“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส

คำทักทาย

1 1จากเปาโล อัครสาวกของพระคริสตเยซู ตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์a ซึ่งมีความเชื่อในพระคริสตเยซู

2ขอพระหรรษทานและสันติสุขจากพระเจ้า พระบิดาของเรา และจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า สถิตกับท่านทั้งหลายเถิด

I. ธรรมล้ำลึกเรื่องความรอดพ้นและพระศาสนจักร

แผนการความรอดพ้น

3ขอถวายพระพรแด่พระเจ้า พระบิดาของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

พระองค์ทรงอวยพรแก่เราโดยประทานพระพรนานาประการของพระจิตเจ้าจากสวรรค์เดชะพระคริสตเจ้าb

4พระเจ้าทรงเลือกสรรเราในพระคริสตเจ้าแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเนรมิตสร้างโลก เพื่อให้เราศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินเฉพาะพระพักตร์พระองค์ด้วยความรักc

5พระเจ้าทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วที่จะให้เราเป็นบุตรบุญธรรมd เดชะพระเยซูคริสตเจ้า ตามพระประสงค์ที่พอพระทัย

6เพื่อสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระหรรษทานของพระองค์e ซึ่งโปรดประทานให้เราเดชะพระบุตรผู้ทรงเป็นที่รัก

7ในองค์พระคริสตเจ้า เราได้รับการไถ่กู้เดชะพระโลหิต คือได้รับการอภัยบาปf นี่คือพระหรรษทานอันอุดม 8ซึ่งพระเจ้าgประทานแก่เราอย่างล้นเหลือ ให้มีปรีชาและรอบรู้ทุกอย่าง

9พระองค์ทรงเผยให้เรารู้ถึงพระประสงค์เร้นลับของพระองค์h ซึ่งพอพระทัยดำริไว้ล่วงหน้าในพระคริสตเจ้า

10พระองค์จะทรงกระทำตามแผนการนี้เมื่อถึงเวลากำหนดi โดยทรงนำทุกสิ่งทั้งที่อยู่บนสวรรค์และบนแผ่นดิน ให้มารวมกันอยู่ใต้ปกครองของพระคริสตเจ้า พระประมุขแต่เพียงพระองค์เดียวj

11ในองค์พระคริสตเจ้านี้k เราได้รับเลือกlเป็นพิเศษไว้ล่วงหน้าตามพระประสงค์ของพระองค์ ผู้ทรงกระทำทุกสิ่งให้เป็นไปตามแผนการนั้น

12เพื่อเราจะได้สรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เพราะเราเป็นคนแรกที่มีความหวังในพระคริสตเจ้า

13ในองค์พระคริสตเจ้านี้ ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกันm ได้ฟังพระวาจาแห่งความจริง คือข่าวดีอันนำความรอดพ้นมาให้ ท่านได้เชื่อแล้ว จึงได้รับพระจิตเจ้า ซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้nนั้น เป็นตราประทับ

14และเป็นประกันของมรดกที่เราจะได้รับเพื่อปลดปล่อยเราให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้าo เป็นการสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์

ชัยชนะและความยิ่งใหญ่ของพระคริสตเจ้า

15เมื่อข้าพเจ้ารู้ถึงความเชื่อของท่านทั้งหลายในพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า และรู้ถึงความรักที่ท่านมีต่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคนp 16ข้าพเจ้าจึงขอบพระคุณพระเจ้าเพื่อท่าน และระลึกถึงท่านทั้งหลายในคำอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอ 17ขอพระเจ้าแห่งพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระบิดาผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ประทานพระพรแห่งปรีชาญาณและการเปิดเผยให้แก่ท่านเดชะพระจิตเจ้าq เพื่อท่านจะได้รู้ซึ้งถึงพระองค์ยิ่งๆ ขึ้น 18ขอพระองค์โปรดให้ตาแห่งใจrของท่านสว่างขึ้น เพื่อจะรู้ว่าพระองค์ทรงเรียกท่านให้มีความหวังประการใด และความรุ่งเรืองที่บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จะได้รับเป็นมรดกนั้นบริบูรณ์เพียงใด 19อีกทั้งรู้ด้วยว่า พระอานุภาพยิ่งใหญ่ของพระองค์ต่อเราผู้มีความเชื่อนั้นล้ำเลิศเพียงใด พระอานุภาพและพละกำลังนี้ 20พระองค์ทรงแสดงในองค์พระคริสตเจ้า เมื่อทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย และให้ประทับเบื้องขวาของพระองค์ในสวรรค์ 21เหนือเทพนิกรเจ้า เทพนิกรอำนาจ เทพนิกรฤทธิ์ เทพนิกรนาย และเหนือนามทั้งปวงsที่อาจเรียกขานได้ทั้งในยุคนี้และในยุคหน้า 22พระเจ้าทรงวางทุกสิ่งไว้ใต้พระบาทของพระคริสตเจ้า และทรงแต่งตั้งพระคริสตเจ้าไว้เหนือสรรพสิ่ง ให้ทรงเป็นศีรษะของพระศาสนจักร 23ซึ่งเป็นพระวรกายของพระองค์ เป็นความบริบูรณ์ของพระผู้ทรงอยู่ในทุกสิ่ง และทรงกระทำให้ทุกสิ่งบริบูรณ์t

 

1 a สำเนาโบราณบางฉบับเติมคำว่า “ซึ่งอยู่ที่เมืองเอเฟซัส” คำว่า “ที่เมืองเอเฟซัส” อาจจะไม่ใช่ข้อความดั้งเดิม ส่วนคำว่า “ซึ่งอยู่ที่…” อาจเป็นคำที่เติมตั้งแต่สมัยแรกๆ ทีเดียว โดยเว้นช่องว่างไว้ให้เติมชื่อเมืองของพระศาสนจักรที่จะรับจดหมายนั้น

b ตั้งแต่เริ่มจดหมายทีเดียวเปาโลพูดถึงเรื่องราวในสวรรค์ ซึ่งจะเป็นเนื้อหาของจดหมายทั้งฉบับ (1:20; 2:6; 3:10; 6:12) พระพรต่างๆ ของพระจิตเจ้าที่กล่าวไว้ในข้อต่อๆ ไป ล้วนเป็นพระพรจากสวรรค์ตั้งแต่นิรันดร และจะสำเร็จบริบูรณ์เมื่อสิ้นพิภพ

c พระพรประการแรก คือ การเรียกที่พระเจ้าทรงเรียกผู้เลือกสรรให้ได้รับความสุขนิรันดร พระพรประการนี้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเร้นลับ เมื่อคริสตชนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงพระชนมชีพอย่างรุ่งโรจน์ ความรักในที่นี้ ในอันดับแรกหมายถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา จึงทรงเลือกและทรงเรียกเราให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ (เทียบ รม 11:28; คส 3:12; 1 ธส 1:4; 2 ธส 2:13) ในอันดับต่อมา ความรักนี้ยังหมายถึงความรักของเราต่อพระเจ้าอันเป็นผลตามมา และเป็นการตอบสนองความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเราอีกด้วย (เทียบ รม 5:5)

d พระพรประการที่สอง คือ การเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นหนทางให้เราบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดและต้นแบบของการเป็นบุตรบุญธรรมนี้ (เทียบ รม 8:29)

e คำว่า “พระหรรษทาน” (charis) ที่ใช้ตรงนี้ มิได้เน้นถึงของประทานภายในซึ่งบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ แต่เท่ากับให้เห็นว่าพระองค์ประทานพระพรเหล่านี้ให้เปล่าๆ (ดู อพย 24:16 เชิงอรรถ f) ความคิดหลัก 2 ประการในรายการพระพรต่างๆ ก็คือที่มาของพระพรเหล่านี้คือพระทัยกว้างขวางของพระเจ้า และจุดหมายของพระพรเหล่านี้คือ ให้สิ่งสร้างทั้งหลายรับรู้พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ สรรพสิ่งมาจากพระเจ้าและทุกสิ่งต้องกลับไปหาพระองค์

f พระพรประการที่สาม คือ การไถ่กู้เราซึ่งเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อันได้แก่การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า

g หมายถึง พระบิดา

h พระพรประการที่สี่ คือ การเปิดเผยให้เรารู้พระประสงค์เร้นลับของพระเจ้า (3:2-3; รม 16:25 เชิงอรรถ l)

i ดู กท 4:4ฯ

j ใจความสำคัญของจดหมายฉบับนี้ก็คือ อธิบายว่าบาปได้ทำให้สรรพสิ่งถูกตัดขาดจากพระเจ้าและเสื่อมสลายไป แต่บัดนี้พระคริสตเจ้าทรงบันดาลให้สรรพสิ่งได้บังเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยทรงรวบรวมทุกสิ่งเข้ามาเป็นประดุจร่างกายเดียวกับพระองค์ ซึ่งทรงเป็นศีรษะหรือประมุข เพื่อจะรวบรวมร่างกายนี้เข้าสัมพันธ์ใหม่กับพระเจ้า มนุษย์ทุกคน (ไม่ว่าชาวยิวหรือคนต่างชาติ) และทูตสวรรค์ทั้งหลายต่างร่วมรับความรอดพ้นเดียวกัน (ดู 4:10ฯ)

k ในต้นฉบับ “ในพระองค์”

l พระพรประการที่ห้า คือ การที่พระเจ้าได้ทรงเลือกชนชาติอิสราเอลเป็นประชากรของพระองค์ เพื่อเป็นประจักษ์พยานให้โลกมีความหวังในพระผู้ไถ่ เปาโลใช้คำว่า “เรา” ที่นี่ ในฐานะชาวยิวคนหนึ่ง

m พระพรประการที่หก คือ การเรียกบรรดาผู้ที่มิใช่ชาวยิวให้มารับความรอดพ้นที่ถูกสงวนไว้สำหรับชาวยิวจนถึงขณะนั้น ข้อพิสูจน์ความจริงประการนี้ก็คือ ทุกคนไม่เว้นใครต่างก็ได้รับพระจิตเจ้าตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้

n หลังจากที่อธิบายบทบาทของพระบิดาและพระบุตรในแผนการไถ่กู้แล้ว เปาโลสรุปแผนการนี้โดยพูดถึงบทบาทของพระจิตเจ้า งานไถ่กู้นี้ดำเนินมาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้พระพรของพระจิตเจ้าได้เริ่มแล้ว แต่ยังซ่อนเร้นอยู่ในโลกปัจจุบัน พระพรดังกล่าวจะปรากฏแจ้งชัดอย่างสมบูรณ์เมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์ และพระอาณาจักรของพระเจ้าจะสำเร็จบริบูรณ์ (เทียบ ลก 24:49; ยน 1:33 เชิงอรรถ k; 14:26 เชิงอรรถ d)

o แปลตามตัวอักษรว่า “การปลดปล่อยกรรมสิทธิ์” (พระเจ้าทรงได้เรามาเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์โดยเอาชีวิตพระบุตรของพระองค์เป็นสินไถ่) เปาโลนำความคิดในพันธสัญญาเดิมเรื่อง “ประชากรที่ทรงเลือกสรร” มาใช้กับพระศาสนจักรซึ่งเป็นประชากรอิสราเอลใหม่ เช่นเดียวกับที่ได้ประยุกต์ใช้ความหมายของคำอื่นๆ ในพันธสัญญาเดิมกับพระศาสนจักรด้วย เช่น พระพร ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้เลือกสรร การเป็นบุตรบุญธรรม การมีส่วนในมรดกพระสัญญา

p สำเนาโบราณบางฉบับละคำว่า “และรู้ถึงความรักที่ท่านมีต่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคน”

q พระพรที่เรามักเรียกกันโดยใช้ศัพท์เทววิทยาว่า “พระหรรษทานปัจจุบัน”

r พระคัมภีร์ใช้คำว่า “ใจ” เพื่อหมายถึงแหล่งกำเนิดความรู้และความเข้าใจเท่าๆ กับเป็นแหล่งกำเนิดความรัก มโนธรรม (ความสำนึกดีชั่ว) และอารมณ์ ความหมายของคำว่า “ใจ” ที่พบในพันธสัญญาเดิม ทั้งในด้านจริยธรรมและในด้านชีวิตสนิทกับพระเจ้า เช่น ใน ปฐก 8:21 เชิงอรรถ c ยังพบได้ในพันธสัญญาใหม่ด้วย เช่น พระเจ้าทรงล่วงรู้จิตใจ (ลก 16:15; กจ 1:24; รม 8:27) มนุษย์รักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ (มก 12:29-30//) พระเจ้าประทานพระจิตของพระองค์ลงในใจของมนุษย์ (รม 5:5 เชิงอรรถ e; 2 คร 1:22; กท 4:6) พระคริสตเจ้าทรงพำนักในใจมนุษย์ (3:17) ใจซื่อๆ (6:5; กจ 2:46; 2 คร 11:3; คส 3:22) ใจตรง (กจ 8:21) ใจบริสุทธิ์ (มธ 5:8; ยก 4:8) เป็นใจที่เปิดรับให้พระเจ้าเสด็จมาประทับและทำงานในตัวเขาอย่างเต็มที่ บรรดาคริสตชนที่อยู่กรุงเยรูซาเล็มกลุ่มแรกต่างมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในลักษณะเช่นนี้ (กจ 4:32)

s นามต่างๆ ของอำนาจในจักรวาลเหล่านี้พบได้ในวรรณคดีนอกพระคัมภีร์ของชาวยิว เปาโลมิได้อธิบายว่าอำนาจเหล่านี้มีความเป็นอยู่อย่างไร เพียงแต่ยืนยันว่าอำนาจเหล่านี้ในจักรวาลล้วนอยู่ใต้อำนาจพระคริสตเจ้า (คส 1:16; 2:10) เปาโลคิดว่าอำนาจเหล่านี้ได้แก่บรรดาทูตสวรรค์ในพันธสัญญาเดิม ซึ่งมีบทบาทในการประทานธรรมบัญญัติให้แก่ชาวอิสราเอล (กท 3:19 เชิงอรรถ k) จึงยังมีบทบาทในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นด้วย แต่ต่อมาเปาโลพิจารณาถึงอำนาจเหล่านี้ในแง่ลบมากยิ่งขึ้น (กท 4:3 เชิงอรรถ b; คส 2:15 เชิงอรรถ m) จนในที่สุดกลายเป็นอำนาจปีศาจไป (อฟ 2:2 เชิงอรรถ a; 6:12 เชิงอรรถ d; 1 คร 15:24 เชิงอรรถ p)

t พระศาสนจักรในฐานะพระวรกายของพระคริสตเจ้า (1 คร 12:12ฯ) เรียกได้ว่าเป็นความบริบูรณ์ (pleroma ดู 3:19; 4:13) เพราะรวมการสร้างใหม่ทั้งสิ้นซึ่งพระคริสตเจ้าทรงบันดาลให้เกิดขึ้น พระองค์ทรงเป็นทั้งผู้ปกครองและทรงเป็นทั้งศีรษะของพระวรกายนี้ (คส 1:15-20ฯ) ข้อความที่ว่า ทรง “อยู่ในทุกสิ่งและทำให้ทุกสิ่งบริบูรณ์…” เป็นการเน้นถึงพลานุภาพอันไม่มีขอบเขตของพระองค์ (เทียบ 1 คร 12:6; 15:28; คส 3:11)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก