(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

การไม่ควบคุมคำพูด

3 1พี่น้องทั้งหลาย อย่าเป็นผู้สอนกันหลายคนa เพราะท่านรู้แล้วว่าเราที่เป็นผู้สอนจะถูกพิพากษาอย่างเข้มงวดกว่าคนอื่น 2เพราะเราทุกคนต่างก็ผิดพลาดได้หลายเรื่อง

ถ้าผู้ใดไม่ผิดพลาดด้วยวาจา ผู้นั้นย่อมเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ เขาบังคับร่างกายทั้งหมดให้อยู่ใต้อำนาจได้b 3cเราสวมบังเหียนที่ปากม้าก็เพื่อให้มันเชื่อฟังเรา เราบังคับมันให้ไปที่ใดก็ได้ทั้งตัว 4จงดูเรือเถิด แม้เรือจะใหญ่โต และถูกลมแรงพัดให้แล่นไป ก็ยังถูกบังคับด้วยหางเสือเล็กๆ ให้ไปทางใดก็ได้ตามใจนายท้าย 5ลิ้นก็เช่นเดียวกัน เป็นอวัยวะเล็กๆ แต่ก็โอ้อวดกิจการใหญ่โตได้ จงดูเถิด ประกายไฟเพียงนิดเดียวก็เผาป่ากว้างใหญ่ไพศาลให้วอดวายได้ 6ลิ้นก็เป็นไฟ เป็นโลกของความชั่วร้ายd อยู่ระหว่างอวัยวะต่างๆ ของเรา ทำให้ร่างกายโสมมไปทั้งร่าง และติดไฟมาจากขุมนรก เผาผลาญเราทั้งชีวิตe 7มนุษย์ฝึกสัตว์ป่า นก หรือสัตว์เลื้อยคลานตลอดจนสัตว์น้ำทุกชนิดให้เชื่องได้ และได้ฝึกให้เชื่องมาแล้ว 8ส่วนลิ้นนั้นไม่มีมนุษย์คนใดทำให้เชื่องได้ ลิ้นเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ควบคุมไม่ได้ มีพิษร้ายถึงตาย 9เราใช้ลิ้นถวายพระพรพระเจ้าพระบิดา และใช้ลิ้นสาปแช่งมนุษย์ซึ่งถูกสร้างตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า 10ทั้งคำถวายพระพรและคำสาปแช่งล้วนออกมาจากปากเดียวกันf พี่น้องทั้งหลาย ไม่ควรให้เป็นเช่นนี้เลย 11ตาน้ำจะมีทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อยพุ่งมาจากช่องเดียวกันได้หรือ 12พี่น้องทั้งหลาย ต้นมะเดื่อเทศจะออกผลเป็นมะกอกเทศได้อย่างไร เถาองุ่นจะออกผลเป็นมะเดื่อเทศได้อย่างไร ตาน้ำเค็มย่อมให้น้ำจืดไม่ได้

ปรีชาญาณแท้และปรีชาญาณเทียม

13ใครบ้างคิดว่าตนฉลาดและมีปรีชาญาณg จงแสดงความฉลาดและปรีชาญาณนั้นอย่างอ่อนโยนด้วยการกระทำและความประพฤติดี 14แต่ถ้าใจของท่านขมขื่นด้วยความอิจฉาริษยา และมีความทะเยอทะยาน จงอย่าโอ้อวดและอย่ามุสาต่อต้านความจริง 15ปรีชาญาณเช่นนี้มิได้มาจากเบื้องบน แต่เป็นปรีชาญาณตามธรรมดาโลก ตามแบบวัตถุนิยมและตามแบบปีศาจ 16ที่ใดมีความอิจฉาริษยาและความทะเยอทะยาน ที่นั่นย่อมมีแต่ความวุ่นวายและความชั่วร้ายนานาชนิด 17ส่วนปรีชาญาณที่มาจากเบื้องบน ประการแรกเป็นสิ่งบริสุทธิ์ แล้วจึงก่อให้เกิดสันติ เห็นอกเห็นใจ อ่อนน้อม เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา บังเกิดผลที่ดีงาม ไม่ลำเอียง ไม่เสแสร้ง 18ผู้ที่สร้างสันติย่อมเป็นผู้หว่านในสันติ และจะเก็บเกี่ยวผลเป็นความชอบธรรม

 

3 a ผู้ที่ใฝ่ฝันที่จะได้ตำแหน่งอาจารย์อันทรงเกียรตินี้ (มธ 23:8; กจ 13:1; 1 คร 12:28 เชิงอรรถ k) จะต้องพิจารณาถึงความรับผิดชอบซึ่งเขาต้องมีเสียก่อน บทที่ 3 ทั้งบทดูเหมือนจะเขียนขึ้นโดยคำนึงถึงอาจารย์เหล่านี้

b ผู้เขียนใช้ภาพเปรียบเทียบหลายประการ เพื่อสอนเรื่องการควบคุมคำพูด ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการรู้จักควบคุมตนเองอย่างสมบูรณ์ ความคิดนี้เป็นที่นิยมของนักจริยศาสตร์กรีกและในวรรณกรรมปรีชาญาณ

c สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ดูเถิด” (เทียบ ข้อ 4)

d ประโยคนี้อาจใส่เครื่องหมายวรรคตอนได้อีกวิธีหนึ่งซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเล็กน้อย “ลิ้นก็เป็นไฟ ลิ้นอยู่ระหว่างอวัยวะต่างๆ ของเรา เสมือนเป็นโลกของความชั่วร้ายในตัวเอง”

e วลี “ทั้งชีวิต” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “วัฏจักรแห่งสิ่งสร้าง” ซึ่งเป็นสำนวนจากรหัสลัทธิออร์ฟีของกรีก

f ในพันธสัญญาเดิม “คำอวยพร” มักควบคู่กับ “คำสาปแช่ง” บ่อยๆ (ปฐก 12:3; 27:29; กดว 23:11; 24:9; ยชว 8:34) แต่คริสตชนจะกล่าวคำสาปแช่งไม่ได้ (ดู ลก 6:28; รม 12:4; 1 ปต 3:9)

g เป็นคำแนะนำต่อเนื่องของผู้เขียนให้แก่ผู้ปรารถนาจะเป็นอาจารย์ (ข้อ 1) ปรีชาญาณย่อมปรากฏให้เห็นจากผลของมัน (ดู 1:22-25; 2:14-26)