“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

II. หลักคำสอน

ประสบการณ์ของคริสตชน

3 1ชาวกาลาเทียโง่เขลาเอ๋ย ใครสะกดท่านให้มึนงงไปได้ ทั้งๆ ที่ภาพของพระเยซู
คริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนaปรากฏอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว 2ข้าพเจ้าอยากรู้จากท่านเพียงข้อเดียวเท่านั้นว่า ท่านได้รับพระจิตเจ้าเพราะท่านปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ หรือเพราะท่านเชื่อการประกาศข่าวดี 3ท่านโง่เขลาถึงเพียงนี้เทียวหรือ ท่านเริ่มต้นด้วยพระจิตเจ้า แต่บัดนี้ท่านจะมาจบลงด้วยการกระทำตามธรรมชาติอีกb 4ประสบการณ์มากมายที่ท่านได้รับมานั้นcไร้ประโยชน์แล้วหรือ 5ก็ดูเหมือนจะไร้ประโยชน์แล้วจริงๆ พระองค์ผู้ประทานพระจิตเจ้าให้ท่าน และทรงแสดงการอัศจรรย์ต่างๆ ในหมู่ท่านทั้งหลายทรงกระทำเช่นนั้น เพราะท่านปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ หรือเพราะท่านยอมเชื่อการประกาศข่าวดี

พยานจากพระคัมภีร์ : ความเชื่อและธรรมบัญญัติ

6เช่นเดียวกัน อับราฮัมมีความเชื่อในพระเจ้า และนี่ก็จัดว่าเป็นความชอบธรรมสำหรับเขา 7ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า คนที่มีความเชื่อนั่นแหละคือบุตรของอับราฮัม 8พระคัมภีร์เห็นล่วงหน้าแล้วว่าพระเจ้าจะโปรดให้คนต่างศาสนาเป็นผู้ชอบธรรมโดยความเชื่อ พระองค์จึงทรงประกาศข่าวดีล่วงหน้าแก่อับราฮัมว่า อาศัยท่านนานาชาติจะได้รับพระพร 9ดังนั้น ผู้ที่มีความเชื่อจึงได้รับพระพรร่วมกับอับราฮัมผู้มีความเชื่อ

คำสาปแช่งจากธรรมบัญญัติ

10ผู้ใดที่พึ่งการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ ย่อมถูกสาปแช่ง เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ทุกคนที่ไม่มั่นคงในการปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือธรรมบัญญัติย่อมถูกสาปแช่ง 11เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าได้เพราะธรรมบัญญัติ เพราะผู้ชอบธรรมจะดำรงชีวิตอยู่โดยความเชื่อ 12ธรรมบัญญัติมิได้มาจากความเชื่อd ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติก็จะพบชีวิตอาศัยการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติเหล่านั้น 13พระคริสตเจ้าทรงไถ่กู้เราให้รอดพ้นจากการสาปแช่งของธรรมบัญญัติโดยทรงถูกสาปแช่งแทนเราe เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ทุกคนที่ถูกแขวนประจานบนต้นไม้ จงถูกสาปแช่ง 14เพื่อพระพรที่
อับราฮัมได้รับจะได้ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้าไปถึงคนต่างศาสนาด้วย เพื่อเราจะได้รับพระจิตเจ้าfตามพระสัญญาโดยอาศัยความเชื่อ

ธรรมบัญญัติมิได้ลบล้างพระสัญญา

15พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างจากชีวิตประจำวัน แม้ว่าพินัยกรรมจะเป็นการกระทำของมนุษย์ แต่เมื่อได้รับการรับรองแล้ว ก็ไม่มีใครอาจลบล้างหรือเพิ่มเติมข้อความใดได้อีก 16พระเจ้าประทานพระสัญญาให้แก่อับราฮัมและเชื้อสายของเขา พระคัมภีร์มิได้กล่าวว่า “ให้แก่บรรดาเชื้อสาย” ซึ่งหมายถึงหลายคน แต่หมายถึงคนเดียวว่า “ให้แก่เชื้อสายของท่านg ซึ่งหมายถึงพระคริสตเจ้า 17ข้าพเจ้าจึงพูดว่าธรรมบัญญัติที่ตามมาสี่ร้อยสามสิบปีภายหลัง ไม่อาจทำให้พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงรับรองไว้ก่อนแล้วนั้นเป็นโมฆะ จนกระทั่งลบล้างพระสัญญาได้h 18เพราะถ้ามรดกมาจากธรรมบัญญัติ ก็มิได้มาจากพระสัญญาอีกต่อไป แต่พระเจ้าทรงแสดงพระกรุณาแก่อับราฮัมโดยทางพระสัญญา

จุดประสงค์ของธรรมบัญญัติ

19ดังนั้น ธรรมบัญญัติมีไว้เพื่ออะไร ธรรมบัญญัติถูกเพิ่มมาให้เพราะการล่วงละเมิดต่างๆi จนกว่า “เชื้อสาย” ซึ่งจะต้องได้รับพระสัญญาจะมาถึงj ธรรมบัญญัติได้รับการประกาศโดยทางทูตสวรรค์kอาศัยคนกลาง 20ถ้ามีคนเดียวก็ไม่มีคนกลาง แต่พระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียวl 21ดังนั้น ธรรมบัญญัติขัดแย้งกับพระสัญญาหรือ เปล่าเลย เพราะถ้าพระเจ้าประทานธรรมบัญญัติที่ให้ชีวิตได้ ความชอบธรรมก็คงจะมาจากธรรมบัญญัติอย่างแท้จริง 22แต่พระคัมภีร์เขียนไว้ว่า ทุกสิ่งถูกจองจำไว้ใต้อำนาจของบาป เพื่อพระสัญญาจะประทานแก่ผู้ที่มีความเชื่อ โดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าm

ความเชื่อมาถึง

23ก่อนที่ความเชื่อจะมาถึง ธรรมบัญญัติควบคุมดูแลเราอย่างเคร่งครัด จนกว่าความเชื่อจะถูกเปิดเผย 24ดังนั้น ธรรมบัญญัติจึงเป็นเหมือนครูพี่เลี้ยงnนำเราไปพบพระคริสตเจ้า เพื่อเราจะได้เป็นผู้ชอบธรรมโดยอาศัยความเชื่อ 25แต่เมื่อความเชื่อมาถึงแล้ว เราก็ไม่ถูกครูพี่เลี้ยงควบคุมดูแลอีกต่อไป 26ท่านทุกคนoเป็นบุตรของพระเจ้า โดยอาศัยความเชื่อในพระคริสตเยซู 27เพราะท่านทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปpในพระคริสตเจ้า ก็สวมพระคริสตเจ้าไว้ 28ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่มีทาสหรือมีไทย ไม่มีชายหรือมีหญิงอีกต่อไป เพราะท่านทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเยซูq 29และถ้าท่านเป็นของพระคริสตเจ้าแล้ว ท่านก็เป็น “เชื้อสาย” ของอับราฮัมr เป็นทายาทตามพระสัญญา

 

3 a รากฐานของคำสอนทุกข้อของเปาโลคือความคิดที่ว่าเราได้รับการไถ่ให้รอดพ้นเพราะพระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ (ดู 1:1-4; 6:14; กจ 13:26-39; 1 คร 1:17-25; 2:2; 15:1-4; เชิงอรรถ a; 1 ธส 1:9, 10)

b ในที่นี้ การกระทำตามธรรมชาติ (ตามตัวอักษรว่า “เนื้อหนัง”) อาจหมายถึงการเข้าสุหนัต ซึ่งผู้นิยมลัทธิยิวเทศน์สอนว่าต้องทำ

c บางคนแปลว่า "ความทุกข์ยากทั้งหมดที่พวกท่านได้รับ"

d ธรรมบัญญัติเรียกร้องวิถีการดำเนินชีวิตที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทุกข้อ (ข้อ 10 และ 5:3 เทียบ ยน 2:10) แต่การเรียกร้องเช่นนี้ไม่ช่วยให้ดำเนินชีวิตเช่นนี้ได้ (เทียบ กจ 15:10; รม 7:7 เชิงอรรถ d)

e เพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติจากการถูกสาปแช่ง ซึ่งมนุษย์ถูกสาปอยู่ เพราะไม่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ พระ
คริสตเจ้าทรงยอมรับคำสาปแช่งนั้นแทน (ดู รม 8:3 เชิงอรรถ c; 2 คร 5:21; คส 2:14) เปาโลยกคำสาปแช่งจาก ฉธบ 21:23 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาเก่าแก่มาอ้างตามแบบของธรรมาจารย์ชาวยิว คืออ้างตอนหนึ่งตอนใด หรืออ้างเพียงคำเดียวจากพระคัมภีร์ก็ได้ เพื่อสนับสนุนเหตุผลของตน พระคริสตเจ้าทรงพอพระทัยที่จะถูกชาวยิวเรียกว่าเป็นอาชญากร เหมือนกับผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ ใน อสย 53

f แปลตามตัวอักษรได้ว่า "พระสัญญาของพระจิตเจ้า" หรือบางฉบับว่า "คำอวยพรของพระจิตเจ้า"

g บางครั้งพระคัมภีร์ใช้คำที่หมายถึงหมู่คณะในเอกพจน์ ในความหมายปัจเจกบุคคล เปาโลจึงเล่นคำในทำนองเดียวกัน เพื่อสนับสนุนเหตุผลความคิดของตน

h พระสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้แก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น (ปฐก 12:1 เชิงอรรถ a; 15:1 เชิงอรรถ a; รม 4:13 เชิงอรรถ f; ฮบ 11:8) ในที่นี้ถือเป็นพินัยกรรมที่ไม่มีเงื่อนไข (ดู ฮบ 9:16, 17) คือเป็นการกระทำที่เกิดขึ้น หรือ "ได้รับการรับรอง" ก่อนที่พระเจ้าประทานธรรมบัญญัติให้ ถ้าหากว่าหลังจากนั้นเวลาช้านานพระเจ้าจะประทานให้ตามที่ทรงสัญญาเพราะผู้รับปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ ก็หมายความว่า พระสัญญาไม่เป็นสัญญาอีกต่อไป แต่กลับเป็นข้อตกลงของสองฝ่าย (ข้อ 20) และเท่ากับว่าพระเจ้าทรงขัดแย้งตนเอง แต่ในความเป็นจริงพระเจ้าประทานธรรมบัญญัติให้เพื่อจุดประสงค์อื่น (ข้อ 19-24) คือ เพื่อเปิดเผยบาปและเตรียมมนุษย์ไว้ให้เชื่อในพระคริสตเจ้า (ข้อ 24-25)

i "ธรรมบัญญัติถูกเพิ่มมาให้เพราะการล่วงละเมิด" ดูความหมายของประโยคสั้นๆ นี้ในเชิงอรรถ h; และ รม 7:7 เชิงอรรถ d

j บางฉบับว่า "ธรรมบัญญัติเรื่องกิจการมีไว้เพื่ออะไร ธรรมบัญญัติถูกเพิ่มเติมจนกว่าเชื้อสายซึ่งจะต้องได้รับพระสัญญาจะมาถึง”

k ตามธรรมประเพณีของชาวยิว ทูตสวรรค์อยู่ที่ภูเขาซีนายเมื่อพระเจ้าประทานธรรมบัญญัติ และ "คนกลาง" คือโมเสส (ดู กจ 7:38 เชิงอรรถ k)

l พระเจ้าประทานธรรมบัญญัติให้โดยผ่านคนกลาง แต่พระองค์ประทานพระสัญญาให้โดยตรง

m ความชอบธรรมเป็นพระคุณที่พระเจ้าประทานให้เปล่าๆ ไม่มีใครอ้างเอาเป็นสิทธิ หรือเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ

n ในที่นี้ "ครูพี่เลี้ยง" หมายถึง ทาสที่มีการศึกษาซึ่งมีหน้าที่ติดตามบุตรของเจ้านายไปหาครูที่โรงเรียน และเสริมการสอนให้สมบูรณ์ขณะที่เดินทางไป หน้าที่ของครูพี่เลี้ยงจะเสร็จสิ้นลงเมื่อได้นำเด็กไปหาครูเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของธรรมบัญญัติก็เช่นเดียวกัน เป็นเพียงการเตรียมและมีบทบาทชั่วคราว ซึ่งจบลงเมื่อความเชื่อในพระคริสตเจ้าและพระหรรษทานของพระองค์มาถึง (รม 6:14-15 เชิงอรรถ g; ดู มธ 5:17 เชิงอรรถ h)

o "ทุกคน" หมายถึง ไม่เพียงแต่ "เรา" ซึ่งเป็นชาวยิว แต่หมายถึง "ท่าน" ซึ่งไม่ใช่ชาวยิวด้วย

p ความเชื่อและศีลล้างบาปไม่ใช่สองสิ่งที่ขัดแย้งกัน แต่มีความสัมพันธ์กันโดยตรง (ดู รม 6:4 เชิงอรรถ a)

q บางฉบับอ่านได้ว่า "ท่านทุกคนเป็นของพระคริสตเยซู”

r เปาโลหวนพูดถึงเรื่องเชื้อสายของอับราฮัม (ข้อ 6-9) อีกครั้งหนึ่ง เชื้อสายนี้ไม่หมายถึงเชื้อสายทางสายโลหิต แต่หมายถึงเชื้อสายทางความเชื่อ ซึ่งทำให้ผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้ากลายเป็นคนของพระองค์และเป็นบุตรของพระเจ้า (ดู ฟป 3:3)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก