บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

วันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
31 ธันวาคม 2017
บทอ่าน บสร 3:3-7, 14-17 ; คส 3:12-21 ; ลก 2:22-40
เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน
       
พระวรสารนักบุญลูกาให้รายละเอียดเกี่ยวกับวัยเด็กของพระเยซูเจ้า ความไม่แน่ใจคำสัญญา ความสนใจและความยินดีซึ่งการแจ้งข่าวและการบังเกิดของพระเยซูเจ้าได้ทำให้เกิดขึ้น มีการร้อยเรียงทำให้ระลึกถึงเรื่องราวจากพันธสัญญาเดิม


บัดนี้ ข้าแต่พระอาจารย์เจ้า
          นักบุญลูกายืนยันข้อเท็จจริงว่าครอบครัวของพระเยซูเจ้าเป็นประชากรศาสนาและความหวังของชาวยิว ข้อความที่เราได้ฟังวันนี้เป็นเรื่องการถวายพระกุมารในพระวิหาร นักบุญลูกาพูดถึง การชำระตนให้บริสุทธิ์ (วรรคที่ 23) “มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้าว่า จะต้องถวายบุตรชายคนแรกแด่พระเจ้า” ตามข้อกำหนดของโมเสส (ลนต 12:8) ซึ่งมีผลต่อพระนางมารีย์ในฐานะสตรี อันที่จริง แม่ต้องถวายเครื่องบูชา ตามหนังสือเลวีนิติ “ถ้านางไม่สามารถจัดหาลูกแกะได้ นางจะต้องนำนกเขาหรือนกพิราบหนุ่มสองตัวมาถวาย” (12:8 และ 5:7 ด้วย) นี่เป็นสิ่งที่พระนางมารีย์ทำ (ลก 2:24) เป็นสิ่งที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เรียกว่า “ของถวายของคนจน” (พระศาสนจักร ย่อหน้า 57) นี่เป็นสถานการณ์ครอบครัวของพระเยซูเจ้าดังที่ผู้เขียนพระวรสารได้ให้รายละเอียด

         ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม “ชายผู้หนึ่งชื่อสิเมโอน” (วรรคที่ 25) ตระหนักว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระผู้ไถ่ ความหวังของอิสราเอลกำลังสำเร็จสมบูรณ์ สิเมโอนมิได้เป็นสมาชิกเด่นๆ ของประชาชนหรือสมณะประจำพระวิหาร ท่านได้เปล่งเสียงถวายพระพรแด่พระเจ้าว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า บัดนี้ พระองค์ทรงปล่อยผู้รับใช้ของพระองค์ไปเป็นสุข” (วรรคที่ 29) แต่สิเมโอนเป็นชาวยิวที่สุภาพ ได้กล่าวทำนายกับพระมารดาด้วย นี่เป็นคำทำนายสุดท้ายในพระวิหารกรุงเยรูซาเล็ม เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าและเกี่ยวกับพระนางมารีย์ พระเยซูเจ้าเป็นเหตุให้คนจำนวนมากในอิสราเอลต้องล้มลง หรือบางคนจะลุกขึ้น คำพยานถึงพระผู้ไถ่ (พระเมสสิยาห์) นี้ เป็นเครื่องหมายแห่งการต่อต้าน เพื่อความในใจของคนจำนวนมากจะถูกเปิดเผย (วรรคที่ 35)

         ประโยคสั้นๆ ก็หมายถึงพระนางมารีย์ด้วย ที่ว่า ส่วนท่านดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน “ความคิดเรื่องพระผู้ไถ่จะทางจิตใจของพระนาง” (วรรคที่ 35) พระนางมารีย์เป็นชาวอิสราเอล ความเชื่อเป็นกระบวนการ และบางครั้งก็เจ็บปวด ความทุกข์ในชีวิตของพระมารดาของพระเจ้า จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ร่วมมีส่วนในงานของพระผู้ไถ่

ทรงเจริญในพระปรีชาญาณและพระหรรษทาน
        อีกคนหนึ่ง คือ อันนา นักบุญลูกาเรียกเธอว่า “ประกาศกหญิง” (วรรคที่ 36) ก็ปรากฏออกมา เธอนำเสนอความหวังของกลุ่มชาวยิวผู้ศรัทธา เป็นคนจนของพระเจ้า ในพระวรสารมิได้บอกว่าสิเมโอนมีอายุเท่าใด แต่ตามธรรมประเพณีถือว่าท่านอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ส่วน อันนา กลับตรงข้าม ในพระคัมภีร์บอกว่า “นางชรามากแล้ว” นางขอบคุณพระเจ้าและกล่าวถึงพระกุมาร “ให้ทุกคนที่กำลังรอคอยการไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็มฟัง” (วรรคที่ 38)

        ข้อความเหล่านี้กล่าวถึงความหวังและความทุกข์ อย่างไรก็ดี นักบุญโยเซฟและพระมารดาก็ยังรักพระกุมาร คอยปกป้อง คุ้มครอง “พระกุมารทรงเจริญวัยแข็งแรงขึ้น ทรงพระปรีชาญาณอย่างสมบูรณ์ และพระหรรษทานของพระเจ้าสถิตอยู่กับพระองค์” (วรรคที่ 39-40) พระกุมารตอบสนองความรักนี้ในชีวิตครอบครัว ซึ่งมีคำสอนจากบทอ่านแรกหนังสือบุตรสิรา ข้อความจากนักบุญเปาโลก็เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว แม้คำสอนนี้เป็นทัศนคติของยุคนั้น สิ่งสำคัญเป็นรากฐานที่นักบุญเปาโลมอบให้ทุกคนที่มีความผูกมัดในพระคริสตเจ้า ซึ่งเราทุกคนรวมเป็นกายเดียวกัน (คส 3:15)

พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year
โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 30-32.