(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่สอง

 

คำทักทาย

1 1ซีโมนเปโตร ผู้รับใช้และอัครสาวกของพระเยซูคริสตเจ้า

ถึงท่านทั้งหลายผู้ได้รับความเชื่อล้ำค่าเท่าเทียมกับความเชื่อซึ่งเราได้รับจากความเที่ยงธรรมของพระเยซูคริสต์พระเจ้าและพระผู้ไถ่ของเราa

2ขอพระหรรษทานและสันติจงมีแด่ท่านอย่างสมบูรณ์ เพราะได้รู้จักพระเจ้าและพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราb

พระเจ้าทรงพระกรุณาเหลือล้น

3ด้วยพระอานุภาพในฐานะพระเจ้า พระคริสตเจ้าประทานทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เรามีชีวิตอย่างเลื่อมใสศรัทธา เพราะเรารู้จักพระองค์ผู้ทรงเรียกเรา อาศัยพระสิริรุ่งโรจน์cและพระฤทธานุภาพของพระองค์ 4พระองค์จึงประทานdพระพรยิ่งใหญ่ล้ำค่าให้เราeตามที่ทรงสัญญาไว้ เพื่อfท่านทั้งหลายจะได้หลุดพ้นจากความเสื่อมที่มาจากราคตัณหาในโลก เข้ามามีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้าg 5ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงพยายามทุกวิถีทางที่จะใช้คุณธรรมเพิ่มพูนความเชื่อของท่าน ใช้ความรู้เพิ่มพูนคุณธรรม 6ใช้การรู้จักบังคับตนเพิ่มพูนความรู้ ใช้ความอดทนเพิ่มพูนการรู้จักบังคับตน ใช้ความเลื่อมใสศรัทธาเพิ่มพูนความอดทน 7ใช้มิตรภาพฉันพี่น้องเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธา ใช้ความรักเพิ่มพูนมิตรภาพฉันพี่น้อง 8ถ้าท่านมีและเพิ่มพูนคุณธรรมเหล่านี้อยู่เสมอ ท่านจะไม่อยู่อย่างไร้ประโยชน์ แต่จะมีผลคือได้รู้จักพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรามากขึ้น 9แต่ผู้ที่ขาดคุณธรรมเหล่านี้h ย่อมมีสายตาสั้นจนบอด เขาลืมไปว่าพระเจ้าทรงชำระบาปที่เขาทำในอดีต 10พี่น้องทั้งหลาย จงเอาใจใส่ทำให้การที่พระเจ้าทรงเรียกและเลือกสรรท่านมีความมั่นคง ถ้าท่านปฏิบัติเช่นนี้ท่านจะไม่สะดุดล้มเลย 11ตรงกันข้าม ท่านจะมีโอกาสอย่างมากที่จะเข้าสู่พระอาณาจักรนิรันดรของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่ของเราi

อัครสาวกเป็นพยานยืนยัน

12ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านระลึกถึงเรื่องเหล่านี้jอยู่เสมอ แม้ท่านจะรู้และเชื่อมั่นในความจริงที่มีอยู่แล้ว 13ข้าพเจ้าคิดว่าตราบใดที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ การที่ข้าพเจ้าจะคอยตักเตือนท่านให้ตื่นอยู่เสมอก็เป็นการถูกต้อง 14ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าจะต้องจากโลกนี้ในไม่ช้า ดังที่พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงแจ้งแก่ข้าพเจ้าไว้อย่างชัดเจนแล้ว 15ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเอาใจใส่ให้ท่านทั้งหลายระลึกถึงความจริงเหล่านี้เสมอ แม้เมื่อข้าพเจ้าจากไปแล้ว

16เมื่อเราประกาศให้ท่านรู้ถึงพระฤทธานุภาพและการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรานั้น เรามิได้พูดตามนิยายงมงายที่สร้างขึ้นk แต่เราประจักษ์ด้วยตาตนเองถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์l 17พระองค์ทรงรับพระเกียรติและพระสิริรุ่งโรจน์จากพระเจ้าพระบิดาเมื่อมีเสียงตรัสจากพระสิริรุ่งโรจน์ที่ยิ่งใหญ่มาสู่พระองค์ว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา ซึ่งเราพอใจ18เราได้ยินเสียงนี้มาจากสวรรค์ขณะที่เราอยู่กับพระองค์บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์m

คุณค่าของการประกาศพระวาจา

19เรายังมีถ้อยคำที่น่าเชื่อถือยิ่งกว่านั้นของบรรดาประกาศกn และจะเป็นการดีถ้าท่านสนใจถ้อยคำเหล่านี้ รับถ้อยคำดังกล่าวเป็นเสมือนแสงประทีปส่องสว่างในที่มืด จนกว่าอรุณจะทอแสง และดาวประจำรุ่งจะปรากฏขึ้นในจิตใจของท่าน 20จงรู้เถิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการตีความถ้อยคำของบรรดาประกาศกในพระคัมภีร์มิใช่เรื่องส่วนบุคคล 21เพราะไม่เคยมีถ้อยคำใดของบรรดาประกาศกที่มาจากเจตนารมณ์ของมนุษย์ แต่มนุษย์กล่าวถ้อยคำซึ่งมาจากพระเจ้าตามที่พระจิตเจ้าทรงดลใจo

 

1 a อาจแปลได้อีกว่า “ของพระเจ้าของเรา และของพระเยซูคริสตเจ้าพระผู้ไถ่”

b สำเนาโบราณบางฉบับว่า “จากการรู้จักพระเยซู (หรือพระเยซูคริสตเจ้า) องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” ในจดหมายฉบับนี้ ผู้เขียนย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า พระคริสตเจ้าคือผู้เดียวที่คริสตชนจะต้องรู้จักเป็นอย่างดี (1:3, 8; 2:20; 3:18; เทียบ ฮชย 2:22 เชิงอรรถ v; ยน 17:3; ฟป 3:10) ความรู้นี้รวมถึงความรู้ด้านจริยธรรม เพื่อปฏิบัติคุณธรรมด้วย (ข้อ 5-6, 8)

c “พระสิริรุ่งโรจน์” ในที่นี้หมายถึงการอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ เป็นเครื่องหมายถึงพระเทวภาพของพระองค์ (ดู ยน 1:14 เชิงอรรถ n) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายถึงการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ (2 ปต 1:16-18) “ฤทธานุภาพ” อาจจะหมายถึงอานุภาพของพระองค์ ทั้งตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติในการอัศจรรย์ ลักษณะของพระเจ้าทั้งสองประการนี้ประทานพระพรให้เรามีทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการเจริญชีวิตตามที่ความเลื่อมใสศรัทธาเรียกร้อง (1 ทธ 4:7 เชิงอรรถ d)

d “พระสิริรุ่งโรจน์” และ “ฤทธานุภาพ” ของพระคริสตเจ้าเป็นตัวเชื่อมระหว่างการเรียกของคริสตชน และอนาคตรุ่งเรืองที่ทรงสัญญาไว้ (เทียบ 1 ทธ 4:8)

e “เรา” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ท่าน”

f แปลตามตัวอักษร “เพื่ออาศัยสิ่งเหล่านี้” ซึ่งอาจหมายถึง “พระสิริรุ่งโรจน์และฤทธานุภาพ” หรือ “พระพรที่ได้ทรงสัญญาไว้”

g สำนวน “พระธรรมชาติของพระเจ้า” เป็นสำนวนภาษากรีก มีใช้เพียงครั้งเดียวในพระคัมภีร์ ผู้เขียนใช้สำนวนนี้เพื่อแสดงว่าพระคริสตเจ้าทรงมีชีวิตของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และพระองค์ยังโปรดให้เรามีส่วนร่วมในชีวิตของพระองค์นี้อีกด้วย (ดู ยน 1:12; 14:20; 15:4-5; รม 6:5; 1 คร 1:9 เชิงอรรถ f; 1 ยน 1:3 เชิงอรรถ b) ความคิดเรื่องการมีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้านี้เป็นจุดเริ่มต้นของคำสอนเรื่อง “การบันดาลให้มนุษย์เป็นพระเจ้า” ในข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์กรีก

h นี่เป็นการเตือนแบบเดียวกันกับที่ให้ระวังพวกไญยนิยมในจดหมายของยอห์น (ดู 1 ยน 1:8 เชิงอรรถ f) พวกไญยนิยมอ้างว่าตนรู้จักพระเจ้าได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติ

i ข้อความนี้เช่นเดียวกับ 1:4; 3:4, 9-10 ชวนให้เราคิดถึงการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าก็เป็นพระอาณาจักรของพระบิดาด้วย (อฟ 5:5; 2 ทธ 4:1; วว 11:15)

j เทียบ 1 ปต 1:10-12 ผู้เขียนเตือนคริสตชนให้ระลึกถึงพื้นฐานของความเชื่อและระลึกถึงการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ โดยกล่าวถึงพระคริสตเจ้าและอัครสาวกในข้อ 14-18 และกล่าวถึงบรรดาประกาศกในข้อ 19-21

k นี่เป็นการเตือนอีกครั้งหนึ่งให้ระวังพวกไญยนิยม ซึ่งสอนเรื่องการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า มิใช่พิสูจน์ตามเหตุผล แต่อ้างถึงนิยายที่แต่งขึ้นอย่างเป็นระบบ (เทียบ 3:4ฯ) เปโตรและอัครสาวกได้ถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่พวกเขาได้รู้เห็นเป็นพยาน (ดู ลก 1:2; กจ 1:8 เชิงอรรถ k; 1 ยน 1:1-3) และพระบิดาทรงยืนยันรับรองด้วย

l เมื่อทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์

m “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” อาจจะหมายถึงศิโยน (สดด 2:6; อสย 11:9) หรืออาจจะหมายถึงภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ซึ่งมีภูเขาซีนายเป็นรูปแบบ

n การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าเป็นการเผยให้เห็นว่าถ้อยคำของบรรดาประกาศกในพระคัมภีร์ได้สำเร็จเป็นจริง

o การกล่าวถึงการดลใจของพระจิตเจ้าให้เขียนพระคัมภีร์ (2 ทธ 3:15-16, 16 เชิงอรรถ e) เสนอแนะให้คิดว่า เราต้องอ่านพระคัมภีร์โดยมีพระจิตเจ้าเป็นผู้แนะนำและต้องอ่านตามธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวกด้วย