“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่หนึ่ง

บทนำ

คำทักทายและการขอบพระคุณ

1 1จากเปาโล ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกให้เป็นอัครสาวกของพระคริสตเยซูตามพระประสงค์ของพระองค์ และจากโสสเธเนสพี่น้องของเรา

2ถึงพระศาสนจักรของพระเจ้าaที่อยู่ ณ เมืองโครินธ์ ถึงผู้ที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ในพระคริสตเยซู คือได้รับเรียกให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับทุกคนในทุกสถานที่ ทุกคนซึ่งเรียกหาพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทั้งของเขาและของเราด้วยb

3ขอพระหรรษทานและสันติสุขจากพระเจ้าพระบิดาของเรา และจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับท่านทั้งหลายเถิด

4ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าอยู่เสมอเพื่อท่านทั้งหลาย เพราะพระหรรษทานซึ่งพระเจ้าประทานแก่ท่านเดชะพระคริสตเยซู 5ท่านได้รับพระพรทุกด้านและทุกประการเดชะพระองค์ คือการประกาศพระวาจาและความรู้ทุกอย่าง 6ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าอย่างเข้มแข็งจนถึงที่สุด 7จนกระทั่งท่านไม่ขาดพระคุณใดในขณะที่รอคอยการเสด็จมาcของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา 8พระองค์จะทรงค้ำจุนท่านให้มั่นคงจนถึงวาระสุดท้าย ไม่มีที่ติdในวันที่พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราจะเสด็จมาe 9พระเจ้าทรงเรียกท่านให้สนิทสัมพันธ์fกับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราgแล้ว พระองค์ทรงมั่นคงในการรักษาคำสัญญา

I. การแตกแยกและการเป็นตัวอย่างไม่ดี

 

ก. การแบ่งแยกในกลุ่มคริสตชนที่เมืองโครินธ์

คริสตชนแตกแยกกัน

10พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าใคร่ขอร้องท่านในพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ให้ท่านปรองดองกัน อย่าแตกแยก แต่จงมีจิตใจและความเห็นตรงกัน 11พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้จากคนในครอบครัวของคะโลเอhว่า ท่านทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน 12ข้าพเจ้าหมายความว่าดังนี้ ท่านต่างก็พูดว่า “ฉันเป็นพวกของเปาโล” “ฉันเป็นพวกของอปอลโล” “ฉันเป็นพวกของเคฟาส”i “ฉันเป็นพวกของพระคริสตเจ้า”j 13มีการแบ่งแยกในองค์พระคริสตเจ้ากระนั้นหรือ เปาโลถูกตรึงกางเขนเพื่อท่านกระนั้นหรือ ท่านได้รับพิธีล้างบาปในนามของเปาโลกระนั้นหรือ 14ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าที่ข้าพเจ้าไม่ได้ทำพิธีล้างบาปให้ใคร เว้นแต่คริสปัสและกายอัส 15ดังนั้น ไม่มีใครอ้างได้ว่าได้รับพิธีล้างบาปในนามของข้าพเจ้า 16จริงอยู่ ข้าพเจ้าได้ทำพิธีล้างบาปให้ครอบครัวของสเทฟานัสด้วยk นอกจากนี้ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเคยทำพิธีล้างบาปให้ใครอีก

ปรีชาญาณและความโง่เขลา

17พระคริสตเจ้ามิได้ทรงส่งข้าพเจ้ามาทำพิธีล้างบาป แต่ทรงส่งมาประกาศข่าวดีมิใช่ด้วยการใช้โวหารอันชาญฉลาดl ด้วยเกรงว่าจะทำให้ไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าเสื่อมประสิทธิภาพm 18ผู้ที่จะพินาศนั้นเห็นว่าคำสอนเรื่องไม้กางเขนเป็นความโง่เขลา แต่พวกเราที่กำลังจะรอดพ้นเห็นว่าเป็นพระอานุภาพของพระเจ้า 19มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “เราจะทำลายความปรีชาของผู้มีปัญญา และจะทำให้ไหวพริบของคนฉลาดหมดสิ้นไปn 20คนฉลาดปราดเปรื่องอยู่ที่ใดเล่า บัณฑิตอยู่ที่ใดเล่า” และนักโต้ปัญหาของโลกนี้อยู่ที่ใดเล่า พระเจ้ามิได้ทรงบันดาลให้ความปรีชาฉลาดของโลกนี้oกลายเป็นความโง่เขลาไปดอกหรือ 21เพราะตามพระปรีชาญาณของพระเจ้า โลกมิได้รู้จักพระองค์โดยอาศัยความปรีชาฉลาดของตนp พระเจ้าจึงพอพระทัยช่วยผู้มีความเชื่อให้รอดพ้นโดยมีการเทศน์สอนเรื่องโง่เขลา 22ขณะที่ชาวยิวเรียกร้องขอดูอัศจรรย์ และชาวกรีกแสวงหาปรีชาญาณq 23เรากลับประกาศเรื่องพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน อันเป็นข้อขัดข้องมิให้ชาวยิวรับไว้ได้และเป็นเรื่องโง่เขลาrสำหรับชาวกรีก 24แต่สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวกรีก พระคริสตเจ้าทรงเป็นทั้งพระอานุภาพและพระปรีชาญาณของพระเจ้า 25เพราะความโง่เขลาของพระเจ้ายังฉลาดยิ่งกว่าปรีชาญาณของมนุษย์ และความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังเข้มแข็งยิ่งกว่าพละกำลังของมนุษย์s 26พี่น้องทั้งหลาย จงพิจารณาดูเถิด เมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่านนั้น มีน้อยคนที่ฉลาดตามมาตรฐานของมนุษย์t น้อยคนที่มีอิทธิพล น้อยคนที่มีตระกูลสูง 27แต่พระเจ้าทรงเลือกสรรคนโง่เขลาในสายตาของโลก เพื่อทำให้คนฉลาดต้องอับอาย พระเจ้าทรงเลือกสรรคนที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้ผู้แข็งแรงต้องอับอาย 28และพระเจ้าทรงเลือกสรรสิ่งต่ำช้าน่าดูหมิ่นไร้คุณค่าในสายตาของชาวโลก เพื่อทำลายสิ่งที่โลกเห็นว่าสำคัญ 29ทั้งนี้ เพื่อมิให้มนุษย์โอ้อวดเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าได้ 30เดชะพระองค์ ท่านจึงมีความเป็นอยู่uในพระคริสตเยซู ผู้ที่พระเจ้าทรงตั้งให้เป็นปรีชาญาณสำหรับเราv ทั้งยังทรงเป็นผู้บันดาลความชอบธรรม ความศักดิ์สิทธิ์และการไถ่กู้wอีกด้วย 31เพื่อให้เป็นไปตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ผู้ใดจะโอ้อวด ก็ให้ผู้นั้นโอ้อวดในองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด

 

1 a “พระศาสนจักรหรือกลุ่มคริสตชนของพระเจ้า” เป็นวลีที่เปาโลใช้บ่อยมาก (10:32; 11:16, 22; 15:9; 2 คร1:1; กท 1:13; 1 ธส 2:14; 2 ธส 1:4; 1 ทธ 3:5, 15; ดู กจ 20:28; เทียบ “กลุ่มคริสตชนทุกแห่งของพระคริสตเจ้า” ใน รม 16:16; ดู มธ 16:18 เชิงอรรถ g; กจ 5:11 เชิงอรรถ b)

b แปลได้อีกแบบหนึ่งว่า “พร้อมกับทุกคนในทุกสถานที่ ทั้งของเขาและของเราด้วย ซึ่งเรียกหาพระนามพระเยซูคริสต์”

c แปลตามตัวอักษรว่า “รอคอยการเปิดเผยของพระเยซูคริสต์” (Apocalypsis) พระเจ้าจะทรงเปิดเผยแผนการอันเร้นลับของพระองค์ (รม 16:25-26, 25 เชิงอรรถ l) ให้ปรากฏในวาระสุดท้าย เมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ (parousia) (15:23 เชิงอรรถ n) และจะสำแดงพระองค์ให้ปรากฏ (Epiphaneia) (1 ทธ 6:14 เชิงอรรถ f; เทียบ ลก 17:30; 2 ธส 1:7; ฮบ 9:28; 1 ปต 1:5, 7, 13; 4:13)

d เทียบ อฟ 1:4; ฟป 1:10; 2:15ฯ; คส 1:22; 1 ธส 3:13; 5:23; ยด 24

e แปลตามตัวอักษร “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (5:5; 2 คร 1:14; 1 ธส 5:2; 2 ธส 2:2; เทียบ 2 ปต 3:10) วันนี้ยังเรียกว่า “วันของพระคริสตเจ้า” (ฟป 1:6, 10; 2:16) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วัน” (1 คร 3:13; 1 ธส 5:4; เทียบ ฮบ 10:25) หรือ “วันนั้น” (2 ธส 1:10; 2 ทธ 1:12, 18; 4:8; เทียบ มธ 7:22; 24:36; ลก 10:12; 21:34) หรือ “วันของบุตรมนุษย์” (ลก 17:22-24; เทียบ ข้อ 26) หรือ “วันของพระเจ้า” (2 ปต 3:12) หรือ “วันแห่งการเสด็จเยี่ยม” (1 ปต 2:12) หรือ “วันยิ่งใหญ่” (ยด 6; วว 6:17; 16:14) หรือ “วันสุดท้าย” (ยน 6:39, 40, 44, 54; 11:24; 12:48) วันที่ว่านี้ทำให้ยุคสุดท้ายที่พระคริสตเจ้าได้ทรงเริ่มขึ้นได้สำเร็จลง เป็น “วันของพระยาห์เวห์” ที่ประกาศกได้กล่าวถึง (อมส 5:18 เชิงอรรถ m) ภาพเปรียบเทียบที่บรรดาประกาศกใช้บรรยายถึงยุคสุดท้ายนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในศาสนายูดายในคริสตศตวรรษแรก และเป็นที่นิยมใช้ในหนังสือพันธสัญญาใหม่อีกด้วย ยุคสุดท้ายนี้เริ่มสำเร็จลงเมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จมาครั้งแรก (ลก 17:20-24) เมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย (มธ 24:1 เชิงอรรถ a) ส่วนขั้นตอนสุดท้ายในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นนี้ (ดู กจ 1:7 เชิงอรรถ i) จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์เป็นครั้งที่สอง (1 คร 1:7 เชิงอรรถ c; 15:23 เชิงอรรถ n; 1 ทธ 6:14 เชิงอรรถ f) ในฐานะทรงเป็นผู้พิพากษาสูงสุด (รม 2:6 เชิงอรรถ b; ยก 5:8-9) จะมีความสับสนอลหม่านในจักรวาล และมีโลกใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับการเสด็จมาดังกล่าว (ดู อมส 8:9 เชิงอรรถ h; มธ 24:29//, 29 เชิงอรรถ o; ฮบ 12:26ฯ; 2 ปต 3:10-13; วว 20:11; 21:1; เทียบ มธ 19:28; รม 8:20-22) วันแห่งแสงสว่างนี้กำลังจะมาถึง (รม 13:12; ฮบ 10:25; ยก 5:8; 1 ปต 4:7; เทียบ 1 ธส 5:5,8) แต่ไม่มีใครรู้แน่ว่าจะมาถึงเมื่อไร (1 ธส 5:1 เชิงอรรถ a) ดังนั้น เราจึงจะต้องเตรียมพร้อมไว้ (2 คร 6:2 เชิงอรรถ a) แต่นักบุญยอห์นยังใช้ภาพเปรียบเทียบเกี่ยวกับวาระสุดท้ายนี้ในความหมายที่แตกต่างออกไป คือหมายถึง “อันตวิทยาที่เป็นจริงในปัจจุบันแล้ว” (ดู ความรู้เกี่ยวกับยอห์น; อฟ 2:6 เชิงอรรถ e)

f คำว่า Koinonia” มักจะแปลว่า “การอยู่ร่วมกัน” หรือ “ความสนิทสัมพันธ์ อย่างที่แปลตรงนี้ ความหมายหลักคือ เป็นการแบ่งปันทรัพย์สิน คริสตชนไม่เพียงแบ่งปันทรัพย์สมบัติฝ่ายจิตเท่านั้น (รม 15:26-27; 2 คร 8:4; 9:13; กท 6:6; ฟป 4:15-17) พวกเขายังต้องร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการกระทำและเอื้ออาทรต่อกัน (2 คร 1:7; 6:14; 2 ยน 9; วว 1:9) การร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันทุกรูปแบบก็เป็นผลจากการรับพระหรรษทานจากพระเจ้าร่วมกัน (9:23; ฟป 1:5; ฟม 6) การร่วมเป็นหนึ่งเดียวนี้ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาและพระบุตรของพระองค์คือพระเยซูคริสต์ (1 คร 1:9; 1 ยน 1:3 เชิงอรรถ b, 7 เชิงอรรถ e) กับพระคริสต์เอง (1 คร 10:16; ฟป 3:10; 1 ปต 4:13) กับพระจิตเจ้า (2 คร 13:13 เชิงอรรถ e; ฟป 2:1) เมื่อพระคริสตเจ้ามาร่วมรับธรรมชาติมนุษย์ของเรา เราจึงมีส่วนร่วมในพระธรรมชาติพระเจ้าของพระองค์ด้วย (2 ปต 1:4 เชิงอรรถ g) คำ koinonia นี้จะต้องเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มคริสตชน (กจ 2:42 เชิงอรรถ ff)

g เทียบ 10:13; 2 คร 1:18; 1 ธส 5:24; 2 ธส 3:3; 2 ทธ 2:13; ฮบ 10:23; 11:11

h ไม่รู้แน่ชัดว่า คะโลเอผู้นี้เป็นใคร วลีที่ใช้ทำให้คิดว่า นางเป็นคนค้าขาย ซึ่งมีพนักงานที่เป็นทาส และเป็นคนอิสระด้วย คนเหล่านี้อาจเดินทางไปมาจากเมืองโครินธ์ถึงที่ที่เปาโลพำนักอยู่

i เพราะเคฟาส (เปโตร) ได้เคยมาที่เมืองโครินธ์ หรือสมาชิกบางคนของพระศาสนจักรที่นั่นให้ความนับถืออำนาจของเปโตรเป็นพิเศษ ตามแบบอย่างที่พระศาสนจักรอื่นๆ ปฏิบัติอยู่

j บางทีพวกนี้อ้างว่าได้เคยเห็นพระคริสตเจ้าเมื่อทรงอยู่ในโลกนี้ (เทียบ กจ 1:21ฯ; 10:41) ดังนั้น จึงอ้างว่าตนมีศักดิ์ศรีมากกว่าคนอื่น (เทียบ 1 คร 9:1; 2 คร 5:16 เชิงอรรถ g; 11:5, 23; 12:11)

k ข้อความเพิ่มเติมว่า เปาโลได้ทำพิธีล้างบาปให้ครอบครัวสเตฟานัสอีกด้วย แสดงว่าเปาโลกำลังบอกให้คนอื่นเขียนจดหมายนี้ เทียบ 16:21

l ปรีชาญาณของมนุษย์ (ในที่นี้ หมายถึงความคิดทางปรัชญา และการใช้สำนวนโวหารอันชาญฉลาด) ถูกนำมาเปรียบเทียบกับพระปรีชาญาณของพระเจ้า (ข้อ 24 และ 2:6ฯ)

m เปาโลพัฒนาความคิดนี้อีกใน 2:1-5

n เรายังพบความคิดเดียวกันนี้ใน อสย 29:14 พระเจ้าทรงสัญญากับประชากรที่กำลังตกใจกลัวการคุกคามของชาวอัสซีเรียว่า นโยบายของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยพวกเขาให้รอดพ้นอันตรายได้

o ในข้อความตอนนี้ เปาโลมิได้พูดประณามปรีชาญาณที่แท้จริงของมนุษย์ซึ่งเป็นพระพรของพระเจ้า และเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์เรารู้จักพระเจ้าได้ (ข้อ 21 เชิงอรรถ p) สิ่งที่เปาโลพูดประณามก็คือ ปรีชาญาณที่ยโส ไม่ยอมรับพระเจ้า

p กิจการที่พระเจ้าทรงกระทำในโลก แสดงให้เห็นพระปรีชาญาณของพระองค์ (ดู ปชญ 13:1-9; รม 1:19-20)

q เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ “ต้องการข้อพิสูจน์” ไม่ว่าจะเป็นอัศจรรย์ ซึ่งเป็นหลักประกันความจริงของข้อความที่ประกาศ หรือจะเป็นการอ้างเหตุผลตามหลักปรัชญา ความปรารถนาเรียกร้องการพิสูจน์เช่นนี้ไม่มีอะไรผิด และเรื่องไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าก็ตอบสนองความปรารถนาเช่นนี้ (ข้อ 24 เชิงอรรถ r) แม้ว่าดูเผินๆ จะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าการเรียกร้องข้อพิสูจน์เป็นเงื่อนไขเพื่อจะเชื่อได้ การเรียกร้องข้อพิสูจน์เช่นนี้ก็ไม่ถูกต้อง

r ตามความคิดของมนุษย์ทั่วไป ไม้กางเขนเป็นสิ่งที่ขัดกับความคาดหวังทั้งของชาวยิวและชาวกรีก การถูกตรึงบนไม้กางเขนแสดงว่าพระเจ้าทรงสาปแช่งมากกว่าทรงยกย่อง เป็นความโง่เขลามากกว่าที่จะเป็นปรีชาญาณ แต่ในสายตาของผู้มีความเชื่อ ไม้กางเขนเป็นสุดยอดของความหวังและมากกว่านั้นอีกด้วย แสดงพระอานุภาพและและปรีชาญาณของพระเจ้า

s การที่พระเจ้าทรงเลือกสรรชาวโครินธ์ (1:26-30) และการเทศน์สอนของเปาโล (2:1-5) แสดงให้เห็นการกระทำของพระเจ้าที่ดูขัดกับเหตุผล (1:18-25)

t คือ จากแง่มุมมองประสามนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว

u พวกท่านซึ่งแต่ก่อนโลกถือว่าไม่มีความเป็นอยู่ (ข้อ 28) บัดนี้ ได้มีความเป็นอยู่ในพระเยซูคริสตเจ้า ส่วนผู้ซึ่งโลกถือว่ามีความเป็นอยู่ ถูกลดตำแหน่งลงให้เป็นเพียงความเปล่า ท่านจึงควรโอ้อวดถึงความเป็นอยู่ในพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น (ดู ข้อ 29, 31)

v ดังนั้น ปรีชาญาณของคริสตชนจึงไม่ใช่ผลมาจากความพยายามของมนุษย์ “ตามธรรมชาติ” ปรีชาญาณนี้พบได้ในมนุษย์คนหนึ่งซึ่งปรากฏมา “เมื่อถึงเวลากำหนด” (กท 4:4) คือพระคริสตเจ้า เราจะต้อง “ได้พระองค์มาเป็นกรรมสิทธิ์” (ฟป 3:8) เพื่อจะได้พบปรีชาญาณ และความรู้ทุกอย่างในพระองค์ (คส 2:3) ปรีชาญาณนี้เกี่ยวข้องกับความรอดพ้นในทุกแง่ทุกมุม คือ “เป็นการบันดาลความชอบธรรม เป็นความศักดิ์สิทธิ์ และการไถ่กู้”

w ความคิดทั้งสามที่ว่านี้จะเป็นความคิดหลักของจดหมายถึงชาวโรม ซึ่งเปาโลมีความคิดในเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้ว (ดู รม 1:17; 6:19, 22; 3:24)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก