(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิตัส

คำขึ้นต้นa

1 1จากเปาโล ผู้รับใช้ของพระเจ้า และเป็นอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ ผู้รับมอบหมายให้นำความเชื่อมาสู่ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร เพื่อให้รู้ความจริงซึ่งเป็นพื้นฐานของความเคารพเลื่อมใสพระเจ้า 2เพื่อให้เขามีความหวังว่าจะได้รับชีวิตนิรันดร พระเจ้าไม่ทรงมุสา พระองค์ทรงสัญญาจะประทานชีวิตนิรันดรนี้นานมาแล้ว 3เมื่อถึงเวลาที่กำหนด พระเจ้าพระผู้ไถ่ของเราทรงเผยพระวาจาโดยมีพระบัญชาให้ข้าพเจ้าประกาศพระวาจานี้

4ถึงทิตัสผู้เป็นบุตรแท้จริงของข้าพเจ้าในความเชื่อที่เรามีร่วมกัน

ขอพระหรรษทานและสันติจากพระเจ้า พระบิดา และจากพระคริสตเยซูพระผู้ไถ่ของเราสถิตกับท่านเถิด

การแต่งตั้งผู้อาวุโส

5ข้าพเจ้าทิ้งท่านไว้ที่เกาะครีต เพื่อท่านจะได้จัดการเรื่องที่ยังค้างbอยู่ให้เรียบร้อย และเพื่อแต่งตั้งกลุ่มผู้อาวุโสcทุกเมืองตามวิธีการที่ข้าพเจ้าบอกไว้ 6ผู้อาวุโสแต่ละคนจะต้องประพฤติดีไม่มีที่ตำหนิ ต้องแต่งงานเพียงครั้งเดียว และบุตรของเขาก็ต้องมีความเชื่อ ไม่ถูกครหาว่าประพฤติเสเพลและดื้อรั้น 7ส่วนผู้ปกครองดูแลต้องประพฤติดี ไม่มีที่ตำหนิ เพราะเขาเป็นผู้ดูแลบ้านของพระเจ้า ต้องไม่หยิ่งยโส ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ชอบใช้ความรุนแรง ไม่โลภ 8แต่ต้องมีอัธยาศัยไมตรี รักคุณงามความดี มีเหตุผล เที่ยงตรง ศักดิ์สิทธิ์และรู้จักบังคับตนเอง 9เขายังต้องยึดมั่นในหลักคำสอนที่ถูกต้องตามที่ได้รับสืบทอดต่อกันมา เพื่อเขาจะตักเตือนผู้อื่นได้ ทั้งให้คำแนะนำด้วยคำสอนที่ถูกต้อง ตอบโต้ผู้ที่คัดค้านคำสอนนั้นได้

การตอบโต้ผู้ที่สอนผิด

10มีหลายคนดื้อรั้นและพูดไร้สาระ หลอกลวงผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้เข้าสุหนัต 11ต้องทำให้คนเหล่านี้หยุดพูด คนประเภทนี้มีแต่จะทำให้ครอบครัวต่างๆ ต้องพินาศด้วยการสอนที่ไม่ควรสอน และสอนเพื่อผลประโยชน์ที่เลวทราม 12คนทรงชาวครีตคนหนึ่งพูดว่าd “ชาวครีตพูดเท็จเสมอ เป็นสัตว์อันตราย ตะกละและเกียจคร้าน” 13คำพูดนี้เป็นความจริง ดังนั้น จงตักเตือนพวกเขาอย่างเข้มงวด และทำให้พวกเขามีความเชื่อที่ถูกต้องให้ได้ 14เพื่อพวกเขาจะเลิกสนใจนิยายของชาวยิว และเลิกเชื่อคำสั่งของมนุษย์ที่ไม่ยอมรับความจริง

15ทุกสิ่งย่อมบริสุทธิ์eสำหรับผู้บริสุทธิ์ แต่ไม่มีสิ่งใดที่บริสุทธิ์สำหรับผู้มีมลทินและไม่มีความเชื่อ ทั้งใจและมโนธรรมของเขาล้วนมีมลทิน 16เขาเหล่านั้นอ้างว่ารู้จักพระเจ้า แต่การกระทำแสดงให้เห็นว่าเขาไม่รู้จักพระองค์ เขาเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจและดื้อรั้น ทำการดีใดๆ ไม่ได้

 

1 a ในคำขึ้นต้นนี้ ข้อ 1-3 มีเนื้อหาเป็นเทววิทยาเรื่องความรอดพ้นและงานธรรมทูต

b เปาโลได้เริ่มงานเผยแผ่ข่าวดีไว้ จากนั้นได้ปล่อยให้ผู้อื่นทำต่อให้สมบูรณ์ดังที่เคยปฏิบัติตามปกติ (ดู รม 15:23 เชิงอรรถ g; 1 คร 3:6,10; คส 1:7 เชิงอรรถ b)

c ในสมัยแรก ผู้ปกครองพระศาสนจักรเป็นผู้อาวุโสกลุ่มหนึ่ง (presbyters เป็นที่มาของคำ priests ในภาษาอังกฤษ ซึ่งในภาษาไทยแปลว่าพระสงฆ์) หรือไม่ก็เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง นี่เป็นวิธีปฏิบัติทั้งที่กรุงเยรูซาเล็ม (กจ 11:30; 15:2ฯ; 21:18) และนอกปาเลสไตน์ (กจ 14:23; 20:17) และวิธีปฏิบัติเช่นนี้นับเป็นการสืบธรรมประเพณีของพันธสัญญาเดิม (อพย 18:13ฯ; กดว 11:16; ยชว 8:10; 1 ซมอ 16:4; อสย 9:14; อสค 8:1,11-12) และธรรมประเพณีในสมัยต่อมาของชาวยิว (อสร 5:5; 10:14; ยดธ 6:16; ลก 7:3; 22:66; กจ 4:5; ดู Josephus; Philo ฯลฯ) ผู้นำเหล่านี้ (episkopoi= ผู้ดูแล ผู้ควบคุม ผู้เฝ้ามอง ผู้รักษาการณ์) ซึ่งยังไม่ใช่ “พระสังฆราช” และมักถูกกล่าวถึงควบคู่กันกับ diakonoi (คนใช้ ผู้ช่วย ผู้แทน ผู้รับใช้ บริกร = deacon สังฆานุกร ฟป 1:1; 1 ทธ 3:1-13; ปิตาจารย์สมัยแรก) ในบางตอนดูเหมือนจะเป็นกลุ่มเดียวกับผู้อาวุโสดังกล่าวนั่นเอง (ทต 1:5, 7; กจ 20:17, 28) เพียงแต่ว่า คำภาษากรีก episkopos ซึ่งรับมาจากแวดวงของคนต่างศาสนาเพื่อใช้บอกตำแหน่งแทนคำในภาษาเซมิติก (เทียบ mebaqqer ของพวก Essenes และ ดู กดว 4:16; 31:14; วนฉ 9:28; 2 พกษ 11:15, 18; 12:11) เป็นคำที่บ่งถึง “หน้าที่” ของเจ้าพนักงาน ขณะที่คำว่า presbyteros หมายถึง ตำแหน่งหรือบรรดาศักดิ์ของเจ้าพนักงานคนเดียวกัน ดังนั้น Episcopoi ในคณะของพวก presbyteroi อาจจะผลัดเปลี่ยนเวรกันเพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับมาอย่างเป็นทางการ (เทียบ 1 ทธ 5:17) เป็นที่ยืนยันได้แน่นอนว่า presbyteroi หรือ episkopoi ของพระศาสนจักรไม่เพียงแต่รับหน้าที่บริหารจัดการเรื่องต่างๆ แต่พวกเขายังจะต้องสอน (1:9; 1 ทธ 3:2; 5:17) และปกครองด้วย (ทต 1:7; 1 ทธ 3:5) พวกเขาได้รับการแต่งตั้งจากอัครสาวก (กจ 14:23) หรือจากผู้แทน (ทต 1:5) โดยการปกมือเหนือศีรษะ (1 ทธ 5:22; เทียบ 1 ทธ 4:14 เชิงอรรถ e; 2 ทธ 1:6) อำนาจของพวกเขามาจากพระเจ้า (กจ 20:28) และเป็นพวกที่ได้รับพระพรพิเศษ (1 คร 12:28) ในที่สุด คำว่า episkopos ก็เข้ามาแทนชื่อตำแหน่งบรรดาศักดิ์อื่นๆ เช่น proistamenos (ผู้นำ) (รม 12:8; 1 ธส 5:12) poimen (ผู้เลี้ยง) (อฟ 4:11) hegoumenos (ผู้นำ หัวหน้า) (ฮบ 13:7, 17, 24) หัวหน้าเหล่านี้ของพระศาสนจักรท้องถิ่นซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นคำว่าสงฆ์ (presbyteroi) และสังฆราช (episkopoi) จะมีสังฆานุกรเป็นผู้ช่วย (diakonoi) การเปลี่ยนแปลงของพระศาสนจักรท้องถิ่นจากที่ปกครองด้วยกลุ่มผู้อาวุโส มาเป็นกลุ่มชนที่ปกครองด้วยสังฆราชองค์เดียว ซึ่งเป็นหัวหน้าของสงฆ์จำนวนหนึ่งนั้น (อันเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นในพระศาสนจักรบางแห่งในสมัยของอิกญาซีโอแห่งอันทิโอก ซึ่งสิ้นใจในปี 107) อาจจะมีช่วงเวลาช่วงหนึ่ง ซึ่ง episkopos คนหนึ่งในกลุ่มได้รับมอบอำนาจให้ปกครองพระศาสนจักรโดยอำนาจซึ่งแต่ก่อนเป็นของอัครสาวกหรือผู้แทน ดังในกรณีของทิโมธีหรือทิตัสเป็นต้น

d คำอ้างอิงนี้ซึ่งเป็นของกวีชาวกรีก ชื่อเอบิเมนีเดสแห่งกนอสซอส (ศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.) คัลลีมาคัสแห่งอเล็กซานเดรีย (ช่วงแรกของศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ.) ได้เคยอ้างถึงครึ่งแรกของข้อความนี้ด้วย

e เป็นสุภาษิตบทหนึ่งซึ่งคริสตชนนำมาอ้างถึงบ่อยๆ (มธ 15:10-20//; รม 14:14-23; ดู ยน 13:10 เชิงอรรถ i; ฮบ 9:10)