“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

บุตรคนแรกa

13 1พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า 2“จงถวายบุตรคนแรกที่เป็นชายทุกคนให้เป็นของเรา เพราะในอิสราเอล บุตรที่คลอดเป็นคนแรก ไม่ว่าคนหรือสัตว์เป็นของเรา”

 

เทศกาลขนมปังไร้เชื้อ

          3โมเสสกล่าวแก่ประชากรอิสราเอลว่า “จงจดจำวันนี้ไว้ วันที่ท่านทั้งหลายออกจากอียิปต์ที่ท่านเคยเป็นทาส เพราะพระยาห์เวห์ทรงใช้พระหัตถ์ทรงอานุภาพนำท่านมาจากที่นั่น อย่ากินขนมปังที่ใส่เชื้อ 4ท่านออกเดินทางจากอียิปต์ในวันนี้ซึ่งอยู่ในเดือนอาบีบ 5เมื่อพระยาห์เวห์ทรงนำท่านเข้าไปในแผ่นดินของชาวคานาอัน ชาวฮิตไทต์ ชาวอาโมไรต์ ชาวฮีไวต์ และชาวเยบุส ซึ่งเป็นแผ่นดินที่พระองค์ทรงสัญญากับบรรพบุรุษของท่านว่าจะประทานแก่ท่าน เป็นแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายจะต้องทำพิธีนี้ในเดือนนี้ 6ท่านจะต้องกินขนมปังไร้เชื้อเป็นเวลาเจ็ดวัน และในวันที่เจ็ดจะต้องจัดงานฉลองถวายแด่พระยาห์เวห์ 7ท่านต้องกินขนมปังไร้เชื้อเป็นเวลาเจ็ดวัน ต้องไม่มีขนมปังใส่เชื้อหรือเชื้อแป้งเลยในดินแดนของท่าน 8วันนั้น จงอธิบายให้บุตรของท่านรู้ว่า ที่ปฏิบัติดังนี้เพื่อระลึกถึงสิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำให้ท่าน เมื่อท่านออกจากอียิปต์ 9พิธีนี้จะเป็นเหมือนเครื่องหมายที่มือของท่าน เป็นเครื่องเตือนใจต่อหน้าต่อตาท่าน เพื่อให้ธรรมบัญญัติของพระยาห์เวห์อยู่บนริมฝีปากของท่านตลอดไป เพราะพระยาห์เวห์ทรงใช้พระหัตถ์ทรงอานุภาพนำท่านออกจากอียิปต์ 10ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตามกฎนี้ในเวลาที่กำหนดทุกปี”

 

บุตรคนแรกb

 

11“เมื่อพระยาห์เวห์จะทรงนำท่านเข้าสู่แผ่นดินของชาวคานาอัน ดังที่พระองค์ทรงสาบานไว้กับท่านและบรรพบุรุษของท่านว่าจะประทานให้ และพระองค์ได้ประทานให้แก่ท่านแล้ว 12ท่านต้องถวายบุตรชายทุกคนที่คลอดเป็นคนแรกแด่พระยาห์เวห์ และสัตว์ตัวแรกทุกตัวที่เกิดจากสัตว์ของท่าน ถ้าเป็นเพศผู้จะเป็นของพระยาห์เวห์ 13ท่านต้องถวายลูกแกะเพื่อไถ่ลูกลาเพศผู้ตัวแรกคืนมา ถ้าท่านไม่ต้องการไถ่คืน ให้หักคอลูกลานั้นc แต่ท่านต้องถวายสัตว์เลี้ยงเพื่อไถ่บุตรชายคนแรกของท่านคืนมา 14ต่อไปในภายหน้า เมื่อบุตรของท่านถามว่า “นี่หมายความว่าอะไร” ท่านจะตอบเขาว่า “พระยาห์เวห์ทรงใช้พระหัตถ์ทรงอานุภาพนำเราออกจากอียิปต์ ที่เราเคยเป็นทาสอยู่ 15เมื่อกษัตริย์ฟาโรห์มีพระทัยดื้อดึงไม่ทรงยอมปล่อยเราไป พระยาห์เวห์ทรงประหารชีวิตบุตรชายคนแรกทุกคนในอียิปต์ ทั้งของคนและของสัตว์ เพราะเหตุนี้ เราจึงถวายบุตรชายคนแรกที่คลอด และสัตว์เพศผู้ตัวแรกที่เกิดแด่พระยาห์เวห์ และไถ่บุตรชายคนแรกทุกคนในบรรดาบุตรของเรา 16พิธีนี้จะเป็นเหมือนเครื่องหมายที่มือของท่าน เป็นเหมือนเครื่องประดับห้อยที่หน้าผาก เพราะพระยาห์เวห์ทรงใช้พระหัตถ์ทรงอานุภาพนำเราออกจากอียิปต์”

 

ฉ. ชาวอิสราเอลเดินทางออกจากอียิปต์d

 

ชาวอิสราเอลออกเดินทางe

17เมื่อกษัตริย์ฟาโรห์ทรงปล่อยประชากรอิสราเอลไป พระเจ้าไม่ทรงพาเขาไปตามเส้นทางไปสู่แผ่นดินของชาวฟีลิสเตีย แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดf พระองค์ทรงดำริว่า “เราไม่ต้องการให้ประชากรเปลี่ยนใจกลับไปอียิปต์อีก เมื่อเขาเห็นว่าต้องทำสงคราม” 18พระเจ้าทรงนำเขาเดินอ้อมผ่านถิ่นทุรกันดารมุ่งสู่ทะเลต้นกกg ชาวอิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์ มีอาวุธครบมือ 19โมเสสนำกระดูกของโยเซฟไปด้วย เพราะโยเซฟได้ให้ชาวอิสราเอลสาบานว่า “พระเจ้าจะเสด็จมาเยี่ยมท่านทั้งหลายอย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้น ท่านจงนำกระดูกของฉันจากที่นี่ไปกับท่านด้วย”

20ชาวอิสราเอลออกเดินทางจากสุคคทไปตั้งค่ายที่เอธามซึ่งอยู่ริมถิ่นทุรกันดาร

21เวลากลางวัน พระยาห์เวห์เสด็จนำหน้าเขาเหมือนเสาเมฆเพื่อชี้ทาง และเวลากลางคืนก็เสด็จนำหน้าเขาเหมือนเสาเพลิงเพื่อส่องสว่าง ดังนี้ เขาจึงเดินทางได้ทั้งกลางวันและกลางคืน 22เสาเมฆนั้นนำหน้าประชากรอยู่เสมอตลอดเวลากลางวัน ส่วนเสาเพลิงนั้นอยู่ข้างหน้าเขาในเวลากลางคืนh

 

13 a กฎเกี่ยวกับบุตรคนแรกใน 13:1-2,11-16 เป็นข้อความเสริมจากตำนานเฉลยธรรมบัญญัติ กฎดังกล่าวถูกผนวกกับเรื่องความตายของบุตรคนแรกชาวอียิปต์ ไม่ใช่กับเรื่องฉลองปัสกา ในประมวลกฎหมายแห่งพันธสัญญา (22:28-29) กฎนี้ไม่เกี่ยวข้องกับฉลองปัสกาแต่อย่างใด

b ดู เชิงอรรถ a ในประมวลกฎหมายโบราณที่สุดของอิสราเอล (22:28-29; 34:19-20) บุตรชายคนแรกหรือสัตว์เพศผู้ตัวแรกถูกกำหนดให้เป็นของพระเจ้า สัตว์เพศผู้ตัวแรกนี้ต้องถวายเป็นเครื่องบูชา (ฉธบ 15:19-20) และส่วนหนึ่งของสัตว์นี้จะเป็นของสมณะ (กดว 18:15-18) ยกเว้นลา ซึ่งจะได้รับการไถ่ชีวิตคืนมา หรือมิฉะนั้นต้องถูกหักคอ (ข้อ 13 และ 34:20) ซึ่งเป็นกฎทั่วไปสำหรับสัตว์ที่มีมลทินอีกด้วย (ลนต 27:26-27; กดว 18:15) ส่วนบุตรคนแรกของมนุษย์จะต้องไถ่คืนมาเสมอ (ข้อ 13; 34:19-20; กดว 3:46-47 ดู ปฐก 22) ข้อความในข้อ 14ฯ และ กดว 3:13; 8:17 นำกฎถวายบุตรคนแรกแด่พระเจ้านี้มาเชื่อมโยงกับเรื่องที่พระเจ้าทรงช่วยชาวอิสราเอลให้ออกจากอียิปต์และกับภัยพิบัติประการที่สิบ ชาวเลวีเป็นบุคคลที่ถวายแด่พระเจ้า (กดว 3:12, 40-51; 8:16-18) แทนบุตรชายคนแรกของอิสราเอลที่พระเจ้าทรงไว้ชีวิตในโอกาสนั้น

c เนื่องจากลาเป็นสัตว์มีมลทิน จึงถวายเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าไม่ได้

d การอพยพจริงๆ เริ่มที่นี่ คือ การเดินทางของประชากรของพระเจ้าผ่านถิ่นทุรกันดารไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา บรรดาประกาศกจะมองย้อนกลับมายังสมัยอพยพนี้ว่า เป็นช่วงระยะแรกของการสมรสระหว่างพระยาห์เวห์กับประชากรของพระองค์ (ยรม 2:2; อสค 16:8; ฮชย 2:16 เชิงอรรถ p; 11:1ฯ) พระคัมภีร์จะกล่าวบ่อยๆ ว่า พระยาห์เวห์ทรงเป็น “ผู้ทรงนำประชากรของพระองค์ออกจากอียิปต์” (ยชว 24:17; สดด 81:10; อมส 2:10; 3:1; มคา 6:4) อิสยาห์ที่สองจะมองการกลับจากเนรเทศที่กรุงบาบิโลนของชาวอิสราเอลเป็นเหมือนการอพยพครั้งที่สอง (อสย 40:3 เชิงอรรถ e) ต่อมา ธรรมประเพณีของคริสตชนจะมองการเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารว่า เป็นภาพการเดินทางของพระศาสนจักร (หรือของแต่ละคน) ไปสวรรค์

e เป็นการยากมากที่จะกำหนดเส้นทางการอพยพและการหยุดพักในที่ต่างๆ ระหว่างการเดินทาง แม้ข้อ 17 จะบอกว่าชาวอิสราเอลไม่ได้เดินทางผ่านดินแดนของชาวฟีลิสเตีย ชื่อสถานที่ต่างๆ ที่บอกไว้บางชื่อชวนให้คิดว่าชาวอิสราเอลใช้เส้นทางทิศเหนือผ่าน “ดินแดนชาวฟีลิสเตีย” นั่นเอง (อันที่จริงในสมัยอพยพยังไม่มีชาวฟีลิสเตียที่นั่น) ข้อความเรื่องการเดินทางอพยพดูเหมือนจะรวมธรรมประเพณีสองสายเข้าด้วยกัน ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สองเหตุการณ์ เล่าการเดินทางอพยพของสองกลุ่มที่ใช้เส้นทางต่างกัน (ดู 7:8 เชิงอรรถ a; 16:1 เชิงอรรถ a)

f เส้นทางหลวงปกติเลียบตามชายฝั่งทะเลผ่านทางสิเลห์ (เอล คานตารา ในปัจจุบัน) มีบ่อน้ำและป้อมทหารตั้งอยู่เป็นระยะๆ ชาวอิสราเอลกลุ่มที่หลบหนีออกมาย่อมไม่ต้องการใช้เส้นทางนี้ ส่วนกลุ่มที่ถูกขับไล่ออกจากอียิปต์อาจใช้เส้นทางนี้ ชื่อสถานที่สามชื่อใน 14:2 ดูเหมือนจะอยู่ตามเส้นทางหลวงสายนี้ แต่รายละเอียดอื่นๆ ในการเดินทาง น่าจะมาจากธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งที่เล่าว่า การอพยพเป็นการหลบหนี ซึ่งเป็นธรรมประเพณีที่สำคัญกว่า

g คำว่า “ทะเลต้นกก” หรือในภาษาฮีบรูว่า yam suph ดูเหมือนว่า ถูกเสริมเข้ามาในภายหลัง ต้นฉบับเดิมให้ข้อมูลทั่วๆ ไปเพียงว่า ชาวอิสราเอลได้ใช้เส้นทางผ่านถิ่นทุรกันดารไปทางตะวันออกหรือทางตะวันออกเฉียงใต้ เราไม่รู้แน่ว่า “ทะเล Suph” นี้หมายความว่าอะไรและอยู่ที่ไหน บทที่ 14 ไม่กล่าวถึง “ทะเลต้นกก” เลย ที่นั่นกล่าวถึงเพียงแต่ “ทะเล” ข้อเขียนโบราณที่สุดที่พูดถึง “ทะเล Suph” หรือ “ทะเลต้นกก” (แปลจากภาษาอียิปต์ ดู กดว 21:4) คือ 15:4 ซึ่งเป็นคำประพันธ์

h หนังสือปัญจบรรพกล่าวว่าพระเจ้าทรงสำแดงการประทับอยู่ของพระองค์หลายวิธีด้วยกัน เช่น เสาเมฆและเสาเพลิง (ตำนานยาห์วิสต์) “หมอกควันทึบ” และเมฆ (ตำนานเอโลฮิสต์) หรือในที่สุด “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์” ควบคู่กับเมฆ (24:16 เชิงอรรถ f) ซึ่งเป็นเหมือนไฟที่เผาผลาญและเคลื่อนไหว (ตำนานสงฆ์ 19:16 เชิงอรรถ g) ในภายหลังเทววิทยาที่ศึกษาธรรมล้ำลึกของชีวิตชิดสนิทกับพระเจ้า จะใช้ความคิดและภาพลักษณ์เหล่านี้

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก