(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

ทาส

6 1ทุกคนที่เป็นทาสต้องคิดว่านายของตนควรได้รับเกียรติทุกอย่าง เพื่อพระนามพระเจ้าและคำสอนของเราจะไม่ถูกกล่าวหาในทางที่เสื่อมเสีย 2ทาสที่มีเจ้านายเป็นผู้มีความเชื่อ ก็ไม่ควรจะเคารพนายน้อยลงเพียงเพราะว่าเป็นพี่น้องกัน ตรงกันข้าม เขาควรจะรับใช้ให้ดียิ่งขึ้น เพราะนายผู้ได้รับผลของการรับใช้ เป็นผู้ที่มีความเชื่อและเป็นที่รักของพระเจ้าa

ผู้สอนถูกต้องและผู้สอนผิด

นี่คือสิ่งที่ท่านควรสอนและควรแนะนำ 3ถ้าผู้ใดสอนแตกต่างจากนี้ และไม่สอนพระวาจาที่ถูกต้องของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา และคำสอนที่สอดคล้องกับความเคารพเลื่อมใสพระเจ้า 4ผู้นั้นก็เป็นคนจองหองและไม่เข้าใจสิ่งใดเลย เขาคอยแต่ตั้งปัญหาbถามและโต้เถียงเกี่ยวกับถ้อยคำ ซึ่งก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา การทะเลาะวิวาท การกล่าวร้ายและความไม่ไว้ใจมุ่งร้ายต่อกัน 5รวมทั้งการถกเถียงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ทำเช่นนี้เป็นคนไร้ปัญญาและขาดความจริง และคิดว่าความเคารพเลื่อมใสพระเจ้าเป็นทางหากำไร 6ความเคารพเลื่อมใสพระเจ้านำผลกำไรมหาศาลมาให้เฉพาะแก่ผู้ที่พอใจในสิ่งที่ตนมีเท่านั้น 7เราไม่ได้นำสิ่งใดติดตัวเข้ามาในโลก และเราก็นำอะไรออกไปไม่ได้ 8ตราบใดที่มีอาหารและเครื่องนุ่งห่ม เราก็พอใจแล้ว 9คนที่อยากรวยก็ตกเป็นเหยื่อของการถูกผจญ ติดกับดักและตกลงไปในตัณหาชั่วร้ายโง่เขลามากมาย ซึ่งทำให้มนุษย์จมลงสู่ความพินาศย่อยยับ 10“ความรักเงินตราเป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายทุกประการ”c บางคนเมื่อแสวงหาแต่เงินทองก็พลัดหลงจากความเชื่อ เป็นเหตุให้ตนเองได้รับความทุกข์เป็นอันมาก

ระลึกถึงการเรียกของทิโมธี

11ท่านผู้เป็นคนของพระเจ้า จงหลีกเลี่ยงเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จงมุ่งหน้าหาความชอบธรรม ความเคารพเลื่อมใสพระเจ้า ความเชื่อ ความรัก ความอดทนและความอ่อนโยน 12จงต่อสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ จงยึดมั่นในชีวิตนิรันดรที่พระเจ้าทรงเรียกท่านให้ดำเนินอยู่ เมื่อท่านได้ประกาศยืนยันdความเชื่อต่อหน้าพยานจำนวนมาก 13บัดนี้ เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าผู้ประทานชีวิตแก่ทุกสิ่ง และเฉพาะพระพักตร์พระคริสตเยซู ผู้ยืนยันประกาศความเชื่อเป็นอย่างดีไว้ต่อหน้าปอนทิอัสปีลาตe 14ข้าพเจ้าขอกำชับให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกประการโดยไม่บกพร่อง จนกว่าพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราจะทรงสำแดงพระองค์f

15เมื่อถึงเวลากำหนด พระเจ้าจะทรงเปิดเผยพระคริสตเยซู

พระเจ้าผู้ทรงเป็นความสุขแท้จริงและผู้ทรงสรรพานุภาพแต่พระองค์เดียว

ทรงเป็นจอมกษัตริย์และเจ้านายสูงสุด

16ผู้ทรงเป็นอมตะแต่พระองค์เดียว

ประทับอยู่ในแสงสว่างที่ไม่อาจเข้าถึงได้

ไม่มีมนุษย์คนใดเคยเห็นหรืออาจเห็นพระองค์ได้

ขอพระองค์ทรงดำรงพระเกียรติและพระพลานุภาพตลอดนิรันดรเทอญ อาเมนg

คริสตชนที่ร่ำรวย

17จงกำชับสั่งคนที่ร่ำรวยทรัพย์สินในปัจจุบันนี้ อย่าให้หยิ่งยโสหรือตั้งความหวังไว้กับทรัพย์สมบัติอันไม่จีรังยั่งยืน แต่ให้หวังในพระเจ้าผู้ประทานทุกสิ่งที่เราต้องการเพื่อความสุขอย่างสมบูรณ์ 18ให้ทำดีและมั่งคั่งด้วยกิจการที่ดี มีใจกว้างในการให้และพร้อมที่จะแบ่งปัน 19นี่เป็นวิธีสะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเองในอนาคต เพื่อจะได้รับชีวิตที่แท้จริง

คำเตือนสุดท้ายและบทสรุป

20ทิโมธีที่รัก จงเฝ้ารักษาสิ่งที่ท่านได้รับฝากไว้h จงหลีกเลี่ยงการถกเถียงเรื่องไร้สาระที่ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า และจงหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันใน “ความรู้” ที่ไม่ใช่ความรู้i 21บางคนทำเช่นนั้นจึงหลงผิดไปจากความเชื่อ ขอพระหรรษทานสถิตกับท่านทั้งหลายเทอญj

 

6 a หรือ “และเป็นพี่น้องที่รัก”

b แปลตามตัวอักษรได้ว่า “แสวงหา” ในที่นี้ เปาโลชี้ให้เห็นความแตกต่าง (ดู 1:4; 2 ทธ 2:16, 23; ทต 3:9) ระหว่างการแสวงหาพระเจ้า ซึ่งในพันธสัญญาเดิมเป็นคำสรุปรวมท่าทีทั้งหมดของความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า (ฉธบ 4:29; สดด 27:8 เชิงอรรถ b; ยรม 29:13-14) ซึ่งยังคงรักษาคุณค่าไว้ในพันธสัญญาใหม่ (มธ 6:33; 7:7-8; กจ 17:27) กับการพยายามเจาะลึกลงอย่างจุกจิกและไร้จุดหมายไม่มีสิ้นสุด เพราะไม่ถูกกาลเทศะอันเป็นโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อคำสอนที่ถูกต้อง (1 ทธ 1:10 เชิงอรรถ h; 6:3) ทั้งนี้เนื่องมาจากลักษณะการสืบเสาะที่อ้างว่าจะเข้าไปลึกกว่าธรรมล้ำลึกของความเชื่อได้ (เทียบ 2 ยน 9)

c เป็นสุภาษิตบทหนึ่งในสมัยนั้น

d เราไม่รู้ว่านี่หมายถึงเหตุการณ์ใดในชีวิตของทิโมธี อาจจะหมายถึงการรับศีลล้างบาปหรือการเจิมถวายเพื่อเข้ารับหน้าที่

e หมายถึง การประกาศถึงการที่ทรงเป็นพระผู้ไถ่ กษัตริย์ และหน้าที่ของพระองค์ในฐานะผู้เปิดเผยความจริง (ยน 18:36-37) การพูดถึงปอนทิอัสปีลาต ทำให้คำให้การมีลักษณะเป็นทางการ ซึ่งเป็นแบบอย่างการประกาศความเชื่อของคริสตชนเมื่อรับศีลล้างบาปหรือเมื่อถูกเบียดเบียน

f คำว่า “การสำแดงพระองค์” (epiphany ใช้ใน 2 ธส 2:8 เมื่อกล่าวถึงการปรากฏของมนุษย์ชั่วร้าย) เป็นคำที่จดหมายเรื่องการอภิบาลชอบใช้แทน “การเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์” (parousia 1 คร 15:23 เชิงอรรถ n) หรือ “การเปิดเผยในวาระสุดท้าย” (apocalypse=วิวรณ์ ดู 1 คร 1:7 เชิงอรรถ c) คำว่า “การสำแดงพระองค์” เป็นศัพท์เทคนิค (2 ทธ 4:1, 8; ทต 2:13; ฮบ 9:28) และใช้เพื่อหมายถึงทั้งการแสดงพระองค์ของพระคริสตเจ้าในชัยชนะของพระองค์เมื่อสิ้นพิภพ และการแสดงพระองค์ในโลกเพื่อภารกิจไถ่กู้ โดยการดำเนินชีวิต การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ (2 ทธ 1:10; ทต 2:11; 3:4)

g บทเพลงสรรเสริญถวายพรบทนี้อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงสรรเสริญในพิธีกรรม (เทียบ 1:17) ประกอบด้วยข้อความ 7 ประโยคจากพระคัมภีร์ที่ถูกดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมกรีก มีใจความสำคัญว่า พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียวที่สมควรได้รับการนมัสการ และไม่มีใครโอ้อวดได้ว่าเข้าใจธรรมล้ำลึกของพระเจ้าได้

h “สิ่งที่ได้รับฝากไว้” หมายถึง ประมวลคำสั่งสอนที่ทิโมธีได้รับมอบหมายให้ดูแล การดูแล “คลังคำสอน” ที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวข้อสำคัญประการหนึ่งในจดหมายเรื่องการอภิบาล (2 ทธ 1:12, 14) สาระของคลังคำสอนนี้คือความเชื่อ (4:6; 2 ทธ 1:13; ทต 1:9) หรือธรรมประเพณี (2 ธส 2:15 เชิงอรรถ i; 3:6) คำว่า “คลังคำสอน” (deposit) มาจากภาษากฎหมายและเน้นถึงหน้าที่ของผู้ที่ได้รับว่าจะต้องเก็บรักษาไว้และส่งมอบต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เทียบสำนวน “จงยึดมั่นในสิ่งที่ท่านมี” (วว 2:25; 3:11)

i ศาสตร์หรือความรู้ที่ไม่จริงนี้ คือลัทธิไญยนิยม (Gnosticism) ที่ปิตาจารย์อีเรเนอัสจะตอบโต้ในภายหลัง

j สำเนาโบราณบางฉบับใช้เอกพจน์ “ท่าน” บางฉบับเสริมว่า “อาเมน”