(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

III. คำตักเตือน

อิสรภาพของคริสตชน

5 1พระคริสตเจ้าทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระแล้ว ฉะนั้น จงยืนหยัดมั่นคง และอย่าเข้าเทียมแอกเป็นทาสอีกเลยa

2จงฟังเถิด ข้าพเจ้า เปาโล ขอบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านเข้าสุหนัต พระคริสตเจ้าก็จะไม่มีประโยชน์อะไรกับท่าน 3ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งกับทุกคนที่เข้าสุหนัตว่า จำเป็นต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติทุกข้อด้วย 4ท่านที่คิดว่าเป็นผู้ชอบธรรมอาศัยธรรมบัญญัติ ก็แยกตัวออกไปจากพระคริสตเจ้า และขาดจากพระหรรษทาน 5ส่วนเรานั้น พระจิตเจ้าทรงนำเราให้รอคอยความชอบธรรมที่หวังจะได้รับจากความเชื่อb 6เพราะในพระคริสตเยซูนั้น การเข้าสุหนัตหรือไม่เข้าสุหนัตนั้นไม่สำคัญ เรื่องที่สำคัญก็คือมีความเชื่อที่แสดงออกเป็นการกระทำอาศัยความรักc

7ท่านทั้งหลายวิ่งมาอย่างดีแล้วd ผู้ใดกีดขวางท่านมิให้เชื่อฟังความจริง 8ความคิดเช่นนี้ไม่ได้มาจากพระองค์ผู้ทรงเรียกท่านเป็นแน่ 9เชื้อแป้งเพียงเล็กน้อยทำให้ปริมาณแป้งทั้งหมดฟูขึ้น 10ข้าพเจ้าแน่ใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า ท่านeจะไม่คิดเป็นอย่างอื่น ผู้ที่ทำให้ท่านวุ่นวายจะต้องถูกตัดสินลงโทษ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม 11พี่น้องทั้งหลาย สำหรับข้าพเจ้านั้น ถ้าข้าพเจ้ายังประกาศสอนให้เข้าสุหนัตfอยู่อีก ทำไมข้าพเจ้าจึงยังถูกเบียดเบียนอยู่ ถ้าเช่นนั้น ไม้กางเขนก็คงไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป 12ผู้ที่ทำให้ท่านวุ่นวายเหล่านี้น่าจะถูกตัดอวัยวะส่วนนั้นให้หมดไปเลยg

เสรีภาพและความรักh

13พี่น้องทั้งหลาย พระเจ้าทรงเรียกท่านให้มารับอิสรภาพ ขอเพียงแต่อย่าใช้อิสรภาพนั้นเป็นข้อแก้ตัวที่จะทำตามใจตน แต่จงรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก 14เพราะธรรมบัญญัติทั้งหมดสรุปได้เป็นข้อเดียวว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเองi 15ถ้าท่านกัดกันและกินกัน ก็จงระวังตัวไว้เถิดว่า ท่านจะทำลายกันจนหมดสิ้น

16บัดนี้ ข้าพเจ้าขอบอกท่านทั้งหลายว่า จงดำเนินตามพระจิตเจ้า และอย่าตอบสนองความปรารถนาตามธรรมชาติj 17เพราะธรรมชาติมนุษย์มีความปรารถนาตรงกันข้ามกับพระจิตเจ้า และพระจิตเจ้าก็ทรงปรารถนาตรงกันข้ามกับธรรมชาติมนุษย์ สองสิ่งนี้ขัดแย้งกัน ท่านทำสิ่งที่ท่านอยากทำไม่ได้ 18ถ้าท่านมีพระจิตเจ้าเป็นผู้นำ ท่านก็ไม่อยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติ 19กิจการของธรรมชาติมนุษย์นั้นปรากฏชัดแจ้ง คือ การผิดประเวณี ความลามกโสมม การปล่อยตัวตามราคตัณหา 20การกราบไหว้รูปเคารพ การใช้เวทมนตร์คาถา การเป็นศัตรูกัน การทะเลาะวิวาท ความอิจฉาริษยา ความโกรธเคือง การแก่งแย่งชิงดี การแตกแยก การแบ่งพรรคแบ่งพวก 21การเมามาย การสำมะเลเทเมา และอีกหลายประการในทำนองเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งดังที่เคยเตือนมาแล้วว่า ผู้ที่ประพฤติตนเช่นนี้จะไม่ได้อาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก 22ส่วนผลของพระจิตเจ้าก็คือความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ 23ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเองk เรื่องเหล่านี้ไม่มีธรรมบัญญัติใดห้ามไว้เลยl 24ผู้ที่เป็นของพระคริสตเยซู ก็ตรึงธรรมชาติของตนพร้อมกับกิเลสตัณหาไว้กับไม้กางเขนแล้ว

25ถ้าเรามีชีวิตเดชะพระจิตเจ้าแล้ว เราจงดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้าด้วย 26อย่าอวดดียั่วยุผู้อื่น หรืออิจฉาริษยากัน

 

5 a การกลับเข้ารับพิธีสุหนัตย่อมหมายถึง การสูญเสียอิสรภาพที่ได้มาอาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้า (ดู รม 6:15 เชิงอรรถ g) ธรรมบัญญัติและความเชื่อเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้

b หรือ "รอคอยความชอบธรรมที่ได้หวังไว้"

c ความเชื่อเป็นต้นกำเนิดของชีวิตใหม่ (4:5; 5:5) แต่ "โดยทางพระจิตเจ้า" ความเชื่อมีความสัมพันธ์กับความหวัง (ข้อ 5) และความรัก (ดูข้อ 6, 13-14; รม 5:5 เชิงอรรถ e; 13:8; 1 คร 13:13 เชิงอรรถ e) การปฏิบัติความรักแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมีชีวิต (ดู 1 ยน 3:23-24)

d การวิ่งแข่งเป็นภาพพจน์ที่เปาโลชอบใช้มากภาพหนึ่ง (ดู 2:2; 1 คร 9:24-26; ฟป 2:16; 3:12-14; 2 ทธ 4:7; ฮบ 12:1)

e แปลอีกแบบหนึ่งได้ว่า "ข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่า ท่านซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวในองค์พระผู้เป็นเจ้า..."

f “ถ้าข้าพเจ้ายังประกาศสอนให้เข้าสุหนัตอยู่อีก” คงจะเป็นคำกล่าวหาที่ฝ่ายตรงข้ามกับเปาโลยกมาอ้าง (แต่ดู 1:10; 2:3 เชิงอรรถ c)

g "น่าจะถูกตัดอวัยวะส่วนนั้นให้หมดไปเลย" เปาโลประชดผู้ที่เรียกร้องให้คริสตชนเข้าสุหนัต พวกเขาไม่น่าจะขริบเพียงหนังหุ้มปลายองคชาตเท่านั้น แต่น่าจะตัดอวัยวะเพศทั้งหมดเสียด้วย ดูเหมือนว่าชาวกรีกที่นับถือเทพีซีเบเลสทำพิธีตอนตนเองด้วย การพูดเสียดสีทำนองนี้ยังพบได้อีกใน ฟป 3:2

h ชีวิตใหม่ในความเชื่อจะสมบูรณ์ในความรัก (ข้อ 6; รม 13:8; 1 คร 13:1 เชิงอรรถ a) และความรักเป็น “ธรรมบัญญัติประการเดียว" ของชีวิตใหม่ (ดู รม 7:7 เชิงอรรถ d) ชีวิตใหม่นี้ก่อให้เกิดผลของพระจิตเจ้า (ข้อ 22; ดู รม 5:5 เชิงอรรถ e; ฟป 1:11) ไม่ใช่การทำตามใจตนเอง (กท 5:19; 6:8; ดู รม13:12 ด้วย)

i "เพื่อนมนุษย์" ตามตัวอักษร "เพื่อนบ้าน" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่ "สมาชิกของประชากรเดียวกัน" อีกต่อไปเหมือนกับใน ลนต แต่หมายถึง "เพื่อนมนุษย์ทุกคน" (เทียบ ลก 10:29-37) เพราะทุกคนล้วนเป็นเหมือนกับองค์พระคริสตเจ้า (มธ 25:40, 45) ดังนั้น สำหรับเปาโลพระบัญญัติประการที่สองย่อมรวมถึงพระบัญญัติข้อแรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

j ควรสังเกตว่า ในข้อ 16-21 "การทำตามใจตนเอง" ที่ตรงข้ามกับการดำเนินตามพระจิตเจ้านั้น ไม่ได้หมายความว่า การกระทำเหล่านั้น "เกิดขึ้นจาก" หรือ "ถูกจำกัดอยู่กับ" ร่างกายเท่านั้น แต่หมายถึงกิจการทุกอย่างที่มนุษย์ทำโดยไม่มีพระจิตเจ้าเป็นผู้นำ "ความปรารถนาตามธรรมชาติ" มิได้หมายเฉพาะหรือเป็นอันดับแรกถึงความใคร่ทางกามารมณ์และความสุขในร่างกาย (ข้อ 19, 20 ดู รม 7:5 เชิงอรรรถ c)

k สำเนาโบราณบางฉบับเสริม "ความบริสุทธิ์" เข้าไปด้วย

l ผู้มีความเชื่อชิดสนิทกับพระคริสตเจ้า ไม่มีกฎบัญญัติข้อใดจากภายนอกมากำหนดพฤติกรรมภายนอกของเขา แต่พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้แนะนำเขาจากภายในแทน เปาโลจะเรียกการนำของพระจิตเจ้าเช่นนี้ว่า "บทบัญญัติของพระคริสตเจ้า" (6:2; รม 8:1)