(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

พระคูหาว่างเปล่า ข่าวดีจากทูตสวรรค์

28 1หลังจากวันสับบาโตa เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์ มารีย์ชาวมักดาลาและมารีย์อีกผู้หนึ่งbไปดูพระคูหาc 2ทันใดนั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าลงจากสวรรค์เข้าไปกลิ้งหินออกและนั่งบนหินนั้น 3ใบหน้าของทูตสวรรค์แจ่มจ้าเหมือนสายฟ้า อาภรณ์ขาวราวหิมะ 4ทหารยามตกใจกลัวทูตสวรรค์จนตัวสั่นหน้าซีดเหมือนคนตาย

5ทูตสวรรค์กล่าวแก่สตรีทั้งสองคนว่า “อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านกำลังมองหาพระเยซู ผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขน 6พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ เพราะทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วตามที่ตรัสไว้ มาซิ มาดูที่ที่เขาวางพระองค์dไว้ 7แล้วจงรีบไปบอกบรรดาศิษย์ว่า ‘พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว พระองค์เสด็จล่วงหน้าท่านไปในแคว้นกาลิลี ท่านจะพบพระองค์ที่นั่น’ นี่คือข่าวดีที่ข้าพเจ้าแจ้งแก่ท่าน”

8สตรีทั้งสองคนมีทั้งความกลัวและความยินดีอย่างยิ่ง รีบออกจากพระคูหาe วิ่งไปแจ้งข่าวแก่บรรดาศิษย์ของพระองค์

พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่สตรีทั้งสองคน

9ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาพบสตรีทั้งสองคน ตรัสว่า “จงยินดีเถิด” ทั้งสองคนจึงเข้าไปใกล้ กอดพระบาทนมัสการพระองค์ 10พระเยซูเจ้าตรัสว่า “อย่ากลัวเลย จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเราให้ไปยังแคว้นกาลิลี เขาจะพบเราที่นั่น”f

ผู้นำชาวยิวป้องกันตน

11เมื่อสตรีทั้งสองคนเดินทางไป ทหารยามบางคนเข้าไปในเมือง แจ้งเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่บรรดาหัวหน้าสมณะ 12บุคคลเหล่านี้จึงประชุมปรึกษากันกับบรรดาผู้อาวุโส แล้วตกลงจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้ทหาร 13สั่งว่า “ท่านทั้งหลายจงพูดว่า ‘บรรดาศิษย์ของเขามาขโมยศพไปในเวลากลางคืน ขณะที่เรากำลังหลับอยู่’ 14ถ้าเรื่องมาถึงหูของผู้ว่าราชการ เราจะชี้แจงแก่เขาทำให้ท่านพ้นโทษ”

15ทหารได้รับเงินและทำตามคำแนะนำ เรื่องนี้จึงเล่าลือกันในหมู่ชาวยิวจนกระทั่งทุกวันนี้

พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์ในแคว้นกาลิลี ทรงส่งบรรดาอัครสาวกไปทั่วโลก

16บรรดาศิษย์ทั้งสิบเอ็ดคนได้ไปยังแคว้นกาลิลี ถึงภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดไว้ 17เมื่อเขาเห็นพระองค์ ก็กราบนมัสการ แต่บางคนยังสงสัยอยู่g

18พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่าh “พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และบนแผ่นดินให้แก่เรา 19ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิตi 20จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ”

 

28 a อย่าแปลว่า “เย็นวันสับบาโต” เหมือนในฉบับ vulgata ภาษาละติน วันสับบาโตเป็นวันหยุด วันทำงาน “วันแรกของสัปดาห์” ของชาวยิวจึงตรงกับวันอาทิตย์ของเรา (วว 1:10) วันอาทิตย์มีชื่อในภาษาละตินว่า dies dominica (วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า) เพื่อระลึกถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า (ดู กจ 20:7 เชิงอรรถ k; 1 คร 16:2)

b หมายถึงมารีย์ มารดาของยากอบ (มก 16:1; ลก 24:10; เทียบ มธ 27:56 และ 61)

c ในพระวรสาร มธ พระคูหามีตราประทับปิดอยู่และมีทหารยามเฝ้า ดังนั้นสตรีทั้งสองคนจึงไม่ได้มาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้าตามที่มีกล่าวใน มก และ ลก แต่มาเพื่อ “ดู พระคูหาที่ฝังพระศพเท่านั้น

d “พระองค์” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า”

e สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ได้รีบออกจากพระคูหา” (ดู มก 16:8)

f แม้ว่าพระวรสารทั้งสี่จะเล่าตรงกันว่าทูตสวรรค์องค์หนึ่ง (หรือหลายองค์) ได้ปรากฏองค์แก่บรรดาสตรี (28:5-7; มก 16:5-7; ลก 24:4-7; ยน 20:12-13) แต่ทั้งสี่ฉบับเล่าต่างกันเรื่องพระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์ ถ้าเราไม่คำนึงถึงการเล่าของ มก (ซึ่งการจบอย่างห้วนๆ ของพระวรสารนี้มีปัญหาพิเศษ (ดู มก 16:8 เชิงอรรถ b) และการจบแบบยาวเป็นการรวบรวมรายละเอียดจากพระวรสารอื่นๆ) พระวรสารอื่นๆ ทั้งสามฉบับแยกแยะข้อมูลต่อไปนี้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านวรรณกรรมและในด้านคำสอนว่า (1) พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่บางคนเป็นการส่วนตัว เพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างแท้จริง คือทรงสำแดงพระองค์แก่มารีย์ชาวมักดาลาคนเดียว (ยน 20:14-17; เทียบ มก 16:9) หรือกับเพื่อน (มธ 28:9-10) ทรงสำแดงพระองค์แก่ศิษย์สองคนตามทางไปหมู่บ้านเอมมาอุส (ลก 24:13-32; เทียบ มก 16:12) แก่ซีโมน (ลก 24:34) แก่โทมัส (ยน 20:26-29) (2) พระเยซูทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์เป็นกลุ่มเพื่อมอบภารกิจธรรมทูต (28:16-20; ลก 24:36-49; ยน 20:19-23; ดู มก 16:14-18 ด้วย) นอกจากนั้นยังมีธรรมประเพณีสองสายเกี่ยวกับสถานที่ที่ทรงสำแดงพระองค์อีกด้วย คือ (1) ทรงสำแดงพระองค์ทุกครั้งในแคว้นกาลิลี (28:10, 16-20; มก 16:7) (2) ทรงสำแดงพระองค์ทุกครั้งในแคว้นยูเดีย (ลก 24 และ ยน 20) ยน 21 มีลักษณะเป็นบทผนวกเพิ่มเรื่องการสำแดงพระองค์ในแคว้นกาลิลี แม้ว่าการสำแดงพระองค์ครั้งนี้มีลักษณะเป็นการสำแดงพระองค์แก่บางคนเป็นส่วนตัว (แก่เปโตรและยอห์นโดยเฉพาะ) ถึงกระนั้น พระองค์ยังทรงมอบภารกิจธรรมทูตให้แก่เปโตรอีกด้วย คำเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกสมัยแรก ตามที่เปาโลบันทึกไว้ใน 1 คร 15:3-7 กล่าวถึงการสำแดงพระองค์ห้าครั้งด้วยกัน (ไม่นับการสำแดงพระองค์แก่เปาโลเอง) ซึ่งมีรายละเอียดไม่ตรงกับการเล่าในพระวรสาร โดยเฉพาะเปาโลกล่าวถึงการสำแดงพระองค์แก่ยากอบซึ่งมีเล่าอยู่ในพระวรสารนอกสารบบถึงชาวฮีบรูด้วย ความหลายหลากเช่นนี้แสดงว่าที่มาของธรรมประเพณีเหล่านี้คือคริสตชนกลุ่มต่างๆ ที่เราไม่สามารถชี้เจาะจงได้ชัดเจน แต่ธรรมประเพณีที่แตกต่างกันหลายสายเช่นนี้เป็นพยานยืนยันว่าพระเยซูเจ้าได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพและได้สำแดงพระองค์ในโอกาสต่างๆ อย่างแท้จริง ดีกว่าที่จะมีเพียงธรรมประเพณีสายเดียวที่เล่าโดยมีรายละเอียดเหมือนกันหมด

g อาจจะแปลได้อีกอย่างหนึ่ง แต่ไม่ถูกหลักไวยากรณ์นัก “คนที่ยังสงสัยกราบลงนมัสการ” การที่บางคนสงสัย ดู มก 16:11, 14; ลก 24:11, 41; ยน 20:24-29

h คำสั่งสอนสุดท้ายของพระเยซูเจ้า ซึ่งมีคำสัญญาตามด้วยนี้กำหนดภารกิจธรรมทูตของพระศาสนจักร พระคริสตเจ้าผู้ทรงสิริรุ่งโรจน์ทรงมีอำนาจบนแผ่นดินเช่นเดียวกับที่ทรงมีในสวรรค์ (6:10; เทียบ ยน 17:2; ฟป 2:10; วว 12:10) เป็นอำนาจไม่มีขอบเขต (มธ 7:29; 9:6; 21:23) เป็นอำนาจที่ทรงได้รับจากพระบิดา (ดู ยน 3:35 เชิงอรรถ t) ดังนั้น บรรดาศิษย์จึงมีอำนาจเดียวกันนี้ในพระนามของพระองค์เมื่อทำพิธีล้างบาปและอบรมคริสตชน ภารกิจของเขาเป็นภารกิจสากล เขาต้องประกาศความรอดพ้นให้แก่ประชากรอิสราเอลก่อน (10:5 เชิงอรรถ f; 15:24) ตามแผนการของพระเจ้าแล้วจึงประกาศความรอดพ้นให้แก่ชนทุกชาติ (8:11; 21:41; 22:8-10; 24:14, 30ฯ; 25:32; 26:13; ดู กจ 1:8 เชิงอรรถ i; 13:5 เชิงอรรถ e; รม 1:16 เชิงอรรถ h) พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพประทับอยู่และร่วมงานกับบรรดาศิษย์ของพระองค์ที่ต้องเทศน์สอนให้มนุษย์ทั้งมวลหันมาหาพระเจ้าอันเป็นงานที่ยาวนานและยาก

i สูตรนี้คงสะท้อนสูตรที่ใช้ในพิธีกรรมในภายหลัง กจ กล่าวถึงพิธีล้างบาป “ในพระนามพระเยซูเจ้า” (ดู กจ 1:5 เชิงอรรถ f) การที่ผู้รับพิธีล้างมีความสัมพันธ์กับพระบุคคลทั้งสามในพระตรีเอกภาพคงจะกล่าวถึงอย่างชัดเจนในสมัยหลังเท่านั้น กระนั้นก็ดี ความจริงที่อยู่เบื้องหลังสูตรนี้ก็เป็นอันเดียวกัน คือศีลล้างบาปทำให้ผู้รับเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ แต่งานกอบกู้ทั้งหมดของพระองค์มาจากความรักของพระบิดาและสำเร็จบริบูรณ์เมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมา