(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

เอกภาพในความถ่อมตน

2 1ถ้าท่านได้รับกำลังใจจากการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าa ถ้าท่านได้รับกำลังใจจากความรัก ถ้าท่านเป็นหนึ่งเดียวกันในพระจิตเจ้าb ถ้าท่านเห็นอกเห็นใจสงสารกัน 2ท่านจงทำให้ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างเต็มเปี่ยมโดยการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรักแบบเดียวกัน มีความรู้สึกนึกคิดอย่างเดียวกันc 3อย่าทำการใดเพื่อชิงดีกันหรือเพื่อโอ้อวด แต่จงถ่อมตนคิดว่าผู้อื่นดีกว่าตน 4อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จงเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย 5จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูdทรงมีเถิด

6แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้าe

พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้น

เป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหนf

7แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้นg

ทรงรับสภาพดุจทาสh เป็นมนุษย์ดุจเราi

ทรงแสดงพระองค์ในธรรมชาติมนุษย์j

8ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน

9เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้นสูงส่งk

และประทานพระนามให้แก่พระองค์l

พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้นm

10เพื่อทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดิน

รวมทั้งใต้พื้นพิภพn

จะย่อเข่าลงนมัสการพระนาม “เยซู” นี้

11และเพื่อชนทุกภาษาจะได้ร้องประกาศว่าo

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าp

เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า พระบิดาq

จงทำงานเพื่อความรอดพ้น

12ท่านที่รักยิ่งของข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายเคยเชื่อฟังตลอดมา มิใช่เฉพาะเมื่อข้าพเจ้าอยู่กับท่านเท่านั้น แต่ยิ่งกว่านั้น บัดนี้แม้เมื่อข้าพเจ้าอยู่ห่างไกล ท่านก็ยังเชื่อฟังด้วย ท่านจงออกแรงด้วยความเกรงกลัวจนตัวสั่นเพื่อให้รอดพ้นเถิด 13พระเจ้าทรงทำงานในท่านเพื่อให้ท่านมีทั้งความปรารถนาและความสามารถที่จะทำงานตามพระประสงค์ 14จงทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่บ่นหรือโต้เถียง 15ท่านทั้งหลายจะได้ไม่ถูกตำหนิ ปราศจากเล่ห์กล เป็นบุตรของพระเจ้า ไร้มลทินในหมู่พงศ์พันธุ์ที่คดโกงและชั่วร้าย ฉายแสงในหมู่ชนนี้เสมือนดวงประทีปอยู่ในโลก 16จงยึดพระวาจาแห่งชีวิตมั่นไว้ เพื่อข้าพเจ้าจะได้ภาคภูมิใจในวันของพระคริสตเจ้าว่า ข้าพเจ้ามิได้วิ่งและตรากตรำทำงานโดยเปล่าประโยชน์ 17แม้ว่าข้าพเจ้าจะต้องหลั่งโลหิตเป็นพลีบูชา พร้อมกับที่ท่านถวายความเชื่อrเป็นพลีบูชาแด่พระเจ้า ข้าพเจ้าก็ยินดีและร่วมยินดีกับท่านทุกคน 18ขอให้ท่านทั้งหลายยินดีและร่วมยินดีกับข้าพเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน

ภารกิจของทิโมธีและเอปาโฟรดิทัส

19เดชะพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าหวังว่าจะส่งทิโมธีมาพบท่านทั้งหลายในเร็ววันนี้ เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีกำลังใจเมื่อรู้ข่าวของท่าน 20ข้าพเจ้าไม่มีใครอื่นที่มีจิตใจเหมือนเขา ซึ่งเป็นห่วงท่านด้วยใจจริง 21ทุกคนต่างแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่ประโยชน์ของพระคริสตเยซู 22ท่านทั้งหลายรู้ดีว่าเขาเป็นคนอย่างไร เขารับใช้ข่าวดีพร้อมกับข้าพเจ้าดังบุตรปฏิบัติต่อบิดา 23ข้าพเจ้าจึงหวังว่าจะส่งเขามาพบท่านทันทีที่ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับข้าพเจ้า 24แต่ข้าพเจ้าก็มั่นใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า ข้าพเจ้าจะมาพบท่านด้วยตนเองในเร็ววันนี้ด้วย 25ข้าพเจ้าคิดว่าจำเป็นต้องส่งเอปาโฟรดิทัสมาพบท่าน เขาเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนร่วมงานและเป็นเพื่อนร่วมการต่อสู้ของข้าพเจ้า ท่านส่งเขาไปรับใช้ตามความต้องการของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าตั้งใจส่งเขากลับมาพบท่านทั้งหลาย 26เพราะเขาคิดถึงท่านทุกคน และเขาไม่สบายใจที่ท่านรู้ว่าเขาเจ็บป่วย 27ความจริง เขาได้ป่วยหนักเกือบสิ้นชีวิต แต่พระเจ้าทรงพระเมตตาเขา และไม่ทรงพระเมตตาเพียงเขาเท่านั้น แต่ทรงพระเมตตาข้าพเจ้าด้วย เพื่อข้าพเจ้าจะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์ทับทวี 28ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงรีบส่งเขากลับมา เพื่อท่านจะยินดีที่ได้พบเขาอีก และข้าพเจ้าจะไม่กังวลใจอีกต่อไป 29ท่านทั้งหลายจงต้อนรับเขาในองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความชื่นชม จงยกย่องให้เกียรติคนเช่นเขา 30เพราะเขาได้ทำงานของพระคริสตเจ้าsจนเกือบสิ้นชีวิต และเสี่ยงชีวิตเพื่อทำหน้าที่รับใช้ข้าพเจ้าแทนท่านทั้งหลาย

 

2 a แปลตามตัวอักษรได้ว่า ถ้าหากมีเหตุผลใดๆ ที่จะวอนขอในพระคริสตเจ้า…” เปาโลพูดพาดพิงถึงคุณลักษณะที่ดีของชาวฟีลิปปี เป็นเหตุผลขอร้องด้วยความรัก ให้เขามีความรักสามัคคีกันยิ่งขึ้น

b ในข้อความนี้ เปาโลอาจคิดถึงความสัมพันธ์ที่คริสตชนมีกับพระตรีเอกภาพ ซึ่งถ้าเป็นดังนั้น ความรัก ก็หมายถึง การกระทำของพระบิดาโดยเฉพาะ (ดู 2 คร 13:13 เชิงอรรถ e)

c การที่เปาโลขอร้องอย่างจริงจังให้คริสตชนที่เมืองฟีลิปปีมีเอกภาพ แสดงให้เห็นว่า พระศาสนจักรที่นั่นกำลังมีความแตกแยกภายในคุกคามอยู่ (ดู 1:27; 2:14; 4:2) ควรสังเกตว่าเปาโลย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า คริสตชนชาวฟีลิปปีทุกคนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ (1:1, 4, 7, 25; 2:17, 26; 4:21)

d ข้อ 6-11 คงจะเป็นบทเพลงสรรเสริญที่คริสตชนสมัยแรกใช้ขับร้อง และเปาโลนำมาอ้างในทำนองเดียวกันกับใน อฟ 5:14; คส 1:15-20; 2 ทธ 2:11-13; ฯลฯ โดยทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่า พระคริสตเจ้าทรงสละพระองค์ (kenosis) โดยทรงสละพระสิริรุ่งโรจน์ของธรรมชาติพระเจ้า เพื่อดำเนินชีวิตเหมือนมนุษย์และรับทรมานได้ ณ ที่นี้อาจมีการเปรียบเทียบระหว่างพระเยซูเจ้าในฐานะอาดัมคนที่สองกับอาดัมคนแรก (ดู รม 5:12 เชิงอรรถ f และ h; 1 คร 15:22 เชิงอรรถ m) ขณะที่อาดัมคนแรก ซึ่งมีสภาพเป็นรูปแบบหรือภาพลักษณ์ของพระเจ้า ได้พยายามที่จะยึดความเสมอภาคเท่ากับพระเจ้าไว้และเพราะความจองหองนี้เองจึงตกในบาป ในทางตรงกันข้าม เพราะพระเยซูเจ้าซึ่งเป็นอาดัมคนที่สองได้ถ่อมตน พระบิดาจึงทรงยกพระเยซูเจ้าขึ้นมารับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า

e ตรงกันข้ามกับอาดัม ซึ่งถูกสร้างขึ้นมา ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า แต่ได้ใช้ภาพลักษณ์นี้อย่างไม่ถูกต้อง

f อาดัมได้พยายามอย่างไม่ถูกต้องที่จะเป็นเหมือนกับพระเจ้า แต่พระเยซูเจ้าทรงถ่อมพระองค์ลง

g ในการตีความสมัยก่อนมักจะเข้าใจการสละพระองค์ หรือ kenosis ว่าหมายถึง การที่พระเยซูเจ้าได้ทรงสมัครใจสละ ศักดิ์ศรีของการเป็นพระเจ้าเมื่อทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ แต่การตีความแบบนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่เพียงแต่ไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ยังขัดกับวิวัฒนาการทางความคิดของเปาโลเรื่องพระคริสตเจ้าในสมัยนั้นอีกด้วย

h เป็นการพาดพิงถึง ผู้รับใช้ ใน อสย 52:13-53:12 ซึ่งบรรยายถึงขั้นตอนการเทิดทูนโดยผ่านการถ่อมตน (ดู อสย 42:1 เชิงอรรถ a)

i อาจจะเป็นการอ้างถึง ผู้หนึ่งที่คล้ายกับบุตรแห่งมนุษย์ ซึ่งได้รับเกียรติและสิริรุ่งโรจน์จากพระเจ้าใน ดนล 7:13

j แปลตามตัวอักษรได้ว่า และถูกพบในรูปแบบเหมือนมนุษย์

k หมายถึง การกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์

l การตั้งชื่อเป็นการให้คุณสมบัติตามที่ชื่อนั้นหมายถึง (เทียบ อฟ 1:21; ฮบ 1:4) พระนามนี้คือ องค์พระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 11) แต่ก่อนนั้นเป็นที่ต้องห้ามมิให้ออกพระนามของพระเจ้า แต่บัดนี้เมื่อพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพและทรงชัยชนะแล้ว พระนามนี้จึงนำมาใช้ได้ คือ “Kyrios” (ภาษาไทย แปลว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า) (ดู กจ 2:21 เชิงอรรถ m; 3:16 เชิงอรรถ l)

m ยิ่งใหญ่กว่าแม้กระทั่งทูตสวรรค์ (เทียบ อฟ 1:21; ฮบ 1:4; 1 ปต 3:22) ส่วนคำว่า ใต้พื้นพิภพ หมายถึงบุคคลเหล่านั้นที่อยู่ในแดนผู้ตาย (เชโอล) (กดว 16:33 เชิงอรรถ f) มากกว่าจะหมายถึงปีศาจ

n เป็นการแบ่งจักรวาลของสิ่งสร้างทั้งหมดออกเป็นสามส่วน คือ สวรรค์ แผ่นดิน และแดนผู้ตายใต้พื้นพิภพ (เทียบ วว 5:3, 13)

o สำเนาโบราณบางฉบับว่า และชนทุกภาษาจะร้องประกาศว่า

p สำเนาโบราณบางฉบับละคำว่า คริสต์ การประกาศนี้เป็นแก่นของบทแสดงความเชื่อของคริสตชน (รม 10:9; 1 คร 12:3; เทียบ คส 2:6) การนำ (อสย 45:23) (ซึ่งเป็นการถวายเกียรติแด่พระยาห์เวห์เอง) มาใช้ที่นี่แสดงให้เห็นว่าชื่อ องค์พระผู้เป็นเจ้า นี้หมายถึงสภาพพระเจ้าอย่างแท้จริง (เทียบ ยน 20:28; กจ 2:36 เชิงอรรถ w) พระเจ้าทรงเทิดทูนพระเยซูเจ้าขึ้น และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าจึงเพิ่มพูนขึ้นโดยการถ่อมองค์ของพระบุตร (2:7)

q ฉบับภาษาละติน (Vulgata) แปลความว่า ประกาศว่าพระเยซูคริสตเจ้าอยู่ในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า พระบิดา

r การหลั่งน้ำลงเหนือเครื่องบูชาเป็นองค์ประกอบตามปกติในพิธีบูชาของทั้งชาวกรีกและชาวยิว ในที่นี้ เปาโลเพียงแต่ประยุกต์ประเพณีนี้ในเชิงเปรียบเทียบกับการบูชาฝ่ายจิตของสิ่งสร้างใหม่เท่านั้น (เทียบ 3:3; 4:18; รม 1:9 เชิงอรรถ g)

s สำเนาโบราณบางฉบับว่า งานขององค์พระผู้เป็นเจ้า บ้างก็ว่า งาน เฉยๆ