“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่หนึ่ง

คำขึ้นต้น

1 1จากเปาโล อัครสาวกของพระคริสตเยซูโดยการแต่งตั้งตามพระบัญชาaของพระเจ้า พระผู้ไถ่bของเรา และของพระคริสตเยซูผู้ทรงเป็นความหวังของเรา

2ถึงทิโมธี ผู้เป็นบุตรแท้จริงในความเชื่อ

ขอพระหรรษทาน พระเมตตากรุณาและสันติจากพระเจ้า พระบิดาและจากพระคริสตเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราสถิตกับท่านเถิด

การขจัดผู้สอนผิด

3ขณะที่ออกเดินทางไปแคว้นมาซิโดเนีย ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านอยู่ในเมืองเอเฟซัสต่อไป เพื่อกำชับบางคนมิให้สอนผิด 4และให้เลิกสนใจเรื่องเทพนิยายและการลำดับวงศ์ตระกูลที่ไม่รู้จบc ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่จะช่วยให้เข้าใจแผนการdที่พระเจ้าทรงแสดงให้เรารู้เพราะความเชื่อ 5จุดประสงค์ที่ข้าพเจ้าแนะนำดังนี้ก็คือ ความรักที่มาจากใจบริสุทธิ์ มาจากมโนธรรมที่ถูกต้อง และมาจากความเชื่อแท้จริง 6บางคนหลงทางไปจากจุดประสงค์นี้ จึงเปลี่ยนไปพูดเรื่องไร้สาระ 7เพราะต้องการทำตนเป็นครูสอนธรรมบัญญัติ ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจสิ่งที่พูดและสิ่งที่ตนยืนยันอย่างมั่นใจ

 จุดประสงค์ของธรรมบัญญัติ

8เรารู้ว่าธรรมบัญญัติeเป็นสิ่งที่ดีงามถ้าใช้ให้ถูกต้องf และเข้าใจว่าธรรมบัญญัติไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อคนชอบธรรมg 9แต่เขียนไว้เพื่อผู้ฝ่าฝืน ผู้ดื้อรั้น ผู้ชั่วร้าย ผู้ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้า ผู้ไม่นับถือพระเจ้า คนบาป ผู้ไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไม่นับถือศาสนา ผู้ฆ่าบิดา ผู้ฆ่ามารดา ผู้เป็นฆาตกร 10ผู้ประพฤติผิดประเวณี ผู้ล่วงเกินผู้เยาว์ ผู้ลักพาผู้อื่นไปขายเป็นทาส ผู้กล่าวคำเท็จ ผู้เป็นพยานเท็จ ตลอดจนผู้ทำความผิดอื่นๆ ซึ่งขัดกับหลักคำสอนที่ถูกต้องh 11คำสอนนี้สอดคล้องกับข่าวดีเกี่ยวกับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าผู้ทรงเป็นความสุขแท้จริง ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ประกาศข่าวดีนี้

กระแสเรียกของเปาโล

12ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระคริสตเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้า ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้น่าเชื่อถือ จึงทรงเรียกให้มารับใช้ 13แม้ว่าก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าเคยพูดดูหมิ่นพระเจ้า เบียดเบียนและทำทารุณ แต่ข้าพเจ้าก็ได้รับพระเมตตากรุณาจากพระองค์ เพราะข้าพเจ้าทำไปโดยความไม่รู้ขณะที่ยังไม่มีความเชื่อ 14แต่พระหรรษทานขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทำให้ข้าพเจ้ามีความเชื่อและความรักในพระคริสตเยซูอย่างเหลือล้น 15ต่อไปนี้เป็นถ้อยคำที่น่าเชื่อถือiและน่าที่ทุกคนจะยอมรับ คือ “พระคริสตเยซูเสด็จมาในโลกเพื่อช่วยคนบาปให้รอดพ้น” ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้ 16ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงแสดงพระเมตตากรุณาต่อข้าพเจ้า เพราะพระเยซูคริสตเจ้าทรงต้องการแสดงความเพียรอดทนที่ยาวนานต่อข้าพเจ้าเป็นคนแรก เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับผู้ที่เข้ามาเชื่อในพระองค์ให้ได้รับชีวิตนิรันดร 17ขอพระเกียรติยศและพระสิริรุ่งโรจน์ตลอดนิรันดร จงมีแด่พระเจ้าองค์เดียวที่เราแลเห็นไม่ได้ พระผู้ทรงเป็นอมตะj และพระผู้ทรงเป็นกษัตริย์นิรันดร อาเมน

หน้าที่ความรับผิดชอบของทิโมธี

18ทิโมธีลูกรัก ข้าพเจ้าขอแนะนำท่านตามที่ประกาศกkเคยพูดถึงท่านไว้ เพื่อท่านจะได้ใช้คำแนะนำเหล่านี้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ 19โดยยึดความเชื่อและมโนธรรมที่ดีไว้ บางคนละทิ้งมโนธรรมที่ดี ความเชื่อของเขาจึงต้องพินาศ 20ข้าพเจ้าหมายถึง ฮีเมเนอัสและอเล็กซานเดอร์ ซึ่งข้าพเจ้ามอบให้ซาตานlแล้ว เพื่อพวกเขาจะได้เรียนรู้ที่จะเลิกพูดดูหมิ่นพระเจ้า

 

1 a สำเนาโบราณบางฉบับว่า “พระสัญญา”

b ตำแหน่ง “พระผู้ไถ่” มีใช้น้อยครั้งในจดหมายของเปาโล (อฟ 5:23; ฟป 3:20 ) กลุ่มจดหมายเรื่องการอภิบาลนำมาใช้กับพระบิดาเจ้า (1 ทธ 2:3; 4:10; ทต 1:3; 2:10; 3:4) พระราชกิจของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ คือ การทำให้แผนการของพระบิดาเจ้าเป็นจริง

c หมายถึง การลำดับเชื้อสายของบรรดาบรรพบุรุษและวีรบุรุษของพันธสัญญาเดิมที่นักเขียนชาวยิวเขียนขึ้นแบบเดียวกันกับใน “Book of Jubilees”

d สำเนาโบราณบางฉบับว่า “การเสริมสร้างบ้านของพระเจ้า”

e หมายถึง “ธรรมบัญญัติของโมเสส”

f แปลตามตัวอักษรว่า “ธรรมบัญญัตินั้นดีถ้าคนหนึ่งใช้เป็นกฎ” นั่นคือ โดยไม่เรียกร้องให้เป็นมากกว่าที่ควรจะเป็น

g ธรรมบัญญัติเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่เพราะให้ความรู้เกี่ยวกับบาป (รม 7:7 เชิงอรรถ d, 12-24) หรือเพราะเตรียมตัวมนุษย์เพื่อรับเสด็จพระคริสตเจ้า (กท 3:24-25) แต่ดีเพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตักเตือนแก้ไขคนบาป

h คำคุณศัพท์ “อันถูกต้อง” ใน “คำสอนอันถูกต้อง” มีใช้เฉพาะในกลุ่มจดหมายเรื่องการอภิบาล (ดู 6:3; 2 ทธ 1:13; 4:3; ทต 1:9, 13; 2:1, 8) และมีความหมายถึงการเทศน์สอนของอัครสาวกในเรื่องความถูกต้อง และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมทางจริยธรรม (ดู รม 12:1-2; ฟป 4:8-9)

i นี่เป็นวลีหนึ่งที่มีใช้เฉพาะในกลุ่มจดหมายเรื่องการอภิบาล (ดู 3:1; 4:9; 2 ทธ 2:11; ทต 3:8) เป็นวิธีเรียกร้องความสนใจ โดยเน้นข้อความที่ผู้อ่านคุ้นเคย

j แปลตามตัวอักษรว่า “ที่ไม่เน่าเปื่อย” หรือ “ไม่ดับสูญ” บางฉบับว่า “ที่ไม่ตาย” คำสรรเสริญถวายพรพระเจ้า (Doxology) ในข้อนี้อาจมีต้นกำเนิดจากพิธีกรรม จะสังเกตได้ว่า เปาโลใช้คำสรรเสริญถวายพรพระเจ้าบ่อยมากในจดหมาย (รม 16:27 เชิงอรรถ n)

k ที่นี่และใน 4:14 เปาโลเตือนทิโมธีถึงบทบาทของ “ประกาศก” เมื่อคณะผู้อาวุโสได้ปกมือเหนือศีรษะของทิโมธี (กจ 13:1-3; 11:27 เชิงอรรถ m)

l การลงโทษโดยขับออกจากหมู่คณะเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ทำผิด “ที่จะปรับปรุงตนเอง” (ดู 1 คร 5:5 เชิงอรรถ d)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก