“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

IV. ภาคผนวกa

ก. สักการสถานของมีคาห์และสักการสถานที่เมืองดานb

 

สักการสถานประจำบ้านของมีคาห์

17 1 ชายคนหนึ่งชื่อมีคาห์cอาศัยอยู่แถบภูเขาเอฟราอิม 2เขาบอกมารดาว่า “เมื่อมีคนขโมยเงินหนักหนึ่งพันหนึ่งร้อยบาทของคุณแม่ไป คุณแม่ได้สาปแช่งขโมยเอาไว้ ลูกได้ยินคุณแม่กำลังกล่าวเช่นนี้กับหู คุณแม่ครับลูกมีเงินนั้น ลูกเป็นคนขโมยเอาไปเอง บัดนี้ ลูกจะเอาเงินนี้คืนให้คุณแม่”d มารดาของเขาจึงกล่าวว่า “ลูกเอ๋ย ขอพระยาห์เวห์ทรงอวยพระพรลูกเถิด” 3เขาคืนเงินหนักหนึ่งพันหนึ่งร้อยบาทให้มารดา มารดาก็ว่า “แม่ตั้งใจจะถวายเงินนี้แด่พระยาห์เวห์สำหรับลูก เพื่อทำรูปเคารพแกะสลักและรูปเคารพโลหะ”e 4เมื่อมีคาห์คืนเงินให้มารดาแล้ว นางก็นำเงินหนักสองร้อยบาทจ้างช่างโลหะให้สลักรูปเคารพ แล้วเอาเงินหุ้มตั้งไว้ในบ้านของมีคาห์ 5มีคาห์ผู้นี้มีสักการสถานของตน เขาทำรูปเสื้อกั๊กและรูปเคารพประจำบ้าน และแต่งตั้งบุตรชายคนหนึ่งของตนเป็นสมณะf 6ในสมัยนั้น ชาวอิสราเอลยังไม่มีกษัตริย์ปกครอง แต่ละคนจึงทำตามใจของตน

7มีชายหนุ่มคนหนึ่งจากเมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูดาห์ เป็นชนเลวีซึ่งอาศัยอยู่ในเผ่ายูดาห์gในฐานะคนต่างถิ่น 8ชายคนนี้ออกจากเมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูดาห์ไปหาที่อยู่ใหม่ เขาเดินทางมาถึงบ้านของมีคาห์ในแถบภูเขาเอฟราอิม 9มีคาห์ถามเขาว่า “ท่านมาจากไหน” ชายนั้นตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นชนเลวีจากเมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูดาห์ ข้าพเจ้ากำลังเดินทางไปหาที่อยู่ใหม่” 10มีคาห์จึงกล่าวแก่เขาว่า “จงอยู่กับข้าพเจ้าเถิด จงเป็นที่ปรึกษาและสมณะของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะให้เงินท่านปีละหนักสิบบาท พร้อมทั้งเสื้อผ้าและอาหาร”h 11ชนเลวีผู้นั้นก็ตกลงที่จะอยู่กับมีคาห์ ซึ่งรับชายหนุ่มเป็นเหมือนบุตรคนหนึ่ง 12มีคาห์แต่งตั้งชนเลวี 13ให้เป็นสมณะ ชายหนุ่มก็ปฏิบัติหน้าที่นี้และพักอยู่ในบ้านของเขา 14มีคาห์กล่าวว่า “บัดนี้ข้าพเจ้ารู้ว่า พระยาห์เวห์จะโปรดให้ข้าพเจ้ามีความเจริญรุ่งเรือง เพราะข้าพเจ้ามีชนเลวีผู้นี้เป็นสมณะ”

 

17 a เรื่องเล่าทั้งสองเรื่อง (บทที่ 17-18 และ บทที่ 19-21) มีต้นกำเนิดจากแหล่งต่างกัน ถูกนำมาไว้ที่นี่เพราะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนมีกษัตริย์ปกครองในอิสราเอล เรื่องทั้งสองคงได้เขียนขึ้นไม่นานหลังจากเหตุการณ์ แต่คงถูกนำมาอยู่ใน วนฉ นี้ เมื่อมีการเรียบเรียงหนังสือ วนฉ ในสมัยกลับจากเนรเทศแล้ว

b เนื้อหาสำคัญของบทที่ 17-18 คือการสร้างสักการสถานที่เมืองดาน และที่มาของบรรดาสมณะซึ่งประจำอยู่ในสักการสถานแห่งนี้ ธรรมประเพณีนี้มีต้นกำเนิดในเผ่าดานอย่างแน่นอน แม้ว่าข้อเขียนจะมีท่าทีตำหนิการกระทำของชนเผ่าดานก็ตาม รูปเคารพที่ชนเผ่าดานเคารพในวิหารนี้ได้มาจากการลักขโมยถึงสองครั้ง สมณะคนแรกที่ปฏิบัติศาสนกิจในสักการสถานก็เป็นชนเลวีเร่ร่อนคนหนึ่งที่ละทิ้งนายจ้างคนแรก เพื่อหวังจะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น บางทีการเล่าเรื่องตำหนิชนเผ่าดานเช่นนี้เป็นผลงานของผู้นิยมกษัตริย์เยโรโบอัมซึ่งรับใช้อยู่ในวิหารกษัตริย์ที่ทรงสถาปนาสมณะขึ้นอีกสายหนึ่งให้ปฏิบัติศาสนกิจในสักการสถานที่เมืองดาน (1 พกษ 12:28-31) วนฉ 17:6 และ 18:1 จะกล่าวว่ากษัตริย์จะทรงเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องศาสนพิธีด้วย แต่ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดของสำนักเฉลยธรรมบัญญัติเลย เรื่องการก่อตั้งสักการสถานนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเรื่องการอพยพของชนเผ่าดาน (ดู 18:1 เชิงอรรถ a)

c “มีคาห์” ต้นฉบับภาษาฮีบรู “มีคาเยฮู” ซึ่งแปลว่า “ใครเป็นเหมือนพระยาห์เวห์” ในบทนี้ชื่อแบบยาวนี้พบได้อีกในข้อ 4 เท่านั้น ในข้ออื่นใช้ชื่อแบบย่อ “มีคาห์”

d “บัดนี้ ลูกจะเอาเงินนี้คืนให้คุณแม่” ข้อความนี้ในต้นฉบับภาษาฮีบรูอยู่ตอนปลายข้อ 3 แต่น่าจะอยู่ที่นี่มากกว่า มารดาของมีคาห์จะอวยพรบุตรของตน เพื่อลบล้างคำสาปแช่งที่เคยกล่าวไว้โดยไม่ทราบว่าบุตรเป็นผู้ขโมยเงินไป

e “รูปเคารพแกะสลักและรูปเคารพโลหะ” ดูเหมือนว่าในเรื่องนี้มีรูปเคารพเพียงรูปเดียว (ดู 18:20, 30, 31) ที่แกะสลักจากไม้หุ้มด้วยเงิน ใน 18:17, 18 จะแยกรูปแกะสลักจากรูปโลหะซึ่งคงเป็นวิธีเขียนตามข้อความใน ฉธบ 27:15 เรื่องนี้เป็นกรณีเดียวที่กล่าวถึงการนับถือรูปเคารพของพระยาห์เวห์ ทั้งๆ ที่บทบัญญัติสิบประการห้ามไว้แล้ว (ดู อพย 20:4) ข้อความนี้ไม่ประณามการนับถือรูปเคารพของพระยาห์เวห์ รวมทั้งการนับถือรูปเสื้อกั๊ก (ephod) และรูปเคารพประจำครอบครัว (teraphim) (ข้อ 5) แต่ในภายหลังลัทธินับถือพระยาห์เวห์ทางการจะไม่ยอมรับการปฏิบัติเช่นนี้

f ตามประเพณีปฏิบัติโบราณหัวหน้าเผ่าและตระกูลต่างๆ ทำหน้าที่สมณะด้วยตนเอง หรือสามารถแต่งตั้งผู้อื่นในครอบครัวให้ทำหน้าที่นี้แทน แต่เรื่องนี้จะแสดงว่าชนเลวีมีสิทธิเป็นสมณะเหนือกว่าคนอื่น

g แปลตามตัวอักษรว่า “เป็นชนเผ่ายูดาห์” ซึ่งขัดแย้งกับความหมายของ “ชนเลวี” ชนเลวีผู้นี้คงพักอาศัยอยู่ที่เมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูดาห์อย่างคนต่างถิ่น (เทียบ อพย 12:48 เชิงอรรถ o)

h ต้นฉบับภาษาฮีบรูเสริมว่า “ชนเลวีเข้าไป” ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกันกับตอนต้นของข้อ 11

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก