“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

เพลงสดุดีที่ 76

เพลงสรรเสริญพระเจ้าผู้น่าเกรงขามa

สดด บทนี้เป็นบทเพลงศิโยน เฉลิมฉลองชัยชนะของพระเจ้าเหนือประชาชาติ ภาพพจน์ที่ผู้ประพันธ์ใช้กล่าวถึงพระเจ้าว่าเป็นนักรบทรงพลัง อาจทำให้คริสตชนในปัจจุบันหลายคนรู้สึกระคายหู แต่ภาพเปรียบเทียบนี้สำหรับชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมย้ำถึงความยิ่งใหญ่ และพระอานุภาพของพระเจ้าที่ทำให้ทรงปกป้องประชากรของพระองค์ โดยเฉพาะคนยากจน ให้พ้นจากเหล่าศัตรูได้ สำหรับเราคริสตชน “ศิโยน” เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระศาสนจักร มีพระคริสตเจ้าเป็น “คนแข็งแรงมีอาวุธครบมือ” (ลก 11:21) คอยเฝ้าดูไม่ให้ศัตรูมาจู่โจมได้

สำหรับหัวหน้านักขับร้อง ใช้เครื่องสายประกอบ เพลงสดุดีของอาสาฟ บทเพลง

1พระเจ้าทรงเป็นที่รู้จักในยูดาห์

        พระนามพระองค์ยิ่งใหญ่ในอิสราเอล

2กระโจมที่ประทับของพระองค์ตั้งอยู่ในซาเล็มb

        ที่พำนักของพระองค์อยู่ในศิโยน

3ที่นั่น พระองค์ทรงหักลูกธนูที่พุ่งเร็วราวสายฟ้าแลบc

        ทรงหักทั้งโล่ดั้ง ดาบและอาวุธสงครามd

                                                                           (พักครู่หนึ่ง)

4พระองค์ทรงรุ่งโรจน์

        ทรงยิ่งใหญ่เมื่อเสด็จจากภูเขา สถานที่ที่ทรงยึดของเชลย

5ผู้กล้าหาญถูกปล้น ขณะนอนหลับสนิท

        ไม่มีนักรบใดมีกำลังต่อสู้

6ข้าแต่พระเจ้าแห่งยาโคบ เมื่อพระองค์ทรงคุกคาม

        ทั้งรถและม้าศึกก็นิ่งงัน

7พระองค์ทรงเป็นที่น่าเกรงขาม

        ใครจะยืนหยัดเฉพาะพระพักตร์ได้ ในยามที่ทรงพระพิโรธ

8พระองค์ทรงประกาศคำตัดสินลงมาจากสวรรค์

        แผ่นดินก็เงียบและสะพรึงกลัว

9เมื่อพระเจ้าทรงลุกขึ้นมาพิพากษา

        และทรงช่วยบรรดาผู้ต่ำต้อยของแผ่นดินให้รอดพ้น

                                                               (พักครู่หนึ่ง)

10ใช่แล้ว แม้มนุษย์ได้รับพระพิโรธก็ยังสรรเสริญพระองค์

        ผู้ที่รอดจากพระพิโรธย่อมจะเฉลิมฉลองพระองค์e

11จงบนบานและแก้บนต่อพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทั้งหลายเถิด

        ประชาชาติที่อยู่โดยรอบf จงนำของกำนัลมาถวายพระองค์ผู้น่าเกรงขาม

12พระองค์ทรงทำให้เจ้านายทั้งหลายหายใจไม่ออก

        ทรงทำให้บรรดากษัตริย์บนแผ่นดินหวาดกลัว

 

76 a เพลงสดุดีบทนี้สรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงพิพากษาในยุคสุดท้าย ดูเหมือนว่าจะกล่าวพาดพิงถึงการพ่ายแพ้ของกษัตริย์เซนนาเคริบในปี 701 ก่อน ค.ศ. เมื่อทรงเข้าโจมตีกรุงเยรูซาเล็ม (2 พกษ 19:35) เช่นเดียวกับ สดด 46 และ 48:6 การพ่ายแพ้ครั้งนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกอบกู้ ซึ่ง “ผู้ต่ำต้อย” หวังจะได้รับจากพระเจ้า (ข้อ 10)

b “ซาเล็ม” คงจะเป็นชื่อย่อของกรุงเยรูซาเล็ม (ดู ปฐก 14:18; ยดธ 4:4) หมายถึง “นครแห่งสันติภาพ” (ชาโลม)

c “ลูกธนูที่พุ่งเร็วราวสายฟ้าแลบ” แปลตามตัวอักษรว่า “สะเก็ดไฟแห่งคันธนู”

d “อาวุธสงคราม” แปลตามตัวอักษรว่า “การรบ”

e “เฉลิมฉลองพระองค์” แปลตามตัวอักษรว่า “พระองค์จะทรงคาดสะเอว” ภาพพจน์นี้ได้มาจากประกาศกเยเรมีย์ (เทียบ สดด 109:19) เป็นสัญลักษณ์หมายถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิด

f “ประชาชาติที่อยู่โดยรอบ” แปลตามตัวอักษรว่า “ผู้ที่อยู่รอบพระองค์ (เหมือนเข็มขัดรัดสะเอว)” (ดู ข้อ 10) (เทียบ อสย 49:18)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก