“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

II. ภาพนิมิตของพระเจ้า

 ก. เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนวันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

 

พระเจ้าทรงมอบอนาคตของโลกไว้กับ “ลูกแกะของพระเจ้า”a

4 1หลังจากนั้น ข้าพเจ้าเห็นนิมิต ประตูสวรรค์บานหนึ่งเปิด และข้าพเจ้าได้ยินเสียงที่เคยได้ยินก่อนนั้นดังดุจเสียงแตร พูดกับข้าพเจ้าว่า “จงขึ้นมาข้างบนนี้เถิด ฉันจะชี้ให้ท่านเห็นเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้” 2ทันใดนั้น ข้าพเจ้าก็ตกอยู่ในภวังค์และเห็นพระบัลลังก์องค์หนึ่งตั้งอยู่ในสวรรค์ ผู้หนึ่งประทับอยู่บนพระบัลลังก์นั้น 3พระผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์ทรงมีลักษณะเหมือนเพชรและทับทิมแดง มีรุ้งลักษณะเหมือนมรกตb ล้อมรอบพระบัลลังก์ 4มีบัลลังก์อีกยี่สิบสี่องค์ล้อมพระบัลลังก์ ผู้อาวุโสยี่สิบสี่คนcนั่งอยู่บนบัลลังก์เหล่านั้น แต่ละคนสวมเสื้อขาว มีมงกุฎทองคำบนศีรษะ 5ฟ้าแลบฟ้าร้องและเสียงดังdออกมาจากพระบัลลังก์ มีตะเกียงเจ็ดดวงจุดสว่างอยู่หน้าพระบัลลังก์ ตะเกียงเหล่านี้คือจิตทั้งเจ็ดeของพระเจ้า 6ตรงหน้าพระบัลลังก์มีทะเลfใสดุจแก้วผลึก ตรงกลางและรอบๆgพระบัลลังก์มีผู้มีชีวิตสี่ตนhซึ่งมีตาเต็มตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลังอยู่ตรงกลางและรอบๆ พระบัลลังก์ 7ผู้มีชีวิตตนแรกคล้ายสิงโต ตนที่สองคล้ายโค ตนที่สามใบหน้าเหมือนมนุษย์และตนที่สี่คล้ายนกอินทรีกำลังบิน 8ผู้มีชีวิตทั้งสี่ตนต่างมีปีกหกปีก ตาอยู่รอบตัวและอยู่ใต้ปีก ต่างร้องสรรเสริญตลอดวันตลอดคืนโดยไม่หยุดเลยว่า

ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์

องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ

ผู้ทรงดำรงอยู่ในอดีต ผู้ทรงดำรงอยู่ในปัจจุบันและผู้เสด็จมาi

9เมื่อผู้มีชีวิตทั้งสี่ตนถวายคำสรรเสริญ ถวายพระเกียรติ และขอบพระคุณแด่พระองค์ผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์และทรงพระชนม์ตลอดนิรันดรนั้น 10บรรดาผู้อาวุโสทั้งยี่สิบสี่คนจะกราบลงเฉพาะพระพักตร์พระผู้ประทับบนพระบัลลังก์ และนมัสการพระองค์ผู้ทรงพระชนม์ตลอดนิรันดร และจะวางมงกุฎไว้หน้าพระบัลลังก์j พลางทูลว่า

11ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย

พระองค์ทรงสมควรจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ พระเกียรติและพระอานุภาพ

เพราะพระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่ง

และทุกสิ่งถูกสร้างและดำรงอยู่

ตามพระประสงค์ของพระองค์

 

4 a พระเจ้าผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์จากบรรดาทูตสวรรค์ผู้เฝ้าอยู่ (บทที่ 4) หลังจากนั้น ภาพนิมิตก็ขยายกว้างออกไปจนครอบคลุมจักรวาลทั้งมวล ม้วนหนังสือที่มีตราผนึกอยู่เป็นสัญลักษณ์หมายถึง ชะตากรรมของจักรวาลที่พระเจ้าทรงมอบไว้กับลูกแกะ (บทที่ 5) แล้วนั้นจะเป็นภาพนิมิตอันเป็นสัญลักษณ์นำหน้า “วันยิ่งใหญ่” เมื่อพระเจ้าจะเสด็จมาลงโทษผู้ไม่มีความเชื่อที่เบียดเบียนคริสตชน (บทที่ 17-19)

b ยอห์นพยายามจะไม่กล่าวถึงพระเจ้าในรูปของมนุษย์ แต่เลือกที่จะบรรยายถึงพระองค์ในรูปของแสงสว่าง ยน วาดภาพนี้ตาม อสค 1 และ 10 (ดู อสย 6 ด้วย)

c ผู้อาวุโสเหล่านี้อยู่รอบพระบัลลังก์ของพระเจ้าเช่นเดียวกันกับที่ผู้อาวุโสจะนั่งรอบพระแท่นในพิธีบูชาขอบพระคุณของพระศาสนจักรท้องถิ่น ผู้อาวุโสเหล่านี้มีหน้าที่สมณะและกษัตริย์ หน้าที่สมณะคือสรรเสริญและนมัสการพระเจ้า (4:10; 5:9; 11:16, 17; 19:4) และถวายคำอธิษฐานภาวนาของสัตบุรุษแด่พระองค์ หน้าที่กษัตริย์คือช่วยพระเจ้าปกครองจักรวาล (บัลลังก์) และมีส่วนในอำนาจปกครองของพระองค์ (มงกุฎ) จำนวน 24 คงกำหนดขึ้นให้ตรงกับ 24 กลุ่มของสมณะใน 1 พศด 24:1-19

d เสียงฟ้าร้องมักเกิดควบคู่กับการสำแดงองค์ของพระเจ้า (ดู อพย 19:16 เชิงอรรถ g; อสค 1:4, 13)

e “จิตทั้งเจ็ด” หมายถึง "ทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดที่อยู่เฉพาะพระพักตร์" (ดู 3:1 เชิงอรรถ a; 8:2; ทบต 12:15) “ผู้นำสารของพระเจ้า” (เทียบ วว 5:6; ทบต 12:15; ศคย 4:10; ลก 1:26) ในสมัยกลางมีผู้อธิบายว่า “จิตทั้งเจ็ด” นี้ หมายถึง พระคุณเจ็ดประการของพระจิตเจ้า

f อาจหมายถึง "น้ำที่อยู่เบื้องบน" ที่กล่าวถึงใน ปฐก 1:7; สดด 104:3 หรืออาจหมายถึงปฐมแบบของ "สระน้ำ" ในพระวิหารของซาโลมอน (1 พกษ 7:23-26)

g รายละเอียดที่ว่า “ตรงกลางและรอบๆ” เข้าใจได้ยาก อาจเป็นรายละเอียดที่ผู้คัดลอกได้ยกมาจาก อสค 1:5

h ยน อาจยกสัญลักษณ์นี้มาจาก อสค 1:5-21 "ผู้มีชีวิต" หมายถึง ทูตสวรรค์สี่องค์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลโลก "สี่" เป็นสัญลักษณ์ หมายถึงจักรวาล ตาจำนวนมากหมายถึงความรอบรู้และพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า ผู้มีชีวิตทั้งสี่ถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าโดยไม่หยุดหย่อนเพราะพระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่ง ภาพของสิงโต โค มนุษย์และนกอินทรี หมายถึง สิ่งที่สูงส่งที่สุด เข้มแข็งที่สุด ฉลาดที่สุดและรวดเร็วที่สุดในโลก บรรดาปิตาจารย์ตั้งแต่ น.อิเรเนอัสเป็นต้นมาเข้าใจว่า สิ่งมีชีวิตทั้งสี่นี้เป็นสัญลักษณ์ของผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่

i คำถวายพระพรที่ยกมาจากอิสยาห์นี้ ชาวยิวได้นำมาใช้ในพิธีกรรมตามศาลาธรรมอยู่แล้ว และต่อมาคริสตชนก็นำมาใช้ในพิธีกรรมของตนด้วย พิธีกรรมบนแผ่นดินนับว่าเป็นการร่วมพิธีกรรมในสวรรค์

j ผู้อาวุโสถวายคารวะแด่พระเจ้า เพราะเขาได้รับอำนาจปกครองจากพระองค์ ในขณะที่บรรดากษัตริย์ของโลกนี้ปฏิเสธไม่ยอมทำเช่นนี้ (17:2)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก