อพยพ

I. การปลดปล่อยจากอียิปต์

ก. ชาวอิสราเอลในอียิปต์a

 

ความเจริญรุ่งเรืองของชาวฮีบรูในอียิปต์

1 1ต่อไปนี้เป็นชื่อของชาวอิสราเอลซึ่งไปอียิปต์กับยาโคบ โดยพาครอบครัวไปด้วย คือ 2รูเบน สิเมโอน เลวีและยูดาห์ 3อิสสาคาร์ เศบูลุนและเบนยามิน 4ดานและนัฟทาลี กาดและอาเชอร์ 5โยเซฟอยู่ในอียิปต์แล้ว บุตรหลานของยาโคบมีจำนวนทั้งหมดเจ็ดสิบคนb 6โยเซฟกับพี่น้องทุกคนตลอดจนคนรุ่นนั้นทั้งหมดถึงแก่กรรม 7แต่ชาวอิสราเอลมีลูกหลานมากมาย ทวีจำนวนและเข้มแข็งมากขึ้น จนอยู่เต็มแผ่นดินนั้น

 

ชาวฮีบรูถูกกดขี่

8กษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ในอียิปต์ พระองค์มิได้ทรงรู้จักโยเซฟ 9ทรงประกาศแก่ประชาชนว่า “ดูซิ ชาวอิสราเอลมีจำนวนมากและมีกำลังมากกว่าเรา 10เราจะต้องจัดการขัดขวางมิให้คนเหล่านี้ทวีจำนวนมากขึ้น มิฉะนั้น ถ้าเกิดสงคราม เขาอาจไปเข้าข้างศัตรู มาสู้รบกับเราและหลบหนีออกจากแผ่นดินไป” 11ชาวอียิปต์จึงตั้งนายงาน เกณฑ์ให้ชาวอิสราเอลทำงานตรากตรำc และสร้างเมืองปิธมและราเมเสสdให้กษัตริย์ฟาโรห์e เพื่อเป็นคลังเก็บเสบียงอาหาร 12แต่ชาวอียิปต์ยิ่งกดขี่ชาวอิสราเอลมากขึ้นเท่าใด ชาวอิสราเอลก็ยิ่งทวีจำนวนแผ่กระจายออกไปมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งชาวอียิปต์รู้สึกกลัวชาวอิสราเอลมาก 13จึงบังคับชาวอิสราเอลให้ทำงานเป็นทาสอย่างทารุณ 14ทำให้ชีวิตของเขาเหล่านั้นขมขื่นเพราะถูกบังคับให้ทำงานหนัก ถูกบังคับให้ขุดดินเพื่อนำมาทำอิฐ ถูกบังคับให้ทำนา ชาวอียิปต์บังคับให้ชาวอิสราเอลทำงานหนักทุกชนิดอย่างทารุณf

15กษัตริย์อียิปต์รับสั่งกับหญิงทำคลอดชื่อชิฟราห์และอีกคนหนึ่งชื่อปูอาห์ซึ่งเป็นผู้ทำคลอดให้หญิงชาวฮีบรูว่า 16“เมื่อท่านทำคลอดให้หญิงชาวฮีบรู จงสังเกตเพศของทารกg ถ้าเป็นชาย จงฆ่าเสีย ถ้าเป็นหญิง จงปล่อยให้รอดชีวิต” 17แต่หญิงทำคลอดเป็นผู้ยำเกรงพระเจ้า จึงไม่ได้ปฏิบัติตามรับสั่งของกษัตริย์อียิปต์ นางปล่อยให้เด็กชายรอดชีวิต 18กษัตริย์จึงรับสั่งให้เรียกหญิงทำคลอดมาถามว่า “ทำไมท่านจึงปล่อยให้เด็กชายรอดชีวิตอยู่เช่นนี้” 19นางทูลกษัตริย์ฟาโรห์ว่า “หญิงชาวฮีบรูไม่เหมือนกับหญิงชาวอียิปต์ หญิงชาวฮีบรูแข็งแรงจึงคลอดบุตรก่อนที่หญิงทำคลอดจะไปถึง” 20พระเจ้าโปรดหญิงทำคลอด ประชาชนอิสราเอลก็ทวีจำนวนและมีกำลังมากขึ้น 21เนื่องจากหญิงทำคลอดทั้งสองคนยำเกรงพระเจ้า พระองค์จึงทรงบันดาลให้นางมีลูกหลานมากมาย 22กษัตริย์ฟาโรห์รับสั่งแก่ประชาชนทั้งปวงว่า “จงโยนเด็กชายชาวฮีบรูทุกคนที่เกิดใหม่ลงในแม่น้ำไนล์h แต่ปล่อยให้เด็กหญิงทุกคนรอดชีวิต”

1 a ข้อ 1-5 มาจากตำนานสงฆ์ ส่วนที่เหลือของบทที่ 1 สันนิษฐานว่ามาจากตำนานยาห์วิสต์ (ข้อ 6-14) และตำนานเอโลฮิสต์ (ข้อ 15 - 22) ผู้เขียนไม่ได้เล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอิสราเอลในอียิปต์ เขาเพียงพูดถึงเรื่องราวที่ตรงกับจุดประสงค์ของตน ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะเล่าประวัติศาสตร์ทางศาสนา คือลูกหลานของยาโคบทวีจำนวนขึ้นตามพระสัญญา ชาวอียิปต์เบียดเบียนเขา ทั้งสองเรื่องนี้เป็นการปูทางไปสู่เรื่องของการอพยพและพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย (ดู “ความรู้เกี่ยวกับหนังสือปัญจบรรพ” เพื่อรู้สถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นภูมิหลังของเหตุการณ์เหล่านี้)

b สำนวนแปลโบราณภาษากรีกว่า “เจ็ดสิบห้า” (ดู ปฐก 46:27 เชิงอรรถ d)

c ดูเหมือนว่าตามปกติชาวอียิปต์ไม่มีระบบเกณฑ์แรงงาน แต่มักจะใช้แรงงานจากเชลยศึกและจากทาสที่ขึ้นกับที่ดินของกษัตริย์ให้ทำงานก่อสร้างใหญ่ๆ (ดู 2 ซมอ 12:31) ชาวอิสราเอลคิดว่าการถูกเกณฑ์แรงงานเช่นนี้เป็นการกดขี่ที่ทนไม่ได้ เขาจึงต้องการกลับไปดำเนินชีวิตอย่างอิสระเช่นเดิม

d ราเมเสสเป็นที่พำนักของกษัตริย์ฟาโรห์ราเมเสสที่ 2 อยู่ในที่ราบปากแม่น้ำไนล์ น่าจะเป็นที่เดียวกับทานิสหรือคานทีร์ การกล่าวพาดพิงถึงกษัตริย์ฟาโรห์ราเมเสสที่ 2 (1290-1224) เป็นการแนะว่ากษัตริย์องค์นี้ทรงเป็นผู้กดขี่ชาวอิสราเอล ทำให้เรารู้เวลาโดยประมาณของการอพยพ

e “ฟาโรห์” คำภาษาอียิปต์ว่า “แปร์อาอา” (per-aa) แปลว่า “บ้านใหญ่” ใช้หมายถึงวังหรือราชสำนัก และตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 18 เป็นต้นมา หมายถึง องค์กษัตริย์ ในที่นี้ คำ “ฟาโรห์” ใช้เป็นพระนามเฉพาะ

f เรื่องราวของการกดขี่จะมีต่อใน 5:6-23 เรื่องราวในข้อ 15-22 มาจากตำนานเอโลฮิสต์ มาตรการที่ใช้เพื่อทำลายทารกเพศชายไม่สอดคล้องกับนโยบายเกณฑ์แรงงาน แต่เป็นการปูทางสำหรับเรื่องกำเนิดของโมเสส

g “เพศของทารก” คำภาษาฮีบรูคลุมเครือ อาจแปลได้อีกว่า “หินทั้งสอง” หมายถึง ที่นั่งซึ่งหญิงใช้นั่งขณะคลอด

h “แม่น้ำไนล์” มิได้หมายถึง แม่น้ำสายใหญ่เท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึง สายสาขาอีกด้วย โดยเฉพาะในแถบปากน้ำ