“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

วันเปนเตกอสเตa

2 1เมื่อวันเปนเตกอสเตมาถึง บรรดาศิษย์ทุกคนbมาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน 2ทันใดนั้นมีเสียงจากฟ้าเหมือนเสียงลมพัดแรงกล้าc ทุกคนที่อยู่ในบ้านได้ยิน 3เขาเห็นเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้นdแยกไปอยู่เหนือศีรษะของเขาแต่ละคน 4ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม และเริ่มพูดภาษาอื่นๆ ตามที่พระจิตเจ้าประทานให้พูด

5ขณะนั้นที่กรุงเยรูซาเล็มมีชาวยิวผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระเจ้าeมาจากทุกชาติทั่วโลก 6เมื่อประชาชนได้ยินเสียงนี้ จึงมาชุมนุมกันจำนวนมาก รู้สึกฉงนสนเท่ห์ เพราะแต่ละคนได้ยินคนเหล่านี้พูดภาษาของตน 7และประหลาดใจอย่างยิ่ง กล่าวว่า “ทุกคนที่กำลังพูดอยู่นี้เป็นชาวกาลิลีมิใช่หรือ 8แล้วทำไมเราแต่ละคนจึงได้ยินเขาพูดภาษาท้องถิ่นของเรา 9เราชาวปารเธีย ชาวมีเดีย และชาวเอลาม บางคนอาศัยอยู่ในเขตเมโสโปเตเมีย แคว้นยูเดีย แคว้นคัปปาโดเซีย แคว้นปอนทัสและแคว้นอาเซีย 10แคว้นฟรีเจียและแคว้นปัมฟีเลีย บางคนมาจากอียิปต์และเขตของประเทศลิเบียรอบๆ เมืองไซรีน บางคนมาจากกรุงโรม 11ทั้งชาวยิวและผู้กลับใจเข้านับถือลัทธิยิวf บางคนเป็นชาวเกาะครีตและชาวอาหรับg พวกเราได้ยินคนเหล่านี้ประกาศกิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเป็นภาษาของเรา” 12ทุกคนประหลาดใจและฉงนสนเท่ห์พูดกันว่า “นี่หมายความว่าอย่างไร” 13แต่บางคนหัวเราะเยาะ กล่าวว่า “พวกนี้ดื่มเหล้ามากเกินไป”

เปโตรปราศรัยต่อหน้าประชาชน

14เปโตรยืนขึ้นพร้อมกับบรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนh และพูดกับประชาชนด้วยเสียงดังว่า “ท่านทั้งหลาย ชาวยูเดีย และท่านที่อาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม จงตั้งใจฟังวาจาของข้าพเจ้าเถิด แล้วท่านจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น 15คนเหล่านี้ไม่เมาเหล้าดังที่ท่านคิด เพราะเพิ่งสามโมงเช้าiเท่านั้น 16แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามพระดำรัสของพระเจ้าที่ตรัสโดยทางประกาศกโยเอลว่าj

17‘พระเจ้าตรัสว่า ในวันสุดท้ายk เราจะให้พระจิตเจ้าของเราแก่มนุษย์ทุกคน

บรรดาบุตรชายและบุตรหญิงของท่านจะประกาศพระวาจา

บรรดาคนหนุ่มของท่านจะเห็นนิมิต

บรรดาคนชราของท่านจะฝันเรื่องต่างๆ

18ในวันเหล่านั้น เราจะให้พระจิตเจ้าของเราแก่ทุกคน

แม้กระทั่งทาสชาย ทาสหญิงของเราด้วย

และเขาจะประกาศพระวาจา

19เราจะทำปาฏิหาริย์ในท้องฟ้าเบื้องบน

จะทำเครื่องหมายอัศจรรย์บนแผ่นดินเบื้องล่าง

เป็นเลือด ไฟและกลุ่มควัน

20ดวงอาทิตย์จะมืดไป

ดวงจันทร์จะกลายเป็นเลือด

ก่อนที่วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาถึงl

วันอันยิ่งใหญ่และรุ่งโรจน์

21เวลานั้น ทุกคนที่เรียกขานพระนามองค์พระผู้เป็นเจ้าจะรอดพ้นm

22ชาวอิสราเอลทั้งหลาย จงฟังวาจาเหล่านี้เถิดn พระเยซูชาวนาซาเร็ธ เป็นบุรุษที่พระเจ้าทรงส่งมาหาท่าน พระเจ้าทรงรับรองพระองค์โดยประทานอำนาจทำอัศจรรย์ ปาฏิหาริย์และเครื่องหมายต่างๆ เดชะพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงกระทำการเหล่านี้ในหมู่ท่านทั้งหลายดังที่ท่านรู้อยู่แล้ว 23พระเยซูเจ้าทรงถูกมอบในมือของท่านตามที่พระเจ้ามีพระประสงค์และทรงทราบoล่วงหน้า ท่านใช้มือของบรรดาคนอธรรมpประหารชีวิตพระองค์โดยตรึงบนไม้กางเขน 24แต่พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพ พ้นจากอำนาจแห่งความตายq เพราะความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้ 25ดังที่กษัตริย์ดาวิดตรัสถึงพระองค์rว่า

‘ข้าพเจ้าเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้าเสมอ

พระองค์ประทับอยู่เบื้องขวา ข้าพเจ้าจะไม่หวั่นไหว

26ดังนั้น จิตใจของข้าพเจ้าจึงยินดี

ปากของข้าพเจ้ากล่าวถ้อยคำแสดงความเกษมเปรมปรีดิ์

ร่างกายที่ตายได้ของข้าพเจ้า พำนักอยู่ในความหวัง

27เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้าไว้ในแดนผู้ตาย

และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย

28พระองค์ทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้จักทางแห่งชีวิต

พระองค์จะทรงทำให้ข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยความยินดีเฉพาะพระพักตร์พระองค์

 

29พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอบอกท่านตรงๆ ว่า กษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษของเราสิ้นพระชนม์และถูกฝังไว้ ที่ฝังพระศพของพระองค์ยังคงอยู่ในหมู่เราsจนถึงทุกวันนี้ 30พระองค์ยังทรงเป็นประกาศกด้วย ทรงทราบว่าพระเจ้าทรงปฏิญาณและทรงสัญญาว่าจะทรงให้เชื้อพระวงศ์ผู้หนึ่งของพระองค์ประทับบนพระบัลลังก์สืบต่อมา 31กษัตริย์ดาวิดทรงเห็นล่วงหน้า จึงตรัสถึงเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าดังนี้ พระองค์มิได้ทรงถูกทอดทิ้งไว้ในแดนผู้ตาย และร่างกายของพระองค์จะไม่เน่าเปื่อย 32พระเยซูเจ้าพระองค์นี้ พระเจ้าทรงบันดาลให้กลับคืนพระชนมชีพ เราทุกคนเป็นพยานได้ 33พระองค์ทรงได้รับการเทิดทูนให้ประทับเบื้องขวาtของพระเจ้า พระองค์ทรงได้รับพระจิตเจ้าจากพระบิดาตามพระสัญญาu และประทานพระจิตเจ้านี้ให้เราดังที่ท่านได้เห็นและได้ยินอยู่นี้ 34กษัตริย์ดาวิดยังไม่เคยเสด็จสู่สวรรค์v แต่พระองค์ตรัสว่า

‘องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าว่า

เชิญประทับเบื้องขวาของเรา

35จนกว่าเราจะทำให้ศัตรูของท่าน

มาอยู่ใต้เท้าของท่าน

 

 36ดังนั้น ขอให้เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งมวลรู้แน่เถิดว่า พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูผู้นี้ที่ท่านทั้งหลายนำไปตรึงบนไม้กางเขนwให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสตเจ้า”

ผู้กลับใจกลุ่มแรก

37ถ้อยคำเหล่านี้เสียดแทงใจของทุกคน เขาเหล่านั้นจึงถามเปโตรและอัครสาวกอื่นๆ ว่า “พี่น้อง พวกเราจะต้องทำอย่างไร” 38เปโตรตอบว่า “ท่านทั้งหลายจงกลับใจเถิดx แต่ละคนจงรับศีลล้างบาปเดชะพระนามพระเยซูคริสตเจ้าy เพื่อจะได้รับการอภัยบาป แล้วท่านจะได้รับพระพรของพระจิตเจ้า 39พระสัญญาzนี้มีไว้สำหรับท่านทั้งหลาย สำหรับบุตรหลานของท่านและสำหรับทุกคนที่อยู่ห่างไกลaa ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราจะทรงเรียก” 40เปโตรกล่าวถ้อยคำอีกมาก อ้อนวอนbbและตักเตือนเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงช่วยตนให้รอดพ้นจากคนชั่วร้ายในยุคนี้เถิด” 41คนเหล่านั้นรับถ้อยคำของเปโตรและได้รับศีลล้างบาป วันนั้นผู้มีความเชื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกประมาณสามพันคนcc

ชีวิตของคริสตชนกลุ่มแรกdd

42คนเหล่านั้นประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวกee ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้องff ร่วม “พิธีบิขนมปัง”gg และอธิษฐานภาวนาhh 43พระเจ้าทรงบันดาลให้บรรดาอัครสาวกทำปาฏิหาริย์และเครื่องหมายอัศจรรย์เป็นจำนวนมากii ทุกคนจึงมีความยำเกรง

44ผู้มีความเชื่อทุกคนดำเนินชีวิตร่วมกันและมีทุกสิ่งเป็นของส่วนรวม 45เขาขายที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ แบ่งเงินให้ทุกคนตามความต้องการ

46ทุกๆ วัน เขาพร้อมใจกันไปที่พระวิหารและไปตามบ้านเพื่อทำพิธีบิขนมปัง ร่วมกินอาหารด้วยความยินดีjjและเข้าใจกัน 47เขาทั้งหลายสรรเสริญพระเจ้าkk และได้รับความนิยมจากประชาชนทุกคน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับความรอดพ้นllเพิ่มขึ้นทุกวัน

 

2 a ปรากฏการณ์ในวันเปนเตกอสเตมีลักษณะบางประการคล้ายกับการพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจในกรณีของคอร์เนลิอัส (10:46ฯ; 11:15) ของบรรดาศิษย์ของยอห์นที่เมืองเอเฟซัส (19:6) เปาโลได้กล่าวถึงประสบการณ์ดังกล่าวใน 1 คร 14 การพูดในโอกาสต่างๆ ที่กล่าวนี้ไม่ใช่คำสั่งสอนต่อเนื่อง แต่เป็นการสรรเสริญพระเจ้า (2:11; 10:46; 1 คร 14:2, 16) ด้วยถ้อยคำที่แสดงความปลาบปลื้มยินดีซึ่งทำให้คนฟังประหลาดใจ (2:13; 1 คร 14:23) ในโลกกรีก-โรมันสมัยนั้นก็มีเหตุการณ์คล้ายกันที่ใช้ถ้อยคำภาษาต่างประเทศเพื่อสรรเสริญพระเจ้า (2:6, 11; 1 คร 14:10-11, 21) ลูกาใช้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพระศาสนจักรเริ่มขึ้นนี้ เป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงการเทศน์สอนข่าวดีแก่มนุษย์ทุกชาติในโลก เพื่อทำให้ความสับสนของภาษาต่างๆ ที่หอบาเบล (ปฐก 11:6-7) หมดสิ้นไป ลูกายังอาจได้ความคิดนี้จากธรรมประเพณีของชาวยิวด้วย ธรรมประเพณีนี้อธิบายว่าวันเปนเตกอสเตเป็นการระลึกถึงพระเจ้าทรงแสดงองค์ที่ภูเขาซีนาย และในโอกาสนั้น พระสุรเสียงของพระเจ้าพร้อมกับเปลวไฟตรัสแก่มนุษย์ทุกชาติทั่วโลก แต่ทุกชาติไม่ยอมรับพระสุรเสียงนั้น เว้นแต่ชาวอิสราเอลเท่านั้นที่ยอมรับธรรมบัญญัติ แต่ที่ภูเขาซีนายใหม่นี้ มนุษย์ทุกชาติได้รับการเชื้อเชิญและยอมรับ

b ศิษย์ทุกคนในที่นี้ไม่หมายถึงทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบคนใน 1:15-26 แต่หมายถึงเพียงกลุ่มที่กล่าวไว้ใน 1:13-14

c “ลม” และ “พระจิตเจ้า” เป็นคำเดียวกันในภาษาฮีบรู กรีกและละติน (ดู ยน 3:8 เชิงอรรถ d)

d “เปลวไฟ” ลักษณะเหมือนลิ้น (อสย 5:24; เทียบ อสย 6:6-7) เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการพูดเป็นภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ

e สำเนาโบราณบางฉบับละคำว่า “ชาวยิว” หรือ “ผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระเจ้า แต่ต้นฉบับส่วนใหญ่มีทั้งสองคำ

f “ผู้กลับใจเข้านับถือลัทธิยิว” เป็นคนต่างชาติที่ยอมรับพิธีสุหนัต ส่วนผู้ยำเกรงพระเจ้า (10:2 เชิงอรรถ b) เป็นคนต่างชาติที่เลื่อมใสในศาสนายิวและร่วมชุมนุมในศาลาธรรม แต่ไม่รับพิธีสุหนัตหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในธรรมบัญญัติ “ชาวยิว” และผู้กลับใจเข้านับถือลัทธิยิว จึงเป็นการสรุปว่าผู้ที่มาชุมนุมกันเป็นผู้ที่นับถือลัทธิยิว ทั้งที่เป็นชาวยิวโดยกำเนิดและเป็นชนต่างชาติ

g รายชื่อชนชาติต่างๆ นี้ ลูกาอาจคัดมาจากเอกสารร่วมสมัยซึ่งกล่าวถึงชนชาติต่างๆ ที่คนโบราณรู้จัก

h เปโตรพูดในฐานะเป็นผู้นำของกลุ่มอัครสาวก (ดู 1:15; 2:37; 3:4, 6, 12; 4:8,13; 5:3, 8, 9, 15, 29; เทียบ 10-11; ดู มธ 16:19 เชิงอรรถ i; ลก 22:32 เชิงอรรถ k) บางครั้ง ลก กล่าวถึงยอห์นคู่กับเปโตรแต่เป็นเพียงผู้ติดตามเท่านั้น (3:1, 3, 4, 11; 4:13, 19; 8:14; เทียบ ลก 22:8) คำปราศรัยของเปโตรมีรูปแบบบทเทศน์ของชาวยิว อธิบายข้อความในพระคัมภีร์สามตอนซึ่งนำมาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน วิธีนี้เป็นเทคนิคของบรรดาธรรมาจารย์

i เวลาประมาณ 9.00 น.

j สำเนาโบราณบางฉบับละ “โยเอล”

k “วันสุดท้าย” หมายถึง ยุคของพระเมสสิยาห์

l “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งในพันธสัญญาเดิมหมายถึง “วันของพระยาห์เวห์” (อมส 5:18 เชิงอรรถ m) คริสตชนนำวลีนี้มาใช้หมายถึง “วันที่พระคริสตเจ้าจะเสด็จมาอย่างรุ่งเรือง” (มธ 24:1 เชิงอรรถ a)

m คริสตชนเรียกตนเองว่า “ผู้ที่เรียกขานพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (9:14, 21; 22:16; 1 คร 1:2; 2 ทธ 2:22) พระนาม “องค์พระผู้เป็นเจ้า” มิได้หมายถึงพระยาห์เวห์อีกต่อไป แต่หมายถึงพระเยซูเจ้า (ดู กจ 3:16 เชิงอรรถ l; ฟป 2:11) ในวันพิพากษา มนุษย์จะได้รับความรอดพ้นหรือไม่ก็แล้วแต่ว่าเขาได้เรียกขานพระนามนี้ คือยอมรับว่าพระเยซูเจ้าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ (ดู 4:12 และ รม 10:9)

n คำเทศน์ของเปโตรที่นี่สรุปเนื้อหาการประกาศข่าวดี (the kerygma) ของบรรดาอัครสาวกในสมัยแรก (ดู 2:14-39; 3:12-26; 4:8-12; 5:29-32; 10:34-43 คือบทเทศน์ห้าครั้งของเปโตร เทียบบทเทศน์ของเปาโลด้วย) โครงสร้างของบทเทศน์เหล่านี้มี 3 ตอน

1.การเป็นพยานยืนยัน (1:8 เชิงอรรถ k) เรื่องการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า (2:24 เชิงอรรถ q) และการเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์ (2:33 เชิงอรรถ t, 36 เชิงอรรถ w)

2. กล่าวถึงรายละเอียดบางประการของพระภารกิจของพระเยซูเจ้า เช่น ยอห์นบัปติสต์เป็นผู้นำหน้าพระเยซูเจ้า (10:37; 13:24) พระเยซูเจ้าทรงเริ่มพระภารกิจโดยการเทศน์และอัศจรรย์ (2:22; 10:38) พระภารกิจนี้จบลงเมื่อพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพสำแดงพระองค์ (10:40, 41; 13:31) และประทานพระพรของพระจิตเจ้า (2:33; 5:32)

3. พระภารกิจของพระเยซูเจ้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการความรอดพ้นซึ่งอ้างถึงอดีตที่มีกล่าวถึงในพันธสัญญาเดิม (2:23 เชิงอรรถ o, 25 เชิงอรรถ r) และมองไปยังอนาคต คือการมาถึงของยุคพระเมสสิยาห์ โดยเชื้อเชิญชาวยิวและคนต่างชาติให้เป็นทุกข์กลับใจ (2:38 เชิงอรรถ x) เพื่อให้พระคริสตเจ้าเสด็จมาอย่างรุ่งเรืองโดยเร็ววัน (3:19-21) หนังสือพระวรสารก็ใช้โครงสร้างนี้ แต่พัฒนาบทเทศน์ของบรรดาอัครสาวกในสมัยแรกให้สมบูรณ์ขึ้น

o ถ้อยคำของบรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิมแสดงแผนการนี้ของพระเจ้าใน 3:18; 4:28; 13:29; และดู 8:32-35; 9:22; 10:43; 17:2-3; 18:5, 28; 26:22-23, 27; 28:23; ลก 18:31 เชิงอรรถ e; 22:22; 24:25-27, 44

p “คนอธรรม” ในที่นี้หมายถึงชาวโรมัน การประกาศข่าวดีในสมัยแรกเริ่ม (kerygma) กล่าวหาชาวยิวว่าเป็นฆาตกรในลักษณะเช่นนี้ แต่ปฏิกิริยาของพระเจ้าต่อการกระทำเช่นนี้คือ ทำให้พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย (2:32, 36; 3:13-17; 4:10; 5:30-31; 7:52; 10:39-40; 13:27-30; ดู รม 1:4 เชิงอรรถ c; 1 ธส 2:14 เชิงอรรถ f)

q สำเนาโบราณบางฉบับว่า “แดนผู้ตาย” เทียบข้อ 27 และ 31 และคำ “แดนผู้ตาย” ในฉบับ LXX แปลคำว่า “Sheol” ในภาษาฮีบรู (กดว 16:33 เชิงอรรถ f; มธ 16:18 เชิงอรรถ h)

r ข้อความต่อไปนี้ยกมาอ้างตามฉบับ LXX ในต้นฉบับภาษาฮีบรู ผู้เขียนเพลงสดุดีอธิษฐานเพียงเพื่อให้ช่วยให้พ้นจากความตายที่ใกล้จะมาถึง “พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้ผู้มีศรัทธาต่อพระองค์เห็นหลุมศพ” ดังนั้น สันนิษฐานว่าผู้แปลเป็นภาษากรีกได้นำความคิดใหม่เข้ามา โดยเปลี่ยนคำ “หลุมศพ” เป็น “ความเปื่อยเน่า”

s ที่ฝังพระศพของกษัตริย์ดาวิดอยู่บนภูเขาศิโยนเดิม ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่าพระวิหาร (1 พกษ 2:10) การตีความข้อนี้ผิด ทำให้คริสตชนในภายหลังเชื่อว่าที่ฝังพระศพของกษัตริย์ดาวิดต้องอยู่ใกล้ๆ ห้องชั้นบนที่พระเยซูเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของเนินที่ต่อมาได้ชื่อว่า “ศิโยน” ตั้งแต่คริสตศตวรรษแรกๆ

t ความคิดเรื่องพระหัตถ์ขวาของพระเจ้า พบได้ใน สดด 118 (ข้อ 16 “พระหัตถ์ขวาขององค์พระผู้เป็นเจ้ายกข้าพเจ้าขึ้น”) บรรดาอัครสาวกได้นำความคิดนี้มาใช้ในบทเทศน์เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ (4:11; มธ 21:9//, 42//; 23:39; ลก 13:35; ยน 12:13; ฮบ 13:6; 1 ปต 2:7) แต่ข้อความนี้ยังอาจแปลได้อีกว่า “ได้รับการยกขึ้นยังเบื้องพระหัตถ์ขวาของพระเจ้า” ซึ่งเป็นการนำความคิดไปสู่ข้อ 34 ซึ่งคัดมาจาก สดด 110:1 ความคิดนี้เป็นเนื้อหาอีกข้อหนึ่งของการเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกด้วย (7:55, 56; มธ 22:44//; 26:64//; มก 16:19; รม 8:34; 1 คร 15:25; อฟ 1:20; คส 3:1; ฮบ 1:3, 13; 8:1; 10:12; 12:2; 1 ปต 3:22)

u บรรดาประกาศกเคยกล่าวว่า พระพรของพระจิตเจ้าเป็นเอกลักษณ์ของสมัยพระเมสสิยาห์ (อสค 36:27 เชิงอรรถ f) เปโตรอธิบายอัศจรรย์ที่ผู้ฟังได้เห็นนี้ว่าพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพได้ “ทรงหลั่งพระพรของพระจิตเจ้า” ลงมา ดังที่กล่าวไว้ล่วงหน้าใน ยอล 3:1-2

v เปโตรต้องการพิสูจน์ว่าข้อความที่ยกมาจาก สดด 110:1 เป็นพระวาจาที่พระเจ้าตรัสกับพระเมสสิยาห์ (พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ) ไม่ใช่ตรัสกับกษัตริย์ดาวิด เพราะพระศพของกษัตริย์ดาวิดยังอยู่ในที่ฝังพระศพและไม่ได้ขึ้นไปสวรรค์

w เปโตรสรุปการใช้เหตุผลจากพระคัมภีร์ว่า ในฐานะที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระองค์จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ดังที่กล่าวไว้ใน สดด 110 และเป็น “พระเมสสิยาห์” (พระคริสตเจ้า) ซึ่งกล่าวถึงใน สดด 16 ในทำนองเดียวกันหนังสือกิจการอัครสาวก (กจ 13:33 เชิงอรรถ x; รม 1:4 เชิงอรรถ c; ฮบ 1:5; 5:5) ใช้เหตุผลจาก สดด 2:7 เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” นอกจากนั้นยังใช้พระคัมภีร์เพื่อกล่าวถึงลักษณะอื่นๆ ของพระเยซูเจ้าด้วย เช่น 5:31 (ผู้นำและพระผู้ไถ่กู้); 10:42 และ รม 14:9 (ผู้พิพากษาและองค์พระผู้เป็นเจ้าของทั้งผู้เป็นและผู้ตาย); ฟป 2:9-11 (องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระองค์ทรงได้รับสิทธิพิเศษซึ่งเป็นสิทธิของพระองค์โดยกำเนิดอยู่แล้ว

x บทเทศน์สำคัญของบรรดาอัครสาวกทุกบทจบลงด้วยการเรียกร้องให้เป็นทุกข์กลับใจ (ดู มธ 3:2 เชิงอรรถ c) เพื่อรับการอภัยบาป (3:19, 26; 5:31; 10:43; 13:38; และดู 17:30; 26:20; ลก 1:77; 3:8; 5:32; 13:3)

y การโปรดศีลล้างบาป “เดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า” (1:5 เชิงอรรถ f) และการที่ผู้รับศีลล้างบาป “เรียกขานพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ดู 2:21 เชิงอรรถ m; 3:16 เชิงอรรถ l; 8:16; 10:48; 19:5; 22:16; รม 6:3; 1 คร 1:13, 15; 6:11; 10:2; กท 3:27; เทียบ ยก 2:7) ไม่จำเป็นต้องเป็นสูตรที่ใช้ในพิธีกรรมศีลล้างบาป (เทียบ มธ 28:19) แต่อาจเป็นสำนวนที่ใช้เพื่อแสดงความหมายของศีลล้างบาป คือผู้รับศีลล้างบาปยืนยันความเชื่อในพระคริสตเจ้า และพระคริสตเจ้าทรงรับเขาเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระองค์

z พระเจ้าได้ประทานพระสัญญานี้ให้แก่ชาวยิวเป็นพวกแรก (3:25-26; 13:46; รม 9:4)

aa “ทุกคนที่อยู่ห่างไกล” หมายถึง คนต่างชาติ โดยอ้างถึง อสย 57:19 ดังที่ อฟ 2:13-17; ได้อ้างถึงและอธิบาย (ดู 22:21 ด้วย)

bb แปลได้อีกว่า “เปโตรได้กล่าวอีกมากเป็นพยานยืนยัน” (เทียบ 8:25; 28:23)

cc ลูกาจงใจบอกจำนวนสมาชิกของพระศาสนจักรที่เพิ่มขึ้นหลายครั้ง (ข้อ 47; 4:4; 5:14; 6:1, 7; 9:31 เชิงอรรถ p; 11:21, 24; 16:5; เทียบ 12:24; 13:48-49; 19:20)

dd จงเปรียบเทียบข้อความนี้กับ 4:32-35 และ 5:12-16 ข้อความสามตอนนี้เป็นบทสรุปแสดงภาพชีวิตของกลุ่มคริสตชนสมัยแรก

ee “คำสั่งสอน” นี้ไม่ใช่การประกาศข่าวดีแก่ผู้ที่มิใช่คริสตชน (เทียบ 15:35) แต่เป็นคำสั่งสอนคริสตชนที่กลับใจใหม่ อธิบายพระคัมภีร์โดยคำนึงถึงการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า

ff “การดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง” (Koinonia) (1 คร 1:9 เชิงอรรถ f) ปรากฏใช้ที่นี่โดยมิได้มีรายละเอียดเพิ่มเติม (เทียบ กท 2:9) คำนี้หมายถึงการมีทุกสิ่งเป็นของกลาง (ข้อ 44; 4:32-35) ซึ่งแสดงถึงความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ข้อ 46; 4:32) เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในข่าวดีและพระพรต่างๆ ที่กลุ่มคริสตชนในสมัยอัครสาวกได้รับจากพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสตเจ้า แต่การดำเนินชีวิตฉันพี่น้องเช่นนี้ มิได้จำกัดอยู่เพียงการช่วยเหลือทางสังคม การมีอุดมการณ์เดียวกันหรือความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น

gg เทียบ ข้อ 46; 20:7, 11; 27:35; ลก 24:30, 35 “พิธีบิขนมปัง” หมายถึง การกินอาหารแบบชาวยิวซึ่งผู้เป็นประธานกล่าวถวายพรก่อนแบ่งขนมปัง แต่สำหรับคริสตชนพิธีนี้หมายถึงพิธีบูชาขอบพระคุณ (มิสซา) (ลก 22:19//; 24:35 เชิงอรรถ h; 1 คร 10:16; 11:24) คริสตชนประกอบพิธีนี้ตามบ้านส่วนตัวไม่ใช่ในพระวิหาร และรวมกับการกินอาหารตามปกติด้วย (เทียบ 1 คร 11:20-34)

hh เป็นการอธิษฐานภาวนาส่วนรวม (1:14, 24; 4:24-30; 6:4; 12:5)

ii สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “ในกรุงเยรูซาเล็ม และทุกคนมีความยำเกรงเป็นอันมาก”

jj ความชื่นชมยินดีเป็นผลตามมาของความเชื่อ (8:8, 39; 13:48, 52; 16:34; เทียบ 5:41; ลก 1:14 เชิงอรรถ i; รม 15:13)

kk เทียบ 3:8, 9; 4:21; 13:48; 21:20; ลก 2:20 เชิงอรรถ g

ll เมื่อวันพิพากษาจะมาถึง สมาชิกของกลุ่มคริสตชนแน่ใจว่าจะได้รับความรอดพ้น (2:21 เชิงอรรถ m; ดู 13:48 และจดหมายต่างๆ ของเปาโล) พระศาสนจักรจึงเป็น “กลุ่มชนที่เหลือแห่งอิสราเอล” (อสย 4:3 เชิงอรรถ c; เทียบ รม 9:27)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก