“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

บุตรของพระเจ้า

4 1จะพูดอีกนัยหนึ่งว่าa ตลอดเวลาที่ทายาทคนหนึ่งยังเป็นเด็ก เขาก็ไม่แตกต่างอะไรจากทาสเลย ทั้งๆ ที่เป็นนายของทรัพย์สินทั้งหมด 2เขายังต้องถูกผู้ปกครองและผู้จัดการควบคุมดูแลจนกว่าจะถึงเวลาที่บิดากำหนดไว้ 3พวกเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อยังเป็นเด็ก เราก็เป็นทาสของบรรดาจิตที่ควบคุมโลกนี้อยู่b 4แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้c พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง เกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ 5เพื่อทรงไถ่ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ และทำให้เราได้เป็นบุตรบุญธรรมd 6ข้อพิสูจน์ว่าท่านทั้งหลายเป็นบุตรก็คือ พระเจ้าทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา พระจิตผู้ตรัสด้วยเสียงดังว่า “อับบา พระบิดาเจ้าข้า” 7ดังนั้น ท่านจึงไม่เป็นทาสอีกต่อไป แต่เป็นบุตร และถ้าเป็นบุตรก็ย่อมเป็นทายาทตามพระประสงค์ของพระเจ้า

8ในอดีต เมื่อยังไม่รู้จักพระเจ้า ท่านทั้งหลายเป็นทาสรับใช้ของสิ่งที่ไม่มีธรรมชาติเป็นพระเจ้า 9บัดนี้ ท่านรู้จักพระเจ้า แต่อันที่จริง พระเจ้าทรงรู้จักท่านe แล้วทำไมท่านจึงหวนกลับไปหาจิตที่ไร้อำนาจและน่าเวทนา ทำไมท่านจึงต้องการเป็นทาสรับใช้จิตเหล่านั้นเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่งเล่า 10ท่านยังยึดถือวัน เดือน ฤดู และปีอยู่อีก 11ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นห่วงท่าน เกรงว่าข้าพเจ้าจะทำงานเหน็ดเหนื่อยเพื่อท่านโดยไร้ประโยชน์

คำขอร้อง

12พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอร้องท่าน จงเป็นเหมือนข้าพเจ้าfเช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าเป็นเหมือนท่าน ท่านไม่ได้ทำผิดอะไรต่อข้าพเจ้าเลย 13ท่านทั้งหลายรู้อยู่แล้วว่า เพราะความเจ็บป่วยg ข้าพเจ้าจึงประกาศข่าวดีแก่ท่านเป็นครั้งแรก 14แม้ว่าความเจ็บป่วยของข้าพเจ้าจะเป็นภาระหนักสำหรับท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้รังเกียจหรือขับไล่ ตรงกันข้าม ท่านต้อนรับข้าพเจ้าเหมือนต้อนรับทูตสวรรค์ของพระเจ้า เหมือนต้อนรับพระคริสตเยซู 15แต่บัดนี้ ความชื่นชมของท่านอยู่ที่ไหน ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่า เวลานั้น ถ้าทำได้ท่านคงจะควักนัยน์ตาให้แก่ข้าพเจ้าด้วย 16แต่แล้วข้าพเจ้ากลับเป็นศัตรูของท่านเพียงเพราะข้าพเจ้าพูดความจริงกับท่านกระนั้นหรือ 17บุคคลเหล่านั้นเอาใจใส่ท่าน แต่มีเจตนาร้าย เขาต้องการแยกท่านไว้ให้เอาใจใส่พวกเขาเท่านั้น 18เป็นการถูกต้องที่จะเอาใจใส่ทำดีอยู่ตลอดเวลาh ไม่เพียงแต่เฉพาะเมื่อข้าพเจ้ายังอยู่กับท่านเท่านั้น 19ลูกๆ ที่รัก ข้าพเจ้ามีความเจ็บปวดประหนึ่งว่ากำลังคลอดท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง จนกว่าพระคริสตเจ้าจะปรากฏอยู่ในท่านอย่างชัดเจน 20ข้าพเจ้าปรารถนาจะอยู่กับท่านในเวลานี้ และจะพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับท่านอีกแล้ว

พันธสัญญาทั้งสองฉบับ : นางฮาการ์และนางซาราห์

21ท่านทั้งหลายที่ปรารถนาจะอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ จงบอกข้าพเจ้าเถิดว่า ทำไมท่านไม่เชื่อสิ่งที่ธรรมบัญญัติเขียนไว้i 22มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่าอับราฮัมมีบุตรสองคน คนหนึ่งเกิดจากหญิงทาส อีกคนหนึ่งเกิดจากหญิงอิสระ 23เด็กที่เกิดจากหญิงทาสนั้นเกิดตามธรรมชาติj ส่วนเด็กที่เกิดจากหญิงอิสระนั้นเกิดตามพระสัญญา เรื่องนี้กล่าวไว้เป็นอุปมา หญิงสองคนนี้หมายถึงพันธสัญญาทั้งสองฉบับ 24ฉบับหนึ่งจากภูเขาซีนาย คือนางฮาการ์ ซึ่งให้กำเนิดบุตรมาเป็นทาส 25ซีนายเป็นภูเขาลูกหนึ่งในแคว้นอาราเบียk ได้แก่กรุงเยรูซาเล็มในปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นทาสอยู่พร้อมกับบรรดาบุตรของตน 26แต่กรุงเยรูซาเล็มที่อยู่เบื้องบนนั้นเป็นอิสระ และเป็นมารดาของเรา 27เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า จงชื่นชมเถิด หญิงหมันผู้ไม่มีบุตรl จงเปล่งเสียงโห่ร้องเถิด ท่านที่ไม่เคยเจ็บครรภ์คลอดบุตร เพราะบุตรของหญิงที่ถูกทอดทิ้งมีมากกว่าบุตรของหญิงที่ยังมีสามีอยู่ด้วย 28พี่น้องทั้งหลาย ท่านเป็นบุตรตามพระสัญญาเช่นเดียวกับอิสอัค 29ในอดีต เด็กที่เกิดมาตามธรรมชาติข่มเหงรังแกเด็กที่เกิดมาเดชะพระจิตเจ้าฉันใด บัดนี้ก็เป็นเช่นนั้นm 30แต่พระคัมภีร์เขียนไว้ว่าอย่างไร พระคัมภีร์เขียนไว้ว่า จงขับไล่หญิงที่เป็นทาสและบุตรของนางออกไป เพราะบุตรของหญิงทาสจะไม่มีส่วนในมรดกกับบุตรของหญิงอิสระ 31ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย เรามิใช่บุตรของหญิงทาส แต่เป็นบุตรของหญิงอิสระ

 

4 a ณ ที่นี้ เปาโลเสนอการเปรียบเทียบอีกแบบหนึ่งจากการพิจารณาคดีในศาล แม้ชาวยิวจะได้รับเลือกเป็นทายาททางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยพวกเขายังเป็นเพียงทาสของธรรมบัญญัติ (ข้อ 3) คริสตชนคนใดที่ต้องการทำตนเป็นทาสของธรรมบัญญัติก็เท่ากับว่าเขากลับไปมีสภาพเป็นเด็กอีก (ดูข้อ 9)

b เช่นเดียวกับในตอนอื่นๆ ณ ที่นี้ เปาโลถือว่า "ธรรมบัญญัติและกิจการของธรรมบัญญัติ" เป็นส่วนหนึ่งของโลกวัตถุเหมือนกับที่พูดไว้ใน คส 2:8, 20 เปาโลพูดว่าเราเป็นทาสของวัตถุซึ่งประกอบขึ้นเป็นจักรวาล อันเป็นสนามปฏิบัติการของธรรมบัญญัติ (ข้อ 10; คส 2:16) และเป็นทาสของจิตซึ่งใช้ธรรมบัญญัติเป็นเครื่องมือ (กท 3:19 เชิงอรรถ k; คส 2:15, 18) เพื่อครอบครองจักรวาลนี้

c แปลตามตัวอักษรได้ว่า "ความสมบูรณ์ของเวลามาถึง" ประโยคนี้หมายความว่า ยุคของพระเมสิยาห์หรือยุคสุดท้ายได้มาถึงแล้ว เป็นการยุติการรอคอยอันยาวนานหลายศตวรรษ ประหนึ่งว่ามาตรวัดนั้นเต็มเปี่ยมแล้ว (ดู มก 1:15; และ กจ 1:7 เชิงอรรถ i; 1 คร 10:11; อฟ 1:10; ฮบ 1:2; 9:26; 1 ปต 1:20)

d การไถ่กู้อาจมองได้สองด้าน คือ ในด้านลบหมายถึงอิสรภาพจากการเป็นทาส และในด้านบวกหมายถึงการเป็นบุตรบุญธรรม แต่ให้สังเกตว่าการเป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่เป็นเพียงสิทธิที่จะได้รับมรดกเท่านั้น (ข้อ 7; ดู 3:29) แต่เหนือสิ่งอื่นใด เป็นการประทานชีวิตใหม่ให้จริงๆ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์กับทั้งสามพระบุคคล (ข้อ 6) (ดู 2 คร 13:13 เชิงอรรถ e)

e ชาวกาลาเทียกลับใจเพราะพระเจ้า "ผู้ทรงรู้จักพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะรู้จักพระองค์"

f คงจะหมายถึงการเป็นเหมือนเปาโลในการเลิกปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ (เทียบ 1 คร 9:21)

g ความเจ็บป่วยคงทำให้เปาโลต้องพักอยู่กับชาวกาลาเทียเป็นเวลานานกว่าที่ตั้งใจไว้ และเปาโลจึงถือโอกาสนั้นประกาศข่าวดี

h สำเนาโบราณบางฉบับอ่านได้ว่า "จงเอาใจใส่ทำดีตลอดเวลา"

i ในที่นี้ เปาโลหมายถึงคำยืนยันจากพระคัมภีร์ (ดู รม 3:19 เชิงอรรถ f) เพื่อจะได้รับพระสัญญา ไม่เพียงพอที่จะเป็นเชื้อสายของอับราฮัม (ดู มธ 3:9) ไม่เพียงพอที่จะสืบเชื้อสายเหมือนกับอิชมาเอล แต่จำเป็นต้องสืบเชื้อสายตามพระสัญญาเช่นเดียวกับอิสอัค (กท 4:23) คือจำเป็นจะต้องเป็นเชื้อสายฝ่ายจิตไม่เพียงแต่ถือกำเนิดตามสายโลหิตเท่านั้น (กท 4:29) ดังนั้น การบังเกิดของอิสอัคจึงเป็นรูปแบบของการบังเกิดใหม่ของคริสตชน (กท 4:28; เทียบ รม 9:6ฯ) เปาโลจะใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเพิ่มเติมเพื่อเสริมความคิดพื้นฐานนี้

j แปลตามตัวอักษรได้ว่า "ตามเนื้อหนัง" นั่นคือตามวิถีปกติของธรรมชาติ (ดู รม 7:5 เชิงอรรถ c) โดยที่พระเจ้าไม่ทรงกระทำอัศจรรย์เพื่อให้พระสัญญาสำเร็จไป

k "ซีนายเป็นภูเขาลูกหนึ่งในแคว้นอาราเบีย" บางฉบับว่า "นางฮาการ์ หมายถึง ภูเขาซีนายในแคว้นอาราเบีย"

l หมายถึง การเป็นทาสของธรรมบัญญัติ ตรงกันข้ามกับกรุงเยรูซาเล็มของพระเมสสิยาห์ (เทียบ อสย 2:2) ซึ่งแม้จะเป็นหมันอยู่ช้านาน แต่บัดนี้ได้ให้กำเนิดบุตรแล้ว (ข้อ 27; เทียบ อสย 54:1-6; วว 21:1-3)

m หลังจากที่เปาโลได้เปรียบเทียบอิชมาเอลกับชาวยิว และอิสอัคกับคริสตชนแล้ว เปาโลให้ข้อสังเกตสองประการไว้ในข้อ 29 และ 30 ตามธรรมประเพณีของชาวยิวบางกระแส อิชมาเอล "ได้เบียดเบียน" อิสอัค และตามพระคัมภีร์ นางซาราห์เห็นว่าอิชมาเอลเป็นคู่แข่งของบุตรของนาง จึงขอให้สามีขับไล่นางฮาการ์ออกไป (ปฐก 21:9)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก