เราไม่รู้ว่าคำภาษาฮีบรูที่ใช้นี้มีความหมายอะไรแน่

c สำเนาโบราณภาษากรีกและซีเรียคว่า “ท่านจงสร้าง”

d ชาวอิสราเอลนมัสการพระเจ้าในสถานที่ต่างๆ ที่พระองค์ทรงสำแดงว่าประทับอยู่ที่นั่น (ปฐก 12:7; 28:12-19; ฯลฯ) ภูเขาซีนายเป็นสถานที่ที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างชัดเจนที่สุด จึงนับเป็น “ภูเขาของพระเจ้า” (3:1; 1 พกษ 19:8) เป็นที่ประทับของพระองค์ (ฉธบ 33:2; วนฉ 5:4-5; สดด 68:8; ฮบก 3:3) หีบพันธสัญญาเป็นเครื่องหมายของการประทับอยู่ของพระองค์ (25:22 ดู 1 ซมอ 4:4; 2 ซมอ 6:2) และกระโจมที่ประทับซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหีบพันธสัญญานั้นจึงเป็นที่พำนักของพระยาห์เวห์ (อพย 25:9; 40:34) กระโจมที่ประทับนี้ติดตามประชากรอิสราเอลตลอดการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร (2 ซมอ 7:6) จนกระทั่งพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มจะเป็นที่พำนักถาวรของพระองค์ (1 พกษ 8:10)

e หีบพันธสัญญามีลักษณะเป็นหีบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีไม้คานหาม ดู ยชว 3:3; 6:4ฯ; 1 ซมอ 4-6; 2 ซมอ 6; 1 พกษ 8:1-9 เพื่อรู้ความเป็นไปของหีบพันธสัญญาซึ่งสูญหายไปเมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย (หรือในรัชสมัยของกษัตริย์มนัสเสห์) ชาวอิสราเอลมิได้ทำหีบพันธสัญญาขึ้นใหม่อีกเลย (ดู ยรม 3:16)

f หนึ่งศอกยาวประมาณ 46 เซนติเมตร

g “ศิลาจารึก” แปลตามตัวอักษรว่า “คำยืนยัน คำสั่ง หรือข้อกำหนด” เป็นคำที่หมายถึง เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพันธสัญญาระหว่างพระราชาธิราชและกษัตริย์ประเทศราช ในที่นี้ ข้อกำหนดดังกล่าวหมายถึงบทบัญญัติสิบประการที่จารึกไว้บนแผ่นศิลา แผ่นศิลานี้จึงได้ชื่อว่า “ศิลาจารึก” (31:18; 32:15; 34:29) เพราะฉะนั้น หีบพันธสัญญาจึงได้ชื่ออีกว่า “หีบบรรจุแผ่นศิลาจารึก” (25:22; 26:33; 40:21)

h “พระที่นั่งพระกรุณา” แปลตามตัวอักษรว่า “ฝาหีบ” รากศัพท์ภาษาฮีบรูของคำนี้แปลว่า “ปิด” หรือ “ปกคลุม” จึงมีความหมายถึงการลบล้างหรืออภัยโทษบาปในพิธีขออภัยโทษจากพระเจ้าด้วย เมื่อมหาสมณะใช้เลือดสัตว์ประพรมฝาหีบหรือพระที่นั่งพระกรุณานี้ ในพิธีกรรมสมัยหลังเนรเทศเมื่อไม่มีหีบพันธสัญญาแล้ว ชาวอิสราเอลยังทำรูปจำลองของพระที่นั่งพระกรุณา เพื่อใช้ในพิธีขออภัยโทษจากพระเจ้าต่อไป (ลนต 16:15) และ 1 พศด 28:11 เรียกฝาหีบนี้ว่า “พระที่นั่งพระกรุณา” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในอภิสุทธิสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระวิหาร ตำนานสงฆ์เล่าว่าพระยาห์เวห์ทรงสำแดงพระองค์และตรัสกับโมเสสจากพระที่นั่งพระกรุณานี้ (ข้อ 22; ลนต 16:2; กดว 7:89)

i เครูบ ตรงกับคำภาษาบาบิโลนว่า karibu หมายถึง จิตที่มีรูปร่างครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ที่เฝ้าประตูวิหารและราชวัง พระคัมภีร์และภาพวาดในตะวันออกกลางโบราณ แสดงลักษณะของ “เครูบ” ว่า มีหน้ามนุษย์ มีร่างสิงโต มีปีก “เครูบ” นี้ไม่มีบทบาทใดในศาสนพิธีของชาวอิสราเอลในสมัยเดินทางในถิ่นทุรกันดาร และเมื่อเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอัน จนถึงสมัยที่หีบพันธสัญญาประดิษฐานอยู่ที่ชิโลห์ เพราะที่นั่นพระยาห์เวห์ได้รับสมญานามว่า “พระองค์ผู้ประทับเหนือเครูบ” (1 ซมอ 4:4; 2 ซมอ 6:2 ดู 2 พกษ 19:15; สดด 80:1; 99:1) และยังกล่าวถึงพระองค์ว่า “ทรง(ขี่)เครูบ” (2 ซมอ 22:11 ดู สดด 18:10) ในพระวิหารของกษัตริย์ซาโลมอน รูปเครูบเป็นกรอบของหีบพันธสัญญาและสูญหายไปพร้อมกับหีบในพระวิหาร หลังยุคเนรเทศ ชาวอิสราเอลทำรูปเครูบเล็กๆ สองตนติดไว้ที่พระที่นั่งพระกรุณา (ดู เชิงอรรถ h) ใน อสค 1 และ 10 “เครูบ” เป็นสัตว์เทียมราชรถของพระยาห์เวห์

j แปลตามตัวอักษรว่า “ขนมปังแห่งพระพักตร์” เพราะตั้งไว้เฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์ (ดู ลนต 24:5-9; 1 ซมอ 21:5)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก