“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

I. รวมภาษิต

 

ที่มาของปรีชาญาณa

1 1ปรีชาญาณทั้งมวลมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าb

                    และอยู่กับพระองค์ตลอดไป

          2เม็ดทรายในทะเล หยาดน้ำฝน

                    วันที่โลกคงอยู่ ใครเล่าจะนับได้

          3ความสูงของท้องฟ้า ความกว้างของแผ่นดิน

                    ความลึกแห่งห้วงสมุทรc ใครเล่าจะสำรวจได้

          4ปรีชาญาณถูกเนรมิตขึ้นมาก่อนสิ่งใด

                    ความรู้รอบคอบมีมาแต่นิรันดรd

          6ใครเล่าได้รับการเปิดเผยถึงที่มาของปรีชาญาณ

                    ใครเล่ารู้ความคิดลึกล้ำของปรีชาญาณe

          8มีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีปรีชาและน่าเกรงขาม

                    คือพระองค์ผู้ประทับบนพระบัลลังก์f

          9องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเนรมิตปรีชาญาณg

                    ทอดพระเนตรเห็นและทรงวัดขนาด

          แล้วทรงหลั่งปรีชาญาณลงมายังพระราชกิจทั้งปวงของพระองค์

          10พระองค์ประทานปรีชาญาณแก่มนุษย์ตามพระทัยกว้างขวางของพระองค์

                    ทรงแจกจ่ายแก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์

ความยำเกรงพระเจ้าh

            11ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นสิริรุ่งโรจน์และความภูมิใจ

                    เป็นความยินดีและความชื่นชมเหมือนได้สวมมงกุฎ

          12ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าทำให้ดวงใจเบิกบาน

                    ให้ความสุข ความยินดี และชีวิตยืนยาว

          13สำหรับผู้ยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกสิ่งจะจบลงด้วยดี

                    เขาจะได้รับพระพรในวันที่เขาสิ้นชีวิตi

            14ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นบ่อเกิดแห่งปรีชาญาณ

                    พระองค์ทรงเนรมิตปรีชาญาณให้อยู่กับผู้มีความเชื่อตั้งแต่ในครรภ์มารดา

          15ปรีชาญาณสร้างที่พำนักถาวรในหมู่มนุษย์

                    และจะดำรงอยู่กับลูกหลานของมนุษย์อย่างซื่อสัตย์

          16ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นปรีชาญาณที่สมบูรณ์

                    ผลของปรีชาญาณทำให้มนุษย์อิ่มใจ

          17ปรีชาญาณทำให้บ้านเต็มไปด้วยสิ่งพึงปรารถนาสารพัด

                    และทำให้ยุ้งฉางมีผลิตผลของปรีชาญาณเต็มเปี่ยม

          18ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นปรีชาญาณสูงสุด

                    ทำให้สันติภาพและสุขภาพเจริญรุ่งเรือง

          19องค์พระผู้เป็นเจ้าทอดพระเนตรเห็นและทรงวัดปรีชาญาณ

                    ประทานความรู้และความเข้าใจให้เหมือนฝน

          ทรงยกย่องเกียรติยศของผู้มีปรีชาญาณ

          20ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นรากเหง้าของปรีชาญาณ

                    กิ่งก้านของปรีชาญาณคือชีวิตยืนยาวj

 

ความพากเพียรและการบังคับตน

            22ผู้มีโทสะไร้เหตุผลkย่อมแก้ตัวไม่ได้

                    โทสะนั้นแหละจะถ่วงเขาลงสู่ความพินาศ

          23คนพากเพียรต้องอดทนจนถึงเวลาที่กำหนด

                    ในที่สุด เขาจะมีความยินดี

          24เขาจะเก็บความคิดไว้จนถึงเวลาที่กำหนด

                    แล้วคนจำนวนมากจะยกย่องปัญญาของเขา

ปรีชาญาณและความซื่อตรง

            25ในคลังของปรีชาญาณมีภาษิตต่างๆ ที่ให้ความรู้

                    แต่ความยำเกรงพระเจ้าเป็นสิ่งน่ารังเกียจของคนบาป

          26ถ้าท่านต้องการได้ปรีชาญาณ จงปฏิบัติตามบทบัญญัติl

                    แล้วองค์พระผู้เป็นเจ้าจะประทานปรีชาญาณแก่ท่าน

          27ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นปรีชาญาณและเป็นการอบรมสั่งสอน

                    พระองค์พอพระทัยความซื่อสัตย์และความอ่อนโยน

          28อย่าดื้อดึงต่อความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้า

                    อย่าเข้าใกล้พระองค์ด้วยใจไม่เที่ยงตรง

          29อย่าเป็นคนหน้าซื่อใจคดต่อหน้าคนทั้งหลายm

                    จงควบคุมคำพูดให้ดี

          30อย่าทะนงตน เพื่อจะไม่ล้ม

                    ท่านจะได้ไม่ต้องอับอาย

          องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเผยความลับของท่าน

                    จะทรงทำให้ท่านต้องอับอายในหมู่ผู้มาชุมนุมกัน

          เพราะท่านไม่เข้ามาหาความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้า

                    และจิตใจของท่านเปี่ยมด้วยความคดโกง

1 a เนื้อหาในบทแรกนี้มีความคิดหลักหลายเรื่องจัดเป็นชุดๆ คล้ายกับตอนต้นของหนังสือสุภาษิต

b พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ LXX ชอบใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (gr. = Kyrios) แปลพระนาม “ยาห์เวห์” ของพระเจ้า ผู้แปลหนังสือบุตรสิราใช้วลี “องค์พระผู้เป็นเจ้า” นี้บ่อยๆ แม้เมื่อแปลพระนามอื่นๆ ของพระเจ้าในภาษาฮีบรูด้วย

c “ความลึกแห่งห้วงสมุทร” แปลตามต้นฉบับภาษาละติน (ดู ภาษาซีเรียคด้วย) ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ห้วงสมุทรและปรีชาญาณ”

d เลขลำดับข้อในหนังสือบุตรสิราแต่เดิมใช้กับตัวบทภาษาละตินซึ่งยาวกว่าต้นฉบับภาษากรีก ดังนั้นในสำนวนแปลฉบับนี้จึงมีบางข้อขาดหายไป แต่ก็ได้เพิ่มเข้ามาในภายหลัง ข้อที่ขาดไปเหล่านี้ยังพบได้ด้วยในสำเนาคัดลอกโบราณภาษากรีกชุดหนึ่ง (ซึ่งจะมีอักษรย่อกำกับบอกไว้ Gk 248) ข้อ 5 ที่ขาดไปมีความว่า “5บ่อเกิดของปรีชาญาณคือพระวาจาของพระเจ้าในสวรรค์ วิถีทางของปรีชาญาณคือธรรมบัญญัตินิรันดร”

e สำเนาโบราณภาษากรีก Gk 248 สำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียค Hexapla และสำนวนแปลภาษาละตินเพิ่มข้อ 7 ดังนี้ “7ความรู้จักปรีชาญาณได้ปรากฏแก่ผู้ใดบ้าง และใครเข้าใจว่าปรีชาญาณมีวิถีทางมากมาย”

f ผู้แต่งเน้นว่าพระเจ้าทรงมีแต่พระองค์เดียวและทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง ปรีชาญาณเป็นคุณลักษณะของพระองค์และเป็นจุดเด่นของสิ่งสร้างทั้งหลาย เป็นของประทานจากพระเจ้าแก่มนุษย์ วรรณกรรมปรีชาญาณมักกล่าวถึงปรีชาญาณว่าเป็นเสมือนบุคคลหนึ่ง (สภษ 8:22 เชิงอรรถ e) แต่ในข้อนี้ปรีชาญาณเป็นเพียงสิ่งสร้างและจะเป็นพระเจ้าไม่ได้

g สำนวนแปลภาษาละตินเพิ่ม “อาศัยพระจิตเจ้า” แต่วลีนี้เป็นข้อความที่คริสตชนเติมเข้ามาแน่ๆ

h สำหรับชาวยิว “ความยำเกรงพระเจ้า” มีความหมายเพียงความเลื่อมใสศรัทธาทางศาสนา ความคิดดั้งเดิมเรื่องความหวาดกลัวต่อหน้าอำนาจน่ายำเกรงของพระยาห์เวห์ได้สูญหายไปจากเทววิทยาของชาวยิวแล้วในสมัยที่หนังสือนี้แต่งขึ้น

i ต้นฉบับภาษาละตินเสริมตรงนี้ว่า “14ความรักพระเจ้าคือปรีชาญาณน่ายกย่อง 15แต่ผู้ที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้เห็นก็รักพระองค์ พิศเพ่งพระองค์ และประกาศพระราชกิจยิ่งใหญ่ของพระองค์”

j สำเนาโบราณภาษากรีก Gk 248 สำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียค Hexapla เสริมว่า “21ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าลบล้างบาป ผู้ที่มั่นคงจนถึงที่สุดจะไม่ถูกลงโทษ” ส่วนต้นฉบับภาษาละตินเสริมว่า “26ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นความเลื่อมใสศรัทธาในความรู้ 27แต่คนบาปรังเกียจปรีชาญาณ ความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าขจัดบาปออกไป”

k “ผู้มีโทสะไร้เหตุผล” แปลตามตัวอักษรว่า “โทสะอธรรม”

l สำหรับบุตรสิรา ปรีชาญาณและการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กัน (19:20; เทียบ ปญจ 12:13) แต่ในที่นี้ปรีชาญาณเป็นรางวัลของผู้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ

m “ต่อหน้าคนทั้งหลาย” แปลตามสำนวนแปลโบราณต่างๆ ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ในริมฝีปาก”

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก