(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

เปโตรไปพบนายร้อยชาวโรมันa

10 1ที่เมืองซีซารียา ชายคนหนึ่งชื่อโครเนลิอัส เป็นนายร้อยในกองทหารที่เรียกว่า “กองร้อยอิตาเลียน” 2เขาและทุกคนในครอบครัวเคารพรักและยำเกรงพระเจ้าb เขาเคยให้ทานจำนวนมากแก่ประชาชนชาวยิวและอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าอยู่เสมอ

3วันหนึ่ง เวลาประมาณบ่ายสามโมง เขาเห็นในนิมิตอย่างชัดเจน คือเห็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้าเข้ามาหา เรียกชื่อเขาว่า “โครเนลิอัสเอ๋ย” 4เขาจ้องมองทูตสวรรค์ด้วยความกลัว ถามว่า “มีธุระอะไร พระเจ้าข้า” ทูตสวรรค์ตอบว่า “คำอธิษฐานภาวนาและการทำทานของท่านเป็นเหมือนเครื่องบูชาที่พอพระทัยเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าแล้วc 5บัดนี้ ท่านจงส่งคนไปยังเมืองยัฟฟาแล้วเชิญซีโมนที่เรียกกันว่าเปโตรมาที่นี่ 6เปโตรกำลังพักอยู่กับซีโมนช่างฟอกหนังซึ่งมีบ้านอยู่ริมทะเล” 7เมื่อทูตสวรรค์ที่พูดกับเขาจากไปแล้ว โครเนลิอัสเรียกผู้รับใช้มาสองคนและเรียกทหารคนหนึ่งที่เคารพรักพระเจ้าจากบรรดาผู้ที่เขาไว้ใจได้ 8บอกทุกสิ่งที่เกิดขึ้นให้คนทั้งสามคนรู้และส่งไปยังเมืองยัฟฟา

9วันรุ่งขึ้น ขณะที่เขาทั้งสามคนกำลังเดินทางมาใกล้เมืองยัฟฟา เปโตรขึ้นไปบนดาดฟ้าของบ้านเพื่อจะอธิษฐานภาวนาเวลาเที่ยง 10เขารู้สึกหิว ขณะที่คนในบ้านกำลังเตรียมอาหาร เปโตรก็เข้าสู่ภวังค์ 11และเห็นท้องฟ้าแหวกออก สิ่งหนึ่งคล้ายผ้าผืนใหญ่ถูกมัดไว้ทั้งสี่มุมกำลังถูกหย่อนลงมายังพื้นดินd 12ในนั้นมีสัตว์นานาชนิด ทั้งสัตว์สี่เท้า สัตว์เลื้อยคลาน และนก 13มีเสียงหนึ่งพูดกับเขาว่า “เปโตรเอ๋ย จงลุกขึ้น ฆ่าสัตว์เหล่านี้กินซิ” 14เปโตรตอบว่า “ทำไม่ได้ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่เคยกินอะไรที่มีมลทินหรือไม่สะอาด” 15เสียงนั้นพูดกับเขาเป็นครั้งที่สองว่า “สิ่งที่พระเจ้าทรงชำระให้สะอาดแล้ว ท่านอย่าเรียกว่ามีมลทินเลย”e 16เสียงจากท้องฟ้านี้เกิดขึ้นถึงสามครั้ง แล้วสิ่งนั้นก็ถูกยกขึ้นไปบนท้องฟ้าทันที

17ขณะที่เปโตรกำลังคิดสงสัยว่านิมิตที่เห็นหมายความว่าอย่างไร คนที่โครเนลิอัสส่งมาก็มาถึง เขาสืบถามหาบ้านของซีโมนและมายืนที่ประตู 18ร้องถามว่าซีโมนที่เรียกกันว่าเปโตรพักอยู่ที่นี่หรือไม่ 19เปโตรยังคงครุ่นคิดถึงนิมิตนั้น พระจิตเจ้าfก็ตรัสกับเขาว่า “ดูซิ ชายสามคนgมาหาท่าน 20จงลุกขึ้น ลงไปข้างล่างและไปกับเขาเถิด อย่าลังเลเลย เพราะเราได้ส่งเขามา” 21เปโตรจึงลงไปพบชายเหล่านั้น กล่าวว่า “ข้าพเจ้านี่แหละเป็นคนที่ท่านกำลังตามหา ท่านมาที่นี่มีธุระอะไรหรือ” 22คนเหล่านั้นตอบว่า “นายร้อยโครเนลิอัสส่งพวกเรามาหาท่าน เขาเป็นผู้ชอบธรรมและยำเกรงพระเจ้า เป็นที่นับถือในหมู่ประชากรชาวยิวทุกคน ทูตสวรรค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์แนะนำเขาให้มาเชิญท่านไปที่บ้าน เพื่อจะฟังถ้อยคำที่ท่านจะกล่าว” 23เปโตรจึงเชิญชายทั้งสามคนให้เข้ามาพักค้างคืนที่บ้านนั้น

24วันรุ่งขึ้น เปโตรออกเดินทางไปกับเขา พี่น้องบางคนจากเมืองยัฟฟาก็ร่วมเดินทางด้วย วันต่อมาเขาไปถึงเมืองซีซารียา โครเนลิอัสคอยอยู่แล้ว เขาเชิญญาติพี่น้องและเพื่อนสนิทมาที่บ้านด้วย 25เมื่อเปโตรเข้าไปในบ้าน โครเนลิอัสออกมาต้อนรับ กราบเท้าของเปโตรด้วยความเคารพ 26แต่เปโตรพยุงเขาให้ลุกขึ้น พูดว่า “ลุกขึ้นเถิด ข้าพเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนท่าน” 27เปโตรสนทนากับโครเนลิอัสขณะที่เดินเข้าไปในบ้าน เขาพบผู้คนมาชุมนุมกันจำนวนมาก 28จึงพูดกับคนเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลายก็รู้อยู่แล้วว่า มีข้อห้ามมิให้ชาวยิวเข้าไปคบค้าสมาคมกับคนต่างชาติ แต่พระเจ้าได้ทรงแสดงให้ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่ควรจะเรียกใครว่าเป็นผู้มีมลทินหรือไม่สะอาด 29ดังนั้น เมื่อได้รับเชิญ ข้าพเจ้าจึงมาโดยไม่ลังเล ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายว่า ท่านเชิญข้าพเจ้ามาทำไม” 30โครเนลิอัสตอบว่า “สามวันก่อน ประมาณเวลานี้ ข้าพเจ้ากำลังอธิษฐานภาวนาเวลาบ่ายhอยู่ในบ้าน ทันใดนั้น มีชายคนหนึ่งสวมเสื้อผ้าขาวสุกใสมายืนอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้า 31กล่าวว่า ‘โครเนลิอัสเอ๋ย พระเจ้าiทรงสดับคำอธิษฐานภาวนาของท่านและทรงระลึกถึงการทำทานของท่าน 32จงส่งคนไปยังเมืองยัฟฟา เชิญซีโมนคนที่รู้จักกันในนามว่าเปโตรมาที่นี่ เขาพักอยู่ที่บ้านชายทะเลของซีโมนช่างฟอกหนัง’” 33ข้าพเจ้าจึงส่งคนไปเชิญท่านทันที และท่านก็กรุณาอย่างมากที่มา บัดนี้เราทุกคนประชุมอยู่พร้อมกันเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า เพื่อฟังคำทุกคำที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาท่านให้พูดกับเรา”

เปโตรปราศรัยที่บ้านของโครเนลิอัส

34เปโตรเริ่มพูดว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงลำเอียง 35ทุกคนที่ยำเกรงพระองค์และปฏิบัติความชอบธรรม ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด ย่อมเป็นที่พอพระทัยพระองค์j

36พระองค์ทรงมอบพระวาจาkแก่ลูกหลานของชาวอิสราเอล โดยทรงประกาศข่าวดีแห่งสันติสุขเดชะพระเยซูคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าพระองค์นี้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของทุกคน 37ท่านทั้งหลายรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วแคว้นยูเดียl เริ่มต้นmที่แคว้นกาลิลี หลังจากที่ยอห์นได้เทศน์สอนและทำพิธีล้าง 38พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านไปที่ใด ทรงกระทำความดีและทรงรักษาทุกคนที่อยู่ใต้อำนาจของปีศาจ เพราะพระเจ้าสถิตกับพระองค์ 39เราทั้งหลายเป็นพยานยืนยันถึงกิจการทั้งปวงที่พระองค์ทรงกระทำในเขตแดนของชาวยิวและที่กรุงเยรูซาเล็ม เขาประหารชีวิตพระองค์โดยตรึงบนไม้กางเขน 40แต่พระเจ้าทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพในวันที่สามn และโปรดให้พระองค์แสดงพระองค์ 41มิใช่แก่ประชาชนทั้งปวง แต่ทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาพยานที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ล่วงหน้าแล้ว คือเราทั้งหลายที่ได้กินและได้ดื่มร่วมกับพระองค์o หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย 42พระเยซูเจ้าทรงบัญชาให้เราประกาศสอนประชาชนp และเป็นพยานยืนยันว่าพระเจ้าทรงแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นผู้พิพากษามนุษย์ทุกคน ทั้งผู้เป็นและผู้ตายq 43บรรดาประกาศกทั้งปวงเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ว่า ‘ทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์จะได้รับการอภัยบาปเดชะพระนามพระองค์’”

คนต่างศาสนากลุ่มแรกรับศีลล้างบาป

44ขณะที่เปโตรกำลังพูด พระจิตเจ้าเสด็จลงมาrเหนือทุกคนที่กำลังฟังพระวาจา 45ชาวยิวผู้มีความเชื่อที่มากับเปโตรประหลาดใจที่คนต่างศาสนาได้รับพระพรของพระจิตเจ้าด้วย 46เพราะชาวยิวเหล่านี้ได้ยินคนต่างศาสนาพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ และสรรเสริญพระเจ้า เปโตรพูดว่า 47“ใครจะห้ามมิให้คนเหล่านี้รับศีลล้างบาปด้วยน้ำ ในเมื่อเขาได้รับพระจิตเจ้าเหมือนกับพวกเราแล้ว” 48เปโตรจึงสั่งsให้คนเหล่านั้นรับศีลล้างบาปเดชะพระนามพระเยซูคริสตเจ้า หลังจากนั้น เขาทั้งหลายขอให้เปโตรพักอยู่กับเขาอีกสองสามวันt

 

10 a สำหรับลูกา การกลับใจของโครเนลิอัสมีความสำคัญมาก ความสำคัญของเหตุการณ์นี้ต่อพระศาสนจักรส่วนรวมเห็นได้จากการเล่าเรื่อง และจากการเน้นถึงนิมิตตรงกันทั้งของเปโตรและของโครเนลิอัส (เช่นเดียวกับนิมิตที่เปาโลและอานาเนียเห็นใน 9:10-12) แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ ลก เชื่อมเหตุการณ์นี้กับข้อกำหนดของสภาสังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็ม (ดู 15:7-11, 14) ดูเหมือนเหตุการณ์นี้มีบทสอนสองประการคือ

1. พระเจ้าได้ทรงแสดงพระประสงค์อย่างชัดเจนว่า พระศาสนจักรต้องรับคนต่างชาติเข้ามาโดยไม่ต้องบังคับเขาให้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสส (เทียบ 10:34-35, 44-48ก; 11:1, 15-18; 15:7-11, 14; และ กท 2:1-10)

2. พระเจ้าทรงแสดงให้เปโตรรู้ว่า เขาต้องยอมเข้าพักในบ้านของผู้ไม่ได้เข้าสุหนัตด้วย เหตุการณ์นี้สะท้อนปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในสังคมระหว่างคริสตชนชาวยิวและคริสตชนต่างชาติ (เทียบ 10:10-16, 28-29; 11:2-14; และ กท 2:11-21)

b วลี “ยำเกรงพระเจ้า” (10:2, 22, 35; 13:16, 26) และ “นมัสการพระเจ้า” (13:43, 50; 16:14; 17:4, 17; 18:7) เป็นศัพท์เทคนิคสำหรับผู้เลื่อมใสและปฏิบัติตามธรรมเนียมยิวทุกอย่างเว้นแต่ไม่ได้เข้าสุหนัต (ดู 2:11 เชิงอรรถ f)

c แปลตามตัวอักษรว่า “ได้ขึ้นไปเป็นการระลึกถึงเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า” วลีนี้ชวนให้คิดถึง “การถวายบูชาเพื่อให้พระเจ้าทรงระลึกถึง” (ดู ลนต 2:2, 9, 16; ทบต 12:12 เปรียบการอธิษฐานภาวนาว่าเป็นเหมือนการถวายบูชาเพื่อให้พระเจ้าทรงระลึกถึง)

d สำเนาโบราณบางฉบับละ “ถูกมัดไว้”

e เปโตรต้องเลิกกังวลเรื่องข้อกำหนดของธรรมบัญญัติเกี่ยวกับการแตะต้องสิ่งมีมลทิน (11:9 เทียบ มธ 15:1-20//; รม 14:14, 17) หลักการนี้จะถูกนำมาใช้อ้างใน 15:9 พระเจ้าได้ทรงชำระจิตใจของคนต่างชาติที่มีความเชื่อแล้ว แม้ว่าร่างกายของเขายังอาจนับว่ามีมลทินเพราะยังไม่ได้รับพิธีสุหนัตก็ตาม จึงสรุปได้ในทางปฏิบัติว่า เปโตรไม่ต้องกลัวที่จะเข้าสมาคมกับคนที่ไม่ได้รับพิธีสุหนัต (10:27-28)

f บทบาทของพระจิตเจ้าในเรื่องนี้มีลักษณะคล้ายกับบทบาทของทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า (เทียบ 8:26, 29)

g สำเนาโบราณบางฉบับละ “สามคน” (ดู 11:11)

h สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ข้าพเจ้ากำลังจำศีลอดอาหารและอธิษฐานภาวนา”

i ต้นฉบับภาษากรีกใช้กริยาในรูปกรรมวาจก ชวนให้คิดว่าทูตสวรรค์เป็นผู้นำคำอธิษฐานภาวนาและทานไปถวายแด่พระเจ้า (เทียบ ทบต 12:12; มธ 18:11, 14; วว 5:8; 8:3)

j “เป็นที่พอพระทัย” เป็นสำนวนเกี่ยวกับการถวายบูชา (ดู ข้อ 4) เครื่องบูชาไร้มลทินและผู้ถวายเครื่องบูชานั้นเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า (ลนต 1:3; 19:5; 22:19-27) ประกาศกอิสยาห์ (56:7) ได้กล่าวล่วงหน้าไว้ว่า เมื่อถึงเวลากำหนด เครื่องบูชาของคนต่างศาสนาจะ “เป็นที่พอพระทัย” ของพระเจ้า (ดู มลค 1:10-11 เทียบ รม 15:16; ฟป 4:18; 1 ปต 2:5)

k สำเนาโบราณบางฉบับว่า “พระวาจาที่พระองค์ทรงส่งมา”

l ข้อ 37-42 สรุปเรื่องราวในพระวรสาร (ดู 1:21-22; 2:22 เชิงอรรถ n) โดยเน้นเรื่องเดียวกันกับที่ลูกาเน้นในพระวรสารของตน

m ในต้นฉบับภาษากรีกไม่ชัดว่า ใครเป็นผู้ “เริ่ม”

n “กลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” เป็นสูตรตายตัวที่คริสตชนใช้ในการเทศน์สอนและแสดงความเชื่อ เราพบสูตรนี้เป็นครั้งแรกใน 1 คร 15:4 พร้อมกับวลีที่ว่า “ตามความในพระคัมภีร์” สูตรนี้สะท้อน ยนา 2:1 (ดู มธ 12:40; ดู ฮชย 6:2) เราพบสูตรนี้ได้อีกใน มธ 16:21; 17:23; 20:19; 27:64; ลก 9:22; 18:33; 24:7, 46

o สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “และเป็นเพื่อนของพระองค์เป็นเวลาสี่สิบวัน”

p หมายถึง ประชากรที่ทรงเลือกสรร คือ ชาวอิสราเอล (10:2; 21:28)

q “ผู้เป็น” หมายถึง คนที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ ส่วน “ผู้ตาย” คือ ผู้ที่สิ้นใจไปก่อนหน้านั้น และจะกลับคืนชีพมารับการพิพากษา (เทียบ 1 ธส 4:13-5:10) เมื่อพระเจ้าทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพ ก็ทรงแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นผู้พิพากษาสูงสุด (17:31; ยน 5:22, 27; 2 ทธ 4:1, 1 ปต 4:5) ดังนั้น การประกาศเรื่องการกลับคืนชีพจึงเป็นการเชื้อเชิญประชาชนให้เป็นทุกข์กลับใจ (เทียบ กจ 17:30-31)

r เหตุการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็น “วันเปนเตกอสเตของคนต่างชาติ” ดังที่เปโตรให้ข้อสังเกตไว้ (ข้อ 47; 11:15; 15:8) ว่าเป็นเหตุการณ์เหมือนกับในวันเปนเตกอสเตครั้งแรก

s โดยปกติแล้วบรรดาอัครสาวกไม่ทำพิธีล้างบาปด้วยตนเอง แต่ใช้ให้ผู้อื่นทำ (ดู 19:5; 1 คร 1:14, 17 ดู 1 ยน 4:2 ด้วย)

t คริสตชนชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มคิดว่าการที่เปโตรยอมพักแรมในบ้านของผู้ไม่ได้เข้าสุหนัต เป็นการผิดต่อธรรมบัญญัติที่หนักกว่าการอนุญาตให้เขารับศีลล้างบาป (11:2-3; เทียบ 10:28) ปัญหาเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นอีกที่เมืองอันทิโอก (กท 2:11ฯ)