“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

บทบัญญัติสิบประการa

20 1พระเจ้าตรัสทุกถ้อยคำต่อไปนี้ว่า 2“เราคือพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน เป็นผู้นำท่านออกจากแผ่นดินอียิปต์ ให้พ้นจากการเป็นทาส

3ท่านต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเราb

4ท่านต้องไม่ทำรูปเคารพสำหรับตน ไม่ว่าจะเป็นรูปสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ในท้องฟ้าเบื้องบน หรืออยู่ในแผ่นดินเบื้องล่าง หรืออยู่ในน้ำใต้แผ่นดินc

5ท่านต้องไม่กราบไหว้หรือรับใช้เทพเจ้าเหล่านั้นd เพราะเราคือพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน เป็นพระเจ้าที่ไม่ยอมให้มีคู่แข่ง เป็นพระเจ้าที่ลงโทษความผิดบิดาที่เกลียดชังเรา ไปถึงลูกหลานจนถึงสามสี่ชั่วอายุคน 6แต่เราแสดงความรักมั่นคงต่อผู้ที่รักเราและปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา จนถึงพันชั่วอายุคน

7ท่านต้องไม่กล่าวพระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านอย่างไม่เหมาะสมe เพราะพระยาห์เวห์จะไม่ทรงละเว้นโทษผู้ที่กล่าวพระนามพระองค์อย่างไม่เหมาะสม

8จงระลึกถึงวันสับบาโตfเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ 9ท่านจะต้องออกแรงทำงานทั้งหมดในหกวัน 10แต่วันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อนที่ถวายแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ในวันนั้น ท่านต้องไม่ทำงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าน บุตรชาย บุตรหญิง บ่าวไพร่ชายหญิง สัตว์ใช้งานหรือคนต่างถิ่นที่อาศัยอยู่กับท่าน 11เพราะในหกวันพระยาห์เวห์ทรงสร้างฟ้า แผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งที่มีอยู่ในที่เหล่านี้ แต่ในวันที่เจ็ดพระองค์ทรงพักผ่อน ดังนั้น พระยาห์เวห์ทรงอวยพระพรวันสับบาโต และทรงทำให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์

12จงนับถือบิดามารดา เพื่อท่านจะได้มีอายุยืนอยู่ในแผ่นดินที่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านประทานให้

13อย่าฆ่าคน

14อย่าล่วงประเวณี

15อย่าลักขโมย

16อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน

17อย่าโลภมักได้บ้านเรือนของเพื่อนบ้าน อย่าโลภมักได้ภรรยาของเพื่อนบ้าน หรือบ่าวไพร่ชายหญิง โค ลา หรือทรัพย์สินใดที่เป็นของเพื่อนบ้าน”

18gเมื่อประชากรได้ยินเสียงฟ้าร้อง เสียงเป่าเขาสัตว์ เห็นฟ้าแลบและควันปกคลุมภูเขา ก็กลัวตัวสั่นh ยืนอยู่แต่ไกล 19เขาจึงขอร้องโมเสสว่า “ขอท่านเป็นคนพูดกับพวกเราเถิด พวกเราจะฟัง แต่อย่าให้พระเจ้าตรัสกับพวกเราเลย มิฉะนั้น เราจะต้องตาย” 20โมเสสตอบประชากรว่า “อย่ากลัวไปเลย พระเจ้าเพียงแต่เสด็จมาทดลองท่านทั้งหลาย และทำให้ท่านยำเกรงพระองค์อยู่ตลอดไป ท่านจะได้ไม่ทำบาป”i 21ประชากรจึงยืนอยู่แต่ไกล ขณะที่โมเสสเข้าไปใกล้เมฆมืดทึบที่พระเจ้าประทับอยู่

 

ข. ประมวลกฎหมายพันธสัญญาj

 

กฎหมายเกี่ยวกับพระแท่นบูชา

22พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า “จงประกาศแก่ชาวอิสราเอลดังนี้ ท่านทั้งหลายได้เห็นแล้วว่า เราพูดกับท่านจากฟากฟ้า 23ท่านต้องไม่ทำรูปเคารพด้วยเงินหรือทองเพื่อกราบไหว้เคียงคู่กับเราเลย

24ท่านจะต้องสร้างแท่นบูชาสำหรับเราด้วยดิน เพื่อถวายเครื่องเผาบูชาและศานติบูชา รวมทั้งถวายแกะและโคในสถานที่ที่เราเลือกให้ท่านระลึกถึงนามของเราk เราจะมาหาท่านและจะอวยพรท่าน 25ถ้าท่านจะสร้างแท่นบูชาด้วยหินให้เรา ก็จงอย่าใช้เหล็กสกัด เพราะเครื่องมือที่ใช้จะทำให้แท่นบูชานั้นไม่ศักดิ์สิทธิ์ 26ท่านอย่าทำบันไดขึ้นแท่นบูชาของเรา เพื่อจะได้ไม่เป็นที่น่าเกลียด เมื่อท่านต้องขึ้นบันได”l

20 a บทบัญญัติสิบประการในที่นี้เป็นข้อความที่แทรกเข้ามาไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เล่าอยู่ (19:24-25 และ 20:18-21) บทบัญญัติสิบประการ (หรือ “คำสิบคำ” DecaIogue ดู 34:28; ฉธบ 4:13; 10:4) ตกทอดมาถึงเราเป็นสองรูปแบบ แบบหนึ่งจากตำนานเอโลฮิสต์ ในที่นี้ และอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างเล็กน้อยมาจากตำนานเฉลยธรรมบัญญัติใน ฉธบ 5:6-21 ในรูปแบบดั้งเดิมซึ่งอาจมาจากสมัยของโมเสส คงเป็นคำสั้นๆ สิบคำ (ดู บัญญัติข้อ 5, 6, 7 และ 8) ซึ่งเป็นสูตร มีจังหวะให้จำง่าย บทบัญญัติสิบประการนี้คงได้ส่งทอดต่อกันมาด้วยปากต่อปากโดยกลุ่มที่มีประสบการณ์กับเหตุการณ์ที่ภูเขาซีนาย และรู้ว่าพระยาห์เวห์ได้ตรัส “พระวาจา” สิบคำนี้ที่นั่นด้วย ต่อมาได้มีผู้เรียบเรียงบทบัญญัติทั้งสิบนี้ให้มีรายละเอียดมากขึ้นนำมาแทรกเข้าไปในเรื่องเล่าการสำแดงองค์ ตำนานเอโลฮิสต์จะเล่าเรื่องต่อใน 24:3 หลังจากหนังสือประมวลกฎหมายพันธสัญญา บทบัญญัติสิบประการครอบคลุมชีวิตทางศีลธรรมและทางศาสนาไว้ทั้งหมด เราอาจแบ่งบทบัญญัติแต่ละข้อได้เป็นสองแบบ คือ แบบแรกแบ่ง 2-3, 4-6, 7, 8-11, 12, 13, 14, 15, 16, 17 และแบบที่สองแบ่งข้อ 3-6, 7, 8-11, 12, 13, 14, 15, 16, 17ก, 17ข แบบแรกเป็นวิธีแบ่งของบรรดาปิตาจารย์ชาวกรีก ซึ่งยังใช้อยู่ในคริสตจักรออร์โธด๊อกและในคริสตจักรปฏิรูปโปรแตสแตนท์ ส่วนพระศาสนจักรคาทอลิกและลูเธอรันใช้แบบที่สอง ซึ่งเป็นแบบที่นักบุญออกัสตินได้เสนอตามแบบที่พบได้ในเฉลยธรรมบัญญัติ บทบัญญัติสิบประการเป็นแก่นของธรรมบัญญัติของโมเสส และยังมีผลบังคับใช้ในพันธสัญญาใหม่ พระคริสตเจ้าทรงบัญชาให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติสิบประการนี้โดยเสริมข้อแนะนำตามแนวพระวรสารเป็นการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ (มก 10:17-21) เมื่อเปาโลสอนว่า คนต่างชาติไม่ต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ (รม และ กท) “ธรรมบัญญัติ” ในที่นี้มิได้หมายถึงบทบัญญัติสิบประการซึ่งเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐาน อันเป็นหน้าที่ต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

b พระยาห์เวห์ทรงเรียกร้องให้อิสราเอลนมัสการพระองค์แต่ผู้เดียว พันธสัญญาเรียกร้องให้ชาวอิสราเอลนมัสการพระยาห์เวห์แต่พระองค์เดียวเท่านั้น ยังไม่คำนึงถึงความจริงที่ว่า พระเจ้าอื่นมีความเป็นอยู่หรือไม่ ในภายหลังเท่านั้น ชาวอิสราเอลจะเข้าใจว่าพระเจ้าอื่นไม่มีความเป็นอยู่ (ดู ฉธบ 4:35)

c บทบัญญัติข้อนี้ห้ามมิให้ทำรูปเหมือนของพระยาห์เวห์เพื่อใช้นมัสการ (ดู คำอธิบายที่ให้ใน ฉธบ 4:15) การห้ามนี้ทำให้อิสราเอลแตกต่างจากชาติอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ

d ข้อ 5 นี้มีความต่อเนื่องจากข้อ 3

e การกล่าวนามพระยาห์เวห์อย่างไม่เหมาะสม หมายถึง การสาบานเท็จ (มธ 5:33) และการเป็นพยานเท็จ (อพย 20:16; ฉธบ 5:20) รวมทั้งการใช้พระนามของพระเจ้าทางไสยศาสตร์ ภาษากรีกแปลว่า “อย่างไร้ประโยชน์”

f พระคัมภีร์อธิบายความหมายของคำ “สับบาโต” จากรากศัพท์ที่แปลว่า “หยุดงาน” (16:29-30; 23:12; 34:21) วันสับบาโตเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ที่ถวายแด่พระยาห์เวห์ ผู้ทรงหยุดเนรมิตสร้างในวันที่เจ็ด (ข้อ 11 ดู ปฐก 2:2-3) การหยุดงานในวันสับบาโตนี้ ขณะที่เป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ด้วย (23:12; ฉธบ 5:14) การถือวันสับบาโตมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่โบราณ แต่การปฏิบัติอย่างจริงจังเกิดขึ้นในช่วงการถูกเนรเทศ และกลายเป็นเอกลักษณ์ของศาสนายิวหลังจากเนรเทศ (นหม 13:15-22; 1 มคบ 2:32-41) การปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องวันสับบาโตอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษรกลายเป็นภาระหนักสำหรับประชาชนทั่วไป (มธ 12:1ฯ//; ลก 13:10ฯ; 14:1ฯ)

g ข้อ 18-21 ดำเนินเรื่องต่อจาก 19:19 เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ในพายุตามตำนานเอโลฮิสต์ (ดู 19:16 เชิงอรรถ g)

h “กลัวตัวสั่น” แปลตามต้นฉบับของชาวสะมาริตันและภาษากรีก

i น่าสังเกตว่าพระคัมภีร์พูดถึง “ความกลัว” สองประเภท คือ (1) ความกลัวตัวสั่น ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่แสดงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เช่น พายุ เพลิง ควันไฟ ฯลฯ และ (2) ความยำเกรงพระเจ้า ที่ทำให้มนุษย์ยินดีปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง (ดู ปฐก 22:12; ฉธบ 6:2 เชิงอรรถ a)

j ข้อความใน 20:22-23:33 ได้ชื่อว่า “ประมวลกฎหมายพันธสัญญา” ตาม 24:7 (แม้ว่าชื่อนี้ใน 24:7 หมายเพียงบทบัญญัติสิบประการเท่านั้น) ประมวลกฎหมายพันธสัญญาเป็นการรวบรวมกฎหมายและขนบธรรมเนียมที่ใช้กันในภายหลัง เพราะสะท้อนสภาพสังคมกสิกรที่ตั้งหลักแหล่งถาวรแล้ว ประมวลกฎหมายนี้น่าจะเริ่มใช้ในช่วงแรกของการยึดครองแผ่นดินคานาอันก่อนที่จะมีระบบกษัตริย์ เป็นการประยุกต์ใช้เจตนารมณ์ของบทบัญญัติสิบประการ จึงถือกันว่าเป็นกฎบัตรของพันธสัญญาที่ภูเขาซีนายด้วย และถูกนำมาแทรกไว้หลังบทบัญญัติสิบประการ ประมวลกฎหมายพันธสัญญานี้มีเนื้อหาคล้ายกับประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ประมวลกฎหมายของชาวฮิตไทต์และกฤษฎีกาของโฮเรมเห็บ แต่ความละม้ายคล้ายกันเช่นนี้ไม่หมายความว่าชาวอิสราเอลคัดลอกยืมมาใช้ แต่น่าจะชี้ให้เห็นว่า เป็นกฎหมายที่มาจากแหล่งเดียวกันมากกว่า นั่นคือได้มาจากประมวลกฎหมายและขนบธรรมเนียมโบราณ ซึ่งชนแต่ละชาตินำมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม ข้อกำหนดของประมวลกฎหมายพันธสัญญานี้อาจจัดรวมตามเนื้อหาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กฎหมายแพ่งและอาญา (21:1-22:20) (2) ระเบียบเกี่ยวกับศาสนพิธี (20:22-26; 22:28-31; 23:10-19) และ (3) กฎศีลธรรมสำหรับสังคม (22:21-27; 23:1-9) ในแง่ของรูปแบบวรรณกรรม ข้อกำหนดต่างๆ แบ่งออกได้สองประเภท คือ “กฎหมายพิจารณาโทษการกระทำผิด” มีรูปแบบ “ถ้า” ตามลีลาการเขียนของกฎหมายของชาวเมโสโปเตเมีย และ “กฎหมายสั่งหรือห้าม” ในรูปแบบ “ต้อง” หรือ “อย่า” ตามลีลาการเขียนของบทบัญญัติสิบประการ หรือวรรณกรรมปรีชาญาณของชาวอียิปต์

k ข้อกำหนดนี้แตกต่างกับข้อกำหนดใน ฉธบ 12:5 ฯลฯ เพราะอนุญาตให้มีสถานที่ประกอบศาสนพิธีหลายแห่ง การนมัสการเช่นนี้ถูกต้องและทำได้ในทุกแห่งที่พระยาห์เวห์ทรงสำแดงว่าพระองค์ประทับอยู่ที่นั่น เป็นการเปิดเผยว่าสถานที่นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์

l “เป็นที่น่าเกลียด” แปลตามตัวอักษรว่า “เพื่อจะไม่เปิดเผยความเปลือยเปล่าของท่านที่นั่น” เมื่อถวายบูชา บรรดาสมณะสวมผ้าเพียงผืนเดียวคล้ายผ้าขาวม้าเช่นเดียวกับชาวอียิปต์ ดังนั้น จึงอาจอุจาดตาเมื่อก้าวขึ้นบันได เป็นการขาดความเคารพต่อแท่นบูชา

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก