รู้จักเงียบ รู้จักพูด

20 1การติเตียนอาจไม่ถูกกาลเทศะ

                    บางครั้งคนเงียบเป็นผู้รอบคอบ

          2ติเตียนออกไปยังดีกว่าโกรธเคืองอยู่ในใจ

          3ผู้ยอมรับผิดจะพ้นความอับอาย

          4ผู้ข่มขู่ผู้อื่นให้ปฏิบัติความชอบธรรม

                    ก็เป็นเหมือนขันทีที่ต้องการข่มขืนหญิงสาว

          5บางคนเงียบ ผู้อื่นก็คิดว่าเขาฉลาด

                    บางคนพูดพล่าม ใครๆ ก็เกลียด

          6บางคนเงียบเพราะไม่มีอะไรจะพูด

                    บางคนเงียบเพราะรู้ว่าควรจะพูดเมื่อไร

          7ผู้มีปรีชาจะเงียบจนถึงเวลาที่เหมาะสม

                    ส่วนคนโง่เขลาที่พูดพล่ามย่อมไม่รู้กาลเทศะ

          8คนพูดมากเกินไปเป็นที่น่ารังเกียจ

                    คนพูดโอ้อวด ใครๆ ก็เกลียดชัง

ความจริงที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้

            9บางครั้งโชคร้ายอาจเป็นประโยชน์

                    ส่วนกำไรอาจเป็นความเสียหาย

          10บางครั้งของขวัญที่ท่านให้อาจไม่อำนวยประโยชน์แก่ท่าน

                    แต่บางครั้งของขวัญที่ท่านให้อาจคืนประโยชน์ให้ท่านถึงสองเท่า

          11บางครั้งผู้รับเกียรติจะได้รับความอับอาย

                    แต่บางครั้งผู้ถ่อมตนกลับได้รับเกียรติa

          12บางคนซื้อของมากในราคาถูก

                    แต่บางคนกลับจ่ายเงินเกินราคาถึงเจ็ดเท่า

          13ผู้มีปรีชาพูดไม่กี่คำก็เป็นที่รักของทุกคน

                    แต่คนโง่เขลาพูดจาเยินยอก็ไม่เกิดประโยชน์

          14ของกำนัลของคนโง่เขลาไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อท่าน

                    เพราะเขาหวังจะได้รับตอบแทนมากกว่าที่เขาให้b

          15เขาให้น้อย แต่ติเตียนมาก

                    เขาอ้าปากร้องตะโกนคล้ายคนแจ้งข่าว

          วันนี้เขาให้ยืม พรุ่งนี้ก็จะทวงคืน

                    คนประเภทนี้น่าเกลียดชัง

          16คนโง่เขลาจะพูดว่า “ฉันไม่มีเพื่อน

                    ทำดีเท่าไรก็ไม่มีใครรู้บุญคุณ”

          17คนที่กินอาหารของเขาก็กล่าวร้ายต่อเขา

                    กี่ครั้งกี่หนที่ใครๆ พากันหัวเราะเยาะเขาc

ควรใช้วาจาให้ถูกกาลเทศะ

            18ลื่นไถลล้มลงที่พื้นยังดีกว่าพลั้งปากพูดออกไป

                    เพราะเหตุนี้ คนชั่วจึงล้มลงสู่หายนะอย่างรวดเร็ว

          19คนไร้มรรยาทเป็นเหมือนคำพูดที่ไม่ถูกกาลเทศะ

                    คำพูดเช่นนี้พบได้เสมอในปากของคนไร้การอบรมd

          20ไม่มีใครรับฟังคำพังเพยของคนโง่เขลา

                    เพราะเขาไม่เคยพูดให้ถูกกาลเทศะ

          21บางคนทำบาปไม่ได้เพราะยากจน

เมื่อเขาพักผ่อน ใจเขาก็สงบ

22บางคนทำลายชีวิตของตนเพราะความเกรงใจ

และไม่กล้าพูดแม้ต่อหน้าคนโง่เขลา

23บางคนสัญญากับเพื่อนเพราะกลัวอับอาย

ทำให้เพื่อนกลายเป็นศัตรูโดยไร้เหตุผล

การพูดเท็จ

            24การพูดเท็จเป็นมลทินน่าเกลียดสำหรับมนุษย์

                    พบได้เสมอในปากคนโง่เขลา

          25เป็นขโมยยังดีกว่าพูดเท็จเป็นประจำ

                    แต่ทั้งคู่กำลังเดินไปสู่หายนะ

          26คนติดนิสัยพูดเท็จจะต้องได้รับความอับอาย

                    เขาจะต้องอับอายเสมอไป

คำเตือนสำหรับผู้มีปรีชา

            27ผู้มีปรีชาได้รับเกียรติจากถ้อยคำที่พูด

                    คนเฉลียวฉลาดเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายe

          28คนทำไร่ไถนาจะได้ผลิตผลอุดมสมบูรณ์

                    คนที่เจ้านายโปรดปรานจะได้รับอภัยความผิด

          29ของขวัญและของกำนัลทำให้ผู้มีปรีชาตาบอด

                    ปิดปากเขามิให้ติเตียนเหมือนตะกร้อครอบปากวัว

          30ปรีชาญาณที่ซ่อนไว้ และทรัพย์สมบัติที่ไม่ปรากฏ

                    ทั้งสองสิ่งนี้มีประโยชน์อะไร

          31คนที่ซ่อนความโง่เขลาของตนไว้

                    ยังดีกว่าคนที่ซ่อนปรีชาญาณfของตน

20 a ความหมายของข้อนี้ในต้นฉบับไม่ชัดเจน จึงแปลโดยคาดคะเนให้สอดคล้องกับบริบทที่เปรียบเทียบสถานภาพซึ่งตรงกันข้าม คือ เกียรติยศอาจนำความตกต่ำมาให้ ส่วนการถ่อมตนจะทำให้ได้รับการยกย่อง เทียบบทเพลงของพระนางมารีย์ (ลก 1:52) “(พระเจ้า)ทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์ และทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น”

b “เขาหวังจะได้รับตอบแทนมากกว่าที่เขาให้” แปลตามตัวอักษรว่า “ตาของเขามีหลายดวง ไม่ใช่เพียงดวงเดียว” สำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียคและภาษาละตินว่า “ตาของเขามีเจ็ดดวง”

c สำเนาโบราณภาษากรีก Gk 248 และสำนวนแปลโบราณภาษาละตินเสริมว่า “เพราะเขาไม่รู้จักรับทรัพย์สมบัติด้วยใจซื่อตรง และไม่รู้จักรับความยากจนด้วยใจสงบ”

d ข้อนี้แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน สำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียคว่า “หางแกะไม่ใส่เกลือไม่มีรสชาติฉันใด คำพูดที่ไม่ถูกกาลเทศะก็ไม่น่าฟังฉันนั้น”

e ปรีชาญาณของธรรมาจารย์มุ่งแนะนำให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสอนให้รู้จักชนะใจของผู้มีอำนาจในสังคม

f พระเจ้าทรงสร้างปรีชาญาณเพื่อส่องสติปัญญาของมนุษย์ให้เข้าใจความหมายของชีวิตและสรรพสิ่ง ดังนั้น การซ่อนปรีชาญาณไว้จึงผิดพระประสงค์ของพระเจ้า สำเนาโบราณภาษากรีก Gk 248 เสริมว่า “การแสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างมั่นคงด้วยความพากเพียรย่อมดีกว่าดำเนินชีวิตอย่างสับสนไม่มีจุดหมาย”