“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

เพลงสดุดีที่ 16

พระยาห์เวห์ทรงเป็นสมบัติล้ำค่า

สดด บทนี้เป็นคำภาวนาของชาวเลวีซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ยึดครองที่ดินเหมือนชาวอิสราเอลเผ่าอื่นๆ (เทียบ กดว 18:20) พระเจ้าทรงเป็น “ส่วนมรดก” เพียงอย่างเดียวของเขา เขาเลี้ยงชีพจากสิ่งของที่ประชาชนถวายแด่พระเจ้าในพระวิหารเท่านั้น เพื่อจะซื่อสัตย์ต่อการที่พระเจ้าทรงเรียกนี้ เขาจึงต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรเลยกับการนับถือรูปเคารพ เขาดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลาด้วยความยินดีเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์นี้จะคงอยู่ต่อไปหลังความตาย คริสตชนในสมัยแรกคิดว่าข้อท้ายๆ ของ สดด บทนี้กล่าวทำนายถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า (เทียบ กจ 2:24-28) เพลงสดุดีบทนี้มีความหมายพิเศษสำหรับผู้ที่ละทิ้งทุกสิ่งเพื่อติดตามพระคริสตเจ้าในชีวิตนักบวช

ของกษัตริย์ดาวิด มิคตามa

 

1ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงคุ้มครองข้าพเจ้า

        ข้าพเจ้าลี้ภัยมาพึ่งพระองค์

2ข้าพเจ้าทูลพระยาห์เวห์ว่า “พระองค์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า

        พระองค์ทรงเป็นความดีที่สุดของข้าพเจ้า

3บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่บนแผ่นดิน

        เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ข้าพเจ้าชื่นชมb

4ผู้ที่กราบไหว้รูปเคารพcจะมีความทุกข์มากขึ้น

        แต่ข้าพเจ้าจะไม่มีวันหลั่งเลือดสัตว์เป็นบูชาถวายรูปเคารพ

จะไม่มีวันให้นามของรูปเคารพเหล่านั้นอยู่บนริมฝีปากของข้าพเจ้าเลย

5พระยาห์เวห์ทรงเป็นส่วนมรดกของข้าพเจ้า

        และทรงเป็นผู้กำหนดชีวิตของข้าพเจ้า

พระองค์เท่านั้นทรงคุ้มครองชะตาชีวิตของข้าพเจ้าให้ปลอดภัย

6เส้นแบ่งเขตที่ดินของข้าพเจ้าอยู่ในพื้นที่รื่นรมย์

        ส่วนมรดกของข้าพเจ้าช่างงดงามยิ่งนักd

7ข้าพเจ้าถวายพระพรแด่พระยาห์เวห์ผู้ทรงเป็นที่ปรึกษาของข้าพเจ้า

        แม้ยามค่ำคืน จิตใจeก็ยังพร่ำสอนข้าพเจ้า

8ข้าพเจ้าตั้งพระยาห์เวห์ไว้เบื้องหน้าข้าพเจ้าเสมอ

        ถ้ามีพระองค์ประทับอยู่เบื้องขวา ข้าพเจ้าจะไม่หวั่นไหว

9ดังนั้น หัวใจข้าพเจ้าจึงร่าเริง วิญญาณfข้าพเจ้าก็ยินดี

        ร่างกายของข้าพเจ้าจะพักผ่อนอย่างปลอดภัย

10เพราะพระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าไว้ในแดนมรณะ

        จะไม่ทรงปล่อยให้ผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ต้องเผชิญเหวลึกg

11พระองค์จะทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้จักหนทางแห่งชีวิต

        ข้าพเจ้าจะยินดีอย่างเต็มเปี่ยมเมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์

ข้าพเจ้าจะมีความสุขตลอดไปเมื่ออยู่เบื้องขวาของพระองค์

 

16 a “มิคตาม” เราไม่ทราบว่าคำนี้แปลว่าอะไร อาจหมายถึงชนิดของบทประพันธ์ หรือวิธีขับร้องด้วยเสียงเบาๆ

b ข้อความในข้อ 2-3 ไม่สมบูรณ์ จึงต้องแปลโดยการคาดคะเน บางคนคิดว่า “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ในที่นี้หมายถึงรูปเคารพของเทพเจ้าที่ชาวอิสราเอลมักถูกชักจูงให้ไปนมัสการ (เทียบ อสย 57:6; 65:5; 66:3ฯ)

c “ผู้ที่กราบไหว้รูปเคารพ” แปลโดยการคาดคะเน ตัวบทภาษาฮีบรูไม่ชัดเจน

d ผู้ประพันธ์เพลงสดุดีบทนี้คงเป็นชนเผ่าเลวี เพราะยืนยันว่าส่วนมรดกที่ตนได้รับคือพระยาห์เวห์ ซึ่งเปรียบได้กับ “พื้นที่น่ารื่นรมย์” “เป็นส่วนมรดกที่งดงามยิ่งนัก” น่าสังเกตคำที่ใช้ในบริบทนี้ได้แก่ “ชะตากรรม ชะตาชีวิต ส่วนมรดก เส้นแบ่งเขตที่ดิน พื้นที่รื่นรมย์ ฯลฯ” ซึ่งเป็นของประทานจากพระยาห์เวห์ “ผู้กำหนดชีวิต” แปลตามตัวอักษรว่า “ถ้วย” (ดู 11:6 เชิงอรรถ d) ส่วน “เส้นแบ่งเขตที่ดิน” ดู มคา 2:4-5

e “จิตใจ” แปลตามตัวอักษรว่า “ไต” สำหรับคนโบราณ ไตเป็นที่ตั้งของความคิดและความรู้สึกใต้สำนึก (ดู 7:9; สภษ 23:16; ยรม 12:2)

f “วิญญาณ” แปลตามตัวอักษรว่า “เกียรติยศ” (ดู 7:5 เชิงอรรถ d) หรือ “ตับ” ซึ่งเป็นที่ตั้งของเจตจำนง น่าสังเกตว่าผู้ประพันธ์ต้องการบอกว่าพระเจ้าทรงรู้จักมนุษย์อย่างถ่องแท้ทั้งภายในและภายนอก จึงใช้คำต่างๆ ที่หมายถึงส่วนสำคัญของมนุษย์ เช่น ไต (สัญลักษณ์ของอารมณ์) มือขวา (อำนาจ) ใจ (ความคิดและมโนธรรม) ตับ (เจตจำนง) ร่างกายหรือ “เนื้อ” (ธรรมชาติมนุษย์ทั้งหมด)

g ผู้ประพันธ์เพลงสดุดีบทนี้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้พระยาห์เวห์ ความเชื่อเข้มข้นและการอุทิศตนโดยสิ้นเชิงแด่พระเจ้า เรียกร้องให้มนุษย์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ตลอดไป ดังนั้น เขาจึงอธิษฐานภาวนาขอให้พ้นจากความตาย ซึ่งจะทำลายความสัมพันธ์นี้ (6:5 ดู 49:15 เชิงอรรถ g) ความหวังนี้ แม้ยังเลือนรางในขณะนั้น จะพัฒนาขึ้นจนเป็นความหวังชัดเจนถึงการกลับคืนชีพ (ดู 2 มคบ 7:9 เชิงอรรถ c; ดนล 12:2)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก